การปฏิบัติตามพระธรรมและการหลีกเลี่ยงความทุกข์

ในภาษาสันสกฤตคำว่า พระธรรม หรือในภาษาทิเบตคือ คำว่า ชอ (chö หรือ chos) นั้นหมายถึง การยึดถือหรือการทำนุบำรุง แล้วเรายึดถือหรือทำนุบำรุงอะไร คือการขจัดทุกข์และการบรรลุความสุข พระธรรมไม่เพียงแต่ทำสิ่งนี้เพื่อเราเท่านั้น แต่ทำเพื่อสิ่งมีชีวิตทุกชนิด

การรับรู้ถึงความทุกข์

ความทุกข์ที่เราประสบมีอยู่สองประเภทคือ ความทุกข์ที่เรามองเห็นได้ทันทีในฐานะมนุษย์ และความทุกข์ที่เราไม่สามารถมองเห็นได้หากปราศจากพลังแห่งการรับรู้ด้วยประสาทสัมผัสพิเศษ ความทุกข์ประเภทแรกจะรวมถึงความเจ็บปวดที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการเกิด ความไม่พึงประสงค์ของการเจ็บป่วยเป็นครั้งคราว ความทุกข์ที่เกิดจากการมีอายุมากขึ้นและความแก่ชรา และความหวาดกลัวต่อความตาย

ความทุกข์ที่เกิดขึ้นหลังความตายไม่อาจปรากฏให้คนธรรมดาเห็นได้ เราอาจคิดว่า หลังจากที่เราตาย เราอาจจะได้ไปเกิดใหม่เป็นมนุษย์อีกครั้ง อย่างไรก็ตาม นั่นก็อาจไม่เป็นความจริง ไม่มีเหตุผลเชิงตรรกะที่เราจะสันนิษฐานได้ว่า วิวัฒนาการดังกล่าวจะเกิดขึ้น หรือว่าหลังจากเราตายแล้ว เราจะไม่เกิดใหม่อีกเลย

สำหรับประเภทของเกิดใหม่เฉพาะของเรานั้น มันเป็นอะไรที่ยากมากที่จะรู้ได้ เป็นสิ่งที่ไม่ได้อยู่ในขอบเขตความรู้ของเรา ถ้าเราสร้างกรรมดีในชั่วชีวิตนี้ โดยธรรมชาติแล้ว สิ่งที่ตามมาก็คือ การที่เราจะได้เกิดใหม่อย่างมีความสุขในอนาคต ในทางกลับกัน ถ้าเราสร้างกรรมชั่วเป็นส่วนใหญ่ เราจะไม่ได้เกิดใหม่ที่มีความสุข แต่จะพบกับความยากลำบากอย่างมากในการมีชีวิตอยู่ในสถานะที่ต่ำกว่าเดิม นี่เป็นสิ่งที่แน่นอน การเกิดใหม่ทำหน้าที่อย่างนั้น ถ้าเราปลูกข้าวสาลี สิ่งที่เติบโตก็คือ ต้นข้าวสาลี ถ้าเราปลูกต้นข้าว ต้นข้าวก็เกิดขึ้น ในทำนองเดียวกัน หากสร้างกรรมชั่ว เราปลูกเมล็ดพันธุ์แห่งการเกิดใหม่มาในสภาพที่ต่ำสภาพใดสภาพหนึ่งในสามสภาพนี้คือ เป็นสัตว์นรก ผีที่หิวโหย (เปรต) หรือสัตว์

นรกภูมิ (ดินแดนที่ไม่มีความสุข) จะมีอยู่สี่สภาพหรือสี่ขุมที่แตกต่างกันคือ นรกร้อน นรกเย็น นรกขุมใกล้เคียง และนรกเป็นครั้งคราว หากแบ่งย่อยสิ่งเหล่านี้เพิ่มเติมอีกก็จะมีนรกร้อนแปดขุมที่แตกต่างกัน ขุมแรกเรียกว่า นรกที่ไม่มีวันตาย นี่เป็นหนึ่งในความทุกข์ทรมานที่น้อยที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว เพื่อให้เข้าใจถึงขอบเขตของความทุกข์ทรมานที่ประสบที่นี่ ความเจ็บปวดของคนที่ถูกไฟไหม้ครั้งใหญ่นั้นจะเล็กน้อยมากเมื่อเทียบกับความเจ็บปวดทรมานของสิ่งมีชีวิตในนรกร้อนขุมแรกนี้ นรกแต่ละขุมที่อยู่ใต้ชั้นนรกที่ไม่มีวันตายนี้ลงไปจะมีระดับความทุกข์ทรมานเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ

