เราศึกษาพระพุทธศาสนาไปเพื่ออะไร

เมื่อเราพูดถึงการเจริญสมาธิในบริบททางพระพุทธศาสนา เรากำลังพูดถึงสิ่งที่ค่อนข้างมีความเฉพาะตัว  ทุกวันนี้เรามักได้ยินคำว่า “การเจริญสมาธิ (การฝึกกรรมฐาน)” ในสถานที่ที่หลากหลายมาก เนื่องจากการเจริญสมาธิมีชื่อเสียงดีอยู่พอตัวและหลายคนก็ใช้ทางนี้เป็นวิธีผ่อนคลาย หรืออื่น ๆ  อย่างไรก็ตาม เมื่อเราพูดถึงการเจริญสมาธิจริง ๆ แล้ว ผู้คนส่วนใหญ่มักไม่รู้เลยว่าต้องทำอย่างไร  บางคนคุ้นชินกับความคิดที่ว่าเราต้องนั่งลงและทำตัวให้เงียบสงบ แล้วอย่างไรต่อ  การเจริญสมาธิเป็นมากกว่าการเพ่งไปยังลมหายใจและระลึกถึงความคิดกรุณาหรือเปล่า

คำว่า สมาธิ ในภาษาสันสกฤตมีความหมายเชิงนัยยะถึงการทำสิ่งหนึ่งให้กลายเป็นเรื่องจริง  ชาวทิเบตแปลคำนี้โดยใช้คำที่หมายถึงการสร้างนิสัยบางประเภท  เมื่อเราสร้างนิสัยประเภทหนึ่งขึ้น เรากำลังทำให้สิ่งนั้นกลายเป็นส่วนหนึ่งของตนเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่เราพยายามปฏิบัติในการเจริญสมาธิ  เราต้องการนำพาความเปลี่ยนแปลงอันเป็นประโยชน์มาสู่ตนเอง  คำถามแรกที่เราต้องถามคือ ทำไมเราจึงต้องการความเปลี่ยนแปลง  ตามปกติแล้ว นี่เป็นเพราะว่าเราไม่มีความสุขกับลักษณะการใช้ชีวิตของเรา หรือลักษณะที่เรารู้สึก หรือลักษณะที่เรามีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น หรืองานของเรา ตัวอย่างเหล่านี้มีอีกมากมาย แต่เป้าหมายของคนส่วนใหญ่นั้นคือการปรับปรุงชีวิตตนเองให้ดีขึ้น

จัดการกับปัญหาแทนที่จะหนีมัน

นี่เป็นประเด็นที่สำคัญมาก คือเราต้องการเปลี่ยนและปรับปรุง  มันไม่ใช่ว่าเราต้องการหลบหนีไปยังดินแดนเพ้อฝันผ่านการเจริญสมาธิ เพราะมีวิธีการอื่น ๆ อีกมากมาย อย่างการทานยาและแอลกอฮอล์ ที่เราสามารถใช้เพื่อทำเช่นนั้นได้  เราอาจจะฟังเพลงทั้งวัน เพื่อให้ไม่ต้องคิดถึงสิ่งใดเลยก็ได้  หลายครั้งเมื่อเราตกอยู่ใต้อิทธิพลของสิ่งเหล่านั้น ปัญหาของเราดูไม่ได้หนักหนา หรือเป็นเรื่องจริงเท่าใดนัก  แต่ปัญหายังคงวกกลับมาเสมอ เพราะเรายังไม่ได้เรียนรู้ที่จะจัดการกับมันอย่างแท้จริง  ผู้คนจำนวนมากใช้การเจริญสมาธิเหมือนยาประเภทหนึ่ง แต่การทำเช่นนี้ย่อมไม่เป็นการช่วยเหลือที่ยั่งยืนยาวนาน  เราอาจจะสั่นกระดิ่งและตีกลอง ซึ่งออกจะเหมือนกับดิสนีย์แลนด์ของพุทธศาสนิกชนอยู่สักหน่อย แต่มันจะไม่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใด  ๆ ในตัวเราเลย  เป็นเพียงแค่การหลบหนีเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม หากเราฝึกเจริญสมาธิในแบบที่ควรจะเป็นตามการปฏิบัติของพระพุทธศาสนาแล้ว เราไม่ได้กำลังพยายามหลบหนีปัญหาของเรา หากแต่กำลังพยายามจัดการและเอาชนะมันอยู่  อันที่จริงนี่เป็นเรื่องที่กล้าหาญมากและต้องอาศัยความมุมานะอย่างสูง เพราะมันไม่ง่ายเลย  นอกจากนี้ เรายังต้องเตรียมตัวให้พร้อมว่าการทำเช่นนี้จะไม่ใช่เรื่องสนุก  เราสามารถเปรียบการทำเช่นนี้ได้กับการฝึกฝนร่างกาย  ที่เมื่อการฝึกยากขึ้นและกล้ามเนื้อเราเมื่อยล้า แต่เรายังคงมุ่งมั่นอดทนกับความลำบากนี้ เพื่อบรรลุความแข็งแรงและสุขภาพที่ดีมากขึ้น

