ความสุขเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทางกาย หรือทางใจก็ได้ ความทุกข์ก็มีสองประเภทเช่นกัน นั่นคือ ความทุกข์ทางกาย และ ความทุกข์ทางใจ สำหรับพวกเราหลายคน แม้ปรารถนาหาความสุขมากเพียงใดกลับเพิกเฉยต่อวิธีการต่าง ๆ ในการได้รับความสุข วิธีการต่าง ๆ ที่เราใช้นำพาเราไปสู่ความทุกข์
บางคนลักขโมยและเข่นฆ่าเพื่อเลี้ยงชีพ พวกเขาคิดว่าการทำเช่นนี้จะนำพาความสุขมาสู่ตน มันไม่ได้เป็นเช่นนั้นเลย มีผู้คนอีกจำนวนมากที่พยายามบรรลุความสุขด้วยการทำมาหาชีพเป็นพ่อค้า ชาวไร่ชาวนา และอื่น ๆ อีกมากมายที่อยู่ในขอบเขตของกฎหมาย หลายคนได้รับความร่ำรวยและชื่อเสียงจากวิธีเหล่านี้ ความสุขประเภทนี้มิใช่สิ่งที่สามารถคงอยู่ได้ตลอดไป กล่าวคือ มิใช่ความสุขขั้นสูงสุด ไม่ว่าเราจะมีความสุข หรือทรัพย์สมบัติมากเพียงใด เราก็มิเคยพึงพอใจว่าเรามีเพียงพอแล้ว ถึงแม้เราจะเป็นเจ้าของทั้งประเทศ เราก็ยังคงอยากได้มากขึ้นไปอีก
การปฏิบัติที่เราต้องทำเพื่อบรรลุความสุขนั้นมิรู้จบสิ้น เราพยายามลัดเลาะด้วยวิธีการที่เร็วที่สุดที่หาได้ เช่น ด้วยการใช้รถยนต์ เป็นต้น การเสาะแสวงหาประเภทนี้จึงมิมีที่สิ้นสุด นี่เป็นที่มาของคำกล่าวที่ว่า การดำรงอยู่แบบสังสารวัฏไม่มีจุดจบ มันดำเนินวนเวียนต่อไปเรื่อย ๆ พวกเราทั้งหลายพึงทำความเข้าใจตรงนี้ กล่าวคือ การเสาะแสวงหาทางโลกนั้นมิมีจบสิ้น
ดอกไม้ใหม่ย่อมสด เมื่อแก่แล้วย่อมเหี่ยวเฉาไป ไม่ว่าท่านจะประสบความสำเร็จมากเพียงใดในชีวิตชาตินี้ มันย่อมมาถึงจุดจบ มันมาถึงจุดจบในขณะที่เวลาเดินต่อไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งถึงบั้นปลายชีวิตที่เราต้องทนทุกข์มากที่สุด ยกตัวอย่างเช่น รถยนต์ ท่านผ่านลานขยะที่คนเขาเอารถเก่า ๆ มาโยนทิ้งไว้ นี่แลคือจุดจบสุดท้าย ในสภาพที่ทุกสรรพสิ่งได้กลับกลายเป็นขยะ แม้ในขณะที่รถยนต์อยู่ในสภาพดี เราก็ยังเป็นกังวล เรากังวลว่าชิ้นส่วนอะไหล่ต่าง ๆ จะพัง ไหนจะเรื่องการชำระภาษีและประกันต่าง ๆ รวมถึงอื่น ๆ อีกมากมาย เราสามารถขยายตัวอย่างนี้ให้ครอบคลุมกับการครอบครองสิ่งของต่าง ๆ ได้ ยิ่งเรามีมากเท่าไร เราก็ยิ่งเป็นกังวลกับสิ่งเหล่านั้นมากขึ้นเท่านั้น
