วิธีทางพุทธศาสนาในการจัดการกับชีวิต

เย็นนี้เราจะมาพูดถึงวิธีใช้พุทธศาสนาช่วยเราในชีวิตประจำวัน เมื่อเราพูดถึงวิธีการทางพุทธศาสนาหรือคำสอนทางพุทธศาสนา คำในภาษาสันสกฤตก็คือ “ธรรม” หากเรามองดูว่าคำว่า “ธรรม” หมายถึงอะไรจริง ๆ มันก็หมายความว่า “สิ่งที่ยับยั้งเราไว้” ธรรมเป็นสิ่งที่ยับยั้งหรือสกัดกั้นเราจากความทุกข์และการมีปัญหาต่าง ๆ

อริยสัจ 4

สิ่งแรกที่พระพุทธเจ้าสอนคือสิ่งที่เรียกว่า “อริยสัจ 4” หมายความว่ามีข้อเท็จจริง 4 ประการที่ใครก็ตามที่ตระหนักรู้อย่างสูงและสามารถเข้าใจความเป็นจริงได้ก็จะเข้าใจว่าเป็นความจริง ทั้ง 4 ประการนี้ได้แก่

  • ปัญหาที่แท้จริงที่เราทุกคนเผชิญ
  • สาเหตุที่แท้จริงของปัญหาเหล่านั้น
  • มันจะเป็นอย่างไรถ้ามีการหยุดปัญหาได้จริงเพื่อที่เราจะได้ไม่มีปัญหาเหล่านี้อีกต่อไป
  • วิธีการทำความเข้าใจ การกระทำ และอื่น ๆ ที่จะนำมาซึ่งการหยุดปัญหาทั้งหมดของเรานี้

ปัญหาที่แท้จริงของเรา

พุทธศาสนามีเรื่องราวให้พูดคุยมากมายเกี่ยวกับปัญหาและวิธีจัดการกับมัน อันที่จริงคำสอนทั้งหมดของพระพุทธเจ้ามีจุดมุ่งหมายเพื่อช่วยให้เราเอาชนะความยากลำบากในชีวิต วิธีการนี้มีเหตุผลและเป็นจริงมาก ซึ่งกล่าวไว้ว่าปัญหาอะไรที่เรามี ล้วนมาจากสาเหตุทั้งนั้น ดังนั้น เราจึงต้องมองอย่างตรงไปตรงมาและลึกซึ้งในตัวเราเองเพื่อดูว่าเรากำลังเผชิญความยากลำบากอะไรอยู่ สำหรับพวกเราหลายคน นั่นไม่ใช่กระบวนการที่ง่ายเลย จริง ๆ แล้วมันค่อนข้างเจ็บปวดที่จะมองว่าชีวิตเรามีปัญหาอะไร หลายคนกำลังปฏิเสธมัน พวกเขาไม่เต็มใจที่จะยอมรับว่าพวกเขามีปัญหา เช่น การตกอยู่ในความสัมพันธ์แย่ ๆ แต่ถึงกระนั้นพวกเขาก็ยังคงพบกับความทุกข์อยู่ดี เราจึงไม่อาจปล่อยทิ้งปัญหานั้นไว้ที่ระดับที่ว่า “ฉันไม่มีความสุข” เพียงแค่นั้นได้ เราต้องมองให้ลึกลงไปอีกว่าจริง ๆ แล้วปัญหาคืออะไร

สาเหตุที่แท้จริงของปัญหาของเรา

จากนั้น เราต้องค้นหาสาเหตุว่าปัญหาของเราเกิดจากอะไร ปัญหาไม่ได้เกิดขึ้นด้วยตัวมันเองเพียงเท่านั้น มาจากที่ไหนก็ไม่รู้ มันต้องมีสาเหตุ และแน่นอนว่ามีหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการทำให้เกิดสถานการณ์ที่ไม่น่าพอใจ ตัวอย่างเช่น เมื่อมีความขัดแย้งส่วนบุคคลในความสัมพันธ์ อาจมีปัจจัยซับซ้อนเพิ่มเติมจากเศรษฐกิจ เช่น เงินไม่เพียงพอ ฯลฯ ปัญหากับลูกหรือปัญหากับญาติคนอื่น ๆ อาจมีสถานการณ์ทุกประเภทที่ก่อให้เกิดปัญหา แต่พระพุทธเจ้าตรัสว่าเราต้องลงลึกไปอีกเรื่อย ๆ เพื่อหาสาเหตุที่ลึกที่สุดของปัญหาของเรา และสาเหตุที่ลึกที่สุดของปัญหาของเราก็คือ ความสับสนเกี่ยวกับความเป็นจริง

เรามีความทุกข์ เราเจ็บปวด และแน่นอนว่า นั่นมาจากสาเหตุบางอย่าง ตัวอย่างเช่น เราอาจกระทำในทางที่เป็นการรบกวนอย่างมาก เช่น ด้วยความโกรธมาก ไม่มีใครมีความสุขในขณะที่โกรธใช่ไหม? ดังนั้น เราต้องตระหนักว่า ณ ตรงนี้ ความโกรธทำให้เราไม่มีความสุขและเราจะต้องกำจัดความโกรธด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง

ปัญหาของเราที่ทำให้เราไม่มีความสุขก็อาจเป็นความวิตกกังวลตลอดเวลาได้เช่นกัน ความวิตกกังวลเป็นสภาวะจิตใจที่ไม่พึงปรารถนาอย่างยิ่ง ไม่มีใครมีความสุขในขณะที่กำลังวิตกกังวลอยู่ใช่หรือไม่? ท่าน ศานติเทวะ ปราชญ์ชาวพุทธผู้ยิ่งใหญ่ของอินเดียกล่าวว่า ถ้าท่านอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบากซึ่งท่านสามารถเปลี่ยนแปลงมันได้ แล้วจะกังวลไปทำไม? แค่เปลี่ยนมันก็เท่านั้นเอง ความกังวลไม่ได้ช่วยอะไร และถ้าไม่มีอะไรที่ท่านจะสามารถทำได้เพื่อเปลี่ยนแปลงมัน แล้วจะกังวลไปทำไม? นั่นก็จะไม่ช่วยอะไรเช่นกัน เรามีความสับสนเกี่ยวกับความไม่มีประโยชน์ของความวิตกกังวล เราก็เลยวิตกกังวลต่อไป ประเด็นคือ มันไม่มีประโยชน์อะไรจากความวิตกกังวลเลย

นอกจากนี้แล้ว เรายังมีปัญหาอีกระดับหนึ่ง นั่นคือ ปัญหาที่ไม่เคยพอใจอะไรเลย แน่นอนว่าเราประสบกับช่วงเวลาแห่งความสุข แต่น่าเสียดายที่มันไม่ได้คงอยู่ตลอดไป และเราก็ต้องการมันมากขึ้นเสมอ มันไม่เคยเป็นที่น่าพอใจ เราจะไม่พอใจกับการกินอาหารที่เราโปรดปรานเพียงครั้งเดียวใช่ไหม? เราอยากกินมันซ้ำแล้วซ้ำอีก และถ้าเรากินมันมากเกินไปในคราวเดียว ความสุขที่เรามีในตอนแรกก็จะเปลี่ยนเป็นอาการปวดท้อง ดังนั้น เราจึงสับสนเล็กน้อยเกี่ยวกับความสุขประเภทนี้ แทนที่จะเพลิดเพลินกับมันในสิ่งที่มันเป็นอยู่และตระหนักว่ามันจะไม่คงอยู่และมันก็จะไม่มีวันเป็นที่น่าพอใจเลย แต่เรากลับยึดติดกับมัน และเมื่อเราสูญเสียความสุขนั้นไป เราก็รู้สึกไม่มีความสุขอย่างยิ่ง

ก็เหมือนอยู่กับเพื่อนรักหรือคนที่เรารักแล้วพวกเขาก็จะจากเราไป แน่นอนว่า ในช่วงเวลาหนึ่ง พวกเขาก็จะจากเราไป ฉะนั้นแล้ว เราจึงต้องเพลิดเพลินกับเวลาที่เราอยู่กับพวกเขา มีภาพที่สวยงามมากภาพหนึ่งที่บางครั้งเราใช้เวลาที่มีคนที่ดีเยี่ยมที่เรารักมากเข้ามาในชีวิตของเรา มันเหมือนกับนกป่าที่มาเกาะที่หน้าต่างของเรา เมื่อนกป่ามาที่หน้าต่างของเรา เราสามารถชื่นชมความงามของนกตัวนี้ได้ แต่หลังจากนั้นไม่นานนกก็จะบินจากไปแน่นอนเพราะมันเป็นอิสระ และถ้าเราอ่อนโยนกับมันมาก ๆ บางทีนกก็จะกลับมา แต่ถ้าเราจับนกและขังมันไว้ในกรง นกก็จะไม่มีความสุขมากและอาจตายได้ ในทำนองเดียวกัน คนเหล่านี้เข้ามาในชีวิตเราก็เหมือนกับนกป่าที่สวยงามตัวนี้ สิ่งที่ดีที่สุดที่ควรทำก็คือ เพลิดเพลินกับเวลาที่พวกเขาอยู่กับเรา เมื่อพวกเขาจากไปไม่ว่าจะด้วยเหตุใดก็ตาม เป็นระยะเวลาเท่าใดก็ตาม มันก็จะเกิดขึ้น ถ้าเราผ่อนคลายและทำใจให้สงบเกี่ยวกับเรื่องนั้นและไม่เรียกร้องว่า “อย่าทิ้งฉันไป ฉันอยู่ไม่ได้ถ้าไม่มีคุณ” อะไรแบบนี้ ถ้าอย่างนั้นแล้ว ก็อาจเป็นไปได้ที่พวกเขาจะกลับมา ถ้าไม่อย่างนั้น การยึดจับและเรียกร้องของเราก็จะขับไล่พวกเขาออกไป

