เราจะสามารถเข้าใจการเกิดใหม่ได้อย่างไร
เราจะรู้ได้อย่างไรว่าทุกสิ่งเป็นความจริงอย่างมีเหตุผล ตามหลักคำสอนทางพระพุทธศาสนานั้นสามารถรู้สิ่งต่าง ๆ อย่างมีเหตุผลได้มีอยู่ 2 วิธีคือโดยการรับรู้อย่างตรงไปตรงมาและจากการอนุมาน ด้วยการทำการทดลองในห้องปฏิบัติการ เราสามารถตรวจสอบความสมเหตุสมผลของการมีอยู่ของบางสิ่งผ่านการรับรู้ที่ตรงไปตรงมาได้ ตัวอย่างเช่น โดยวิธีการมองผ่านกล้องจุลทรรศน์เราก็จะรู้ว่ามันเป็นจริง เพียงแค่ผ่านการรับรู้จากประสาทสัมผัสของเราว่ามีจุลินทรีย์เล็ก ๆ จำนวนมากอยู่ในหยดน้ำหนึ่งหยดในทะเลสาบ
อย่างไรก็ตาม บางสิ่งไม่สามารถรู้ได้โดยผ่านการรับรู้อย่างตรงไปตรงมา เราต้องอาศัยตรรกะ เหตุผล และการอนุมาน เช่น การมีอยู่ของแม่เหล็ก โดยการอนุมานจากพฤติกรรมของแม่เหล็กและเข็มโลหะ การเกิดใหม่เป็นเรื่องยากมากที่จะพิสูจน์ด้วยการรับรู้ด้วยประสาทสัมผัสอย่างตรงไปตรงมา อย่างไรก็ตาม มีตัวอย่างของผู้คนที่จำชีวิตในชาติก่อนได้ และสามารถระบุสิ่งของที่เป็นของตน หรือคนที่พวกเขาเคยรู้จักมาก่อนได้อยู่หลายตัวอย่าง เราอาจอนุมานผ่านสิ่งนั้นถึงการมีอยู่ของการเกิดใหม่ แต่บางคนอาจสงสัยในข้อสรุปนี้และสงสัยว่าเป็นกลอุบาย
หากไม่คิดถึงเรื่องของความทรงจำในชาติก่อน เราอาจเปลี่ยนเป็นตรรกะเพื่อทำความเข้าใจการเกิดใหม่ได้ สมเด็จองค์ดาไลลามะได้กล่าวว่าหากบางประเด็นไม่สัมพันธ์กับความเป็นจริง ท่านก็เต็มใจให้สิ่งเหล่านั้นถูกกำจัดออกไปจากพระพุทธศาสนา นี่ก็ประยุกต์ใช้กับการเกิดใหม่ได้เช่นกัน ซึ่งในความเป็นจริง ท่านได้กล่าวเช่นนี้ในบริบทนั้นแต่แรกเริ่มแล้ว หากนักวิทยาศาสตร์สามารถพิสูจน์ได้ว่าการเกิดใหม่ไม่มีอยู่จริง ฉะนั้นแล้วเราก็ต้องเลิกเชื่อว่ามันเป็นความจริง อย่างไรก็ตาม หากนักวิทยาศาสตร์ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่ามันเป็นเท็จ และเพราะพวกเขาปฏิบัติตามตรรกะและวิธีการทางวิทยาศาสตร์เพื่อเปิดให้มีการทำความเข้าใจในสิ่งใหม่ต่าง ๆ ฉะนั้นพวกเขาต้องตรวจสอบว่ามันมีอยู่จริงหรือไม่ เพื่อพิสูจน์ว่าการเกิดใหม่ไม่มีอยู่จริง พวกเขาจะต้องค้นหาการไม่มีอยู่จริงของมัน เพียงแค่พูดว่า “การเกิดใหม่ไม่มีอยู่จริงเพราะฉันไม่ได้เห็นมันกับตาของฉัน” ไม่ใช่การค้นพบการไม่มีอยู่ของการเกิดใหม่ มีหลายสิ่งหลายอย่างที่ดำรงอยู่ที่เราไม่สามารถมองเห็นมันได้ด้วยตาของเรา เช่น แม่เหล็กและแรงโน้มถ่วง
วิธีการใช้เหตุผลเพื่อตรวจสอบว่าการเกิดใหม่มีอยู่หรือไม่
