พระพุทธศาสนาและศาสนาอิสลาม: วิธีการที่แตกต่างกับเป้าหมายที่ร่วมกัน

ในทวีปเอเชียมีหลายบริเวณที่โลกของพระพุทธศาสนาและศาสนาอิสลามเข้ามาเกี่ยวข้องและมีส่วนร่วมกัน ถึงแม้ว่าพวกเขาจะต้องอยู่ร่วมกัน บางครั้งปฏิสัมพันธ์ของทั้งสองกลุ่มก็ไม่ได้ดำเนินไปอย่างสันตินัก อย่างไรก็ตาม ทั้งสองกลุ่มมีปัญหาร่วมกัน เช่น ปัญหาความเสื่อมถอยของสภาพแวดล้อม ปัญหามลภาวะและโลกร้อน พระพุทธศาสนาและศาสนาอิสลามนำเสนอกลยุทธ์วิธีที่แตกต่างกันในการสร้างแรงจูงใจให้ผู้คนรับมือกับปัญหาเหล่านี้ด้วยสติปัญญาและความเห็นอกเห็นใจ เมื่อเรามีความรู้เกี่ยวกับวิธีการของกันและกันมากขึ้น เราก็จะมีความเข้าใจและความเคารพต่อกันและกันมากขึ้น ในที่สุดแล้วทั้งสองกลุ่มก็จะสามารถร่วมมือกันเพื่อเผชิญหน้ากับความท้าทายในชีวิตสมัยปัจจุบันได้อย่างมีความสามัคคีกันมากขึ้น

วิธีการต่าง ๆ ที่พระพุทธศาสนาและศาสนาอิสลามใช้เพื่อรับมือกับปัญหาระดับโลกนานาประการนั้นมาจากระบบความเชื่อทางศาสนา  หากจะทำความเข้าใจวิธีการเหล่านี้ เราจำเป็นต้องเข้าใจข้อสันนิษฐานเบื้องต้นของแต่ละศาสนาก่อน

จุดเริ่มต้นของเหตุและผล

ศาสนาอิสลาม

ศาสนาอิสลามเป็นศาสนาแบบเทวนิยม  พระเจ้าเป็นผู้สร้างจักรวาล รวมถึงระเบียบในจักรวาลและกฎแห่งเหตุและผล

พระพุทธศาสนา

พระพุทธศาสนาไม่ได้เป็นเทวนิยม ซึ่งไม่ได้หมายความว่าอเทวนิยม หรือว่าพระเจ้าไม่มีตัวตน เพียงแต่พระพุทธศาสนาไม่ยอมรับการสร้างในลักษณะดังกล่าว  ทุกสรรพสิ่งล้วนเกิดขึ้นจากเหตุและผล ทั้งในขอบเขตของวัตถุและในเชิงประสบการณ์ของปัจเจกบุคคลและของกลุ่ม โดยไม่มีจุดเริ่มต้นและไม่มีจุดจบ  ไม่มีใครเป็นผู้สร้างเหตุและผลขึ้น หากแต่ทุกสรรพสิ่งล้วนเป็นอย่างนั้นอยู่แล้ว

ข้อสรุป

ระบบความเชื่อทั้งสองยอมรับเรื่องเหตุและผล ดังนั้นจึงเห็นชอบว่าแนวทางการรับมือกับปัญหาต่าง ๆ ระดับโลกคือ การค้นพบและการกำจัดสาเหตุนั้นเสีย หรืออย่างน้อยก็คือการลดสาเหตุนั้นลง

ความเชื่อมโยงระหว่างเหตุและผล

ศาสนาอิสลาม

ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการที่เหตุอันซับซ้อนหลายประการนำไปสู่ผลอันซับซ้อนทั้งหลายนั้นเรียกว่า “โชคชะตา”  การเชื่อมโยงระหว่างเหตุและผลถูกสร้างขึ้นโดยพระเจ้าและการที่เหตุเหล่านั้นนำไปสู่ผลเป็นไปตาม “เจตจำนงของพระเจ้า”

พระพุทธศาสนา

การเชื่อมโยงระหว่างเหตุอันซับซ้อนทั้งหลายกับผลอันซับซ้อนทั้งหลายเกิดขึ้นเพียงเนื่องมาจากการอาศัยกันในการเกิดขึ้นเท่านั้น ไม่มีใครเป็นผู้สร้างขึ้น  พูดอีกทางหนึ่งคือ ไม่มีเหตุหรือผลใด ๆ ที่ดำรงอยู่ในฐานะเหตุหรือผลด้วยตัวของมันเอง โดยไม่ขึ้นอยู่กับสิ่งอื่นใด  บางสิ่งบางอย่างสามารถเป็นสาเหตุขึ้นอยู่กับผลกระทบของมันเท่านั้น

