การค้นหาความสงบภายในและความสุข

Study buddhism universal values 02

ความสำคัญของการสืบค้นหาความจริงของสถานการณ์

ความสงบภายในเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับใจที่สงบ ประสบการณ์ทางกายภาพไม่อาจวัดได้ถึงใจที่สงบ เมื่อใจเราสงบแล้ว ภาวะทางกายภาพก็ไม่สำคัญมากนัก

ขณะนี้ เราจะเกิดความสงบภายในได้เพราะจากการสวดภาวนาได้ไหม คงจะไม่ใช่เสียทีเดียว หรือว่าจากการฝึกฝนทางกาย ก็ไม่ใช่ หรือว่าจากการมีความรู้  ก็ไม่ใช่อีก หรือว่าทำเป็นไม่รู้สึกอะไร  ก็ไม่ใช่อีกเหมือนกัน ถ้าเราประสบกับสถานการณ์ที่ยากลำบาก แต่เกิดสติทั่วพร้อม รู้ถึงประโยชน์และโทษของการกระทำและผลแห่งการกระทำนั้น เเม้เมื่อเผชิญเหตุการณ์นั้น แต่ใจเราไม่หวั่นไหวหรือสะทกสะท้าน นั่นคือความสงบภายในที่แท้จริง

ความกรุณาและการเข้าใจสิ่งต่างๆตามความเป็นจริงสำคัญอย่างมาก เราเกิดความกลัวอย่างมากถึงผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นอย่างไม่คาดคิด เป็นเพราะว่าเราไม่เข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง จริงๆแล้วเราไม่ได้เห็นผลทั้งหมด จึงขาดสติและการเข้าใจอย่างถ่องแท้ เราเกิดความกลัว เพราะขาดการสำรวจตรวจสอบที่ดีพอ เราต้องมองทั้งหมดสี่ด้าน ทั้งข้างบนและล่างเพื่อเห็นภาพรวมทั้งหมด มีช่องว่างตรงกลางระหว่างความจริงกับโลกปรากฏการณ์อยู่เสมอ ดังนั้นเราจึงต้องสำรวจตรวจตราในทุกๆทาง

แค่เพียงมองสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เราไม่อาจทราบได้เลยว่าสิ่งที่เราเห็นนั้นจะดีหรือไม่ดี แต่เมื่อเรา [สำรวจตรวจสอบโดยถี่ถ้วนแล้ว] ก็จะรู้ถึงความจริงบางอย่างได้ ขอเพียงแต่เราประเมินสถานการณ์ออกว่ามันดีหรือไม่ดี เราก็จะประเมินสถานการณ์นั้นได้อย่างสมเหตุสมผล แต่ถ้าหากเราสำรวจตรวจสอบเพราะความอยากหรือมีความต้องการ “ฉันอยากได้ผลแบบนี้หรือแบบนั้น” การสำรวจตรวจสอบของเรามีอคติแฝงอยู่ มีคำพูดชองพุทธศาสนาแบบอินเดียในช่วงสมัยนาลันทาที่ว่า เราต้องมีความสงสัยอยู่เสมอ แล้วสำรวจตรวจสอบอย่างเป็นกลางในทุกเรื่อง รวมทั้งศาสนาด้วย

ความสำคัญของการเปิดใจให้ผู้อื่น

เมื่อคนขาดความสงบทางใจและความความสุขในชีวิต  เขาเหล่านั้นจึงแสดงออกมาแบบเอาตนเองเป็นศูนย์กลางอย่างมาก เราในฐานะปัจเจกชนมีสิทธิ์กันทั่วหน้าที่เอาชนะความทุกข์ และเข้าถึงความสุขได้ แต่หากเราคิดแต่ตนเอง จิตใจของเราก็อยู่ในสภาพติดลบ ปัญหาที่เล็กน้อยก็มองเป็นใหญ่ เราจึงเสียดุลย์พิจารณา แต่หากเราคิดถึงผู้อื่นและเอ็นดูรักใคร่พวกเขาเหมือนกับตนเองแล้ว ใจเราก็จะเปิดกว้างออกไป ปัญหาที่ดูจะร้ายแรงก็อาจไม่เป็นไปตามนั้น มีความแตกต่างเป็นอย่างมากทางอารมณ์ในการมองเห็นสิ่งต่างๆ ทั้งจากมุมมองของตนและของผู้อื่น

ดังนั้น ใจจะสงบได้นั้นเพราะมีองค์ประกอบที่สำคัญสองข้อด้วยกัน ข้อแรกคือ การมองเห็นความจริง ได้แก่การเห็นหรือเข้าใจสิ่งต่างๆตามความเป็นจริง หากเราเห็นตามความเป็นจริง ผลที่ไม่คากคิดก็จะไม่เกิด ข้อสองคือความกรุณา ที่ช่วยเปิดประตูใจให้กว้างออกไป ความกลัวและความลังเลสงสัยปิดกั้นเราออกจากผู้อื่น

