คำถาม: ฉันชอบแนวคิดของทัศนคติที่ว่า "ไม่มีอะไรพิเศษ" นี้มาก สิ่งที่สงสัยก็คือ เมื่อตอนที่คุณพบกับคนอื่น ๆ ในโลกด้วยทัศนคติแบบนั้น ตัวอย่างเช่น สมมติว่าคุณกำลังทำโครงการร่วมกับคนอื่น และคุณมีทัศนคติเช่นนี้ เมื่อมีบางอย่างผิดพลาดก็จะบอกว่า "โอเค ไม่มีอะไรพิเศษ! มันเกิดขึ้น" ผมเกรงว่าคนอื่นจะคิดว่าคุณไม่จริงจัง
ดร. เบอร์ซิ่น: อย่าเข้าใจผิดทัศนคติที่ว่าไม่มีอะไรพิเศษ มันไม่ใช่การไม่ทำอะไรเลย นอกจากนี้ มันก็ยังไม่ใช่ทัศนคติของการไม่ห่วงใยใส่ใจ ไม่แยแสว่า “อะไรก็ได้” “ไม่มีอะไรพิเศษ” หมายความว่า เราไม่รู้สึกอารมณ์เสียเกี่ยวกับว่าเรารู้สึกมีความสุขหรือไม่มีความสุข และอย่าทำให้มันเป็นเรื่องใหญ่ เราก็แค่จัดการกับสิ่งที่เรากำลังทำอย่างมีเหตุผลและใจเย็นเท่านั้นเอง เราแค่ทำทุกอย่างที่ต้องทำโดยไม่อารมณ์เสีย
ถ้าคนอื่นอารมณ์เสียล่ะ
หากพวกเขาอารมณ์เสีย ความสงบของคุณจะช่วยให้คนอื่นสงบลงได้ ผมจะยกตัวอย่างที่คลาสสิกให้ฟังนะ สมมติว่าเรากำลังพิมพ์งานเอกสารบนคอมพิวเตอร์อยู่ แล้วกดปุ่มผิด และเอกสารนั้นถูกลบไป นั่นมันจะเกิดขึ้น อารมณ์เสียมันก็จะไม่ช่วยอะไร ถ้าเราไม่มีฟังก์ชันการยกเลิก และเราไม่สามารถแก้ไขมันได้ มันจะหายไป การร้องไห้เกี่ยวกับเรื่องนี้ จะไม่นำมันกลับมา การอารมณ์เสียกับมัน และรู้สึกไม่มีความสุขจะไม่ช่วยอะไรเลย มันจะเป็นอุปสรรค เราก็แค่พูดว่า “โอเค” แล้วก็เขียนมันอีกครั้ง ถ้าเราได้รับการฝึกฝนมาอย่างดีพอที่จะจำสิ่งที่เขียนไปแล้ว เราก็จะสามารถสร้างมันซ้ำขึ้นมาได้อีก และครั้งที่สองนี้อาจจะยิ่งดีกว่าก็ได้ เราแค่จัดการกับมัน และหลีกเลี่ยงการทำตัวให้เป็นอย่างที่เราเรียกว่าเจ้าแม่จอมดราม่าเกี่ยวกับเรื่องทั้งหมดให้มันใหญ่โตเกินจริง หากเราเป็นส่วนหนึ่งของทีม และเอกสารนั้นเป็นของทีม ความใจเย็นของเราจะช่วยให้พวกเขาสงบลงได้เช่นกัน
เรากำลังพูดถึงความรู้สึกมีความสุขหรือไม่มีความสุขอันเนื่องมาจากสถานการณ์หนึ่ง ๆ หรือโดยทั่ว ๆ ไปอยู่
