จากความจริงสองประการสู่ความจริงสี่ประการ

ฝึกตนสู่เป้าหมายแห่งจิตวิญญาณ

มีวิธีสองทางสำหรับการฝึกฝนตนเองสู่เป้าหมายทางจิตวิญญาณ

  • การฝึกฝนบนรากฐานของความศรัทธา – เรามีศรัทธาว่าเราสามารถบรรลุเป้าหมายนั้นได้  จากรากฐานของความศรัทธานี้ คุณจึงฝึกตนไปสู่เป้าหมายนั้น และเมื่อคุณก้าวหน้าไปเรื่อย ๆ ในการฝึกฝนนี้ คุณจะเชื่อมั่นในที่สุดว่าสามารถบรรลุเป้าหมายนั้นได้จริง  ยกตัวอย่างเช่น หากเป้าหมายของคุณคือการเอาชนะและกำจัดทุกข์อย่างถาวร และคุณมีศรัทธาว่าสามารถทำเช่นนี้ได้จริง หากคุณพบกับอุปสรรคในความก้าวหน้าระหว่างฝึกฝน คุณย่อมเชื่อมั่นว่าสามารถบรรลุเป้าหมายของคุณได้จริง  ในระหว่างความก้าวหน้านี้ คุณศึกษาและเจริญสมาธิเพิ่มขึ้น และจากการปฏิบัติเช่นนี้คุณจึงเชื่อมั่นในเชิงตรรกะว่าสามารถบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้อย่างแท้จริง
  • การฝึกฝนบนรากฐานของความเชื่อมั่น ในขั้นแรกคุณเชื่อมั่นจากหลักการทางเหตุและผลก่อนว่าสามารถบรรลุเป้าหมายนั้นได้จริง และจากนั้นจึงฝึกตนไปสู่เป้าหมายดังกล่าว

แนวทางทั้งสองแบบนี้มักได้รับการกล่าวถึงในลักษณะวิธีการสองประเภทสำหรับการสร้างโพธิจิต หากเราต้องการเรียบเรียงตามสูตรดั้งเดิมทางพระพุทธศาสนา

ขั้นแรก เราสร้างโพธิจิตสัมพัทธ์ โดยมุ่งเป้าไปยังการตรัสรู้ในอนาคตของเราเอง ซึ่งยังไม่เกิดขึ้น แต่สามารถเกิดขึ้นได้  เราต้องการทำเช่นนี้เพื่อสร้างประโยชน์ให้กับทุกคน เพราะเราเห็นแล้วว่า วิธีเดียวที่เราจะสามารถช่วยเหลือผู้อื่นได้จริง ๆ ก็คือการบรรลุสภาวะดังกล่าวนี้ ซึ่งเรามีความเข้าใจเหตุและผลอย่างสมบูรณ์ถ่องแท้ กอปรกับวิธีการต่าง ๆ ที่มีประสิทธิภาพในการช่วยเหลือผู้อื่น  นอกจากนี้ เรามีศรัทธาว่าสามารถบรรลุสิ่งนี้ได้

เมื่อเราฝึกฝนก้าวหน้าไปไกลขึ้นเรื่อย ๆ เราสร้างสิ่งที่เรียกว่า โพธิจิตลุ่มลึกสูงสุด ซึ่งหมายถึงความเข้าใจในเรื่องสุญญตา (ความว่างเปล่า) อันหมายถึงความจริงประการที่ว่าสิ่งต่าง ๆ ไม่ได้ดำรงอยู่ในลักษณะที่เป็นไปไม่ได้  เราเข้าใจความเป็นจริง และเห็นว่าธรรมชาติแห่งจิตมีความสามารถในการหยุดแสดงภาพมายาได้  อันที่จริงมันสามารถรับรู้ถึงความเป็นจริงได้ด้วยตัวของมันเอง  เมื่อเข้าใจดังนี้แล้ว เราจึงเชื่อมั่นในเชิงตรรกะว่าเป้าหมายดังกล่าวเป็นสิ่งที่บรรลุได้จริง  ความศรัทธาของเราจึงกลับกลายเป็นความเชื่อมั่น

แนวทางอีกแบบ คือ ให้สร้างความเข้าใจเรื่องความเป็นจริงนี้ขึ้นให้ได้ก่อน ซึ่งเราเข้าใจว่าการตรัสรู้นั้นเป็นเรื่องที่เป็นไปได้  จึงหมายถึงการสร้างโพธิจิตล้ำลึกสูงสุดก่อน  จากรากฐานนี้ เราจึงเชื่อว่าเราสามารถบรรลุการตรัสรู้ได้ และด้วยความเชื่อมั่นนี้เราจึงสามารถฝึกฝนตนเองไปสู่การบรรลุเช่นนั้นได้  แนวทางที่สองเช่นนี้สามารถพบได้ในคัมภีร์เล่มหนึ่งที่มีชื่อว่า “คำปาฐกถาว่าด้วยเรื่องโพธิจิต (A Commentary on Bodhichitta) (สันสกฤต: โพธิจิต-วิวรณ) เขียนโดยปรมาจารย์ชาวอินเดีย นามว่า ท่านนาคารชุนะ 

แนวทางดังกล่าวนี้ได้รับการนำเสนอในบทที่เราได้พิจารณาไปก่อนหน้านี้ ซึ่งว่าด้วยวิธีการที่เราได้รับอริยสัจสี่มาจากความจริงสองประการ และจากอริยสัจสี่นั้นคือรัตนตรัย  จุดประสงค์ของการนำเสนอในลักษณะนี้ก็เพื่อเป็นการช่วยเหลือให้เราเข้าใจว่าการหลุดพ้นและการตรัสรู้นั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ เพราะทั้งสองอย่างนี้ตั้งอยู่บนรากฐานของความเป็นจริง