แม้ว่าเราจะมองไม่เห็นความทุกข์ทรมานของสัตว์นรกและผีที่หิวโหย แต่เราสามารถมองเห็นความทุกข์ทรมานของสัตว์ได้ด้วยตาของเรา ถ้าเราสงสัยว่าจะเกิดอะไรขึ้นหากเราต้องเกิดใหม่เป็นสัตว์ เราก็แค่มองดูสัตว์ข้างถนนและสัตว์ลากเก่รอบตัวเราที่นี่ในอินเดีย และคิดว่าจะเป็นอย่างไรถ้าเราต้องมีสภาพอย่างพวกมัน พระธรรมคือสิ่งที่รั้งเราไว้และปกป้องเราจากการประสบกับความทุกข์ทรมานของการเกิดใหม่ในสภาพที่ต่ำกว่าเดิมเหล่านี้

วงล้อแห่งการเกิดใหม่ทั้งหมด ซึ่งเป็นการดำรงอยู่ที่เกิดขึ้นซ้ำอีกอย่างไม่สามารถควบคุมได้ (สังสารวัฏ) มีลักษณะเป็นความทุกข์ทรมาน พระธรรมคือสิ่งที่ปกป้องเราจากความทุกข์ในสังสารวัฏทั้งหมด ยิ่งไปกว่านั้น หลักธรรมของมหายาน ซึ่งเป็นคำสอนของยานพาหนะที่ใหญ่ ไม่เพียงนำการปกป้องคุ้มครองมาสู่เรา แต่ยังรวมถึงสิ่งมีชีวิตที่จำกัด (สรรพสัตว์) ต่าง ๆ ด้วย

การรับเอาทิศทางที่ปลอดภัยเป็นที่พึ่ง

ในทางพระพุทธศาสนา เราได้ยินมามากมายเกี่ยวกับการถือพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง อันได้แก่ พระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ สิ่งแรกคือพระพุทธเจ้านั้นหมายรวมถึง พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเป็นผู้สอนพระธรรม พระศากยมุนีพุทธเจ้าเป็นผู้เริ่มหมุนวงล้อแห่งธรรมหรือธรรมจักรที่เมืองพาราณาสีโดยการสอนเรื่องของอริยสัจ 4 ซึ่งมีความสำคัญต่อเรามากที่สุด ข้อสุดท้ายของอริยสัจ 4 นี้คือ หนทางที่แท้จริง ซึ่งเป็นพระธรรมที่ใช้ในการปฏิบัติเพื่อบรรลุการหลุดพ้น นี่คือที่พึ่งของทิศทางที่ปลอดภัยที่เรียกว่า ดวงแก้วแห่งธรรม

การปฏิบัติธรรมนำมาซึ่งสิ่งสองสิ่ง นั่นคือ การตระหนักรู้ถึงต้นตอของความทุกข์ในสังสารวัฏและการขจัดต้นตอนี้ อะไรคือสาเหตุของการดำรงอยู่ที่เกิดขึ้นอย่างซ้ำซากนั้น สาเหตุคือการยึดมั่นตัวตนที่มีอยู่ไว้ว่าแท้จริงและการดำรงอยู่ของปรากฏการณ์ว่าเป็นจริง เราจำเป็นต้องพัฒนาความรู้สึกรังเกียจต่อการยึดมั่นสิ่งนี้ ซึ่งจะนำความทุกข์ทั้งหมดมาให้เรา เราต้องพัฒนาความเข้าใจเกี่ยวกับยาแก้พิษสำหรับการยึดมั่นด้วยการดำรงอยู่ที่แท้จริง ยาแก้พิษนี้คือ ปัญญา (การรับรู้ที่แยกแยะ) ของการไม่เห็นแก่ตัวหรือการไม่มีตัวตน การทำความเข้าใจในเรื่องของการไม่มีตัวตนนี้จะทำให้เราหลุดพ้นจากความทุกข์

ความทุกข์ที่เราประสบในสังสารวัฏไม่ได้เกิดขึ้นโดยไม่มีสาเหตุ ความทุกข์ต่าง ๆ นั้นเกิดจากอารมณ์และทัศนคติที่รบกวน (การหลงผิด) และกรรมที่สร้างขึ้นโดยสิ่งเหล่านั้น ต้นตอของอารมณ์และทัศนคติที่รบกวนและของกรรมทั้งหมดคือ ความยึดมั่นตนเองไว้ เมื่อเราเข้าใจสิ่งนี้ เราก็ต้องการที่จะได้รับยาแก้พิษเพื่อกำจัดการยึดมั่นตนเองไว้ ทำไมเรายังไม่พัฒนายาแก้พิษให้กับความต่อเนื่องทางจิตใจของเรา ทำไมเราไม่เข้าใจการไม่มีตัวตน เหตุผลประการหนึ่งก็คือ เรายังมีความตระหนักไม่พอในเรื่องของความตายและความไม่เที่ยง

