การเข้าพบกับสมเด็จองค์ดาไลลามะก่อนย้ายไปประเทศเยอรมนี
ในเดือนเมษายน ปี ค.ศ. 1998 ผมกลับบ้านที่ธรรมศาลา ประเทศอินเดีย หลังจากการเดินสายบรรยายและการเขียนอย่างคร่ำเคร่งเป็นระยะเวลาหนึ่งในประเทศมองโกเลียดินแดนตะวันตก ผมใช้ชีวิตอยู่บริเวณเชิงเขาของเทือกเขาหิมาลัยตั้งแต่ปี ค.ศ. 1969 ในระยะเวลานี้ผมได้ศึกษาและทำงานกับชุมชนผู้อพยพชาวทิเบตที่เกาะกลุ่มกันอยู่รอบ ๆ สมเด็จองค์ดาไลลามะ ตอนนี้ผมกลับมาย้ายข้าวของของผมไปยังนครมิวนิค ประเทศเยอรมนี เพื่อที่ผมจะได้เขียนหนังสือได้อย่างมีประสิทธิภาพและสอนพระพุทธศาสนาเป็นประจำมากขึ้น ผมอยากแจ้งท่านสมเด็จเกี่ยวกับการตัดสินใจของผมและขอคำแนะนำจากท่าน ในฐานะอาจารย์สอนศาสนาของผม ท่านสมเด็จได้ทรงสอนผมให้ตัดสินใจเองว่าจะใช้เวลาที่ไหนและอย่างไรเพื่อสร้างประโยชน์ให้กับผู้อื่นได้อย่างมีคุณภาพที่สุด ประสบการณ์จะเป็นเครื่องชี้ทางที่เชื่อถือได้ที่สุดสำหรับผม
ตอนที่ผมได้พบกับท่านสมเด็จครั้งแรกเมื่อเกือบ 29 ปีที่แล้ว ผมเดินทางมาที่ประเทศอินเดียในฐานะนักเรียนทุนฟุลไบรท์ (Fulbright) เพื่อมาเขียนวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกสาขาภาษาตะวันออกไกลและอินเดียและสันสฤตศึกษาที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University) ในช่วงนั้นพระพุทธศาสนาแบบทิเบตได้รับการสอนในเชิงวิชาการในลักษณะของวิชาที่ตายไปแล้ว คล้าย ๆ กับอียิปต์วิทยา ผมไม่อาจยอมรับสมมุติฐานข้อนี้ได้ และตลอดหลายปีที่ผมเรียน ผมมักคิดพิจารณาเสมอว่าการใช้ชีวิตและการคิดแบบชาวพุทธนั้นจะเป็นอย่างไร เมื่อผมได้พบกับท่านสมเด็จ ผมรู้สึกท่วมท้นเมื่อตระหนักได้ว่านิกายโบราณนี้ยังมีชีวิตอยู่ และท่านคืออาจารย์ที่เข้าใจและซึมซับนิกายนี้ไว้ได้อย่างสมบูรณ์
สองสามเดือนถัดมา ผมได้ถวายตัวเองให้ท่านสมเด็จ โดยขอให้ท่านทรงมอบโอกาสในการเรียนรู้และฝึกฝนด้วยการสอนแบบดั้งเดิม ผมต้องการรับใช้ท่านและทราบดีว่าผมต้องทำงานอย่างหนักเพื่อพัฒนาตัวเองให้ไปให้ถึงจุดนั้นให้ได้ ท่านสมเด็จทรงตอบรับด้วยความเมตตา ในที่สุดผมก็ได้รับโอกาสสุดพิเศษในการรับใช้ท่าน โดยการเป็นผู้แปลให้ท่านในบางโอกาสและช่วยท่านสร้างสัมพันธไมตรีกับผู้นำศาสนาและสถาบันการศึกษาทั่วโลก
ท่านสมเด็จทรงยินดีกับการตัดสินใจย้ายถิ่นฐานไปยุโรปของผมและทรงตรัสถามถึงหนังสือที่ผมจะเขียนเล่มต่อไป ผมเรียนท่านว่าผมอยากจะเขียนถึงเรื่องความสัมพันธ์กับอาจารย์สอนศาสนา เนื่องจากผมได้เข้าร่วมการประชุมเครือข่ายอาจารย์สอนพระพุทธศาสนาชาวตะวันตก (Network of Western Buddhist Teachers) กับท่านสมเด็จในธรรมศาลาถึงสามครั้ง ผมจึงตระหนักถึงมุมมองของท่านต่อปัญหาของชาวตะวันตกในเรื่องนี้เป็นอย่างดี ตอนนี้ท่านทรงแสดงความเห็นอย่างเดียวว่า บ่อเกิดหลักของความยากลำบากนี้คือ อาจารย์ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมนั้นมีจำนวนน้อยเหลือเกิน
การคำนึงถึงคำแนะนำของเซอคง รินโปเช เกี่ยวกับการกายเป็นอาจารย์สอนพระพุทธศาสนา
