คำสอนของพระพุทธเจ้าได้รับการแพร่กระจายไปอย่างสันติทั่วอนุทวีปอินเดีย และจากนั้นก็ไปทั่วทวีปเอเชีย เมื่อพุทธศาสนาไปเยือนวัฒนธรรมใหม่ หลักการและรูปแบบของพุทธศาสนาก็ได้รับการปรับเปลี่ยนอย่างอิสระ เพื่อให้เข้ากับความคิดของคนในพื้นที่ โดยไม่ลดหย่อนประเด็นสำคัญต่าง ๆ เกี่ยวกับปัญญาและความสงสาร พุทธศาสนาไม่เคยจัดลำดับอำนาจทางศาสนาโดยรวม โดยมีผู้นำสูงสุด อย่างไรก็ตามแต่ละประเทศที่รับพุทธศาสนาเข้าไปต่างก็มีรูปแบบ โครงสร้างของศาสนา และผู้นำทางศาสนาของตนเอง ในปัจจุบันผู้นำที่มีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับจากทั่วโลกมากที่สุดคือ สมเด็จองค์ดาไลลามะแห่งทิเบต
ประวัติโดยย่อ
พระพุทธศาสนาสามารถแบ่งออกเป็นสองนิกายใหญ่ ๆ นั่นคือสาวกยาน (ยานเล็ก) ซึ่งเน้นเรื่องการปลดปล่อยตนให้เป็นอิสระ และมหายาน (ยานใหญ่) ซึ่งเน้นการปฏิบัติจนสู่การตรัสรู้เพื่อสร้างประโยชน์แก่ผู้อื่น ทั้งยานเล็กและยานใหญ่ยังแบ่งย่อยออกไปได้อีกมากมาย ในปัจจุบันมีนิกายใหญ่ ๆ เหลือสามนิกาย นั่นคือ นิกายเถรวาทในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นนิกายย่อยของสาวกยาน และสองนิกายย่อยของมหายาน นั่นคือแบบจีนและแบบทิเบต
- นิกายเถรวาทขยายจากอินเดียไปยังศรีลังกาและพม่า (เมียนมาร์) ในศตวรรษที่ 3 ก่อนสากลสมัย จากนั้นจึงแพร่กระจายไปถึงประเทศที่เหลือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ไทย กัมพูชา และลาว)
- สำนักสาวกยานอื่น ๆ แพร่กระจายหลักปฏิบัติไปถึงประเทศปากีสถานในปัจจุบัน อัฟกานิสถาน อิหร่านตะวันออกและแถบชายฝั่ง รวมถึงเอเชียตอนกลางด้วย จากเอเชียตอนกลาง ศาสนาพุทธก็ขยายไปยังประเทศจีนในปีศตวรรษที่ 2 ของยุคสากลสมัย หลังจากนั้นก็ได้รับการผสมผสานกับแนวคิดแบบมหายาน ซึ่งขยายตัวมากจากเส้นทางเดียวกันจากอินเดีย โดยที่แนวคิดของมหายานค่อย ๆ กลายเป็นพุทธนิกายหลักในจีนและเอเชียตอนกลางส่วนใหญ่ จากนั้นนิกายมหายานแบบจีนจึงได้รับการแพร่กระจายไปยังเกาหลี ญี่ปุ่น และเวียดนาม
- การนับถือนิกายมหายานในทิเบตเริ่มขึ้นในปีศตวรรษที่ 7 ของยุคสากลสมัย โดยสืบทอดพุทธศาสนาที่ได้รับการพัฒนาตามประวัติในอินเดียมาอย่างเต็มรูปแบบ จากทิเบตก็ขยายตัวไปทั่วเขตหิมาลัย ไปยังมองโกเลีย เอเชียกลาง และอีกหลายเขตของรัสเซีย (บูเรียตียา คาลมิเกีย และตูวา)
นอกจากนี้ ตั้งแต่ศตวรรษที่ 2 ของสากลสมัยเป็นต้นมา พุทธศาสนานิกายมหายานแบบอินเดียก็ขยายไปสู่เวียดนาม กัมพูชา มาเลเซีย เกาะสุมาตรา และจาวา ตามเส้นทางการค้าขายทางทะเลจากอินเดียไปสู่จีนตอนใต้ ซึ่งไม่เหลืออยู่แล้วในปัจจุบัน
