ความจริงอันประเสริฐประการที่สาม: การดับทุกข์ที่แท้จริง

เมื่อเรามองเห็นความทุกข์อันแท้จริงที่เราประสบในชีวิตและระบุสาเหตุที่แท้จริงของทุกข์เหล่านั้นแล้ว หากเราต้องการกำจัดความทุกข์เหล่านี้อย่างสมบูรณ์ เราจำเป็นต้องป้องกันไม่ให้มันเกิดซ้ำอีก ความจริงอันประเสริฐประการที่สามที่พระพุทธเจ้าทรงตระหนักรู้จากประสบการณ์ของพระองค์เองและทรงนำมาสอนคือ การดับที่แท้จริงของทุกข์และสาเหตุของทุกข์ทั้งปวงในลักษณะที่ไม่ทำให้เกิดขึ้นอีกเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ การกระทำเช่นนี้เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ เพราะธรรมชาติของจิตนั้นบริสุทธิ์

ความทุกข์ที่แท้จริงและสาเหตุที่แท้จริงของความทุกข์เหล่านี้

พระพุทธเจ้าทรงสอนว่า แม้เราจะประสบกับปัญหามากมายในชีวิต ความทุกข์ที่แท้จริงคือข้อเท็จจริงที่เราสืบสานการเกิดซ้ำแล้วซ้ำอีกของความทุกข์เหล่านั้น  เราสืบสานการประสบความไม่มีสุข และความสุขที่ไม่น่าพึงพอใจอันขาขึ้นขาลงอย่างควบคุมไม่ได้ และเราสืบสานของการมีร่างกายและจิตใจที่จำกัดในการเกิดใหม่แต่ละชาติ โดยสิ่งเหล่านี้เป็นพื้นฐานในการประสบกับอารมณ์ขาขึ้นขาลงดังกล่าว  นอกจากนี้พระพุทธเจ้ายังทรงสอนว่าสาเหตุที่แท้จริงของการสืบสานสิ่งเหล่านี้อยู่ในจิตใจของเรานั่นเอง

จิตของเราสร้างภาพความจริงที่เป็นเท็จเกี่ยวกับผลลัพธ์ของพฤติกรรมเราต่อตัวเราเองและผู้อื่น รวมถึงความเป็นจริงที่ผิดเกี่ยวกับการดำรงอยู่ของตัวเรา ผู้อื่น และปรากฏการณ์ทั้งหลายทั้งปวงด้วย  เราจินตนาการอย่างผิด ๆ ว่าเราดำรงอยู่ในฐานะตัวตนที่ครบถ้วนในตนเองและมั่นคงที่เรียกว่า “ตัวฉัน”  และเราก็จินตนาการไปอย่างผิด ๆ ว่า จิตใจของเรานั้นเป็นตัวตนมั่นคงยู่ในหัวของเราที่สามารถระบุได้ เนื่องจากเสียงในหัวเราดูเหมือนจะอยู่ในจิตของเรา หรือเราคิดว่าเสียงนี้เป็นเครื่องมือบางอย่างที่เราใช้ในการคิดและทำความเข้าใจสิ่งต่าง ๆ  เราไม่รู้เลยว่าการสร้างภาพในลักษณะเหล่านี้ไม่สอดคล้องต่อความเป็นจริง และที่แย่ไปกว่านั้นคือ เรายังเชื่อว่าการสร้างภาพในลักษณะนี้เป็นเรื่องจริงเสียด้วย

คุณเคยรู้สึกสงสารตัวเองและคิดว่า “ไม่มีใครรักฉันเลย ไม่มีใครต้องการฉันเลย” ไหม? หรือรู้สึกเครียดเป็นกังวลจนคิดว่า “ฉันรับเรื่องพวกนี้ไม่ได้แล้ว มันมากเกินไปสำหรับฉัน” ไหม?  ความคิดเหล่านี้เป็นสภาวะจิตที่มีความสุขหรือไม่?  แน่นอนว่าไม่ใช่  เราอาจจะหมกมุ่นอยู่ในความสมเพชตนเองและความทุกข์ แต่เราก็ปรารถนาให้ความรู้สึกเหล่านี้หายไปเช่นกัน  ปัญหาอยู่ที่การเข้าใจสถานการณ์นี้  มันรู้สึกเหมือนกับหนังสือภาพระบายสีที่ความทุกข์เปรียบเหมือนก้อนเมฆสีเข้ม ซึ่งมีเส้นขอบกั้นอย่างสมบูรณ์ และเมฆก้อนนี้ลอยอยู่เหนือ “ตัวฉัน” ซึ่งก็มีเส้นขอบที่ชัดเจนล้อมรอบอยู่เช่นกัน  เมื่อเราเชื่อว่ารูปลักษณ์หลอกลวงนี้สอดคล้องกับความเป็นจริง เพราะว่าเรารู้สึกว่ามันเป็นจริง เราจึงพัฒนาอารมณ์รบกวนต่าง ๆ เช่น ความปรารถนาอยากให้ใครมารักเรา หรือความโกรธที่คนคนนั้นไม่แสดงความรักต่อเรา  อารมณ์รบกวนเหล่านี้ก่อให้เกิดแรงกระตุ้นเชิงกดบังคับทางกรรม ให้เรากระทำการเรียกร้องอย่างไม่สมเหตุสมผลกับอีกคน ให้เขาคนนั้นต้องมาใช้เวลากับเราและแสดงความรักใคร่ต่อเรา  แม้ว่าเขาคนนั้นจะสนองการเรียกร้องของเราแล้ว ความสุขที่เราประสบในระยะสั้นนั้นก็ไม่เคยเพียงพอ ทำให้เราเรียกร้องมากขึ้น ซึ่งเป็นการสืบสานสถานการณ์ทุกข์นั่นเอง