ตรงนี้ก็เหมือนกับการเจริญสมาธิ ยกเว้นว่าเรากำลังฝึกจิต ไม่ใช่ร่างกาย  มีพระพุทธศาสนาบางแขนงที่ผสมผสานการเจริญสมาธิเข้ากับการฝึกร่างกาย อย่างศิลปะการป้องกันตัว แต่ไม่ใช่ในนิกายทิเบต  การฝึกร่างกายไม่ได้มีข้อเสียหายแต่อย่างใด จริง ๆ แล้วเป็นสิ่งที่มีประโยชน์มากด้วยซ้ำ  อย่างไรก็ดี สิ่งที่เรามุ่งเน้นเป็นหลักตรงนี้คือจิต ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่สติปัญญาของเรา แต่รวมถึงอารมณ์และหัวใจของเราด้วย  ปรมาจารย์ทางด้านพระพุทธศาสนาผู้ยิ่งใหญ่ทั้งหลายเน้นย้ำว่า เมื่อเริ่มต้นฝึกพระพุทธศาสนา สิ่งพื้นฐานที่สุดคือการกำราบจิต เพราะวิธีที่เรากระทำ ปฏิบัติ และสื่อสารกับผู้อื่นล้วนถูกควบคุมโดยสภาวะของจิตเราทั้งนั้น

มองตนเองอย่างสัตย์จริง

พวกเรารับรู้ว่าตนเองมีความยากลำบากในชีวิต และพวกเราก็เห็นว่าบ่อเกิดของสิ่งนี้คือบางสิ่งบางอย่างอันไม่น่าพึงพอใจภายในจิตของเรา  หากเราพินิจพิจารณาตนเองอย่างสัตย์จริงและจริงจังแล้ว เราจะพบว่าเรามีอารมณ์รบกวนมากมาย ตั้งแต่ความโกรธไปจนถึงความโลภ ความเห็นแก่ตัว ความอิจฉาริษยา ความยึดติด ความยโสโอหัง ความไร้เดียงสา และอื่น ๆ อีกมากมาย  หากเราพิจารณาให้ลึกลงไปอีก เราก็จะพบความไม่มั่นคงและความสับสนเกี่ยวกับชีวิต  ดูเหมือนว่าอารมณ์รบกวนเหล่านี้มักครอบงำสภาวะทางจิตของเรา และทำให้เรากระทำ พูดจา และมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นในลักษณะที่สร้างปัญหาให้ตัวเราเองและผู้อื่น  แม้ยามที่เราอยู่เพียงลำพัง จิตของเรามักไม่เป็นสุขและวนเวียนอยู่กับอารมณ์รบกวนทั้งหลายทั้งปวง  กล่าวง่าย ๆ ก็คือ เราไม่ได้เป็นสุขจริง

การเจริญสมาธิมีจุดประสงค์เพื่อนำพาความเปลี่ยนแปลงมาสู่สถานการณ์ดังกล่าว ไม่ใช่ในรูปแบบของการทานยาบางประเภทที่ทำให้เราหยุดสิ้นความคิดใด ๆ  การทำเช่นนี้ไม่ใช่วิธีแก้ไขปัญหา ถึงแม้ว่าบางคนจะมองการเจริญสมาธิในลักษณะนี้ก็ตามที  พวกเขาคิดว่าหากคุณนั่งลง หลับตา และปิดกั้นทุกสิ่งอย่าง ปัญหาทั้งหมดของพวกเขาย่อมอันตรธานหายไปเสียอย่างนั้น  วิธีนี้ไม่ได้ผลหรอก  แทนที่จะทำเช่นนั้น เราจำเป็นต้องจู่โจมปัญหาของเราอย่างกระตือรือร้น

ค้นหาศัตรูที่แท้จริง

ในตำราทางพระพุทธศาสนานั้น เรามักพบการใช้ภาษารุนแรงอธิบายอารมณ์รบกวนทั้งหลายในฐานะศัตรูที่แท้จริงของเรา  ตรงนี้ไม่ได้ทำให้มันกลายเป็นอสุรกายที่เราต้องหวาดผวาและระแวงแต่อย่างใด  หากแต่เราต้องพึงระลึกไว้ว่านี่เป็นสิ่งที่เราต้องฝึกฝนปฏิบัติ  เรามีพระพุทธคัมภีร์ที่งดงามมาก ซึ่งกล่าวถึงตัวสร้างปัญหาเหล่านี้ โดยกล่าวว่า “ข้าอดทนกับเจ้ามานานเกินทนแล้ว เจ้ารังแต่สร้างปัญหาและความยุ่งยากทั้งหลายทั้งปวงให้ข้า  บัดนี้เวลาของเจ้าหมดลงแล้ว”  เราจึงเตรียมตัวให้พร้อม นั่งลงและพยายามเปลี่ยนจิตของเรา  เช่นนี้คือการเจริญสมาธิที่แท้จริง

