สายสัมพันธ์กับอาจารย์ในสองชาติ

ความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นกับอาจารย์อาจเป็นสายสัมพันธ์ที่ยกระดับจิตใจและมีความสำคัญที่สุดในชีวิตของคนเรา  แต่ความสัมพันธ์นี้ก็อาจเป็นแหล่งรวมการหลอกตัวเองและความท้อแท้ในทางจิตวิญญาณได้เช่นกัน  ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการหมั่นสร้างความสัมพันธ์นี้ให้มีคุณภาพ  ในทางกลับกันจุดนี้ก็ขึ้นอยู่กับการมีทัศนคติที่อยู่บนความจริงเกี่ยวกับคุณสมบัติของตัวเราเองและของอาจารย์ จุดมุ่งหมายของสายสัมพันธ์ดังกล่าว และเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวและขอบเขตของความสัมพันธ์ด้วย

ผมเขียนหนังสือชื่อ การมีสัมพันธ์ภาพกับอาจารย์ศาสนา: การสร้างความสัมพันธ์ที่มีคุณภาพ - Relating to a Spiritual Teacher: Building a Healthy Relationship (Ithaca: Snow Lion, 2000; พิมพ์ครั้งที่สอง: อาจารย์ผู้มีภูมิปัญญา ลูกศิษย์ผู้มีภูมิปัญญา: แนวทางการปฏิบัติแบบทิเบตสู่ความสัมพันธ์ที่มีคุณภาพ - Wise Teacher, Wise Student: Tibetan Approaches to a Healthy Relationship. Ithaca: Snow Lion, 2010)  โดยมีเหตุผลหลัก ๆ คือการที่ผมได้รับประโยชน์อย่างมากจากความสัมพันธ์ของผมกับอาจารย์ประจำของผม นั่นคือ เซนซับ เซอคง รินโปเช (Tsenshap Serkong Rinpoche) สมเด็จองค์ดาไลลามะ และเกเช นาวัง ดากเย (Geshe Ngawang Dhargyey) และเป็นเพราะว่าผมรู้สึกเศร้าใจที่ผู้แสวงธรรมอย่างแท้จริงหลายท่านที่ผมพบในการเดินสายสอนทั่วโลกมีประสบการณ์ที่ด้อยคุณภาพกว่านี้  หลายคนต้องพบกับการล่วงละเมิดทางเพศ ทางการเงิน และทางอำนาจ โดยพวกเขาเรียกตัวเองว่าเป็นเหยื่อผู้บริสุทธิ์  พวกเขาโยนความผิดทั้งหมดให้กับอาจารย์ที่โหดร้าย และเอาตัวเองออกห่างจากผู้ชี้แนะด้านจิตวิญญาณทั้งหมด บางครั้งรวมไปถึงการถอยห่างจากเส้นทางการปฏิบัติธรรมด้วยซ้ำ  บางคนใช้ชีวิตอยู่ด้วยการหลอกตัวเองเกี่ยวกับความสัมพันธ์ที่เป็นโทษและมองว่าการ “อุทิศตนให้คุรุ” คือการยอมรับว่าการกระทำทุกอย่างของอาจารย์ตนเป็นสิ่งที่ถูกต้อง หรือแม้แต่ศักดิ์สิทธิ์ ไม่ว่าการกระทำเหล่านั้นจะดูเป็นภัยแค่ไหนก็ตามในมาตรฐานทั่วไป  วิธีสุดขั้วทั้งสองแบบนี้ทำให้นักเรียนไม่สามารถได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่จากความสัมพันธ์ที่มีคุณภาพ

