เรื่องราวของผม

การศึกษาเชิงวิชาการเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา และการนำคำสอนของ พระพุทธเจ้าไปใช้ให้เกิดผลในชีวิตประจำวันนั้นถือเป็นคนละโลกกัน มักมีคำกล่าวว่า การศึกษาพระพุทธศาสนาในบทเรียนไม่ได้ทำให้เกิดประโยชน์ในชีวิตจริงเท่าใดนัก ดร.อเล็กซานเดอร์ เบอร์ซิ่น ผู้เป็นทั้งนักวิชาการและนักปฏิบัติจะมาพูดคุยเกี่ยวกับประสบการณ์ของเขาทั้งในโลกวิชาการและทางธรรม

ยุคสปุตนิก

ผมเกิดในอเมริกาในปี ค.ศ. 1944 และเติบโตมาในครอบครัวที่สุดแสนจะธรรมดา  ครอบครัวของผมไม่ได้ร่ำรวย ทุกคนงานทั่วไป และไม่ได้มีการศึกษาสูงด้วยซ้ำ  อย่างไรก็ตามผมมีความสนใจเฉพาะเกี่ยวกับอะไรที่เป็นเอเชียเป็นอย่างมากตั้งแต่เด็ก  ครอบครัวผมไม่ได้สนับสนุนในเรื่องนี้ แต่ก็ไม่ได้ห้ามปรามเช่นกัน แถมในยุคนั้นก็ไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับเอเชียที่เข้าถึงได้มากนัก  เมื่อผมอายุ 13 ผมเริ่มฝึกโยคะกับเพื่อนคนหนึ่ง และผมอ่านทุกสิ่งทุกอย่างที่หาได้เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา แนวคิดของอินเดียและจีน และอื่น ๆ ในกลุ่มนี้

ผมเป็นคนยุคที่อเมริกาเรียกว่า “ยุคสปุตนิก”   เมื่อยานอวกาศสปุตนิกทะยานขึ้นไปในอวกาศ อเมริกาก็โมโหเป็นอย่างมาก เพราะรู้สึกว่าเราถูกทิ้งไว้ข้างหลังรัสเซีย  เด็ก ๆ ทุกคน รวมทั้งตัวผมได้รับการสนับสนุนให้เรียนวิทยาศาสตร์ เพื่อที่พวกเราจะได้ตามรัสเซียทัน  ดังนั้นพอผมอายุ 16 ปี ผมจึงเข้าศึกษาที่มหาวิทยาลัยรัตเกอร์ส (Rutgers University) ด้านเคมีวิทยา  มหาวิทยาลัยรัตเกอร์ส ตั้งอยู่ในรัฐนิวเจอร์ซีย์ ซึ่งเป็นบ้านเกิดของผม   ถึงแม้ว่า เกเช วังยัล (Geshe Wangyal) ครูสอนพระพุทธศาสนาชาวคัลมีเกีย มองโกล อาศัยอยู่ห่างจากผมไม่น่าจะเกิน 50 กิโลเมตร  ผมก็ไม่รู้เรื่องของท่านเลยแม้แต่น้อย

ในระหว่างเรียน ผมลงเรียนคอร์สเพิ่มเติมด้านเอเชียศึกษา ซึ่งผมได้เรียนเกี่ยวกับการที่พระพุทธศาสนาเดินทางจากอารยาธรรมหนึ่งไปยังอีกแห่งหนึ่ง และวิธีที่อารยธรรมแต่ละแห่งมีความเข้าใจพระพุทธศาสนาที่แตกต่างกันออกไป  ถึงแม้ว่าผมจะมีอายุเพียงแค่ 17 ปี ผมก็รู้สึกตราตรึงใจกับเรื่องนี้มาก จนผมพูดขึ้นว่า “นี่คือสิ่งที่ฉันอยากจะมีส่วนร่วมด้วย นั่นคือกระบวนการเผยแพร่พระพุทธศาสนาจากอารยธรรมหนึ่งไปยังอีกแห่งหนึ่ง”  และนี่ก็คือแนวทางที่ผมเดินตามมาตลอดทั้งชีวิต โดยไม่หันเหเปลี่ยนแปลง

มหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน: จากเคมีวิทยา สู่ภาษาจีน แนวคิด และปรัชญาจีน

ที่มหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน (Princeton University) มีการเปิดโปรแกรมใหม่เพื่อดึงดูดนักศึกษาให้ลงเรียนสาขาเอเชียศึกษา  ในตอนนั้นมีนักศึกษาสาขานี้น้อยมาก ซึ่งเป็นช่วงต้น ๆ ของสงครามเวียดนามและมีชาวอเมริกันเพียงไม่กี่คนที่รู้ภาษาเอเชีย  ผมรู้สึกตื่นเต้นเป็นอย่างมาก เพราะนี่เป็นโอกาสที่ผมจะได้เรียนภาษาจีน ผมจึงยื่นสมัครไปและได้รับการตอบรับเข้าเรียน  พอผมอายุ 18 ปี ผมจึงได้เริ่มเรียนภาษาจีนที่พรินซ์ตัน และเรียนจบสองปีสุดท้ายของปริญญาตรีที่นั่น

