ความจริงอันประเสริฐประการที่สอง: สาเหตุที่แท้จริงของทุกข์

ความจริงอันประเสริฐประการแรกกล่าวถึงทุกข์ที่แท้จริงที่เราล้วนประสบ หากเรามีแรงบันดาลใจที่จะดับทุกข์เหล่านี้ เราจำเป็นต้องระบุสาเหตุที่แท้จริงของทุกข์เหล่านี้ก่อน ปัญหาแท้จริงที่เราเผชิญหน้านั้นไม่ใช่แค่ว่าเราประสบกับความทุกข์และความสุขที่ไม่น่าพึงพอใจและเป็นชั่วแล่น มันจึงเปลี่ยนสลับกับความทุกข์ไปตลอดเวลา แถมเรายังทำให้การก่อตัวของสิ่งเหล่านี้ยืดยาวอีกด้วย ที่แย่ไปกว่านั้นก็คือ เรายังสืบสานให้การมีประเภทร่างกายและจิตใจที่จำกัด ซึ่งเราสัมผัสกับขาขึ้นขาลงในชีวิตที่ไม่อาจควบคุมได้ ตามคำกล่าวที่ว่า “หากคุณไม่มีศีรษะ คุณก็จะไม่ปวดศีรษะ!” ถึงแม้ว่าคำกล่าวนี้จะฟังดูทะเล้น มันก็มีความจริงอยู่ไม่น้อย ที่น่าอัศจรรย์คือ พระพุทธเจ้าทรงค้นพบสาเหตุที่แท้จริงสำหรับอาการปวดศีรษะและการดำรงอยู่ต่อไปของประเภทศีรษะที่ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ พระองค์ทรงแสดงให้เห็นว่าสาเหตุที่แท้จริงก็คือการขาดความตระหนักรู้ หรือความอวิชชาของเรา เกี่ยวกับสาเหตุเชิงพฤติกรรมและความเป็นจริงนั่นเอง

การขาดความตระหนักรู้เกี่ยวกับวิธีที่เราดำรงอยู่

ในศตวรรษที่ 21 นี้ พวกเราอยู่ในยุคที่การบิดเบือนข้อมูลเป็นเรื่องแพร่หลาย และหลายคนก็หลงเชื่อสิ่งที่เรียกว่า “ข้อเท็จจริงทางเลือก” (alternative truths)  นี่เป็นการปะทุของสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงตระหนักได้เมื่อหลายพันปีก่อนว่าเป็นสาเหตุที่แท้จริงของความทุกข์ทั้งปวง  นั่นคือการขาดความตระหนักรู้ หรือที่เรียกกันว่า “อวิชชา” นั่นเอง  การขาดความตระหนักรู้ในลักษณะนี้ไม่ได้หมายถึงการไม่รู้ว่าอินเทอร์เน็ตทำงานอย่างไร หากแต่เป็นการขาดความตระหนักรู้และความสับสนเกี่ยวกับผลระยะยาวของพฤติกรรมเรา และที่รองรับสิ่งนี้ การขาดความตระหนักรู้และความสับสนเกี่ยวกับความเป็นจริง โดยเฉพาะเรื่องวิธีการดำรงอยู่ของเรา  ซ้ำร้ายเรายังเชื่ออีกว่าความเห็นที่ผิดของเรานั้นเป็นความจริงแท้แน่นอน

เรามาลองพิจารณากันให้ใกล้ขึ้น  พวกเราต่างประสบกับเสียงในหัวที่พูดถึงแต่ “ตัวฉัน ตัวฉัน ตัวฉัน”  เมื่อใช้จุดนี้เป็นที่ตั้งแล้ว เราจึงเชื่อโดยอัตโนมัติว่ามีตัวตนที่สามารถพบได้ ที่เรียกว่า “ฉัน” โดยแยกออกจากร่างกายและจิตใจ ซึ่งตัวตนนี้เป็นผู้สั่งการเสียงนั้น  ความเชื่ออันสับสนดังกล่าวได้รับการตอกย้ำอยู่เรื่อย เพราะเมื่อใดที่เราบ่นในหัวเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับ “ตัวฉัน” หรือคิดว่า “ฉัน” จะทำอะไรต่อไปดี เราจะรู้สึกว่ามันมีตัวตนของ “ฉัน” อันมั่นคงที่เราห่วงหาอยู่จริง  แน่นอนว่าพวกเราดำรงอยู่จริง  พระพุทธเจ้าทรงมิได้ปฏิเสธข้อนี้  ปัญหาคือการที่เราไม่ได้ดำรงอยู่ในรูปแบบที่เรารู้สึกเหมือนที่ว่าเราดำรงอยู่นั่นเอง  พวกเราต่างไม่ได้ตระหนักถึงข้อเท็จจริงนี้  พวกเราต่างเชื่อมั่นอย่างแรงกล้าในความเป็นจริงทางเลือกนี้ จึงทำให้เราเกิดความสับสนอย่างสมบูรณ์

