แนวทางการเป็นครูที่ยอดเยี่ยมของเซอคง รินโปเช

สร้างความเชื่อมั่นและความทุ่มอย่างหมดใจในตัวอาจารย์สอนศาสนา

ความทุ่มเทอย่างหมดใจในตัวอาจารย์สอนศาสนานั้นเป็นหลักปฏิบัติของพระพุทธศาสนาที่ยากและละเอียดอ่อนที่สุดอย่างหนึ่ง  การบรรลุหลักนี้จำเป็นต้องอาศัยความดูแลเอาใจใส่เป็นอย่างมาก เพื่อสร้างและรักษาความมุ่งมั่นดังกล่าวอย่างมีคุณภาพ  เมื่อพื้นฐานแน่นแล้วจะไม่มีสิ่งใดมาสั่นคลอนความทุ่มเทนี้ได้  เซอคง รินโปเชอดทนพยายามอย่างมากเพื่อสร้างความทุ่มเทอย่างแน่วแน่ในความสัมพันธ์ของท่านและผม  คืนหนึ่งตอนท้ายเทศกาลสวดมนต์ใหญ่ มนลัม (Monlam) ในเมืองมุนทโกทะ  รินโปเชเล่าเรื่องราวอันซับซ้อนทางการเงินเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ของท่านที่นั่นให้ฟัง  ถึงแม้ว่าผู้เข้าร่วมพิธีผู้อื่นจะคิดว่านี่ไม่ใช่เรื่องจำเป็นเลย รินโปเชยืนยันว่าผมจำเป็นต้องทราบเรื่องนี้   แม้ว่าหลังจากนั้นผมจะได้ยินข่าวลือผิด ๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้จากหน่วยงานที่เกิดความอิจฉา  ท่านก็ต้องการทำให้แน่ใจว่าผมจะไม่เคลือบแคลงใจในศีลธรรมของท่าน หรือความทุ่มเทอย่างหมดใจในตัวท่านแม้แต่นิดเดียว

ความทุ่มเททั้งใจให้กับอาจารย์ศาสนานั้นต้องอาศัยการตรวจสอบอย่างละเอียดและยาวนานจากทั้งสองฝ่ายเท่ากัน นั่นคือระหว่างลูกศิษย์และอาจารย์ในอนาคต  ถึงแม้ว่าหลังจากการพินิจพิเคราะห์อย่างละเอียดแล้ว ลูกศิษย์จำเป็นต้องมองอาจารย์ลามะของตนเป็นพระพุทธเจ้า นี่ไม่ได้หมายความว่าอาจารย์ของพวกเขาจะผิดพลาดไม่ได้  ศิษย์จำเป็นต้องตรวจสอบสิ่งที่อาจารย์ของตนพูดเสมอ และถ้าจำเป็นก็สามารถแนะนำเพิ่มเติมอย่างสุภาพได้  ต้องมีสติและแก้ไขสิ่งแปลก ๆ ที่ลามะของตนพูดหรือกระทำด้วยความเคารพ

มีอยู่ครั้งหนึ่ง รินโปเชพยายามสาธิตข้อนี้ให้พระชาวตะวันตกที่อารามนาลันดา (Nalanda) ที่ฝรั่งเศสฟัง  ในระหว่างการแสดงธรรมเทศนานี้ ท่านตั้งใจอธิบายบางอย่างในทางที่ผิดอย่างมหันต์  ถึงแม้ว่าสิ่งที่ท่านพูดจะฟังดูไร้สาระอย่างที่สุด พระสงฆ์เหล่านี้ก็ตั้งใจจดคำพูดของท่านลงไปในสมุดด้วยความเคารพ  ในบทเรียนครั้งต่อไป รินโปเชก็ว่ากล่าวพระสงฆ์คณะนี้ โดยบอกว่าชั่วโมงที่แล้วท่านได้อธิบายบางอย่างที่น่าขันและผิดสุด ๆ  ทำไมถึงไม่มีใครถามท่านเลย?  ท่านบอกว่าพระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า พวกท่านต้องไม่ยอมรับสิ่งที่อาจารย์พูดโดยที่ไม่ไตร่ตรองและวิเคราะห์ให้ดีก่อน  แม้แต่อาจารย์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดก็อาจจะพลั้งปากไปบ้างเป็นบางครั้ง  นักแปลก็ทำพลาดเป็นประจำ และนักเรียนก็ย่อมจดบันทึกได้ไม่เที่ยงตรงและสับสันได้  หากสิ่งใดดูแปลก ๆ พวกท่านจะต้องตั้งคำถามและตรวจสอบทุกข้อกับพระคัมภีร์เสมอ