สิ่งที่ผมสนใจมาตลอดคือ การที่ปรัชญาจีนมีอิทธิพลต่อความเข้าใจเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาในประเทศจีน และจากนั้นพระพุทธศาสนาก็ส่งผลต่อปรัชญาจีนในเวลาต่อมา  ดังนั้นผมจึงศึกษาแนวคิด หลักปรัชญา และประวัติศาสตร์ของจีน รวมทั้งศาสนาพุทธ และอื่น ๆ  ผมถูกส่งไปยังโรงเรียนสอนภาษาขั้นสูงในช่วงฤดูร้อน หนึ่งปีที่ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard) และอีกหนึ่งปีที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด (Stanford) เพื่อเริ่มศึกษาภาษาจีนโบราณ และหลังจากสำเร็จปริญญาแล้ว ผมก็ได้ไปเรียนที่ประเทศไต้หวันในช่วงฤดูร้อนด้วย  สำหรับการศึกษาปริญญาโท ผมกลับไปเรียนที่ฮาร์วาร์ด  ตอนนั้นผมได้เริ่มเรียนภาษาญี่ปุ่น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรเรียนภาษาจีนแล้ว  พอผมสำเร็จปริญญาโทสาขาภาษาตะวันออกไกล ผมจึงได้จบการศึกษาภาษาจีนที่มีความครอบคลุมหลายด้านเป็นอย่างมาก

ภาษาจีน สันสกฤต และทิเบต: การศึกษาเชิงเปรียบเทียบ

เมื่อผมได้ทราบศาสตร์ของจีนแล้ว ผมก็ต้องการทราบศาสตร์ของทางอินเดียเช่นกัน เพื่อดูว่ามีอิทธิพลใดบ้างที่ส่งผลต่อการพัฒนาของศาสนาพุทธ ผมจึงเริ่มศึกษาภาษาสันสกฤต  ผมได้รับปรัชญาดุษฎีบันฑิตสองสาขาร่วมกัน นั่นคือ สาขาภาษาสันสฤตและอินเดียศึกษา และสาขาภาษาตะวันออกไกล  จากภาษาสันสฤตและอินเดียศึกษา ผมจึงต่อยอดไปยังภาษาทิเบต โดยเน้นด้านปรัชญาและประวัติศาสตร์พุทธศาสนา

อย่างที่คุณผู้อ่านคงจะได้เห็นแล้ว ผมมีกระหายความรู้เป็นอย่างมาก ผมจึงลงเรียนหลักสูตรปรัชญาและจิตวิทยาเพิ่มเติม และยังคงความสนใจด้านวิทยาศาสตร์ไว้ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา  ทั้งหมดนี้ทำให้ผมสำเร็จการศึกษาและได้เรียนรู้หลักพระพุทธศาสนาทั่วไปเกี่ยวกับการเปรียบเทียบการแปล  ในการเรียนนี้เราจะพิจารณาเนื้อหาจากคัมภีร์พระพุทธศาสนาในภาษาสันสฤต และดูว่าเนื้อหาเหล่านั้นได้รับการแปลเป็นภาษาจีนและทิเบตอย่างไร  นอกจากนี้เรายังเรียนประวัติการพัฒนาของหลักความคิดและความสัมพันธ์ของความคิดเหล่านี้กับประวัติศาสตร์ทั่วไป  การฝึกฝนในเชิงนี้มีประโยชน์ต่ออาชีพของผมเป็นอย่างมาก

จากฮาร์วาร์ดสู่ธรรมเนียมการใช้ชีวิต

ตลอดระยะเวลาทั้งหมดนี้ ผมสนใจอยู่เสมอว่าชีวิตผมจะเป็นอย่างไร หากผมนำหลักปรัชญาและศาสนาต่าง ๆ ของเอเชียที่ผมร่ำเรียนอยู่นี้ รวมทั้งนิกายต่าง ๆ ของศาสนาพุทธ ฮินดู ลัทธิเต๋าและขงจื๊อมาปฏิบัติในความคิด  กระนั้นแล้วผมก็ไม่มีโอกาสได้สัมผัสกับธรรมเนียมการใช้ชีวิตแบบที่กล่าวมานั้นเลย  ผมรู้สึกราวกับผมกำลังศึกษาศาสนาของอียิปต์โบราณอยู่ก็ไม่ปาน  อย่างไรก็ตามความสนใจของผมนั้นเต็มเปี่ยม

