บทวิเคราะห์ทางพระพุทธศาสนาที่ช่วยในการสละความเครียด

ในค่ำคืนนี้ ผมได้รับเชิญให้มาพูดเรื่องการสละ ซึ่งหมายถึงความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะเป็นอิสระจากปัญหาต่าง ๆ ของเรา โดยเฉพาะการทำความเข้าใจเรื่องนี้ในบริบทของการใช้ชีวิตอย่างเคร่งเครียดในเมืองใหญ่ อย่างกรุงมอสโกที่เราอยู่ตอนนี้  แต่ผมคิดว่าเมื่อคุณเริ่มต้นวิเคราะห์หัวข้อดังกล่าว คุณจะพบว่าปัญหาส่วนมากที่เราต้องเผชิญหน้าในโลกปัจจุบันนี้ไม่ได้จำกัดอยู่แค่การใช้ชีวิตในเมืองใหญ่เท่านั้น

การกระตุ้นเกินพอดีในฐานะบ่อเกิดของความเครียด

แน่นอนว่าในเมืองใหญ่มีมลภาวะ การจราจร และอื่น ๆ ที่คุณอาจไม่พบในหมู่บ้าน แต่สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่ก่อให้เกิดความเครียด  เมื่อเรามองลึกลงไป เราจะเห็นว่าปัญหาที่คนส่วนใหญ่เผชิญในโลกสมัยใหม่ ไม่ว่าจะอาศัยอยู่ที่ใดก็ตามนั้น ผมคิดว่ามันเกิดขึ้นจากความจริงที่ว่าเรามีสิ่งของมากมายหลายอย่างที่สามารถใช้ได้  มีตัวเลือกมากขึ้นเรื่อย ๆ  มีข้อมูลเพิ่มขึ้น มีช่องโทรทัศน์เพิ่มมากขึ้น มีภาพยนตร์ให้เลือกมากขึ้น มีผลิตภัณฑ์ให้เลือกเพิ่มมากขึ้น  ผู้คนส่วนใหญ่พกโทรศัพท์มือถือ จึงสามารถตรวจดูอีเมลได้ตลอด สามารถดูข้อความได้ทันที แชทได้ อะไรพวกนี้น่ะครับ ซึ่งทำให้เกิดความเครียดว่าเราต้องดูทุกสิ่งทุกอย่าง เราต้องตอบในทันที เพราะคนอื่นคาดหวังว่าเราจะตอบในทันที  และถึงแม้ว่าสิ่งเหล่านี้จะมีประโยชน์ในด้านการเชื่อมโยงพวกเราทุกคนเข้าด้วยกันในยามสำคัญที่เราต้องเชื่อมสัมพันธ์กัน แต่บางครั้งมันก็มากเกินไป มันคงที่และทำให้เรารู้สึกไม่มั่นคง เพราะหากคุณลองพิจารณาดู ความคิดที่สนับสนุนเรื่องนี้ก็คือ “ฉันไม่อยากพลาดอะไรเลย  มันอาจจะสำคัญก็ได้  ฉันไม่อยากถูกทิ้งให้ไม่รู้เรื่อง”

ดังนั้นเราจึงรู้สึกถูกกดดันให้ตรวจดูสิ่งที่เกิดขึ้นตลอดเวลา แต่แน่นอนว่าการกระทำเช่นนี้ไม่เคยทำให้เรารู้สึกมั่นคงเลย เพราะมันมีสิ่งใหม่ ๆ เกิดขึ้นอยู่เสมอ มีข้อความใหม่ มีแชทใหม่เข้ามาตลอด  หากเราเลือกดูบางอย่าง สมมุติว่าเราดูผ่านยูทูปหรือผ่านทีวี—ผมไม่ทราบว่าในกรุงมอสโกมีสถานีโทรทัศน์กี่ช่อง แต่ในยุโรปและอเมริกามีสถานีหลายร้อยช่อง ซึ่งทำให้คุณรู้สึกไม่สบายใจที่จะดูอะไรบางอย่าง เพราะคุณคิดว่า “เอ มันอาจจะมีอะไรที่ดีกว่านี้” จึงก่อให้เกิดการบังคับให้ดู ให้มองหาตลอดเวลาว่า “เอ มันอาจจะมีอะไรที่ดีกว่านี้ที่ฉันขาดไป”

การค้นหาการเห็นชอบและการยอมรับในโลกเสมือนจริง

ผมคิดว่าสิ่งเหล่านี้เพิ่มความเครียดให้เราจริง ๆ นะครับ ไม่ว่าเราจะอาศัยอยู่ที่ไหน จะเป็นเมืองใหญ่หรือหมู่บ้าน โดยเฉพาะในโลกสมัยใหม่นี้  เราต้องการจะเป็นส่วนหนึ่งของสังคมบางประเภท ของกลุ่มเพื่อนบางกลุ่ม ดังนั้นเราจึงอยากได้ “ไลค์” บนหน้าเฟซบุ๊คของเราสำหรับทุกอย่างที่เราโพสต์ เราจะได้รู้สึกว่าเราได้รับการยอมรับและเป็นที่รับรู้ แต่เราไม่ได้มีความสงบกับตรงนี้  เราไม่เคยพอใจในจำนวนไลค์ที่เราได้  เราอยากได้ไลค์เพิ่มเสมอ หรือคิดว่า “พวกเขาหมายความว่าอย่างนั้นจริง ๆ เหรอ?”  พวกเขาก็แค่กดปุ่ม หรือบางทีเครื่องจักรอาจจะกดปุ่มก็ได้ (คุณสามารถจ่ายเงินเพื่อให้ได้ไลค์จำนวนมาก) และเราก็รู้สึกตื่นเต้นกับการคาดหวัง เมื่อโทรศัพท์เราสัญญาณว่าเราได้รับข้อความ ข้อความนั้นอาจจะเป็นอะไรพิเศษก็ได้

แล้วเราก็ตื่นเต้นกับการคาดหวังเมื่อเราไปที่หน้าเฟซบุ๊คของเราและพบว่า “เราได้ไลค์เพิ่มหรือเปล่า?” หรือว่าเรากลายเป็นพวกเสพติดข่าวสาร ซึ่งผมมักใช้คำนี้อธิบายตัวเองเสมอ ผมมักจะมองหาข่าวสาร เพื่อดูว่ามีอะไรใหม่ ๆ หรือไม่ มีอะไรน่าสนใจเกิดขึ้นหรือไม่ เพราะผมไม่อยากพลาดอะไรเลย

แน่นอนว่าหากเราวิเคราะห์ประเด็นนี้ให้ลึกขึ้น เราจะพบว่ารากฐานของเรื่องนี้คือ ความรู้สึกว่า “ฉันเป็นคนสำคัญมาก ฉันจึงต้องรู้ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้น และทุกคนต้องชอบฉัน”  เราสามารถทำการวิเคราะห์เชิงลึกจากมุมมองทางพระพุทธศาสนาเกี่ยวกับสาเหตุที่ทำไมเราจึงรู้สึกว่าตัวเองสำคัญมาก และทำไมฉันต้องรู้ทุกเรื่องและฉันต้องเป็นที่รับรู้อยู่เสมอ  ทำไมเราถึงหมกมุ่นเกี่ยวกับตัวเองนัก แต่ผมไม่อยากเจาะลึกไปในทิศทางนั้นในคืนนี้

หนีจากความเป็นจริงของสถานการณ์

ในอีกด้านหนึ่ง เรามักรู้สึกท่วมท้นกับสถานการณ์รอบตัวเรา เราจึงพยายามหลบหนีจากสถานการณ์เหล่านี้โดยการดูโทรศัพท์ หรือฟังเพลงในขณะติดอยู่บนรถไฟฟ้า หรือในขณะที่เราเดินไปมา  เรามักใส่หูฟังพร้อมพกไอพอดอยู่เสมอ ซึ่งเป็นการย้อนแย้งที่น่าสนใจมากนะครับ ถ้าคุณลองคิดดู  ในด้านหนึ่งเราอยากเป็นที่ยอมรับในกลุ่มสังคม แต่ในอีกด้านหนึ่ง เมื่อเราอยู่ในสังคมจริง ๆ แล้ว เรากลับปิดกั้นทุกคนออกไปโดยการเล่นเกมในโทรศัพท์มือถือ หรือฟังเพลงเสียงดังลั่น

จุดนี้บ่งบอกอะไรครับ? มันบ่งบอกถึงความเหงา จริงไหมครับ?  เราต้องการการรับรู้ทางสังคม  เราเหงาเพราะเราไม่เคยรู้สึกว่าเราได้รับการยอมรับอย่างแท้จริงเลย แต่ในอีกด้านหนึ่ง เราก็ปิดกั้นตัวเองด้วยการหลบหนีไปอยู่ในโลกเสมือนจริง ซึ่งเหงามากเช่นกัน จริงไหมครับ?