หากกล่าวง่าย ๆ แล้ว การเจริญสมาธิเป็นวิธีที่เราฝึกปฏิบัติตนเองให้สร้างอุปนิสัยเชิงประโยชน์ทั้งหลาย และเปลี่ยนแปลงอุปนิสัยเชิงโทษของเรา  อุปนิสัยเหล่านี้คือวิธีที่เราคิด วิธีที่เรารู้สึก และวิธีที่เราโต้ตอบเชิงอารมณ์กับสิ่งต่าง ๆ  ตรงนี้ต้องอาศัยการฝึกฝนและการย้ำทำซ้ำ ซึ่งเป็นวิธีการทางวิทยาศาสตร์  เหมือนกับเวลาที่เราฝึกตนเองเล่นกีฬา หรือเล่นเครื่องดนตรี หรือเต้นรำ ช่วงแรกเราย่อมรู้สึกไม่เป็นธรรมชาติอยู่สักหน่อย  แต่เมื่อเราเริ่มคุ้นเคยกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งแล้ว สิ่งนั้นย่อมเป็นเรื่องปกติธรรมชาติสำหรับเรา ซึ่งเหมือนกับสิ่งที่เราปฏิบัติกับจิต อารมณ์ และความรู้สึกของเรานั่นเอง

การเปลี่ยนแปลงเป็นไปได้หรือ

ทีนี้จึงเกิดคำถามสำคัญขึ้นมา  เราเปลี่ยนแปลงได้จริง ๆ หรือ  อันที่จริงแล้ว ในการปฏิบัติเพื่อเปลี่ยนแปลงตนเองนั้น เราจำเป็นต้องเชื่อก่อนว่านี่เป็นเรื่องที่เป็นไปได้จริง ๆ  เรามักพบคนที่พูดว่า “ฉันก็เป็นของฉันอย่างนี้แหละ ฉันไม่สามารถทำอะไรเพื่อเปลี่ยนแปลงได้ ฉันก็ได้แต่ทนอยู่กับมันเท่านั้นแหละ” หรือ “ฉันเป็นคนขี้โมโห ฉันเป็นคนอารมณ์ร้อนและฉันก็เป็นแบบนี้แหละ”  หากเราระบุตัวตนกับบางสิ่งบางอย่างอย่างชัดเจนเหลือเกิน สิ่งนั้นย่อมเปลี่ยนแปลงได้ยากโดยปริยาย

เราจึงต้องมองตัวเองอย่างสัตย์จริง  เพราะเหตุใดเราถึงระบุตัวตนกับสิ่งนั้น ๆ  หากเราเป็นคนขี้โมโหไม่ใช่ว่าเราไม่ต้องรู้สึกโมโหตลอดเวลาเลยหรือ  บางทีเราอาจโทษผู้อื่นด้วย เช่นว่า ฉันโมโหเพราะพ่อแม่ของฉันทำอย่างนั้นอย่างนี้  ตรงนี้ไม่ได้ช่วยอะไรเลย  หากเรามองให้ลึกลงไป เราสามารถพยายามหาต้นตอของอารมณ์เหล่านี้ได้  แม้เราจะพูดกับตัวเองทุกวันว่า “อย่าโมโห อย่าโลภ อย่าเห็นแก่ตัว” การยุติลักษณะเหล่านี้จริง ๆ เป็นเรื่องยาก จริงหรือไม่  ดังนั้นเราต้องมองหาวิธีที่ทำให้เราสามารถเปลี่ยนแปลงอารมณ์ความรู้สึกของเรา

ทัศนคติของเราส่งผลกระทบต่อทุกอย่าง

พระพุทธศาสนากล่าวว่า สิ่งที่เป็นรากฐานของสภาวะทางอารมณ์คือสิ่งที่เราอาจเรียกได้ว่า “ทัศนคติ”  ซึ่งหมายถึงวิธีที่เรามองสิ่งต่าง ๆ  สมมุติว่าเราโดนไล่ออกจากงาน  เราอาจมองว่านี่เป็นหายนะ แล้วเราก็จะรู้สึกโมโหและหดหู่  ทำไมน่ะหรือ เพราะว่า ณ ตอนนั้น เราคิดว่านี่เป็นสิ่งที่เลวร้ายที่สุดที่เกิดขึ้นได้ในโลกนี้