ผมกำลังพูดถึงการจัดการกับตัวเองอยู่ ถ้าเรารู้สึกไม่มีความสุขหรือมีความสุข เราก็แค่อยู่ร่วมกับชีวิตของเรา และอย่าทำให้มันเป็นเรื่องใหญ่โตเท่านั้นเอง แล้วเวลาที่คนอื่นรู้สึกมีความสุข ไม่มีความสุข หรืออารมณ์เสียล่ะ เช่น ทารกกำลังร้องไห้อยู่ เราจะคาดหวังอะไร ก็นั่นเป็นทารก เราจะไม่อารมณ์เสีย "โอ้ ไม่นะ ลูกกำลังร้องไห้!" เราไม่ทำให้มันเป็นเรื่องใหญ่โต และเราก็แค่ดูแลทารกเท่านั้นเอง ทำไมทารกถึงร้องไห้ อะไรก็ตามที่ต้องทำ เราก็จะทำ มันก็เป็นอะไรทำนองนั้นแหละ
ท่านศานติเทวะ (Shantideva) กล่าวไว้ดีมากว่า "คนเราเป็นเหมือนทารก" ดังนั้น พวกเขาจึงอารมณ์เสีย มันก็เหมือนกับที่ทารกร้องไห้ เราจะคาดหวังอะไร เราจะไม่ทำให้มันเป็นเรื่องใหญ่ แต่พยายามทำให้เขาสงบลง และพยายามนำเอาสิ่งต่าง ๆ ให้มันสอดคล้องกับความเป็นจริงมากขึ้น
การอารมณ์เสียกำลังทำให้การมีอยู่ของบางสิ่งเพิ่มมากขึ้น ทำให้มันกลายเป็นเรื่องใหญ่ ทั้งหมดนั่นคือสุญญตา ไม่มีอะไรใหญ่โต อะไรที่ใหญ่โตมันไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง สิ่งต่าง ๆ จะเกิดขึ้น ก็เท่านั้นเอง เราแค่จัดการกับมัน เราจะมีอารมณ์ไหม แน่นอนว่าเรามี อารมณ์เชิงบวก เช่น ความรัก ความเห็นอกเห็นใจ และความอดทนนั้นเป็นอารมณ์ที่ยอดเยี่ยมมาก แต่เราไม่จำเป็นต้องแสดงอารมณ์เชิงลบออกมา เช่น ความโกรธ ความไม่อดทน และความไม่อดกลั้น เพราะสิ่งเหล่านี้ไม่เป็นประโยชน์เลย
สำหรับฉันแล้วดูเหมือนว่า ถ้าเราต้องการก้าวไปอีกขั้น มันก็น่าจะมาจากคำสอนการฝึกจิตใจแบบโลจอง (lojong) จริง ๆ แล้ว เราสามารถเรียนรู้จากปัญหาของเราได้โดยใช้สิ่งเหล่านี้เป็นก้าวสำคัญเพื่อให้เกิดความรู้แจ้งที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น
ถูกต้อง
คุณคิดว่าวิธีการฝึกจิตใจเช่นนี้ไม่สมจริงหรือไม่ คุณคิดว่ามันเป็นไปได้จริงมากยิ่งขึ้นสำหรับคนที่ฝึกฝนบนพื้นฐานว่าไม่มีอะไรพิเศษไม่ใช่เรื่องใหญ่ไหม
เรามีวิธีฝึกจิตใจแบบโลจองเพื่อที่จะพยายามเปลี่ยนทัศนคติของเรา ตัวอย่างเช่น เราสามารถมองสถานการณ์เชิงลบให้เป็นสถานการณ์เชิงบวกได้ วิธีเหล่านี้เป็นวิธีการที่ยอดเยี่ยม แต่ผมคิดว่าเราต้องหยุดขยายความในสิ่งที่เรากำลังรู้สึก และมองสถานการณ์ที่เป็นจริงนั้นก่อนที่เราจะเปลี่ยนแปลงมันได้ ยากมากที่จะเปลี่ยนมันเมื่อเราทำให้มันเพิ่มมากขึ้นจนกลายเป็นหายนะไป "โอ้ นี่มันหายนะ! ทารกทำผ้าอ้อมเปื้อนอีกแล้ว” เราจำเป็นจะต้องมีมุมมองที่เป็นจริงมากขึ้นก่อนที่จะเปลี่ยนมันได้ "ขอให้ผ้าอ้อมที่เปื้อนของทุกคนมาหาฉัน ฉันจะเปลี่ยนผ้าอ้อมให้ทุกคน”