ความรู้สึกไม่มั่นคงและความพยายามอันเปล่าประโยชน์ พร้อมทั้งอารมณ์รบกวนและพฤติกรรมเชิงกดบังคับ เพื่อทำให้เรารู้สึกมั่นคง

ข้อบ่งชี้ที่ชัดเจนว่ามีบางอย่างผิดปกติเกี่ยวกับการคิดผิดเรื่องตัวเราเองนั้น คือเมื่อเราเชื่อว่าความคิดนั้นสอดคล้องกับความเป็นจริง เราประสบกับทุกข์แห่งความไม่มั่นคง  ด้วยความพยายามอันเปล่าประโยชน์เพื่อให้รู้สึกมั่นคง เราจึงรู้สึกว่าเราต้องพิสูจน์ตนเอง แก้ต่างให้ตนเอง หรือยืนกรานตนเอง  ความรู้สึกเช่นนี้ทำให้อารมณ์รบกวนเหล่านี้ก่อตัวขึ้น

  • ความปรารถนาอยากได้ในการได้บางอย่างที่จะทำให้เรารู้สึกมั่นคง
  • ความเกลียดชังและความโกรธในการผลักไสบางอย่างออกไปให้พ้นตัวเรา เพื่อให้เรารู้สึกมั่นคง
  • ความไร้เดียงสาซึ่งทำให้เราสร้างกำแพงขึ้นมาล้อมตัวเรา เพื่อที่เราจะได้รู้สึกมั่นคงภายในรั้วกำแพงนี้

อารมณ์รบกวนเหล่านี้ทำให้เราสูญเสียความสงบในใจและการควบคุมตนเอง ซึ่งกระตุ้นให้เกิดเจตนาในการกระทำหรือพูดบางอย่างไปตามแนวโน้มพฤติกรรมและนิสัยในอดีตของเรา  จากนั้นแรงกระตุ้นเชิงกดบังคับทางกรรมจึงชักจูงให้เรากระทำหรือพูดตามนั้นจริง ๆ

การขาดความตระหนักรู้ อารมณ์รบกวน และพฤติกรรมเชิงกดบังคับเป็นสาเหตุที่แท้จริงของการสืบสานขาขึ้นขาลงทางอารมณ์

เหตุและผลกระทบทางกรรมไม่ได้เน้นที่ผลลัพธ์ระยะสั้นของพฤติกรรมเรา หากแต่เป็นผลลัพธ์ระยะยาว  ยกตัวอย่างเช่น เมื่อรู้สึกไม่มั่นคงเกี่ยวกับตัวเอง เราจึงจินตนาการ ด้วยความปรารถนาอยากได้ ให้ได้ “ไลค์” เพิ่มเติมสำหรับโพสต์บนโซเชียลมีเดียของเรา  เราคิดไปว่าการได้สิ่งนี้จะช่วยยืนยันการดำรงอยู่ของเราและทำให้เรารู้สึกมีค่าในตนเองมากขึ้น  หากคุณชอบเล่นโซเชียลมีเดียและโพสต์เซลฟี่ ลองพิจารณาประสบการณ์ของตนเองดูเถิด  ในระหว่างวันคุณมีแรงกระตุ้นเชิงกดบังคับที่จะหยิบมือถือขึ้นมาดูว่าคุณได้กี่ “ไลค์” แล้วกี่ครั้ง?  ความสุขที่พรั่งพรูเข้ามาเมื่อคุณได้ “ไลค์” นั้นคงอยู่นานแค่ไหน?  แล้วหลังจากนั้นคุณรีบกลับไปดูมือถืออีกเร็วแค่ไหน?  คุณเคยได้ “ไลค์” ที่เพียงพอไหม?  การตรวจมือถือเชิงกดบังคับทั้งวันเป็นสภาวะจิตใจที่เป็นสุขหรือไม่?  ตัวอย่างเหล่านี้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าผลกระทบระยะยาวของการแสวงหา “ไลค์” เป็นการประสบทุกข์ของความไม่มีสุข โดยตั้งอยู่บนรากฐานผิด ๆ ว่ามี “ตัวฉัน” ที่ดำรงอยู่อย่างมั่นคงและเป็นอิสระอยู่จริง ซึ่งเราสามารถทำให้ตัวตนนี้มั่นคงได้ด้วยการได้ “ไลค์” ให้เพียงพอ