  • การหลุดพ้น หมายถึง สภาวะของการเป็นอิสระตลอดกาลจากการเวียนว่ายตายเกิดที่ไม่อาจควบคุมได้ กล่าวคือ เป็นอิสระอย่างสมบูรณ์จากสังสารวัฏ เพื่อให้เราพ้นทุกข์อย่างสมบูรณ์ถาวร  ผู้ที่บรรลุการหลุดพ้นแล้วเรียกว่า “อรหันต์”  หมายถึง ผู้ที่ได้หลุดพ้นแล้ว
  • การตรัสรู้ เป็นสภาวะของการเป็นอิสระตลอดกาลจากอุปสรรคใด ๆ ที่ขัดขวางคุณจากความเข้าใจถึงวิธีการที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในการช่วยเหลือสิ่งมีชีวิตจำกัด กอปรกับการบรรลุการหลุดพ้นและการตรัสรู้  ผู้ที่ตรัสรู้แล้วเรียกว่า “พระพุทธเจ้า”

เมื่อเราเชื่อมั่นแล้วว่าสิ่งนี้ไม่เพียงแต่เป็นไปได้เท่านั้น แต่พวกเราเองก็สามารถบรรลุการหลุดพ้นและการตรัสรู้ได้เช่นกัน ไม่ใช่เพียงแต่พระศากยมุนีพุทธเจ้าเท่านั้น  ตรงนี้ให้พละกำลังและความมั่นคงอย่างมหาศาลแก่การปฏิบัติทางจิตวิญญาณของเรา  กระนั้นแล้ว สิ่งเหล่านี้ก็ไม่ได้เข้าใจได้อย่างง่ายดายนัก แต่ก็ไม่มีใครพูดว่านี่เป็นเรื่องง่ายเสียหน่อย!

ความจริงสองประการ

ในคาบแรก เราได้พูดถึงประโยคแรกที่ว่า:

เมื่อทราบความหมายของความจริงทั้งสองประการ อันเป็นรากฐาน เป็นลักษณะที่ทุกสรรพสิ่งล้วนยึดถือ

รากฐานที่สนับสนุนการอภิปรายทั้งหมดนี้ คือ การนำเสนอเรื่องความจริงสองประการ ซึ่งเกี่ยวข้องกับลักษณะที่ทุกสรรพสิ่งดำรงอยู่และทำงาน  หากกล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ ลักษณะที่ทุกสิ่งอย่างยึดถือ  ความจริงทั้งสองประการอันเกี่ยวกับทุกสิ่งอย่างนั้นเป็นเรื่องที่มีเหตุผลและดังนั้นจึงถูกต้อง:

  • ความจริงสัมพัทธ์: สิ่งต่าง ๆ เกิดขึ้นโดยเกี่ยวพันกับเหตุและเงื่อนไขต่าง ๆ  แน่นอนว่ายังมีระดับอื่นที่สิ่งต่าง ๆ ล้วนเกี่ยวพันอยู่อีก เช่น บทบาทของมันและแนวคิดเชิงมโนทัศน์ที่ใช้เรียกสิ่งเหล่านั้น  สำหรับตรงนี้ประเด็นหลักคือ เหตุและผลในเชิงประสบการณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในลักษณะของประสบการณ์ความสุขและความทุกข์ของเราอันเกี่ยวข้องกับแรงผลักดันทางกรรม
  • ความจริงล้ำลึกสูงสุด: แม้ว่าสำหรับเราแล้ว สิ่งต่าง ๆ อาจดูราวกับว่ามันไม่ได้อุบัติขึ้นโดยเกี่ยวข้องร้อยพันกัน กระนั้นแล้ว รูปลักษณ์ที่บิดเบือนของวิธีการดำรงอยู่ที่เป็นไปไม่ได้เหล่านี้ก็ไม่ได้สอดคล้องกับความเป็นจริง  ความเป็นจริงโดยแท้ที่สอดคล้องกับการสร้างภาพของเรา คือ ความไร้อย่างสมบูรณ์  ความไร้อย่างสมบูรณ์ของสิ่งต่าง ๆ ที่ดำรงอยู่ด้วยตัวของมันเองอย่างสิ้นเชิง ไม่เกี่ยวข้องกับเหตุและเงื่อนไขต่าง ๆ ซึ่งเรียกว่า “สุญญตา” หรือ “ความว่างเปล่า”

The Four Noble Truths

อริยสัจสี่ (ความจริงสี่ประการ)

จากรากฐานความถูกต้องของความจริงสองประการนี้ พระพุทธเจ้าทรงสามารถเข้าพระทัยและบัญญัติอริยสัจสี่  บรรทัดที่สองแสดงให้เห็นถึงเรื่องนี้: 

เราเกิดความเชื่อมั่นจากอริยสัจสี่ว่า เราล้วนก้าวเข้าสู่ แต่ก็ก้าวออกมาจากการเวียนว่ายตายเกิดที่ไม่อาจควบคุมได้นี้อยู่เสมอ

อริยสัจสี่เป็นสิ่งที่เห็นชอบแล้วว่าเป็นเรื่องจริงจากผู้ตระหนักรู้ขั้นสูง  ประเด็นนี้น่าสนใจ เพราะตรงนี้หมายความว่า ไม่ใช่มีแต่เหล่าพระพุทธเจ้าเท่านั้นที่ทรงเห็นว่าสัจธรรมเหล่านี้เป็นเรื่องจริงแท้ แม้แต่ผู้ที่บรรลุถึงขั้นใดขั้นหนึ่งก่อนพุทธภาวะ ซึ่งจริง ๆ ยังเหลืออีกหลายขั้นมากกว่าจะถึงพุทธภาวะ ก็เห็นชอบเช่นกัน  ตรงนี้เกิดขึ้นเมื่อเรามีการรับรู้เชิงไร้มโนทัศน์เรื่องสุญญตา หรือหากกล่าวอีกทางก็คือความเป็นจริงล้ำลึกสูงสุดนั่นเอง  ความเข้าใจเช่นนี้มีความถูกต้องแม่นยำและแน่วแน่เด็ดขาดอย่างสมบูรณ์  เมื่อเป็นเชิงไร้มโนทัศน์จึงหมายความว่า เราไม่ได้รับรู้สิ่งต่าง ๆ จากการจัดแยกประเภท