เราเสียงานไป นั่นเป็นข้อเท็จจริง  เราไม่อาจเปลี่ยนแปลงตรงนี้ได้  สิ่งเราที่เปลี่ยนแปลงได้คือ วิธีที่เราคิดถึงการสูญเสียงานนั้นไป และนี่ก็คือความหมายของทัศนคตินั่นเอง  ดังนั้น เราสามารถพยายามมองในมุมมองที่ต่างออกไป เช่นว่า ตอนนี้เราสามารถใช้เวลาอยู่กับลูก ๆ มากขึ้น หรือคิดถึงการเปลี่ยนสายอาชีพ  เอาล่ะ ตรงนี้อาจไม่ได้ช่วยเราในเรื่องเงินทอง แต่อย่างน้อยเราก็จะไม่รู้สึกแย่กับเรื่องนี้  ฉะนั้นนี่คือสิ่งที่เรามุ่งเน้นในการเจริญสมาธิ กล่าวคือ วิธีที่เราคิดถึงสิ่งต่าง ๆ เพราะนี่คือสิ่งที่ส่งอิทธิพลต่อความรู้สึกของเรา

เพื่อนสนิทที่สุดของผมเสียชีวิตเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว  เป็นเรื่องที่น่าเศร้า  ผมรู้สึกเศร้าโศกกับเรื่องนี้เหลือเกิน ซึ่งเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ  ความรู้สึกแบบนี้ไม่มีสิ่งใดผิดเลย  แน่นอนว่าผมไม่ได้มีความสุขที่เขาเสียชีวิต!  แต่ผมจะทำอย่างไรกับสภาวะทางจิตตอนนี้  หนึ่งสัปดาห์ก่อนที่เขาจะเสียชีวิต ผมมีความรู้สึกว่าควรโทรหาเขา แต่จนแล้วจนรอดผมกลับไม่ได้ทำเช่นนั้น  ตอนนั้นเขาปกติดีทุกอย่าง เขาไปอาบน้ำ เกิดอาการหัวใจวายและล้มลงเสียชีวิตอยู่ในที่อาบน้ำ  เป็นเรื่องที่ไม่มีใครคาดคิดแม้แต่น้อยและเกิดขึ้นอย่างกะทันหัน  แน่นอนว่าผมรู้สึกเสียดายเป็นอย่างยิ่งที่ไม่ได้พูดกับเขาตอนที่นึกขึ้นได้เมื่อสัปดาห์ก่อนหน้านั้น หรือผมอาจรู้สึกโกรธตัวเองเป็นอย่างมาก เมื่อคิดถึงสิ่งต่าง ๆ ที่อยากจะพูดกับเขา หากรู้ว่าเขาจะเสียชีวิต  การคิดในลักษณะนี้ย่อมทำให้ผมรู้สึกแย่ลง แย่ลงมาก ๆ 

แทนที่จะคิดเช่นนั้น ผมนึกถึงช่วงเวลาแสนสุขที่เราเคยมีร่วมกัน และสิ่งยอดเยี่ยมมากมายที่เราประสบมาด้วยกัน  เราเป็นเพื่อนกันมานานถึง 35 ปี  ช่างเป็นเกียรติของผมเพียงใดที่ได้รู้จักและสนิทสนมอย่างมากกับคนที่ยอดเยี่ยมเช่นนี้  เขาน่าจะเป็นคนที่มีความจริงใจที่สุดและเป็นผู้ปฏิบัติธรรมอย่างแท้จริงที่สุดในบรรดาชาวตะวันตกที่ผมรู้จัก  ผมคิดถึงเขาในฐานะแรงบันดาลใจอันยิ่งใหญ่ที่ผลักดันให้ผมใช้ชีวิตต่อไปและฝึกปฏิบัติอย่างจริงจังมากขึ้น  เขาเอาใจใส่ดูแลภรรยา  ผมรู้ว่าเขาคงสบายใจมากหากรู้ว่าผมกำลังทำเช่นนั้นอยู่ และผมก็ทำเช่นนั้นเสมอมา

นี่คือผลของการเจริญสมาธิ  คุณจะไม่ได้รับพลังเหนือธรรมชาติหรือสิ่งแปลกประหลาดใด ๆ  สิ่งที่ได้คือ เมื่อคุณเผชิญหน้ากับสถานการณ์ยากลำบาก และคุณพบว่าตนเองกำลังดำดิ่งลงไปในสภาวะทางจิตเชิงลบที่เป็นทุกข์  ในขั้นแรกคุณมีความเข้าใจเพียงพอที่จะรู้ว่า หากคุณดำเนินต่อไปเช่นนั้น ย่อมทำให้สิ่งต่าง ๆ แย่ลง  เราได้เข้าใจถึงวิธีทำความเข้าใจสถานการณ์ยากลำบากที่ดีขึ้น และเมื่อมีการฝึกปฏิบัติอย่างเพียงพอแล้ว เราจะสามารถเปลี่ยนแปลงวิธีการมองสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างสิ้นเชิง  เราอาจยังคงรู้สึกถึงความเศร้าโศก เหมือนที่ผมรู้สึกตอนสูญเสียเพื่อน แต่เราจะสามารถรวบรวมความคิดต่าง ๆ ที่เติมความสุขบางประการเข้าไป เพื่อบรรเทาความเศร้าโศกนั้น