เมื่อเราสับสนเกี่ยวกับธรรมชาติของความสุขและความปีติยินดีธรรมดาในชีวิต แน่นอนว่า เรามีปัญหา เราไม่สามารถแม้แต่จะเพลิดเพลินกับช่วงเวลาแห่งความสุขที่เรามีได้เพราะเราวิตกกังวลและกลัวว่าจะสูญเสียมันไป เราเป็นเหมือนสุนัขที่มีชามอาหารอยู่ สุนัขกำลังกินอาหาร แต่มันก็ยังมองไปรอบ ๆ และคำรามเพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่มีใครมาเอาอาหารมันไป บางครั้งเราก็เป็นแบบนั้น จริงไหม แทนที่จะแค่เพลิดเพลินไปกับสิ่งที่เรามีและยอมรับว่าเมื่อมันหมด มันก็หมด แต่แน่นอนว่าสิ่งนี้ไม่ง่ายอย่างที่พูด บางทีอาจฟังดูไม่ง่ายด้วยซ้ำ แต่มันต้องมีการฝึกฝน ทำความคุ้นเคยกับวิธีมองสิ่งต่าง ๆ ในชีวิตที่แตกต่างกันไป

การหยุดปัญหาของเราอย่างแท้จริง

พระพุทธเจ้าตรัสว่า เราสามารถหยุดปัญหาของเราตลอดไปได้ และวิธีที่จะทำแบบนั้นคือ กำจัดสาเหตุของมัน นั่นเป็นวิธีการที่มีเหตุผลและสอดคล้องกับหลักเหตุผลมาก ถ้าคุณกำจัดเชื้อเพลิงออกไป มันก็จะไม่มีไฟอีกต่อไป พระพุทธเจ้าตรัสว่ามันก็เป็นไปได้ที่จะขจัดปัญหาเหล่านี้ออกไปในทางที่มันจะไม่หวนกลับมาอีกเลย

เราไม่ต้องการที่จะพอใจกับเสรีภาพชั่วคราวจากปัญหาเหล่านี้ใช่ไหม? มันเหมือนกับการนอนหลับ เมื่อคุณหลับ คุณจะไม่มีปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ที่ยุ่งยากนั้น นั่นไม่ใช่วิธีแก้ปัญหา เพราะเมื่อคุณตื่นขึ้นมา ปัญหาก็ยังอยู่ที่นั่น มันเหมือนกับว่าคุณไปเที่ยวพักผ่อนที่ไหนสักแห่ง แต่คุณก็ต้องกลับบ้าน และเมื่อคุณกลับบ้าน ปัญหาก็ยังอยู่ที่นั่น ดังนั้น วันหยุดจึงไม่ใช่ทางออกที่ดีที่สุด ไม่ใช่ทางออกที่ยั่งยืนที่สุด

นอกจากนี้แล้ว พระพุทธเจ้าก็ไม่ได้บอกให้แค่เงียบแล้วยอมรับปัญหาของคุณและอยู่กับมัน เพราะนั่นไม่ใช่ทางออกที่ดีเช่นกันใช่ไหม? เพราะหลังจากนั้น เราก็จะรู้สึกหมดหนทาง ไม่มีอะไรที่เราจะสามารถทำได้ ดังนั้น เราจึงยอมแพ้และไม่แม้แต่จะพยายามด้วยซ้ำ มันสำคัญมากที่เราจะต้องพยายามเอาชนะปัญหาของเรา แม้ว่าเราจะไม่พัฒนาก้าวหน้ามากนัก แต่อย่างน้อยเราก็รู้สึกว่าเราได้พยายามแล้ว

วิธีการหยุดปัญหาของเรา

แต่ถ้าเราต้องการที่จะหยุดปัญหาเหล่านี้ได้ประสบผลสำเร็จอย่างแท้จริง เป็นการสิ้นสุดอย่างแท้จริง ฉะนั้นแล้ว มันก็มีข้อเท็จจริงข้อที่ 4 ที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ นั่นคือ เราจำเป็นต้องปฏิบัติตามวิธีการบางอย่างและรับเอาความเข้าใจที่ถูกต้องบางอย่างเพื่อที่จะกำจัดสาเหตุที่ลึกที่สุดนั้น ซึ่งก็คือ ความสับสนของเรานั่นเอง แต่ความเข้าใจที่ดีก็ยังไม่เพียงพอหากเราไม่สามารถจำมันได้ตลอดเวลา ดังนั้น เราจึงต้องพัฒนาสมาธิ แต่เพื่อให้มีสมาธิจดจ่อให้จำได้และจดจ่ออยู่กับความเข้าใจนั้นได้ เราจำเป็นต้องมีวินัยในตนเอง ดังนั้น วิธีทางพระพุทธศาสนาทั่วไปที่เราใช้ป้องกันปัญหาคือการปฏิบัติตามระเบียบวินัย สมาธิ และความเข้าใจที่ถูกต้อง (บางครั้งเรียกว่า “ปัญญา”)

นอกจากนี้ สาเหตุหลักประการหนึ่งของปัญหาของเราก็คือ ความเห็นแก่ตัวของเรา ความเห็นแก่ตัวของเราส่วนใหญ่ตั้งอยู่บนความสับสนเกี่ยวกับความเป็นจริง เพราะดูเหมือนเราจะคิดว่าเราเป็นคนเดียวที่อยู่ในโลกนี้ แม้ว่าเราจะยอมรับว่ามีผู้อื่นอยู่ แต่ก็เห็นได้ชัดว่าเราเป็นคนที่สำคัญที่สุดในจักรวาล เป็นศูนย์กลางของจักรวาลของเรา เนื่องจากความเข้าใจผิดนั้น เราจึงคิดว่า “ฉันต้องทำตามใจฉันเสมอ ฉันต้องได้ในสิ่งที่ฉันต้องการเสมอ” และถ้าเราไม่ได้ดั่งใจ เราก็จะไม่มีความสุขเอามาก ๆ 

นั่นเป็นมุมมองที่สับสนมากเกี่ยวกับความเป็นจริง เพราะมันไม่มีอะไรพิเศษเกี่ยวกับฉันในแง่นั้น เราทุกคนล้วนต้องการความสุข ไม่มีใครอยากทุกข์ ทุกคนอยากได้ในสิ่งที่พวกเขาต้องการและไม่มีใครไม่อยากได้ในสิ่งที่พวกเขาต้องการ และไม่ว่าอย่างไรก็ตาม เราก็ต้องอยู่ด้วยกัน เพราะเราอยู่ด้วยกัน ดังนั้น เราจึงต้องเพิ่มความรักและความเห็นอกเห็นใจ การคำนึงถึงผู้อื่น และการเห็นแก่ประโยชน์ของผู้อื่นเป็นหนทางในการเอาชนะปัญหาหรือป้องกันปัญหาต่าง ๆ เช่นเดียวกับที่เราต้องการให้ผู้อื่นช่วยเรา พวกเขาก็ต้องการให้เราช่วยพวกเขาเช่นเดียวกัน

การจัดการกับอารมณ์ที่รบกวนจิตใจ

แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกคนจะเป็นนักบุญหรือพระโพธิสัตว์ นั่นเป็นความจริงอย่างยิ่ง ทุกคนสับสนในระดับหนึ่งหรืออีกระดับหนึ่ง เนื่องจากเราสับสน เราจึงกระทำการภายใต้อิทธิพลของอารมณ์ที่รบกวนจิตใจ ตัวอย่างเช่น ถ้าผมคิดว่า ผมเป็นศูนย์กลางของจักรวาล และผมคือคนที่สำคัญที่สุด จากนั้น ความรู้สึกที่มาพร้อมกับสิ่งนั้นก็คือความไม่มั่นใจ ถูกต้องไหม? เมื่อคุณสับสน คุณก็จะรู้สึกไม่มั่นใจและคิดว่า “ฉันควรจะเป็นคนที่สำคัญที่สุด แต่ผู้คนก็ไม่ได้ปฏิบัติกับฉันแบบนั้นเสมอไป” ดังนั้น จึงมีความไม่มั่นใจอยู่ตรงนั้น

อะไรคือกลยุทธ์ที่เราอาจใช้เมื่อเรารู้สึกไม่มั่นใจ เป็นกลยุทธ์ที่พยายามทำให้ตัวเราเองรู้สึกมั่นใจมากขึ้นใช่ไหม? หนึ่งในนั้นคือ “ถ้าฉันได้มาซึ่งวัตถุสิ่งของต่าง ๆ รอบตัวฉันอย่างเพียงพอ นั่นจะทำให้ฉันรู้สึกมั่นใจ ถ้าฉันเพียงแค่หาเงินได้มากพอ หรือได้รับความสนใจมากพอ หรือความรักมากพอ นั่นจะทำให้ฉันมีความสุข” แต่อย่างที่เราเห็น ธรรมชาติของความสุขประเภทนี้คือ เราไม่เคยพอ เราไม่เคยพอใจ และเราต้องการมากขึ้นเรื่อย ๆ

ให้คิดถึงมัน มันสมเหตุสมผล เราอยากให้คนที่เรารักพูดคำว่า “ฉันรักเธอ” แค่ครั้งเดียวจริงหรือ? ถ้าคน ๆ นั้นพูดแบบนั้นแค่เพียงครั้งเดียวก็เพียงพอแล้ว คน ๆ นั้นก็ไม่ต้องพูดแบบนั้นกับเราอีกครั้งงั้นหรือ? เราไม่เคยรู้สึกมั่นใจกับสิ่งนั้น เราอยากได้ยินมันซ้ำแล้วซ้ำเล่าไม่ใช่หรือ? และเราก็ไม่เคยถึงจุดที่เราจะพูดว่า “เอาล่ะ คุณไม่จำเป็นต้องบอกฉันแบบนั้นอีกต่อไปแล้ว ฉันรู้แล้ว” ดังนั้น เมื่อเราพูดถึงความโลภ มันไม่ใช่แค่โลภในสิ่งของและเงินเท่านั้น แต่เรายังโลภในความรัก และพวกเราส่วนใหญ่ก็มักจะกระหายอยากได้ความสนใจเป็นพิเศษอีกด้วย  เราเห็นสิ่งนั้นจากเด็กเล็ก ๆ นั่นเป็นกลไกหนึ่ง ซึ่งก็คือ หากเราสามารถได้มาซึ่งสิ่งต่าง ๆ รอบตัวเรามากพอ นั่นจะทำให้เรามั่นใจไร้กังวล แต่นั่นมันก็ไม่เคยได้ผลเลย