แต่ขณะที่ผมเริ่มศึกษาภาษาทิเบตในปีค.ศ. 1967 โรเบิร์ต เธอร์แมน (Robert Thurman) กลับมายัง ฮาร์วาร์ด และเราได้เป็นเพื่อนร่วมชั้นเรียนกัน เธอร์แมน เป็นหนึ่งในนักเรียนที่ใกล้ชิดกับ เกเช วังยัล ที่สุดและได้ใช้ชีวิตอยู่กับท่านเป็นเวลาหลายปี  นอกจากนี้เขายังบวชเป็นพระอยู่ประมาณหนึ่งปีและเดินทางไปศึกษาที่ธรรมศาลา ประเทศอินเดียด้วย   เขาเป็นผู้ที่บอกผมเกี่ยวกับ เกเช วังยัล และโอกาสในการไปศึกษาที่ธรรมศาลา ซึ่งเป็นสถานที่ที่ชาวทิเบตและสมเด็จองค์ดาไลลามะทรงประทับอยู่ ณ ตอนนั้น  ดังนั้นทุกครั้งที่ผมกลับบ้านช่วงวันหยุด ผมจึงเริ่มไปหา เกเช วังยัล ที่อารามของท่านในนิว เจอร์ซีย์ และเริ่มทำความเข้าใจพระพุทธศาสนาในเชิงธรรมเนียมการใช้ชีวิต  ถึงแม้ว่าผมจะไปหา เกเช วังยัล อยู่หลายครั้ง ผมก็ไม่เคยมีโอกาสได้ไปอยู่ หรือศึกษากับท่านเลย  ถึงอย่างนั้นท่านก็เป็นแรงบันดาลใจให้ผมเดินทางไปศึกษาต่อที่อินเดีย  ผมจึงสมัครทุนฟูลไบรท์ (Fulbright Fellowship) เพื่อขอไปวิจัยทำวิทยานิพนธ์ที่อินเดียกับชาวทิเบต

ผมมาถึงอินเดียในปี ค.ศ. 1969 เมื่ออายุได้ 24 ปี และที่นั่นผมได้พบกับสมเด็จองค์ดาไลลามะ และเริ่มซึมซับวิถีชีวิตสังคมชาวทิเบต  ผมรู้สึกราวกับว่าทั้งชีวิตของผมจนถึงตอนนั้นอยู่บนสายพานลำเลียงที่ส่งผมมาถึงที่นี่ในที่สุด  จากครอบครัวธรรมดา ๆ ในนิว เจอร์ซีย์ สู่นักเรียนทุนเต็มที่ พรินซ์ตัน และ ฮาร์วาร์ด จนมาสู่องค์ดาไลลามะและครูชาวทิเบตรอบตัวท่าน  ผมสัมผัสได้ว่าพระพุทธศาสนาแบบทิเบตที่ผมได้เรียนมานั้นมีตัวตนอยู่อย่างที่นี่อย่างชัดเจน และผู้คนที่นี่ก็เข้าใจความหมายของทุกสิ่งทุกอย่างเกี่ยวกับคำสอนของศาสนาพุทธจริง ๆ  นี่คือโอกาสทองที่ผมจะได้เรียนรู้จากพวกเขา

เรียนพูดภาษาทิเบตในดัลเฮาซี

ตอนที่ผมไปอินเดีย ผมไม่รู้ภาษาพูดทิเบตเลย  ศาสตราจารย์ นะกะโตมิ (Nagatomi) ซึ่งเป็นผู้สอนผมที่ฮาร์วาร์ด ไม่ทราบวิธีการออกเสียงภาษานี้ด้วยซ้ำ  เขาเป็นชาวญี่ปุ่นและเราเรียนภาษาทิเบตในเชิงหลักไวยากรณ์ภาษาญี่ปุ่น เพราะตอนนั้นหนังสือเรียนเล่มเดียวที่มีอธิบายหลักไวยากรณ์ภาษาทิเบตโดยเปรียบเทียบกับภาษาละติน!  ภาษาละตินกับภาษาทิเบตไม่มีสิ่งใดเหมือนกันเลย ในขณะที่หลักไวยากรณ์ภาษาญี่ปุ่นนั้นค่อนข้างใกล้เคียงกับภาษาทิเบต

ผมต้องเรียนภาษาพูด แต่ก็ไม่มีตำราเรียนหรือเอกสารใด ๆ ให้อ่านได้เลย  จากการที่ผมรู้จัก เกเช วังยัล ทำให้ผมได้พบกับ ตุลกู (ร่างกลับชาติมาเกิดของลามะ) หนุ่มสองท่าน นามว่า ซาปะ รินโปเช (Sharpa Rinpoche) และ คำลุง รินโปเช (Khamlung Rinpoche) ซึ่งอาศัยอยู่ที่อารามของท่านมาก่อนและสามารถพูดภาษาอังกฤษได้อย่างคล่องแคล่ว  พวกท่านทั้งสองอาศัยอยู่ในดัลเฮาซี ซึ่งเป็นที่ที่ชาวทิเบตพลัดถิ่นจำนวนมากอาศัยอยู่  พวกเขาเมตตาจัดการให้ผมไปอยู่กับพระสงฆ์ชาวทิเบต นามว่า โสนำ นอบู (Sonam Norbu) ในบ้านหลังเล็ก ๆ ที่ด้านหนึ่งของภูเขา  พระรูปนี้พูดภาษาอังกฤษไม่ได้และผมก็พูดภาษาทิเบตไม่ได้  แต่การอยู่ร่วมกันเป็นสิ่งผลักดันให้เราต้องหาวิธีสื่อสารระหว่างกันให้ได้  และนี่คือช่วงที่ผมได้ใช้ประโยชน์จากบทเรียนเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาและการฝึกฝนอื่น ๆ ที่ผมได้เล่าเรียนมา  ผมรู้สึกราวกับว่าผมเป็นนักมานุษยวิทยาในเกาะบอร์เนียว หรือในแอฟริกา ที่พยายามจะเข้าใจอีกภาษาหนึ่ง