เมื่อผมเดินออกมาจากห้องรับรอง ปฏิกิริยาแรกของผมคือการตั้งคำถามเกี่ยวกับความน่าเชื่อถือของตัวเองในการเป็นอาจารย์สอนพระพุทธศาสนา ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ผมได้รับโอกาสอันเหลือเชื่อมากมายในการฝึกฝนกับอาจารย์ที่มีความเป็นเลิศชาวทิเบตบางท่านที่พลัดถิ่นในประเทศอินเดีย อาจารย์เหล่านี้คือสมเด็จองค์ดาไลลามะ อาจารย์ทั้งสามท่านที่สอนท่านสมเด็จ และหัวหน้านิกายต่าง ๆ ในพระพุทธศาสนาแบบทิเบต หากเปรียบเทียบกับอาจารย์เหล่านี้แล้ว ผมก็แทบจะไม่มีคุณสมบัติใด ๆ เลย อย่างไรก็ตามผมจำคำแนะนำที่อาจารย์หลักของผมเคยให้ผมไว้ตั้งแต่ปี ค .ศ. 1983 ได้ อาจารย์ท่านนี้คือเซนซับ เซอคง รินโปเช ผู้เป็นคู่อภิปรายของท่านสมเด็จ
ผมได้เดินทางไปกับรินโปเช ในฐานะล่ามแปลภาษาและเลขานุการในการเดินสายรอบโลกครั้งที่สองของท่าน และผมเพิ่งกลับมาจากทริปย่อยไปเมืองการากัส ประเทศเวเนซูเอล่า ด้วยการสนับสนุนจากรินโปเช ผมจึงตอบรับคำเชิญให้ไปสอนกลุ่มพุทธศาสนิกชนที่เพิ่งก่อตั้งขึ้นมาใหม่ที่นั่น ซึ่งถือเป็นโอกาสครั้งแรกของผม รินโปเชไปพักผ่อนอยู่กับเกเช วังยัล (Geshe Wangyal) ที่อารามของท่านในนิวเจอร์ซีย์สักสองสามวัน เกเช วังยัลเป็นอาจารย์ชาวมองโกลคาลมีเกียจากรัสเซีย ซึ่งเป็นอาจารย์สอนสายทิเบตท่านแรกที่ผมได้พบในปี ค.ศ. 1967 ถึงแม้ว่าผมจะไม่มีโอกาสได้ศึกษากับท่านอย่างจริงจังก็ตาม
เมื่อผมเดินทางกลับมา รินโปเชไม่ถามคำถามเกี่ยวกับการสอนของผมเลย แต่นี่เป็นเรื่องปกติของท่านอยู่แล้ว ผมจึงไม่ได้ประหลาดใจอะไร อย่างไรก็ตาม ในสัปดาห์ถัดมาตอนที่พวกเราอยู่ลอนดอนและกำลังนั่งอยู่รอบ ๆ โต๊ะในครัวหลังมื้อเย็น รินโปเชก็พูดขึ้นว่า “ในอนาคตเมื่อโยมได้เป็นอาจารย์ที่มีชื่อเสียงแล้ว และลูกศิษย์มองโยมว่าเป็นพระพุทธเจ้า โยมก็รู้อยู่เต็มอกว่าตัวเองยังไม่ได้ตรัสรู้ อย่าให้ข้อนี้มาสั่นคลอนความเชื่อว่าอาจารย์ของตนคือพระพุทธเจ้า” ท่านพูดเพียงเท่านี้ แล้วจากนั้นความเงียบก็เข้าปกคลุม ผมต้องใช้เวลาอีกหลายปีกว่าจะเข้าใจความลึกซึ้งของคำพูดดังกล่าว
ลามะ โซปะ ออกปากชมรินโปเชว่า “เป็นของจริง”
ครั้งหนึ่งลามะ โซปะ รินโปเช อาจารย์สอนพระพุทธศาสนาชาวทิเบตที่ได้รับความนิยมในโลกตะวันตกกล่าวว่า หากคุณต้องการพบลามะที่แท้จริง ตัวอย่างที่ดีที่สุดคงจะเป็นเซนซับ เซอคง รินโปเช ลามะ โซปะไม่ได้ใช้คำภาษาทิเบตว่า ลามะ ในความหมายรวม ๆ ที่หมายถึงพระ หรือผู้ทำพิธีที่จบการฝึกสมาธิแบบเคร่งครัดมาสามปี แล้วท่านก็ไม่ได้พูดถึงความหมายในแง่ของ “ร่างที่กลับชาติมาเกิดใหม่ของลามะ” ซึ่งหมายถึงบุคคลที่สามารถกำหนดการเกิดใหม่ของตนได้และได้รับตำแหน่งรินโปเช หรือ “ผู้ทรงค่า” หากแต่ท่านหมายถึงลามะตามความหมายดั้งเดิมของคำนี้ นั่นก็คืออาจารย์ศาสนาที่มีคุณสมบัติเหมาะสมอย่างสมบูรณ์ ดังนั้นบางทีวิธีที่จะช่วยเริ่มอธิบายว่าการเป็นอาจารย์เช่นนั้นต้องเป็นอย่างไร และวิธีการมีปฏิสัมพันธ์กับลูกศิษย์ควรเป็นอย่างไรนั้นอาจเป็นการวาดคำบรรยายลักษณะบุคคลของเซอคง รินโปเช และความสัมพันธ์ของผมกับท่าน ผมจะขออธิบายด้วยการใช้ภาพและความทรงจำมาปะติดปะต่อรวมกัน