เชื่อในศักยภาพของตนเอง

แล้วเราถามว่า เราสามารถเปลี่ยนแปลงวิธีที่เรามองสิ่งต่าง ๆ ได้จริงเหรอ และคำตอบก็คือ ใช่  หากคุณมองสิ่งต่าง ๆ ให้เป็นเรื่องน่าสนใจและมหัศจรรย์ใจอย่างเด็ก ๆ สิ่งเหล่านั้นย่อมดูเหลวไหล โง่เขลา และน่าเบื่อทันที  ทัศนคติของเราเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากตามวัยของเรา  เมื่อใดที่เราเชื่อมั่นแล้วว่าเราสามารถเปลี่ยนแปลงไปได้อีก เมื่อนั้นเราก็ต้องเรียนรู้วิธีการบางอย่างอย่างจริงจังเพื่อทำตรงนี้ให้เป็นจริง  ซึ่งมีสามขั้นตอนด้วยกัน 

  • รวบรวมข้อมูลที่ถูกต้อง  เราจำเป็นต้องเรียนรู้ว่าสิ่งใดเป็นอุปนิสัยประเภทที่มีประโยชน์มากกว่า ซึ่งมาจากการได้ฟัง ได้อ่าน หรือได้เรียนรู้เกี่ยวกับสิ่งนั้น  ขั้นนี้ไม่ได้หมายถึงการเข้าใจสิ่งนั้นเสมอไป แต่หมายถึงการที่เราสามารถแยกแยะว่านี่เป็นวิธีการทางพระพุทธศาสนา
  • ไตร่ตรองความหมายของสิ่งนั้น  เราจำเป็นต้องพิจารณาข้อมูลที่เราได้รับ พินิจและพิเคราะห์จากหลาย ๆ มุม เพื่อทำความเข้าใจสิ่งนั้น  เราต้องตระหนักให้ได้ว่าสิ่งที่เราพิจารณาอยู่นั้นเป็นเรื่องจริง ไม่ใช่เรื่องไร้สาระใด ๆ  นอกจากนี้ เรายังต้องเชื่อว่าสิ่งนี้เป็นประโยชน์ต่อเรา และเราจะสามารถนำมาใช้ในชีวิตเราได้
  • เจริญสมาธิ  ทีนี้เราก็พร้อมเจริญสมาธิ เพื่อสร้างสมสิ่งที่เราได้เรียนรู้และได้เข้าใจให้กลายเป็นอุปนิสัยที่มีประโยชน์มากขึ้น

แก้ไขข้อมูลและการไตร่ตรอง

การได้รับข้อมูลที่ถูกต้องนั้นไม่ง่ายอย่างที่เราคิด  มีผู้คนจำนวนมากที่อ้างว่าตนสอนวิธีการทางพระพุทธศาสนาของแท้  แต่เพียงเพราะคนผู้นั้นเคยเขียนหนังสือที่ได้รับการตีพิมพ์ ก็ไม่ได้หมายความว่าเนื้อหาในหนังสือนั้นถูกต้อง  และเพียงเพราะว่าอาจารย์ผู้นั้นอาจมีชื่อเสียงโด่งดัง หรือมีเสน่ห์มาก ก็ไม่ได้หมายความว่าสิ่งที่เขาสอนนั้นถูกต้อง  ฮิตเลอร์เป็นบุคคลที่รวยทั้งเสน่ห์และชื่อเสียง แต่สิ่งที่เขาสอนนั้นเป็นเรื่องผิดอย่างไม่ต้องสงสัย

ดังนั้น พระพุทธศาสนาจึงเน้นย้ำให้เราใช้สติปัญญาของตนเอง  มนุษย์เราแตกต่างจากสัตว์เดรัจฉานอย่างไร  สัตว์เดรัจฉานสามารถถูกฝึกให้ทำสิ่งต่าง ๆ ได้หลายอย่าง แต่สิ่งที่มนุษย์เรามีเหนือกว่าเหล่าสัตว์คือสติปัญญา  เราสามารถแยกแยะสิ่งที่เป็นคุณออกจากสิ่งที่เป็นโทษ  ถึงแม้ว่าเราจะไม่เข้าใจบางอย่างในตอนแรก เราก็สามารถใช้สติปัญญาเพื่อเรียบเรียงสิ่งต่าง ๆ ได้  สิ่งนี้แหละคือสิ่งที่เราจำเป็นต้องทำเมื่อเราฟังหรืออ่านหลักคำสอนต่าง ๆ

ทุกสิ่งทุกอย่างที่พระพุทธเจ้าทรงเทศนามีจุดประสงค์เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้อื่น  แต่เราสามารถตรวจสอบด้วยตนเองได้อีกครั้งว่า สิ่งที่พระองค์ทรงเทศนานั้นเป็นประโยชน์หรือไม่  ในการทำเช่นนี้ เราจำเป็นต้องพิจารณาผลกระทบในระยะยาว เพราะผลกระทบในระยะสั้นอาจดูไม่น่าอภิรมย์นัก  จุดนี้เปรียบดั่งการรักษาทางการแพทย์ที่ไม่น่าอภิรมย์เอาเสียเลย แต่ให้ผลประโยชน์ในระยะยาว เช่น การบำบัดคีโมสำหรับโรคมะเร็ง