ภาษาเอเชียที่ผมได้เรียนมาทั้งหมดนั้นช่วยทำให้ผมสามารถจับโทนเสียงในภาษาทิเบตได้เป็นอย่างมาก ซึ่งทำให้ผมมีพัฒนาการในระดับหนึ่ง  เวลาผมต้องการจะสื่อสารกับ โสนำ ผมจะใช้วิธีเขียน (เพราะผมรู้วิธีการเขียนภาษาทิเบต) แล้วจากนั้นเขาก็จะบอกผมว่าต้องออกเสียงว่าอย่างไร  เราใช้วิธีนี้ทำงานด้วยกัน และผมก็ไปเรียนภาษากับคนอื่นด้วย  ในที่สุด รินโปเช หนุ่มทั้งสองก็แนะนำให้ผมไปเรียนกับอาจารย์ของพวกเขา นามว่า เกเช นาวัง ดากเย (Geshe Ngawang Dhargyey)

การศึกษาลัม-ริมในคอกวัว

ผมเดินทางมาอินเดียเพื่อมาทำวิทยานิพนธ์ และถึงแม้ว่าผมจะวางแผนทำวิจัยภายใต้หัวข้อตันตระที่กว้างมากอย่าง คุห์ยะสมช(Guhyasamaja)  ผมก็ได้รับคำแนะนำจาก เซอคง รินโปเช (Serkong Rinpoche) ซึ่งเป็นหนึ่งในอาจารย์ของสมเด็จองค์ดาไลลามะว่า เรื่องนี้ไร้แก่นสารเป็นที่สุด และผมไม่ได้มีความพร้อมเลย  ครูผู้ช่วยฝึกสอนขององค์ดาไลลามะ นามว่า ตริชัง รินโปเช (Trijang Rinpoche) จึงแนะนำให้ผมศึกษาลัม-ริม ซึ่งเป็นขั้นของยานก่อน   ณ ตอนนั้นไม่มีการแปลใด ๆ เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้เลย ทำให้เรื่องนี้เป็นเรื่องใหม่สำหรับผมอย่างแท้จริง  ในสมัยนั้นหนังสือที่ตีพิมพ์เกี่ยวกับศาสนาพุทธแบบทิเบตก็มีแต่ของ อเล็กซานดราเดวิด - นีล (Alexandra David-Neel) อีแวนส์ - เวนซ์ (Evans-Wentz) ลามะโกวินดา (Lama Govinda) และของผู้อื่นเพียงไม่กี่คน  ผมได้ศึกษาธรรมเนียมการพูดของลัม-ริมกับ เกเช นาวัง ดากเย และใช้จุดนี้เป็นฐานสำหรับงานวิทยานิพนธ์

ผมใช้ชีวิตแบบพื้นฐานมากในดัลเฮาซี โดยบ้านที่ผมอยู่นั้นไม่มีทั้งน้ำและห้องสุขา  อย่างไรก็ตาม เกเช ดากเย อยู่แบบพื้นฐานมากกว่านั้น เพราะท่านอาศัยอยู่ในคอก ซึ่งเคยใช้เป็นคอกวัวมาก่อนหน้านี้  คอกนี้มีขนาดพื้นที่พอสำหรับที่นอนของท่านและมีที่เหลือด้านหน้าที่นอนเล็กน้อย ซึ่งเป็นที่ที่ลูกศิษย์ทั้งสามตระกูล รินโปเช และผมนั่งเรียนกับท่านอยู่บนดิน ฌโด รินโปเช (Jhado Rinpoche) ได้เข้าร่วม ซาปะ รินโปเช และ คำลุง รินโปเช กับผม  จากนั้นเขาก็กลายเป็นเจ้าอาวาสในอารามของสมเด็จองค์ดาไลลามะในเวลาต่อมา ซึ่งมีชื่อว่า นำคยัล (Namgyal Monastery)  คอกวัวที่เต็มไปด้วยแมลงวันและแมลงประเภทอื่น ๆ คือที่ที่พวกเราศึกษาเล่าเรียนกัน