เรารู้สึกถึงแรงกดดันว่าเราจำเป็นต้องได้รับความบันเทิง  เราไม่สามารถมีช่วงเวลาที่ไม่มีอะไรเกิดขึ้นได้  จุดนี้ก็เป็นการย้อนแย้งกันเช่นกัน เพราะในด้านหนึ่ง เราโหยหาความสงบสุขและความเงียบ แต่ในอีกด้านหนึ่งเราก็รู้สึกกลัวสุญญากาศตรงนั้น กลัวการไม่มีข้อมูล หรือการไม่มีดนตรี

เราต้องการจะทำอะไรสักอย่างเพื่อหลบหนีความตึงเครียดของโลกภายนอก ไม่ว่าจะเป็นความตึงเครียดบนรถไฟฟ้า หรืออะไรก็ตาม เราจึงหนีไปอยู่ในโลกเสมือนจริงน้อย ๆ บนโทรศัพท์ บนอินเทอร์เน็ต แต่แม้กระทั่งในโลกใบนี้ เราก็ยังคงมองหาการยอมรับจากเพื่อน ๆ และอะไรทำนองนั้น แล้วเราก็ไม่เคยรู้สึกมั่นคงเลย  นั่นเป็นสิ่งที่เราจำเป็นต้องคิดพิจารณาให้มากนะครับ  การถอยเข้าไปอยู่ในโลกโทรศัพท์นั้นเป็นทางออกของปัญหาความเครียดของเราจริงหรือ?  ไม่ว่าเราจะอาศัยอยู่ในเมืองใหญ่หรือที่ใดก็ตาม นั่นเป็นทางออกจริง ๆ หรือ?

ตระหนักถึงกิจวัตรนิสัยเชิงลบและพัฒนาความตั้งใจที่จะเป็นอิสระ

สิ่งที่เราจำเป็นต้องทำคือ การตระหนักรู้ถึงความทุกข์ที่เราประสบเวลาเราติดอยู่กับกิจวัตรทางนิสัยเหล่านี้ และระบุแหล่งที่มาให้ได้  ทำไมเราถึงติดอยู่กับนิสัยเหล่านี้?

จากนั้นจึงพัฒนาความตั้งใจที่จะเป็นอิสระจากความทุกข์นี้ ซึ่งอาศัยความรู้เกี่ยวกับวิธีการกำจัดแหล่งที่มาของสิ่งเหล่านี้และมีความมั่นใจว่าวิธีเหล่านี้ใช้ได้ผล  แต่มันไม่ใช่ว่าเราแค่อยากจะกำจัดความทุกข์นี้ออกไป แล้วจากนั้นก็กลายเป็นซอมบี้ไร้ความรู้สึกเดินไปมาในเมืองเหมือนผีตายซากหรอกนะครับ  ความสุขไม่ใช่แค่ภาวะของการไร้ซึ่งทุกข์ หากแต่เป็นสิ่งที่เพิ่มเติมจากความรู้สึกสงบเป็นปกติ  เราไม่ได้มุ่งเป้าหมายไปที่สภาพไร้ความรู้สึก นั่นไม่ใช่จุดประสงค์ของเราเช่นกัน

ฉะนั้นเราจำเป็นต้องตระหนักให้ได้ว่าวัตถุและสถานการณ์ภายนอกไม่ได้เป็นบ่อเกิดของความไม่มีความสุข ความทุกข์ และความตึงเครียดที่เราประสบอยู่อย่างแท้จริง  เพราะหากเป็นเช่นนั้น ทุกคนก็คงจะประสบกับสิ่งเหล่านั้นในลักษณะเดียวกัน

แล้วปัญหาก็ไม่ใช่อินเทอร์เน็ต แล้วก็ไม่ใช่โทรศัพท์มือถือ  แน่นอนหากเราใช้สิ่งเหล่านี้อย่างเหมาะสม มันก็สามารถสร้างประโยชน์ได้มากมายให้กับชีวิตเรา  ปัญหาอยู่ที่ทัศนคติของเราต่อสิ่งเหล่านี้ และอารมณ์ต่าง ๆ ที่สิ่งเหล่านี้ก่อให้เกิดขึ้นและส่งเสริม และวิธีที่เรารับมือกับโลกมหัศจรรย์แห่งอินเทอร์เน็ต และวิธีที่เรารับมือกับสถานการณ์ทั้งหลายในชีวิตของเรา

พวกเราต่างมีนิสัยเชิงทำลายตัวเองหลายอย่าง และนิสัยทั้งหมดนี้ก็ก่อตัวขึ้นจากภาวะรบกวนทางจิตใจบางประเภท ไม่ว่าจะเป็นความไม่มั่นคง ความกลัวว่าจะไม่เป็นที่ยอมรับ จะโดนทอดทิ้ง หรือความหุนหันพลันแล่น อะไรทำนองนี้น่ะครับ  แต่กลยุทธ์ที่เราพยายามใช้เพื่อเอาชนะสิ่งเหล่านี้ นั่นคือการหนีไปอยู่ในโลกโซเชียลมีเดียหรืออะไรก็แล้วแต่นั้น ทำให้เรายิ่งเครียดขึ้นไปอีก  มันกลายเป็นวงจรสะท้อนกลับ  มันเพียงแต่จะทำให้ความวิตกกังวลว่า “คนอื่นจะชอบฉันไหมนะ?” ยิ่งทวีคูณความรุนแรงมากขึ้น

แล้วจุดนี้ก็ยิ่งแย่ลงไปอีกเมื่อเราคิดถึงกลุ่มวัยรุ่นและการรังแกกันบนอินเทอร์เน็ต  มันไม่ใช่แค่ว่าคุณได้ไลค์และทุกคนก็จะเห็นว่าคุณมียอดไลค์เท่าไหร่ แต่ถ้าคุณโดนรังแก โดนกด “ไม่ชอบ” หรืออะไรแบบนั้น ทุกคนก็จะเห็นสิ่งนั้นเช่นกัน มันแย่มากเลย จริงไหมครับ?

คนเราโพสต์ภาพลงบนโซเชียลมีเดีย โพสต์ภาพตัวเองกำลังมีความสุข จริงไหมครับ?  พวกเขาไม่โพสต์ภาพตัวเองตอนกำลังมีทุกข์อยู่หรอก  คุณก็เลยเห็นแต่เพื่อน ๆ ที่กำลังสนุกสนาน และดูตัวฉันที่น่าสงสารสิ นั่งดูโทรศัพท์อยู่ในห้องคนเดียว  นั่นไม่ใช่สภาวะทางจิตใจที่เป็นสุขเลย จริงไหมครับ?

เราจำเป็นต้องมีทัศคติที่อยู่ในความเป็นจริงเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นในโซเชียลมีเดียและอะไรพวกนี้  เราต้องตระหนักรู้ว่าการมียอดไลค์ทะลุจอบนเฟซบุ๊คไม่ได้จะทำให้เรารู้สึกมั่นคงเลย มันไม่ได้มีความสามารถในลักษณะนั้น  มันตรงกันข้ามด้วยซ้ำ  พวกเราไร้เดียงสา เราคิดว่าสิ่งนี้จะสร้างการเปลี่ยนแปลงใหญ่ให้เกิดขึ้น แต่มันทำให้เกิดความปรารถนาอยากได้ยอดไลค์สูงขึ้น นั่นคือความโลภที่เราไม่เคยมีอะไรเพียงพอ และก่อให้เกิดความไม่มั่นคงที่ต้องคอยตรวจดูว่าเราได้ยอดไลค์เพิ่มขึ้นหรือเปล่า

ผมยอมรับว่าผมมีนิสัยแบบนี้กับเว็บไซต์ของผมครับ  ผมมักดูผลทางสถิติว่ามีผู้คนเข้ามาดูกี่ครั้งในวันนี้อยู่เสมอ  มันก็เหมือนกันแหละครับ  หรือการตรวจดูอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินทุกวัน เพื่อที่จะดูว่าคุณขาดทุนเท่าไหร่ในวันนี้  เราไม่มีสันติสุขในจิตใจเลย (หัวเราะ)  หรือเราคิดอย่างไร้เดียงสาว่า เมื่อเราหลบหนีไปอยู่ในโลกเสมือนจริงของเกมคอมพิวเตอร์ แล้วปัญหาของเรามันจะหายไปเองเสียอย่างนั้น  จุดนี้ก็ไม่ต่างจากการดื่มวอดก้าจำนวนมาก จริงไหมครับ? แล้วคิดว่าเดี๋ยวปัญหาก็หายไปเอง

หากเราประเมินผลกลุ่มอาการนี้ เราจะเห็นว่ามันทำลายตัวเองมาก และวิธีการพยายามรับมือกับแรงกดดันและความตึงเครียดในชีวิตของเราก็มีแต่จะสร้างปัญหาเพิ่มมากขึ้น

ความจำเป็นสำหรับความตระหนักรู้ที่แยกแยะในการรับมือกับสถานการณ์อย่างมีประสิทธิภาพ

ในการรับมือกับกลุ่มอาการเหล่านี้ เราต้องมีความตระหนักรู้ที่แยกแยะในสถานการณ์ที่เราเผชิญหน้าอยู่  ยกตัวอย่างเช่น งานที่ต้องอาศัยความทุ่มเทสูง นี่เป็นสิ่งที่เราต้องรับมือกับมัน นี่คือความเป็นจริง  เราต้องน้อมรับความเป็นจริงในส่วนนั้น  และความเป็นจริงก็คือ เราได้แต่เพียงพยายามทำให้ดีที่สุด  หากเรายอมรับความเป็นจริงนั้นได้ มันก็จะสามารถช่วยให้เราหยุดฉายภาพให้งานของเราว่าเป็นเครื่องทรมานอันเลวร้าย และหยุดฉายภาพให้ตัวเองว่า “ฉันมันไม่ดีพอ”

ปัญหาคือเราคิดว่าเราจะต้องสมบูรณ์แบบ และนอกเสียจากว่าเราเป็นพระพุทธเจ้า ก็ไม่มีใครสมบูรณ์แบบได้หรอกครับ  และถึงแม้ว่าเจ้านายเราจะคิดว่าเราควรทำตัวให้สมบูรณ์แบบและกดดันเราให้เป็นเช่นนั้น ความเป็นจริงก็คือว่าสิ่งนี้มันเป็นไปไม่ได้  ในเมื่อมันเป็นไปไม่ได้ เราจะมัวแต่เอาหัวกระแทกฝาผนังและรู้สึกผิดไปทำไม ในเมื่อเราไม่สามารถทำในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ให้เป็นจริงได้