วิเคราะห์และตั้งคำถามตำราต่าง ๆ รวมถึงตำราที่เขียนโดยปรมาจารย์ทางพระพุทธศาสนาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดด้วย

สำหรับรินโปเชแล้ว ท่านตั้งคำถามกับคำอธิบายแบบมาตรฐานของพระพุทธศาสนาด้วยซ้ำ  การทำเช่นนี้ถือว่าท่านปฏิบัติตามแบบอย่างของสองขะปะ (Tsongkhapa)  นักปฏิรูปผู้ยิ่งใหญ่ในปีศตวรรษที่สิบสี่ผู้นี้สังเกตว่า ตำราที่ได้รับการยอมรับจากทั้งปรมาจารย์ชาวอินเดียและทิเบตหลายตำรามีความขัดแย้งกัน หรือมีการกล่าวอ้างบางประการที่ไม่สมเหตุสมผล  สองขะปะเปิดเผยและวิเคราะห์จุดเหล่านี้อย่างละเอียด โดยปฏิเสธส่วนที่ไม่มีเหตุผลมายืนยัน หรือให้การตีความใหม่ในเชิงลึกสำหรับบทต่าง ๆ ที่เข้าใจผิดกันมาโดยตลอด  ผู้ที่มีความรู้เกี่ยวกับพระคัมภีร์และประสบการณ์ในการฝึกสมาธิอย่างกว้างขวางเท่านั้นจึงจะมีคุณสมบัติพอที่จะสร้างสิ่งใหม่ในลักษณะนี้ขึ้นมา  เซอคง รินโปเชก็เป็นหนึ่งในผู้คนจำนวนนี้

ยกตัวอย่างเช่น ก่อนรินโปเชมรณภาพไม่นาน ท่านเรียกผมและชี้ให้ดูข้อความบทหนึ่งจากตำราปรัชญาที่ยากที่สุดเล่มหนึ่งของสองขะปะ ชื่อว่า “แก่นของคำอธิบายยอดเยี่ยมของการตีความและความหมายเชิงนิยาม” (Drang-nges legs-bshad snying-po)  รินโปเชท่องตำราหลายร้อยหน้านี้ขึ้นใจ เป็นส่วนหนึ่งของการปฏิบัติประจำวันของท่าน  บทความนี้เกี่ยวกับขั้นตอนการขจัดความสับสนออกจากจิตใจ โดยเฉพาะเรื่อง “เมล็ดพันธุ์” แห่งความสับสน  คำอธิบายมาตรฐานแปลเมล็ดพันธุ์เหล่านี้ในลักษณะของปรากฏการณ์เปลี่ยนแปลงที่ไม่ได้เป็นรูปธรรมหรือเป็นวิธีแห่งการรู้บางอย่าง  ในการสื่อความหมายดังกล่าว ผมแปลคำนี้ว่า “แนวโน้ม” แทนคำว่า “เมล็ดพันธุ์” มาโดยตลอด  รินโปเชอธิบายโดยกล่าวอ้างตรรกะ ประสบการณ์ และข้อความอื่น ๆ จากตำราว่า เมล็ดข้าวก็ยังคงเป็นข้าว  ดังนั้นเมล็ดพันธุ์แห่งความสับสนนั้นก็คือ “ร่องรอย” ของความสับสนนั่นเอง  การตีความในเชิงปฏิวัติเช่นนี้ก่อให้เกิดการต่อยอดอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับวิธีทำความเข้าใจและทำงานกับจิตใต้สำนึก

การใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายของรินโปเช

ถึงแม้ว่ารินโปเชจะเป็นผู้ที่มีความเฉลียวฉลาดปราดเปรื่อง ท่านมักเน้นเรื่องความถ่อมตนและการละเว้นนิสัยอวดเก่งอยู่เสมอ  ดังนั้นถึงท่านจะเป็นลามะที่มีตำแหน่งสูงสุดในอารามในมุนทโกทะ ท่านก็ไม่เคยสร้างบ้านหลังใหญ่โอ่อ่าแต่อย่างใด  ท่านมีแต่เพียงกระท่อมที่ดูเรียบง่ายหลังเดียวเท่านั้น  บ้านของท่านในธรรมศาลาก็มีความพอประมาณอย่างแท้จริง โดยมีห้องเพียงสามห้องสำหรับผู้อยู่อาศัยสี่คน แขกประจำ สุนัขสองตัว และแมวหนึ่งตัว

นอกจากรินโปเชจะหลีกเลี่ยงการแสดงความยิ่งใหญ่ของท่านแล้ว ท่านยังคอยห้ามไม่ให้ลูกศิษย์สร้างภาพให้ท่านดูใหญ่โตด้วย  ยกตัวอย่างเช่น การปฏิบัติสมาธิหลายแบบใช้หลักสำคัญจากสายสัมพันธ์ของผู้ปฏิบัติกับอาจารย์ศาสนาของตน เช่น การสร้างภาพในจิตใจอย่างละเอียด หรือที่เรียกว่า กูรู-โยคะ และการท่องบทสวดที่มีชื่อสันสกฤตของอาจารย์ลามะ  สำหรับการฝึกกูรู-โยคะ รินโปเชจะคอยสอนลูกศิษย์ให้สร้างภาพในใจเป็นภาพของสมเด็จองค์ดาไลลามะ  สำหรับชื่อที่จะใช้ในบทสวด ท่านก็ให้ลูกศิษย์ท่องชื่อของบิดาท่านเอง  บิดาของ รินโปเชนามว่า เซอคง ดอเจชาง (Serkong Dorjey-chang) เป็นหนึ่งในผู้ปฏิบัติและอาจารย์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในช่วงต้นศตวรรษที่ยี่สิบ  ท่านเป็นผู้สืบทอดสายกาลจักรในเวลานั้น ซึ่งหมายความว่าท่านเป็นปรมาจารย์ที่ได้รับการยอมรับในด้านบทบาทการเผยแพร่ตัวบทความรู้และประสบการณ์ในการนั่งสมาธิให้กับคนรุ่นต่อไป

ปฏิบัติตามตัวอย่างของมหาตมะ คานธี ในด้านการละเว้นความฟุ่มเฟือย

ลักษณะสงบเสงี่ยมของรินโปเชแสดงออกมาในรูปแบบอื่น ๆ อีกมากมาย  ยกตัวอย่างเช่น เมื่อรินโปเชเดินทาง ท่านจะปฏิบัติตามแบบอย่างของมหาตมะ คานธี  ท่านยืนยันที่จะเดินทางด้วยรถไฟอินเดียในฐานะผู้โดยสารชั้นสาม นอกเสียจากว่าจะมีความจำเป็นที่ต้องเดินทางด้วยวิธีอื่น  ท่านทำอย่างนี้เสมอ ถึงแม้ว่านั่นจะหมายถึงการนอนข้าง ห้องสุขาที่ส่งกลิ่นเหม็น ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตอนเราเดินทางออกจากธรรมศาลาเพื่อไปเมืองนิวเดลีในการเดินสายในตะวันตกครั้งแรกของเรา  รินโปเชกล่าวว่าการเดินทางในลักษณะทั่วไปแบบนี้เป็นเรื่องที่ยอดเยี่ยม เพราะมันช่วยให้เราเกิดความเห็นอกเห็นใจ  ผู้โดยสารทั้งสามชั้นก็ไปถึงจุดหมายเดียวกันในเวลาเดียวกันอยู่ดี แล้วเราจะไปเสียเงินทำไม  รินโปเชไม่ชอบเวลาที่ผู้คนต้องมาเสียเงินเพื่อท่านเอาเสียเลย ไม่ว่าจะเป็นการซื้อตั๋วรถไฟชั้นหนึ่งให้ท่าน หรือการพาท่านไปฉันในร้านอาหารหรูหราราคาแพง

