ความทรงจำของผมเกี่ยวกับเกเช นาวัง ดากเย

ผมพบเกเช นาวัง ดากเย (Geshe Ngawang Dhargyey) เป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1970 ในเมืองดัลเฮาซี ประเทศอินเดีย และเริ่มศึกษากับท่านในเวลานั้น   ผมเดินทางมายังอินเดียในปีก่อนหน้านั้นด้วยทุนฟุลไบรท์ (Fulbright Fellowship) เพื่อทำวิจัยสำหรับวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของผม  ตอนนั้นผมได้รู้จักกับเกเช วังยัล (Geshe Wangyal) ที่รัฐนิวเจอร์ซีย์ตอนเรียนภาษาทิเบตที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดแล้ว และเมื่อมาถึงประเทศอินเดียแล้ว ผมไปขอความช่วยเหลือจากชาปะและคัมลุง รินโปเช (Sharpa และ Khamlung Rinpoches) ร่างกลับชาติมาเกิดของลามะ (ตุลกู) วัยหนุ่มทั้งสอง ซึ่งพวกท่านไปเรียนภาษาอังกฤษในอเมริกาภายใต้การกำกับดูแลของเกเช วังยัล 

หลังจากที่ผมตระหนักได้ว่าการเขียนเรื่องคุห์ยะสมาชตันตระ (Guhyasamaja Tantra) สำหรับวิทยานิพนธ์นั้นเป็นเรื่องที่อยู่เหนือความเข้าใจของผมมาก   กยาบเจ ตรีจัง รินโปเช (Kyabje Trijang Rinpoche) รองอาจารย์  สอนสมเด็จองค์ดาไลลามะ จึงแนะนำให้ผมศึกษาลัมริม ซึ่งคือลำดับเส้นทางการปฏิบัติไปสู่การตรัสรู้แทน   ชาปะและคัมลุง รินโปเชจึงถามอาจารย์ของพวกท่าน นั่นคือเกเช นาวัง ดากเย แทนผมว่า ท่านจะยอมสอนลัมริมให้ผมหรือไม่ ซึ่งท่านก็ตอบรับ  ผมจึงเป็นนักเรียนชาวตะวันตกคนแรกของท่าน

เกเช ดากเยอาศัยอยู่ในคอกวัวร้างที่สร้างด้วยโคลนตมและมูลสัตว์ ซึ่งมีที่พอสำหรับเตียงของท่านและพื้นที่ขนาดจิ๋วข้าง ๆ เตียงสำหรับให้นักเรียนนั่งที่พื้นได้  พ่อครัวฟันหลอที่อารมณ์ดีอยู่เป็นนิจชื่อว่า เคดุบ ตาชิน (Khedup Tarchin) อยู่ในพื้นที่ครัวที่เล็กกว่านั้นอีก   เราเรียก เกเช ดากเยว่า เจน รินโปเช (Gen Rinpoche) หรือ “ท่านผู้ล้ำค่า”   ท่านเป็นอาจารย์ชื่อดังสอนตุลกูรุ่นเยาว์ ซึ่งท่านดูแลตุลกูถึงเก้ารูป และท่านมีชื่อเสียงด้านการเป็นนักอภิปรายและนักปฏิบัติที่เพรียบพร้อมไปด้วยความรู้  ผมจึงมั่นใจว่าท่านมีคุณสมบัติพร้อมเสียงยิ่งกว่าพร้อมอีก

ตารางเรียนของผมคือหกวันต่อสัปดาห์  ชาปะและคัมลุงจะแปลให้ผม เนื่องจากเจน รินโปเชพูดด้วยสำเนียงคัมปะ (Khampa) ที่แปร่งมากจนตอนนั้นผมแทบฟังไม่ได้ศัพท์เลย  ตุลกูหนุ่มอีกรูป นั่นคือ จาโด รินโปเช (Jhado Rinpoche) ก็นั่งอยู่ในการสอนครั้งนี้ด้วย  ในภายหลังท่านได้เป็นเจ้าอาวาสวัดนัมกยัล (Namgyal Monastery) ขององค์ดาไลลามะ และในปัจจุบันเป็นเจ้าอาวาสวัดกยูโต ตันตริก (Gyuto Tantric Monastery)  เราทั้งหมดนั่งเบียดเสียดกันอยู่ในพื้นที่จิ๋ว ๆ ข้างเตียงของเจน รินโปเช 