เมื่อเราคิดโดยอาศัยการจัดแยกประเภท เช่นว่า “สุนัข” คุณมีสิ่งที่เป็นสื่อนำเสนอถึงสุนัข  การนำเสนอเช่นนี้อาจแตกต่างกันเล็กน้อยในรายบุคคล แต่เวลาเราเห็นสุนัขตามถนน หรือที่ใดก็ตาม เรารับรู้ถึงมันผ่านการจัดแยกประเภทนี้  จากภาพของสุนัขที่เรามีอยู่ ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นภาพที่เห็นได้จริง ๆ เราจึงร้อยต่อการรับรู้เกี่ยวกับสุนัขเข้าด้วยกัน  เวลาเรารับรู้สิ่งที่เป็นเชิงไร้มโนทัศน์ มันเป็นการรับรู้ที่ปราศจากตัวกรองของประเภทต่าง ๆ หรือสิ่งที่เป็นสื่อนำเสนอมัน  จึงเป็นเหตุผลที่เรียกว่า “การรับรู้เฉย ๆ (bare cognition)”  คุณรับรู้สิ่งต่าง ๆ โดยไม่จัดแยกมันตามกล่องประเภทต่าง ๆ

ผู้มีความตระหนักรู้ขั้นสูง หรือ อริยบุคคล ในภาษาสันสกฤตนั้น รับรู้ความเป็นจริงโดยไม่จัดแยกสิ่งต่าง ๆ ตามกล่องประเภท “ความเป็นจริง” เช่นว่า “ตอนนี้ฉันมองเห็นความเป็นจริงอยู่”  พวกเขาเข้าใจอย่างสมบูรณ์ ถูกต้องแม่นยำและแน่วแน่แท้จริงในสิ่งที่ตนเองรับรู้อยู่ นั่นคือ ความเป็นจริง โดยไม่ต้องจัดสิ่งนั้นใส่ในกล่อง หรือประเภทใด ๆ  นี่ไม่ใช่เรื่องง่าย  ถึงแม้เราจะไม่ได้กล่าวออกมาเป็นคำพูดว่าเราจัดสิ่งเหล่านั้นลงไปในกล่องใด มันก็ยังเป็นลักษณะเดิมที่เรารับรู้ทุกสิ่ง  เราจับทุกสิ่งอย่างใส่เข้าไปในกล่องทั้งหลายราวกับว่าทุกสิ่งอย่างนั้นดำรงอยู่ในกล่องด้วยตัวของมันเองเท่านั้น ไม่ได้เกี่ยวร้อยพันกับสิ่งอื่นใดเลย

ตอนนี้ไม่จำเป็นต้องอธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับการรับรู้เชิงมโนทัศน์  ประเด็นก็คือว่า คุณไม่ต้องเป็นพระพุทธเจ้าในการรับรู้ความเป็นจริงในลักษณะนี้  เมื่อเรารับรู้ความเป็นจริงในเชิงไร้มโนทัศน์ เราย่อมเห็นว่าอริยสัจสี่เป็นเรื่องถูกต้องแท้จริง และย่อมเชื่อมั่นในเรื่องนี้

ความจริงทั้งที่ประการที่ว่านี้คืออะไร  ข้อแรก คือ ทุกข์ (ทุกข์)  ข้อสอง คือ เหตุแห่งทุกข์ (สมุทัย)  ข้อสาม คือ การดับทุกข์และเหตุแห่งทุกข์ (นิโรธ) ข้อสี่ คือ หนทางหรือความเข้าใจที่จะนำเราไปสู่การดับทุกข์ (มรรค)  สิ่งเหล่านี้เรียกว่าความเป็นจริงโดยหมายถึง “ทุกข์ที่แท้จริง” “เหตุที่แท้จริง” และอื่น ๆ

การอภิปรายทั้งหมดนี้อยู่ภายใต้บริบทของการเกิดใหม่ อันหมายถึง การไร้ซึ่งจุดกำเนิดและความต่อเนื่องทางจิตที่ไม่รู้สิ้นสุด  การเกิดใหม่เป็นรากฐาน  เราได้พูดถึงการประสบสิ่งใด ๆ ทั้งหลายในชั่วขณะหนึ่งแล้ว ซึ่งหากเป็นไปตามลักษณะของเหตุและผล ย่อมปราศจากจุดกำเนิดที่แน่แท้โดยเริ่มจากการไม่มีสิ่งใด  เฉกเช่นเดียวกัน สิ่งเหล่านี้ย่อมไม่อาจมีช่วงเวลาสุดท้ายที่มันกลับกลายเปลี่ยนเป็นการไม่มีสิ่งใดแน่ ๆ  มันเป็นไปไม่ได้เลย  เพียงแค่พิจารณาจากพื้นฐานของเหตุและผล เราย่อมต้องสรุปว่าความต่อเนื่องทางจิตของแต่ละอย่างนั้นปราศจากจุดเริ่มต้นหรือจุดจบ และดังนั้นการเกิดใหม่ย่อมเป็นเรื่องจริง

ทุกข์ที่แท้จริง

ทุกข์ที่แท้จริงประกอบด้วยสามประเภทด้วยกัน:

  • ประเภทแรก คือ ความทุกข์ทั่วไป ซึ่งเราเรียกว่า ทุกข์แห่งทุกข์  พวกเราล้วนประสบกับความทุกข์ด้วยกันทั้งนั้น  ความทุกข์ไม่เหมือนกับความเจ็บปวดเสมอไป  ความสุขกับความทุกข์ และ ความอภิรมย์กับความเจ็บปวดเป็นสองชุดที่แตกต่างกัน  ความอภิรมย์กับความเจ็บปวดเป็นสัมผัสทางกาย ในขณะที่ความสุขและความทุกข์เป็นสภาวะทางจิตใจ  บางคนอาจประสบกับความเจ็บปวด แต่รู้สึกสุขใจกับสิ่งนั้น เช่น หลังจากการออกกำลังอย่างหนักหน่วง ในขณะที่บางคนอาจประสบกับความอภิรมย์ แต่รู้สึกไม่เป็นสุขกับสิ่งนั้นเอามาก ๆ เช่น เมื่อโดนบังคับมีเพศสัมพันธ์  ดังนั้นทั้งสองสิ่งนี้จึงเป็นตัวแปรที่ต่างกัน  ตรงนี้เราพูดถึงความสุขที่พวกเราทุกคนรู้จัก ซึ่งได้รับการอธิบายในลักษณะของประเภทการเกิดใหม่ที่แย่กว่าอันเต็มไปด้วยทุกข์นานาประเภท
  • ประเภทที่สองเรียกว่า ทุกข์แห่งความเปลี่ยนแปลง และหมายถึงความสุขเชิงสามัญของเรา  ปัญหาของความสุขเชิงสามัญ คือ มันไม่เคยคงอยู่ยืนยง หรือทำให้เราพึงพอใจเลย  เราต้องการเพิ่มเติมอยู่เสมอ แต่หากเราต้องการมากเกินไป เราอาจรู้สึกรำคาญใจและสิ่งนี้ก็เปลี่ยนเป็นความทุกข์แทน  ตัวอย่างง่าย ๆ คือ การทานอาหารจานโปรดของคุณมากเกินไป ซึ่งทำให้คุณรู้สึกเอียน  จากนั้นคุณก็ไม่อยากจะทานอีกแล้วและรู้สึกไม่มีความสุข  ดังนั้นปัญหาก็คือ ความสุขเชิงสามัญของเราไม่เป็นที่น่าพึงพอใจ หรือมั่นคง  ชีวิตสามัญของเรามีขึ้นมีลง  เดี๋ยวก็สุขเดี๋ยวก็ทุกข์ แต่ตรงนี้ไม่มีความมั่นคงปลอดภัยเลย  หากเป็นเรื่องของสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัวเราแล้ว เราไม่อาจรู้ได้เลยว่าเราจะรู้สึกอย่างไรในช่วงเวลาถัดไป  จู่ ๆ เราอาจรู้สึกไม่มีความสุข หรือเบื่อหน่าย หรือหดหู่  มันขึ้นลง ๆ เช่นนี้ต่อไป
  • ทุกข์ประเภทที่สามเรียกว่า ทุกข์ที่แผ่คลุ้งซ่าน และเป็นรากฐานของการประสบกับความขึ้นลงของความทุกข์และความสุขเชิงสามัญของเรา  รากฐานนี้ คือ การดำรงอยู่ หรือ การเกิดใหม่ที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกอย่างควบคุมไม่ได้ ซึ่งในภาษาสันสกฤตเรียกว่า สังสารวัฏ  เรายังคงเกิดใหม่แล้วเกิดใหม่อีกอยู่เรื่อย ๆ ด้วยประเภทของร่างกายและจิตที่เป็นรากฐานของการประสบกับความขึ้นลง หรือความสุขทุกข์เชิงสามัญของชีวิต  เช่นนี้คือทุกข์ที่แท้จริง เป็นปัญหาที่แท้จริงของเรา  นี่เป็นทุกข์ประเภทหลักที่เราจะประจักษ์ได้หากเรามองเห็นความเป็นจริง

เหตุแห่งทุกข์ที่แท้จริง

หากคุณมองเห็นความเป็นจริง คุณจะเห็นได้ว่าสัจธรรมที่เราประสบกับความขึ้นลงด้วยรากฐานที่ดำเนินต่อไปเรื่อยอย่างไร้จุดสิ้นสุดนี้เป็นเรื่องจริงเช่นกัน  เมื่อเห็นเช่นนี้แล้ว เราย่อมเข้าใจว่ามันต้องมาจากเหตุ  ประเด็นหลักของความจริงสัมพัทธ์ คือ ทุกสรรพสิ่งล้วนอุบัติขึ้นจากเหตุ  แล้วเหตุแท้จริงที่ทำให้เราก้าวเข้าสู่การเวียนว่ายตายเกิดอันไม่รู้จบสิ้นตามที่ระบุไว้ในบทนี้คืออะไรกัน  หากกล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ มันเกิดขึ้นได้ยังไง  อะไรเป็นสาเหตุสำหรับการยืดเวลาวัฏจักรซ้ำเดิมนี้ให้ดำเนินไปอย่างไม่จบสิ้น

ในคาบก่อน เราได้เห็นแล้วว่าหากเราประสบกับความทุกข์ นั่นเป็นผลลัพธ์ของพฤติกรรมเชิงโทษ และหากเราประสบกับความสุขเชิงสามัญ นั่นเป็นผลลัพธ์ของพฤติกรรมเชิงประโยชน์  ตรงนี้เราเพิ่มเรื่องกรรม ซึ่งผมมักแปลว่า แรงผลักดัน  ดังนั้นเรามีพฤติกรรมผลักดันเชิงโทษ และ พฤติกรรมผลักดันเชิงประโยชน์  ตรงนี้ไม่เหมือนกับพฤติกรรมเชิงประโยชน์ของพระพุทธเจ้า แต่เป็นพฤติกรรมที่ได้รับแรงผลักดัน ซึ่งเราถูกผลักดันให้ทำดีจากอัตตาของเรา หรือถูกผลักดันว่าเราต้องสมบูรณ์แบบและต้องทำทุกอย่างให้ถูกต้อง  เป็นสิ่งที่ชวนให้ปวดประสาทอยู่พอสมควร

หากเรากระทำในเชิงหุนหันพลันแล่น นั่นเป็นเพราะว่าเราตกอยู่ใต้อิทธิพลของอารมณ์และทัศนคติรบกวน ซึ่งเราได้อธิบายไปแล้วในเรื่องพฤติกรรมผลักดันเชิงโทษ  ด้วยโทสะเราจึงปลิดชีพผู้อื่น  ด้วยความโลภเราจึงขโมยของ  ด้วยความไร้เดียงสาเราจึงคิดว่าการกระทำของเราไม่ก่อให้เกิดผลใด ๆ ตามมา ราวกับว่า “ฉันไม่โดนจับอยู่แล้ว  ไม่เป็นไรหรอก  การลักขโมยก็น่าสนุกดีออก!”