เพราะฉะนั้นเราก็เพียงแต่ทำให้ดีที่สุดเท่าที่เราทำได้ จัดลำดับความสำคัญ และยอมรับความเป็นจริงของสถานการณ์นั้น  จากนั้นเราก็พยายามมีสมาธิ มีสติเกี่ยวกับความเป็นจริงของสถานการณ์ที่เราเผชิญหน้า โดยไม่ประเมินค่ามันเกินจริงว่า “นี่มันเป็นไปไม่ได้” หรือประเมินค่าต่ำกว่าความเป็นจริง “ฉันหลบไปดูโทรศัพท์ ไปเล่น ไปท่องโลกอินเตอร์เน็ตเพื่อหนีไปให้พ้นดีกว่า”

คุณต้องรับมือกับมัน  คุณต้องรับมือกับงาน  หากเราประเมินค่าสิ่งนั้นต่ำเกินไป เราก็จะคิดว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ฉันไม่ต้องรับมือกับมันก็ได้  ยกตัวอย่างเช่น เวลาที่คุณมีภาระงานบางอย่างที่ต้องทำที่ที่ทำงาน และคุณไม่ค่อยรู้สึกอยากทำเท่าไหร่ คุณทำอย่างไรครับ?  คุณมีวินัยพอที่จะ ลงมือทำไปเถอะ จริง ๆ ไหม หรือว่าคุณหันไปเล่นอินเทอร์เน็ตทันที หรือจู่ ๆ คุณก็มีความรู้สึกอยากดูโทรศัพท์ขึ้นมาทันที และดูว่า “ไหนดูซิ อาจจะมีข้อความใหม่เข้ามาก็ได้ อาจจะมีใครโพสต์อะไรน่าสนใจก็ได้”  นั่นคือการประเมินค่าความเป็นจริงของการที่คุณต้องทำภาระงานนี้ต่ำเกินไป  ทั้งหมดนี้เกี่ยวข้องกับความตั้งใจที่จะเป็นอิสระ  พยายามมองให้ออกว่าอะไรกันแน่ที่เป็นตัวสร้างปัญหาให้เรา

แล้วเราจะรับมือกับเรื่องนี้อย่างไร?

ทำความเข้าใจว่าการกระทำมีอิทธิพลต่อการตอบสนองทางฮอร์โมนของเรา

เราเริ่มต้นด้วยวินัยในตนเอง และเริ่มจากสิ่งเล็ก ๆ ก่อน จากนั้นเราจะสามารถเข้าใจได้ว่าวิธีการรับมือกับความเครียดของเราทำงานอย่างไร รวมถึงจากมุมมองทางวิทยาศาสตร์ด้วย หากเราพิจารณาในเรื่องของฮอร์โมน  จุดนี้ให้ความเข้าใจเชิงลึกอีกด้านที่มีความแตกต่างอย่างสิ้นเชิงและทำให้เราได้ทราบถึงพื้นฐานที่ค่อนข้างมีความเป็นวิทยาศาสตร์ของสิ่งที่พระพุทธศาสนาพูดถึง

ฮอร์โมนคอร์ติซอลและโดปามีน

คุณรู้สึกเครียด  สิ่งที่เกิดขึ้นในระดับฮอร์โมนคือ ระดับคอร์ติซอลของเราสูงขึ้น  คอร์ติซอลเป็นฮอร์โมนแห่งความเครียด ดังนั้นเราจึงหาทางบรรเทา  กลยุทธ์ใดที่เราคิดว่าจะช่วยสร้างความสุขให้เรา เพื่อที่เราจะได้กำจัดเจ้าคอร์ติซอลนี้เข้าไปในร่างกายของเรา  เราคิดว่าการสูบบุหรี่คงจะช่วยได้ หรือการท่องโลกอินเทอร์เน็ต ดูโซเชียลมีเดียเพื่อหาอะไรน่าสนใจจะช่วยบรรเทาความเครียดได้  สิ่งที่เกิดขึ้นคือเรามีความรู้สึกตื่นเต้นและความสุขของการคาดหวังว่าสิ่งเหล่านี้จะทำให้เรารู้สึกดีขึ้น ซึ่งทำให้ระดับของฮอร์โมนโดปามีนจึงเพิ่มสูงขึ้นด้วยเช่นกัน  โดปามีนเป็นฮอร์โมนของความคาดหวังรางวัล  เป็นสิ่งที่สัตว์ทั้งหลายรู้สึกเวลามันออกล่าสัตว์อีกตัว มันมีความคาดหวังอยู่ในนั้น  สามารถสังเกตได้ง่าย ๆ เวลาที่คุณไปพบกับคนรัก อะไรประมาณนั้นน่ะครับ  โดปามีนจะเพิ่มสูงขึ้นด้วยความคาดหวังว่าสิ่งนั้นจะยอดเยี่ยมแค่ไหน  เมื่อคุณได้อยู่กับคนคนนั้นจริง ๆ แล้ว มันอาจจะไม่ได้ยอดเยี่ยมเลยก็ได้ แต่ความคาดหวังเป็นสิ่งที่ยกระดับความสุขของคุณโดยอิงจากเจ้าฮอร์โมนโดปามีนนั่นเอง

พวกเราเป็นสิ่งมีชีวิตเชิงชีววิทยามาก ๆ ครับ  แต่หลังจากการสูบบุหรี่ หรือการเล่นอินเทอร์เน็ตไปแล้ว มันก็ไม่ได้ทำให้เราพึงพอใจ ความเครียดจึงกลับมาเยือนเราอีกครั้ง  ดังนั้นวิธีเหล่านี้จึงไม่ใช่กลยุทธ์ที่ดีเท่าไหร่นัก

เราจึงต้องแยกแยะข้อเสียต่าง ๆ ของการหลงเชื่อความคิดผิด ๆ ว่าบุหรี่จะแก้ปัญหาได้ หรือการมองหาข่าวที่น่าสนใจ หรืออะไรก็ตามที่น่าสนใจบนเฟซบุ๊คจะแก้ปัญหาความเครียดของเราได้

แล้วเราจะพบว่าเมื่อเราเข้าใจข้อเสียต่าง ๆ ของการคิดว่าวิธีเหล่านี้เป็นกลยุทธ์ที่ควรปฏิบัติตามแล้ว เราก็จะสามารถพัฒนาความตั้งใจในการเป็นอิสระจากนิสัยประเภทนี้ได้ นิสัยที่ใช้ไม่ได้ผล

ละเว้นการปฏิบัติตามนิสัยการตอบสนองเชิงลบ

ดังนั้น เราเลิกหันไปพึ่งบุหรี่  แล้วการสูบบุหรี่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหากนะครับ ในแง่ที่ว่าการสูบบุหรี่นั้นมีประโยชน์ใด ๆ หรือไม่?  ไม่ ไม่มีเลยครับ  แต่ในแง่ของการใช้อินเทอร์เน็ต ใช้โซเชียลมีเดีย และการตรวจดูข้อความตลอดเวลา เราต้องควบคุมมัน ต้องไม่เปิดมันทิ้งไว้ตลอดเวลา  พูดอีกอย่างก็คือ หยุดใช้สิ่งเหล่านี้เป็นที่พึ่ง  หยุดใช้สิ่งเหล่านี้เพื่อหลบหนี  ใช้มันเพื่อจุดประสงค์ที่มีประโยชน์ ไม่ใช่เพื่อจุดประสงค์ที่มันไม่อาจเติมเต็มได้

และแน่นอนว่านี่เป็นสิ่งที่ทำได้ยากมาก ๆ เลย  เวลาเราเบื่อ เวลาเราเผชิญกับสิ่งที่เราไม่ได้อยากทำเท่าไหร่นัก ไม่ว่าจะเป็นที่ทำงานหรือที่บ้าน เรามีแรงกระตุ้นในการอยากหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาดู จริงไหมครับ?  แต่ก็เหมือนกับที่เราควรควบคุมอาหารเพื่อกำจัดโรคอ้วนทางร่างกาย เราควรควบคุมการรับข้อมูลเพื่อกำจัดโรคอ้วนทางจิตใจเช่นกัน  เราควรพยายามจำกัดปริมาณการรับข้อมูล ข้อความ ดนตรี ฯลฯ เหมือนกับที่เราจำกัดปริมาณการรับประทานอาหาร

ทีนี้ช่วงแรกของการระงับนิสัยที่ทำลายตัวเองนั้นจะเพิ่มระดับคอร์ติซอลของความเครียด  นั่นเป็นเพราะว่านิสัยเก่านั้นฝังรากลึกมาก ๆ  ก็เหมือนกับเวลาที่เรามีอาการถอนยารุนแรงเวลาเราเลิกบุหรี่ หรือเวลาเลิกเหล้าหรือยาเสพติด เวลาคุณเลิกหรือพักจากการใช้อินเทอร์เน็ต ข้อความโซเชียลต่าง ๆ หรือดนตรี ก็จะเกิดฮอร์โมนคอร์ติซอลแห่งความเครียดเช่นกัน มันคือความเครียดจากการถอนยา  มันก็เหมือนกับการดีทอกซ์น่ะครับ  มีผู้คนพูดถึงการทำดีท็อกซ์จากดนตรี โดยเฉพาะเมื่อติดการใส่หูฟังไอพอดอยู่ตลอดเวลาและยังมีอีกสักพักหลังจากนั้นที่คุณร้องเพลงในหัวอยู่ตลอดเวลา  การทำให้เสียงเพลงเหล่านั้นเงียบลงใช้เวลานานทีเดียว  ผมว่าการใช้ภาพเปรียบเทียบแบบนี้ดีมากนะครับ คือการอ้วนด้วยเสียงดนตรีอยู่ในหัว…อ้าว นั่น นั่นไง