ข้อสรุป

ระบบความเชื่อทั้งสองยอมรับว่าเหตุและผลเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามกฎที่แน่นอนและไม่มีสิ่งใดเกิดขึ้นอย่างส่งเดชโดยไม่มีเหตุ  ในจักรวาลมีระเบียบอยู่  ดังนั้นทั้งสองศาสนาจึงยอมรับว่า หากมีการใช้ขั้นตอนที่เหมาะสมในการรับมือกับปัญหาระดับโลก ปัญหาเหล่านั้นย่อมได้รับการแก้ไข

เจตจำนงเสรีและการเลือก

ศาสนาอิสลาม

พระเจ้าทรงสร้างมนุษยชาติขึ้นพร้อมกับสติปัญญา  สติปัญญา ดังกล่าวเป็นความสามารถสำหรับความคิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งความคิดเชิงเหตุผลและตรรกะ  หนึ่งในลักษณะของสติปัญญาคือ เจตจำนงเสรี ซึ่งหมายถึงความสามารถและพลังในการเลือกต่าง ๆ เช่น จะใช้ถุงผ้าที่ใช้ซ้ำได้สำหรับใส่ของที่เราซื้อดีไหม หรือเราจะรับถุงพลาสติกดี  หากมองในระดับชาติแล้ว เรามีเจตจำนงเสรีที่จะเลือกว่าเราจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกหรือไม่ และถ้าเราเลือกที่จะลดการปล่อยของเราแล้ว เราจะลดลงไปเท่าใด

เมื่อเราเผชิญหน้ากับตัวเลือกเหล่านี้ ไม่ว่าเราจะเลือกทำอะไร สิ่งนั้นย่อมนำไปสู่ผลลัพธ์อย่างเลี่ยงไม่ได้ตามเจตจำนงของพระเจ้า  ในลักษณะนี้ ผลลัพธ์จึงได้รับการกำหนดขึ้นก่อนแล้วตามกฎแห่งเหตุผลที่พระเจ้าสร้างขึ้น แต่การเลือกนั้น ๆ ไม่ได้รับการกำหนดล่วงหน้า  เมื่อพิจารณาในลักษณะนี้แล้ว พวกเราทั้งหลายจึงมีเจตจำนงเสรี

พระพุทธศาสนา

หนึ่งในปัจจัยทางจิตใจที่ทำให้เรามีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับการกระทำใด ๆ คือ ความตระหนักรู้ที่แยกแยะ  ซึ่งมุ่งเน้นไปที่ตัวเลือกที่มีความเป็นไปได้ และแยกแยะประเด็นสำคัญแต่ละข้อออกจากจุดอ่อนของตัวเลือกนั้น รวมถึงคุณสมบัติที่ดีและประโยชน์แต่ละข้อออกจากข้อเสียและผลเสียของตัวเลือกนั้นด้วย  จากการแยกแยะของเรา เราจึงสามารถทำการตัดสินใจเกี่ยวกับตัวเลือกของเราได้

หากมองจากอีกมุมหนึ่ง ปัจจัยทางจิตใจนี้เรียกว่า ความตระหนักรู้ทางสติปัญญา  มันสามารถแยกแยะได้อย่างแน่นอนเกี่ยวกับสิ่งที่ถูกและสิ่งที่ผิด สิ่งที่เป็นเชิงสร้างสรรค์และสิ่งที่เป็นเชิงทำลาย สิ่งที่เป็นประโยชน์และสิ่งที่เป็นอันตราย เป็นต้น  การแยกแยะดังกล่าวอาจถูกต้องหรืออาจไม่ถูกต้องก็ได้  หากดูจากการแยกแยะว่าเราจะใช้ถุงผ้าสำหรับใส่ของที่เราซื้อ หรือใช้ถุงพลาสติกดีจะกว่าต่อสิ่งแวดล้อม เราจึงตัดสินใจว่าเราจะใช้สิ่งใด  จุดนี้ก็เหมือนกับการตัดสินเรื่องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก  ผลลัพธ์ของการตัดสินใจของเราจะดำเนินไปตามกฏแห่งเหตุและผล