ครั้งหนึ่งตอนที่รินโปเชกำลังเดินทางกลับไปยังธรรมศาลาจากสปีติ ลูกศิษย์หลายคน รวมทั้งตัวผมไปรอต้อนรับท่านอยู่ที่ตลาดอินเดีย  หลังจากยืนดูรถเก๋งและรถเมล์หลายคันวิ่งผ่านไปโดยไม่มีท่านนั่งอยู่ จู่ ๆ ก็มีรถกระบะสกปรกเก่า ๆ คันหนึ่งเข้ามาจอดในตลาด  เซอคง รินโปเชนั่งอยู่ในรถกระบะที่มีผู้คนอัดแน่นเต็มไปหมด โดยท่านกำลังถือลูกประคำสวดมนต์ไว้ในมือ  ท่านและผู้อุปถัมภ์เดินทางอย่างนี้มาเป็นเวลาสามวันตั้งแต่ที่สปีติ โดยไม่ห่วงเรื่องความสะดวกสบายหรือภาพลักษณ์เลย

เมื่อรินโปเชเดินทางจากเทศกาลสวดมนต์ใหญ่ในมุนทะโกทะกลับมายังธรรมศาลาพร้อมผู้อุปถัมภ์ของท่านและผม พวกเราต้องรอรถไฟในเมืองปูนาทั้งวัน  ท่านอยู่ในห้องพักโรงแรมชั้นสามที่ทั้งเสียงดังและร้อนได้อย่างมีความสุข  คนขายเสื้อเสวตเตอร์ชาวทิเบตในพื้นที่เป็นคนให้เราใช้ห้องนี้  จริง ๆ แล้วรินโปเชมักจะแนะนำว่าเราควรนั่งรถบัสข้ามคืนเวลาเดินทางในอินเดีย เพราะเป็นตัวเลือกที่ถูกและง่ายกว่า  ท่านไม่เคยมีปัญหากับการรอในสถานีรถบัสที่อัดแน่นไปด้วยผู้คน  ท่านบอกเราว่าท่านมีการฝึกสมาธิมากมายให้ทำตอนรอ  เสียงดัง ความวุ่นวาย และความสกปรกรอบ ๆ ตัวท่านไม่เคยรบกวนสมาธิท่านเลย

รินโปเชไม่เคยอยู่ที่ใดที่หนึ่งเป็นเวลานาน ท่านมักจะย้ายไปไหนมาไหนเสมอ  ท่านบอกว่าการทำแบบนี้เป็นผลดีต่อการก้าวข้ามการยึดติด  ดังนั้นเวลาเราเดินสายสอน เราจะไม่เคยพักอยู่บ้านไหนเป็นเวลามากกว่าสองสามวันเลย  มิฉะนั้นจะเป็นการอยู่นานเกินงามและจะกลายเป็นภาระต่อเจ้าของบ้านได้  เมื่อใดที่เราไปพักที่ศูนย์สอนพระพุทธศาสนากับพระสงฆ์ชาวทิเบตที่มีอาวุโสกว่าเป็นอาจารย์ รินโปเชจะปฏิบัติกับพระรูปนั้นเหมือนเป็นเพื่อนสนิท  ท่านไม่เคยปิดกั้นความสัมพันธ์อันอบอุ่นกับใครเลย

การปฏิบัติความสม่ำเสมอและความไม่อวดรู้ ความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์