คุณทำงานไม่ได้เพราะคุณคิดอะไรไม่ออกเลย เพราะมีเสียงเพลงดังอยู่ตลอด  โดยเฉพาะเวลาที่ท่อนดนตรีท่อนเดิมดังซ้ำอยู่ในหัวไปมาทำให้คุณบ้า  แต่ถ้าเราอดทนพยาพยามทำต่อไป ระดับความเครียดของอาการถอนยาก็จะค่อย ๆ หายไปเอง และเราจะได้พบกับความสงบสันติในจิตใจ  จากนั้นเราก็จะอยู่ในตำแหน่งที่ดีขึ้นในการแทนที่นิสัยเชิงลบด้วยนิสัยเชิงบวก

ในส่วนนี้เรามีวิธีการทางพระพุทธศาสนาที่ไม่ได้จำกัดสำหรับพุทธศาสนิกชนเท่านั้น เช่น การตระหนักว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของมนุษยชาติทั้งหมดและพวกเราต่างมีความสัมพันธ์กัน ความเป็นดีอยู่ดีของเราขึ้นอยู่กับผู้อื่นทุกคน  นี่เป็นวิธีการที่มั่นคงกว่ามากในการบรรลุความพึงพอใจในความจำเป็นของเราที่จะต้องรู้สึกเชื่อมโยงและสานสัมพันธ์กับผู้อื่น ซึ่งการเป็นส่วนหนึ่งของโลกโซเชียลไม่ได้ช่วยในส่วนนี้นัก

ฮอร์โมนออกซิโตซิน

มันมีฮอร์โมนสำหรับเรื่องนี้อยู่ครับ นั่นก็คือออกซิโตซิน ซึ่งเป็นฮอร์โมนแห่งสายสัมพันธ์ที่คุณมี เช่น ระหว่างแม่ที่มีต่อลูก เป็นต้น  มันเป็นฮอร์โมนในตัวเราที่ขับเคลื่อนความจำเป็นในการสร้างสายสัมพันธ์กับผู้อื่น เพื่อให้รู้สึกว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของบางกลุ่ม  เราสามารถบรรลุความพึงพอใจในจุดนี้ได้ในเชิงบวก เช่นเวลาที่เรารู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของมนุษยชาติ เราทุกคนต่างเท่าเทียมกัน ทุกคนต้องการมีความสุข ไม่มีใครอยากเป็นทุกข์ อะไรประเภทนี้น่ะครับ ซึ่งมีความมั่นคงมากกว่าการพยายามสร้างความพึงพอใจโดยการเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มโซเชียลมีเดียที่ขึ้นอยู่กับจำนวนยอดไลค์มาก

ผมกล่าวถึงเรื่องฮอร์โมนเนื่องจากจุดประสงค์เฉพาะ  สมเด็จองค์ดาไลลามะมักทรงตรัสอยู่เสมอว่าเราต้องเป็น พุทธศาสนิกชนแบบศตวรรษที่ 21 และนี่หมายถึงการสร้างสะพานเชื่อมต่อระหว่างหลักคำสอนของพระพุทธศาสนากับวิทยาศาสตร์ เพื่อสาธิตให้เห็นถึงด้านต่าง ๆ มากมายในหลักคำสอนของพระพุทธศาสนาที่สอดคล้องกับวิทยาศาสตร์  ท่านจึงทรงจัดการประชุมเรื่องจิตใจและชีวิต (Mind and Life) ขึ้นบ่อยครั้งมากเพื่อพบปะกับเหล่านักวิทยาศาสตร์ เพื่อค้นหาสิ่งที่ทั้งสองฝ่ายเข้าใจในลักษณะเดียวกันและวิธีที่ทั้งสองฝ่ายสามารถช่วยเหลือกันและกันเพื่อให้ได้มาซึ่งด้านต่าง ๆ ของชีวิตที่สมบูรณ์มากขึ้น

หากเราเข้าใจในจุดนี้ เพียงแค่ในระดับเชิงชีวภาพทางร่างกาย ว่าเรารู้สึกมีความสุข เรารู้สึกดีขึ้นโดยขึ้นอยู่กับฮอร์โมนบางประเภทในร่างกายเรา เราก็จะสามารถวิเคราะห์ว่าเราใช้กลยุทธ์แบบใดในการพยายามสร้างความพึงพอใจให้กับฮอร์โมนเหล่านี้ แล้วถ้ามันไม่ได้ผล เราก็ลองหากลยุทธ์อื่นที่สามารถใช้ประโยชน์จากฮอร์โมนเหล่านี้ในเชิงบวกที่ที่ไม่ทำลายตัวเราเอง

โดปามีน ฮอร์โมนแห่งความคาดหวัง และการสร้างเป้าหมายเชิงประโยชน์

เมื่อสักครู่เราพูดถึงโดปามีน ฮอร์โมนประเภทความคาดหวังสำหรับรางวัล  มันทำให้คุณรู้สึกตื่นเต้นมาก เหมือนกับสิงโตไล่ล่าละมั่งเพื่อเป็นอาหาร  ดังนั้นในการพยายามใช้ประโยชน์จากอาการโดปามีนดังกล่าว เรามีวิธีการเชิงทำลายบางประการที่ไม่ได้ผล เช่น คาดหวังยอดไลค์เพิ่มขึ้นในเฟซบุ๊ค  วิธีนี้ไม่ได้ผลหรอกครับ 

หรือเราอาจจะมีวิธีกลาง ๆ ในการพยายามสร้างความพึงพอใจให้ฮอร์โมนนี้  ผมมีเพื่อนคนหนึ่งที่เล่นยกน้ำหนัก  เขาคาดว่าตอนนี้เขาสามารถยกน้ำหนักได้ 180 กิโลแล้ว และเขาคาดว่าจะสามารถยกได้ 200 กิโล  เขาตื่นเต้นมาก ๆ ซึ่งทำให้เขารู้สึกถึงความสุขมากเมื่อคาดหวังถึงรางวัล  แต่ถึงอย่างนั้นแล้ว สมมุติว่าเขาสามารถยกน้ำหนัก 200 กิโลกรัมได้  ในฐานะชาวพุทธที่มองอย่างเหยียดหยามมาก ๆ เราอาจจะบอกว่า แล้วมันจะทำให้คุณไปเกิดชาติหน้าได้ดีขึ้นไหม?  เขายก 200 กิโลได้แล้วเขาจะได้ไปเกิดชาติหน้าดีขึ้นไหม?  เขาก็จะไม่พึงพอใจ ตอนนี้เขาต้องยกให้ได้ 210 

แต่ถ้าเราใช้กลุ่มอาการโดปามีนให้เป็นประโยชน์ สมมุติว่า เพื่อบรรลุสมถ ซึ่งเป็นสมาธิอันสมบูรณ์แบบ หรือเพื่อบรรลุความอดทน เอาชนะความโกรธ เป็นต้น จุดนี้จะเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นมากครับ  แทนที่จะรู้สึกหงุดหงิดว่า “ฉันไม่เก่งพอหรอก ฉันทำไม่ได้หรอก” คุณสามารถเริ่มทำงานกับมันในรูปแบบของ “นี่คือบทท้าทาย ฉันมีความสุขมากในการพยายามทำบทท้าทายนี้”

เราต้องพยายามทำเช่นนี้โดยที่ไม่มีความคาดหวังหรือความผิดหวังใด ๆ ซึ่งส่วนนี้อยู่ในคำแนะนำการสอนทำสมาธินะครับ  เมื่อคุณคาดหวังว่าจะได้พบกับผลลัพธ์ในทันที แน่นอนว่าคุณก็จะพบกับความผิดหวัง  ดังนั้นคุณจึงต้องไม่สร้างความคาดหวังขึ้นมา แต่คุณกำลังปฏิบัติเพื่อไปให้ถึงจุดหมาย  และการปฏิบัติเพื่อไปให้ถึงจุดหมาย โดยเฉพาะหากจุดหมายนั้นเป็นจุดหมายที่เปี่ยมความหมาย นั่นก็คือบ่อเกิดของความสุข  ความสุขที่เรารู้สึกนี้มีรากฐานทางชีวภาพ จึงสอดคล้องกับวิธีการทางวิทยาศาสตร์โดยสมบูรณ์ ซึ่งเท่ากับว่าเป็นพระพุทธศาสนาในศตวรรษที่ 21  พูดอีกอย่างก็คือ เราสามารถอธิบายในลักษณะที่นักวิทยาศาสตร์ยอมรับได้ว่าทำไมวิธีการทางพระพุทธศาสนาจึงมีประสิทธิภาพและมีประสิทธิภาพอย่างไร  นั่นคือจุดประสงค์ครับ

การฝึกฝนขั้นสูงทั้งสาม: วินัยในตัวเอง สมาธิ และความตระหนักรู้ที่แยกแยะ

กล่าวโดยสังเขปคือ เราจำเป็นต้องพัฒนาความตั้งใจที่จะเป็นอิสระ ซึ่งในพระพุทธศาสนาเราเรียกว่า การสละ ดังนั้นในการปลดปล่อยตัวเราออกจากนิสัยเก่า ๆ เชิงลบ เราจำเป็นต้องฝึกฝนตัวเองในด้านวินัยในตัวเอง สมาธิ และความตระหนักรู้ที่แยกแยะ ซึ่งอาจเรียกได้ว่าการฝึกฝนสามประการ กล่าวคือ การแยกแยะสิ่งที่เป็นประโยชน์ สิ่งที่เป็นโทษ สิ่งที่ใช้ได้ผล สิ่งที่ไม่ได้ผล เพ่งสมาธิอยู่กับสิ่งนั้น และวินัยในการปรับพฤติกรรมของเราตามนั้น