ความตายและความไม่เที่ยง

ผลลัพธ์อย่างเดียวที่เป็นไปได้ของการเกิดก็คือ ความตาย เรากำลังจะตายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่มีสิ่งมีชีวิตใดที่ชีวิตไม่ได้จบลงด้วยความตาย ผู้คนพยายามหลากหลายวิธีเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการเสียชีวิต แต่ก็เป็นไปไม่ได้ ไม่มียาใดสามารถรักษาเราจากความตายได้

แค่คิดว่า “ฉันกำลังจะตาย” ไม่ใช่วิธีที่ถูกต้องในการพิจารณาเรื่องความตาย แน่นอนว่าทุกคนจะต้องตาย แต่เพียงแค่คิดเกี่ยวกับข้อเท็จจริงนี้ไม่ได้มีพลังมากนัก ไม่ใช่วิธีการที่เหมาะสม ในทำนองเดียวกัน การคิดถึงความจริงที่ว่าเรากำลังจะแตกสลายและเสื่อมโทรมลง ซึ่งร่างกายของเรากำลังจะเน่าเปื่อยผุพังนั้นก็ไม่เพียงพอเช่นกัน สิ่งที่เราต้องคิดก็คือ วิธีการป้องกันความหายนะของเรา

ถ้าเราคิดถึงความกลัวที่เกิดขึ้น ณ เวลาของความตาย และคิดถึงวิธีขจัดความกลัวนั้น การพิจารณาเกี่ยวกับความตายของเราก็จะได้ผล คนที่สะสมกรรมชั่วหรือทำบาปไว้มากมายในชั่วชีวิตของพวกเขา ก็จะหวาดกลัวอย่างมากเมื่อถึงเวลาแห่งความตาย พวกเขาจะร้องไห้ น้ำตาไหลอาบแก้ม น้ำลายฟูมปาก ขับถ่ายใส่เสื้อผ้าตนเอง และเต็มไปด้วยความรู้สึกที่มากเกินกว่าจะรับไหว สิ่งเหล่านี้เป็นสัญญาณที่ชัดเจนของความทุกข์ทรมานที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาแห่งความตาย เนื่องจากความกลัวที่เกิดจากการทำชั่วในชั่วชีวิตของตน

อีกทางเลือกหนึ่ง หากในชั่วชีวิตของเรา เราละเว้นจากการทำชั่ว มันก็จะเป็นเรื่องง่ายมากสำหรับเราที่จะเผชิญกับเวลาแห่งความตาย ประสบการณ์หนึ่งก็คือความสุข เหมือนกับการที่เด็กได้กลับบ้านไปหาพ่อแม่ ถ้าเราทำตัวเราให้บริสุทธิ์ เราก็ตายอย่างมีความสุขได้ การละเว้นจากการทำชั่ว 10 ประการและปลูกฝังสิ่งที่ตรงกันข้ามกับการกระทำเหล่านั้นนั่นคือ การกระทำที่สร้างสรรค์ 10 ประการ การตายของเราก็จะเป็นเรื่องง่าย และด้วยเหตุนี้ เราจึงไม่ต้องประสบกับการเกิดใหม่ในสภาพแห่งความทุกข์ทรมาน เราสามารถมั่นใจได้ว่าจะเกิดใหม่ในสภาพที่โชคดีมากกว่านี้ การปลูกเมล็ดพืชสมุนไพรทำให้เราได้ต้นไม้ที่มีคุณสมบัติเป็นยา หากปลูกเมล็ดของต้นไม้ที่มีพิษก็จะทำให้เราได้แต่ผลไม้ที่เป็นอันตราย ถ้าเราปลูกเมล็ดพันธุ์แห่งการกระทำที่สร้างสรรค์ในสติของเรา เราย่อมจะประสบความสุขในการเกิดใหม่ในอนาคต เราจะมีสถานการณ์ที่โชคดีทั้งทางจิตใจและร่างกาย คำสอนพื้นฐานของพระธรรมนี้ ก็คือหลีกเลี่ยงการกระทำที่เป็นไปในทางทำลาย และปลูกฝังการกระทำที่สร้างสรรค์นั้นไม่ได้มีแค่ในศาสนาพุทธเท่านั้น แต่ยังรวมถึงในศาสนาอื่น ๆ อีกมากมาย รวมทั้งศาสนาคริสต์ด้วย

เราจะพิจารณาความตายและความไม่เที่ยงได้อย่างไร ดังที่ได้กล่าวไว้ก่อนหน้านี้แล้ว เพียงแค่คิดว่า “ฉันจะตาย” ไม่มีประโยชน์มากนัก เราต้องคิดว่า “ถ้าฉันได้กระทำในสิ่งที่เป็นไปในทางทำลาย 10 ประการ เมื่อถึงแก่ความตาย ฉันจะต้องเผชิญกับความกลัวและความทุกข์ทรมานเป็นอย่างมาก และด้วยเหตุนี้ ฉันจึงต้องตกต่ำลงไปสู่การเกิดใหม่ที่โชคร้ายอย่างมาก ในทางกลับกัน หากในชั่วชีวิตของฉัน ฉันได้สร้างกรรมดี (บุญ) เมื่อตาย ฉันจะไม่พบกับความกลัวหรือความทุกข์ทรมานและจะได้ไปเกิดใหม่ในสภาพที่โชคดีมากกว่านี้” นั่นเป็นวิธีที่ถูกต้องในการพิจารณาความตาย