กลไกต่อไปคือ ความโกรธและความรู้สึกรังเกียจ นั่นคือ “ถ้าฉันสามารถเอาบางสิ่งที่ฉันรู้สึกว่ากำลังคุกคามฉันออกไปได้ นั่นจะทำให้ฉันรู้สึกปลอดภัยไร้กังวล” แต่เราไม่เคยรู้สึกปลอดภัยเลย เรารู้สึกถูกคุกคามอยู่เสมอ และเราก็มักจะเตรียมป้องกันอยู่เสมอในกรณีที่มีคนทำสิ่งที่เราไม่ชอบ แล้วจากนั้นเราก็จะโกรธและไล่พวกเขาไป บางครั้งนั่นอาจเป็นการทำร้ายตัวเองอย่างมากได้ ผมกำลังนึกถึงตัวอย่างความสัมพันธ์ที่เรารู้สึกว่าอีกฝ่ายหนึ่งไม่ใส่ใจเรามากพอ ไม่ให้เวลาแก่เราเพียงพอ เราเลยตะโกนใส่เขา เราโกรธและตะโกนว่า “คุณควรสนใจฉันมากกว่านี้! คุณควรให้เวลากับฉันมากกว่านี้!” ฯลฯ ผลของมันจะเป็นอย่างไร? โดยปกติ ก็มักจะทำให้คน ๆ นั้นห่างไกลจากคุณไปอีก หรือคน ๆ นั้นอาจทำตามที่เราต้องการและอยู่กับเราชั่วขณะหนึ่ง แต่คุณก็จะรู้สึกได้ว่าคน ๆ นั้นอึดอัดไม่สบายใจกับสิ่งนั้น เราคิดได้อย่างไรว่าการโกรธใครสักคนจะทำให้เขาชอบเรามากขึ้น? ไร้สาระจริง ๆ ใช่ไหม? กลไกหลายอย่างที่เราใช้โดยหวังว่าจะทำให้เราปลอดภัยไร้กังวลยิ่งขึ้น จริง ๆ แล้วกลับทำให้สิ่งต่าง ๆ แย่ลงไปอีก

กลไกอีกอย่างที่เราใช้คือ การสร้างกำแพง ซึ่งมันอยู่บนพื้นฐานของความไม่รู้ตามที่เป็นจริง โดยคิดว่าถ้าเราไม่จัดการกับปัญหานั้นด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง ก็จะไม่มีปัญหานั้น หรือไม่มันก็จะหายไปเอง “ฉันไม่อยากได้ยินเกี่ยวกับเรื่องนั้น” ทัศนคติแบบนี้ แล้วคุณก็สร้างกำแพงนั้นขึ้นมา แต่แน่นอนว่าความไม่รู้นั้นมันใช้ไม่ได้ผลเช่นกัน ปัญหาก็จะไม่หมดไปเพียงแค่เพราะเราละเลยและไม่ยอมรับมันเท่านั้น

ดังนั้น จากอารมณ์ที่รบกวนจิตใจเหล่านี้ สิ่งที่เกิดขึ้นคือ เรากระทำสิ่งที่เป็นการทำลายในทุกรูปแบบ เราตะโกนใส่ เราอาจตีใครก็ได้ ถ้าคุณรู้สึกว่า “ฉันช่างน่าสงสารจัง ฉันไม่มีอะไรเลย” คุณอาจจะขโมยโดยคิดว่ามันจะช่วยคุณได้ ผมกำลังนึกถึงตัวอย่างตอนที่ผมอาศัยอยู่ในอินเดียเป็นเวลาหลายปี อินเดียเป็นดินแดนแห่งแมลง มีแมลงมากมายหลายชนิดที่คุณสามารถจินตนาการได้ และคุณก็ไม่สามารถฆ่าพวกมันทั้งหมดได้ ไม่มีทางที่คุณจะเอาชนะมันได้เลย ทางออกเดียวคือ เรียนรู้ที่จะอยู่กับพวกมัน ถ้าคุณไม่ชอบแมลงต่าง ๆ ในห้อง คุณก็นอนในมุ้ง คุณมีมุ้งอยู่รอบตัวคุณ แล้วคุณก็อยู่ในพื้นที่ที่ปกป้องคุณนั้น นั่นเป็นวิธีแก้ปัญหาอย่างสันติ แทนที่จะไปท่องป่าซาฟารีและไล่ล่ายุงทั้งหมดในห้องของคุณ แล้วคุณก็ตื่นทั้งคืนเพราะมันก็จะมียุงมาให้ฆ่ามากขึ้นเสมอ มักจะมีช่องว่างอยู่ใต้ประตูเสมอ หรือหน้าต่างปิดไม่สนิท จะมีมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่แรงกระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมที่เป็นการทำลายก็จะเกิดขึ้นตามแรงบีบบังคับทางใจที่ว่า “ฉันต้องกำจัดพวกมัน!”

พฤติกรรมที่เป็นการทำลายมีอยู่หลายรูปแบบ การโกหก การใช้ภาษาที่รุนแรงหยาบคาย การคบชู้ การข่มขืน สิ่งเหล่านี้มีอยู่ตรงนั้น และเมื่อเราประพฤติตัวที่เป็นไปในทางทำลาย ซึ่งโดยพื้นฐานแล้วมันก็จะทำให้เกิดความทุกข์ ไม่เพียงแต่ความทุกข์ที่ให้กับผู้อื่นเท่านั้น แต่โดยเฉพาะอย่างยิ่งความทุกข์ที่ให้กับตัวเราเองด้วย ถ้าคุณลองคิดถึงมัน พระพุทธศาสนากล่าวไว้อย่างหนักแน่นเกี่ยวกับการฆ่า ถูกต้องไหม? ตอนนี้ ประเด็นตรงนี้คือ ถ้าคุณมีนิสัยชอบฆ่าอะไรก็ตามที่คุณไม่ชอบ เช่น ยุง นั่นคือการตอบสนองอัตโนมัติอย่างแรกของคุณใช่ไหม? และมันก็ไม่ใช่แค่การฆ่าเท่านั้น หากมีบางอย่างที่เราไม่ชอบ เราก็รีบแสดงมันออกมาด้วยความรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นทางวาจา ทางกาย ทางอารมณ์ แทนที่จะเรียนรู้ที่จะจัดการกับมันด้วยสภาพจิตใจที่สงบ

แน่นอนว่าบางครั้งคุณอาจต้องฆ่า ตัวอย่างเช่น อาจมีแมลงที่กินพืชผล อาจมีแมลงที่ก่อให้เกิดโรคต่าง ๆ เป็นต้น พระพุทธศาสนาไม่ใช่เป็นสิ่งที่เกี่ยวกับการเป็นคนคลั่งไคล้ แต่คุณก็ควรที่จะไม่ไร้เดียงสาเกี่ยวกับเรื่องนี้ จงพยายามทำโดยปราศจากความโกรธและความเกลียดชัง – “ฉันเกลียดยุงที่ทำให้เกิดโรคมาลาเรียพวกนี้!” และคุณก็ควรจะรู้ตามที่เป็นจริงเกี่ยวกับผลด้านลบที่จะตามมาด้วย ตัวอย่างง่าย ๆ เช่น ถ้าเราใช้ยาฆ่าแมลงกับผักและผลไม้ เราก็กินสิ่งนั้นด้วย และอาจทำให้เกิดโรคได้ ดังนั้น จึงมีผลข้างเคียงเชิงลบ กลับมาที่จุดเริ่มต้นเดิมของเรา ประเด็นตรงนี้คือ วิธีการของเรา นั่นคือ วินัย สมาธิ และความเข้าใจที่ถูกต้องที่เสริมด้วยความรักและความเห็นอกเห็นใจ 

ความมีวินัยในตนเองตามหลักจริยธรรม

เราจะใช้มาตรการป้องกันเหล่านี้เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาในชีวิตได้อย่างไร? ระดับแรก สิ่งแรกที่เราทำคือ ใช้ความมีวินัยในตนเองตามหลักจริยธรรม ซึ่งก็คือ หลีกเลี่ยงการกระทำการที่เป็นไปในทางทำลาย การกระทำที่เป็นไปในทางทำลายก็คือการกระทำภายใต้อิทธิพลของอารมณ์ที่รบกวนเหล่านี้ นั่นคือ ความโกรธ ความโลภ ความยึดติด ความอิจฉาริษยา ความไม่รู้ ความเย่อหยิ่งทะนงตน เป็นต้น นั่นหมายความว่า เมื่อเรารู้สึกอยากกระทำการที่เป็นไปในทางทำลาย เราก็ตัดสินใจอย่างชัดเจนว่า “ไม่ ฉันไม่ต้องการทำแบบนั้น”

เมื่อผมรู้สึกเหมือนอยากตะโกนใส่คุณในความผิดพลาดบางอย่างที่คุณทำ ผมรู้ว่าการตะโกนใส่นั้นจะทำให้สถานการณ์แย่ลงไปอีกก็เท่านั้น ผมอาจจะต้องแก้ไขที่คุณหรือจัดการกับความผิดพลาดที่เกิดขึ้น แต่การตะโกนใส่นั้นจะทำให้แย่ลงไปอีก ถูกต้องไหม? โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเรียกชื่อคุณแบบแย่ ๆ และสาปแช่งคุณ นั่นจะไม่ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้นอย่างแน่นอน ดังนั้น การมีวินัยในตนเองตามหลักจริยธรรมจึงเป็นเรื่องเกี่ยวกับการสังเกตโดยเร็วที่สุด แม้กระทั่งก่อนที่เราจะกระทำการที่เป็นไปในทางทำลาย ว่าเรากำลังจะกระทำการตามแรงบีบบังคับที่เป็นไปในทางทำลาย มีแรงกระตุ้นให้ทำอย่างนั้นและเราแยกแยะได้ นั่นคือ “สิ่งนี้จะไม่เป็นประโยชน์เลย” และเรายับยั้งตัวเราเองไม่ให้แสดงแรงกระตุ้นของเราออกมา