ช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่น่าสนใจมาก เพราะมีสิ่งใหม่ ๆ มากมายกำลังเริ่มต้นขึ้น  สมเด็จองค์ดาไลลามะให้ความสนใจกับการศึกษาของพวกเราและให้พวกเราแปลเนื้อความสั้น ๆ ให้ท่าน  เมื่อท่านสร้าง หอสมุดงานและจดหมายเหตุของทิเบต (Library of Tibetan Works & Archives) ในธรรมศาลา ท่านได้ขอให้ เกเช ดากเย เป็นอาจารย์ประจำที่นั่นเพื่อสอนชาวตะวันตก และให้ ซาปะ รินโปเช และ คำลุง รินโปเช ทำหน้าที่เป็นผู้แปล ซึ่งพวกเขาทั้งสองก็ได้ช่วยผมด้วย  ผมถามองค์ดาไลลามะว่าผมสามารถเป็นผู้ช่วยของท่านได้หรือไม่ และท่านก็ตรัสว่า “ได้ แต่ก่อนอื่นให้กลับอเมริกาไปส่งวิทยาพนธ์ สำเร็จปริญญาให้เรียบร้อยแล้วก่อน แล้วจึงค่อยกลับมา”

กลมกลืนไปกับสังคมชาวทิเบต: ก้าวสู่การเป็นนักแปล

ในช่วงแรก ๆ ที่อยู่ที่อินเดีย ผมพยายามปรับตัวเข้ากับสังคมทิเบต โดยตัดสินใจรับบทบาทที่พวกเขาน่าจะเข้าใจได้  ผมจึงกลายเป็นนักแปล  ผมรู้สึกสนใจใฝ่รู้เป็นอย่างมากที่จะได้เริ่มต้นการฝึกปฏิบัติธรรม และในช่วงต้นปี ค.ศ. 1970 ผมได้เป็นพุทธศาสนิกชนอย่างเป็นทางการและเริ่มฝึกการนั่งสมาธิ  ตั้งแต่นั้นมาผมก็หมั่นฝึกสมาธิทุกวัน

ในฐานะนักแปล ไม่เพียงต้องรู้ทักษะทางภาษา แต่ยังต้องเข้าใจพระพุทธศาสนาอย่างลึกซึ้งอีกด้วย ซึ่งหมายความว่าต้องนำทักษะการฝึกสมาธิและคำสอนต่าง ๆ ไปปฏิบัติในชีวิตจริง  การแปลศัพท์เฉพาะเกี่ยวกับสถานะของจิตใจที่แตกต่างกัน หรือประสบการณ์รูปแบบต่าง ๆ ในการนั่งสมาธินั้นจะเป็นไปไม่ได้เลย หากผู้แปลไม่เคยสัมผัสประสบการณ์เหล่านั้นด้วยตัวเอง  คำศัพท์การแปลในการใช้งานส่วนใหญ่ได้รับการบัญญัติโดยเหล่ามิชชันนารีที่สนใจแปลคัมภีร์ไบเบิ้ลเป็นภาษาทิเบต และไม่ได้ใส่ใจกับความหมายที่แท้จริงของคำศัพท์เหล่านั้นในเชิงพระพุทธศาสนาเลย  ดังนั้นนี่จึงเป็นช่วงเวลาที่ผมได้ผสมผสานการปฏิบัติทางหลักพระพุทธศาสนาเข้ากับกับการศึกษาพระพุทธศาสนาแบบวิชาการเข้าด้วยกัน

ผมเดินทางกลับไปที่ฮาร์วาร์ดตอนปลายปี 1971 และหลังจากนั้นไม่กี่เดือน ผมก็ส่งวิทยานิพนธ์และได้รับปรัชญาดุษฏีบันฑิตอย่างเป็นทางการในฤดูใบไม้ผลิปี ค.ศ. 1972  ศาสตราจารย์ของผมได้เตรียมงานสอนดี ๆ ไว้ให้ผมที่มหาวิทยาลัยอันทรงเกียรติอีกแห่งหนึ่ง เพราะผมตั้งใจจะเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยมาตลอด  แต่ผมก็ปฏิเสธไป  ผมไม่อยากใช้เวลาทั้งชีวิตกับผู้คนที่ได้แต่คาดเดาว่าพระพุทธศาสนาหมายความว่าอย่างไร  หากแต่ผมต้องการใช้เวลาอยู่กับผู้คนที่รู้ดีว่าพระพุทธศาสนาหมายความว่าอย่างไร และผมต้องการที่จะศึกษาเล่าเรียนจากธรรมเนียมแบบดั้งเดิม ในขณะที่คงทัศคติจากการศึกษาพระพุทธศาสนาที่ผมได้เรียนมาแบบวิชาการ  แน่นอนว่าอาจารย์ของผมคิดว่าผมเสียสติไปแล้ว แต่ถึงอย่างนั้นผมก็เดินทางกลับไปอินเดีย  ค่าครองชีพที่นั่นถูกมาก ผมจึงสามารถทำได้