การพิจารณานี้ไม่ใช่คิดแต่ในแง่ร้ายอย่างสิ้นหวังเท่านั้นว่า “ฉันจะตายและไม่มีอะไรที่ฉันจะทำได้” แต่เราต้องคิดในแง่ของสิ่งที่จะเกิดขึ้นเมื่อเราตายมากกว่า “ฉันจะไปที่ไหนหลังจากความตาย ฉันได้สร้างเหตุอะไรขึ้นบ้าง ฉันจะทำให้การตายของฉันมีความสุขได้หรือไม่ ทำอย่างไร ฉันสามารถทำให้การเกิดใหม่ของฉันในชาติหน้ามีความสุขได้หรือไม่ แล้วทำอย่างไร

เมื่อพิจารณาถึงการเกิดใหม่ในชาติหน้า เราจำเป็นต้องจำไว้ว่า ไม่มีที่ไหนในสังสารวัฏที่เชื่อถือได้ ไม่ว่าเราจะอยู่ในสภาพร่างกายของอะไรก็ตาม ในที่สุดมันก็ต้องตาย เราอ่านในประวัติศาสตร์เกี่ยวกับผู้คนที่มีชีวิตอยู่เป็นร้อยหรือพันปี ถึงอย่างนั้นก็ตาม ไม่ว่าเรื่องราวเหล่านี้จะน่ามหัศจรรย์เพียงใด ก็ไม่มีกรณีของคนไหนที่สุดท้ายแล้วไม่ต้องตาย ร่างกายที่เป็นสังสารวัฏทุกประเภทที่เราได้รับมาต้องถึงแก่ความตายทั้งนั้น

และไม่มีสถานที่ไหนที่เราจะไปเพื่อหนีความตายได้ ไม่ว่าเราจะอยู่ที่ไหน เมื่อถึงเวลาเราก็จะต้องตาย จึงไม่มียา บทสวดมนต์ หรือการปฏิบัติใด ๆ จะช่วยได้ การผ่าตัดอาจรักษาโรคบางชนิดภายในร่างกายของเราได้ แต่ไม่มีวิธีใดที่สามารถป้องกันการเสียชีวิตได้

ไม่ว่าเราจะเกิดใหม่ในแบบใด ยังไงเราก็จะต้องตาย กระบวนการยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง การพิจารณาผลกระทบระยะยาวของการกระทำของเรา และกระบวนการของการเกิด ชีวิต ความตาย และการเกิดใหม่เป็นไปอย่างต่อเนื่องจะช่วยให้เราสร้างกรรมดีได้มากมาย

ถึงแม้บางครั้งเราจะวางแผนปฏิบัติธรรมไว้ แต่ก็มักจะวางแผนทำพรุ่งนี้หรือวันหลัง อย่างไรก็ตาม ไม่มีใครสามารถบอกได้ว่าเราจะตายเมื่อไหร่ ถ้าเรามีการรับประกันว่าเราจะมีชีวิตเหลืออยู่อีกหนึ่งร้อยปี เราคงจะมีเวลาว่างในการจัดการฝึกปฏิบัติ แต่ไม่มีความแน่นอนแม้แต่น้อยว่าเราจะตายเมื่อไหร่ ดังนั้น การเลื่อนปฏิบัติของเราจึงเป็นเรื่องโง่เขลามาก มนุษย์บางคนเสียชีวิตตั้งแต่อยู่ในครรภ์ก่อนที่จะเกิด ส่วนคนอื่น ๆ เสียชีวิตตั้งแต่ยังเป็นทารกตัวเล็ก ๆ ก่อนที่พวกเขาจะเรียนรู้ที่จะหัดเดิน มันไม่ได้ตามมาด้วยการที่เราจะมีชีวิตที่ยืนยาว

ร่างกายของคนเราบอบบางมาก ถ้าร่างกายต่าง ๆ ของเราทำจากหินหรือเหล็ก บางทีมันอาจให้ความรู้สึกมั่นคงแข็งแรงแก่เรา แต่ถ้าเราตรวจสอบดู เราจะเห็นว่าร่างกายมนุษย์อ่อนแอมาก มันง่ายมากที่จะมีอะไรบางอย่างผิดพลาดเกิดขึ้นกับร่างกายเรา ซึ่งเปรียบเสมือนนาฬิกาข้อมือบอบบางที่ทำจากชิ้นส่วนเล็ก ๆ ที่เปราะบางนับไม่ถ้วน เป็นอะไรที่ไม่น่าไว้ใจ มีหลายสถานการณ์ที่อาจทำให้เราเสียชีวิตได้  เช่น  อาหารเป็นพิษ  การกัดต่อยของแมลงตัวเล็ก ๆ หรือแม้แต่การทิ่มแทงของหนามที่มีพิษ เงื่อนไขเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านี้สามารถฆ่าเราได้ อาหารและน้ำที่เราใช้เพื่อให้เรามีชีวิตยืนยาวนั้นอาจกลายเป็นสถานการณ์ที่ทำให้ชีวิตนั้นจบลงได้ ไม่มีความแน่นอนเลยว่า เราจะตายเมื่อไหร่หรือสถานการณ์ใดที่จะทำให้เราตาย