ในกรณีที่ลูกศิษย์เป็นชาวตะวันตกและอาจารย์เป็นชาวทิเบต บ่อเกิดของปัญหาอย่างหนึ่งคือ การเข้าใจผิดระหว่างวัฒนธรรม ซึ่งก่อตัวมากขึ้นจากความคาดหวังว่าอีกฝ่ายจะต้องปฏิบัติตัวตามค่านิยมทางวัฒนธรรมของตน  แหล่งที่มาของความสับสนเพิ่มเติมคื การนำเอาข้อความมาตรฐานของความสัมพันธ์ระหว่างอาจารย์กับลูกศิษย์ออกจากบริบทดั้งเดิม ทำให้เกิดการแปลความหมายโดยตรงและเข้าใจความหมายของคำศัพท์เฉพาะผิดพลาดไป ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการแปลที่ชวนให้เข้าใจผิดด้วย

ยกตัวอย่างเช่นตำราลัมริม (ลำดับเส้นทางการปฏิบัติ) นำเสนอความสัมพันธ์ในลักษณะ “รากแห่งเส้นทาง” และอภิปรายจุดนี้เป็นหัวข้อหลักอย่างแรก  อย่างไรก็ตามจุดประสงค์ของการเปรียบเทียบดังกล่าวคือ การที่ต้นไม้ได้รับสารอาหารหล่อเลี้ยงชีพมาจากรากของมัน ไม่ใช่ว่ามันเริ่มต้นจากราก  ต้นไม้เริ่มต้นจากการเป็นเมล็ดพันธุ์ และสองขะปะ (Tsongkhapa) ก็ไม่ได้เรียกความสัมพันธุ์นี้ว่าเป็น “เมล็ดพันธุ์แห่งเส้นทาง”  อย่างไรเสียผู้ฟังเรื่องลัมริมในช่วงแรกก็ไม่ใช่ผู้ที่อยู่ในขั้นเริ่มต้น แต่มักเป็นพระสงฆ์และแม่ชีที่มารวมตัวกันเพื่อรับการเสริมพลังพระตันตระ  พวกท่านเหล่านี้ต้องได้ทบทวนหลักคำสอนในพระสูตรเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมมาก่อน  พวกท่านได้มุ่งมั่นที่จะปฏิบัติตามเส้นทางพระธรรมโดยอิงจากการเรียนและการปฏิบัติก่อนหน้านี้แล้ว  สำหรับคนกลุ่มนี้ ความสัมพันธ์ที่มีคุณภาพกับอาจารย์จึงเป็นรากที่ให้แรงบันดาลใจเพื่อสานต่อเส้นทางไปสู่การตรัสรู้  นี่คือจุดประสงค์ที่แท้จริง ไม่ใช่ให้ผู้คนหน้าใหม่ในศูนย์ปฏิบัติธรรมในโลกตะวันตกเริ่มต้นด้วยการมองอาจารย์ของตนเป็นพระพุทธเจ้า

สำหรับผมความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นที่สุดของผมกับอาจารย์กินระยะเวลาสองชาติของอาจารย์ผู้นั้น  ผมใช้เวลาเก้าปีเป็นลูกศิษย์ ล่าม เลขานุการด้านภาษาอังกฤษ และผู้จัดการการเดินสายในต่างประเทศของเซนซับ เซอคง รินโปเช ผู้เป็นคู่อภิปรายและอาจารย์ผู้ช่วยของสมเด็จองค์ดาไลลามะ  รินโปเชมรณภาพในปี ค.ศ. 1983 และกลับมาเกิดใหม่ในอีกเก้าเดือนต่อมาพอดี  ได้รับการระบุตัวตนและกลับมายังธรรมศาลาตอนอายุสี่ปี   ในอีกสองสามเดือนหลังจากนั้น เราทั้งสองก็ได้พบกันใหม่และสัมผัสได้ถึงสายสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นตั้งแต่แรกพบ  เมื่อผู้ช่วยถามท่านว่ารู้หรือไม่ว่าผมเป็นใคร ตุลกูน้อยตอบว่า “อย่าโง่ไปหน่อยเลย แน่นอนว่าผมรู้ว่าเขาเป็นใคร”   ตั้งแต่นั้นมา รินโปเชก็ได้ปฏิบัติกับผมเหมือนเป็นสมาชิกคนสนิทของครอบครัวศาสนาของท่าน ซึ่งเป็นสิ่งที่เด็กสี่ขวบจะแกล้งทำไม่ได้แน่  ผมจึงไม่เคยเคลือบแคลงใจเกี่ยวกับความผูกพันอันลึกซึ้งของเราเลย