พระธรรมเป็นสิ่งที่สอนวิธีการต่าง ๆ เพื่อนำมาซึ่งความสุขทางใจ ในการบรรลุความสุขทางใจบางประเภทนั้น เรามิจำเป็นต้องปฏิบัติฝึกฝนทางกายใด ๆ เลย เราจำเป็นต้องฝึกจิตของเรา อย่างไรก็ตาม จิตมีกระแสความต่อเนื่องอันยาวนาน แผ่ไปถึงชีวิตในชาติภายภาคหน้า และครอบคลุมชาติทั้งหลายในอดีตด้วย ในแต่ละชาตินั้น เรามีร่างกายและเราพยายามสร้างความสุขให้กับร่างกายนั้น แต่ ณ ห้วงเวลาแห่งความตาย จิตยังคงดำเนินต่อไป ดังนั้นความสุขที่เราพึงปรารถนานั้นจึงมิใช่เพียงแค่ความสุขที่ยิ่งใหญ่และมั่นคงเท่านั้น แต่ยังเป็นความสุขที่คงอยู่ทุกชาติไปกอปรกับมิมีการยุติในความต่อเนื่องนี้
ไม่ว่าเราจะทำกิจกรรมประเภทใด เป็นประโยชน์หรือไม่ก็ตาม นั่นมิใช่พระธรรม หากแต่การกระทำเชิงบวกที่กระทำเพื่อประโยชน์สุขของชีวิตภายภาคหน้าต่างหาก นั่นแลคือพระธรรม
สุขทุกข์เกิดจากการกระทำของเรา สำหรับการกระทำแห่งกรรมนี้ การกระทำเชิงลบย่อมทำให้เกิดผลลัพธ์เชิงลบ และการกระทำเชิงบวกย่อมนำพาผลลัพธ์เชิงบวก สิ่งใดที่เราสามารถทำได้ดีในชีวิตนี้ เช่นว่า การปลูกข้าว และอื่น ๆ นั้น เป็นผลลัพธ์ของการกระทำเชิงบวกที่เราทำไว้ในอดีตชาติ หากเราป่วยหนัก หรือหากเราเป็นทุกข์ หรือมีชีวิตสั้น นั่นก็เป็นผลลัพธ์ของการกระทำเชิงลบที่เราทำไว้ในอดีตชาติ
ยกตัวอย่างเช่น มีพ่อค้าสองคน คนหนึ่งประสบความสำเร็จ อีกคนไม่เป็นอย่างนั้น ตรงนี้เป็นเพราะกรรมเก่า ท่านพึงพิจารณานักธุรกิจสองคน คนหนึ่งทำงานอย่างหนักหน่วงและไม่ประสบความสำเร็จ ในขณะที่อีกคนมิต้องทำงานหนักขนาดนั้น แต่กลับประสบความสำเร็จ อีกตัวอย่างหนึ่งคือ หากท่านฆ่าชีวิต ท่านจะมีอายุสั้นและจะถูกรุมล้อมด้วยโรคภัยไข้เจ็บ ท่านสามารถสอบถามอาจารย์ในหลักสูตรถึงรายละเอียดของทั้งหมดนี้ได้
หากท่านละเว้นจากการกระทำการเชิงลบเหล่านี้ ท่านย่อมไม่ไปเกิดในภพภูมิที่ต่ำกว่า แต่เกิดในภูมิมนุษย์ หรือภูมิเทพ แต่แม้หากท่านเกิดเป็นมนุษย์ หรือเป็นเทพ นี่ก็ไม่ได้นำพาความสุขขั้นสูงสุดมาให้ท่านอยู่ดี ทั้งหมดล้วนคงอยู่ในธรรมชาติแห่งความทุกข์ ทำไมถึงเป็นเช่นนี้หรือ หากท่านบรรลุตำแหน่งที่สูงส่งขึ้น ท่านย่อมร่วงหล่นลงมายังที่ต่ำกว่า หากท่านอยู่ที่ต่ำ ท่านย่อมขึ้นไปสู่ที่สูงขึ้น ในลักษณะนี้มีความทุกข์ทรมานมากมาย ยกตัวอย่างเช่น หากท่านหิวโหย ท่านจึงทานอาหาร แต่หากท่านทานมากไป ท่านย่อมรู้สึกป่วย หากท่านรู้สึกหนาว ท่านเปิดฮีตเตอร์ ซึ่งทำให้ร้อนเกินไป จึงต้องคลายร้อนอีก ความทุกข์ในประเภทนี้มีอยู่เต็มไปหมด