สิ่งที่หนุนหลังพฤติกรรมผลักดันเชิงโทษเช่นนี้ คือ การขาดความตระหนักรู้ ซึ่งเป็นศัพท์ที่มักแปลว่า “อวิชชา” แต่ไม่ได้หมายความว่าเราโง่เขลา เพียงแต่เราสับสนเท่านั้น  เราขาดความตระหนักรู้เรื่องอะไรหรือ  ก่อนอื่นเราขาดความตระหนักรู้เรื่องเหตุและผล ซึ่งหากเราเข้าใจและเชื่อมั่นเรื่องนี้อย่างแท้จริงแล้ว เราย่อมไม่อาจกระทำตัวเชิงโทษได้  เราย่อมรู้ด้วยสัญชาตญาณว่า การทำเช่นนี้จะลงเอยด้วยการทำให้เกิดทุกข์แก่ตนเอง ซึ่งไม่ใช่การลงโทษ เพียงแต่เป็นผลลัพธ์ของเหตุที่เราสร้างขึ้น

จริง ๆ แล้ว การขาดความตระหนักรู้มีสองประเภท  เราไม่รู้ว่าการกระทำเชิงโทษย่อมนำไปสู่ความทุกข์ในที่สุด หรือไม่เราก็คิดในทางกลับกัน เช่นว่า “หากฉันกระทำเชิงโทษ มันจะนำความสุขมาสู่ฉัน  หากฉันลักขโมยสิ่งที่อยากได้ มันจะทำให้ฉันมีความสุข  หากฉันฆ่าศัตรูทิ้งเสีย มันจะทำให้ฉันมีความสุข”  ถึงแม้ว่าเราอาจรู้สึกเป็นสุขทันทีหลังการกระทำเชิงโทษ เช่นว่า “เย่ ฉันตบยุงตัวนั้นตายแล้ว ตอนนี้ฉันก็สบายได้สักที!”  ถึงอย่างนั้นแล้ว ผลที่เกิดขึ้นตามมาในระยะยาวคือ ความรู้สึกไม่มีความสุขไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม ซึ่งเกิดจากพฤติกรรมเชิงโทษแบบนี้นั่นเอง  ดังนั้น พฤติกรรมเชิงโทษจึงมาจากการขาดความตระหนักรู้เรื่องเหตุและผล หรืออีกนัยหนึ่งคือ การขาดความตระหนักรู้เรื่องความจริงสัมพัทธ์  ผมจะไม่เสแสร้งว่าทั้งหมดนี้เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ง่ายดาย เพราะมันไม่จริงเลย แต่นี่เป็นสิ่งที่เราฝึกฝนได้

หากเราสรุปประเด็นนี้ เหตุผลที่เรามักรู้สึกเป็นทุกข์เป็นเพราะเรายังไม่เข้าใจเรื่องเหตุและผล  เมื่อจิตของเราเต็มไปด้วยความโกรธ ความโลภ ความหลงและอื่น ๆ นั้น ย่อมนำเราไปสู่การกระทำผลักดันในลักษณะที่เป็นโทษ  จริง ๆ แล้วนี่เป็นการทำลายตนเอง เพราะผลลัพธ์ที่ได้ คือ เรารู้สึกไม่มีความสุขอยู่เป็นส่วนใหญ่  เช่นนี้คือสิ่งที่เราต้องเชื่อมโยงเข้าหากันให้ได้

ความสุขที่เราประสบนั้นก็มาจากการขาดความตระหนักรู้เช่นกัน แต่ในกรณีนี้คือการขาดความตระหนักรู้ของความจริงล้ำลึกสูงสุดของสรรพสิ่ง  หากกล่าวให้แม่นยำกว่านี้คือ เราต้องบอกว่าการขาดความตระหนักรู้รองรับทั้งพฤติกรรมเชิงประโยชน์และเชิงโทษ  สำหรับพฤติกรรมเชิงโทษ เราขาดความตระหนักรู้ทั้งความจริงล้ำลึกสูงสุดและความจริงสัมพัทธ์  สำหรับพฤติกรรมเชิงประโยชน์ เราเพียงแต่ขาดความตระหนักรู้เรื่องความจริงล้ำลึกสูงสุด  เรามีเสียงประเภทหนึ่งในหัวที่คอยบอกว่า “ฉันจะทำยังไงดี  ฉันอยากให้มันเป็นไปตามต้องการ!  ฉันกังวลจัง”  ดูเหมือนว่าจะมี “ตัวฉัน” ตัวน้อย ๆ ที่คลำพบได้จริงเป็นคนบ่นและกังวลเช่นนั้น  เมื่อเราขาดความตระหนักรู้เรื่องวิธีการดำรงอยู่ของเรา เราจึงขาดความตระหนักรู้เรื่องความเป็นจริง และเราระบุตัวตนด้วยการแสดงภาพมายาของ “ตัวฉัน” และพยายามจะสร้างความมั่นคงให้กับตัวเรา  แน่นอนว่าเราไม่อาจทำได้สำเร็จเลย

กลไกอย่างหนึ่งที่เราใช้ในการพยายามทำให้ “ตัวฉัน” น้อย ๆ ในจินตนาการมีความมั่นคงขึ้น คือ การใช้อารมณ์รบกวนของเรา  เรารู้สึกว่า “ถ้าฉันได้สิ่งนั้น ๆ มา ฉันจะต้องรู้สึกมั่นคงแน่”  เราจึงมีความโลภ ความยึดติด และความหลง  จากนั้นเรารู้สึกว่า “ถ้าฉันเอาสิ่งนั้น ๆ ออกไปจากฉันได้ ฉันจะต้องรู้สึกมั่นคงแน่” เราจึงมีความโกรธและเกลียดชัง  หรือเราอาจไร้เดียงสาและคิดว่า “ถ้าฉันทำเป็นว่าสิ่งที่คุกคามฉันอยู่นั้นไม่มีอยู่จริง ฉันจะต้องรู้สึกมั่นคงแน่”  จากรากฐานนี้เรามีพฤติกรรมเชิงโทษเช่นกัน เหมือนเวลาที่เราละเลยระดับความเครียดที่เพิ่มขึ้น  จากรากฐานความโกรธ เราจึงตะโกน ทำร้าย แม้กระทั่งเข่นฆ่าผู้อื่น  ด้วยความโลภ เราลักขโมย หรือปฏิบัติพฤติกรรมทางเพศเชิงไม่เหมาะสมที่ทำร้ายผู้อื่น  ด้วยความไร้เดียงสา เรากลายเป็นคนบ้างาน รับประทานอาหารไร้ประโยชน์ต่อสุขภาพและไม่ออกกำลังกาย  ดังนั้นทั้งหมดนี้จึงมาจากความไร้เดียงสาเกี่ยวกับความจริงล้ำลึกสูงสุด นั่นคือ วิธีการดำรงอยู่ของเรา กอปรกับเรื่องเหตุและผล