อุปสรรคของวินัยในตัวเอง: ความรู้สึกเสียใจ

ทั้งสามด้านนี้ต้องทำงานร่วมกันอย่างพร้อมเพรียง แต่ในการพัฒนาทั้งสามด้านอย่างเหมาะสม เราจำเป็นต้องกำจัดปัจจัยต่าง ๆ ในตัวเราที่ขัดขวางด้านเหล่านี้อยู่  ความรู้สึกเสียใจขัดขวางวินัยในตัวเองของเรา  ยกตัวอย่างเช่น เราเสียใจที่เราไม่ได้ดูอินเทอร์เน็ต หรือตอบข้อความหรืออีเมลในทันที  ความรู้สึกเสียใจดังกล่าวเป็นอันตรายต่อวินัยในตัวเองของเราในการตรวจดูสิ่งเหล่านี้ตามชั่วโมงที่เรากำหนดไว้ในแต่ละวันเท่านั้น

กลยุทธ์ที่มีประโยชน์คือ การปิดการแจ้งเตือนที่บอกว่า “คุณได้รับอีเมล” หรือตัวบ่งชี้บนคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์มือถือ และตรวจดูสิ่งเหล่านี้ตามเวลาที่กำหนดไว้ในแต่ละวันเท่านั้น  ให้ตอบข้อความทันทีที่อ่านสำหรับเรื่องที่สำคัญเท่านั้น  ดังนั้นเราจึงต้องอาศัยวินัยในตัวเองเพื่อทิ้งสิ่งเหล่านี้ไว้ทีหลัง ไว้ตอบทีหลัง ทิ้งคำถามต่าง ๆ ที่สามารถรอจนกระทั่งเรายุ่งน้อยกว่านี้ไว้ก่อน หรือทิ้งไว้จนถึงเวลาที่คุณกำหนดไว้สำหรับการตอบข้อความเหล่านี้ในแต่ละวัน

ผมต้องยอมรับเลยว่าผมค่อนข้างมีความผิดในเรื่องนี้  ดังนั้นผมจึงนำกลยุทธ์มาใช้ในการพยายามรับมือกับจำนวนอีเมลที่ไหลเข้ามา  ผมไม่เล่นโซเชียลมีเดีย ผมจึงไม่ได้รับข้อความเหล่านั้น แต่ผมได้รับอีเมลเข้ามาอย่างน้อยสามสิบอีเมลในแต่ละวัน  แทนที่ผมจะตอบอีเมลเหล่านี้ในทันทีจนผมไม่มีเวลาจะทำอะไรให้เสร็จได้ สิ่งที่ผมทำคือแบบนี้ครับ  ผมตรวจดูอีเมลเหล่านี้  สำหรับเรื่องที่สำคัญจริง ๆ ผมจะตอบทันที แต่ที่เหลือผมจะปักธงไว้  และผมรู้ว่าในตอนเย็น เมื่อจิตใจผมเริ่มไม่กระจ่างพอที่จะเขียนหรือทำสิ่งสำคัญต่อไปได้อีกแล้ว ผมก็จะตอบอีเมลเหล่านี้  ดังนั้นคุณจึงควรกำหนดเวลาต่างหากไว้  มิฉะนั้นคุณก็จะไม่สามารถควบคุมได้

อุปสรรคต่อสมาธิ: ความง่วง ความขุ่นมัวทางจิตใจ และการเปลี่ยนใจไปมา

ความง่วง ความขุ่นมัวทางจิตใจ และการเปลี่ยนใจไปมาเป็นอุปสรรคต่อสมาธิของเรา  หากเรามีสิ่งใดสิ่งหนึ่งแล้ว เราจะสูญเสียการมีสติเกี่ยวกับความจริงที่ว่าการระงับตัวเองไม่ให้เช็คข้อความต่าง ๆ ในทันทีนั้นจะทำให้ชีวิตเราซับซ้อนน้อยลง  ในการโฟกัสกับตรงนี้ ให้จำไว้ว่านั่นคือความหมายของสติ

พยายามจำไว้ว่าชีวิตของฉันจะมีความเครียดน้อยลงกว่านี้อีกมาก มีแรงกดดันน้อยลงกว่านี้อีกมาก หากฉันยอมรับความจริงว่าฉันจะตอบข้อความเหล่านี้ในเวลาตอนเย็น สมมุตินะครับ หรือเวลาไหนก็ได้ เมื่อไหร่ก็ได้ที่เรากำหนดไว้สำหรับการจัดการกับข้อความเหล่านี้  สิ่งที่ขัดขวางจุดนี้คือคุณง่วง คุณเหนื่อย คุณก็เลยลืมไป และมันง่ายกว่าที่จะไปดูหน้าเฟซบุ๊คของตัวเอง หรือว่าคุณกำลังรู้สึกเซ็ง แล้วแทนที่คุณจะลุกขึ้นไปดื่มน้ำ หรืออะไรก็แล้วแต่ คุณกลับไปเล่นอินเทอร์เน็ต  หรือการเปลี่ยนใจไปมา  จิตใจของฉันลอยไปที่นู่นที่นี่ตลอดเวลา แล้วสิ่งนี้กำลังเกิดขึ้น สิ่งนั้นกำลังเกิดขึ้น เมื่อคุณลืมคิดไป คุณก็หันไปตอบข้อความ  คุณไปอ่านข้อความ  “ฉันไม่อยากพลาดอะไรนี่นา”

อุปสรรคต่อความตระหนักรู้ที่แยกแยะ: การการวอกแวกลังเลและความสงสัย

อย่างสุดท้ายคือ การวอกแวกลังเลใจเป็นอุปสรรคต่อการการตระหนักรู้ที่แยกแยะ  เราลังเลไปมาว่าจะดูข้อความเฉพาะในเวลาที่กำหนดไว้ดีหรือไม่  “ฉันตัดสินใจถูกไหมนะ?”  ไม่แน่ใจในตัวเอง  มีความสงสัย

ข้อสงสัยเหล่านี้เกิดขึ้นเนื่องจากความยากและความเครียดในการละเว้นให้ดูสิ่งเหล่านี้  ในการรับมือกับข้อสงสัยเหล่านี้ เราจำเป็นต้องเตือนตัวเองถึงข้อดีของการเปลี่ยนนิสัย  การทำเช่นนี้จะทำให้ชีวิตฉันมีความสม่ำเสมอมากขึ้น หากฉันสามารถมีสมาธิอยู่กับสิ่งเดียวและจัดการกับสิ่งอื่นตามลำดับที่เหมาะสมได้ ตามโครงสร้างที่เหมาะสม  มิฉะนั้นก็จะเกิดความวุ่นวาย และความวุ่นวายก็จะนำมาซึ่งความเครียด

ความวางใจเป็นกลางและความเห็นอกเห็นใจ

นอกจากนี้ยังมีกลยุทธ์อื่น ๆ ที่เราสามารถนำมาใช้เพื่อทำให้ชีวิตมีความสุขมากขึ้นอีกด้วย  ยกตัวอย่างเช่น เรารับมือกับการอยู่บนรถไฟฟ้าที่อัดแน่นไปด้วยผู้คนอย่างไร  ยิ่งเราโฟกัสที่ตัวเอง ต้องการจะป้องกันตัวเอง และหนีไปอยู่ในโลกของโทรศัพท์มากเท่าไหร่ เราก็ยิ่งรู้สึกปิดกั้นมากขึ้นเท่านั้น  ผมไม่ได้พูดถึงการใช้เวลาบนรถไฟฟ้าอย่างใจเย็นด้วยการอ่านหนังสือ เพราะมันใช้เวลานานที่จะไปถึงจุดหมายที่ต่าง ๆ นะครับ  ผมกำลังพูดถึงเวลาที่คุณหนีไปหลบอยู่ในโทรศัพท์ ในเสียงดนตรี หรือเกม  ยิ่งเราโฟกัสกับตัวเอง ต้องการจะปกป้องตัวเอง และหนีไปอยู่ในโทรศัพท์มากเท่าไหร่ เราก็ยิ่งรู้สึกปิดกั้นมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งทำให้พลังงานของเราถูกบีบและทำให้เรารู้สึกตึงเครียดมากขึ้น  เราไม่ผ่อนคลาย เพราะเรารู้สึกถูกคุกคามโดยภัยอันตราย โดยเฉพาะในกรุงมอสโกที่นี่ที่รถไฟฟ้าคนแน่นมาก  ที่กรุงเบอร์ลินไม่ค่อยแน่นเท่าไหร่

ถึงแม้ว่าเราจะจมดิ่งอยู่กับเกมที่เราเล่นบนโทรศัพท์มือถือ หรือเพลงเสียงดังที่เราฟังจากไอพอด เราก็สร้างกำแพงรอบตัวเอง เราไม่อยากถูกรบกวน เราจึงสร้างเกราะป้องกันตัวขึ้นมา  จริง ๆ แล้วมันเป็นประสบการณ์ที่ไม่น่ารื่นรมย์เอาเสียเลยนะครับ ถึงแม้ว่าเราจะพยายามเสพความบันเทิงก็ตาม  เราไม่ได้อยู่ในความสงบ

