สำหรับพุทธศาสนิกชน คำว่า “พระธรรม” หมายถึงคำสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งช่วยนำพาเราจากสภาวะประจุบันแห่งความสับสนและความทุกข์ไปสู่สภาวะของการตระหนักรู้และเป็นสุข เหมือนกับคำศัพท์ภาษาอังกฤษ “religion” (ศาสนา) ซึ่งมาจากรากศัพท์ภาษาละตินที่มีความหมายว่า “ผูกรวมเข้าด้วยกัน” พระธรรม ก็มาจากคำภาษาสันสกฤต “dhr” (ธร) ซึ่งหมายถึงการจับไว้หรือการรองรับอย่างมั่นคง โดยพื้นฐานแล้ว พระธรรมช่วยรองรับพวกเรา โดยป้องกันไม่ให้เราตกลงไปในสภาวะการดำรงอยู่ที่ต่ำกว่าและมีเคราะห์กรรมมากขึ้นนั่นเอง ซึ่งในสภาวะเหล่านั้นเราจะต้องประสบกับความทุกข์ยากที่ไม่อาจควบคุมได้เป็นเวลานาน
What is dharma

พระธรรมคำสอนแรกของพระพุทธเจ้า

เมื่อพระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ที่พุทธคยากว่า 2,500 ปีที่แล้ว พระองค์ทรงลังเลที่จะสอนพระธรรมในตอนแรก เนื่องจากทรงกังวลว่าพระธรรมจะเป็นเรื่องที่ลึกและยากเกินกว่าจะเข้าใจ หรือผู้คนที่ลุ่มหลงกับความสุขทางโลกนั้นจะไม่สนใจ  ในพระคัมภีร์เล่มแรก ๆ กล่าวว่า พระพรหม พระผู้เป็นผู้สร้างจักรวาล จึงทรงปรากฏกายต่อหน้าพระพุทธเจ้าและทรงขอให้พระองค์สอนพระธรรมเพื่อประโยชน์แก่สิ่งมีชีวิตทั้งหลาย เพราะย่อมมีผู้ที่สามารถตรัสรู้ได้เช่นกัน  ด้วยเหตุนี้ พระพุทธเจ้าจึงทรงเทศนาพระธรรมครั้งแรกเรื่องอริยสัจสี่ (ความจริงอันประเสริฐสี่ประการ) ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ซึ่งเป็นโครงสร้างของเส้นทางปฏิบัติพระพุทธศาสนาทั้งหมด และยังถือเป็นพื้นฐานของพระพุทธศาสนาทุกสายในโลกจนถึงทุกวันนี้

ความจริงประการแรกที่พระพุทธเจ้าทรงสอนคือ ชีวิตนั้นมักมีเรื่องที่ไม่น่าพึงพอใจอยู่เสมอ  ไม่ว่าในช่วงหนึ่งเราจะรู้สึกมีความสุขมากแค่ไหน สภาวะการเป็นสุขดังกล่าวนั้นไม่มั่นคงและคงอยู่ชั่วคราวเท่านั้น  ประการนี้เป็นเรื่องปกติทั่วไป เป็นเรื่องที่พวกเราทุกคนย่อมต้องประสบในชีวิต  ความสุขใด ๆ ที่เรามีนั้นไม่อาจคงอยู่ได้ตลอดไปและสามารถเปลี่ยนเป็นความทุกข์ได้ทุกเมื่อ  ความจริงประการที่สองคือ ที่จริงแล้วความทุกข์ของเรานั้นไม่ได้มาจากสิ่งภายนอกเรา หากแต่มาจากการยึดถือในการได้มาซึ่งสิ่งที่อยากได้ของเราเอง และที่สำคัญที่สุดคือความทุกข์นั้นมาจากการขาดความตระหนักรู้ว่าสรรพสิ่งทั้งหลายนั้นดำรงอยู่อย่างไรกันแน่  ความจริงประการที่สามกล่าวถึงความเป็นไปได้ในการหลุดพ้นจากความทุกข์ยากและปัญหาทั้งปวง ส่วนความจริงประการที่สี่ร่างเส้นทางที่หากเราปฏิบัติตามแล้วจะสามารถช่วยให้เราหลุดพ้นจากปัญหาต่าง ๆ ได้ตลอดไป