ตอนนี้ เราไม่ได้บอกว่าคุณเก็บความโกรธไว้ข้างใน แล้วความโกรธก็จะกัดกินคุณ แล้วคุณก็เพียงแค่เก็บมันเอาไว้และเก็บมันเอาไว้จนกว่าคุณจะระเบิด นั่นไม่ใช่วิธีการ และถ้าเราไม่สามารถจัดการกับมันได้และมันก็ก่อตัวขึ้นภายใน ถ้างั้นก็อย่าปล่อยมันไปให้คนอื่น แล้วก็ไม่ใช่ไปชกกำแพง ทั้งหมดที่กำลังทำคือ ทำให้มือของคุณเจ็บ นั่นมันโง่มาก ดังนั้น คุณจึงต้องปล่อยมันด้วยวิธีอื่น ถูกต้องไหม? ต่อยหมอนหรือล้างพื้นทั้งหมดในบ้าน นั่นเป็นวิธีการแบบ “ภูมิปัญญาของแม่” ในการจัดการกับความโกรธและความคับข้องใจ และจริง ๆ แล้ว การทำงานบ้านที่ต้องออกแรงมาก หรือการวิ่งระยะยาว หรือออกกำลังกายอย่างหนักที่โรงยิมก็จะช่วยให้คุณค่อย ๆ ลดพลังแห่งความโกรธที่คับข้องใจนั้นลงได้

สติและสมาธิ

ถ้าเราคุ้นเคยกับพฤติกรรมแบบนี้มากขึ้นเรื่อย ๆ และเรายับยั้งตัวเราเองจากการกระทำที่เป็นไปในทางทำลายเวลาที่เรารู้สึกอยากทำแบบนั้น ซึ่งสิ่งที่เราใช้ในที่นี้คือสิ่งที่เรียกว่า “การรับรู้ที่แยกแยะ (shes-rab)” ของเรา เราแยกแยะระหว่างสิ่งที่เป็นประโยชน์กับสิ่งที่เป็นอันตราย และบนพื้นฐานนั้น เราก็จะสามารถสงบสติอารมณ์ได้ ไม่เพียงแค่เก็บความโกรธไว้ภายในเท่านั้น สิ่งสำคัญที่เรากำลังปลูกฝังตรงนี้ก็คือ สิ่งที่มักจะแปลว่า “สติ (dran-pa)” ซึ่งหมายความว่า “ระลึกได้” มันเหมือนกับกาวใจที่ยึดมั่นอยู่กับระเบียบวินัย นั่นคือ สิ่งที่ฉันต้องการทำ ฉันต้องการมีชีวิตอย่างไร ฉันต้องการทำอะไรในชีวิต ยึดมั่นในสิ่งนั้นและไม่ลืมมัน นั่นคือสติ ซึ่งเป็นคำเดียวกับ “การระลึกได้อย่างแข็งขัน”

ดังนั้น สิ่งที่เราพยายามทำก็คือการตื่นตัวมากขึ้น คำว่า “พระพุทธเจ้า” แท้จริงแล้วหมายถึง “คนที่ตื่นเต็มที่” เราพยายามที่จะตื่นตัวต่ออารมณ์ที่เรารู้สึก อะไรเป็นแรงกระตุ้นที่บีบบังคับเข้ามาในจิตใจของเราให้ทำอย่างนี้หรือทำอย่างนั้น และเราก็พยายามที่จะไม่ตกเป็นทาสของสิ่งเหล่านี้ แต่ด้วยความเข้าใจ จึงตระหนักว่า เราสามารถเลือกวิธีที่เราจะกระทำได้ ถ้าฉันอารมณ์ไม่ดี มันก็สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ฉันสามารถเปลี่ยนแปลงมันได้

บางครั้งวิธีแก้ปัญหาอารมณ์ไม่ดีก็ค่อนข้างง่าย วิธีที่ง่ายที่สุดวิธีหนึ่งคือ “ส่งเด็กทารกที่อารมณ์ร้ายเข้านอน” เรารู้สึกเหมือนเด็กทารกที่ตื่นอยู่นานเกินไปและส่งเสียง “แว้ แว้”  ร้องไห้ตลอดเวลา เป็นต้น บ่อยครั้งเมื่อเราอารมณ์ไม่ดี เราก็เป็นแบบนั้น ดังนั้น ให้นอนลง งีบหลับ เข้านอน เมื่อเราตื่นขึ้น มันก็มักจะดีขึ้นกว่าเดิมมาก

หรือถ้าคุณกำลังมีความขัดแย้งกับใครสักคนและกำลังเข้าสู่สภาวะที่รุนแรงมาก คุณก็ทราบดีว่าในสถานการณ์นี้ อีกฝ่ายหนึ่งไม่ฟังคุณจริง ๆ อีกต่อไปแล้วและคุณก็ไม่ฟังเขาเลยจริง ๆ มันจะดีกว่าถ้าจะจบการสนทนานั้นลง “เราค่อยกลับมาคุยกันทีหลังตอนที่เราทั้งคู่สงบสติอารมณ์ได้แล้ว” แล้วก็ไปเดินเล่นหรืออะไรทำนองนั้นเพื่อสงบสติอารมณ์

สิ่งเหล่านี้เป็นวิธีการง่าย ๆ จริง ๆ แล้ว พระพุทธศาสนาสอนวิธีการแสดงออกที่ลึกซึ้งกว่านั้นมาก แต่นี่เป็นจุดเริ่มต้น เราต้องเริ่มต้นด้วยการใช้วิธีการที่เราสามารถนำไปใช้ได้จริง แต่หลักการเป็นสิ่งสำคัญ และหลักการก็คือ มองดูว่าอะไรเป็นสาเหตุของปัญหาและทำอะไรบางอย่างเพื่อเอาชนะปัญหานั้น ไม่ใช่แค่ตกเป็นเหยื่อของปัญหาเท่านั้น ในแง่หนึ่งก็คือ การควบคุมสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตของคุณนั่นเอง

ตอนนี้ ถ้าเราสามารถพัฒนาสติให้ยึดมั่นอยู่กับความเข้าใจของเราว่าสิ่งใดมีประโยชน์และสิ่งใดที่เป็นอันตรายในพฤติกรรมของเรา ถ้าเราสามารถใส่ใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นและระลึกได้ว่าเราต้องการจะปฏิบัติอย่างไรแล้วแก้ไขมันถ้าเราจะไม่ทำอย่างนั้น นั่นคือ ถ้าเราสามารถทำแบบนั้นได้ด้วยวิธีที่เราทำกับร่างกายของเรา วิธีที่เราพูด เราก็ได้พัฒนาความเข้มแข็งที่จะทำเช่นนั้นได้ด้วยจิตใจของเรา กับสิ่งที่เรากำลังคิดแล้ว

ดังนั้น เมื่อเราเริ่มมีกระแสความคิดวิตกกังวล หรือกระแสความคิดที่ว่า “ฉันช่างน่าสงสารจัง ไม่มีใครรักฉัน” ฯลฯ อะไรแบบนี้ เราจะพูดว่า “ได้โปรดเถอะ! ฉันไม่อยากไปสู่เส้นทางของการสงสารตัวเอง การวิตกกังวล และอื่น ๆ นี่มันแค่จะทำให้ฉันไม่มีความสุขก็เท่านั้น” แล้วเราก็นำความใส่ใจของเรากลับไปสู่สิ่งที่เป็นบวกมากขึ้น มีหลายสิ่งหลายอย่างที่เราสามารถทำได้กับร่างกาย กับจิตใจของเรามากกว่าแค่การนั่งวิตกกังวล มีเรื่องดี ๆ อีกมากมายที่เราสามารถคิดได้แทนที่จะคิดว่าทุกอย่างมันแย่แค่ไหนเหมือนกับตอนที่เราวิตกกังวล เพราะสิ่งที่เรากำลังพยายามพัฒนาตรงนี้ก็คือสมาธิ เพื่อที่เราจะได้ดึงความใส่ใจของเรากลับมาเมื่อมันออกนอกเส้นทางไปคิดถึงเรื่องอื่น

ตัวอย่างเช่น เมื่อเราพูดกับใครสักคนและจิตใจของเราเริ่มคิดถึงเรื่องอื่น มันอาจไม่จำเป็นต้องเป็นความกังวล มันอาจจะเกี่ยวกับว่า “เมื่อไหร่พวกเขาจะหยุดพูดเสียที?” หรือ “ฉันจะกินอะไรเป็นอาหารเย็น?” มันอาจจะเกี่ยวกับอะไรก็ได้ แล้วเราก็หยุดให้ความใส่ใจกับบุคคลอื่น หรือเรากำลังแสดงความคิดเห็นในใจว่า “สิ่งที่พวกเขาเพิ่งพูดไปนั้นมันไร้สาระ” เราก็ดึงความสนใจของเรากลับมาและเพียงแค่ตั้งใจฟังพวกเขาก็เท่านั้น