แม้ว่า เราจะรู้สึกมั่นใจว่าเราจะมีชีวิตอยู่อีกเป็นร้อยปี แต่หลายปีของช่วงเวลานั้นก็ผ่านไปแล้ว และเรายังไม่ประสบความสำเร็จมากนัก เราเข้าใกล้ความตายเหมือนคนที่นอนหลับอยู่ในขบวนรถไฟที่กำลังเข้าใกล้จุดหมายปลายทางตลอดเวลาโดยที่ไม่รู้ถึงกระบวนการนี้ แทบจะไม่มีอะไรที่เราสามารถทำได้เพื่อหยุดกระบวนการนี้ เราก็แค่เข้าใกล้ความตายมากขึ้นเรื่อย ๆ เท่านั้นเอง

ไม่ว่าเงิน เครื่องประดับ บ้าน หรือเสื้อผ้าที่เราสะสมมาตลอดชั่วชีวิตของเรา มันจะไม่มีความสำคัญอะไรเลยในช่วงเวลาการตายของเรา เมื่อเราตาย เราจะต้องไปมือเปล่า แม้แต่วัตถุที่มีขนาดเล็กที่สุดก็ไม่สามารถนำติดตัวไปด้วยได้ ร่างกายตัวเองก็ต้องถูกทิ้งไป ร่างกายและจิตใจแยกจากกัน และกระแสธารแห่งจิตใจดำเนินต่อไปด้วยตัวเอง ไม่เพียงแต่เป็นไปไม่ได้ที่จะเอาทรัพย์สินของเราไปด้วยเท่านั้น แต่เรายังไม่สามารถแม้แต่จะเอาร่างกายของเราไปได้

กรรม

อะไรคือสิ่งที่มาพร้อมกับสติวิญญาณหลังความตาย ถ้าเราต้องทิ้งร่างกายของเรา เพื่อนของเรา และทรัพย์สินทั้งหมดของเรา จะมีผู้ช่วยเหลือหรืออะไรก็ตามที่มาพร้อมกับสติวิญญาณของเราไปยังชีวิตในชาติหน้าหรือไม่

มีบางสิ่งที่ตามมาหลังสติวิญญาณหลังจากความตายนั่นก็คือ มรดกกรรม (เมล็ดพืช) ที่เราสร้างขึ้นในชั่วชีวิตนี้ หากเรากระทำกรรมชั่วสิบประการ มรดกแห่งกรรมชั่วหรือหนี้กรรมจะมาพร้อมกับความต่อเนื่องของจิตใจของเรา ขณะที่สิ่งเหล่านั้นดำเนินไปสู่การเกิดใหม่ของเราในชาติหน้า จากการฆ่าสัตว์อื่น ขโมยทรัพย์สินของผู้อื่น หรือหลงระเริงในการประพฤติผิดในกาม มรดกแห่งกรรมชั่วจากการกระทำของร่างกายที่เป็นไปในทางทำลายเหล่านี้ก็จะอยู่ในกระแสธารแห่งจิตใจ การโกหกใส่ร้ายผู้อื่นและก่อให้เกิดความแตกแยกในหมู่ผู้คน ทำร้ายผู้อื่นด้วยคำพูด หรือพูดอย่างไร้ความหมาย หนี้กรรมของการกระทำที่เป็นคำพูดเชิงลบเหล่านี้จะเดินทางไปกับเราในเวลาที่เราตาย หากเรามีความคิดโลภมาก ซึ่งมักปรารถนาที่จะครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่น หากเรามีเจตนาร้ายต่อผู้อื่นโดยหวังว่าพวกเขาจะได้รับอันตรายหรือให้มีสิ่งเลวร้ายเกิดขึ้นกับพวกเขา หรือถ้าเราคิดอย่างบิดเบือนด้วยการต่อต้าน เช่น “ไม่มีชาติก่อนหรือชาติหน้า” “ไม่มีสิ่งที่เป็นเหตุและผล” “ไม่มีสิ่งที่เป็นทิศทางที่ปลอดภัยของที่พึ่ง” การกระทำของจิตใจที่เป็นไปในทางทำลายล้างเหล่านี้ จะสร้างมรดกแห่งกรรมชั่วที่เดินทางไปด้วย และนำจิตใจของเราไปสู่การเกิดใหม่ในชาติหน้า