สังสารวัฏ (การเวียนว่ายตายเกิดอันไม่อาจควบคุมได้) ประกอบไปด้วยประเภทความทุกข์เหล่านี้ มันเป็นผลของกรรม กอปรกับอารมณ์และทัศนคติรบกวนทั้งหลาย เราพึงสร้างปัญญา (การตระหนักรู้เชิงแยกแยะ) เรื่องสุญญตา หรือความไร้ซึ่งตัวตนเถิด
เราพึงพิจารณาตัวอย่างของผู้ที่ไปถึงจุดจบของสังสารวัฏของตน นั่นคือ พระอรหันต์ทั้งสิบหกรูป และ อริยบุคคลทั้งหลายที่ได้บรรลุสภาวะดังกล่าวนี้ แม้เราจะสามารถจบการเวียนว่ายตายเกิดของเราได้ การทำเช่นนี้นั้นไม่เพียงพอ เพราะมิมีใครที่ให้ความน้ำใจแก่เราไปมากกว่าสรรพชีวิตที่จำกัดทั้งปวงอีกแล้ว (สิ่งมีชีวิตที่มีความรู้สึก) ผลิตภัณฑ์จากนมมาจากความน้ำใจของเหล่าสัตว์ หากเราเพลิดเพลินกับการทานเนื้อสัตว์ นี่ก็มาจากสัตว์ที่ถูกเชือดในขณะที่มันยังแข็งแรงอยู่เช่นกัน ในฤดูหนาว เราใส่เสื้อโค้ทที่ทำจากหนังสัตว์และขนสัตว์ ซึ่งล้วนมาจากสัตว์ พวกมันน้ำใจเหลือเกินที่มอบสิ่งเหล่านี้ให้กับเรา เราจำเป็นต้องตอบแทนความน้ำใจของสรรพชีวิตทั้งหลายทั้งปวงด้วยการบรรลุพุทธภาวะให้ได้ด้วยตัวเอง เมื่อนั้นเราจึงจะสามารถเติมเต็มเป้าหมายของสรรพชีวิตที่จำกัดทั้งหลายได้
เหล่าสาวกและพระอรหันต์ไม่สามารถเติมเต็มจุดประสงค์ทั้งหมดของสรรพชีวิตที่จำกัดได้ ผู้เดียวที่ทำเช่นนี้ได้คือ พระพุทธเจ้า ดังนั้นนี่จึงเป็นสิ่งที่เราต้องทำเพื่อช่วยเหลือพวกเขาอย่างแท้จริง เราจำเป็นต้องกลายเป็นพระพุทธเจ้าด้วยตัวของเราเอง
เราจะทำเช่นนี้ได้อย่างไร ด้วยการปฏิบัติตามพระธรรม ในประเทศอินเดียมีมหาสิทธาที่บรรลุขั้นสูง เรามีเรื่องราวชีวประวัติของพวกท่านทั้งแปดสิบคน แต่จริง ๆ แล้วยังมีคนอีกมากมายเหลือคณานับในกลุ่มนี้ พวกเขาบรรลุการตรัสรู้ในช่วงชีวิตของตน ในประเทศทิเบตมีตัวอย่างของมิลาเรปะ (Milarepa) และปรมาจารย์ผู้ยิ่งใหญ่หลายท่านจากนิกายการ์จู (Kagyu) นิกายเนียงม่า (Nyingma) นิกายศากยะ (Sakya) และนิกายเกลุก (Gelug)
เมื่อเราได้บรรลุสภาวะแห่งพุทธะแล้ว ความพากเพียรในธรรมของเราจึงสิ้นสุดลง การฝึกตนในธรรมนั้นยากลำบากเหลือแสนตอนเริ่มต้น แต่มันค่อย ๆ ง่ายขึ้นเรื่อย ๆ และเราก็มีความสุขมากขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อเราก้าวหน้า เราฝึกตนในธรรมเสร็จสมบูรณ์ในสภาวะแห่งความสุขอันเป็นนิรันดร์ การฝึกตนทางโลกรังแต่จะนำมาซึ่งความทุกข์เพิ่มเติม