ในพระพุทธศาสนา กรรม หมายถึงแรงผลักดันของความประพฤติ กล่าวคือแรงผลักดันที่ทำให้เรากระทำรูปแบบพฤติกรรมและตัวเลือกเดิม ๆ ของเราซ้ำอีก  แต่มันมีช่องว่างระหว่างเวลาที่เรารู้สึกอยากทำอะไรบางอย่างกับเวลาที่เราเลือกที่จะทำสิ่งนั้น  ในช่องว่างนี้เราสามารถใช้ความตระหนักรู้ที่แยกแยะเพื่อตัดสินใจว่า เราจะกระทำตามแรงกระตุ้นดังกล่าวเพื่อกระทำรูปแบบตัวเลือกเดิมของเราซ้ำหรือไม่  ในลักษณะนี้ เราจึงมีเจตจำนงเสรี แต่เมื่อใดที่เรากระทำการนั้นลงไปแล้ว กฎแห่งเหตุและผลจะเข้าควบคุม ซึ่งก่อให้เกิดผลลัพธ์ตามมา

ข้อสรุป

ระบบความเชื่อทั้งสองยอมรับว่าพวกเราทุกคนต่างมีเจตจำนงเสรีในการเลือกว่าเราจะประพฤติตัวอย่างไร  ทุกคนมีความสามารถในการกระทำตัวเลือกที่ถูกต้อง ซึ่งจะนำไปสู่ทางออกของปัญหาต่าง ๆ ที่จะสร้างประโยชน์ได้มากที่สุดในระยะยาว  นี่เป็นเพราะว่าทุกคนมีสติปัญญาพื้นฐานของมนุษย์ในการแยกแยะอย่างมีเหตุผลว่าสิ่งใดเป็นประโยชน์และสิ่งใดเป็นอันตราย  จุดนี้ไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะทำการตัดสินใจที่ดีที่สุดเสมอไป  จุดนี้เพียงแต่หมายความว่า ทุกคนมีความสามารถทางจิตใจที่ทำให้เราทำการตัดสินใจอย่างมีสติปัญญาได้  อย่างไรก็ตาม เมื่อได้เลือกแล้วและการกระทำตามการเลือกนี้ลงไปแล้ว ผลลัพธ์เชิงเหตุผลก็จะตามมา

ความรับผิดชอบต่อการเลือกที่กระทำ

ศาสนาอิสลาม

เมื่อใดก็ตามที่ผู้หญิงตั้งครรภ์ พระเจ้าทรงส่งเทวดามาพ่นลมหายใจของพระจิตของพระองค์เข้าไปในร่างเด็กน้อยในครรภ์ของมารดา  ชาวมุสลิมส่วนใหญ่เชื่อมั่นว่าเมื่อพระจิตเข้าไปรวมกับร่างกายแล้วจะเรียกว่า “วิญญาณ”  วิญญาณเป็นหน่วยที่ใช้สติปัญญาเพื่อทำการเลือก ดังนั้นจึงเป็นสิ่งที่รับผิดชอบการเลือกที่เรากระทำ

พระพุทธศาสนา

พระพุทธศาสนาไม่ได้กล่าวถึงวิญญาณที่ดำรงอยู่โดยไม่ได้พึ่งพาอาศัยสิ่งใด แต่ก็ไม่ได้บอกว่าพวกเราไม่ได้ดำรงอยู่ในฐานะปัจเจกบุคคลและไม่มีความรับผิดชอบสำหรับการเลือกของเรา  การที่เราพูดว่า “ฉันเลือกแล้ว” นั้นเป็นเพียงเรื่องโดยสมมติเท่านั้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกต้อง  มันไม่ใช่ว่ามีผู้อื่นทำการเลือกนั้น หรือไม่มีผู้ใดทำการเลือกเลย  อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ของการเลือกของเรานั้นไม่ได้เกิดขึ้นโดยมี “ตัวฉัน” นั่งอยู่ในหัวเราของเรากระทำการนั้นโดยไม่พึ่งพาอาศัยสิ่งใดเลย เหมือนกับการนั่งดูเมนูที่มีรายการต่าง ๆ ที่กำหนดไว้แล้วสำหรับตัวเลือก แล้วก็เลือกอย่างหนึ่งโดยใช้การตระหนักรู้ที่แยกแยะเป็นเครื่องมือ  ในสถานการณ์ใด ๆ ก็ตาม ผู้กระทำการตัดสินใจ ตัวเลือก และการตัดสินใจนั้นมีความพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน ไม่ได้เป็นสิ่งที่ดำรงอยู่โดยไม่ได้พึ่งพาอาศัยสิ่งสิ่งอื่นใดๆ  สิ่งเหล่านี้ไม่เพียงแต่มีความพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันแล้ว กล่าวคือเราไม่อาจกระทำการตัดสินใจได้หากไม่มีตัวเลือกในการตัดสินใจและไม่มีการตัดสินใจ แต่ทั้งสามสิ่งนี้ยังพึ่งพาอาศัยกับเหตุและสถานการณ์ต่าง ๆ อีกนับไม่ถ้วนด้วย