ไม่ว่ารินโปเชจะเดินทางไปไหน ท่านจะคงการปฏิบัติอย่างเคร่งครัดตลอดทั้งวันและแทบไม่นอนเวลากลางคืน  ท่านจะท่องบทสวดมนต์และตำราสำหรับการสร้างภาพในจิตใจตามพระตันตระ (สาธนา) ซึ่งท่านไม่ได้ปฏิบัติแค่ระหว่างการนัดพบต่าง ๆ แต่ระหว่างการพักชั่วคราวเมื่อรอการแปลของผมในกรณีที่ผู้มาเยือนเป็นชาวต่างชาติด้วย  ท่านนั่งปฏิบัติ สาธนา นี้ในรถยนต์ รถไฟ หรือบนเครื่องบิน  สถานการณ์ภายนอกไม่ใช่เรื่องสำคัญ  ท่านเน้นย้ำว่าการปฏิบัติประจำวันอย่างเคร่งครัดจะทำให้เกิดความสม่ำเสมอในชีวิตไม่ว่าเราจะไปที่ไหนและทำอะไร  เราจะสามารถปรับตัวได้ดี มีความมั่นใจในตนเอง และมีความมั่นคง

นอกจากนี้รินโปเชยังไม่เคยแสดงให้ผู้อื่นเห็นว่าท่านกำลังปฏิบัติอยู่  ท่านบอกให้ปฏิบัติอย่างเงียบ ๆ และเป็นการส่วนตัว เช่น การให้พรอาหารก่อนรับประทาน หรือการสวดมนต์ก่อนการสอน  การท่องบทกลอนยืดยาวอย่างขึงขังก่อนรับประทานอาหารกับผู้อื่นนั้นมีแต่จะทำให้พวกเขารู้สึกอึดอัด หรือรู้สึกว่าเรากำลังพยายามทำให้เขาทึ่ง หรือเรากำลังทำให้เขาละอายใจ  ยิ่งไปกว่านั้นท่านไม่เคยยัดเยียดการปฏิบัติ หรือธรรมเนียมใด ๆ ให้ผู้อื่นเลย แต่ท่านสวดมนต์ หรือทำพิธีต่าง ๆ ก่อนและหลังการสอนตามการปฏิบัติทั่วไปของศูนย์ปฏิบัติธรรมที่นิมนต์ท่าน

ถึงแม้ว่ารินโปเชจะถวายสิ่งต่าง ๆ ให้ท่านสมเด็จ อารามในทิเบตและอารามในโลกตะวันตกอย่างมากมายเหลือคณานับ ท่านก็ไม่เคยโอ้อวดหรือพูดถึงเรื่องพวกนี้เลย  ท่านสอนให้เราไม่ทำอย่างนั้น  มีครั้งอยู่หนึ่งมีชายวัยกลางคนผู้นอบน้อมในเมืองวิลลอร์บา ประเทศอิตาลีมาหารินโปเช  ในขณะที่เขากำลังจะออกจากห้อง ชายผู้นี้ก็วางซองปัจจัยบริจาคจำนวนมากบนโต๊ะข้างด้านข้าง ซึ่งไม่ใช่ที่ที่มองเห็นได้ง่าย  หลังจากนั้นรินโปเชจึงบอกว่านี่คือวิธีการถวายปัจจัยให้ลามะ

อย่างไรก็ตามรินโปเชเน้นว่าความถ่อมตนของเราจะต้องเกิดขึ้นด้วยความจริงใจ ไม่ใช่เสแสร้งแกล้งทำ  ท่านไม่ชอบคนที่ทำเป็นถ่อมตัว แต่จริง ๆ แล้วเป็นคนทระนงและหยิ่งผยอง หรือคิดว่าตัวเองเป็นโยคีผู้ยิ่งใหญ่  ท่านเคยเล่าเรื่องผู้ปฏิบัติที่ทระนงตนผู้หนึ่งที่ไปพบลามะผู้ยิ่งใหญ่ให้ฟัง  เขาคนนี้มาจากพื้นเพของคนเร่รอน เขาแกล้งทำเป็นว่าตนเองไม่เคยเห็นสิ่งที่เป็นอารยธรรมมาก่อนเลย และถามว่าเครื่องมือพิธีกรรมที่อยู่บนโต๊ะของลามะคืออะไรบ้าง  เมื่อเขาชี้ไปที่แมวของลามะและถามว่าเจ้าสัตว์เดรัจฉานอันน่ามหัศจรรย์นี้คือตัวอะไร ลามะจึงตะเพิดเขาออกไป