หากเรายังไม่ได้ทำสิ่งที่กล่าวมาเบื้องต้น กล่าวคือ พิจารณาหลักคำสอนและโยงหลักคำสอนเข้ากับชีวิตและประสบการณ์ของเราเอง ไฉนเลยเราจะสามารถเจริญสมาธิโดยระลึกถึงหลักคำสอนนั้นได้  จุดนี้เหมือนกับการซื้อของโดยไม่คิดว่าเราจำเป็นต้องใช้ หรือต้องการสิ่งนั้นหรือไม่ หรือว่าสิ่งนั้นดีจริงหรือเปล่า

การเจริญสมาธิแบบทางการ

แน่นอนว่ากระบวนการการคิดเกี่ยวกับหลักคำสอนนั้นมีประโยชน์อย่างยิ่ง และบางคนอาจเรียกกระบวนการนี้ว่าเป็นการเจริญสมาธิประเภทหนึ่ง  แต่สิ่งที่เราสามารถเรียกในลักษณะทางการมากขึ้นว่า “การเจริญสมาธิ” เป็นกระบวนการที่เราผสมผสานสภาวะทางจิตที่เป็นประโยชน์มากขึ้นเข้ากับวิธีการดำรงอยู่ นั่นก็คือชีวิตประจำวันของเรา  ตรงนี้ประกอบด้วยสองขั้นตอน

  • การเจริญสมาธิเชิงแยกแยะ  นี่เป็นระยะแรกของสิ่งที่มักเรียกกันว่า “การเจริญสมาธิเชิงวิเคราะห์” และเป็นขั้นที่เราเพ่งสมาธิไปยังสิ่งใดสิ่งหนึ่งด้วยทัศนคติที่ได้รับการพัฒนาแล้ว ซึ่งแยกแยะรายละเอียดและปัจจัยสนับสนุนทั้งหมดอย่างถี่ถ้วน
  • การเจริญสมาธิเชิงมั่นคง  ในระยะที่สองนี้ เราไม่แยกแยะรายละเอียดทั้งหมดอย่างกระตือรือร้นแล้ว แต่จะเพ่งสมาธิอย่างรวบรัดมากขึ้นไปที่วัตถุนั้นด้วยบทสรุปหลักจากการวิเคราะห์ของเราและทัศนคติของเราต่อสิ่งนั้น

สำหรับหลาย ๆ คน เมื่อเริ่มฝึกเจริญสมาธิ เรียนรู้การเพ่งจิตไปยังลมหายใจ  เราทำให้จิตเงียบสงบขึ้น และเพ่งสมาธิไปยังลมหายใจเข้าออก  ตรงนี้ฟังดูเรียบง่าย แต่เอาเข้าจริงแล้วยากอย่างไม่น่าเชื่อ  เรากำลังพยายามทำสิ่งใดตอนที่เพ่งสมาธิไปยังลมหายใจ  อย่างแรกเลย เราพยายามจะสงบเสียงในหัวเรา ที่แสดงอารมณ์รบกวนและความรู้สึกทั้งหลายออกมา  ตรงนี้เหมือนกับการกำจัดเสียงรบกวนเบื้องหลัง  แต่ในขณะเดียวกัน เราก็สามารถเพ่งสมาธิไปที่ลมหายใจ โดยมีความเข้าใจในระดับหนึ่งเกี่ยวกับลมหายใจตามที่เราได้ฟังมา ได้ไตร่ตรอง และได้เข้าใจ  การเจริญสมาธิเชิงแยกแยะและเชิงมั่นคงจึงเข้ามามีบทบาทตรงนี้  ยกตัวอย่างเช่น เราสามารถคิดถึงลมหายใจในฐานะภาพประกอบของความอนิจจัง คือมันเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา  หรือเราอาจมองความจริงประการที่ว่า สุดท้ายแล้วไม่มีตัว “ฉัน” จากลมหายใจ แล้วใครกันที่หายใจ  แต่การวิเคราะห์ในลักษณะนี้อาจเป็นเรื่องที่ซับซ้อนเกินไปสักนิดสำหรับผู้เริ่มต้น