ถ้านักวิทยาศาสตร์ไม่สามารถพิสูจน์ได้ถึงการไม่มีอยู่ของการเกิดใหม่ ฉะนั้นแล้วมันก็เป็นความจำเป็นที่พวกเขาจะตรวจสอบว่าการเกิดใหม่จริง ๆ แล้วมีอยู่หรือไม่ วิธีการทางวิทยาศาสตร์คือ การอ้างทฤษฎีโดยอาศัยข้อมูลบางอย่างแล้วเช็คว่ามันสามารถตรวจสอบได้หรือไม่ ดังนั้น เราจึงดูที่ข้อมูลนั้น ตัวอย่างเช่น เราสังเกตเห็นว่าทารกไม่ได้เกิดมาเหมือนเทปเปล่า พวกเขามีนิสัยและลักษณะบุคลิกภาพบางอย่างที่สังเกตได้แม้เมื่อพวกเขาจะยังเด็กอยู่มากก็ตาม แล้วสิ่งเหล่านี้มาจากไหน
ไม่มีเหตุผลที่บอกว่า พวกเขาก็แค่มาจากการสืบเนื่องของสารทางกายภาพของพ่อแม่ จากตัวอสุจิและไข่ ไม่ใช่อสุจิทุกตัวและไข่ทุกใบที่จะฝังตัวในครรภ์เพื่อเจริญเติบโตเป็นทารก อะไรทำให้เกิดความแตกต่างระหว่างเมื่อพวกเขากลายมาเป็นทารก และเมื่อพวกเขาไม่เป็นทารก จริง ๆ แล้วอะไรคือสาเหตุของนิสัยและสัญชาตญาณต่าง ๆในตัวเด็ก เราสามารถพูดได้ว่ามันคือดีเอ็นเอและยีน นี่คือด้านกายภาพ ไม่มีใครปฏิเสธว่านี่คือแง่มุมทางกายภาพว่าทารกเกิดขึ้นมาได้อย่างไร แม้กระนั้นก็ตาม แล้วด้านประสบการณ์ล่ะ เราจะอธิบายด้านจิตใจอย่างไร
คำว่า “ใจ” (mind) ในภาษาอังกฤษมีความหมายต่างกับคำในภาษาสันสกฤตและภาษาทิเบต ในภาษาต้นกำเนิดต่าง ๆ คำว่า "ใจ" หมายถึง กิจกรรมทางจิตใจหรือเหตุการณ์ทางจิตใจมากกว่าที่จะเป็นสิ่งที่กำลังทำกิจกรรมนั้นอยู่ กิจกรรมหรือเหตุการณ์นั้นคือการเกิดขึ้นของกระบวนการรับรู้บางสิ่งบางอย่าง เช่น ความคิด การมองเห็น เสียง อารมณ์ ความรู้สึก และอื่น ๆ และความเกี่ยวข้องกับกระบวนการรับรู้สิ่งเหล่านั้นได้แก่ การมองเห็น การได้ยิน การเข้าใจ และแม้แต่กระทั่งการไม่เข้าใจสิ่งเหล่านั้น
กิจกรรมทางจิตใจที่เป็นการเกิดขึ้นและความเกี่ยวข้องกับสิ่งที่รับรู้ในแต่ละบุคคลมาจากไหน ในที่นี้เราจะไม่พูดถึงว่าร่างกายมาจากไหน เพราะเห็นได้ชัดว่ามาจากพ่อแม่ เราจะไม่พูดถึงความฉลาด และอื่น ๆ เพราะเราสามารถโต้แย้งว่ามีพื้นฐานทางพันธุกรรมสำหรับสิ่งนั้น อย่างไรก็ตาม การที่จะบอกว่าใครบางคนชอบไอศกรีมรสช็อกโกแลตนั้นมาจากยีนของบุคคลนั้นก็เกินไป
เราสามารถพูดได้ว่า ความสนใจบางส่วนของเราอาจได้รับอิทธิพลมาจากครอบครัวของเรา หรือจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ หรือทางสังคมที่เราอยู่ ปัจจัยเหล่านี้มีอิทธิพลอย่างแน่นอน แต่เป็นการยากที่จะอธิบายทุกอย่างที่เราทำตามแบบนั้นอย่างสิ้นเชิง ตัวอย่างเช่น ทำไมฉันถึงหันมาสนใจโยคะในขณะที่ฉันเป็นเด็ก ไม่มีใครในครอบครัวของฉันที่สนใจ หรือในสังคมรอบตัวฉันเป็นแบบนั้น มีหนังสือบางเล่มวางจำหน่ายอยู่ในบริเวณที่ฉันอาศัยอยู่ ซึ่งคุณก็อาจพูดได้ว่ามีอิทธิพลบางอย่างจากสังคม แต่แล้วทำไมฉันถึงสนใจหนังสือเกี่ยวกับหะถะโยคะโดยเฉพาะ ทำไมฉันถึงหยิบมันขึ้นมา นั่นเป็นอีกคำถามหนึ่ง สิ่งต่าง ๆ เกิดขึ้นโดยบังเอิญและเป็นเรื่องของโชคชะตา หรือทุกอย่างสามารถอธิบายได้หรือไม่
