อเล็กซานเดอร์ เบอร์ซิ่น คือใคร

อเล็กซานเดอร์ เบอร์ซิ่น (เกิดปี ค.ศ. 1944) เติบโตในรัฐนิวเจอร์ซีย์ สหรัฐอเมริกา  เขาเริ่มศึกษาพระพุทธศาสนาในปี ค.ศ. 1962 ที่ มหาวิทยาลัยรัตเกอร์ส (Rutgers)  จากนั้นจึงเข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน (Princeton) และได้รับปรัชญาดุษฎีบันฑิตสาขาสันสกฤตและอินเดียศึกษา และภาษาตะวันออกไกล (จีน) จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard)  เขาได้รับแรงบันดาลใจจากกระบวนการการเผยแพร่พุทธศาสนาจากอารยธรรมเอเชียแห่งหนึ่งไปยังอีกแห่ง และการที่แต่ละอารยธรรมนำพระพุทศาสนาไปแปลและประยุกต์ใช้  จึงทำให้เขามุ่งมั่นที่จะสร้างสะพานเชื่อมต่อระหว่างวิถีพุทธแบบดั้งเดิมเข้ากับวัฒนธรรมตะวันตกตั้งแต่นั้นมา

ดร. เบอร์ซิ่น อาศัยอยู่ในประเทศอินเดียเป็นเวลา 29 ปี  โดยตอนแรกอาศัยอยู่ในฐานะนักศึกษาทุนฟูลไบรท์ (Fulbright) และต่อมาเข้าร่วมทำงานกับสำนักแปล (Translation Bureau) ซึ่งเขามีส่วนช่วยในการก่อตั้งที่หอสมุดงานและจดหมายเหตุของทิเบต (Library of Tibetan Works & Archives) เมืองธรรมศาลา  ในขณะที่อาศัยอยู่ในประเทศอินเดีย เขาศึกษาเพิ่มเติมกับอาจารย์จากพระพุทธศาสนาทั้งสี่นิกาย โดยมีสมเด็จองค์ดาไลลามะ เซนชับ เซอคง รินโปเช (Tsenshap Serkong Rinpoche) และ เกเช นาวัง ดากเย (Geshe Ngawang Dhargyey) เป็นอาจารย์หลัก  ภายใต้การฝึกฝนและการแนะนำของทั้งสามท่าน เขาได้เรียนจบการเข้าวิเวกปฏิบัติสมาธิหลักทั้งหมดของนิกายเกลุก

เขาได้ทำหน้าที่เป็นล่ามประจำของ เซนชับ เซอคง รินโปเช (Tsenshap Serkong Rinpoche) เป็นเวลาเก้าปี  ในระยะเวลานี้เขาได้ติดตามท่านไปบรรยายในต่างประเทศและได้รับการฝึกฝนกับท่านเพื่อเป็นอาจารย์สอนศาสนาพุทธด้วยสิทธิของเขาเอง  เขาได้รับหน้าที่เป็นล่ามให้องค์สมเด็จดาไลลามะในบางโอกาศ และได้จัดโปรเจคระดับนานาชาติหลายอย่างให้ท่าน ซึ่งรวมถึงความช่วยเหลือทางการแพทย์แบบทิเบตสำหรับเหยื่อจากภัยพิบัติรังสีเชียร์โนบีล  การเตรียมบทเรียนเบื้องต้นทางพระพุทธศาสนาในภาษามองโกเลียเพื่อฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในประเทศมองโกเลีย และการเริ่มต้นการเสวนาระหว่างชาวพุทธ-ชาวมุสลิมในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในประเทศที่นับถือศาสนาอิสลาม

ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1980 ดร. เบอร์ซิ่น ได้เดินทางไปทั่วโลก เพื่อทำการบรรยายเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาในมหาวิทยาลัยและศูนย์พระพุทธศาสนาในมากกว่า 70 ประเทศ  เขาเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกการสอนศาสนาพุทธในประเทศคอมมิวนิสต์ ในประเทศแถบละตินอเมริกา และอีกหลากหลายประเทศในทวีปแอฟริกา  ในการเดินทางไปบรรยายแต่ละครั้ง เขามุ่งมั่นที่จะทำให้พระพุทธศาสนาเป็นที่เข้าใจได้ง่ายขึ้นอยู่เสมอ และสาธิตการนำหลักพระพุทธศาสนาไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน

ในฐานะนักเขียนและนักแปล ดร. เบอร์ซิ่น มีผลงานมากมาย โดยได้ตีพิมพ์หนังสือ 17 เล่ม เช่น การเชื่อมโยงกับครูทางวิญญาณ (Relating to a Spiritual Teacher) การทำพิธีรับกาลจักร (Taking the Kalachakra Initiation) การพัฒนาความไวที่สมดุล (Developing Balanced Sensitivity) และหนังสือชื่อ นิกายเกลุก-กาจูของมหามุทรา (The Gelug-Kagyu Tradition of Mahamudra) ซึ่งร่วมเขียนกับสมเด็จองค์ดาไลลามะ

ตอนปลายปี ค.ศ. 1998 ดร. เบอร์ซิ่น เดินทางกลับมายังโลกตะวันตก พร้อมกับต้นฉบับหนังสือที่ไม่ได้พิมพ์ บทความ และเอกสารแปลที่เขาได้เตรียมไว้ รวมถึงการถอดคำคำสอนของอาจารย์ผู้ยิ่งใหญ่ที่เขาได้แปลไว้ และการบันทึกคำสอนทั้งหมดที่เขาได้รับจากอาจารย์เหล่านี้ด้วย ทั้งหมดรวมเป็นประมาณ 30,000 หน้า  ด้วยความเชื่อมั่นว่าสิ่งเหล่านี้จะเป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นและมุ่งมั่นที่จะเก็บรักษาไว้ไม่ให้สูญหาย เขาจึงตั้งศูนย์รวบรวมเอกสารทั้งหมดนี้ไว้ในเมืองเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี โดยตั้งชื่อว่า หอจดหมายเหตุเบอร์ซิน (Berzin Archives)  ด้วยการสนับสนุนจากสมเด็จองค์ดาไลลามะ เขาเริ่มจัดการให้สาธารณชนสามารถเข้าถึงข้อมูลเอกสารจำนวนมหาศาลนี้ได้ในหลากหลายภาษาในอินเทอร์เน็ต โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ

ดังนั้นเว็บไซต์ หอจดหมายเหตุเบอร์ซิน จึงเปิดออนไลน์ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 2001  นอกจากจะมีแหล่งข้อมูลที่ดังที่ได้กล่าวไว้แล้ว เว็บไซต์นี้ยังขยายครอบคลุมการบรรยายอย่างต่อเนื่องของ ดร. เบอร์ซิ่นและในขณะนี้ได้รับการแปลเป็น 21 ภาษา (ในปี ค.ศ. 2015) การแปลเป็นภาษาเหล่านี้ โดยเพาะภาษาทั้งหกของโลกอิสลามถือเป็นการบุกเบิกในด้านนี้เลยทีเดียว  รูปแบบล่าสุดของเว็บไซต์นี้ (32 ภาษาในปี ค.ศ. 2021) คือก้าวต่อไปของความมุ่งมั่นชั่วชีวิตของ ดร. เบอร์ซิ่นที่จะสร้างสะพานเชื่อมระหว่างวิถีพุทธแบบดั้งเดิมกับโลกสมัยใหม่  โดยการนำคำสอนต่าง ๆ ข้ามสะพานนั้น และการสาธิตความสัมพันธ์ของคำสอนเหล่านี้กับชีวิตสมัยใหม่ เขามีวิสัยทัศน์ที่จะช่วยสร้างความสมดุลทางอารมณ์ให้กับโลกของเราได้

Top