ด้านที่ตรงกันข้ามก็เป็นจริงเช่นกัน ถ้าเราสร้างกรรมดีและหันหลังให้กับการสร้างสิ่งที่เป็นไปในทางลบแล้ว มรดกกรรมแห่งกรรมดีดังกล่าวก็จะเดินทางไปตามกระแสธารแห่งจิตใจของเรา และก่อให้เกิดสถานการณ์ที่ดีขึ้นแก่ชีวิตของเราในชาติหน้า

เมื่อเราคิดถึงสถานการณ์ที่เราอยู่จริง ๆ แล้ว เราจึงตัดสินใจที่จะพยายามทุกวิถีทางเพื่อสร้างกรรมดีและขจัดสิ่งที่ตรงกันข้าม เราต้องพยายามชำระล้างตัวเองจากการทำชั่วให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยไม่ทิ้งแม้แต่หนี้กรรมที่เล็กน้อยที่สุดที่จะต้องชดใช้ในชีวิตของเราในชาติหน้า

เราต้องดูว่าปฏิกิริยาประเภทใดที่สามารถเกิดขึ้นได้ภายใต้กฎแห่งเหตุและผล มีเรื่องราวของคน ๆ หนึ่งที่มีคุณสมบัติที่ดีมากมาย แต่กลับพูดจาหยาบรุนแรง เขาทำร้ายอีกคนหนึ่งโดยพูดว่า “คุณพูดเหมือนหมา” เป็นผลให้ตัวเขาเองได้เกิดใหม่เป็นสุนัขห้าร้อยครั้ง การกระทำที่ดูเหมือนเล็ก ๆ น้อย ๆ สามารถก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ใหญ่โตได้

ในทำนองเดียวกัน การทำดีแม้เพียงเล็กน้อยก็สามารถก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ยอดเยี่ยมได้ มีเรื่องราวของเด็กหนุ่มที่ถวายเครื่องบูชาที่เรียบง่ายแด่พระพุทธเจ้า และผลที่ตามมาคือ เขาได้เกิดใหม่เป็นกษัตริย์อโศกผู้ยิ่งใหญ่ ผู้สร้างพุทธศาสนสถานหลายพันแห่ง และทำกิจกรรมอันประเสริฐนับไม่ถ้วน

การเสียสละและความเห็นอกเห็นใจ

การพิจารณาถึงการกระทำที่เป็นการทำลายประเภทต่าง ๆ ที่เราได้กระทำและผลลัพธ์ของมันเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพมากในการประกันสวัสดิภาพและความสุขของเรา หากเราคิดถึงความทุกข์ทรมานที่เราจะต้องเผชิญ ซึ่งเป็นผลมาจากการกระทำในทางลบของเรา ดังนั้นแล้ว จึงทำให้เกิดความปรารถนาอันแรงกล้าที่ไม่ต้องการจะประสบกับความทุกข์ยากประเภทนี้นั่นคือ เราได้พัฒนาสิ่งที่เรียกว่า "การเสียสละ"

การทำให้ตัวเราคุ้นเคยกับการคิดแบบนี้ ในตัวมันเองก็คือ รูปแบบหนึ่งของการทำสมาธิ อันดับแรก เราจำเป็นต้องพัฒนาสติที่มีต่อความทุกข์ของเราเองก่อน จากนั้นเราต้องขยายสตินี้ไปยังสิ่งมีชีวิตทั้งหมด พิจารณาว่าสิ่งมีชีวิตทั้งหมดไม่ต้องการที่จะมีความทุกข์ใด ๆ แต่ก็ยังตกอยู่ในสถานการณ์ที่ลำบากทุกข์ทรมาน การคิดประเภทนี้นำเราไปสู่ความเห็นอกเห็นใจ หากเราไม่พัฒนาความต้องการที่จะเป็นอิสระจากความทุกข์ทั้งหมดของเราแล้ว เราจะพัฒนาความต้องการที่จะให้สิ่งมีชีวิตอื่นเป็นอิสระจากสิ่งเหล่านี้ได้อย่างไร เราสามารถขจัดความทุกข์ทั้งหมดของตัวเองได้ แต่ไม่ใช่ประโยชน์สุดท้าย เราจำเป็นต้องขยายความต้องการนี้ไปยังสิ่งมีชีวิตทั้งหมดที่ต้องการความสุขเช่นกัน เราสามารถฝึกจิตใจและพัฒนาความต้องการให้ทุกคนแยกจากความทุกข์ยากของพวกเขาได้อย่างสมบูรณ์ นี่เป็นวิธีการคิดที่กว้างและเป็นประโยชน์มากกว่า