ยกตัวอย่างเช่น เมื่อคนเราตาย ชีวิตของพวกเขาที่มาถึงจุดสูงสุด หรือจุดจบในความตายรังแต่จะก่อให้เกิดความโศกเศร้าและความทุกข์ มิใช่สำหรับตนเองเท่านั้น แต่ยังเป็นเช่นนั้นสำหรับผู้ที่ถูกทอดทิ้งไว้ข้างหลังอีกด้วย เช่น ผู้ที่มาร่วมงานศพของเขา เราพึงคำนึงถึงตรงนี้และฝึกตนในธรรมบางประการ การไปถึงจุดสูงสุด หรือจุดจบของพระธรรมด้วยการบรรลุการตรัสรู้มีแต่จะนำมาซึ่งความสุข มิใช่แค่กับตัวเรา แต่เป็นผู้คนทั้งหลายทั้งปวงด้วย
เราจำเป็นต้องละเว้นการกระทำการเชิงลบทั้งสิบประการ หากเรากระทำการเชิงบวก เราประสบกับความสุข และหากเรากระทำการเชิงลบ เราประสบกับความทุกข์ เราจำเป็นต้องพิจารณาถึงผลลัพธ์ของการกระทำของเรา และเราจำเป็นต้องพิจารณาจิตของตนเองในฐานะเหตุแห่งการกระทำทั้งหลายเหล่านี้ เมื่อพิจารณาแล้ว เราย่อมเห็นว่ามีอารมณ์และทัศนคติที่เป็นพิษสามประการ นั่นคือ ตัณหา ความเกลียดชัง และอวิชชาที่คับแคบ (ความไร้เดียงสา)
จากตรงนี้เราได้รับอารมณ์และทัศนคติรบกวน 84,000 ประการ ภาพมายาทั้ง 84,00 ประการนี้เป็นศัตรูตัวฉกาจของเรา เราจึงพึงมองหาศัตรูภายในตัวเรา มิใช่รอบตัวเรา ในบรรดา 84,000 ประการ ประการหลัก ๆ คือยาพิษทั้งสามประการนี้ และที่แย่ที่สุดคืออวิชชาที่คับแคบ หรือความไร้เดียงสา ซึ่งอยู่ภายในกระแสจิตของเรานี่เอง
กล่าวโดยสรุปคือ เราพึงมองเข้าหาตัวและพยายามนำพาจุดจบมาสู่ศัตรูภายในของเรา ด้วยเหตุนี้ผู้ปฏิบัติพระธรรมของพระพุทธเจ้าจึงเรียกว่า “ผู้อยู่ภายใน (นัง-ปา)” เพราะพวกเขามองเข้าหาภายในตัวเองเสมอ หากเรานำจุดจบมาสู่อารมณ์และทัศนคติรบกวนเหล่านี้ในความต่อเนื่องทางจิตของเราได้ เมื่อนั้นเราย่อมนำพาจุดจบจบมาสู่ความทุกข์ทั้งปวง บุคคลที่ฝึกฝนปฏิบัติเช่นนี้เป็นที่รู้จักกันในนามผู้ปฏิบัติตามพระธรรม
กิจกรรมทางธรรมของผู้ที่ฝึกฝนปฏิบัติเพื่อกำจัดอารมณ์และทัศนคติรบกวนภายในตนเอง คือ กิจกรรมทางธรรมแห่งหินยาน หากเราฝึกฝนปฏิบัติตนเพื่อกำจัดมายาภาพทั้งหลาย มิใช่แค่เพื่อดับทุกข์ส่วนตน แต่มองว่าผู้อื่นนั้นสำคัญกว่าและเพียรพยายามเอาชนะมายาภาพเหล่านั้นเพื่อที่เราจะได้สามารถช่วยพวกเขากำจัดอารมณ์และทัศนคติรบกวนออกจากจิตของพวกเขาเช่นกัน เช่นนั้นเราจึงเป็นผู้ปฏิบัติมหายาน บนรากฐานการฝึกฝนปฏิบัติด้วยร่างกายนี้ เราจำเป็นต้องพยายามก้าวขึ้นเป็นผู้ปฏิบัติมหายาน และผลลัพธ์ที่ได้คือ เราสามารถบรรลุสภาวะการตรัสรู้แห่งพระพุทธเจ้าได้