ในฤดูร้อนของปี ค.ศ. 2001 ผมใช้เวลาหนึ่งเดือนอยู่กับรินโปเชทางตอนใต้ของอินเดียที่อารามกันเดน จังเซ (Ganden Jangtse) ซึ่งเป็นอารามของท่าน   ที่นี่รินโปเช ในวัยสิบเจ็ดปีอภิปรายต่อหน้าหมู่สงฆ์ในพิธีรับเข้าขั้นบัณฑิตอย่างเป็นทางการ  ในระยะเวลานี้ท่านได้สอนผมเกี่ยวกับสิ่งที่ท่านเรียนในการฝึกเกเช และผมได้เป็นล่ามแปลมุขปาฐะและคำอธิบายตำราที่ท่านให้ลูกศิษย์คนสนิทชาวตะวันตกอีกคนของบรรพบุรุษท่าน  เมื่อผมพูดกับท่านว่าผมรู้สึกยินดีจริง ๆ ที่ได้มาแปลให้ท่านอีกครั้ง ท่านตอบว่า “แน่นอน มันเป็นกรรมของโยม”  ผมยังคงคอยเล่าเรื่องคำแนะนำทางโลกและทางธรรมที่ท่านบอกผมในชาติที่แล้วให้ตัวท่านในชาตินี้ฟังอยู่เสมอ

ความสัมพันธ์ส่วนตัวของผมกับเซอคง รินโปเชเป็นเวลากว่าสองชาติทำให้ผมมั่นใจเรื่องพระธรรมและการกลับชาติมาเกิดมากขึ้นกว่าที่ผมจะสามารถได้รับจากการศึกษาและการฝึกสมาธิ  มันเป็นแหล่งสืบสานแรงบันดาลใจตลอดเส้นทางอย่างแท้จริง  ทั้งท่านและผมไม่มีใครหลอกตัวเองในเรื่องบทบาทที่เรามีต่อกันและกันในชาติของท่านแต่ละชาติ พวกเราไม่ใช่คนเดิมเสียทีเดียว แต่ก็ไม่ได้แตกต่างไปจากคนที่พวกเราเคยเป็นอย่างสิ้นเชิง  พวกเราต่างเป็นการดำเนินสืบเนื่องต่อไป  ด้วยความเคารพอย่างสูงต่อกันและกัน อันสร้างขึ้นจากทัศนคติที่ตั้งอยู่บนความเป็นจริงเกี่ยวกับช่วงอายุที่ต่างกันของเราทั้งตอนนี้และตอนนั้น เราต่างก็สอนและเรียนรู้จากกันและกันอย่างสบายใจ  มันรู้สึกเป็นธรรมชาติอย่างสมบูรณ์

ในฐานะแฟนเรื่องสตาร์ เทร็ค (Star Trek) ผมมองประสบการณ์นี้เหมือนกับว่าผมเป็นส่วนหนึ่งของทีมงานทั้งในภาคละครภาคดั้งเดิมแรกและในภาคเน็กซ์ เจเนอเรชั่น (Next Generation)  โดยอยู่ใต้การดูแลของกัปตัยเคิร์กในตอนนั้น และตอนนี้ผมอยู่ใต้ร่างจุติของเขาในชื่อกัปตัน พิคาร์ด ผู้กำลังฝึกฝนในฐานะนักเรียนนายร้อยอยู่   ความท้าทายหลักที่ผมต้องเผชิญหน้าคือ การสานต่อการสร้างกรรมให้ทีมงานของเอ็นเตอร์ไพรซ์ (Enterprise) ทั้งหมดในอนาคต

Top