การเริ่มต้นที่เหมาะสมกว่าคือการมองตนเอง ตามที่ได้กล่าวไป  เรามักตกอยู่ภายใต้แรงกดดันมหาศาล ทั้งจากที่ทำงาน ครอบครัว และสังคมโดยรวม จึงทำให้จิตของเราวนเวียนอยู่กับความกังวลและความคิดเชิงปัญหาอยู่เสมอ  การผ่อนคลายช่างเป็นเรื่องยากเสียจริง!  ดังนั้นสำหรับเรา การที่สามารถผ่อนคลายและรู้สึกมั่นคงได้มากขึ้นจึงมีประโยชน์อย่างยิ่งยวด  ถึงแม้ว่าการทำเช่นนี้จะไม่ได้แก้ปัญหาของเราในท้ายที่สุด ก็ถือเป็นขั้นแรกที่มีประโยชน์  ด้วยการพินิจลมหายใจตนเอง เราสามารถสัมผัสกับความเป็นจริงของร่างกาย คือ “ฉันมีชีวิตอยู่!”  ลมหายใจเป็นสัญญาณบ่งชี้ข้อนี้ที่ดีทีเดียว เพราะลมหายใจดำเนินต่อไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งเราตาย  ไม่ว่าชีวิตจะยากลำบากแค่ไหน ลมหายใจอยู่กับคุณเสมอ  หากเราตระหนักรู้ตรงนี้ได้มากขึ้น เราย่อมเข้าใจได้ว่าชีวิตย่อมดำเนินต่อไป  ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ชีวิตย่อมดำเนินต่อไป  ตรงนี้มีประโยชน์ อย่างตอนที่เพื่อนผมเสียชีวิตไป เพราะผมเข้าใจว่า นั่นล่ะ ชีวิตย่อมดำเนินต่อไป

ฉะนั้นเรามีข้อมูลดังกล่าวนี้ เราได้คิดถึงและเข้าใจมันแล้ว และได้เชื่อมั่นว่ามันสมเหตุสมผล  จะเป็นประโยชน์หรือไม่หากเราสามารถเห็นว่าชีวิตย่อมดำเนินต่อไป และสามารถเชื่อมโยงกับร่างกายของตนเองให้มากขึ้น เพื่อไม่ปล่อยให้ตนเองตกอยู่ในความคิดหวาดผวาและหดหู่อย่างมืดแปดด้าน  ใช่แล้ว นั่นจะเป็นประโยชน์  ข้าพเจ้าสามารถเพ่งจิตและตระหนักถึงลมหายใจของตนเองได้หรือไม่  ได้สิ แม้เราเพียงหยุดกิจกรรมอื่นชั่วคราวเป็นเวลาสองสามนาที เราก็สามารถสังเกตลมหายใจของตนเองได้ มันอยู่กับเราเสมอ  ดังนั้น เราจึงไม่จำเป็นต้องมีความเข้าใจในระดับล้ำลึก หรือระดับซับซ้อนด้วยซ้ำ  แน่นอนว่ายิ่งความเข้าใจของเราลึกแค่ไหน ก็ยิ่งดีขึ้นเท่านั้น แต่เท่านี้ก็เพียงพอแล้วสำหรับการเริ่มต้น

กระบวนการเจริญสมาธิ

เรามาถึงการทำความเข้าใจของการเพ่งจิตไปยังลมหายใจ เมื่อเรามีปัจจัยทางจิตสองประการ นั่นคือสภาวะทางจิตที่มาพร้อมกับการเพ่ง

  • การสืบหาโดยรวม หมายถึงการสังเกตสิ่งหนึ่งในระดับพื้น 
  • การแยกแยะอย่างละเอียด  หมายถึงการทำความเข้าใจสิ่งหนึ่งในระดับความละเอียดสูง

ตัวอย่างดั้งเดิมที่ใช้ในการอธิบายความแตกต่างระหว่างสภาวะทางจิตทั้งสองประเภทนี้คือการมองภาพวาด  ในระดับการสืบหาโดยรวม เราจะสังเกตเห็นว่านี่คือภาพวาด อาจจะเป็นภาพวาดของคน  ในการรับรู้ตรงนี้ จิตของเราไม่ได้พูดอะไรด้วยซ้ำ จิตของเรารู้ได้จากการมอง  นี่เป็นสิ่งที่เราเรียกว่า “เข้าใจ” ในเชิงกว้างมาก  ในระดับการแยกแยะอย่างละเอียด เราจะมองภาพวาดนี้โดยลงรายละเอียดมากขึ้นและเข้าใจว่ามันเป็นภาพวาดของสิ่งนี้ หรือของคนนั้นที่มีลักษณะจำเพาะต่าง ๆ

นี่คือสิ่งที่เราทำในขณะเพ่งจิตไปยังลมหายใจ  เราสืบค้นและทำความเข้าใจว่า ลมหายใจเป็นสิ่งที่ดำเนินต่อไปเรื่อย ๆ เสมอ และเราแยกแยะรายละเอียดว่าลมหายใจเข้าและออกผ่านทางจมูก  ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น มันจะยังคงดำเนินต่อไปตราบเท่าที่เรามีชีวิต  เมื่อมองในลักษณะนี้ ลมหายใจจึงเป็นสิ่งที่คงที่ มั่นคง และพึ่งพาได้  จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเราจึงเรียกว่า “การเจริญสมาธิเชิงแยกแยะ” เพราะเป็นสิ่งที่เราสังเกตอย่างกระตือรือร้นเสมอ  เราไม่ได้กำลังวิเคราะห์มัน เพียงแต่มองดูและทำความเข้าใจมันจากมุมมองแบบหนึ่งในทางหนึ่ง