ชีวิตใหม่แบบอินเดียของผม

ผมย้ายไปที่ธรรมศาลาและเริ่มทำงานกับ เกเช นาวัง ดากเย และ ซาปะ รินโปเช และ คำลุง รินโปเช  ตอนนั้นทั้งสองทำงานที่หอสมุดอยู่แล้ว   คราวนี้กระท่อมที่ผมอยู่เล็กกว่ากระท่อมในดัลเฮาซีเสียอีก และก็ยังไม่มีน้ำ ห้องสุขา หรือแม้แต่กระจกบนหน้าต่างอันโดดเดี่ยว  โสนำ นอบู พระสงฆ์ทิเบตที่ผมเคยอยู่ด้วยมาอยู่กับผมที่นี่เช่นกัน  กระท่อมธรรมดา ๆ นี้เป็นบ้านของผมในอินเดียเป็นเวลา 29 ปี

ในตอนนั้นผมช่วยก่อตั้งสำนักแปล (Translation Bureau) ที่หอสมุดให้องค์ดาไลลามะและยังคงศึกษาต่อไป  ผมตระหนักได้ว่าพื้นฐานการศึกษาพระพุทธศาสนาแบบวิชาการของผมเป็นเครื่องมือทำให้ผมสามารถต่อยอดการเรียนหลักธรรมของศาสนาพุทธได้  ผมรู้จักประวัติและชื่อของคัมภีร์ต่าง ๆ และมีผู้อื่นสอนเนื้อหาจริง ๆ ของคัมภีร์เหล่านั้นให้ ผมจึงสามารถปะติดปะต่อสิ่งเหล่านี้ได้ไม่ยากนัก  สมเด็จองค์ดาไลลามะทรงสนับสนุนให้ผมเรียนธรรมเนียมทิเบตทั้งสี่เลย ถึงแม้ว่าผมจะเรียนของนิกายเกลุกเป็นหลัก เพื่อที่ผมจะได้เห็นองค์ประกอบรวมของพระพุทธศาสนาแบบทิเบตได้ดีขึ้น  ช่วงเวลานั้นเป็นช่วงเวลาที่น่าสนใจมาก เพราะผู้คนไม่รู้ถึงอย่างเต็มที่ของหลักธรรมคำสอนในศาสนาพุทธแบบทิเบต

การฝึกฝนความจำและความนอบน้อมกับ เซอคง รินโปเช

ในปี ค.ศ. 1974 ผมเริ่มเรียนกับอาจารย์ท่านหนึ่งของสมเด็จองค์ดาไลลามะ นามว่า เซอคง รินโปเช ซึ่งผมได้พบปะอย่างคร่าว ๆ ในปี ค.ศ. 1969  จากการติดต่อกับท่านในธรรมศาลาช่วงแรก ๆ ท่านก็ทราบเลยว่าผมมีพันธะทางกรรม ในการเป็นนักแปลให้กับท่านและสมเด็จองค์ดาไลลามะในเวลาถัดมา  ดังนั้นท่านจึงเริ่มฝึกผมในด้านนี้  ถึงแม้ว่าตอนนั้นผมจะแปลหนังสืออยู่แล้ว ท่านก็ฝึกฝนให้ผมแปลจากการพูดและการสอน  ท่านมักให้ผมเข้ามานั่งใกล้ ๆ เพื่อสังเกตว่าท่านมีวิธีจัดการกับคนที่ต่างกันอย่างไรบ้าง  นอกจากนั้นท่านยังได้ฝึกทักษะการจำของผมด้วย  บางครั้งที่ผมอยู่กับท่าน จู่ ๆ ท่านก็จะหยุดและพูดขึ้นว่า “ไหนลองพูดซ้ำคำต่อคำตามที่อาตมาได้พูดไปเมื่อครู่นี้สิ” หรือ “ไหนลองพูดซ้ำคำต่อคำตามที่คุณได้พูดไปเมื่อครู่นี้สิ”

ผมเริ่มทำหน้าที่เป็นล่ามให้ท่านในปีต่อมา เมื่อท่านสอนศิษย์ชาวตะวันตก  ท่านจะไม่สอนสิ่งใดให้ผมโดยลำพัง แต่จะให้ผมเรียนรู้ผ่านการแปลให้ผู้อื่นเสมอ ยกเว้นเรื่องกาลจักร ซึ่งท่านสอนผมเป็นการส่วนตัว เพราะท่านเห็นว่าผมมีความสัมพันธ์กับเรื่องนี้อย่างลึกซึ้ง  ผมไม่เคยได้รับอนุญาตให้จดบันทึกบทเรียนระหว่างการสอนครั้งใดเลย  แต่ผมต้องจำทุกอย่างและนำไปจดบันทึกหลังจากนั้น  ในเวลาต่อมาสักพัก ท่านไม่อนุญาตให้ผมจดบันทึกหลังการเรียนด้วยซ้ำ  ท่านจะหาอะไรให้ผมทำอยู่เสมอและผมจะสามารถจดบันทึกได้เมื่อตอนดึกของวันนั้น