ทำไมเราจำเป็นต้องเป็นห่วงกังวลกับสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ด้วย ก็เพราะว่าเราได้รับอะไรมากมายจากผู้อื่น ตัวอย่างเช่น นมที่เราดื่มมาจากความน้ำใจของวัวและควาย เสื้อผ้าที่อบอุ่นที่ช่วยปกป้องเราจากความหนาวเย็นและลมก็มาจากขนแกะและแพะ เป็นต้น นี่เป็นเพียงตัวอย่างบางส่วนที่ว่าทำไมเราจำเป็นต้องพยายามหาวิธีที่จะขจัดความทุกข์ของพวกเขา

ไม่ว่าเราจะปฏิบัติแบบไหน ทั้งการท่องบทสวดมนต์ หรือการทำสมาธิแบบใดก็ตาม เราจำเป็นต้องจดจำไว้เสมอว่า “ขอให้สิ่งนี้เป็นประโยชน์ต่อสิ่งมีชีวิตที่จำกัดเหล่านี้ทั้งหมด” สิ่งนี้ย่อมจะก่อให้เกิดประโยชน์แก่เราเช่นกัน สถานการณ์ชีวิตธรรมดาของเราสามารถทำให้เราเห็นคุณค่าของสิ่งนี้ ตัวอย่างเช่น ถ้าใครบางคนเห็นแก่ตัวมากและมักจะทำงานเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง คน ๆ นั้นก็จะไม่เป็นที่ชื่นชอบของคนอื่น ในทางกลับกัน คนที่มีน้ำใจและคิดช่วยเหลือผู้อื่นอยู่เสมอมักจะเป็นที่ชื่นชอบของทุกคน

ความคิดที่จะพัฒนาในภาวะต่อเนื่องทางจิตใจของเราคือ “ขอให้ทุกคนมีความสุขและไม่มีใครมีความทุกข์” เราต้องพยายามรวมสิ่งนี้เข้ากับการคิดของเราเองผ่านการระลึกถึงมันครั้งแล้วครั้งเล่า สิ่งนี้อาจเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ผู้ที่พัฒนาความคิดแบบนี้ในอดีตคือพระพุทธเจ้า พระโพธิสัตว์ หรือนักบุญต่าง ๆ ซึ่งผู้ชายและผู้หญิงที่ยิ่งใหญ่ทั้งหมดของโลกยึดเอาสิ่งนี้เป็นหลักพื้นฐานของตนเอง จะวิเศษแค่ไหนถ้าเราสามารถสร้างมันขึ้นมาได้ด้วยตัวเราเอง!

กรรมของการทำร้ายผู้อื่นเพื่อปกป้องคนที่เรารัก

มีคำแนะนำว่าอย่าปกป้องตัวเองเมื่อมีคนพยายามทำร้ายเราใช่หรือไม่

คำถามนี้นำสู่หัวเรื่องที่กว้างขวางมาก ถ้ามีใครตีคุณด้วยไม้กระบองหรือไม้เท้าที่ศีรษะ การตอบสนองที่ดีที่สุดคือ การพิจารณาใคร่ครวญว่าคุณประสบปัญหานี้เนื่องจากการทำชั่วในอดีตของคุณเอง ลองนึกดูว่า บุคคลนี้ปล่อยให้มรดกกรรมที่ทำนี้สุกงอมในตอนนี้ได้อย่างไร แทนที่จะเป็นบางเวลาในอนาคต คุณจำเป็นต้องรู้สึกขอบคุณที่เขาได้กำจัดหนี้แห่งกรรมชั่วนี้ออกจากกระแสธารแห่งจิตใจของคุณแล้ว

ถ้ามีคนทำร้ายภรรยาหรือลูกของฉัน ซึ่งเป็นคนที่อยู่ภายใต้การคุ้มครองของฉัน ฉันควรปกป้องพวกเขาไหม มันจะเป็นการทำชั่วหรือไม่

เนื่องจากเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของคุณที่จะต้องปกป้องภรรยาและลูกของคุณ คุณจึงต้องพยายามทำอย่างชำนาญที่สุดเท่าที่จะทำได้ คุณต้องฉลาด ที่ดีที่สุดคือ การปกป้องพวกเขาโดยไม่ทำร้ายผู้ที่มาทำร้ายนั้น กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ คุณต้องหาวิธีป้องกันโดยที่คุณจะไม่สร้างความเจ็บปวดใด ๆ

เขาสามารถทำร้ายลูกของฉันได้ แต่ฉันไม่สามารถทำร้ายเขาได้ ไม่ใช่หน้าที่ของเราที่จะปกป้องลูก ของเราจากการกระทำที่ป่าเถื่อนและโหดร้ายหรือ เราจะต้องสละชีวิตของเราหรือไม่