ไม่กังวลต่อภาพลักษณ์ภายนอก 

[มีอีกข้อหนึ่งที่เราใจเรามักไม่สงบ เพราะวิตกกังวลกับสิ่งภายนอก] เมื่ออาตมาเดินทางไปเมืองปักกิ่งเป็นครั้งแรก อาตมายังไม่มีประสบการณ์ อาตมาค่อนข้างกลุ้มกังวล แต่อาตมาแลเห็นบางคนที่กังวลต่อสิ่งภายนอก ใบหน้าคนเหล่านั้นจะแดงกํ่าเมื่อมีอะไรผิดพลาดไป แต่ถ้าหากพวกเขามีใจที่เปิดกว้างเสียแล้ว ไม่กังวลต่ออะไร ถ้าจะมีอะไรผิดพลาด ก็ไม่เป็นปัญหาอะไร 

ขอยกตัวอย่างอีกหนึ่งตัวอย่าง ในปี 1954 ขณะนั้นอาตมาประทับที่นครปักกิ่ง ท่านเอกอัครราชฑูตอินเดียได้เข้าเฝ้าอาตมาในห้องที่ประทับ รัฐบาลจีนได้ตระเตรียมงานอย่างเอิกเกริก มีดอกไม้ ผลไม้และสิ่งอื่นๆ ทางการจีนยืนยันต้องมีล่ามแปลเป็นภาษาจีนด้วย การพูดคุยครั้งนั้นต้องแปลจากภาษาธิเบตเป็นภาษาจีนแล้วถึงมาเป็นภาษาอังกฤษ แม้ว่าคนของอาตมาจะรู้ภาษาอังกฤษก็ตาม ในครั้งนั้น ตระกร้าผลไม้ตกลงบนพื้น ทำให้ผลไม้ร่วงกระจายบนพื้นเต็มไปหมด เจ้าหน้าที่ทางการจีนมีมาด ดูสงวนท่าที เป็นทางการมากๆก้มลงไปเก็บผลไม้ที่ร่วงบนพื้น ถ้าเจ้าหน้าที่จีนเหล่านั้นไม่คำนึงถึงภาพพจน์ภายนอกเสียแล้ว ก็จะไม่มีปัญหาอะไร แต่สถานการณ์และเหตุการณ์กลับทำให้พวกเขาขายหน้า

มีครั้งนึง ที่เมืองเม็กซิโกซิตี้ ในการประชุมเรื่องศาสนสัมพันธ์ มีพระญี่ปุ่นรูปหนึ่ง ท่านนับลูกประคำที่อยู่ในมือ แต่ว่าเชือกที่รอยประคำมันขาด แต่ท่านก็ยังคงนับลูกประคำที่อยู่ในมืออยู่ แม้ว่าลูกประคำจะร่วงหล่นบนพื้นเต็มไปหมด ท่านคงอาย ไม่กล้าก้มลงไปเก็บลูกประคำนั้น ท่านคงอึดอัดไม่สบายใจ   เพราะต้องรักษาหน้าหรือภาพลักษณ์ภายนอกของตนเอาไว้
อย่างไรก็ตาม ความกรุณา ความเอื้อเฟือเผือแผ่ สัจจะความจริงใจ และความซื่อสัตย์เป็นคุณสมบัติที่สำคัญมาก ช่วยให้ใจสงบ ไม่ต้องกังวลกับภาพภายนอก อาตมาไม่เคยตรัสว่าตนเองเป็นคนพิเศษ แต่จากประสบการณ์ส่วนตนที่ผ่านมา อาตมาไม่เคยวิตกกังวลเมื่ออยู่ต่อหน้าผู้อื่นเลย อาตาพูดบรรยายต่อหน้าผู้คนเป็นพันๆคน แต่อาตมารู้สึกเหมือนกับว่าพูดต่อหน้าคนสองสามคนอย่างนั้น ถ้ามีบางครั้งที่ผิดพลาด อาตมาก็ลืมมันไปเสีย ไม่มีปัญหาอะไร หากคนอื่นทำผิดพลาดแล้ว อาตมาก็เพียงแต่หัวเราะเท่านั้น

ความเปลี่ยนแปลงภายใน

ความเปลี่ยนแปลงภายในเป็นเรื่องของภาวะอารมณ์ ซึ่งมักเกิดขึ้นเปลี่ยนแปลงตามอายุขัย หรือไม่ก็เพราะปัจจัยภายนอก ภาวะเปลี่ยนแปลงภายในนี้เกิดขึ้นโดยตามธรรมชาติ การเปลี่ยนแปลงภายในแบบอื่นนั้นเกิดขึ้นได้ แต่ต้องใช้ความอุตสาหะพยายาม ข้อนี้สำคัญมากที่เราจะต้องทำให้เกิดขึ้นให้ได้ นั้นคือการเปลี่ยนแปลงภายในอันเกิดจากการตั้งจิตอธิษฐาน นับว่ามีความสำคัญมาก