เราต้องมีขั้นตอน ก่อนอื่นทารกจะทำตัวเองเปื้อน แล้วไงล่ะ ก็นั่นเป็นทารก เราก็เปลี่ยนผ้าอ้อม ตอนนี้ ในขณะที่เปลี่ยนผ้าอ้อม เราอาจจะไม่พบการรับรู้การสัมผัสที่ไม่น่าพึงพอใจนี้เนื่องจากมันมีกลิ่นที่ไม่ดี และเราอาจใช้วิธีปฏิบัติแบบโลจองได้ เช่น "ในการทำความสะอาดทารก ฉันขอให้ฉันสามารถทำความสะอาดคราบและความสกปรกทั้งหมดของทุกคนได้ ในการทำเช่นนี้อาจเป็นเหตุให้สามารถชำระล้างทุกคนได้” แต่สิ่งแรก เราต้องวิเคราะห์โครงสร้างของมันในฐานะที่เป็นความหายนะก่อน เราจะทำสิ่งนี้ทีละขั้นตอน
ฉันแค่คิดถึงการเปลี่ยนผ้าอ้อมสำหรับทุกคน มันช่างสกปรกอะไรอย่างนี้
ใช่แล้ว ไม่มีใครอยากจะเป็นชาวพุทธถ้าเราต้องเอาขี้ของคนทั้งโลกมาอยู่ที่ตัวเรา นั่นเป็นเรื่องจริง ตามหลักการทั่วไป ถ้าเราสามารถใช้ตัวอย่างที่น่าขบขันของสิ่งต่าง ๆ ได้ มันจะสร้างความประทับใจที่ลึกซึ้งกว่าการใช้ตัวอย่างที่น่าเบื่อ ถูกต้องไหม
ฉันแค่สงสัยว่าในแต่ละวันเมื่อเราประสบกับสิ่งที่ไม่พึงประสงค์ เช่น ในความสัมพันธ์หรืออะไรบางอย่างที่เป็นไปในทางทำลาย เราจะรวมสิ่งนี้เข้าไว้ด้วยหรือไม่
ถ้าเราอยู่ในความสัมพันธ์ที่เป็นไปในทางทำลาย และสิ่งต่าง ๆ กำลังเลวร้าย เราจะไม่พูดว่า "แล้วไง นี่คือสังสารวัฏ" สิ่งที่เราต้องการใช้คือ การรับรู้ที่แยกแยะ ซึ่งเป็นสิ่งที่สมเด็จองค์ดาไลลามะเรียกว่า “สติปัญญาอันมหัศจรรย์ของมนุษย์” เราจะต้องสามารถแยกแยะได้ว่า สถานการณ์ใดเป็นประโยชน์หรือเป็นโทษ มันเป็นประโยชน์หรือไม่เป็นประโยชน์สำหรับตัวเราเองและอีกฝ่ายที่อยู่ในความสัมพันธ์นี้ ถ้ามันไม่เกิดประโยชน์ ถ้ามันเป็นโทษต่อทั้งสองฝ่าย เราก็จบมันลง ประเด็นคือ จะต้องสามารถคิดได้อย่างชัดเจนและไม่อยู่บนพื้นฐานของการขยายความเกินจริง และการการฉายภาพสิ่งต่าง ๆ ไปยังสิ่งกำลังเกิดขึ้น โดยที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง บางครั้ง แน่นอนว่ามันจะเป็นการดีกว่าที่จะแยกจากกัน แต่จงตัดสินใจโดยอาศัยความคิดที่ชัดเจน การวิเคราะห์ที่ชัดเจน