ในวงเวียนอันนี้ จิตใจของเราสับสนและมืดมัว  เราไม่สามารถคิดอ่านอย่างชัดแจ้งและพฤติกรรมของเราก็อยู่เหนือการควบคุม  แล้วความสับสนเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติของจิตหรือไม่?  ในการตอบคำถามนี้ เราจำเป็นต้องรู้ว่า “จิตใจ” หมายถึงอะไรในทางพระพุทธศาสนา  จิตใจไม่ใช่ “สิ่ง” ที่อยู่ในตัวเองในหัวของเรา หากแต่หมายถึงกิจกรรมทางจิต  กิจกรรมทางจิตอันเป็นปัจเจกและเป็นอัตนัยในการประสบกับสิ่งต่าง ๆ  มันเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาเมื่อสัมผัสกับสิ่งต่าง ๆ ในสถานการณ์ที่แตกต่างกัน แต่ธรรมชาติโดยสมมติของจิตนั้นยังคงเหมือนเดิมเสมอ  ธรรมชาติในขั้นลึกสุดจะคงอยู่เสมอ ปราศจากการดำรงอยู่ในแบบที่เป็นไปไม่ได้

มีรูปแบบที่เป็นไปไม่ได้หลายแบบที่เราจินตนาการเท็จว่าจิตเราดำรงอยู่  ยกตัวอย่างเช่น เราคิดว่าจิตของเราเป็นตัวตนที่มั่นคง ซึ่งเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับ ตัวตนที่มั่นคง “ตัวฉัน” หรือเป็นสิ่งที่ “ตัวฉัน” ใช้  ในเมื่อความเห็นผิดทั้งสองดังกล่าวไม่สอดคล้องกับธรรมชาติที่แท้จริงของจิต กล่าวคือมันเป็นเพียงความนึกฝัน จึงไม่ใช่ส่วนหนึ่งของธรรมชาติของจิต  สภาวะทางจิตทั้งหมดที่ตั้งอยู่บนความเห็นผิด ๆ แบบนี้จึงไม่ใช่ส่วนหนึ่งของธรรมชาติจิต  สภาวะทางจิตเหล่านี้รวมถึงการคิดผิดเกี่ยวกับ “ตัวฉัน” อารมณ์รบกวนที่เกิดขึ้นเพื่อสร้างความมั่นคงให้กับ “ตัวฉัน” และแรงกระตุ้นอย่างกดบังคับที่ดึงดูดให้เรากระทำการไร้ประโยชน์เพื่อค้ำชู “ตัวฉัน”  เนื่องจากสิ่งเหล่านี้ล้วนไม่ใช่ส่วนหนึ่งของธรรมชาติจิตและตั้งอยู่บนการคิดผิดเกี่ยวกับธรรมชาติจิตนั้น เราจึงสามารถกำจัดสิ่งเหล่านี้ได้อย่างถาวร โดยใช้ความเข้าใจที่ถูกต้องเข้าแทนที่  ในทางกลับกัน อารมณ์เชิงสร้างสรรค์อย่างความรักและความความเห็นอกเห็นใจไม่ได้ตั้งอยู่บนความคิดผิดเกี่ยวกับธรรมชาติจิต ด้วยความแตกต่างที่ยิ่งใหญ่นี้ ความเข้าใจที่ถูกต้องจึงไม่กำจัดอารมณ์เชิงสร้างสรรค์เหล่านี้

ฉะนั้นแล้ว การดับทุกข์ที่แท้จริงจึงไม่ใช่การดับจิต  จิตของเรานั้นประกอบด้วยคุณสมบัติที่ดีนานาประการ เช่น ความรัก ความความเห็นอกเห็นใจ และความเข้าใจที่ถูกต้อง  จิตที่มีคุณสมบัติเหล่านี้ดำเนินไปทุกชาติภาพ  สิ่งที่จบลงคือการเวียนว่ายตายเกิดที่ไม่อาจควบคุมได้ด้วยร่างกายและจิตใจที่จำกัด อันอยู่ภายใต้การควบคุมของความไม่ตระหนักรู้ อารมณ์รบกวน และแรงกระตุ้นทางกรรมอย่างกดบังคับ