ในอีกทางหนึ่งคือ หากเรามองว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มผู้คนทั้งหมดบนรถไฟฟ้า และสร้างความเป็นห่วงและความเห็นอกเห็นใจสำหรับทุกคนที่อยู่ในสถานการณ์เดียวกันกับเรา จิตใจและหัวใจของเราก็จะเปิดกว้าง  แน่นอนว่าเราสามารถตื่นตัวกับภัยอันตรายต่าง ๆ ได้ โดยปราศจากต้องหวาดระแวงกับการโฟกัสที่ตัวเองอย่างเดียว  เราอยากให้ทุกคนปลอดภัย เราไม่พยายามกลบทุกคนด้วยเสียงดนตรี หรือหนีทุกคนไปอยู่ในเกม  นั่นเพียงแต่เป็นการแยกตัวเองออกมา  เราไม่ต้องการแยกตัวเอง

รู้สึกเปิดกว้างต่อทุกคน

สิ่งที่มีประโยชน์กว่ามากคือการรู้สึกเปิดกว้างต่อทุกคน แต่การเปิดกว้างนี้ก็มีความละเอียดอ่อนเช่นกัน  หากคุณยึดติดตัวฉันที่แรงกล้าที่อยู่ด้านใน  ตอนนี้ฉันเปิดกว้างแล้ว ตอนนี้ฉันไม่มีการป้องกัน ฉันจะต้องเจ็บแน่ ๆ  คุณไม่สามารถทำแบบนี้ได้บนพื้นฐานประเภทนั้น  ในด้านหนึ่ง การเปิดกว้างในการคิดถึงทุกคนสร้างความพึงพอใจให้กับสัญชาตญาณสัตว์ป่าของการเป็นส่วนหนึ่งของฝูง  คุณรู้สึกปลอดภัยกว่าเวลาที่คุณเป็นส่วนหนึ่งของฝูงสัตว์ แทนที่จะแยกตัวออกมาจากฝูง  ดังนั้นในระดับของสัตว์แล้ว วิธีนี้ใช้ได้ผล  แต่เมื่อเราลดกำแพงลงแล้ว เราต้องระมัดระวังเรื่องการแยกโครงสร้างอัตตาที่แรงกล้าภายในด้วยเช่นกัน “ทีนี้ทุกคนจะโจมตีฉัน”

มันเป็นการปฏิบัติที่ละเอียดอ่อน แต่เป็นสิ่งที่มีประโยชน์อย่างสูงหากคุณสามารถทำได้  ในการทำเช่นนี้ เราต้องรวบรวมวินัยในตัวเอง สมาธิ และการตระหนักรู้ที่แยกแยะเข้าด้วยกัน

พักอย่างมีประสิทธิภาพจากการทำงานอย่างหนัก

ยังมีกลยุทธ์อื่น ๆ อีกมากมายที่เราสามารถนำมาใช้ในการพยายามรับมือกับความเครียดในชีวิตของเรา รวมถึงกลยุทธ์ง่าย ๆ ด้วย เช่น หากเราต้องการเวลาพักจากการทำงานอย่างหนัก แทนที่จะใช้เวลาพักไปกับการนั่งเล่นอินเทอร์เน็ต ลองลุกขึ้นยืน ไปดื่มน้ำ มองออกไปนอกหน้าต่าง หรืออะไรแบบนั้นสิครับ  พูดอีกอย่างก็คือ ทำให้เกิดการกระตุ้นน้อยลงแทนที่จะเพิ่มการกระตุ้นขึ้น  ความเครียดมาจากการกระตุ้นที่มากเกินไป  คุณไม่อยากจะแก้ความเครียดด้วยการเพิ่มการกระตุ้นเข้าไปอีก  ยิ่งน้อยยิ่งดีครับ

ด้วยความตั้งใจในการเป็นอิสระ บวกกับการปฏิบัติการฝึกฝนทั้งสามด้าน นั่นคือวินัยในตัวเอง สมาธิ และการตระหนักรู้ที่แยกแยะ เราก็จะสามารถลดความเครียดที่เราประสบในชีวิตประจำวันลงได้ รวมถึงลดนิสัยที่ทำลายตัวเองลงด้วย  เราจะมีสภาวะจิตใจที่สงบมากขึ้นเยอะในการรับมือกับแรงกดดันในที่ทำงาน ครอบครัว สถานการณ์ด้านการเงิน และอื่น ๆ  และสภาวะนี้จะมีประสิทธิภาพอย่างมากในการรับมือการสถานการณ์ในโลกสมัยใหม่ที่เรามีอะไรหลายอย่างให้ใช้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอินเทอร์เน็ต โซเชียลมีเดีย และเสียงดนตรี เป็นต้น  จุดนี้ไม่ได้หมายความว่าเราต้องเลิกใช้อินเทอร์เน็ต โยนอุปกรณ์โทรศัพท์ทิ้งไป และไม่ฟังเพลงอีกเลยนะครับ  ไม่ได้หมายความอย่างนั้นเลย  แต่หมายถึงการพัฒนากลยุทธ์ที่ดีขึ้น นิสัยที่ดีขึ้นในการใช้สิ่งเหล่านี้ในลักษณะที่ดีต่อสุขภาพและก่อให้เกิดประโยชน์  ขอบคุณครับ

คำถาม

ปัญหาอยู่ที่ว่าในชีวิตสมัยใหม่นั้น เราต้องโต้ตอบกับสิ่งต่าง ๆ  ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราติดตามข่าวสาร เราไม่ได้ทำอย่างนั้นเพียงจากการหมกมุ่นอยู่กับตัวเอง แต่เราต้องการทราบว่าเราควรต้องทำอย่างไร ควรโต้ตอบสิ่งต่าง ๆ อย่างไรด้วย  ยกตัวอย่างเช่นอัตราเกี่ยวกับการเงิน  บางครั้งก็มีการแสดงการเปลี่ยนแปลงของอัตราเหล่านี้ออนไลน์และเราก็อาจจะต้องทำการโต้ตอบกับเรื่องนี้  หรือบางคนอาจส่งข้อความมาบอกเราว่าคนนั้นคนนี้ป่วยและต้องการความช่วยเหลือ  หรือเพื่อนร่วมงานของเราอาจส่งข้อความมาหาเรา เพราะต้องการถามอะไรบางอย่าง และถ้าเราไม่ดูข้อความ เราก็จะไม่รับ   หรือดูตัวอย่างของการพยากรณ์อากาศสิครับ  ถ้าเราไม่ดูการพยากรณ์อากาศในตอนเช้า แล้วเราออกจากบ้านไป วันนั้นอาจจะอากาศหนาว แต่เรากลับไม่รู้ ซึ่งอาจทำให้เราเป็นหวัดได้  จากกรณีทั้งหมดนี้อาจลดทอนประสิทธิภาพของเรา และเราอาจต้องเสียทั้งเวลาและสุขภาพ หรืออย่างอื่นได้

นั่นเป็นเหตุผลที่ทำไมผมจึงบอกว่าพวกเราจำเป็นต้องพัฒนากลยุทธ์ที่ดีต่อสุขภาพ กลยุทธ์ที่ชาญฉลาดในการใช้อินเทอร์เน็ตครับ  ถ้าเราเป็นโรคอ้วนทางร่างกาย แล้วเราเข้าโปรแกรมการควบคุมอาหาร นั่นไม่ได้หมายความว่าเราต้องหยุดทานอาหารไปเสียทีเดียว  เราจำกัดอาหารที่เราทาน  ในลักษณะเดียวกันนี้ หากเรามีเป็นโรคอ้วนเชิงข้อมูล เราก็จำกัดสิ่งที่เราดูและดูแต่สิ่งที่จำเป็น สิ่งที่เป็นประโยชน์ และอื่น ๆ  อย่างที่ผมกล่าวไปเกี่ยวกับกลยุทธ์ที่อย่างน้อยก็ได้ผลในการใช้อีเมลของผม คือคุณสามารถทำเครื่องหมายให้กับบางสิ่ง เพื่อที่คุณจะได้รู้ว่าต้องกลับมาดูสิ่งนี้ทีหลัง มาจัดการกับสิ่งนี้ทีหลังได้

แต่กลยุทธ์นี้มีความหมายในเชิงว่า สำหรับกรณีใดก็ตาม เรารับข้อมูลทั้งหมด แต่เราเลือกว่าเราจะตอบสิ่งใดและไม่ตอบสิ่งใด แต่เราก็ยังอ่านข้อความทั้งหมดและอ่านข่าวสารทั้งหมด และอื่นๆ

อีกครั้งนะครับ คุณต้องใช้กลยุทธ์ที่แตกต่างกันไป  มันมีความแตกต่างค่อนข้างมากระหว่างการตรวจดูการพยากรณ์อากาศ เวลาคุณตื่นขึ้นมาตอนเช้า และการตรวจดูยอดไลค์ที่คุณได้ในช่วงข้ามคืนนั้นนะครับ  คุณไม่ต้องตรวจดูว่าคุณได้กี่ไลค์ และข้อความทั้งหลายที่คุณได้ บางข้อความก็เป็นโฆษณา บางข้อความก็มาจากผู้คนที่ไม่ได้มีความสำคัญเท่าไหร่ในด้านงานของคุณ และอื่นๆ  บางอย่างนั้นคุณสามารถจัดการกับมันในภายหลังได้  คุณรู้ดีอยู่ในสมุดที่อยู่ของคุณเองแล้วว่าสิ่งใดมีความสำคัญและสิ่งใดมีความสำคัญน้อยกว่า  ผมมีเพื่อนคนหนึ่งที่ชอบถ่ายรูปอาหารเช้าที่เขาตระเตรียมเองและส่งรูปเหล่านี้ไปให้ผู้อื่น  นั่นเป็นสิ่งที่ผมไม่ต้องดูอย่างแน่นอน

เขารู้ว่าคุณไม่ได้ดูเหรอครับ?