มันเป็นเรื่องดีหรือไม่ที่จะพยายามตระหนักถึงความรู้สึกโดยไม่รู้ตัวของเรา และแสดงมันออกมาอย่างตรงไปตรงมา
โดยการใช้ศัพท์ตะวันตก บ่อยครั้งที่เราประสบกับอารมณ์ในระดับที่ไม่รู้ตัว คำถามคือ มันจะดีกว่าในบางสถานการณ์หรือไม่ที่จะให้มันแสดงออกให้ชัดเจนมากขึ้น ผมนึกถึงสองกรณีที่แตกต่างกันที่เราน่าจะต้องตรวจสอบ กรณีหนึ่งเป็นอารมณ์ที่ทำลายและอีกกรณีหนึ่งเป็นอารมณ์ที่สร้างสรรค์ ลองมาตรวจสอบที่ตัวอย่างของความโกรธหรือความรักเป็นตัวอย่าง ถ้าเรามีความเป็นศัตรูโดยไม่รู้ตัวต่อใครบางคน เราก็จะต้องการที่จะตระหนักถึงเรื่องนี้อย่างแน่นอน การตระหนักถึงเรื่องนี้ไม่ได้หมายความว่าจำเป็นจะต้องแสดงความเป็นศัตรูกับใครบางคน เช่นเคย เราจะต้องวิเคราะห์และแยกแยะแง่มุมที่แตกต่างกันของสิ่งที่เกิดขึ้น
ตัวอย่างเช่น สมมติว่าผมมีเพื่อนและเมื่อผมมีปฏิสัมพันธ์กับพวกเขา ผมมักจะถามพวกเขาว่า "สบายดีไหม มีอะไรเกิดอะไรขึ้นกับคุณบ้าง" อย่างไรก็ตาม พวกเขาไม่เคยถามผมว่าผมสบายดีไหม หรือผมเป็นอย่างไรบ้าง พวกเขาไม่เคยถามผม และมันน่ารำคาญที่พวกเขาเอานึกถึงแต่ตัวเอง และพวกเขาก็ไม่คิดที่จะถามผมว่าผมเป็นยังไงบ้าง ตอนนี้ มีความแตกต่างที่นี่ มีความเป็นศัตรูโดยไม่รู้ตัวเกี่ยวกับเรื่องนี้หรือไม่ อาจจะมี แต่การแสดงออกนั้นและโกรธพวกเขาจะไม่ช่วยสถานการณ์นั้นให้ดีขึ้น จากการพูดว่า “คุณเห็นแก่ตัวจริง ๆ ! คุณมันแย่มาก” ซึ่งจะนำไปสู่การกระทำที่ถูกบีบบังคับให้ใช้วิธีทำลายและตะโกนใส่พวกเขา นั่นจะไม่ช่วยสถานการณ์นี้ “ทำไมคุณไม่ถามผมว่าผมสบายดีไหม คุณเป็นอะไรไปเนี่ย” อะไรแบบนี้ไม่ได้ช่วยอะไรเลย หากเราสังเกตเห็นว่า เรามีความเป็นศัตรูเกี่ยวกับบางสิ่งเช่นนี้ เราก็ต้องดูแลไม่ให้สิ่งนั้นแสดงออกมา เพราะถ้ามันแสดงออกมา เราจะสูญเสียการควบคุมตนเองและจะแสดงออกไปในทางที่ทำลาย
อย่างไรก็ตาม เมื่อผมสังเกตเห็นความเป็นศัตรู ผมก็จะพยายามแก้ไขสถานการณ์นั้นโดยไม่โกรธ โดยปกติผมจะทำแบบนั้นในลักษณะที่เป็นเรื่องเรื่องตลกขบขัน ผมพบว่า อารมณ์ขันเป็นสื่อที่มีประโยชน์มากในการทำให้สถานการณ์ผ่อนเบาลง ผมจะพูดหลังจากที่พวกเขาเล่าเรื่องราวทั้งหมดของพวกเขาว่าพวกเขาเป็นอย่างไรบ้าง และพวกเขาก็เริ่มเปลี่ยนหัวข้อ และไม่เคยถามผมเกี่ยวกับตัวผมเลย ผมก็จะพูดว่า "อเล็กซ์ แล้วคุณเป็นไงบ้าง โอ้ ขอบคุณที่ถามผม!" มันกลายเป็นเรื่องตลกเล็กน้อย และบุคคลนั้นก็ตระหนักดีว่าเขาจำเป็นจะต้องแลกเปลี่ยน และถามผมว่าผมเป็นอย่างไรบ้าง เช่นนั้นก็จะไม่มีความเป็นศัตรู