นี่เป็นการใช้สมาธิในทางปฏิบัติที่เป็นจริง แต่ต้องมีวินัย และประการแรก เราพัฒนาวินัยนั้นในแง่ของพฤติกรรมทางกายและทางวาจาของเรา เมื่อคุณพัฒนาทักษะนี้ ซึ่งเป็นทักษะการดึงความใส่ใจของคุณกลับมาและแก้ไขการออกนอกลู่นอกทางใด ๆ ก็ตามแล้ว คุณก็จะสามารถประยุกต์ใช้สิ่งนั้นได้กับทุกสถานการณ์ มันมีประโยชน์มากจริง ๆ ตัวอย่างเช่น คุณจะเริ่มเอาใจใส่กับวิธีการควบคุมร่างกายของคุณ ถ้าไหล่ของคุณตึงและตรง และคอของคุณตึง ฯลฯ ถ้าคุณมีสติและสังเกตเห็นสิ่งนั้น คุณก็เพียงแค่เอนหลังลงและผ่อนคลาย มันเป็นเรื่องของการเอาใจใส่ จดจำ และทำอะไรบางอย่างกับมันก็เท่านั้นเอง หรือเมื่อคุณเริ่มตื่นเต้นมาก และมันไม่เหมาะสมอย่างยิ่งในสถานการณ์นั้น แล้วคุณก็เริ่มพูดเสียงดังและก้าวร้าวใส่ใครสักคนมากขึ้นเรื่อย ๆ คุณสังเกตเห็นมัน คุณก็เปลี่ยนมันเท่านั้นเอง คุณก็แค่สงบสติอารมณ์ เช่น เอนหลังลง แต่คุณทำแบบนั้นในระดับพลังงาน ซึ่งก็คือ ระดับอารมณ์

นี่คือความลับทั้งหมดในการนำวิธีการทางธรรมเหล่านี้ไปประยุกต์ใช้ในชีวิตของคุณ เพียงแค่จำมันไว้ให้ขึ้นใจและมีวินัยพอที่จะลงมือทำมัน เพียงแค่นำมันไปประยุกต์ใช้ก็เท่านั้นเอง และคุณก็ไม่ได้ทำเพราะว่าคุณอยากเก่งหรืออยากเอาใจครูหรืออะไรทำนองนั้น คุณทำสิ่งนั้นเพราะคุณต้องการหลีกเลี่ยงปัญหาหรือความยากลำบาก เพราะคุณรู้ว่าถ้าคุณไม่ทำอะไรกับมัน คุณก็แค่จะทำให้ตัวคุณเองเป็นทุกข์เท่านั้น และนั่นก็ไม่สนุกเลยใช่ไหม? ดังนั้น เราจึงจำเป็นต้องใช้วินัยในตนเองกับพื้นที่ทางจิตในแง่ของสมาธิ แม้กระทั่งในแง่ของการจัดการกับความรู้สึกของเรา แน่นอนว่าการจัดการกับความรู้สึกนั้นละเอียดอ่อนกว่าและยากกว่ามาก แต่อย่างที่ผมได้พูดไปแล้วก็คือ ถ้าคุณรู้สึกตื่นเต้นมากเกินไป คุณก็สามารถที่จะสงบลงได้

ความเข้าใจที่ถูกต้อง

ครั้นเมื่อคุณพัฒนาเครื่องมือแห่งสมาธิ อย่างน้อยก็ถึงในระดับหนึ่งแล้ว สิ่งที่คุณต้องการให้มีสมาธิจดจ่ออยู่กับมันก็คือ ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้น เรามีความสับสนมากมายเกี่ยวกับความเป็นจริง เกี่ยวกับว่าเราดำรงอยู่อย่างไร ผู้อื่นดำรงอยู่อย่างไร และโลกดำรงอยู่อย่างไร และเนื่องจากความสับสนนั้น เราจึงมีการฉายภาพหรือจินตนาการเอาเองถึงสิ่งที่จริง ๆ แล้วไม่เป็นความจริง ถูกต้องไหม? เราสามารถจินตนาการออกมาได้ว่า “ฉันไม่ดี ฉันเป็นผู้แพ้” หรือ “ฉันเป็นสิ่งที่วิเศษที่สุดในโลก” เราอาจจินตนาการออกมาได้ว่า “ฉันช่างน่าสงสารจัง ไม่มีใครรักฉัน” แต่ถ้าเราวิเคราะห์ทุกคนในชีวิตของเราจริง ๆ นั่นหมายความว่าแม่ของฉันไม่เคยรักฉันเลย สุนัขของฉันไม่เคยรักฉันเลย นั่นคือ ไม่มีใครรักฉันเลย นี่แทบจะไม่เป็นจริงเลย

เรากำลังฉายภาพจินตนาการเหล่านี้และเราเชื่อว่ามันเป็นจริง นั่นเป็นสิ่งที่น่ากลัว เราเชื่อว่าเราสามารถมาสายได้ หรือไม่มาตามนัดก็ได้ และมันก็ไม่สำคัญหรอก “คุณไม่มีความรู้สึก” ใช่ไหม? แล้วเราก็ไม่เกรงใจคนอื่น แต่ทุกคนก็มีความรู้สึกเหมือนกับที่ฉันมีความรู้สึก ไม่มีใครอยากถูกละเลย ไม่มีใครชอบถ้าพวกเขามีนัดและอีกฝ่ายหนึ่งไม่โทรมาหรือมาสาย ไม่มีใครชอบสิ่งนั้น สิ่งที่เราต้องทำก็คือ ใช้สมาธิขจัดการจินตนาการเหล่านี้และหยุดการฉายภาพเรื่องไร้สาระเหล่านี้ทั้งหมด เช่นว่า พฤติกรรมที่ไม่ใส่ใจของเราไม่ทำร้ายผู้อื่น เพราะนั่นเป็นสาเหตุที่ลึกที่สุดของปัญหาของเราจริง ๆ “ฉันเป็นศูนย์กลางของจักรวาล ฉันควรจะทำตามใจของฉันเสมอ ฉันเป็นคนที่สำคัญที่สุด” เห็นได้ชัดว่านั่นเป็นการจินตนาการ ไม่มีใครสำคัญที่สุด แต่โดยพื้นฐานของการเชื่อว่าการจินตนาการของเราเป็นความจริง เราจึงเห็นแก่ตัว ดังนั้น ถ้าเราต้องการเอาชนะความเห็นแก่ตัว เราจำเป็นต้องวิเคราะห์รื้อโครงสร้างการฉายภาพจินตนาการนั้น แล้วก็หยุดฉายภาพมัน แม้จะรู้สึกราวกับว่าฉันเป็นศูนย์กลางของจักรวาลและฉันก็เป็นเพียงคนเดียวที่ดำรงอยู่ (เพราะเวลาฉันหลับตา ก็จะมีเสียงนี้อยู่ในหัวของฉันและฉันก็ไม่เห็นใครอีก ดังนั้น จึงดูเหมือนว่าฉันจะเป็นคนเดียวที่ดำรงอยู่) แต่เราต้องจำไว้ว่านี่เป็นภาพลวงตาและพยายามอย่าเชื่อมัน นั่นคือ “มันไม่ใช่อย่างนั้น มันแค่ดูเหมือนเป็นอย่างนั้นก็เท่านั้นเอง”

พระพุทธเจ้าตรัสว่า ในการที่จะอยู่กับความเข้าใจนั้นตลอดเวลาเป็นหนทางที่แท้จริงเพื่อทำให้ปัญหาของเรายุติลงได้อย่างแท้จริง ถ้าเรามีความเข้าใจที่ถูกต้องตลอดเวลา เราก็จะไม่สับสน และถ้าเราไม่มีความสับสน เราก็จะไม่โกรธ เราจะไม่มีความยึดติด ไม่มีความโลภ ฯลฯ และถ้าเราไม่มีอารมณ์ที่รบกวนจิตใจเหล่านี้ เราก็จะไม่กระทำการที่เป็นไปในทางทำลาย และถ้าเราไม่ทำอะไรที่เป็นไปในทางทำลาย เราก็จะไม่สร้างปัญหาให้กับผู้อื่นและกับตัวเราเองในทุกรูปแบบ นั่นเป็นวิธีการทางพระพุทธศาสนาขั้นพื้นฐานในการจัดการกับความยากลำบากต่าง ๆ ในชีวิต

ถ้าเราต้องการมีความสัมพันธ์ที่เป็นสุขมากขึ้น เราจำเป็นต้องตระหนักว่า

  • ฉันเป็นมนุษย์ คุณเป็นมนุษย์ เราทุกคนต่างก็มีความรู้สึกเหมือนกัน ฯลฯ
  • ทุกคนมีจุดแข็ง ทุกคนมีจุดอ่อน ฉันมีมัน คุณก็มีมันเช่นกัน
  • ไม่มีใครเป็นเจ้าชายหรือเจ้าหญิงที่มีเสน่ห์น่าหลงใหลบนม้าขาว

คุณมีภาพแบบนั้นในเรื่องราวของคุณหรือไม่? เรามักจะมองหาคู่ครองที่สมบูรณ์แบบอยู่เสมอ เป็นคนที่ขี่ม้าขาว แต่นั่นเป็นเทพนิยาย มันไม่มีอยู่จริง แต่เรากำลังจินตนาการสิ่งนั้นอยู่ เนื่องจากการเชื่อในเทพนิยายนั้น เราจึงคิดว่าคนนี้จะเป็นเจ้าชายหรือเจ้าหญิง และเมื่อพวกเขาไม่เป็นแบบนั้น เราก็จะโกรธพวกเขา และบางครั้งเราถึงกับปฏิเสธพวกเขาไปเลย จากนั้น เราก็จินตนาการถึงคู่ครองที่เป็นไปได้คนต่อไปที่เราจะเจอว่า เขาหรือเธอเป็นเจ้าชายหรือเจ้าหญิง แต่เราก็ไม่เคยพบเจ้าชายหรือเจ้าหญิงเลย เพราะมันไม่มีสิ่งนั้น