ผมจะดูมันในภายหลัง แต่ผมจะไม่ขัดจังหวะงานของผมเพื่อดูมันอย่างแน่นอน

ศาสนาอื่นนำเสนอวิธีต่าง ๆ สำหรับการมี ความรู้สึกดีทางฮอร์โมนเช่นกัน  วิธีเหล่านี้ต่างจากพระพุทธศาสนาอย่างไร?

เป็นเรื่องจริงที่ศาสนาอื่นนำเสนอวิธีเหล่านี้เช่นกันในเชิงที่ว่า “พระเยซูรักฉัน” และ “พระเจ้ารักฉัน” เป็นต้น กล่าวคือการเป็นที่ยอมรับและปฏิบัติเพื่อไปให้ถึงจุดหมาย  จุดนี้อยู่ในวิธีเหล่านี้อย่างแน่นอน นี่เป็นเรื่องจริงครับ  วิธีการที่ผมกล่าวถึงไม่ได้มีความเฉพาะเจาะจงสำหรับพระพุทธศาสนามากนัก วิธีเหล่านี้สร้างขึ้นโดยไม่ต้องอาศัยบริบททางศาสนา  มันเป็นเพียงกลยุทธ์ทั่วไปที่มีประโยชน์สำหรับทุกคน  สิ่งที่ผมกล่าวถึงไม่ได้มีส่วนใดที่เป็นเรื่องเฉพาะทางพระพุทธศาสนาเท่านั้นครับ

เมื่อเราถามว่าสิ่งใดเป็นสิ่งที่เฉพาะเจาะจงของพระพุทธศาสนานั้น สิ่งนั้นคือมุมมองของพระพุทธศาสนาเกี่ยวกับความเป็นจริงในระดับที่ละเอียดมาก  และสิ่งที่บทสนทนาทั้งหลายกับนักวิทยาศาสตร์ชี้ให้เห็นคือว่ามุมมองเหล่านี้ไม่ได้มีความเป็นเอกลักษณ์อย่างมากด้วยซ้ำ เพราะมุมมองเกี่ยวกับความเป็นจริงดังกล่าวค่อนข้างสอดคล้องกับมุมมองเกี่ยวกับจักรวาลควอนตัมเป็นอย่างมาก  หากคุณพิจารณาทฤษฎีควอนตัมไปจนถึงตอนสุดท้ายในเชิงเหตุผลเกี่ยวกับโครงสร้างของจักรวาล คุณจะพบกับหลักคำสอนทางพระพุทธศาสนาเกี่ยวกับสุญญตาและการอาศัยกันในการเกิดขึ้น

เราควรทำอย่างไรหากเราตั้งใจเตรียมตัวไปพบกับคนคนหนึ่งและเราจะไปพบกับคนคนนี้จริง ๆ แต่เมื่อเราพบเขาแล้ว เขาเอาแต่ดูโทรศัพท์และไม่ใส่ใจเราเท่าไหร่นัก  ในสถานการณ์แบบนี้ เราสามารถพูดกับเขาคนนี้ตรง ๆ เลยได้ไหมว่าการกระทำแบบนี้มันไม่เหมาะสม เพราะเรากำลังพบปะเพื่อพูดคุยกันจริง ๆ

โดยส่วนตัวแล้ว ผมคิดว่าได้ครับ  ผมคิดว่าการพูดกับคนคนนั้นว่า “สวัสดี! นี่ฉันอยู่ตรงนี้นะ!” เป็นเรื่องที่เหมาะสม  มันมีสิ่งที่เรียกว่ามารยาทในการใช้โทรศัพท์มือถือ ซึ่งมีความสำคัญมากนะครับ โดยเฉพาะหากคุณเป็นพ่อแม่ผู้ปกครองและคุณมีลูกวัยรุ่น เพื่อใช้ในการสร้างระเบียบวินัยในการไม่ส่งข้อความหรือคุยโทรศัพท์บนโต๊ะอาหารเย็น  ใช่ครับ คุณพูดได้ว่าคุณไม่อนุญาตให้ทำแบบนี้ และบอกให้พวกเขาเก็บโทรศัพท์ไป  ผมมีเพื่อนที่สอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยในอเมริกาคนหนึ่ง และเธอบอกให้นักศึกษาวางโทรศัพท์ไว้บนโต๊ะในระหว่างการบรรยาย  พวกเขาไม่ได้รับอนุญาตให้นำโทรศัพท์ติดตัวไปในที่นั่งของตัวเอง  ผมคิดว่านี่เป็นเรื่องที่มีความเหมาะสมมากนะครับ  สิ่งที่น่าสนใจมากคือ ทุก ๆ — ผมจำไม่ได้แล้วว่าทุก ๆ 45 นาทีหรือหนึ่งชั่วโมง เพราะการสัมมนาทั้งหมดนั้น 3 ชั่วโมง  — เธอจะให้นักศึกษาพักดูโทรศัพท์ได้  ไม่ใช่ว่าพวกเขาต้องเข้าห้องน้ำหรืออะไรหรอกนะครับ แต่พวกเขารู้สึกตึงเครียดจากการไม่ได้ดูโทรศัพท์มากจนต้องรีบวิ่งเข้าไปหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาดูในระหว่างพัก  เป็นเรื่องที่น่าสนใจมากในเชิงสังคมวิทยานะครับ

นี่เป็นการเสพติดระยะยาวที่ผู้คนต้องใช้โทรศัพท์จริง ๆ นะครับ และเป็นสิ่งที่หลาย ๆ ครั้ง คุณต้องช่วยสร้างระเบียบวินัยทางสังคมให้ผู้คนเหล่านั้น  ผมคิดว่าเป็นสิ่งที่เหมาะสมครับ หากกระทำในลักษณะสุภาพ  อีกครั้งนะครับ มันมีความแตกต่างระหว่างว่าพวกเขามีเรื่องภัยพิบัติที่ต้องรู้ไหม หรือแค่ต้องการคุยเกี่ยวกับเรื่องที่ไม่ได้มีความสำคัญเลย  แล้วถ้าเราพูดกันจริง ๆ แล้ว พวกเราได้รับโทรศัพท์เกี่ยวกับเรื่องภัยพิบัติบ่อยแค่ไหนกันครับ?  แล้วถ้าเราพบปะกับใครบางคน และเรากำลังรอโทรศัพท์ว่าลูกของเรากลับถึงบ้านปลอดภัย หรืออะไรแบบนั้นอยู่ คุณก็ควรบอกเขาคนนั้น  บอกเขาอย่างสุภาพว่า “ผมกำลังรอโทรศัพท์อยู่นะครับ ผมรอให้แน่ใจว่าลูกผมกลับถึงบ้านปลอดภัยดี”  เขาก็จะเข้าใจ แล้วทุกอย่างก็จะมีความชัดเจน

ในขณะเดินทางด้วยรถไฟฟ้า รถใต้ดิน ผมมักจะฟังเพลงตลอด แต่ผมไม่ได้ทำแบบนั้นเพื่อให้มีการกระตุ้น แต่ทำแบบนั้นเพื่อลดปริมาณการกระตุ้นเชิงลบ  เพราะรอบ ๆ ตัวผมมีผู้คนคุยกันถึงเรื่องต่าง ๆ และบางครั้งผมก็ไม่อยากฟัง  บทสนทนาเหล่านี้มีเรื่องในแง่ลบเยอะมาก  นอกจากนี้ยังมีโฆษณาบนรถไฟฟ้าที่พูดถึงสิ่งที่คุณฟังจนท่องได้ขึ้นใจแล้ว  ดังนั้นเพื่อเป็นการปิดการกระตุ้นเชิงลบเหล่านี้ ผมเลยฟังเพลงแทน  อย่างนี้ถือว่าผมกำลังหลบหนีไหมครับ? หรือว่าผมแค่กำลังเปลี่ยนสิ่งกระตุ้นเชิงลบที่รุนแรงมากให้มีความรุนแรงน้อยลงและมีการทำลายน้อยลง

เป็นคำถามที่น่าสนใจมากครับ  สิ่งแรกที่เข้ามาในใจผมเป็นคำตอบแบบอินเดีย ซึ่งอาจจะไม่ใช่คำตอบที่เหมาะสมที่สุดนัก นั่นคือ เวลาคุณนั่งรถโดยสารข้ามคืนที่มีวิดีโอในอินเดีย รถคันนั้นจะฉายวิดีโอตลอดทั้งคืน ฉายภาพยนตร์เรื่องเดิมซ้ำแล้วซ้ำอีกที่ระดับเสียงดังสุด  ถ้าคุณถามคนขับว่า “ช่วยเบาเสียงหน่อยได้ไหม?” หรืออะไรทำนองนี้ คำตอบของชาวอินเดียคือ “ก็อย่าฟังสิ”

บนรถไฟฟ้า คุณก็ไม่ต้องฟังสิ่งที่ทุกคนเขาพูดกัน  มันเป็นเรื่องของความใส่ใจครับ  คุณมุ่งเน้นไปที่เรื่องใด?  หากคุณให้ความใส่ใจกับผู้คนและการมองเห็นทั้งหมด สมมุติว่าให้ความใส่ใจกับสีหน้าต่าง ๆ และถ้าเกิดว่าพวกเขาอาจไม่มีความสุขนัก ก็ให้ส่งความปรารถนาสำหรับพวกเขาด้วยความเห็นอกเห็นใจ ขอให้พวกเขาเป็นอิสระจากความทุกข์ ขอให้พวกเขามีความสุข จากนั้นความใส่ใจของคุณก็จะไม่ได้เพ่งไปที่สิ่งที่พวกเขากำลังพูดกันอยู่ คุณไม่ได้ดูที่โฆษณา  ความใส่ใจของคุณอยู่กับอย่างอื่น

หากเราไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ งั้นก็โอเครับ ใช้เสียงเพลง  แต่เสียงเพลงไม่ควรเป็นข้ออ้างในการละเลยผู้คน  นี่เป็นโอกาสที่ยอดเยี่ยมสำหรับการปฏิบัติความเห็นอกเห็นใจ

ลองคิดถึงหลักการของ ทองเลน (tonglen) ซึ่งเป็นการปฏิบัติทางพระพุทธศาสนาขั้นค่อนข้างสูงเกี่ยวกับการรับและการให้  สิ่งที่คุณควรพยายามทำในสถานการณ์นี้คือ แทนที่จะผลักออกไปและสร้างกำแพงรอบๆสิ่งที่คนอื่นพูด คุณก็ยอมรับมัน ฉะนั้นคุณมีความเปิดกว้าง และคุณยอมรับว่าพวกเขากำลังพูดถึงสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ หรือสิ่งในแง่ลบ จากนั้นคุณก็ส่งความปรารถนาแห่งความรักไปให้พวกเขา ขอให้พวกเขาสามารถก้าวข้ามอะไรก็ตามที่กำลังทำให้พวกเขาอารมณ์เสีย ขอให้พวกเขาจะเกี่ยวข้องกับสิ่งในแง่บวกที่มีความหมายมากขึ้นก็ได้  ดังนั้นจุดนี้จึงเป็นโอกาสที่ยอดเยี่ยมสำหรับการปฏิบัติทองเลน

บ่อยครั้งเวลาที่เรามีความตั้งใจในการเป็นอิสระ พอถึงจุดหนึ่งความตั้งใจนี้ก็ลดลง ซึ่งอาจเป็นเพราะความขี้เกียจหรือปัจจัยอื่น ๆ ทำให้เราไม่รู้สึกถึงความตั้งใจนี้อีกแล้ว  หากเกิดกรณีนี้ขึ้น เราควรทำอย่างไรเพื่อฟื้นฟูความตั้งใจนี้ขึ้นมาใหม่?

คำแนะนำหลักที่ผู้คนมักได้รับคือ การเตือนตัวเองถึงข้อเสียต่าง ๆ ของอะไรก็ตามที่เราตั้งใจที่จะหลุดพ้น เตือนตัวเองถึงสถานการณ์แห่งความทุกข์ใด ๆ ซึ่งมีอยู่และประโยชน์ของการเป็นอิสระจากสิ่งเหล่านั้น  และเตือนตัวเองเกี่ยวกับวิธีการในการเป็นอิสระจากสิ่งนั้นและยืนยันความมั่นใจว่าวิธีนี้ไม่ใช่แค่ใช้ได้ผลเท่านั้น แต่เรายังสามารถปฏิบัติได้จริง ๆ ด้วย  สิ่งเหล่านี้เป็นส่วนที่สำคัญมากของความตั้งใจในการเป็นอิสระ  พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ เตือนตัวเองว่า “ฉันสามารถเป็นอิสระจากสิ่งนี้ได้หากฉันทำจริง ๆ”  มิฉะนั้นคุณก็จะรู้สึกท้อแท้ แล้วคุณก็จะไม่อยากทำอะไรเลยและยอมแพ้

ถ้าเราทำสมาธิและการทำเช่นนี้ทำให้เรามั่งคงขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่เราได้มา  แต่ถ้าเราทานยาที่ทำให้เรามีความมั่นคงมากขึ้น นี่เป็นสิ่งที่เราได้มาโดยไม่ต้องใช้ความพยายามใด ๆ เลย และมันก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงเราด้วย  แน่นอนว่าถ้าผู้นั้นป่วย ก็มีความจำเป็นในการทานยา  แต่ถ้าเกิดว่าบางคนทานยาบางอย่างเป็นประจำทุกวันเพื่อปรับปรุงสภาพของตัวเอง เพื่อลดความเครียดและอิทธิพลเชิงลบอื่น ๆ ในจิตใจล่ะคะ?

ผมว่าเราจำเป็นต้องมองวิธีการทางพระพุทธศาสนาจากหลักความเป็นจริงครับ  วิธีการทางพระพุทธศาสนามีประสิทธิภาพสำหรับผู้ที่มีวุฒิภาวะและความมั่นคงในระดับหนึ่งแล้ว  หากคุณถูกรบกวนอย่างมาก ทั้งทางอารมณ์และจิตใจ คุณก็ยังไม่สามารถปฏิบัติวิธีการทางพระพุทธศาสนาได้  คุณต้องมีความมั่นคงในระดับหนึ่งก่อน และในจุดนี้ยาบางประเภทก็มีประโยชน์มาก ไม่ว่าจะเป็นยากล่อมประสาท หรือยารักษาอาการซึมเศร้า หรืออะไรก็แล้วแต่  คุณจำเป็นต้องใช้อะไรบางอย่างเข้ามาช่วย  เพียงแค่พูดว่า “อ้าว ก็นั่งสมาธิเอาสิ” ผู้คนเหล่านั้นยังไม่สามารถทำแบบนั้นได้  แต่เมื่อคุณมีความมั่นคงมากขึ้นแล้ว แน่นอนว่าคุณก็ต้องเอาชนะการติดยาเหล่านั้นด้วย  เมื่อคุณมีความมั่นคงขึ้นแล้ว คุณจะมีสภาวะจิตใจที่สามารถประยุกต์ใช้วิธีการทำสมาธิได้จริง ๆ  ก่อนหน้านั้นคุณถูกรบกวนมากเกินไป จึงไม่มีสมาธิ

ที่พม่ามีคนสามคนถูกจับเข้าคุกเพราะแขวนป้ายโฆษณาร้านอาหารที่มีรูปพระพุทธเจ้าใส่หูฟัง  คุณมีความคิดอย่างไรเกี่ยวกับเรื่องนี้เมื่อมองจากมุมมองทางพระพุทธศาสนา?

เทวทัต ญาติผู้อิจฉาริษยาของพระพุทธเจ้า คอยพยายามทำร้ายพระพุทธเจ้าอยู่ตลอด แต่แน่นอนว่าพระองค์ทรงไม่สามารถเป็นอันตรายได้ และพระองค์ทรงไม่ไม่ได้อารมณ์เสียเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างแน่นอน  ดังนั้นพระพุทธเจ้าคงไม่ทรงขุ่นเคืองกับรูปใส่หูฟัง  แต่สำหรับพุทธศาสนิกชน หรือผู้มีศรัทธาในศาสนาใดก็ตาม เมื่อผู้ใดแสดงความไม่เคารพต่อบุคคลหลักแล้ว การกระทำแบบนี้เป็นเรื่องที่อุกอาจมาก แล้วมันก็ไม่มีเหตุในการรุกรานผู้อื่น นั่นเป็นสิ่งที่หยาบคายมาก  บางทีการโยนพวกเขาเข้าคุก หรือทำการปรับขั้นหนักนั้นก็ไม่เหมาะสมเลย  อย่างไรก็ตามคนเหล่านั้นต้องไม่ทำเช่นนั้น  เสรีภาพทางการพูดไม่ได้หมายถึงเสรีภาพในการรุกรานผู้อื่น โดยเฉพาะเมื่อคุณรู้อยู่แล้วว่าการกระทำเช่นนี้จะเป็นการปลุกปั่นประชากรหนึ่ง  แน่นอนว่าตอนนี้ขึ้นอยู่กับว่าใครเป็นผู้ตัดสินว่าอะไรเป็นเรื่องอุกอาจ ซึ่งการตัดสินนี้อาจถูกนำไปใช้ในทางที่ผิดก็ได้  แต่เมื่อพูดในเรื่องของศาสนาแล้ว เช่นการแสดงความไม่เคารพต่อพระเยซู หรือมุฮัมหมัด หรือพระพุทธเจ้า การกระทำเช่นนี้ก็เป็นเรื่องไม่เหมาะสมอย่างชัดเจนอยู่แล้ว  คริสต์ศาสนิกชนจะตอบโต้อย่างไรกับโฆษณาไอพอดรุ่นใหม่ที่มีรูปพระเยซูบนไม้กางเขนสวมหูฟังฟังไอพอดของพระองค์?  ผมไม่คิดว่าผู้มีศรัทธาแรงกล้าในศาสนาคริสต์จะซาบซึ้งกับสิ่งนี้เลย

เราสามารถพยายามที่จะบรรลุเป้าหมายทางโลก หรือเป้าหมายทางศาสนาก็ได้  ผมได้พบว่าอาจมีความสุดโต่งสองประการ  ประการแรกคือ การเพ่งสมาธิกับเป้าหมายทางโลกมากกว่า แต่ในกรณีนี้มันมีความไม่จบไม่สิ้น และคุณทำเป้าหมายนี้เสร็จแล้ว แล้วก็มีอีกเป้าหมายหนึ่งตามมา  ความสุดโต่งอีกประการที่ผมเห็นได้ในชุมชนพุทธศาสนิกชน ยกตัวเช่น พวกเขาพยายามบรรลุเป้าหมายทางศาสนา แต่ลืมนึกถึงเป้าหมายทางโลกไป  มีวิธีการใดที่สามารถแก้ไขปัญหานี้และสร้างความสมดุลได้หรือไม่?

สมเด็จองค์ดาไลลามะทรงกล่าวเสมอว่า 50/50  เราต้องดูความเป็นจริงของชีวิตเรา เรามีความรับผิดชอบอะไรบ้าง เช่นสถานการณ์ทางการเงินของเรา เรามีผู้คนที่พึ่งพาเราอยู่หรือเปล่า  ฉะนั้นเราต้องอยู่กับความเป็นจริงครับ

Top