ถึงแม้ว่าเราจะมีแรงจูงใจที่ดี เช่น ความรัก ซึ่งเราคอยช่วยเหลือลูก ๆ ที่เติบใหญ่แล้วของเราในเชิงกดบังคับ หากการกระทำเช่นนี้ก็ตั้งอยู่บนความคิดอันไร้เดียงสาว่า การทำตัวให้เป็นประโยชน์หรือความรู้สึกว่าเป็นที่ต้องการจะทำให้เรารู้สึกดีกับตนเอง  ความสุขใด ๆ ที่เราได้จากการกระทำเหล่านี้จะไม่มีทางทำให้เราพึงพอใจ  กล่าวสั้น ๆ คือ สาเหตุที่แท้จริงของการสืบสานการเกิดขาขึ้นขาลงทางอารมณ์ของเรานั้น คือการขาดความตระหนักรู้และความคิดผิด ๆ เกี่ยวกับรูปแบบที่ตัวเรา ผู้อื่น และสรรพสิ่งทั้งปวงดำรงอยู่นั่นเอง แถมยังรวมถึงอารมณ์รบกวน แรงกระตุ้นทางกรรมที่จับใจ และพฤติกรรมเชิงกดบังคับที่สิ่งเหล่านี้กระตุ้นด้วย

การขาดความตระหนักรู้ อารมณ์รบกวน และพฤติกรรมเชิงกดบังคับเป็นสาเหตุที่แท้จริงของการสืบสานการเวียนว่ายตายเกิดอย่างควบคุมไม่ได้

พระพุทธเจ้าทรงสอนว่า การขาดความตระหนักรู้ อารมณ์รบกวน และแรงกระตุ้นทางกรรมนั้นเป็นสาเหตุที่แท้จริงสำหรับการสืบสานการดำรงอยู่ของเราอย่างกดบังคับ ทั้งในชาตินี้และชาติหน้า ๆ เช่นกัน โดยมีร่างกายและจิตใจอันจำกัดเป็นตัวประสบกับความทุกข์ของความไม่มีสุขและความสุขอันไม่น่าพึงพอใจ  พระพุทธเจ้าทรงชี้ให้เห็นว่า ทัศนคติที่สับสนของเราเกี่ยวกับความรู้สึกเหล่านี้คือสาเหตุที่แท้จริงของการเวียนว่ายตายเกิดที่ไม่อาจควบคุมได้ หรือที่เรียกว่า “สังสารวัฏ” นั่นเอง

เมื่อความสุขระยะสั้นก่อตัวขึ้น เราก็กระหายไม่อยากให้มันจบลง แม้จะเป็นการกระทำที่เปล่าประโยชน์ก็ตาม เพราะความสุขนี้ไม่อาจคงอยู่ได้ตลอดไป  เมื่อยามที่เรารู้สึกไม่มีความสุข เราก็กระหายอยากให้ความรู้สึกนี้หายไปตลอดกาล ถึงแม้ว่าพฤติกรรมเชิงกดบังคับของเรารังแต่จะก่อให้เกิดเพิ่มขึ้นก็ตาม  ถึงแม้ว่าเราจะทานยาแก้ปวดฤทธิ์แรงเข้าไปเพื่อไม่ให้เรารู้สึกอะไรเลย หรือจมอยู่ในภาวะสมาธิเชิงลึกที่ทำให้เราไม่รู้สึกอะไรเช่นกัน เราก็กระหายอยากให้สภาวะความรู้สึกเฉยนั้นไม่ลดลง แม้ว่ามันย่อมต้องลดลงอยู่ดี