ดังนั้น ถ้าเราต้องการมีความสัมพันธ์ที่ดี เราก็ต้องยอมรับความจริง อย่างที่ผมพูดไปแล้ว ความจริงก็คือ ทุกคนมีข้อดี ทุกคนมีข้อเสีย และเราจำเป็นต้องเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันในแบบใดแบบหนึ่ง และไม่มีใครเป็นศูนย์กลางของจักรวาล แล้วคำสอนทั่วไปในทุกศาสนาหรือทุกปรัชญามนุษยนิยมที่คุณจะพบก็คือ การใจดีมีเมตตา คำนึงถึงผู้อื่น ให้ความรัก อดทน ใจกว้าง ให้อภัย ฯลฯ ทุกศาสนาและทุกปรัชญามนุษยนิยมสอนเหมือนกัน พระพุทธศาสนาก็สอนสิ่งนั้นเช่นเดียวกัน

หลักการเดียวกันนี้ก็ใช้ได้กับความสัมพันธ์ของเราในการทำงานด้วย หากคุณใจดีมีเมตตากับคนที่ทำงานกับคุณในที่ทำงาน (หรือถ้าคุณจ้างคนอื่น คุณก็ใจดีมีเมตตาต่อพนักงานของคุณ) ธุรกิจทั้งหมดก็จะดำเนินไปอย่างราบรื่นยิ่งขึ้น ถ้าคุณทำงานในร้านค้าและคุณใจดีมีเมตตาและเป็นมิตรกับลูกค้า บรรยากาศทั้งหมดก็จะน่ารื่นรมย์มากขึ้นไม่ใช่หรือ? และถ้าเราซื่อสัตย์ในการทำการค้ากับอีกฝ่าย ไม่โกงคนอื่น ฯลฯ เช่นเคยว่า สิ่งต่าง ๆ ก็จะดีมากขึ้น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่พยายามทำกำไรและทำมาหากิน แต่ประเด็นคือ อย่าโลภ

และเมื่อคนอื่นโกงเรา ซึ่งไม่ใช่ทุกคนที่จะทำแบบนี้ แล้วคุณจะคาดหวังอะไร? แต่ในมุมมองทางพระพุทธศาสนา เราจะไม่พูดว่าคนเหล่านี้เป็นคนไม่ดี เราจะพูดว่าพวกเขาก็แค่สับสนเท่านั้น พวกเขาสับสน พวกเขาไม่เข้าใจว่าการกระทำแบบนี้ก็เพียงแต่จะสร้างปัญหาให้กับพวกเขามากขึ้นเรื่อย ๆ ก็เท่านั้น จะไม่มีใครชอบพวกเขา ดังนั้น พวกเขาจึงเป็นความเห็นอกเห็นใจมากกว่าที่จะเป็นความเกลียดชัง ถ้าเรามองว่าพวกเขาเป็นความเห็นอกเห็นใจและเรามีความอดทนกับพวกเขา เราก็จะไม่ทุกข์ทรมานทางอารมณ์เมื่อพวกเขาโกงเรา จากนั้น เราก็จะพยายามระมัดระวังกับบุคคลอื่นต่อไปมากขึ้นเพื่อที่เราจะได้ไม่ถูกโกงอีก แต่คุณจะคาดหวังอะไรจากผู้คน? หลายคนเป็นแบบนั้น นั่นคือความจริง การจินตนาการว่าทุกคนมีความซื่อสัตย์ แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะซื่อสัตย์! มันคงจะดีถ้าทุกคนซื่อสัตย์ แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะเป็นแบบนั้น แต่อย่างน้อย เรา ก็ควรพยายามที่จะซื่อสัตย์

ผู้ที่ไม่ใช่ชาวพุทธสามารถใช้วิธีการเหล่านี้ได้หรือไม่?

ตอนนี้ เราต้องปฏิบัติตามแนวทางการทำสมาธิและพิธีกรรมทางจิตวิญญาณของพระพุทธศาสนาที่เข้มงวด ฯลฯ เพื่อนำวิธีการเหล่านี้ไปใช้ ใช่หรือไม่? นั่นไม่จริง เราไม่ต้องปฏิบัติตามเส้นทางของศาสนาที่เป็นมาตรฐานและเข้มงวดเพื่อที่จะใช้สิ่งเหล่านี้ทั้งหมด สมเด็จองค์ดาไลลามะมักจะพูดถึงจริยธรรมทางโลกและคุณค่าของมนุษย์เสมอ นั่นคือ ใจดี มีสติมากขึ้น ตระหนักรู้ ไม่ฉายภาพจินตนาการ เป็นต้น นี่เป็นแนวทางทั่วไปที่ทุกคนสามารถปฏิบัติตามได้

และเมื่อเราพูดถึงการทำสมาธิ เราแค่กำลังพูดถึงวิธีการที่ทำให้ตัวเราเองคุ้นเคยกับวิธีคิดแบบนี้ด้วยการนั่งลงและพยายามคิดแบบนั้น และเมื่อความใส่ใจของเราออกนอกเส้นทางไปคิดถึงเรื่องอื่น ก็ดึงมันกลับมา คุณสามารถทำสิ่งนั้นได้ในขณะที่นั่งสมาธิและจดจ่ออยู่กับพระพุทธเจ้าหรือลมหายใจของคุณ แต่คุณก็สามารถทำเช่นนั้นได้ด้วยเมื่อคุณกำลังอ่านหนังสือ กำลังทำอาหาร หรือกำลังทำอะไรอยู่ก็ตาม เมื่อคุณกำลังทำอาหาร ก็ให้จดจ่ออยู่กับการทำอาหารเท่านั้น และเมื่อจิตใจของคุณออกไปที่ความคิดบ้า ๆ ก็แค่นำมันกลับมายังการทำอาหารก็เท่านั้นเอง มันไม่จำเป็นต้องเป็นการฝึกสมาธิแบบพุทธอย่างเป็นทางการ มีหลายวิธีมากมายที่เราสามารถทำตัวเราเองให้คุ้นเคยกับวิธีคิด วิธีปฏิบัติ และอื่น ๆ เหล่านี้ที่เป็นประโยชน์มากกว่าได้โดยไม่ต้องเกี่ยวข้องกับพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนาหรือสภาพแวดล้อมทางพุทธศาสนาแบบเป็นทางการ

นี่จึงเป็นวิธีที่เราใช้ธรรม ซึ่งก็คือมาตรการป้องกัน เพื่อช่วยให้เราหลีกเลี่ยงปัญหาต่าง ๆ คุณมีคำถามอะไรบ้าง?

คำถาม

การตระหนักถึงสิ่งที่เกิดขึ้นภายในและภายนอก

เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาต่าง ๆ เราก็แค่ต้องมีสมาธิอยู่ตลอดเวลาเท่านั้นใช่หรือไม่?

ในแง่หนึ่งก็ใช่ แต่นั่นไม่ใช่ภาพที่ครบถ้วนสมบูรณ์ ตัวอย่างเช่น เราอาจจดจ่ออยู่กับการตะโกนก่นด่าและตีใครบางคน ดังนั้น นั่นจึงไม่ใช่ภาพรวมทั้งหมด นอกจากนี้ เราต้องตื่นตัวในแง่ที่ว่าเราจำเป็นต้องตระหนักถึงสิ่งที่เกิดขึ้นภายใน นั่นคือ ความคิดของเรา ความรู้สึกของเรา ฯลฯ และในขณะเดียวกันก็ต้องตระหนักและตื่นตัวต่อสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัวเรากับผู้อื่นด้วย เมื่อมีคนกลับบ้าน สมาชิกในครอบครัวของเรา หรือคนที่คุณรัก หรืออะไรก็ตาม บางทีคุณเห็นว่าพวกเขาเหนื่อยมาก ๆ คุณต้องตื่นตัวกับสิ่งนั้น นั่นไม่ใช่เวลาที่จะเริ่มต้นการสนทนาครั้งใหญ่กับพวกเขาเกี่ยวกับบางสิ่งที่สำคัญ พวกเขาเหนื่อย ดังนั้น คุณจึงต้องตื่นตัว มีสมาธิจดจ่อกับสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัวคุณอยู่เสมอ ดูสถานการณ์ของคนอื่นว่าเป็นอย่างไร ไม่ใช่เพียงแค่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับฉันเท่านั้น

เราจะไม่สุดโต่งเพียงแค่การตระหนักถึงตัวเราเองเท่านั้นแล้วไม่ตระหนักถึงผู้อื่น หรือสุดโต่งอีกแบบหนึ่งคือ ให้ความใส่ใจเฉพาะผู้อื่นเท่านั้นไม่ใช่กับตัวเราเอง นั่นก็เป็นสิ่งสุดโต่งที่ควรหลีกเลี่ยงเช่นกัน มีหลายคนที่มีอาการแบบนี้ที่ไม่สามารถพูดว่า “ไม่” ได้ ดังนั้น พวกเขาจึงมักจะทำสิ่งต่าง ๆ เพื่อผู้อื่น เพื่อครอบครัวของพวกเขา หรือเพื่อใครก็ตาม แล้วก็เลยรู้สึกเหนื่อยและหมดเรี่ยวแรงจนพวกเขาแค่สติแตกหรือขุ่นเคืองใจก็เท่านั้น นอกจากนี้ สิ่งสำคัญคือ ต้องใส่ใจกับความรู้สึกของเราและดูแลความต้องการของเราเองด้วย เมื่อเราต้องการพักผ่อน เราต้องพักผ่อน เมื่อเราต้องพูดว่า “ไม่ ฉันขอโทษนะ ฉันไม่สามารถทำแบบนี้ได้ นี่มันมากเกินไป ฉันทำไม่ได้” ก็ให้พูดว่า “ไม่” ตามหลักการแล้วเมื่อเราพูดว่า “ไม่” เราจำเป็นต้องให้ทางเลือกอื่นแก่พวกเขาถ้าทำได้ คุณอาจให้ข้อเสนอแนะว่า “แต่บางทีคนนี้อาจช่วยคุณได้”

พูดสั้น ๆ ก็คือ เพียงแค่ตื่นตัวต่อทุกสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งภายนอกและภายใน จากนั้นจึงใช้ความเข้าใจที่ถูกต้อง ความรัก และความเห็นอกเห็นใจ

การจัดการกับความโกรธ

คุณพูดถึงการกวาดพื้นว่าเป็นวิธีจัดการกับความโกรธหรืออารมณ์ที่เป็นไปในทางทำลายอื่น ๆ แต่คุณชี้ให้เห็นว่าพระพุทธศาสนามีวิธีการที่ลึกซึ้งกว่ามากมาย คุณช่วยให้การเสนอแนะหน่อยได้ไหมว่าจะมองหาสิ่งเหล่านี้ได้ที่ไหน?