การตระหนักว่าเรามีความเป็นศัตรูแฝงอยู่นี้เป็นประโยชน์ ถ้าเรามีมัน ถ้ามันไม่รบกวนผม แล้วไงล่ะ ผมจะไม่สนใจว่าพวกเขาจะถามผมว่าผมเป็นยังไงหรือไม่ มันไม่สำคัญ ผมจะต้องบอกพวกเขาไหมว่าผมกำลังทำอะไรอยู่ ผมเป็นยังไง ก็ไม่เชิงซะทีเดียว ถ้าผมอยากจะบอกพวกเขาจริง ๆ ผมก็จะบอกพวกเขา มันก็เหมือนกับว่าถ้าลูกหรือหลานที่โตแล้วของคุณไม่เคยโทรศัพท์หาคุณ งั้นถ้าคุณอยากได้ยินข่าวคราวจากพวกเขา คุณก็แค่โทรหาพวกเขาเท่านั้นเอง แต่ทำโดยไม่มีความเป็นศัตรู และไม่พยายามทำให้พวกเขารู้สึกผิดที่ไม่โทรหาคุณ
แล้วอารมณ์ที่สร้างสรรค์ล่ะ ตอนนี้ เราจะต้องเริ่มวิเคราะห์สิ่งนี้ ผมจะพูดสด ๆ ตรงนี้ เพราะผมไม่เคยวิเคราะห์มันมาก่อนจริง ๆ บางที เราอาจมีความรักที่ไม่แสดงออก นั่นหมายความว่าอย่างไร เราไม่ได้กำลังพูดถึงอารมณ์ที่ทำลายในเรื่องของความต้องการทางเพศที่ปิดบังหรือไม่เปิดเผย และแรงดึงดูดทางเพศกับใครบางคน นี่ไม่ใช่ "ผมต้องการนอนกับคุณ" หรืออะไรทำนองนั้น ตอนนี้ เราจะต้องพูดถึงอารมณ์เชิงบวกจริง ๆ ตัวอย่างเช่น เรารักลูกของเรา โอเคไหม เรารักลูก แต่เราแสดงความรักนั้นบ่อยแค่ไหน เราต้องการนำสิ่งนั้นไปสู่ระดับที่แสดงให้เห็นชัดเจนยิ่งขึ้นหรือไม่ ซึ่งนั่นอาจจะเป็นประโยชน์
อย่างนั้นแล้ว เราจึงต้องใช้การรับรู้ที่แยกแยะเพราะเราไม่ต้องการทำให้เด็กรู้สึกอึดอัด ตัวอย่างเช่น ถ้าเรามีลูกที่อยู่ในวัยรุ่น และเขาอยู่กับเพื่อน ๆ และเราเป็นแม่ แล้วพูดว่า "โอ้ แม่รักลูกมาก" กอดและหอมลูกของเรา เราจะทำให้พวกเขาอับอายต่อหน้าเพื่อน ๆ และนั่นไม่เหมาะสมโดยสิ้นเชิง อีกตัวอย่างหนึ่งอาจเป็นแบบนี้คือ เราโทรหรือส่งข้อความหาลูกที่เป็นวัยรุ่นของเราตลอดเวลาเมื่อพวกเขาออกไปข้างนอก "โอ้ ไม่นะ แม่ของฉันอีกแล้ว ถามว่าฉันโอเคไหม"