กิจกรรมทางจิตใจของแต่ละบุคคลมาจากไหน
วางสิ่งเหล่านี้ทั้งหมดไว้ก่อน แล้วกลับไปที่คำถามสำคัญที่ว่า กิจกรรมการเกิดขึ้นของสิ่งที่รับรู้ และความเกี่ยวข้องทางรับรู้ในสิ่งเหล่านี้มาจากไหน ความสามารถในการรับรู้นี้มาจากไหน การจุดประกายแห่งชีวิตมาจากไหน อะไรที่ทำให้การรวมกันของอสุจิและไข่เกิดเป็นชีวิตขึ้นมาจริง ๆ อะไรทำให้มันกลายมาเป็นมนุษย์ อะไรทำให้เกิดความคิดและการมองเห็น และอะไรเป็นสาเหตุทำให้เกิดความเกี่ยวข้องทางรับรู้สิ่งเหล่านั้น คือส่วนประสบการณ์ของกิจกรรมทางเคมีและไฟฟ้าของสมอง
มันยากที่จะบอกว่ากิจกรรมทางจิตใจของเด็กทารกมาจากพ่อแม่ เพราะถ้าเป็นเช่นนั้น มันมาจากพ่อแม่อย่างไร มันน่าจะต้องมีกลไกบางอย่างที่เกี่ยวข้อง จุดประกายเริ่มต้นของชีวิต ซึ่งเป็นรูปลักษณะจากการรับรู้สิ่งต่าง ๆ นั้นมาจากพ่อแม่ในลักษณะเดียวกับที่อสุจิและไข่ทำหรือไม่ มันมาพร้อมกับจุดสุดยอดของความรู้สึกทางเพศหรือไม่ กับการตกไข่หรือไม่ มันอยู่ในอสุจิหรือในไข่หรือไม่ หากเราไม่สามารถหาข้อบ่งชี้ที่เป็นเหตุเป็นผลทางวิทยาศาสตร์ได้ว่ามันมาจากพ่อแม่ตอนไหน เราก็ต้องค้นหาคำอธิบายอื่น
เมื่อมองด้วยตรรกะที่เดียว เราจะเห็นว่าปรากฏการณ์ตามหน้าที่ทั้งหมดมาจากความต่อเนื่องของตัวมันเอง มาจากขณะก่อนหน้านั้นของบางสิ่งที่อยู่ในหมวดหมู่ปรากฏการณ์เดียวกัน ตัวอย่างเช่น ปรากฏการณ์ทางกายภาพไม่ว่าจะเป็นสสารหรือพลังงานก็มาจากขณะเวลาก่อนหน้าของสสารหรือพลังงานนั้น มันเป็นความต่อเนื่อง
ลองเอาความโกรธเป็นตัวอย่าง เราสามารถพูดถึงพลังงานทางกายภาพที่เรารู้สึกได้เมื่อเราโกรธ นั่นก็เป็นเรื่องหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ให้พิจารณากิจกรรมทางจิตใจของการประสบกับความโกรธ ซึ่งเป็นการประสบกับการเกิดขึ้นของอารมณ์และการรับรู้มันโดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัว ประสบการณ์ความโกรธของแต่ละคนมีผู้ทรงอำนาจฤทธานุภาพถูกสร้างขึ้นเวลาความต่อเนื่องก่อนหน้าของมันเองภายในช่วงชีวิตนี้ แต่ก่อนหน้านั้นมาจากไหน ไม่ว่าจะมาจากพ่อแม่ และดูเหมือนจะไม่มีกลไกใดที่จะอธิบายได้ว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร หรือมาจากพระเจ้าผู้สร้าง อย่างไรก็ตาม สำหรับบางคน ความไม่สอดคล้องกันทางเหตุผลในการอธิบายว่าผู้ทรงอำนาจฤทธานุภาพสร้างขึ้นได้อย่างไรนั้นก็แสดงปัญหาให้เห็น เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาเหล่านี้ ทางเลือกก็คือว่า ในขณะเวลาแรกของความโกรธในชีวิตของใครก็ตามมาจากขณะเวลาต่อเนื่องก่อนหน้านั้น ทฤษฎีการเกิดใหม่ก็อธิบายแค่นี้