ข้อสรุป

ทั้งสองระบบเห็นด้วยว่าเรา ในฐานะปัจเจกบุคคล กระทำการเลือกสำหรับตัวเราเอง และดังนั้นเราจึงเป็นผู้รับผิดชอบต่อการเลือกที่เรากระทำ  ดังนั้นจึงขึ้นอยู่ที่เราจะดำเนินการเพื่อรับมือกับปัญหาระดับโลกอย่างเช่นการเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อม

ปัจจัยนอกเหนือจากสติปัญญาที่ส่งผลต่อการเลือก

ศาสนาอิสลาม

พระเจ้าทรงสร้างมนุษยชาติขึ้นพร้อมกับความเป็นเลิศในตัวพวกเขา และความรักของพระเจ้าสำหรับมนุษยชาติคือความรู้สึกใกล้ชิดกับความเป็นเลิศทั้งหมดที่พระเจ้าทรงสร้างขึ้น  ในทางกลับกัน ความรักของมนุษย์ต่อพระเจ้าจึงเป็นการโหยหาการบรรลุความสมบูรณ์แบบที่ตนเองขาดและต้องการ  การโหยหานี้แสดงออกมาในลักษณะการบูชาพระเจ้าอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นการบำรุงดูแลและแสดงออกถึงความเป็นเลิศที่พระเจ้าทรงสร้างขึ้นในตัวเรา ผ่านลักษณะนิสัยของเราและการรับใช้สรรพสิ่งที่พระเจ้าทรงสร้างขึ้น  การกระทำเช่นนี้เป็นการแสดงออกถึงความศรัทธาของเราและการยอมจำนนต่อเจตจำนงของพระเจ้า  เรายอมจำนนต่อเจตจำนงของพระเจ้าโดยการปฏิบัติตามกฎต่าง ๆ ที่พระเจ้าทรงบัญญัติ ซึ่งจะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่สมควรเมื่อเชื่อฟังหรือละเมิดแล้ว ตามเจตจำนงของพระเจ้า

นอกจากนี้พระเจ้ายังทรงสร้างมนุษยชาติพร้อมกับหัวใจ ซึ่งเป็นความสามารถในการรู้สึกถึงอารมณ์ต่าง ๆ ทั้งอารมณ์เชิงบวกและลบ  หัวใจนี้อาจได้รับการเติมเต็มด้วยความเคลือบแคลงในพระเจ้า ซึ่งทำให้หัวใจนั้นมืดมัวมองไม่เห็น หรือหัวใจนี้อาจได้รับความแข็งแกร่งและเติมเต็มด้วยศรัทธา  บนพื้นฐานของเจตจำนงเสรีของสติปัญญาแล้ว หากหัวใจของเราจึงได้รับการผลักดันโดยอารมณ์เชิงลบ ซึ่งเกิดขึ้นจากการไม่เชื่อฟังเจตจำนงของพระเจ้า แล้ววิญญาณของเราก็จะตกอยู่ใต้อารมณ์เหล่านี้เช่นกัน  ดังนั้นหากเราเอาตัวเองเป็นที่ตั้ง เราก็จะปฏิบัติตามเจตจำนงของตัวเราเอง ซึ่งถูกควบคุมโดยความสำคัญของตนเอง ความเห็นแก่ตัว และอารมณ์เชิงลบเหล่านี้เป็นหลัก แทนที่จะเป็นการปฏิบัติตามเจตจำนงของพระเจ้า  การตัดสินใจที่เรากระทำด้วยสติปัญญาจึงสามารถตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเห็นแก่ตัว เจตจำนงของตนเองที่มองตื้น ๆ หรือจะตั้งอยู่บนการยอมจำนนต่อเจตจำนงของพระเจ้า โดยการรับใช้สรรพสิ่งที่พระเจ้าทรงสร้างขึ้นด้วยลักษณะนิสัยที่มีความเป็นเลิศ