เราจำเป็นจะต้องใช้การรับรู้ที่แยกแยะเพื่อที่จะกำหนดว่าเมื่อไหร่และด้วยวิธีไหนที่จะแสดงอารมณ์เชิงบวกของเรา วิธีที่เราแสดงออกกับเด็กสองขวบนั้น แตกต่างจากวิธีที่เราแสดงออกกับเด็กอายุสิบห้าปี อารมณ์เชิงบวกสามารถแสดงออกได้ แต่ย้ำอีกครั้งว่าไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าแม่จอมดราม่า และทำให้มันเป็นดราม่าจริง ๆ ระดับที่ละเอียดกว่านั้นไม่เป็นไร
สกุลเงินทางอารมณ์
นี่เป็นอีกหัวข้อหนึ่งที่ผมคิดว่ามีประโยชน์มาก เพื่อนของผมเป็นจิตแพทย์ชี้ให้เห็นทฤษฎีนี้โดยใช้ศัพท์ทางเศรษฐศาสตร์ เราจำเป็นจะต้องเรียนรู้ที่จะยอมรับว่า ผู้คนมีสกุลเงินที่แตกต่างกัน และพวกเขาจะชำระเงินด้วยสกุลเงินที่แตกต่างกันเหล่านี้ เราจำเป็นต้องเรียนรู้ที่จะยอมรับสกุลเงินของพวกเขา ตัวอย่างเช่น บางคนแสดงความรักทางร่างกายด้วยการกอดและหอม คนอื่น ๆ แสดงความรักและความห่วงใยด้วยการดูแลเรา พวกเขาไม่ได้มีความรักทางร่างกายมากนัก แต่พวกเขาให้การดูแลและปกป้อง
ตัวอย่างที่คลาสสิกตัวอย่างหนึ่งมาจากคนรุ่นเก่าที่โดยปกติแล้วพ่อจะไม่ค่อยแสดงออกถึงความรักใคร่ลูกมากนัก อย่างไรก็ตาม ผู้เป็นพ่อแสดงความรักที่มีต่อลูกโดยการที่เขาออกไปทำงานหาเงินทั้งหมด และจัดหาทุกอย่างให้กับลูก นี่คือสกุลเงินที่พ่อจ่ายให้ เมื่อเป็นเด็กหรือเป็นผู้ใหญ่ต่อมาในภายหลัง เราจำเป็นจะต้องตระหนักถึงสิ่งนั้น “พ่อของฉันรักฉัน และแสดงความห่วงใยและการดูแลของเขา เขาอาจจะไม่ได้จ่ายเป็นสกุลเงินที่ฉันชอบหรือน่าจะเลือกเอา เช่น กอดฉัน หรือบอกว่าเขารักฉันมากแค่ไหน แต่เขาก็ได้แสดงออกถึงความรักแล้ว” เราเรียนรู้ที่จะยอมรับสกุลเงินต่าง ๆ มันเหมือนกับการจ่ายเป็นสกุลเงินโครนาที่นี่ในเดนมาร์กไม่ใช่ยูโร เงินก็ยังคงเป็นเงิน ต่างคนต่างแสดงความรักในรูปแบบที่แตกต่างกัน
ในเรื่องที่คุณเล่าเกี่ยวกับเพื่อนของคุณที่ไม่ได้ถามว่าคุณสบายดีไหม แล้วถ้าคุณไม่โกรธแต่คุณมีความยึดติดหรือความต้องการให้พวกเขาคิดถึงคุณและสารทุกข์สุขดิบของคุณล่ะ? มันไม่ได้หมายความว่าคุณโกรธ คุณไม่ต้องการตะโกนด่า คุณก็แค่รู้สึกเศร้าเล็กน้อยกับเรื่องนี้ ถูกรักน้อยลง คุณอาจจะยังพูดถึงมันได้อยู่ แต่ถ้าพวกเขาไม่เปลี่ยน หรือยอมรับข้อเสนอแนะเล็ก ๆ น้อย ๆ ของคุณ ถ้าเช่นนั้นแล้ว คุณจะจัดการกับความเศร้านั้นได้อย่างไร? วิธีการนั้นคือทำโดยการพยายามเอาชนะความยึดติดของคุณกับสิ่งเหล่านี้หรือไม่?