ความคล้ายคลึงกันกับภาพยนตร์
เราอาจจะพยายามทำความเข้าใจเรื่องของการเกิดใหม่ด้วยการเปรียบเทียบกับภาพยนตร์ เช่นเดียวกับภาพยนตร์ที่มีความต่อเนื่องของภาพต่าง ๆ ในฟิล์ม ความต่อเนื่องทางจิตใจหรือกระแสธารแห่งจิตใจของเราคือความต่อเนื่องของขณะเวลาการรับรู้ปรากฏการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาภายในช่วงชีวิตหนึ่งและจากชีวิตหนึ่งไปสู่อีกชีวิตหนึ่ง ไม่มีสิ่งที่สามารถค้นพบได้ที่มั่นคงแข็งแรง เช่น "ฉัน" หรือ "จิตใจของฉัน" ที่จะมาเกิดใหม่ การเกิดใหม่ไม่เหมือนกับรูปปั้นตัวเล็ก ๆ ที่นั่งอยู่บนสายพานลำเลียงจากชีวิตหนึ่งไปสู่อีกชีวิตหนึ่ง แต่มันเป็นเหมือนภาพยนตร์ที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา แต่ละภาพจะแตกต่างกันแต่มีความต่อเนื่องอยู่ในนั้น ภาพหนึ่งก็จะเกี่ยวข้องกับภาพถัดไป ในทำนองเดียวกันมันจะมีความต่อเนื่องที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาของขณะเวลาในการรับรู้ปรากฏการณ์ต่าง ๆ แม้ว่าบางขณะเวลาเหล่านั้นจะไม่รู้ตัวก็ตาม ยิ่งไปกว่านั้น เช่นเดียวกับภาพยนตร์ทุกเรื่องมันก็ไม่ใช่ภาพยนตร์เรื่องเดียวกันแม้ว่าทุกเรื่องจะเป็นภาพยนตร์ก็ตาม ความต่อเนื่องทางจิตใจหรือ“ จิตใจ” ทั้งหมดก็ไม่ใช่จิตใจเดียวกัน กระแสความต่อเนื่องของการรับรู้ปรากฏการณ์ต่าง ๆ ของแต่ละบุคคลนั้นมีอยู่มากมายนับไม่ถ้วน และแต่ละกระแสก็จะถูกติดป้ายว่า "ฉัน" จากมุมมองของมันเอง
นี่คือแนวการให้เหตุผลที่เราจะเริ่มตรวจสอบเกี่ยวกับคำถามเรื่องการเกิดใหม่ หากทฤษฎีมีเหตุผล เราก็สามารถพิจารณาได้อย่างจริงจังมากขึ้นตรงความจริงที่ว่ามีคนที่จำชีวิตในชาติก่อนได้ ด้วยวิธีนี้ เราตรวจสอบการมีอยู่ของการเกิดใหม่จากแนวทางที่มีเหตุผล
อะไรที่เกิดใหม่
ในทางพระพุทธศาสนา การเปรียบเทียบการเกิดใหม่ไม่ใช่เรื่องของวิญญาณอะไรบางอย่าง เหมือนกับรูปธรรมอย่างรูปปั้นหรือคนตัวเล็ก ๆ ที่เดินทางบนสายพานลำเลียงจากชั่วชีวิตหนึ่งไปยังอีกชั่วชีวิตหนึ่ง สายพานแสดงถึงเวลา ซึ่งมีนัยถึงสิ่งที่มั่นคงแข็งแรงบางอย่าง เป็นบุคลิกภาพหรือจิตวิญญาณที่ตายตัวที่เรียกว่า “ฉัน” ผ่านทางเวลา “ตอนนี้ฉันเด็ก ตอนนี้ฉันแก่ ตอนนี้ฉันอยู่ในชีวิตนี้ ตอนนี้ฉันอยู่ในชีวิตนั้น” นี่ไม่ใช่แนวคิดทางพระพุทธศาสนาในเรื่องของการเกิดใหม่ แต่การเปรียบเทียบเหมือนกับภาพยนตร์มากกว่า จะมีความต่อเนื่องในภาพยนตร์ ภาพต่าง ๆ ในฟิล์มจะสร้างความต่อเนื่อง