เก็บรักษาการปฏิบัติส่วนตัวให้เป็นเรื่องส่วนตัว

รินโปเชไม่ชอบเวลาที่ผู้อื่นอวดเบ่งเกี่ยวกับการปฏิบัติของตนเองเอาเสียมาก ๆ  ท่านบอกว่าถ้าเราตั้งใจจะเข้าวิเวกปฏิบัติธรรม หรือต่อให้เราปฏิบัติธรรมเสร็จแล้ว เราก็ไม่ควรต้องไปป่าวประกาศให้ผู้อื่นทราบ  จะเป็นการดีที่สุดหากเราเก็บเรื่องนี้ไว้เป็นเรื่องส่วนตัวและไม่ต้องให้ใครทราบว่าเราทำอะไร  มิฉะนั้นการที่ผู้คนเอาเรื่องของเราไปพูดจะสร้างอุปสรรคขึ้นมากมาย เช่น เรื่องศักดิ์ศรีหรือความริษยาและการอยากเอาชนะของผู้อื่น  ไม่มีใครรู้เลยว่าพระพุทธเจ้าปางใดเป็นการปฏิบัติพระตันตระหลักของสองขะปะ  จนกระทั่งตอนที่ศิษย์ของท่านนามว่า เคดรุบ เจ(Kedrub Je) สังเกตตัวท่านก่อนท่านมรณภาพว่าท่านทำเครื่องเซ่นหกสิบสองอย่างจากถ้วยถวายด้านใน  ศิษย์ผู้นั้นจึงสรุปว่าปางที่ท่านปฏิบัติคือพระจักรสัมวระ ซึ่งเป็นพระพุทธเจ้าปางแห่งความสุคติภายใน  กรณีของเซอคง รินโปเชก็คล้ายคลึงกัน กล่าวคือไม่มีใครทราบว่าการปฏิบัติหลักส่วนตัวของท่านคืออะไร ถึงแม้ว่าท่านจะได้รับการขนานนามว่าเป็นเอตทัคคะและผู้เชี่ยวชาญด้านกาลจักรก็ตาม

รินโปเชมักเล่าถึงเหล่าคาดัมปา เกเช (Kadampa Geshes) ผู้ซ่อนการปฏิบัติพระตันตระไว้อย่างแนบเนียนมาก  คนอื่นเพิ่งค้นพบว่าพวกท่านปฏิบัติอะไรก็ตอนที่เจอพระวัชระจิ๋วและกระดิ่งเย็บติดกับมุมผ้าจีวรของพวกท่านตอนมรณภาพแล้ว  รินโปเชใช้ชีวิตตามแบบอย่างนี้  ท่านมักจะเข้านอนครึ่งชั่วโมงก่อนทุกคนในบ้านและตื่นนอนตอนเช้าหลังพวกเขาเล็กน้อย  อย่างไรก็ตามผู้ช่วยของท่านและตัวผมเองมักสังเกตเห็นแสงไฟในห้องท่านเปิดอยู่หลังจากที่ทุกคนหลับไปอยู่ และไฟก็ปิดครู่เดียวก่อนที่ทั้งบ้านจะตื่นนอนกัน

มีครั้งหนึ่งที่เมืองเยเกนดอร์ฟ  ประเทศเยอรมนี ผู้ช่วยอาวุโสของรินโปเชนามว่า ชนเซลา (Chondzeyla) ต้องนอนในพื้นที่ส่วนเดียวกับรินโปเช  ในขณะที่ทำเป็นหลับ ท่านก็แอบดูรินโปเชตื่นตอนกลางดึกและทำท่าอย่างแข็งขันต่าง ๆ ของหลักปฏิบัติทั้งหกของนาโรปะ ถึงแม้ว่าในระหว่างวันรินโปเชมักต้องอาศัยความช่วยเหลือในการลุกขึ้นและเดินไปไหนมาไหน จริง ๆ แล้วท่านมีพละกำลังและความยืดหยุ่นพอที่จะปฏิบัติท่าโยคะเหล่านี้ได้