มีความเศร้าสองประเภทที่อาจเป็นไปได้ในสถานการณ์นี้ มีความเศร้าของการคำนึงถึงตัวเอง "ฉันเศร้าเพราะพวกเขาไม่สนใจฉัน ฉันไม่โกรธเกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่ฉันหวังว่าพวกเขาน่าจะสนใจฉัน" นั่นขึ้นอยู่กับการคิดเพียงแค่ว่า “ฉัน ฉัน ฉัน” นั่นคือการไม่มีความสุขประเภทหนึ่ง อย่างไรก็ตาม เราอาจเศร้าที่พวกเขานึกถึงแต่ตัวเอง แต่เราไม่ได้ถือสาเรื่องนี้เเลย ในกรณีนี้ เราเศร้าที่พวกเขามีปัญหานั้น นั่นนำเราไปสู่การพัฒนาความเห็นอกเห็นใจให้กับพวกเขา ดังนั้น เราจึงสามารถคิดหาวิธีที่จะพยายามช่วยพวกเขาได้
ถ้าความเศร้าของเรามีพื้นฐานมาจากแค่ความห่วงกังวลเกี่ยวกับตัวเราเองเท่านั้น "ฉันเศร้าที่ผู้คนไม่ให้ความใส่ใจฉัน" ฉะนั้นแล้ว เราก็จะต้องพัฒนาสิ่งนั้นจริง ๆ แม้ว่าผู้คนให้ความใส่ใจเรา แล้วเราต้องการอะไร เราอยากให้ปาปารัสซี่ถ่ายรูปเราตลอดเวลาไหม เราต้องการความใส่ใจมากขนาดนั้นเลยหรือ ผมหมายความว่า แน่นอนว่า มันจะไม่ทำให้พอใจ แม้ว่าคนอื่นจะให้ความใส่ใจเราตรงตามที่เราต้องการ แต่ก็เป็นแค่ความสุขปกติธรรมดาและมันไม่คงอยู่ตลอดไป ในทางกลับกัน เช่นเดียวกับตัวอย่างของพ่อแม่ที่ให้การปกป้องคุ้มครองมากเกินไป บางคนอาจให้ความใส่ใจมากเกินไปโดยถามทุก ๆ ห้านาทีว่า "ลูกเป็นอย่างไรบ้าง ลูกโอเคไหม” หรือ “ทุกอย่างโอเคไหม”
ฉันอาจจะคิดว่ามันดีในความสัมพันธ์ของฉัน แต่อีกฝ่ายอาจไม่คิดเช่นนั้น เราควรพูดถึงสกุลเงินว่า “ฉันเป็นแบบนี้และคุณก็เป็นแบบนี้” เราตระหนักถึงกันและกัน เราสามารถปรับปรุงแก้ไขสิ่งที่ชอบและไม่ชอบของกันและกัน แล้วเรียนรู้กัน มันดีที่จะพูดถึงเรื่องนี้ สื่อสารเกี่ยวกับเรื่องนี้ และตระหนักถึงเรื่องนี้
ถ้ามันเป็นความสัมพันธ์ที่ดำเนินอยู่ และอีกฝ่ายเปิดกว้าง เราก็จะสามารถพูดถึงเรื่องนี้ได้ “ฉันชอบความรักที่แสดงออกในลักษณะนี้” อีกฝ่ายสามารถบอกว่า เขาชอบความรักที่แสดงในลักษณะนั้น นั่นคือความสัมพันธ์แบบจับคู่กัน แต่มันไม่ได้ผลดีนักกับความสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับพ่อแม่ หากพ่อแม่เสียชีวิตไปแล้ว และเรากำลังมองย้อนกลับไปในวัยเด็กของเรา