ศาสนาพุทธไม่ได้บอกว่า ฉันกลายเป็นคุณ หรือเราทั้งหมดเป็นหนึ่งเดียวกัน ถ้าเราเป็นหนึ่งเดียวกัน และฉันก็คือคุณ ถ้าเราทั้งคู่หิว คุณสามารถรอที่รถได้ในขณะที่ฉันไปกินข้าว มันไม่ใช่แบบนั้น เราต่างก็มีสายธารแห่งความต่อเนื่องต่างกันไปในแต่ละคน ลำดับภาพเหตุการณ์ในภาพยนตร์ของฉันก็จะไม่เปลี่ยนเป็นภาพยนตร์ของคุณ แต่ชีวิตของเราดำเนินไปเหมือนภาพยนตร์ในแง่ที่ไม่เป็นรูปธรรมและตายตัว ชีวิตดำเนินไปจากภาพหนึ่งสู่อีกภาพหนึ่ง มันเป็นไปตามลำดับแห่งกรรม ดังนั้นแล้วมันจึงสร้างความต่อเนื่องขึ้น
แต่ละความต่อเนื่องคือ บางคนหรือใครคนหนึ่ง และสามารถเรียกว่า "ฉัน" ได้ มันไม่ใช่ว่าแต่ละความต่อเนื่องไม่ใช่ใครหรือไม่มีใครเลย แต่เช่นเดียวกับชื่อภาพยนตร์ ซึ่งมันจะบ่งบอกถึงภาพยนตร์ทั้งเรื่องและภาพแต่ละภาพในนั้น แต่ไม่สามารถพบได้เป็นรูปธรรมบางอย่างในแต่ละภาพ ในทำนองเดียวกันกับ “ฉัน” ซึ่งจะบ่งบอกถึงความต่อเนื่องทางจิตใจของแต่ละบุคคลและแต่ละขณะเวลาของมัน แต่ไม่สามารถพบได้เป็นรูปธรรมบางอย่างในขณะเวลาใดเช่นกัน แต่ว่าก็ยังคงมี "ฉัน" หรือ "อัตตา" โดยสมมติธรรมดาอยู่ พระพุทธศาสนาไม่ใช่ระบบลัทธิที่ถือว่าสิ่งทั้งหลายไม่มีจริง
มนุษย์ไปเกิดใหม่เป็นมนุษย์เสมอหรือไม่
สิ่งที่เรากำลังพูดถึงอยู่ที่นี่คือ กิจกรรมทางจิตใจและปัจจัยทั่วไปต่าง ๆ ที่แสดงลักษณะกิจกรรมทางจิตใจของเรา สิ่งที่แสดงลักษณะของกิจกรรมทางจิตใจของมนุษย์ก็คือ ความฉลาด และความฉลาดนั้นอย่างที่เราทราบกันดีว่าสามารถจัดอยู่ในระดับตั้งแต่ “ไม่ฉลาดมาก” ไป จนถึง “ฉลาดมาก” แต่ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมทางจิตใจด้วย เช่น ความโกรธ ความโลภ ความยึดติด ภาวะจิตใจไม่อยู่กับที่ และพฤติกรรมตามแรงบีบบังคับที่เกิดขึ้นจากปัจจัยทางจิตใจเหล่านี้ ในบางคนปัจจัยเหล่านี้มีอิทธิพลอยู่เหนือกิจกรรมทางจิตใจของพวกเขาทำให้พวกเขาไม่ใช้ความฉลาดจากความเป็นมนุษย์ของพวกเขา แต่กลับดำเนินการโดยอาศัยความโลภ หรือความโกรธ และอื่น ๆ เป็นส่วนใหญ่