พระพุทธศาสนา

เมื่อไม่มีจุดเริ่มต้น ความต่อเนื่องทางจิตใจของเราย่อมมีทั้งอารมณ์เชิงบวกและเชิงลบ เช่น ความเป็นห่วงเป็นใยผู้อื่น ความรัก ความเห็นอกเห็นใจ ความเอื้ออาทร และความอดทนในด้านหนึ่ง  และส่วนอีกด้านหนึ่งก็มีการเอาตัวเองเป็นที่ตั้ง ความเห็นแก่ตัว ความโลภ การยึดติด และความไร้เดียงสา  ตัวเลือกที่เรากระทำด้วยการตระหนักรู้ที่แยกแยะเกิดขึ้นโดยพึ่งพาอาศัยกับความแข็งแกร่งตามสัดส่วนของอารมณ์ทั้งหลายเหล่านี้  ยิ่งไปกว่านั้น ความแข็งแกร่งตามสัดส่วนดังกล่าวนี้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ภายในและภายนอกอีกมากมายตลอดเวลา กล่าวคือ สิ่งที่ผู้อื่นทำและพูด คุณค่าทางสังคม ความกดดันทางเศรษฐกิจ รวมถึงสุขภาพ การศึกษา ระดับความเครียด และระดับความยุ่งของเรา เป็นต้น  ดังนั้นการตัดสินใจที่เรากระทำจึงเกิดขึ้นโดยพึ่งพาอาศัยกับปัจจัยหลายประการมาก

ข้อสรุป

ระบบความเชื่อทั้งสองเห็นชอบว่าหากสติปัญญาของเราตกอยู่ใต้อิทธิพลของอารมณ์เชิงลบต่าง ๆ เช่น ความเห็นแก่ตัวและความโลภ เราจะกระทำการตัดสินใจด้วยความไร้เดียงสาและขาดเหตุผลเกี่ยวกับวิธีการรับมือกับปัญหาต่าง ๆ ระดับโลก  ในทางกลับกัน หากสติปัญญาของเราตกอยู่ใต้อิทธิพลของความเป็นห่วงอย่างมีความเห็นอกเห็นใจสำหรับทั้งโลก การตัดสินใจที่จะกระทำย่อมมีเหตุผล มีความชาญฉลาด และมีประโยชน์ในระยะยาว

การรับแรงจูงใจเพื่อรับมือกับปัญหาระดับโลก

ศาสนาอิสลาม

เมื่อเราพัฒนาความรักสำหรับทั้งโลกและมนุษยชาติในทางที่บริสุทธิ์ที่สุด ความรักของเราจึงไม่ใช่ความรักสำหรับโลกนี้ หรือมนุษยชาติในตัวของมันเอง แต่เป็นความรักสำหรับพระเจ้า ผู้สร้างความเป็นเลิศในตัวเรา  ความเป็นห่วงเป็นใยของเราต่อสภาพแวดล้อมของโลกจึงเป็นรูปแบบของการบูชาพระเจ้าผ่านการรับใช้สรรพสิ่งที่พระเจ้าทรงสร้างขึ้น

พระพุทธศาสนา

ความเป็นห่วงเป็นใยสำหรับความอยู่ดีมีสุขของสรรพสิ่งทั้งปวงนั้นตั้งอยู่บนรากฐานของการมองว่าทุกคนมีความเท่าเทียมกัน ในการอยากมีความสุข ไม่อยากมีปัญหาและมีความทุกข์  นอกจากนั้น เราทุกคนล้วนพึ่งพากันและกัน และพึ่งพาสิ่งแวดล้อมระดับโลกที่เราอยู่  สิ่งที่เราทำส่งผลต่อสุขภาวะของทุกคนในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง และสิ่งที่ผู้อื่นทำก็ส่งผลต่อสุขภาวะของเราเช่นกัน  ดังนั้นความรักจึงเป็นความปรารถนาอยากให้ทุกคนมีความสุขและมีเหตุสำหรับความสุข และด้วยความรักนี้ เราจึงใช้แนวทางปฏิบัติต่าง ๆ เพื่อสร้างความสุขนั้นให้กับทุกคน

ข้อสรุป

ทั้งพระพุทธศาสนาและศาสนาอิสลามต่างสอนให้ผู้คนมีความห่วงใยต่อความอยู่ดีมีสุขของผู้อื่นทุกคน  ทั้งสองศาสนาเน้นย้ำความจำเป็นของความรักอันเป็นสากลและการนำความรักดังกล่าวไปใช้ในการกระทำเพื่อผู้อื่น

บทสรุป

ไม่ว่าผู้คนจะได้รับแรงจูงใจเพื่อรับมือกับปัญหาระดับโลกอย่างไร ประเด็นที่สำคัญคือทุกคนต่างต้องทำงานร่วมกัน เพื่อนำไปสู่ประโยชน์สำหรับโลก  ทั้งพระพุทธศาสนาและศาสนาอิสลามต่างเห็นชอบอย่างเต็มที่ถึงความสำคัญของความพยายามร่วมกันในลักษณะนี้

Top