ตัวกระท่อมดูจะคับคั่งไปด้วยแมลงวัน ซึ่งดูจะไม่สร้างความรำคาญให้ใครเลยนอกจากตัวผม  จริง ๆ แล้วคัมลุง รินโปเชถึงกับเล่นเกมแมลงวันเลยด้วยซ้ำ ท่านจะจับแมลงวันด้วยมือ ซึ่งท่านมีทักษะสูงมากจนไม่น่าเชื่อ  เมื่อจับได้แล้ว ท่านจะเขย่ามัน แล้วปล่อยมันไป  แมลงวันก็จะบินออกไปอย่างงง ๆ แล้วทุกคนก็จะหัวเราะ  แต่ผมไม่ขำเรื่องนี้นัก  เมื่อเห็นว่าผมรู้สึกไม่สบายใจ วันหนึ่งเจน รินโปเชก็ยืนขึ้นบนเตียงและกวัดแกว่งผ้าจีวรของท่านไปในอากาศอย่างเอะอะเพื่อปัดไล่แมลงวัน จากนั้นจึงมองผมและหัวเราะ  หลังจากนั้นผมจึงเรียนรู้ที่จะมีสมาธิกับการเรียนมากขึ้นและเลิกสนใจแมลงวัน

หลังจากนั้นไม่นาน ผมถวายปัจจัยเงินจำนวนหนึ่งให้เจน รินโปเชเพื่อให้ท่านได้ย้ายไปอยู่ในที่ที่ดีกว่านี้  ท่านรับเงินไว้ด้วยความยินดี แต่ด้วยความชอบทำตัวลึกลับและเล่นมุกตลก ท่านไม่บอกใครเลยว่าท่านย้ายไปไหน  จู่ ๆ ท่านก็หายตัวไปและรอให้พวกเราหาท่านให้เจอ  เมื่อเราหาท่านเจอ ท่านก็หัวเราะท้องแข็ง  ท่านย้ายเข้าไปอยู่ในกระท่อมสังกะสีข้างวัดกยูเม ตันตริก (Gyume Tantric Monastery) ซึ่งถือเป็นการยกระดับค่อนข้างมาก  พวกเราจึงทำการเรียนต่อไปที่นั่น และบางครั้งพวกเราและตุลกูหนุ่ม ๆ ทั้งหลายก็จะออกไปเดินเล่นนาน ๆ และไปปิคนิคในทุ่งหญ้าภูเขาอันสวยงาม  เจน รินโปเชชื่นชอบการปิคนิคเป็นอย่างมาก

สมเด็จองค์ดาไลลามะทรงทราบเรื่องการเรียนของพวกเราและทรงเริ่มให้บทภาษาทิเบตสั้น ๆ เพื่อให้พวกเราแปลเป็นภาษาอังกฤษสำหรับการตีพิมพ์  จากนั้นในปี ค.ศ. 1971 ท่านสมเด็จทรงให้ก่อตั้งหอสมุดงานและจดหมายเหตุของทิเบต (Library of Tibetan Works & Archives) ในเมืองธรรมศาลา  ในช่วงฤดูใบไม้ผลิปีนั้นพวกเราอยู่ที่ธรรมศาลาเพื่อเข้าร่วมการสอนคุห์ยะสมาชของท่านสมเด็จ และท่านทรงขอให้เจน รินโปเช เป็นอาจารย์สอนชาวตะวันตกอยู่ที่หอสมุด และให้ชาปะกับคัมลุง รินโปเช เป็นผู้แปล  ผมจึงถามท่านว่าให้ผมช่วยด้วยได้ไหมและท่านก็ทรงอนุญาต แต่ทรงแนะนำให้ผมกลับไปฮาร์วาร์ดก่อน ไปส่งวิทยานิพนธ์ ไปรับปริญญาเอก แล้วจึงค่อยกลับมา  ผมจึงทำเช่นนั้นและกลับมาในปีต่อมา เข้าร่วมกับเจน รินโปเชและตุลกูทั้งสองในธรรมศาลา  พวกเราจึงก่อตั้งสำนักแปล (Translation Bureau) ที่หอสมุดขึ้นร่วมกัน

ตลอดสิบสองปีถัดมา เจน รินโปเชสอนหกวันต่อสัปดาห์ที่หอสมุด ยกเว้นเวลาที่ท่านเดินสายสอนระดับนานาชาติเป็นระยะเวลานาน  ผมเข้าร่วมการสอนของท่านเกือบทุกครั้งและจดบันทึกทุกสิ่งทุกอย่างที่ท่านสอนอย่างละเอียด  ในตอนนั้นประชากรของประเทศเครือจักรภพสามารถอยู่ในประเทศอินเดียได้โดยไม่ต้องใช้วีซ่า  ดังนั้นนักเรียนหลายคนจึงสามารถอยู่ที่ธรรมศาลาได้เป็นปี ๆ  จุดนี้ทำให้เจน รินโปเชสามารถสอนหลักสูตรที่ต้องใช้เวลาเป็นปีหลายหลักสูตรเกี่ยวกับตำราพระพุทธศาสนาและให้คำแนะนำในเรื่องการนั่งสมาธิได้ตลอดปี  นอกจากนี้ท่านยังสอนพระตันตระขั้นเริ่มต้นและให้ความรู้มากมายเกี่ยวกับหลักการปฏิบัติต่าง ๆ  เราจะรวมตัวกันทำพิธีคุรุบูชาสักสองสามสัปดาห์ครั้ง ซึ่งท่านเป็นผู้สอนให้เราทำ   ช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่เหลือเชื่อมาก ๆ  พวกเราโชคดีเหลือเกินที่ได้รับโอกาสอันมีเอกลักษณ์เช่นนี้