ประเด็นสำคัญ คือ พึงพยายามสร้างประโยชน์แก่ทุกคนอยู่เสมอ และจงอย่าสร้างอันตรายให้ผู้ใดเป็นอันขาด หากเราท่องบท “โอมมะนี ปัดมี ฮุม” ท่านพึงระลึกว่า “ขอให้พลังงานเชิงบวกจากการทำเช่นนี้ก่อให้เกิดประโยชน์แด่สรรพชีวิตที่จำกัดทั้งหลายด้วยเทอญ”
ร่างกายที่เรามีเป็นรากฐานการปฏิบัตินี้ยากต่อการได้มานัก กล่าวคือ การเกิดเป็นมนุษย์มิใช่เรื่องที่เกิดขึ้นได้ง่าย ๆ เลย ตัวอย่าง ลองดูโลกใบนี้เถิด พื้นที่ส่วนใหญ่ของโลกคือมหาสมุทร แล้วลองคิดดูว่ามีปลากี่ตัวในมหาสมุทรทั้งหลายเหล่านี้ รูปแบบชีวิตที่มีจำนวนมากที่สุด คือ เหล่าสัตว์และแมลง หากเราคิดถึงโลกทั้งใบและจำนวนสัตว์และแมลงทั้งหมดนั้น เราจึงจะเห็นว่าการเกิดเป็นมนุษย์เป็นสิ่งหายากเพียงใด
บทสรุป
ในการฝึกพระธรรมนั้น ความตระหนักรู้และความเข้าใจเชิงลึกทั้งหลายค่อย ๆ เป็นไปอย่างเชื่องช้า มิใช่ภายในไม่กี่วัน ไม่กี่สัปดาห์ หรือไม่กี่เดือน มีมนุษย์อยู่เพียงน้อยนิดที่คิดถึงพระธรรมอย่างจริงจัง จึงมิต้องกล่าวถึงการตระหนักถึงพระธรรมเลย เราจึงจำเป็นต้องฝึกฝนปฏิบัติพระธรรมอย่างสม่ำเสมอเป็นระยะเวลานาน ท่านมีอาจารย์ที่มีคุณสมบัติเพียบพร้อมคอยตอบคำถามทั้งหมดของท่าน ในระยะยาว พระธรรมของพระพุทธเจ้าจะเจริญเติบโตและแผ่ขยายครอบคลุมไปเรื่อย มันยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และงอกงามขึ้นอย่างแท้จริง ยามที่พระพุทธเจ้าทรงปฐมเทศนา พระองค์ทรงมีลูกศิษย์เพียงห้าคนเท่านั้น เริ่มจากบุคคลเหล่านี้ และตอนนี้จึงปรากฏอยู่อย่างแพร่หลาย
ขณะนี้เรามีบุคคลที่เทียบเท่ากับพระศากยมุนีพุทธเจ้าแล้ว นั่นคือ สมเด็จองค์ดาไลลามะ ผู้จะเสด็จมาที่นี่ในเดือนตุลาคม ไม่ว่าสมเด็จจะทรงสอนหลักธรรมใดแก่ท่าน จงนำสิ่งนั้นไปพินิจพิเคราะห์และปฏิบัติอย่างจริงใจเถิด แก่นแท้ของหลักคำสอนทั้งหลาย คือ จงอย่าทำร้ายสรรพชีวิตใด ๆ และจงอย่าได้มีความคิดร้ายใด ๆ เลย กล่าวคือ จงพยายามสร้างประโยชน์สุขแก่พวกเขาเท่านั้น นี่คือประเด็นหลัก หากท่านประพฤติเช่นนี้ มันย่อมนำพาประโยชน์อันยิ่งใหญ่มาสู่อนาคต