มันก็ไม่มีการเจรจาต่อรอง มันสำคัญที่จะต้องดูว่าทั้งสองคนที่เกี่ยวข้องนั้นโดยพื้นฐานแล้วมีสถานะที่เท่าเทียมกันหรือไม่ พวกเขาอาจสามารถเปลี่ยนแปลง และจัดการกับการสื่อสารได้หรือไม่ มันอาจจะเป็นไปได้ว่า เจ้านายไม่เคยถามใครในที่ทำงานว่าสบายดีไหม เป็นอย่างไรบ้าง เราไม่เจรจากับเจ้านายเกี่ยวกับปัญหาประเภทนี้ กับเจ้านาย เราควรห่วงกังวลเกี่ยวกับปัญหาที่เกี่ยวข้องกับงาน เช่น “นั่นเป็นงานที่มากเกินไปจริง ๆ ที่คุณให้ฉันทำ ฉันไม่มีความสุขมากเกี่ยวกับเรื่องนั้น” คุณจำเป็นจะต้องดูสถานการณ์ และมองดูมันด้วยการรับรู้ที่แยกแยะ
สมมติว่า เราไม่ได้ตระหนักถึงระดับของการรับรู้ถึงสุญญตา และเรายังคงรู้สึกว่าเรามีเหตุผลที่แท้จริง ซึ่งอาจจะไม่ใช่เหตุผลที่เกินจริงที่จะโกรธด้วยซ้ำ เราหลีกเลี่ยงสิ่งนั้นและไม่แสดงความโกรธของเรา เราพยายามที่จะไม่ทำให้มันเป็นเรื่องใหญ่ แต่มีกลไกที่ทำให้สิ่งนี้กลายเป็นสิ่งที่ไม่ดีต่อสุขภาพจิตได้หรือไม่
นี่เป็นการนำประเด็นของความปราบปรามขึ้นมา เมื่อเราไม่ได้ตระหนัก หรือบรรลุถึงระดับของการตระหนักถึงสุญญตา และเราเพียงแค่ปราบปรามความเป็นศัตรู ก็แน่นอนว่า มันจะหันเข้ามาสู่ภายในตัวเราเอง นั่นอาจทำให้เกิดปัญหาได้ทุกรูปแบบ แล้วถ้าอย่างนั้น เราจะทำอย่างไร หากเรากำลังจะแสดงความโกรธ หรืออารมณ์เสีย และหากมันจำเป็นจะต้องแสดงออกมา ก็เช่นเคยว่าให้ใช้การรับรู้ที่แยกแยะเพื่อเลือกเวลาที่เหมาะสม มันไม่ใช่เวลาที่จะแสดงความโกรธเมื่ออีกฝ่ายอารมณ์เสียจริง ๆ หรือยุ่งมาก ๆ ใช้สติปัญญาเพื่อที่จะดูว่าเวลาใดเป็นเวลาที่เหมาะสมที่สุดในการแสดงมันออกมา อย่าแสดงความโกรธเมื่อมันแรงเกินไป เพราะมันอาจจะควบคุมไม่ได้
ทุกอย่างมันก็จะมาลงตรงที่การใช้สามัญสำนึกและสติปัญญาของเรา มันจะเป็นประโยชน์เมื่อไหร่ เวลาที่เหมาะสมคือเวลาไหน ถ้าอีกฝ่ายหมดแรงจริง ๆ และแค่อยากไปนอน หรือครึ่งหลับครึ่งตื่นแล้ว นั่นไม่ใช่เวลาที่จะสนทนาอย่างลึกซึ้งและมีความหมายเกี่ยวกับความไม่อ่อนไหวของผู้อื่น นอกจากนี้ นี่ยังใช้ในกรณีที่หากว่าพวกเขายุ่งมากจริง ๆ ที่ ๆ ทำงาน นั่นก็ไม่ใช่เวลาที่เหมาะสม โอเคไหมครับ