สิ่งที่น่าจดจำมากเป็นพิเศษคือ ทุกครั้งที่เจน รินโปเชสอน ท่านจะมีความกระตือรือร้นมาก และท่านมักผสมผสานคำอธิบายอย่างลึกซึ้งเข้ากับอารมณ์ขันบ้าน ๆ ของท่านอยู่เสมอ  ท่านไม่เคยเหน็ดเหนื่อยต่อการอธิบายสิ่งเดิมซ้ำสองเวลาที่เราจำสิ่งที่ท่านสอนไม่ได้  นี่เป็นตัวอย่างของความความเห็นอกเห็นใจและความอดทนที่เป็นตัวอย่างที่สร้างแรงบันดาลใจ  ท่านมีความละเอียดเกี่ยวกับวินัยสงฆ์และคำปฏิญาณตนของสงฆ์มากเช่นกัน  ถึงแม้ท่านจะต้องไปเข้าห้องน้ำตอนกลางดึก ท่านก็จะต้องสวมผ้าคลุมไหล่

เจน รินโปเชช่วยให้ผมสามารถก้าวผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากมาได้ตลอด  เมื่อเซนซับ เซอคง รินโปเช (Tzenzhab Serkong Rinpoche) มรณภาพอย่างกะทันหันในสปีติ ผมรีบไปที่ห้องของเจน รินโปเชทันทีที่ได้ยินข่าว  เซอคง รินโปเชเคยเป็นอาจารย์องค์หนึ่งของท่านเช่นกัน  ผมเดินเข้าไปและพบเจน รินโปเช กำลังนั่งจิบชาและพูดคุยอย่างสนุกสนานอยู่กับเพื่อน ๆ ชาวทิเบต  ท่านบอกให้ผมนั่งลงและรอจนพวกเขาไป  เมื่อพวกเขากลับไปแล้วและผมบอกท่านว่าผมได้ทราบเรื่องการมรณภาพของเซอคง รินโปเชแล้ว  ท่านบอกผมว่าท่านทราบเรื่องนี้แล้วเช่นกัน  จากนั้นท่านจึงไปนับลูกประคำตามจำนวนของอาจารย์ที่ได้จากท่านไปแล้วทั้งหมด  ท่านบอกว่าความตายเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับทุกคน มันไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจอะไร  แต่ถ้าเราเก็บอาจารย์และคำสั่งสอนของท่านไว้ในหัวใจเราเสมอ แม้ว่าร่างท่านล่วงลับไปทางร่างกาย อาจารย์เหล่านั้นก็อยู่กับพวกเราเสมอ  และชีวิตก็ดำเนินต่อไป  คำสอนนี้ช่วยผมได้มากจริง ๆ

เจน รินโปเชออกจากหอสมุดในปี ค.ศ. 1984 โดยตอบรับนิมนต์ให้ย้ายไปสอนอยู่ที่เมืองดะนีดิน ประเทศนิวซีแลนด์  การย้ายไปที่ที่ไกล ห่างไกลจากยุโรปและอเมริกาเหนือเช่นนั้นดูจะเหมาะกับท่าน  ยังไงท่านก็ชอบทำตัวลึกลับอยู่พอประมาณและทำให้นักเรียนต้องพยายามหาท่านให้พบ เพื่อเรียนกับท่านอยู่แล้ว

เจน รินโปเชอาศัยอยู่ที่นิวซีแลนด์จนกระทั่งท่านมรณภาพในปี ค.ศ. 1995  โรคเบาหวานทำให้ท่านสูญเสียการมองเห็น แต่ท่านก็ยังคงสอนและฝึกปฏิบัติประจำวันอย่างต่อเนื่องจนถึงวาระสุดท้าย

ผมได้เจอเจน รินโปเชอีกเพียงสองครั้งหลังจากที่ท่านย้ายไปที่นิวซีแลนด์เท่านั้น  แต่ผมซาบซึ้งตลอดกาลในบุญคุณของท่านที่ช่วยปูพื้นฐานเรื่องคำสอนและหลักปฏิบัติทางพระพุทธศาสนา และช่วยสอนตำราอันล้ำค่าของอินเดียและทิเบตให้ผม  ร่างกลับชาติมาเกิดของท่านนามว่า ยังซี รินโปเช (Yangsi Rinpoche) เกิดในปี ค.ศ. 1996 และในขณะนี้กำลังศึกษาอยู่ที่อารามเซรา เย  (Sera Je Monastery) ทางตอนใต้ของอินเดีย

Top