ครับ ลึกลงไปอีกหน่อย ระดับหนึ่งในการจัดการกับความโกรธตอนที่เราโกรธใครสักคนก็คือ การพัฒนาความอดทน ตอนนี้ แล้วเราจะพัฒนาความอดทนได้อย่างไร? มีหลายวิธีมาก ตัวอย่างเช่น วิธีการหนึ่งเรียกว่า “ความอดทนเหมือนเป้าหมาย” นั่นคือ “ถ้าฉันไม่สร้างเป้าหมาย ก็จะไม่มีใครยิงมัน” เช่น  ผมขอให้คุณทำบางสิ่งบางอย่างให้ผม แล้วคุณก็ทำไม่ถูกต้อง มีแนวโน้มว่าผมจะโกรธคุณ หรือคุณไม่ได้ทำเลย แล้วเป็นความผิดของใคร? อันที่จริงมันเป็นความผิดของผมเพราะผมขี้เกียจเกินไปที่จะทำมันเองและผมก็ขอให้คุณทำมันให้ แล้วผมจะคาดหวังอะไร? เมื่อคุณขอให้ใครสักคนทำอะไร คุณจะคาดหวังอะไร? สมมติว่าคุณขอให้เด็กอายุ 2 ขวบนำชาร้อนมาให้สักถ้วย แล้วเขาก็ทำหกใส่ แน่นอนว่าเขาจะทำมันหก ก็เหมือนกัน เราจะคาดหวังอะไรเมื่อเราขอให้ใครสักคนทำอะไรบางอย่างให้เรา?

ดังนั้น ผมจึงตระหนักว่าความเกียจคร้านของผมจริง ๆ แล้วทำให้เกิดปัญหา คุณจะไม่โกรธคนอื่น และผมก็รู้ดีว่าเวลาที่ผมขอให้คุณทำอะไรให้ผม นั่นเป็นเพราะว่าผมขี้เกียจเกินไปที่จะทำด้วยตัวเอง ไม่ว่าจะขี้เกียจเกินไป หรือผมไม่มีเวลา ไม่ว่ามันจะเป็นอะไรก็ตาม แต่ประเด็นก็คือ ถ้าผมขอให้คนอื่นทำมันให้ผม ผมก็ไม่ควรคาดหวังว่าคน ๆ นั้นจะทำมันได้อย่างสมบูรณ์แบบหรือในแบบที่ผมจะทำ ซึ่งในท้ายที่สุดอาจจะไม่ถูกต้องด้วย ผมทำผิดพลาดด้วย และถ้าผมทำเองแล้วทำผิดพลาด ก็ไม่มีเหตุผลที่จะต้องโกรธตัวเอง “ฉันไม่ได้สมบูรณ์แบบ ไม่มีใครสมบูรณ์แบบ ดังนั้น แน่นอนว่าฉันจะทำผิดพลาด” ดังนั้นคุณก็แค่ยอมรับความจริง “ฉันเป็นมนุษย์ มนุษย์จะทำผิดพลาด ฉันจึงทำผิดพลาดได้” และถ้าผมสามารถแก้ไขได้ ผมก็แก้ไข ผมไม่โกรธตัวเอง ไม่มีประโยชน์ที่จะโกรธตัวเอง ก็แค่แก้ไขมันถ้าทำได้ ถ้าผมทำไม่ได้ ก็แค่ปล่อยมันไปและพยายามอย่าทำผิดซ้ำอีกในอนาคตก็เท่านั้นเอง

การจัดการกับความโกรธในระดับที่ลึกกว่าคือ การเข้าใจความเป็นจริงของตัวเราเอง ตอนนี้ ผมกำลังพูดในระดับง่าย ๆ แต่ถึงแม้จะอยู่ในระดับง่าย ๆ มันก็มีประโยชน์ “ฉันไม่ใช่ศูนย์กลางของจักรวาล ทำไมฉันต้องทำตามใจของฉันอยู่เสมอ? ทำไม? มีอะไรพิเศษเกี่ยวกับฉันที่ฉันควรต้องทำตามใจฉันเสมอ ส่วนคนอื่นไม่ควรต้องทำตามใจของพวกเขา?” ด้วยความคิดเช่นนี้ คุณเริ่มวิเคราะห์รื้อถอนมุมมองที่ชัดเจนของ “ฉัน” ว่าเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในจักรวาล “ฉัน” ที่มั่นคง แน่นอนว่าคุณสามารถวิเคราะห์รื้อถอนมันได้ไกลขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อคุณมีมุมมองว่า “ฉัน” เป็นสิ่งที่มั่นคงตรงนี้ และนั่นก็คือ ฉันต้องทำตามใจของฉันเสมอ แล้วจากนั้น ก็แน่นอนว่าคุณจะโกรธเมื่อคุณไม่ได้ดั่งใจ ถูกต้องไหม?

พระพุทธศาสนามีคำกล่าวมากมายเกี่ยวกับว่าเราดำรงอยู่อย่างไรและทุกคนดำรงอยู่อย่างไร เรามีอยู่จริง แต่เราไม่มีตัวตนในแบบที่เป็นไปไม่ได้เหล่านี้ที่เราจินตนาการว่าเรามีอยู่ ตัวอย่างเช่น มี “ฉัน” ตัวเล็ก ๆ นั่งอยู่ในหัวของฉันกำลังพูดและนั่นคือคนแต่งเสียงนั้นในหัวของฉัน ดูเหมือนว่ามี “ฉัน” อยู่ข้างในที่กำลังพูด บ่นว่า “ตอนนี้ฉันควรทำอย่างไร? โอ้ ฉันจะทำอย่างนั้น” จากนั้น คุณก็ขยับร่างกายของคุณราวกับว่าร่างกายเป็นเครื่องจักร แต่นั่นเป็นภาพลวงตา คุณไม่พบ “ฉัน” ตัวเล็ก ๆ ในตัวเรา ใช่ไหม? แต่ถึงกระนั้น ฉันก็มีอยู่จริง ฉันพูด ฉันทำสิ่งต่าง ๆ ดังนั้น เราจึงต้องละทิ้งความเชื่อของเราในการจินตนาการสิ่งเหล่านี้ เพราะดูเหมือนว่ามันจะสอดคล้องกับความเป็นจริง มันดูเหมือนว่าเป็นอย่างนั้น มีเสียงนี้เกิดขึ้น ดังนั้น มันจึงต้องมีใครบางคนกำลังพูดอยู่ในนั้น

ดังนั้น พระพุทธศาสนาจึงมีสิ่งต่าง ๆ มากมายที่เสนอให้ในด้านทั้งหมดนี้ของสิ่งที่เราอาจเรียกว่า “จิตวิทยา” ก็ได้

การฝึกทำงานกับร่างกายของเรา

ข้าพเจ้ามีคำถามสองข้อ ข้อแรกคือ บางทีคุณอาจจะบอกเราเพิ่มเติมเกี่ยวกับการฝึกทำงานกับร่างกายนั้นให้สักหน่อย คุณบอกว่าเราต้องผ่อนคลายร่างกาย แต่บางทีเราอาจจำเป็นจะต้องทำบางสิ่งเพิ่มเติม และคำถามที่สองคือ อะไรคือแหล่งที่มาของการจินตนาการเหล่านี้ทั้งหมด? ตัวอย่างเช่น คน ๆ นี้กำลังพูดอยู่ในหัวเรา ทำไมมันถึงปรากฏขึ้น?

แน่นอนว่า มีการฝึกฝนมากมายที่เราสามารถนำไปใช้กับสุขภาพกายได้ มียาทางพระพุทธศาสนาเช่นที่คุณพบในประเพณีปฏิบัติของทิเบตซึ่งเกี่ยวข้องกับการสร้างสมดุลของพลังงานในร่างกาย พลังงานและสุขภาพโดยทั่วไปของเราได้รับผลกระทบอย่างมากจากอาหารที่เรากินและพฤติกรรมของเรา ตัวอย่างของพฤติกรรม เช่น คุณออกไปข้างนอกในที่เย็นและคุณไม่ได้แต่งตัวให้อบอุ่นเพียงพอ คุณก็จะป่วย เรากำลังพูดถึงพฤติกรรมแบบนั้น หรือการทำงานหนักเกินไป พฤติกรรมแบบนี้จะทำให้คุณป่วย

นอกจากนี้ เรายังพยายามรักษาความตระหนักรู้ถึงสภาพร่างกายของเราด้วย ยิ่งคุณเงียบมากขึ้นภายใน คุณก็ยิ่งจะตื่นตัวมากขึ้นไม่เพียงแต่กับสภาพจิตใจของคุณเท่านั้น แต่ยังรวมถึงสภาวะของพลังงานในร่างกายของคุณด้วย เมื่อคุณสังเกตว่าพลังงานของคุณกระวนกระวายมาก เช่น คุณสามารถรู้สึกถึงมันได้จากการที่ชีพจรของคุณเต้นเร็วมาก ฯลฯ มีสิ่งพื้นฐานที่คุณสามารถทำได้ แม้จะเป็นเพียงแค่การปรับอาหารการกินของคุณเท่านั้นก็ตาม ตัวอย่างเช่น เราสามารถหยุดดื่มกาแฟและชาที่เข้มจัด และเราสามารถทานอาหารที่หนักกว่าเพื่อที่จะลดพลังงานลงได้ เช่น อาหารที่มีไขมัน อย่างชีส หรืออะไรก็ตาม แล้วก็ทำตัวให้อบอุ่น ไม่อยู่ในที่มีลมหรือในที่ที่มีลมโกรก แล้วก็ไม่อยู่ใกล้กับเครื่องจักรที่มีกำลังสูงที่ส่งเสียงดัง “บรืออออสสส” แบบนั้น นั่นจะรบกวนพลังงานมากยิ่งขึ้นไปอีก ให้อยู่ในสถานการณ์ที่สงบ ดังนั้น จึงมีระดับของการปฏิบัติอยู่ตรงนั้น