ในขั้นตอนที่สองของการเจริญสมาธิเชิงมั่นคง เราไม่ต้องแยกแยะอย่างกระตือรือร้นในลักษณะนี้แล้ว เรารู้อยู่แล้ว  เช่นนี้เป็นสภาวะจิตใจที่แตกต่างอย่างมากระหว่างการทำความเข้าใจสิ่งหนึ่งอย่างกระตือรือร้นและการรู้สิ่งนั้น  เราเจริญสมาธิ และผลลัพธ์ที่ได้ก็คือ เรามีหลักยึดมากขึ้นและรู้สึกคงที่และมั่นคงขึ้นหลายเท่า  สิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้หากเราฝึกปฏิบัติซ้ำแล้วซ้ำเล่าและถ้าจะให้ดีก็ต้องฝึกทุกวัน

การนำการปฏิบัติไปใช้ในชีวิตประจำวัน

เราพยายามพึงระลึกถึงการปฏิบัตินี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยามที่เรารู้สึกอารมณ์เสียเป็นพิเศษ  แน่นอนว่าการทำเช่นนี้เป็นเรื่องยาก และเราได้ยกการเปรียบเปรยกับการฝึกฝนร่างกายแล้วก่อนหน้านี้ แต่ในที่สุดแล้ว ความเข้าใจดังกล่าวจะฝังรากลึกในตัวเราจนเรารู้ตัวตลอดเวลา  เรารู้ดีเสมอว่าชีวิตดำเนินต่อไปเรื่อย ๆ และในระดับที่ล้ำลึกมากนั้น ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ย่อมไม่มีปัญหาใด ๆ  เราทราบข้อนี้ดีมากเสียจนกลายเป็นอุปนิสัยที่เปลี่ยนแปลงวิธีการมองชีวิตของเรา  นี่เป็นผลลัพธ์ของการเจริญสมาธิ  หากเราลืมไป เราก็สามารถเพ่งสมาธิไปยังลมหายใจอีกครั้ง เตือนตัวเองและเติมพลังให้ตัวเองใหม่ได้  สิ่งที่เราทำคือ การนำความเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงมาสู่สภาวะทางจิตของเราในด้านการจัดการกับชีวิตประจำวัน  มันไม่ใช่การหลบหนีปัญหาด้วยการหายตัวไปยังดินแดนเพ้อฝันใด ๆ หากแต่เป็นกระบวนการเชิงการกระทำที่เราปฏิบัติตาม เพื่อปรับปรุงสภาวะทางจิตและอารมณ์ของเรา และท้ายที่สุดย่อมเป็นสถานการณ์ที่เราเผชิญหน้านั่นเอง

สิ่งที่เราเพิ่งพิจารณาไปนั้นอาจดูเป็นวิธีการซับซ้อนทางจิตวิทยาได้เช่นกัน  การมองในลักษณะนี้ก็ไม่ผิดแต่อย่างใด แต่เราพึงระมัดระวังไม่คิดว่าทั้งหมดนี้คือพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นจิตวิทยาอีกแขนงหนึ่ง  พระพุทธศาสนากว้างใหญ่ไพศาลมากกว่านี้นัก  ตามหลักพระพุทธศาสนา เรามุ่งเป้าไปไกลกว่านี้ กล่าวคือ การตรัสรู้ การช่วยเหลือทุกคน แต่เราก็จำเป็นต้องผ่านขั้นแรกที่มีความสำคัญอย่างยิ่งนี้เช่นกัน

บทสรุป

การพยายามหลบหนีจากปัญหาเป็นเรื่องง่ายเหลือเกิน เช่น ด้วยการฟังเพลงทั้งวัน หรือทำตัวเองให้ยุ่งอยู่ตลอดเวลา หรือเมาหัวราน้ำ หรือดื่มเหล้าเพื่อลืมทุกสิ่งอย่าง  วิธีการชั่วคราวเหล่านี้ไม่เคยเยียวยาวได้มากเลย และปัญหาก็ปรากฏตัวขึ้นมาอีกครั้งอยู่เสมอ  การไตร่ตรองอย่างจริงจัง จากนั้นจึงเจริญสมาธิโดยระลึกถึงพระธรรม ทำให้เราสามารถเปลี่ยนวิธีที่เรามองตัวเอง ผู้อื่น และประสบการณ์ต่าง ๆ ที่เราผ่านมาได้  ถึงแม้ว่าวิธีนี้จะไม่ทำให้ปัญหาทั้งหมดของเราหายวับไปทันที ก็ทำให้เราสามารถเผชิญหน้ากับมันได้แบบซึ่ง ๆ หน้า โดยมีความรู้ว่าเราแข็งแกร่งพอที่จะจัดการกับมันได้

Top