คำสอนของพระพุทธเจ้ามีเป้าหมายในการกำจัดทุกข์

ในยุคของพระพุทธเจ้า พระธรรมทั้งหมดได้รับการสอนโดยปากเปล่าและการจดจำ  คำสั่งสอนได้รับการส่งทอดต่อกันมาด้วยวิธีนี้เป็นเวลาหลายกาลสมัย ก่อนที่จะได้รับการนำมารวมเป็นตำราต้นฉบับ  ในปัจจุบันเรามีคัมภีร์พระสูตร ตำราระบุข้อปฏิบัติสำหรับสาวกนักบวชของพระพุทธเจ้า และปาฐกถาเชิงปรัชญาหลายร้อยฉบับ ซึ่งทั้งหมดนี้รวมกันเป็นสิ่งที่เรียกว่า พระไตรปิฎก หรือตะกร้าสามใบ  ตามธรรมเนียมบางครั้งก็ว่ากันว่า พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมเทศนาไว้ทั้งหมด 84,00 คำสอนด้วยกัน ซึ่งช่วยให้เราสามารถเอาชนะอารมณ์รบกวน 84,000 อย่าง  ถึงแม้ว่าตัวเลขดังกล่าวจะไม่เป็นที่แน่ชัด จุดนี้แสดงถึงจำนวนของปัญหา ความขุ่นมั่ว และประเภทของทุกข์ที่เราต้องอดทน และจำนวนคำสอนมากมายหลายประเภทที่พระพุทธเจ้าทรงให้ไว้เพื่อต่อต้านสิ่งเหล่านี้

ที่จริงแล้วคำสอนทั้งหมดของพระพุทธเจ้าล้วนเกี่ยวข้องกับการเอาชนะความทุกข์ยาก  พระพุทธเจ้าทรงไม่ได้สนใจในการสมมุติฐานเชิงอภิปรัชญา และทรงแสดงออกอย่างชัดเจนโดยการปฏิเสธไม่ตอบคำถามเกี่ยวกับตัวตนและจักรวาล เนื่องจากการไตร่ตรองเรื่องเหล่านี้ไม่ได้ช่วยนำพาเราให้เข้าใกล้การหลุดพ้นมากขึ้นแต่อย่างใด  พระพุทธเจ้าทรงมองสภาพของมนุษย์ และทรงเห็นได้ว่าพวกเราทุกคนต่างเป็นทุกข์ พระองค์จึงทรงหาทางออกสำหรับเรื่องนี้  นี่จึงเป็นสาเหตุว่าทำไมพระพุทธเจ้าจึงมักได้รับการเปรียบกับแพทย์ ส่วนพระธรรมคำสอนนั้นเป็นเหมือนยา  ยาพระธรรมนี้ช่วยแก้ปัญหาทั้งหมดของพวกเราได้อย่างเสร็จสิ้นสมบูรณ์

พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นพระรัตนตรัยอันเป็นที่พึ่ง แต่พระธรรมนั้นถือเป็นที่พึ่งที่แท้จริง  ถึงแม้ว่าพระพุทธเจ้าหลายองค์จะทรงเทศนาพระธรรม พระองค์ไม่อาจกำจัดความทุกข์ของเราได้โดยปาฏิหาริย์ราวกับการดีดนิ้ว  และถึงแม้ว่าพระสงฆ์จะสามารถช่วยเป็นหลักเกื้อกูลและให้กำลังใจพวกเราได้ ท่านก็ไม่สามารถบังคับให้เราปฏิบัติธรรมได้  เราต้องตั้งใจศึกษาและปฏิบัติพระธรรมด้วยตัวเราเอง นี่เป็นเพียงวิธีเดียวในการพ้นทุกข์  ด้วยเหตุนี้ เราจึงเป็นผู้กอบกู้แห่งตน