เพื่อที่จะรับมือกับสถานการณ์นี้อย่างชำนาญ คุณต้องมีความกล้าหาญอย่างมาก มีเรื่องราวเกี่ยวกับชาติก่อนของพระพุทธเจ้า ซึ่งชาติหนึ่งเป็นนักเดินเรือที่ล่องทะเลไปกับกลุ่มคนห้าร้อยคนเพื่อค้นหาขุมทรัพย์ที่ฝังอยู่ มีชายคนหนึ่งในกลุ่มนี้ที่มีความคิดโลภมาก และเพื่อที่จะขโมยอัญมณีทั้งหมดเป็นของตัวเองจึงวางแผนที่จะสังหารคนทั้งห้าร้อยคนทั้งหมดนั้น พระโพธิสัตว์ (พระศากยมุนีในชาติก่อน) ตระหนักถึงเรื่องนี้ และคิดว่าการปล่อยให้สถานการณ์พัฒนาไปถึงขั้นนั้นไม่ถูกต้อง เพราะชายหนึ่งคนจะฆ่าคนห้าร้อยคน ดังนั้น พระองค์จึงพัฒนาความคิดที่กล้าหาญมากที่จะช่วยคนทั้งห้าร้อยคนนั้นโดยการฆ่าชายคนนี้ โดยเต็มใจรับผิดชอบในการฆ่าอย่างเต็มที่ ถ้าคุณเต็มใจที่จะยอมรับการต้องไปเกิดใหม่ในนรกเพื่อช่วยชีวิตผู้อื่น คุณมีความคิดที่กล้าหาญอย่างมาก จากนั้นแล้ว คุณก็สามารถมีส่วนร่วมในการกระทำเหล่านี้เช่นเดียวกับที่พระพุทธเจ้าได้ทำ

ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ การฆ่ายังคงถือว่าเป็นการทำชั่วหรือไม่

นาคารชุนะ (Nagarjuna) เขียนไว้ในจดหมายถึงเพื่อน (Letter to a Friend) ของเขาว่า หากผู้ใดทำชั่วเพื่อปกป้องพ่อแม่ ลูกหลาน พระพุทธศาสนา หรือพระรัตนตรัย คน ๆ นั้นก็จะต้องประสบกับผลที่ตามมา ความแตกต่างอยู่ที่ว่า คุณตระหนักถึงผลที่ตามมาหรือไม่ และเต็มใจที่จะรับสิ่งเหล่านั้นมาสู่ตัวเองเพื่อปกป้องภรรยาและลูกของคุณอย่างไม่เห็นแก่ตัวหรือไม่ ถ้าคุณทำร้ายศัตรู คุณจะต้องประสบกับการเกิดใหม่ที่ทุกข์ทรมาน อย่างไรก็ตาม คุณต้องเต็มใจที่จะเผชิญกับสิ่งนี้โดยคิดว่า “ฉันจะรับความทุกข์นั้นไว้กับตัวเอง แล้วภรรยาและลูกของฉันจะไม่ทุกข์ทรมาน”

แล้วตามหลักพุทธศาสนา ก็ยังจะเป็นการกระทำในทางลบอยู่หรือไม่

การปกป้องภรรยาและลูกของคุณเป็นการกระทำที่ดีสร้างสรรค์ แต่การทำร้ายศัตรูนั้นเป็นผลไปในทางลบและเป็นไปในทางทำลาย คุณจะต้องเต็มใจที่จะยอมรับผลลัพธ์ทั้งสองอย่างของมัน

คุณบอกว่าถ้าใครก่อกรรมชั่ว คน นั้นจะต้องทนทุกข์ในอนาคต แต่ถ้าใครทำดี ความสุขก็จะตามมา การกระทำที่ดีเหล่านี้จะนำไปสู่ความหลุดพ้นที่สมบูรณ์ในแง่ของการไม่ต้องประสบกับการเกิดใหม่ได้หรือไม่

ถ้าคุณต้องการบรรลุความหลุดพ้น คุณจะต้องปฏิบัติตามคำสอนอย่างครบถ้วนและแม่นยำ ตัวอย่างเช่น หากคุณกำลังดำเนินตามเส้นทางของคริสเตียน คุณก็ต้องปฏิบัติตามคำสอนของพระเยซูคริสต์อย่างสมบูรณ์แบบ แล้วการช่วยไถ่บาปของคริสเตียนก็เป็นไปได้ พระเยซูเพียงลำพังไม่สามารถช่วยเราให้รอดจากบาปของเราได้ เราเองต้องทำอะไรบางอย่าง มิฉะนั้น เหตุใดพระเยซูจึงตรัสว่าไม่ทำบาป ถ้าเราทำตามสิ่งที่พระเยซูสอนอย่างถูกต้อง ผมคิดว่าการช่วยไถ่บาปของคริสเตียนก็เป็นไปได้ ถ้าเราปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้าอย่างถูกต้อง “ความหลุดพ้น” ของพระพุทธศาสนา ซึ่งหมายถึงการปลดปล่อยให้เป็นอิสระก็เป็นไปได้

Top