ตัวอย่างเช่น มีคนที่มีความต้องการทางเพศอย่างมากและเที่ยวเตร่ไปตามบาร์ต่าง ๆ พบปะผู้อื่น และมีเพศสัมพันธ์กับเกือบทุกคนที่เขาพบ บุคคลนั้นทำตัวเหมือนสุนัข คุณว่าใช่ไหม สุนัขจะร่วมเพศกับสุนัขตัวอื่นที่พบได้ตลอดเวลา มันจะไม่ควบคุมตนเองแต่อย่างใด หากมนุษย์มีพฤติกรรมเช่นนั้น พวกเขาก็จะสร้างนิสัยจิตใจของสัตว์ ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจถ้าเราคิดในแง่ของการเกิดใหม่ว่า จิตใจที่มีความต้องการของบุคคลนั้นจะมีอำนาจเหนือกิจกรรมทางจิตใจที่พวกเขาจะมีในชาติหน้า และพวกเขาก็จะกลับชาติมาเกิดในร่างกายที่จะเหมาะสมกับกิจกรรมทางจิตใจนั่นคือ การเกิดใหม่เป็นสัตว์
ดังนั้น มันจึงมีประโยชน์มากที่จะตรวจสอบพฤติกรรมของเรา “ฉันกำลังทำตัวแบบสัตว์ประเภทนี้หรือประเภทนั้นอยู่หรือไม่” ลองคิดในแง่ของแมลงวัน ความสามารถทางจิตใจของแมลงวันจะไม่อยู่กับที่ มันจะเดินทางไปอย่างไร้จุดหมาย แมลงวันไม่สามารถจะอยู่ในจุดเดียวได้นานกว่าสองสามวินาที มันเคลื่อนไหวและฟุ้งซ่านตลอดเวลา นั่นเป็นวิถีทางที่จิตใจเราเป็นเหมือนอย่างของแมลงวันหรือไม่ ถ้าเป็นเช่นนั้น เราจะคาดหวังอะไรในชาติหน้า เราคาดหวังว่าเราจะฉลาดและมีสมาธิที่ดีอย่างนั้นหรือ
นี่คือความคิดบางอย่างที่จะช่วยให้เราเข้าใจว่า มนุษย์ไม่จำเป็นต้องเกิดใหม่เป็นมนุษย์ เราอาจเกิดใหม่เป็นสิ่งมีชีวิตในรูปแบบต่าง ๆ มากมาย และมันก็จะมีขึ้นมีลง ในฐานะที่เป็นมนุษย์ หากเราได้สร้างนิสัยเชิงบวกมากมายแม้ว่าเราจะเกิดใหม่เป็นสัตว์ ครั้นเมื่อพลังแห่งกรรมของพฤติกรรมสัตว์ในชาติก่อนของเราหมดไป พลังบวกก่อนหน้านี้ของเราก็อาจเข้ามามีอำนาจเหนือกว่า และเราสามารถเกิดใหม่กลับมาเป็นมนุษย์ได้อีกครั้ง เราจะไม่ได้รับการลงโทษให้เกิดใหม่ในสภาวะที่ต่ำกว่าอยู่ตลอดไป
ประเด็นคือจะต้องทำความเข้าใจว่าไม่มีอะไรที่เป็นเนื้อแท้ในกิจกรรมทางจิตใจที่ทำให้มันเป็นกิจกรรมทางจิตใจของมนุษย์ หรือที่ทำให้มันเป็นชายหรือหญิง หรืออะไรทำนองนั้น มันก็เป็นเพียงแค่กิจกรรมทางจิตใจเท่านั้นเอง ดังนั้น ประเภทของการเกิดใหม่ที่เรามีจึงขึ้นอยู่กับกรรม นิสัยต่าง ๆ ที่เราสร้างขึ้นจากพฤติกรรมตามแรงบีบบังคับของเรา ในชาติหน้า เราก็จะมีร่างกายที่จะทำหน้าที่เป็นพื้นฐานที่เหมาะสมในการแสดงออกถึงนิสัยเหล่านั้น
บทสรุป
เมื่อเราตรวจสอบการนำเสนอทางพระพุทธศาสนาในเรื่องของการกลับชาติมาเกิดใหม่ด้วยเหตุผล เราจำเป็นต้องตรวจสอบกระบวนการเกี่ยวกับสาเหตุที่ทำให้เกิดความต่อเนื่องทางจิตใจของแต่ละบุคคลที่ดำเนินไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด คือความต่อเนื่องของกิจกรรมทางจิตใจของแต่ละบุคคลที่ไม่เคยเสื่อมสภาพลง การเกิดใหม่ที่ไม่มีจุดเริ่มต้นคือบทสรุปที่เราได้มาถึง พร้อมกับนิสัยทางพฤติกรรมต่าง ๆ ที่ตนเองได้สร้างขึ้นก่อนหน้านี้เป็นตัวกำหนดชีวิตในแต่ละชั่วชีวิต