คุณสมบัติของพระธรรม

พระธรรมมีคุณสมบัตินับไม่ถ้วน แต่เราสามารถสรุปคุณสมบัติหลักได้ดังนี้

  1. พระธรรมเหมาะสมกับลักษณะนิสัยที่แตกต่างกันมากมาย  แม้ว่าพระพุทธศาสนาจะมีรูปแบบที่แตกต่างกันอย่างน่าทึ่งในสถานที่ต่างๆ เช่น ประเทศไทย ประเทศทิเบต ประเทศศรีลังกา ประเทศญี่ปุ่น และอื่นๆ สายทั้งหมดล้วนมีหลักคำสอนของพระพุทธศาสนาไว้และมุ่งเป้าไปที่การหลุดพ้น
  2. พระธรรมตั้งอยู่บนเหตุผล  พระธรรมสอนให้เรามองจิตใจและทุกสิ่งทุกอย่างที่เราประสบบนพื้นฐานของความเป็นจริง  พระธรรมจึงไม่ใช่คำสอนที่ไม่มีหลักฐานพิสูจน์ หรือคำสอนที่ต้องอาศัยความเชื่อในพระเจ้าองค์หนึ่งหรือหลายองค์ หากแต่พระธรรมสอนให้เราตั้งคำถามกับทุกสิ่งอย่างมีเหตุผล  สมเด็จองค์ดาไลลามะทรงร่วมมือกับนักวิทยาศาสตร์มาเป็นเวลาหลายปี เพื่อวิเคราะห์แนวคิดหลักทางพระพุทธศาสนาอย่างการรับรู้และจิตใจ และทั้งพุทธศาสนิกชนและนักวิทยาศาสตร์ต่างได้เรียนรู้จากกันและกัน
  3. พระธรรมไม่ได้พุ่งเป้าไปที่ปัญหาใดปัญหาหนึ่งโดยเฉพาะ หากแต่มุ่งไปที่รากฐานของปัญหาทั้งปวง  หากเราปวดหัวอย่างรุนแรงทุกวันไม่ว่างเว้น เราเพียงทานยาแก้ปวดเข้าไปก็ได้  แน่นอนว่ายานี้จะช่วยในระยะสั้น แต่อาการปวดหัวก็จะกลับมาอีกอยู่ดี  หากมียาที่สามารถบรรเทาอาการปวดหัวได้อย่างถาวร เราก็จะต้องทานยานั้นเป็นแน่  พระธรรมก็เป็นเช่นนี้นี่เอง เพราะพระธรรมสามารถบรรเทาได้อย่างถาวร ไม่เพียงเฉพาะอาการปวดหัวเท่านั้น แต่เป็นปัญหาและความทุกข์ทั้งปวงของเรา

สรุป

พระพุทธเจ้าทรงเป็นเหมือนแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่สามารถวินิจฉัยอาการทุกข์ของเราได้และทรงให้ยาที่ดีที่สุดแก่เรา นั่นก็คือพระธรรม  แต่จะรับยานั้นไว้หรือไม่ กล่าวคือจะนำพระธรรมมาปฏิบัติหรือไม่นั้น ล้วนขึ้นอยู่กับตัวเราเอง  ไม่มีใครสามารถบังคับให้เราทำได้ แต่เมื่อเราได้เห็นประโยชน์ทั้งหลายและความสงบจิตสงบใจอันเกิดจากพระธรรม และได้เห็นว่าพระธรรมช่วยกำจัดปัญหา ความขัดข้อง และความทุกข์ทั้งปวงได้อย่างไรแล้ว เราจะปฏิบัติพระธรรมด้วยความปีติยินดีเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ต่อตัวเราและผู้อื่น

Top