พระพุทธศาสนาแบบทิเบตไม่ได้เน้นการออกกำลังกายหรือการฝึกฝนร่างกายอย่างที่มีในพระพุทธศานาของจีนหรือญี่ปุ่นที่มีศิลปะการต่อสู้ แต่เป็นศิลปะการต่อสู้ที่แตกต่างกันอย่างแน่นอน เช่น ไทเก็ก ชี่กง อะไรทำนองนี้ ก็อาจช่วยได้มาก นี่เป็นวิธีการพัฒนาสมาธิด้วยการมีสติในการเคลื่อนไหวของคุณ การออกกำลังกายที่ชาวทิเบตทำนั้นละเอียดอ่อนกว่ามาก โดยเกี่ยวข้องกับการฝึกฝนการทำงานกับระบบพลังงานในวิธีที่ต่างออกไป ไม่ใช่ในศิลปะการต่อสู้ มันเป็นวิธีที่แตกต่างออกไปเล็กน้อย เป็นไปในด้านของโยคะมากกว่า นั่นก็คือวิธีที่คุณฝึกทำงานกับร่างกายนั้น

แหล่งที่มาของเสียงในหัวของเรา

สำหรับแหล่งที่มาของเสียงในหัวของเรานั้น เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับธรรมชาติของจิตใจและเริ่มมีความซับซ้อนเล็กน้อย ในพระพุทธศาสนา เมื่อเราพูดถึงจิตใจ เราไม่ได้กำลังพูดถึงอะไรที่เป็นสิ่งของ เรากำลังพูดถึงกิจกรรมทางจิต และกิจกรรมทางจิตนั้นก็เกี่ยวข้องกับการคิด การมองเห็น และอารมณ์ความรู้สึก มันกว้างมาก ๆ สิ่งที่เกิดขึ้นในกิจกรรมนั้นคือ การเกิดขึ้นของโฮโลแกรม (hologram) ทางจิตบางอะไรบางอย่าง ตัวอย่างเช่น เมื่อเราเห็นบางสิ่งบางอย่าง แสงกระทบเรตินา กระตุ้นแรงกระตุ้นไฟฟ้าและปฏิกิริยาเคมีในเซลล์ประสาท ผลก็คือ เกิดโฮโลแกรมทางจิตบางอย่างของรูปร่างหน้าตาของบางสิ่ง แต่นั่นจริง ๆ แล้วมันเป็นภาพโฮโลแกรมทางจิต มันมาจากสารเคมีและแรงกระตุ้นไฟฟ้าเหล่านี้ทั้งหมด

แต่โฮโลแกรมไม่ใช่แค่ภาพเท่านั้น โฮโลแกรมทางจิตเหล่านี้อาจเป็นเสียงเหมือนคำพูดก็ได้ เราไม่ได้ยินทั้งประโยคในชั่วพริบตาเดียว คุณได้ยินมันทีละส่วน ทีละนิด แต่ถึงกระนั้นก็มีโฮโลแกรมทางจิตของทั้งประโยคและคุณเข้าใจความหมายของมัน ในทำนองเดียวกัน มีโฮโลแกรมทางจิตในรูปแบบของอารมณ์ โฮโลแกรมทางจิตในรูปแบบของความคิด แล้วก็มีโฮโลแกรมทางจิตในรูปแบบของการพูดด้วย นั่นก็คือ เสียงนี้เอง สิ่งเหล่านี้ก็แค่เกิดขึ้น มีกระบวนการเรียนรู้เกี่ยวข้อง นั่นคือสิ่งที่เห็น คิด หรือรู้สึกว่าเป็นอะไร นั่นคือสิ่งที่มันเป็น และกิจกรรมทางจิตนั้นเกิดขึ้นโดยปราศจาก “ฉัน” ตรงนั้นที่แยกจากมันที่กำลังมองดูมันหรือควบคุมมันและกำลังทำให้มันเกิดขึ้น มันแค่เกิดขึ้นก็เท่านั้น ดังนั้น ส่วนหนึ่งของโฮแกรมนั้นก็คือความคิดของ “ฉัน” ว่า “เสียงนั้นคือฉัน” ใครกำลังคิดอยู่? ฉันกำลังคิด ไม่ใช่คุณที่กำลังคิด ฉันกำลังคิด แต่มันเป็นเพียงส่วนหนึ่งของกระบวนการทั้งหมดของโฮโลแกรมเหล่านี้ก็เท่านั้นเอง

อะไรคือแหล่งที่มาของเสียงนี้ในหัวของเรา? มันเป็นเพียงคุณลักษณะหนึ่งของกิจกรรมทางจิต ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นวิธีที่กิจกรรมทางจิตทั้งหมดจะทำงาน เสียงนั้นไม่ได้ดำเนินไปอยู่ตลอดเวลา แล้วผมก็สงสัยว่าไส้เดือนกำลังคิดด้วยเสียงรึเปล่า แต่ไส้เดือนมีสมอง มีจิตใจ มองเห็นสิ่งต่าง ๆ กระทำสิ่งต่าง ๆ อย่างแน่นอน

อันที่จริง มันเริ่มน่าสนใจมากตอนที่เราคิดถึงมัน โฮโลแกรมเสียงของเสียงพูดเป็นรูปแบบหนึ่งของการสื่อสารใช่ไหม? มันเป็นการวางกรอบความคิดแบบหนึ่งที่แสดงออกหรือสื่อสารความคิดในรูปแบบของเสียงของคำทางจิตใจ คำถามที่น่าสนใจคือ คนที่หูหนวกและเป็นใบ้ตั้งแต่เกิดและไม่มีแนวคิดเรื่องเสียงเลย แล้วพวกเขามีเสียงในหัวของพวกเขาหรือไม่ หรือพวกเขาคิดในแง่ของภาษามือหรือไม่? นั่นเป็นคำถามที่น่าสนใจมาก ผมไม่เคยพบคำตอบนั้นเลย

ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นเสียง ไม่ว่าจะเป็นภาษามือ อะไรก็ตาม หรือว่าหนอนคิดอย่างไร ภาพลวงตาคือ มี “ฉัน” ที่แยกออกมาอยู่เบื้องหลังมันที่กำลังพูด กำลังนั่งอยู่ที่แผงควบคุม และข้อมูลก็กำลังเข้ามาบนหน้าจอจากตา และมันก็มีไมโครโฟนนี้ และพูดอยู่ จากนั้น มันก็กดปุ่มเพื่อให้แขนและขาขยับ นี่เป็นภาพลวงตาที่สมบูรณ์ มันเป็น “ฉัน” ประเภทนั้นที่นั่งอยู่ที่แผงควบคุมของ “โอ้ ผู้คนจะคิดอย่างไรกับฉัน?” และ “ตอนนี้ฉันควรทำอย่างไร?” มันเป็นสิ่งที่เราวิตกกังวล “ฉัน” นี้เองที่อยู่ที่แผงควบคุมนั้น

เมื่อเราตระหนักว่า “ฉัน” นี้เป็นเหมือนภาพลวงตา ก็ไม่มีอะไรที่จะต้องวิตกกังวล เราพูด เราทำ แน่นอนว่ามันคือฉัน ฉันกำลังพูด ฉันกำลังทำ และถ้าผู้คนไม่ชอบฉัน พวกเขาก็ไม่ชอบ แล้วไง? พระพุทธเจ้าไม่ได้ทำให้ทุกคนพอใจ ไม่ใช่ทุกคนที่ชอบพระพุทธเจ้า แล้วฉันจะคาดหวังอะไรให้กับตัวฉัน? เราแค่ใช้ความเข้าใจ ความรัก ความเห็นอกเห็นใจ แล้วเราก็ลงมือทำก็เท่านั้น และอย่าวิตกกังวลว่า “พวกเขาจะคิดอย่างไรกับฉัน?” ซึ่งนั่นมันฟังดูง่ายแต่ทำยาก

การควบคุมตัวเราเองเวลาที่คนอื่นโกรธ

เวลาที่คนอื่นโกรธเรา เราจะควบคุมตัวเราเองอย่างไร?

โดยพื้นฐานแล้ว เราจะเห็นว่าพวกเขาเป็นเหมือนเด็กเล็ก ๆ ตอนที่เด็กอายุ 2 ขวบโกรธเราเวลาที่เราพูดว่า “ถึงเวลาเข้านอนแล้ว” และพวกเขาก็จะพูดว่า “ผม/หนูเกลียดคุณ คุณแย่มาก” แล้วก็โวยวายใหญ่โต เราจะโกรธไหม? บางคนก็โกรธ แต่เด็กอายุแค่ 2 ขวบเท่านั้น คุณจะคาดหวังอะไร? คุณจะพยายามทำให้เด็กเล็กสงบลง ให้อ่อนโยนเหมือนที่คุณทำกับเด็ก 2 ขวบ ให้คิดดูว่า คุณจะจัดการกับเด็ก 2 ขวบนั้นอย่างไร? โดยปกติ เมื่อเด็ก 2 ขวบแสดงออกด้วยท่าทางที่แย่มาก ๆ ถ้าคุณอุ้มเด็กขึ้นมาและอุ้มเด็กไว้ แสดงความรักต่อเด็กนั้น พวกเขาก็สงบลงไม่ใช่หรือ? การตะโกนใส่เด็กก็ยิ่งทำให้เด็กร้องไห้มากขึ้นไปอีก ผู้คนก็เป็นเช่นนั้น เป็นเด็กทารกที่โตแล้ว

Top