สำหรับพฤติกรมเชิงประโยชน์ ถึงแม้ว่าจะไม่มีรากฐานของอารมณ์รบกวนก็ยังมีความไร้เดียงสาดังกล่าวเป็นตัวหนุนทั้งหมดอยู่นั่นเอง  เราพยายามจะพิสูจน์ หรือแสดงให้เห็นถึงการดำรงอยู่ของเราด้วยการเป็นคนสมบูรณ์แบบ หรือเป็นคนดี ด้วยการเป็นพ่อแม่ที่ดีที่สุด หรืออะไรก็ตาม เช่นว่า “นี่จะทำให้ ‘ตัวฉัน’ น้อย ๆ ในหัวรู้สึกมั่นคง” ซึ่งไม่เคยสำเร็จเลย  เราไม่เคยรู้สึกมั่นคงเลย  ถึงแม้ว่าเราจะรู้สึกเป็นสุขบ้างจากการช่วยเหลือผู้อื่น มันยังคงเป็นความสุขเชิงสามัญและย่อมไม่คงอยู่  เราไม่มีทางพึงพอใจกับมันเลย เพราะเราย่อมรู้สึกว่าเราไม่ดีพออย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ว่าเราไม่สมบูรณ์แบบพอ  เรายังจะรู้สึกว่าเราต้องพิสูจน์อะไรบางอย่าง  เห็นได้ชัดเจนว่าทั้งหมดนี้ตั้งอยู่บนรากฐานของการขาดความตระหนักรู้เรื่องวิธีการดำรงอยู่ของเราในระดับล้ำลึกสูงสุด

สำหรับทุกข์ประเภทที่สาม ซึ่งเป็นรากฐานของการประสบความขึ้นลงของความทุกข์และความสุขเชิงสามัญ เรามีแบบแผนที่ซับซ้อนมาก เรียกว่า “ปฏิจจสมุปบาทสิบสอง (การอุบัติขึ้นพร้อมกันของความเชื่อมโยงทั้งสิบสอง)” ซึ่งผมขอไม่ลงรายละเอียด ณ ที่นี่ แต่สิ่งนี้เกี่ยวกับวิธีการทำงานของกรรม

หากกล่าวอย่างเรียบง่ายที่สุด กรรม หมายถึง แรงผลักดัน ซึ่งเป็นรากฐานให้เรากระทำการในลักษณะต่าง ๆ  ในเชิงโทษและประโยชน์  การถูกผลักดันในที่นี้มีความหมายว่าอย่างไร  การถูกผลักดันมีความหมายเชิงนัยยะ หมายถึง การที่คุณไม่สามารถควบคุมสิ่งสิ่งหนึ่งได้เท่าไรนัก เช่น คนที่เคาะนิ้วอย่างไม่หยุดหย่อน  ตรงนี้อุบัติขึ้นจากความรู้สึกอยากทำบางสิ่งบางอย่าง  ในภาษาทิเบตเพียงหมายความว่า “ฉันอยากทำสิ่งนี้  ฉันปรารถนาว่าฉันจะทำมัน  ฉันชอบทำมัน” เหมือนกับความรู้สึกอยากตะโกน หรือกอด หรือรับประทาน  จากนั้นจึงมีปัจจัยของแรงผลักดันเข้ามา เราจึงกระทำเช่นนั้น  กล่าวง่าย ๆ คือ ตรงนี้สั่งสมแนวโน้มบางประเภทในการทำการกระทำเช่นนั้นซ้ำอีก และ แนวโน้มในการประสบกับความทุกข์หากเป็นการกระทำเชิงโทษ และความสุขหากเป็นการกระทำเชิงประโยชน์  แนวโน้มนี้ได้รับการกระตุ้น ณ จุดใดจุดหนึ่ง ด้วยเงื่อนไขบางอย่าง  มันสุกงอมขึ้น จากนั้นเราจึงรู้สึกเป็นสุข หรือรู้สึกเป็นทุกข์ หรือรู้สึกอยากตะโกนอีกรอบ หรือรู้สึกอยากโอบกอดอีกครั้ง

เช่นนี้เป็นแบบแผนที่ยืดเวลาอยู่เป็นนิตย์และดำเนินต่อไปเรื่อย ๆ เพราะว่าเราประสบกับความปรารถนาที่จะดำเนินพฤติกรรมประเภทนี้ต่อไปอยู่เสมอ  รูปแบบของพฤติกรรมนี้จึงเกิดขึ้นย้ำทวนซ้ำไม่รู้จบ เพราะเราผลักดันและสร้างความแข็งแกร่งให้มันอยู่เสมอ  ดังนั้นเราจึงประสบกับความขึ้นลงของความสุขและความทุกข์เช่นนี้อยู่เสมอ

สำหรับตรงนี้ คำถามที่เกี่ยวข้องมากที่สุด คือ แนวโน้มเหล่านี้ได้รับการกระตุ้นให้ผลิตผลลัพธ์ที่ทำให้เรารู้สึกอยากทำพฤติกรรมนั้นซ้ำอีกได้อย่างไร  จุดนี้ได้รับการอธิบายไว้อย่างสง่างามในการเชื่อมโยงทั้งสิบสอง ถึงแม้ว่ามันจะซับซ้อนมากก็ตาม  เรามีความขึ้นลงเช่นนี้อยู่เสมอและไม่จำเป็นต้องทำให้เป็นเรื่องใหญ่โตอะไร  แม้แต่เวลาเรานอนหลับ บางทีเราอาจอยู่ในสภาวะกึ่งหลับกึ่งตื่น ซึ่งทำให้เรานอนหลับได้ไม่ดีและรู้สึกไม่เป็นสุขนัก  ถ้าอย่างนั้นสภาวะของจิตยามที่เราประสบความทุกข์และความสุขเชิงสามัญเป็นอย่างไร  คำภาษาสันสฤตสำหรับสภาวะนี้ คือ ตฺฤษฺณา (ตัณหา) ซึ่งหมายถึง “ความกระหาย”  มักแปลว่า “ความโหย” แต่คำศัพท์เดิมหมายถึงความกระหาย