นอกจากนี้ เรายังตรึงกับ “ตัวฉัน” ราวกับว่ามันเป็นตัวตนที่มั่นคง โดยคิดว่า “ฉันผู้น่าสงสาร” เช่น “ฉันไม่อยากให้ความสุขนี้จากไปเลย” หรือ “ฉันอยากให้ความทุกข์นี้จบลง” หรือ “ฉันไม่อยากให้ความรู้สึกเฉยนี้หมดไปเลย”  เมื่อการตรึงนี้ตั้งอยู่บนความสับสนเกี่ยวกับ “ตัวฉัน” และอารมณ์รบกวนเกี่ยวกับความรู้สึกของเราเหล่านี้เกิดขึ้นเมื่อเราใกล้ตาย จึงก่อให้เกิดแรงกระตุ้นทางกรรม ซึ่งเป็นแรงกระตุ้นทางจิตใจที่เชิงกดบังคับ เหมือนกับแม่เหล็กที่ดึงดูดจิตและอารมณ์รบกวนเหล่านี้ให้เข้ามายังร่างกายเพื่อสภาวะการเกิดใหม่ โดยมีเจตนาที่จะนำการเกิดใหม่นี้ไปด้วยกัน เราจะได้ยังมีชีวิตอยู่ต่อไป  จุดนี้คล้ายกับสัญชาติญาณการอยู่รอดในรูปแบบทางพระพุทธศาสนา

ลักษณะสี่ประการของเหตุที่แท้จริงแห่งทุกข์

ฉะนั้นแล้ว ทัศนคติที่สับสนของเราจึงเป็นสาเหตุที่แท้จริงแห่งทุกข์ที่แท้จริงของเรา  ความเป็นจริงคือเราสืบสานการเวียนว่า อันควบคุมไม่ได้ของทุกข์ทั้งปวง  มีลักษณะสี่ประการที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการเวียนว่ายตายเกิดอันไม่จบสิ้นของเรา  ลักษณะทั้งสี่ประการนี้ทำให้เราสามารถเข้าใจได้ว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเหตุที่แท้จริงของความทุกข์โดยรวมเช่นกัน

  • ประการแรก การขาดความตระหนักรู้เกี่ยวกับวิธีการดำรงอยู่ของเรา รวมถึงอารมณ์รบกวนและแรงกระตุ้นเชิงกดบังคับทางกรรม  สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นเหตุจริงๆแห่งทุกข์ทั้งปวง  ความทุกข์ของเราไม่ได้เกิดขึ้นโดยไร้เหตุ หรือโดยเหตุที่ไม่บังควร เช่น การคำนวณทางโหราศาสตร์ หรือเพียงแค่เพราะโชคไม่เข้าข้าง
  • ประการที่สอง สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นต้นเหตุที่ทำให้ความทุกข์ของเรานั้นเกิดขึ้นซ้ำรอยไปเรื่อย ๆ  ในสถานการณ์แต่ละครั้ง ความทุกข์ไม่ได้มาจากสาเหตุเดียวเท่านั้น แต่มาจากการสะสมของเหตุและเงื่อนไขหลายอย่างรวมกัน
  • ประการที่สาม สิ่งเหล่านี้เป็นผู้ผลิตภายในที่แข็งแกร่งของความทุกข์ของเรา ความทุกข์ของเราไม่ได้มาจากแหล่งที่มาภายนอก และไม่ได้มาจากเทพผู้ทรงพลังด้วยซ้ำ
  • ประการที่สี่ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นเงื่อนไขให้ความทุกข์ทั้งปวงเกิดขึ้น ความทุกข์ไม่ได้เกิดจากกิจกรรมทางโลกเอง แต่เกิดจากทัศนคติอันสับสนที่เรามีต่อกิจกรรมเหล่านั้น

สรุป

เมื่อเราทราบแล้วว่าสาเหตุที่แท้จริงของปัญหาและความทุกข์ที่เกิดขึ้นซ้ำรอยไปเรื่อย ๆ ซึ่งไม่มีใครอยากประสบกับสิ่งเหล่านี้ตลอดเวลา คือ การฉายภาพความเป็นจริงที่ผิดไปเกี่ยวกับตนเอง การขาดความตระหนักรู้ว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเพียงการนึกฝัน รวมถึงอารมณ์รบกวนและพฤติกรรมเชิงกดบังคับที่สิ่งเหล่านี้สร้างขึ้น ถ้าอย่างนั้นทำไมเราถึงไม่พยายามปฏิบัติเพื่อกำจัดตัวสร้างปัญหาเหล่านี้ให้หมดไปจากตัวเราอย่างสิ้นเชิงเล่า

Top