เหมือนที่ เกเช วังยัล ปฏิบัติกับลูกศิษย์ใกล้ชิดของท่าน  เซอคง รินโปเช มักดุด่าว่ากล่าวผมเสมอ  ผมจำได้ว่ามีครั้งหนึ่งผมกำลังแปลให้ท่าน ผมถามท่านว่าคำที่ท่านเพิ่งพูดแล้วผมไม่เข้าใจความหมายคืออะไร  ท่านนิ่วหน้าใส่ผมและพูดว่า “อาตมาอธิบายคำนี้ให้คุณฟังเมื่อเจ็ดปีที่แล้ว  ทำไมคุณยังจำไม่ได้อีก  อาตมาจำได้นะ!”

ชื่อโปรดที่ท่านชอบเรียกผมคือ “เจ้างั่ง” และท่านไม่เคยพลาดที่จะเตือนให้ผมรู้ตัวเวลาที่ผมทำตัวงั่ง โดยเฉพาะต่อหน้าคนอื่น  นี่เป็นการฝึกฝนที่ยอดเยี่ยม  ผมจำได้ว่าครั้งหนึ่งตอนที่ผมเป็นล่ามแปลให้สมเด็จองค์ดาไลลามะ ซึ่งมีผู้ฟังประมาณ 10,000 คน องค์ดาไลลามะทรงหยุดผม ทรงพระสรวลและตรัสว่า “เขาเพิ่งพูดผิด”  จากการฝึกฝนที่ผมถูกเรียกว่าไอ้งั่งอยู่เสมอ ผมสามารถทำการแปลต่อไปได้โดยไม่รู้สึกอายจนแทบแทรกแผ่นดินหนี  การเป็นล่ามแปลต้องใช้การเอาใจใส่ขั้นสูงและความทรงจำอันดีเยี่ยม  ผมรู้สึกโชคดีมากที่ไม่เพียงแต่เคยศึกษาด้านพระพุทธศาสนาแบบวิชาการมาก่อน แต่ยังได้ฝึกฝนการปฏิบัติแบบทิเบตดั้งเดิมด้วย

ผมทำการฝึกฝนแบบเข้มข้นกับ เซอคง รินโปเช เป็นเวลา 9 ปี  ผมเป็นล่ามแปลให้ท่านและช่วยท่านในเรื่องการเขียนจดหมายและการเดินทางต่าง ๆ  ในช่วงเวลาทั้งหมดนี้ท่านพูด “ขอบคุณ” กับผมเพียงแค่สองครั้งเท่านั้น  การปฏิบัติแบบนี้มีประโยชน์กับผมมากเช่นกัน เพราะท่านเคยพูดว่า ผมคาดหวังอะไรล่ะ ผมคิดว่าท่านจะลูบหัวผมเหมือนสุนัข แล้วผมก็จะส่ายหางอย่างนั้นหรือ  แรงจูงใจในการแปลคือ การสร้างประโยชน์ให้กับผู้อื่น ไม่ใช่เพื่อจะได้รับคำชมด้วยคำขอบคุณ  แน่นอนว่าการฝึกฝนสมาธิและการปฏิบัติตามหลักศาสนาพุทธมีความสำคัญอย่างมากต่อกระบวนการฝึกฝนแบบดั้งเดิม โดยไม่รู้สึกโกรธ หรือยอมแพ้

ช่วยสร้างสะพานเชื่อมวัฒนธรรม

เซอคง รินโปเช มรณภาพในปี ค.ศ. 1983  หลังจากนั้นผมเริ่มได้รับเชิญให้เดินทางไปบรรยายทั่วโลก เพราะผมเคยได้ไปเยือนสถานที่ส่วนใหญ่เหล่านี้แล้วในฐานะล่ามของท่าน  ในตอนนั้นผมได้ทำหน้าที่เป็นล่ามให้สมเด็จองค์ดาไลลามะในบางโอกาสแล้ว  แต่การแปลแบบนี้ไม่ใช่การแปลคำศัพท์อย่างเดียวเท่านั้น  แต่เป็นการอธิบายและแปลหลักความคิดเหล่านั้นด้วย  ในการประชุมขององค์ดาไลลามะกับเหล่านักจิตวิทยาชาวตะวันตก นักวิทยาศาสตร์และผู้นำศาสนาอื่นในครั้งแรก ๆ นั้น หน้าที่หลักของผมคือการอธิบายความคิดเหล่านั้นให้ท่านเข้าพระทัย ไม่ใช่แค่เพียงคำศัพท์ (เพราะคำส่วนใหญ่ไม่มีคำแปลในภาษาทิเบต) และสร้างสะพานเชื่อมระหว่างวัฒนธรรม  นี่เป็นสิ่งที่ผมสนใจมาตลอดตั้งแต่เด็ก กล่าวคือการสร้างสะพานเชื่อมวัฒนธรรมต่าง ๆ โดยใช้คำสอนของพระพุทธเจ้า  ในการสร้างสะพานเชื่อมที่ว่านี้ คุณจำเป็นต้องเข้าใจทั้งสองวัฒนธรรมเป็นอย่างดี ต้องรู้ว่าผู้คนของทั้งสองวัฒนธรรมคิดและมีวิถีชีวิตอย่างไร  