ในที่นี้ เราไม่ได้พูดถึงเรื่องโลกหน้า นิพพาน หรือสวรรค์ แต่จะพูดถึงการมีชีวิตที่มีความสุขและความสงบได้อย่างไร ในท่ามกลางปัญหาและความยากลำบากมากหมาย สำหรับข้อนี้ เราคงต้องจัดการกับเจ้าตัวความโกรธ ความเกลียด ความอิจฉาริษยา ความลังเลสงสัย ความโดดเดี่ยว ความเครียดและอื่นๆ ทั้งหมดที่กล่าวมานี้เกี่ยวข้องกับเรื่องทางจิตใจ เกิดขึ้นได้เพราะเราเอาตนเองเป็นศูนย์กลาง ตัวตนสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด และมีความอิจฉาริษยาตามมา เมื่อเราหล่อเลี้ยงตัวตนแบบนี้แล้ว พอมีเรื่องหงุดหงิดเล็กๆน้อยๆ ก็จะพาลโกรธ และไอ้เจ้าตัวความโกรธนี้ทำให้เราเกิดความกลัว เราไม่สนใจคนอื่น สนใจแต่ตนเองเท่านั้น และก็คิดไปว่าคนอื่นสนใจตัวเองไม่มาสนใจเราเลย เพราะคิดอย่างนี้ เราจึงรู้สึกโดดเดี่ยวอ้างว้าง เราคิดว่า “ฉันไว้ใจคนอื่นไม่ได้เลย”  จึงเกิดความสงสัยไม่ไว้ใจผู้คนที่อยู่ข้างหน้า ข้างๆหรือแม้แต่ข้างหลัง

ธรรมชาติของมนุษย์โดยพื้นฐานแล้ว ชอบคนที่ให้ความเป็นกันเอง หากเราหยิบยื่นมิตรภาพให้ คนส่วนมากจะเกิดความรู้สึกที่ดี สำหรับคนอารมณ์เสีย เขาก็จะเกิดความวิตกกังวลและอื่นๆที่จะตามมา เราต้องหาวิธีจัดการกับเจ้าสิ่งเหล่านี้ เช่นถ้าเรารู้สึกอากาศร้อนมาก ก็ต้องลดอุณหภูมิให้มันเย็นลง หรือหากว่าห้องมืดไป ก็ต้องเปิดไฟเสีย นี้คือข้อเท็จจริงทางกายภาพ การเปลี่ยนแปลงจะมีได้ก็ต้องทำให้มันตรงกันข้าม เป็นเรื่องจริงตามธรรมชาติ ไม่ใช่แค่เรื่องทางกายภาพเท่านั้นแต่รวมทั้งเรื่องทางจิตใจด้วย เพราะฉะนั้นเราสมควรต้องเปลี่ยนทัศนคติหรือความคิดให้เป็นตรงกันข้ามเสีย [เช่นจะต่อต้านตัวกูของกูหรือความลังเลสงสัยได้ ก็ต้องให้ความใส่ใจห่วงใยผู้อื่น และให้ความเป็นกันเองกับผู้อื่น]

ลองมาดูตัวอย่างอีกหนึ่งต้วอย่าง เกี่ยวกับดอกไม้สีเหลือง หากมีอะไรบ้างอย่างทำให้อาตมาพูดว่า “ดอกไม้นี้สีขาว” แต่หลังจากนั้นกลับไปเห็นว่ามันเป็นสีเหลือง  มีสองทัศนะที่ต่างกัน และทัศนะสองทัศนะที่ต่างกันนี้จะเป็นจริงทั้งสองอย่างไม่ได้ในเวลาขณะเดียวกัน เมื่อทันทีทันใดที่เรารับรู้ว่าดอกไม้เป็นสีเหลือง การที่เราเห็นว่ามันเป็นสีขาวก็อันตรธานหายไปทันที สีทั้งสองสีมันต่างกัน ฉันใดก็ฉันนั้นวิธีการที่จะเกิดความเปลี่ยนแปลงภายในได้นั้น จะต้องสร้างภาวะจิตใจที่ตรง กันข้ามให้เกิดขึ้นมาใหม่