ลักษณะสี่ประการของการดับที่แท้จริง

ความจริงอันประเสริฐประการที่สาม นั่นคือการดับที่แท้จริง มีลักษณะสี่ประการด้วยกัน

  • ประการแรกคือ การหยุดที่แท้จริงสำหรับสาเหตุที่สืบสานการเกิดขึ้นแห่งทุกข์ทั้งปวง  ความทุกข์กรณีใดโดยเฉพาะจะสิ้นสุดลงโดยอัตโนมัติ เพราะทุกอย่างที่ได้รับผลกระทบจากสาเหตุและเงื่อนไขเหล่านั้นล้วนเป็นอนิจจังและต้องสิ้นสุดลงอย่างเลี่ยงไม่ได้  อย่างไรก็ตาม “การหยุดที่แท้จริง” นั้นหมายความว่า กรณีเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นอีก  เนื่องจากธรรมชาติของจิตนั้นบริสุทธิ์ ในลักษณะที่ปราศจากสาเหตุที่แท้จริงเหล่านี้  การเข้าใจว่าข้อเท็จจริงประการนี้ต้านความคิดผิด ๆ ว่าเราไร้ซึ่งวิธีในการกำจัดการสืบสานการเกิดทุกข์ที่แท้จริง
  • ประการที่สองคือ การดับที่แท้จริงนั้นเป็นสภาวะแห่งความสงบ เพราะปัจจัยเชิงรบกวนทางจิตทั้งหลายนั้นได้รับการทำให้สงบแล้ว  จุดนี้จึงต้านความคิดผิด ๆ ว่า การบรรลุสภาวะการเพ่งจิตในระดับลึก ซึ่งเหมือนกับการทานยาแก้ปวดที่มีฤทธิ์แรงแล้วเราไม่รู้สึกอะไรเลยนั้น เป็นการหยุดที่แท้จริงของปัญหาทั้งปวง ไม่ว่าเราจะคงอยู่ในสภาวะเหล่านี้นานแค่ไหน โดยปราศจากความเจ็บปวดและความทุกข์ มันก็ไม่อาจขจัดสาเหตุที่แท้จริงของปัญหาเราได้  มันเป็นเพียงการพักเวลาชั่วคราวเท่านั้น  ยามที่การเพ่งจิตนั้นจบลง ฤทธิ์ยาเสื่อมคลาย ปัญหาทั้งหลายย่อมกลับมาใหม่
  • ประการที่สามคือ การดับที่แท้จริงเป็นสภาวะที่สูงส่งกว่า  สภาวะนี้สูงส่งกว่าการบรรลุใด ๆ ทางโลก  ไม่ว่าเราจะสร้างโลกเสมือนจริงที่งดงามเพื่อให้เราหนีไปหลบได้ยังไง เราก็ไม่อาจหลบหนีความทุกข์ที่แท้จริงและสาเหตุที่แท้จริงของทุกข์นั้นโดยการหลบอยู่ในโลกนั้นได้  ปัญหาในสถานที่ที่เรียกว่า “โลกแห่งความเป็นจริง” นั้นไม่ได้หายไปไหนเลย
  • ประการสุดท้ายคือ การดับที่แท้จริงนั้นเป็นการโผล่พ้นขึ้นจากความทุกข์ที่แท้จริงทั้งปวงและสาเหตุที่แท้จริง และไม่ได้เป็นเพียงส่วนหนึ่งหรือสภาวะชั่วคราวของการโผล่พ้น  ถึงแม้ว่าการโผล่พ้นนี้จะเกิดขึ้นตามลำดับขั้นและสภาวะต่าง ๆ ไปเรื่อย ๆ เนื่องจากความไม่ตระหนักรู้และการคิดผิดเกี่ยวกับการดำรงอยู่ของตัวเรา ผู้อื่น และสรรพสิ่งทั้งหลายนั้นฝังรากลึกอยู่ในตัวเราในลักษณะของนิสัยและแนวโน้มต่าง ๆ  กระนั้นแล้วการขจัดสิ่งเหล่านี้ออกอย่างสมบูรณ์ เพื่อไม่ให้มันเกิดขึ้นได้อีกนั้นเป็นสิ่งที่เราทำได้ เพราะว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ธรรมชาติของจิต มันเป็นเพียงสิ่งแปดเปื้อนซึ่งหายวับไป เพราะจิตนั้นบริสุทธิ์โดยธรรมชาติ

สรุป

ในเมื่อเราสามารถขจัดสาเหตุที่แท้จริงของการสืบสานความทุกข์ทรมานที่แท้จริงของเราได้อย่างถาวร เพราะเหตุใดเราจึงยอมหยุดเพียงแค่การลดความทุกข์นั้นลงหรือการหยุดความทุกข์นั้นไว้ชั่วคราวเล่า?  แน่นอนว่าในขณะที่เราปฏิบัติเพื่อขจัดความทุกข์ให้หมดสิ้นไปอย่างถาวรนั้น เราจำเป็นต้องลดการเกิดขึ้นของทุกข์ให้น้อยลงและลดความรุนแรงของทุกข์นั้นลงเรื่อย ๆ แต่พระพุทธเจ้าทรงชี้ให้เห็นแล้วว่า เราทั้งหลายสามารถบรรลุการดับทุกข์ได้อย่างแท้จริง  แล้วเหตุใดจึงมุ่งเป้าไปยังสิ่งที่ต่ำกว่าล่ะ?

Top