กล่าวง่าย ๆ คือ เวลาเราประสบกับความทุกข์ เรากำลังกระหายอย่างมากที่จะกำจัดมันออก เหมือนกับการที่คุณอยากกำจัดอาการกระหาย  เมื่อเราประสบกับความสุข เราก็ไม่ต้องการจะแยกออกจากมัน ทั้งยังกระหายอยากได้เพิ่ม  มันก็เหมือนกับเวลาที่คุณกระหายน้ำมากจริง ๆ และอยากจะดื่มน้ำอึกแรก  คือแค่นั้นมันไม่พอใช่ไหมครับ  คุณไม่ต้องการจะแยกออกจากมัน แต่อยากได้มากขึ้นเรื่อย ๆ จากนั้นสิ่งที่เกิดขึ้น คือ การไขว่คว้าหาตัวตนของฉันที่มั่นคง ซึ่งเราคิดว่า “ฉันต้องกำจัดความทุกข์นี้ออก” “ฉันต้องไม่ให้ความสุขนี้จากไป” ซึ่งตรงนี้กระตุ้นแนวโน้มทางกรรมให้ทำงาน  นี่เป็นเหตุที่แท้จริงของทุกข์ที่แผ่คลุ้งซ่านทุกแห่งหน  ดังนั้น แนวโน้มในการประสบกับความสุขและความทุกข์และอื่น ๆ จึงมาจากพฤติกรรมหุนหันพลันแล่นของเรากอปรกับอารมณ์รบกวน ซึ่งสิ่งเหล่านี้เกิดจากการขาดความตระหนักรู้เรื่องความเป็นจริงในระดับล้ำลึกสูงสุดของเรา อันหมายถึง วิธีการดำรงอยู่ของความรู้สึกเรา (มันเปลี่ยนแปลงอยู่ทุกเมื่อ) และ วิธีการดำรงอยู่ที่แท้จริงของเรา (ไม่ใช่ตัวตนมั่นคงที่คลำพบได้ในหัวเรา ซึ่งเราคิดไปว่าสามารถทำให้มั่นคงได้ด้วยการไขว่คว้า)

การขาดความตระหนักรู้นี้เป็นเหตุขั้นพื้นฐาน  และเชื่อมโยงกับทั้งพฤติกรรมเชิงประโยชน์และเชิงโทษ  มันเป็นตัวสร้างปัญหาตัวจริงที่ก่อให้เกิดแนวโน้มต่าง ๆ ของการเป็นสุข เป็นทุกข์ และย้ำทำพฤติกรรมของเรา ของการดำรงอยู่  หากเราพิจาณาความกระหายดังกล่าวนี้ ทุกอณูของมันเชื่อมโยงกับการขาดความตระหนักรู้เรื่องการดำรงอยู่ของเรานั่นเอง  เราคิดว่า “ฉันเป็น ‘ฉัน’ เป็นคนเดียวที่สำคัญ  ดังนั้นฉันจึงต้องไม่แยกห่างจากความสุขนี้  การที่ฉันไม่เป็นทุกข์นั้นเป็นสิ่งสำคัญมาก” แทนที่จะคิดว่า “โอเค ฉันมีความสุข หรือมีความทุกข์…แล้วอย่างไรเล่า”  เหตุที่แท้จริงของการที่เรายืดเวลาการเวียนว่ายตายเกิดที่ไม่อาจควบคุมได้อย่างต่อเนื่องของเรา คือ การขาดความตระหนักรู้เรื่องความจริงสองประการนี้เท่านั้นเอง

การดับเหตุแห่งทุกข์ที่แท้จริง

ความจริงประการที่สาม คือ การดับทุกข์ที่แท้จริง ซึ่งเป็นการทำให้เหตุแห่งทุกข์ทั้งหมดนั้นจบสิ้น จึงทำให้ความทุกข์หยุดลงด้วยเช่นกัน  การขจัดการขาดความตระหนักรู้เรื่องความเป็นจริงนี้ออกตลอดกาลจะเป็นไปได้อย่างไรกัน  เมื่อคุณรับรู้ถึงสิ่งที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงแล้วจึงไม่มีรากฐานสำหรับสิ่งนั้น  มันไม่สอดคล้องกับความจริงใด ๆ เลย  ดังนั้นจึงไม่มีสิ่งใดคงสิ่งนั้นไว้ได้

ยกตัวอย่างเช่น เวลาที่คุณมีฉากฉากหนึ่งในโปรดัคชั่นละครเวที ฉากนั้นย่อมมีไม้ต่าง ๆ มาหนุนให้ฉากตั้งอยู่ได้  ศัพท์ภาษาทิเบตของสิ่งนี้หมายถึงว่า ไม่มีสิ่งใดเหมือนไม้เหล่านี้ที่หนุนการแสดงภาพสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ของเรา  เมื่อไร้สิ่งใดมาหนุนฉากแล้วเกิดอะไรขึ้น มันก็ล้มลงอย่างไรล่ะ

เมื่อคุณสามารถตั้งจิตอยู่ในสัจธรรมที่ว่าไม่มีสิ่งใดหนุนการแสดงภาพผิด ๆ  ที่เรามีได้ เช่นนั้นแล้วด้วยการฝึกฝน คุณย่อมสามารถตั้งจิตอยู่ในความตระหนักรู้เช่นนี้ได้ตลอดกาล  ไม่มีทางที่ฉากนี้จะตั้งขึ้นมาใหม่ได้  ละครเรื่องฉันตัวน้อย ๆ ในหัวที่กังวลว่า “ฉันจะทำอย่างไรดี” และ “ฉันจะต้องสมบูรณ์แบบ” และ “ฉันจะต้องได้อย่างที่ต้องการ” ย่อมหยุดลง  เมื่อเราเห็นแล้วว่าไม่เคยมีสิ่งใดหนุนการแสดงภาพมายาของเราเลย เมื่อนั้นจิตของเราย่อมไม่แสดงภาพสิ่งที่เป็นไปไม่ได้อีกต่อไป  จากรากฐานนี้ เราย่อมไม่กระตุ้นแนวโน้มทั้งหลายอีกต่อไป เพราะไม่มีสิ่งใดไปกระตุ้นมัน  จะไม่มี “ฉัน ฉัน ฉัน  ฉันต้องมีความสุขและฉันจะไม่เป็นสุขไม่ได้!” อีกต่อไป