มีเหตุหนึ่งที่เราจะทำได้ยากนั้น คือ เจ้าตัวอวิชชาหรือความไม่รู้ การที่กำจัดอวิชชาได้นั้นต้องมีวิชาหรือมีความรู้ที่ได้จากการวิเคราะห์และสืบค้น เพราะอวิชชาเกิดจากเราไม่เห็นตามความเป็นจริง การเห็นความจริงต้องมาจากวิเคราะห์ เช่นเดียวกันนี้ ตัวกูของกูที่ถูกหล่อเลี้ยงประคบประหงมนั้น จะถูกกำจัดหมดไปได้ก็ด้วยพลังที่ตรงกันข้าม นั้นก็คือการคำนึงห่วงใยผู้อื่น ข้อนี้คือเรื่องของการฝึกจิต [ในการชำระล้างทัศนคติเดิมๆให้หมดสิ้นไป] 

จริยธรรมในโลกสมัยใหม่

วิธีการฝึกจิตทำได้อย่างไรนั้น [หรือการชำระล้างทัศนคติเดิมๆให้หมดไป] คือคำถามที่ว่าวิธีการนี้เกี่ยวกับศาสนาหรือจิตวิญญานหรือไม่นั้น อาตมาเห็นว่าโดยพื้นฐานแล้วไม่เกี่ยวกับศาสนาแต่อย่างใดเลย 

เมื่อพูดถึงเรื่องจิตวิญญาณ มันมีอยู่สองแบบด้วยกัน คือ เป็นเรื่องของศาสนาและศรัทธา และอีกแบบหนึ่งที่ไม่เกี่ยวกับศาสนาและความเชื่อเลย ข้อที่ไม่เกี่ยวข้องนั้นอาตมาขอใช้ว่า จริยธรรมแบบโลกสมัยใหม่  Secular ที่มีความหมายว่าในโลกนี้หรือแบบโลกๆ ความหมายเดิมนี้ไม่ได้ปฏิเสธศาสนาแต่อย่างใดเลย ตรงกันข้าม กลับมีทัศนคติต่อศาสนาทุกศาสนาอย่างเท่าเทียมกันหรือเหมือนกันหมด มีความเคราพในศาสนาทุกศาสนา อาตมาขอยกตัวอย่าง รัฐธรรมนูญของอินเดียที่มีความเคราพศาสนาทุกศาสนา บัญญัติศาสนาทุกศาสนาเท่าเทียมกัน รัฐธรรมนูญนี้เป็นรัฐธรรมนูญทางโลก ดังนั้นถึงแม้ชุมชนที่นับถือศาสนาฟาร์ซี หรือศาสนาโซโรอัสเตอร์ในอินเดียจะเป็นชุมชนเล็กๆ  -มีศาสนิกชนไม่มาก ประมาณแค่แสนกว่าคน เมื่อเทียบกับประชากรกว่าพันล้านคนในอินเดีย - พวกเขาเหล่านั้นก็มีสถานะเท่าเทียมกันกับคนอื่นทั้งทางด้านการทหารและการเมือง 

เมื่อเราพูดถึงเรื่องจริยธรรมทางโลก จริยธรรมนี้ต้องหมายรวมถึงจริยธรรมสำหรับคนที่ไม่มีศาสนาด้วย และขยายความหมายไปถึงความเคราพในสิงสาราสัตว์ด้วย อีกทั้งยังมีความหมายถึงการใส่ใจดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อม ดังนั้น ในทางโลกแล้ว เราจักต้องบ่มเพาะจิตใจของตน เราต้องรักษาคุณค่าจริยรรมทางโลกนี้ให้ดำรงอยู่ ประชากรโลกหกพันล้านคนต้องสร้างคุณค่าเหล่านี้ให้บังเกิดขึ้น ระบบกฎเกณฑ์ศาสนามีส่วนร่วมช่วยเรื่องการปลูกฝังคุณค่าความเป็นสากลนี้ และทำให้จริยธรรมทางโลกนี้เติบโตเข้มแข็งยิ่งขึ้น - ศาสนาต้องเป็นตัวช่วยให้เกิดความมั่นคงในทางจริยธรรมทางโลก มิใช่พยายามไปลดคุณค่านั้นให้ลดน้อยลงไป

สรุปแล้ว เมื่อเราพูดถึงจริยธรรมทางโลกแล้ว นั่นหมายถึงว่าเรามีความคิดที่ไม่ฝักใฝ่ลัทธิใดหรือศาสนาใดศาสนาหนึ่ง และถ้าหากบุคคลที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติตามคำสอนของศาสนาตนได้ช่วยกันส่งเสริมคุณค่า ของจริยธรรมทางโลกแล้วไซร้ ก็ถือได้ว่าบุคคลเหล่านั้นเป็นผู้ปฏิบัติศาสนาที่แท้จริง แต่ถ้าเราไม่ทำเสียแล้ว แม้ว่าพวกเขาจะเข้าโบสถ์ฟังธรรม หรือไปมัสยิดหรือสุเหร่ายิว อาตมาก็สงสัยว่าตัวท่านเองเป็นผู้ปฏิบัติศาสนาของตนอย่างแท้จริงหรือไม่

Top