พระพุทธศาสนาได้รับการแพร่กระจายอย่างไร
การขยายตัวของพระพุทธศาสนาทั่วทวีปเอเชียส่วนใหญ่นั้นเป็นไปอย่างสันติและเกิดขึ้นจากหลายวิธีด้วยกัน พระศากยมุนีพุทธเจ้าเป็นแบบอย่างอาจารย์ผู้เดินทางแบ่งปันความรู้ให้กับผู้ที่เปิดใจยอมรับและสนใจในอาณาจักรใกล้เคียง ท่านได้สั่งสอนให้พระสงฆ์เดินทางไปทั่วโลกและเผยแพร่คำสอนของท่าน ท่านไม่ได้ขอให้ผู้คนปรักปรำ หรือเลิกนับถือศาสนาของตัวเอง แล้วหันมานับถือศาสนาใหม่ หากแต่จุดมุ่งหมายของพระพุทธเจ้าคือ การช่วยเหลือผู้อื่นให้หลุดพ้นจากความทุกข์ทรมานที่พวกเขาสร้างขึ้นให้ตัวเอง อันเกิดจากการขาดความรู้แจ้งของพวกเขาเท่านั้น สาวกของท่านในรุ่นต่อ ๆ มาก็ได้รับแรงบันดาลใจจากท่าน และเผยแพร่วิธีการของท่านที่มีประโยชน์ต่อชีวิตพวกเขาให้ผู้อื่นได้ทราบ และนี่คือวิธีการที่ “พระพุทธศาสนา” ได้แพร่กระจายไปกว้างไกลทั่วโลก
ในบางครั้งกระบวนการแพร่กระจายก็ก่อตัวแบบธรรมชาติ ยกตัวอย่างเช่น เมื่อพ่อค้าชาวพุทธไปเยี่ยมเยือนและตั้งรกรากในดินแดนอื่น ประชาชนในพื้นที่บางส่วนก็หันมาสนใจในความเชื่อของผู้มาเยือนต่างแดนเหล่านี้เอง ซึ่งลักษณะนี้เกิดขึ้นกับการแนะนำศาสนาอิสลามในอินโดนีเซียและมาเลเซียในเวลาต่อมาเช่นกัน กระบวนการลักษณะนี้เกิดขึ้นกับพุทธศาสนาในรัฐแถบโอเอซิสตามเส้นทางสายไหมในเอเชียตอนกลางในช่วงสองศตวรรษก่อนและหลังสากลศักราชด้วย เมื่อเจ้าเมืองและประชาชนในพื้นนั้น ๆ ได้เรียนรู้ศาสนาจากอินเดียที่ว่านี้ พวกเขาก็นิมนต์พระจากเขตบ้านเกิดของพ่อค้าเหล่านั้นมาเป็นผู้ให้คำปรึกษา หรืออาจารย์ หลังจากนั้นผู้คนก็ค่อย ๆ หันมานับถือศาสนาพุทธ วิธีแบบธรรมชาติอีกอย่างหนึ่งคือ การกลืนกลายทางวัฒนธรรมอย่างช้า ๆ จากการพิชิตพื้นที่เหล่านั้น เช่น ชาวกรีกในคันธาระกลายเป็นสังคมชาวพุทธในช่วงหลังจากศตวรรษที่ 2 ของยุคก่อนสากลสมัย ซึ่งปัจจุบันอยู่ในปากีสถานตอนกลาง
โดยปกติแล้ว การแพร่กระจายมักมาจากอิทธิพลของราชวงศ์กษัตริย์ที่มีอำนาจ ซึ่งได้น้อมรับพระพุทธศาสนาเข้ามาและสนับสนุนเป็นอย่างดี ยกตัวอย่างเช่น ในช่วงกลางศตวรรษที่ 3 ของยุคก่อนสากลกสมัย พระพุทธศาสนาได้รับการแพร่กระจายไปทั่วอินเดียตอนเหนือ ซึ่งเป็นผลจากการสนับสนุนของพระเจ้าอโศกมหาราชด้วยพระองค์เอง พระเจ้าอโศกผู้ยิ่งใหญ่ไม่ได้บังคับให้ผู้คนของท่านหันมานับถือศาสนาพุทธแต่อย่างใด แต่ได้ตั้งเสาเหล็กทั่วอาณาจักรของท่าน ซึ่งเสาแต่ละต้นมีการสลักพระบรมราชโองการให้ประชาชนใช้ชีวิตอย่างมีจริยธรรม เมื่อท่านทรงปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ประชาชนของท่านก็ได้รับแรงบันดาลใจและหันมานับถือศาสนาพุทธด้วยเช่นกัน