หากไม่มีสิ่งใดไปกระตุ้นแนวโน้มแล้ว คุณก็ไม่สามารถบอกได้ว่าคุณมีแนวโน้มอีกต่อไป  สิ่งใดจะเป็นแนวโน้มสำหรับผลลัพธ์ได้ก็ต่อเมื่อมีผลลัพธ์  กล่าวอีกอย่าง คือ แนวคิดทั้งหมดทั้งมวลของแนวโน้มนี้เกี่ยวพันกับการมีผลลัพธ์  หากไม่มีผลลัพธ์แล้วก็ไม่อาจมีแนวโน้มที่ผลิตมัน

นี่จึงเป็นลักษณะที่เราสามารถก้าวออกจากการเวียนว่ายตายเกิดอย่างควบคุมไม่ได้  ถึงแม้ว่าจิตของเราจะเปี่ยมไปด้วยแนวโน้มต่าง ๆ จากเวลาที่ปราศจากจุดเริ่มต้น หากไม่มีสิ่งใดไปกระตุ้นแนวโน้มเหล่านั้น มันย่อมไม่ดำรงอยู่อีกต่อไป  เมื่อเราคงอยู่กับความตระหนักรู้เรื่องความเป็นจริง เราย่อมไม่สั่งสมพฤติกรรมผลักดันที่จะก่อให้เกิดแนวโน้มเพิ่มเติมให้กับตัวเราเองอีก  ฉะนั้นการเวียนว่ายตายเกิดอันควบคุมไม่ได้ และ พื้นฐานสำหรับอารมณ์ขึ้นลงของเราจึงหายไป สูญสิ้นไปตลอดกาล  เช่นนี้คือการดับทุกข์ที่แท้จริงและเราจึงบรรลุการหลุดพ้น

หนทางที่แท้จริงแห่งจิตที่จะนำไปสู่การดับทุกข์ที่แท้จริง

ความจริงประการที่สี่มักได้รับการแปลว่า “หนทางที่แท้จริง” และหมายถึงสภาวะต่าง ๆ ทางจิต หรือความเข้าใจที่นำคุณไปสู่เป้าหมาย เหมือนกับหนทางนั่นเอง  นี่เป็นความเข้าใจที่ถูกต้องและแน่วแน่เรื่องความจริงสองประการ  ยิ่งเราคุ้นเคยกับสิ่งนี้มากเท่าไร เพื่อที่เราจะมีสิ่งนี้อยู่ทุกชั่วขณะ มันย่อมกลายเป็นหนทางที่นำไปสู่การดับทุกข์ที่แท้จริงของการเวียนว่ายตายเกิดที่ควบคุมไม่ได้

บทสรุป

เช่นนี้คือวิธีที่เรากลั่นกรองอริยสัจสี่มาจากความจริงสองประการ

เราก้าวเข้าสู่สังสารวัฏได้อย่างไร  บทที่เราพิจารณากล่าวถึงเรื่องนี้ด้วยสองประการแรกของอริยสัจสี่ กล่าวคือ ทุกข์ที่แท้จริง และ เหตุที่แท้จริง  กล่าวโดยสรุปคือ เราเข้าสู่สังสารวัฏจากความสับสนของเราเกี่ยวกับความจริงสองประการ  เราไม่รู้เรื่องความเป็นจริง หรือไม่ก็เราจินตนาการว่ามันแตกต่างไปจากความเป็นจริงโดยแท้อย่างมาก  เราจะออกจากตรงนี้ได้อย่างไร  ด้วยความจริงประการที่สามและสี่ หรือการดับทุกข์ที่แท้จริง และ หนทางที่แท้จริงของจิตนั่นเอง  ดังนั้น จากการไม่รู้ถึงความจริงสองประการเกี่ยวกับความเป็นจริง เราจึงได้ความจริงสองประการแรกของอริยสัจสี่ และจากการรู้สิ่งนี้ เราจึงได้อีกสองประการที่เหลือ

ถึงแม้ว่านี่จะเป็นหัวข้อที่มีซับซ้อนเป็นอย่างมาก นี่คือลักษณะที่เราฝึกปฏิบัติกับหลักคำสอนทางพระพุทธศาสนาในการพยายามบรรลุความเชื่อมั่นในระดับหนึ่งว่า เราสามารถบรรลุเป้าหมายต่าง ๆ ที่ระบุไว้ในพระพุทธศาสนาได้จริง และเรามุ่งมั่นปฏิบัติไปสู่เป้าหมายเหล่านั้น  เมื่อเราเข้าใจทั้งหมดอย่างถ่องแท้แล้ว เราจึงสามารถนำมาร้อยเรียงกับสิ่งอื่น ๆ ทั้งหมดที่รวมอยู่ในความหมายของสิ่งเหล่านั้น  จากการเจริญสมาธิ เราจึงทำความคุ้นเคยกับทั้งหมดนี้ กล่าวคือ เราสร้างนิสัยให้ตนเองมองเห็นความเป็นจริง

จากรากฐานของการฟัง การคิด และการเจริญสมาธิ เราสามารถบรรลุความเชื่อมั่นว่าเป้าหมายที่เรามุ่งฝึกฝนไปให้ถึงนั้นเป็นเรื่องที่เป็นไปได้จริง ๆ  ว่านี่เป็นสัจธรรม เป็นสิ่งที่เราสามารถบรรลุได้จริง และพวกเราล้วนสามารถบรรลุได้หากมุมานะพยายามอย่างเพียงพอ  ในลักษณะนี้ การฝึกฝนตนของเราจึงมีความมั่นคงขึ้นมาก เพราะมันไม่ได้ตั้งอยู่บนรากฐานของความเชื่อลม ๆ แล้ง ๆ ว่าสิ่งที่เรามุ่งไปสู่นั้นอาจจะเป็นไปได้  แทนที่จะเป็นเช่นนั้น เรากลับมีความมั่นใจอย่างจริงแท้แน่นอน

Top