ซ่อนเร้นคุณสมบัติที่ดีของท่าน

รินโปเชมักพยายามซ่อนคุณสมบัติที่ดีของท่านไว้เสมอ  ที่จริงท่านไม่ชอบเปิดเผยตัวตนกับคนแปลกหน้าด้วยซ้ำ  มีอยู่ครั้งหนึ่งคู่สามีภรรยาอายุมากชาวอินโดนีเซียอาสาขับรถพาเราจากปารีสไปส่งที่อัมสเตอร์ดัม  เมื่อไปถึงอัมสเตอร์ดัมแล้ว คู่สามีภรรยาก็ชวนรินโปเชให้มาฉันที่บ้าน  พวกเขาไม่รู้เลยว่าแขกผู้นี้เป็นใครจนกระทั่งศูนย์พุทธศาสนาโทรศัพท์มาหาพวกเขาในเวลาต่อมา เพื่อชวนให้พวกเขามาเข้าร่วมการสอนของท่าน  พวกเขาคิดมาตลอดว่าท่านเป็นพระสงฆ์ชราที่เป็นมิตรทั่วไปรูปหนึ่ง

ในลักษณะเดียวกันนี้ บางครั้งรินโปเชจะเล่นหมากรุกกับเด็ก ๆ เวลาท่านเดินทางไปต่างประเทศ หรือท่านจะให้ผู้ช่วยรุ่นเยาว์ของท่านนามว่านาวัง (Ngawang) เล่น และท่านจะคอยช่วยทั้งสองฝ่าย  เด็ก ๆ คิดว่าท่านเป็นเหมือนคุณตาใจดีแก่ ๆ เท่านั้น  มีอยู่ครั้งหนึ่งรินโปเชเดินอยู่บนถนนในเมืองมิวนิค ประเทศเยอรมนี  ตอนนั้นเป็นช่วงคริสต์มาส จึงมีเด็ก ๆ เดินตามท่าน คิดว่าท่านเป็นซานตาคลอส เพราะท่านนุ่งห่มสีแดง

รินโปเชปิดบังความจริงที่ว่าท่านเข้าใจภาษาอังกฤษในระดับหนึ่งด้วย  หลังจากพิธีรับเข้ากาลจักรในสปีติ ซึ่งเป็นเวลาหนึ่งเดือนก่อนที่ท่านจะมรณภาพ ผมขอลาท่านที่อารามทาโบเพื่อกลับไปยังธรรมศาลา  ผมได้เช่ารถบัสให้กับชาวตะวันตกกลุ่มหนึ่งและตอนนั้นก็ถึงเวลาต้องออกเดินทาง  อย่างไรก็ตามชาวตะวันตกคนหนึ่งตัดสินใจเดินทางไปที่อารามกยีอย่างกะทันหัน ซึ่งอารามนี้ต้องขึ้นเขาไปอีกประมาณยี่สิบไมล์ เธอจึงกลับลงมาไม่ทันเวลาที่นัดไว้  ในขณะที่ผมไปที่อารามกยีเพื่อไปตามตัวเธอ ลูกศิษย์ชาวอิตาเลี่ยนผู้หนึ่งก็ไปหารินโปเช แต่ไม่มีล่ามไปด้วย  รินโปเชผู้ไม่เคยพูดภาษาอังกฤษกับชาวต่างชาติคนไหนมาก่อนเลยหันมาหาชาวอิตาเลี่ยนผู้นี้ แล้วพูดภาษาอังกฤษอย่างสมบูรณ์แบบว่า “Where is Alex?” (อเล็กซ์อยู่ไหนล่ะ)  พอชายอิตาเลี่ยนผู้นั้นอุทานว่า “แต่ว่ารินโปเช ท่านพูดภาษาอังกฤษไม่ได้นี่” ท่านก็ได้แต่หัวเราะ

Top