พระเจ้าอโศกมหาราชคอยผลักดันการสอนศาสนานอกอาณาจักรของท่านโดยการส่งคณะผู้สอนศาสนาไปยังแดนไกล ซึ่งบางครั้งก็ได้รับคำเชื้อเชิญจากผู้ปกครองเมืองอื่น เช่น พระเจ้าเทวานัมปิยติสสะ แห่งประเทศศรีลังกา ส่วนครั้งอื่น ๆ พระเจ้าอโศกก็ทรงเป็นผู้ริเริ่มการส่งคณะสงฆ์ออกไปเผยแพร่ศาสนาเอง พระสงฆ์ที่ออกไปเยี่ยมเยือนจะไม่กดดันให้ผู้อื่นเปลี่ยนศาสนา เพียงแต่นำคำสอนของพระพุทธเจ้าไปเผยแพร่สู่สาธารณะ โดยทุกคนมีสิทธิ์เลือกเสมอ ข้อนี้ได้รับการยืนยันจากหลักฐานที่พระพุทธศาสนาเริ่มเติบโตในพื้นที่ทางอินเดียตอนใต้และพม่าตอนใต้หลังจากการเผยแพร่ไม่นาน แต่ในพื้นที่อื่น ๆ อย่างอาณานิคมของกรีกในเอเชียตอนกลางนั้นกลับไม่มีการบันทึกเกี่ยวกับผลกระทบใด ๆ
กษัตริย์ที่ฝักใฝ่ในศาสนาองค์อื่น ๆ เช่น กุบไล ข่าน ผู้สร้างราชวงศ์มองโกล ได้เชิญอาจารย์สอนศาสนาพุทธไปยังอาณาจักร และประกาศให้ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำดินแดน เพื่อช่วยสร้างความสมานฉันท์ระหว่างผู้คนและเสริมความมั่นคงในการปกครอง ในระหว่างกระบวนการนี้ พวกเขาอาจสั่งห้ามใช้หลักปฏิบัติบางประการของศาสนาอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ศาสนาพุทธ ทั้งยังข่มเหงผู้คนที่ปฏิบัติตามด้วย แต่การจัดการเข้มงวดแบบนี้มักขับเคลื่อนด้วยเหตุผลทางการเมืองเป็นส่วนใหญ่ กระนั้นแล้วผู้ปกครองที่เปี่ยมไปด้วยความทะเยอทะยานเช่นนี้ก็ยังไม่บังคับให้ประชาชนหันมานับถือ หรือปฏิบัติตามหลักชาวพุทธ การบังคับขู่เข็นนั้นไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของความเชื่อทางศาสนาพุทธเลย
บทสรุป
พระศากยมุนีพุทธเจ้าเตือนให้ผู้คนปฏิบัติตามคำสอนของท่านอย่างไม่ลืมหูลืมตา หากแต่ให้ทำตามหลังจากที่ได้คิดพิจารณาอย่างถี่ถ้วนแล้ว ดังนั้นจึงกล่าวได้อย่างไร้ข้อสงสัยว่า ผู้คนไม่ควรยอมรับคำสอนของพระพุทธเจ้าเพราะถูกกดดันจากผู้เผยแพร่ศาสนาผู้กระตือรือร้น หรือตามคำสั่งพระราชกฤษฎีกา ในช่วงต้นศตวรรษที่ 17 เนจิ โทยิน พยายามติดศีลบนผู้เร่ร่อนชาวมองโกลตะวันออกให้หันมาปฏิบัติตามหลักพุทธศาสนา โดยการเสนอให้ปศุสัตว์ต่อบทสวดสั้นที่พวกเขาจำได้ กลุ่มผู้เร่ร่อนจึงได้ร้องเรียนไปยังทางการ และอาจารย์ผู้กดขี่ผู้นี้ก็ได้รับโทษและโดนเนรเทศออกไปในที่สุด
โดยรวมแล้วศาสนาพุทธได้รับการแพร่กระจายอย่างสันติไปทั่วพื้นที่ส่วนใหญ่ของทวีปเอเชีย โดยคงคำสอนที่สำคัญเกี่ยวกับความรัก ความสงสาร และปัญญาไว้ ในขณะที่ปรับเปลี่ยนให้เข้ากับความต้องการและลักษณะนิสัยของผู้คนที่แตกต่างกัน