ผมได้รับโอกาสพิเศษอันล้ำค่าและหายากยิ่งในการใช้ชีวิตอยู่กับชาวทิเบตมาเป็นเวลานาน ได้คุ้นชินกับวิธีการคิด วิถีชีวิต และอื่นๆเป็นอย่างดี  การซึมซับและเข้าใจวัฒนธรรมในลักษณะนี้มีความสำคัญต่อการสื่อสารเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก

ผมเริ่มต้นโปรเจคนานาชาติหลายอย่างสำหรับสมเด็จองค์ดาไลลามะและท่านก็ทรงขอให้ผมทำด้วย  จุดประสงค์หลักอย่างหนึ่งคือการพยายามขยายขอบเขตขององค์ดาไลลามะและชาวทิเบตให้กว้างไกลยิ่งขึ้น  

พวกเขาไม่มีหนังสือเดินทาง มีเพียงแค่เอกสารผู้อพยพ ซึ่งหมายความว่าพวกเขาไม่สามารถขอวีซ่าเพื่อเดินทางไปยังประเทศใดได้ นอกเสียจากว่าจะได้เชิญ  แต่พวกเขาก็มีคนรู้จักในไม่กี่ที่เท่านั้น  ปริญญาเอกจากฮาร์วาร์ด ของผมมีประโยชน์มากในจุดนี้ เพราะผมสามารถได้รับเชิญให้ไปบรรยายตามมหาวิทยาลัยทั่วโลกได้  ผมใช้ประโยชน์จากตรงนี้ในการติดต่อเพื่อสร้างอนาคตให้กับชาวทิเบต และในที่สุดองค์ดาไลลามะจึงได้รับเชิญให้ไปต่างประเทศ และมีการเปิดสถานที่ทำงานขององค์ดาไลลามะในพื้นที่ต่าง ๆ ขึ้นทั่วโลก  ในปี ค.ศ. 1985 ผมเริ่มเดินทางไปยังกลุ่มประเทศที่เคยเป็นคอมมิวนิสต์มาก่อน ผมไปเยือนประเทศเกือบทั้งหมดในทวีปละตินอเมริกา และพื้นที่ส่วนใหญ่ของทวีปแอฟริกา  จากนั้นผมจึงเริ่มเดินทางไปยังตะวันออกกลาง เพื่อเริ่มต้นบทเสวนาระหว่างชาวพุทธและชาวมุสลิม

ตลอดระยะเวลานี้ผมมุ่งมั่นกับการเขียนรายงานส่งกลับไปยังองค์ดาไลลามะ เพื่อแจ้งให้ท่านทรงทราบเกี่ยวกับวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์เล็กน้อยของแต่ละประเทศที่ผมไปเยือน  การศึกษาที่ฮาร์วาร์ด ของผมทำให้ผมได้พบเจอกับผู้นำศาสนาของแต่ละประเทศและผมก็ได้เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับศาสนาของพวกเขาเช่นกัน  ผมนำข้อมูลเหล่านี้ไปให้องค์ดาไลลามะ เพื่อที่ท่านจะได้เข้าพระทัยความเชื่อเหล่านั้นก่อนไปเยือนประเทศของพวกเขา  การศึกษาด้านพระพุทธศาสนาและวิทยาศาสตร์ช่วยให้ผมเห็นแก่นสำคัญของแต่ละเรื่อง ทำให้ผมสามารถจัดเรียบเรียง และนำเสนอในทางที่ประโยชน์ได้

ผมมีส่วนร่วมในโปรเจคมากมายหลายอย่าง  โปรเจคที่น่าสนใจมากที่สุดอย่างหนึ่งคือ โปรเจคที่ใช้การแพทย์ของทิเบตช่วยเหลือเหยื่อจากภัยพิบัติเชอร์โนบีล ซึ่งจัดโดยกระทรวงสาธารณสุขของสหภาพโซเวียต  ถึงแม้ว่าการแพทย์แผนทิเบตจะได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามีประสิทธิภาพสูง เมื่อสหภาพโซเวียตแตก รัสเซีย เบลารุส และยูเครนก็ปฏิเสธที่จะให้ความร่วมมือในโปรเจคดังกล่าว และยืนยันให้เราแบ่งเป็นสามโปรเจคที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ซึ่งเราไม่มีทั้งกำลังกายและกำลังเงินในการทำข้อเสนอนี้ให้สำเร็จได้  โปรเจคนี้จึงต้องจบลงอย่างน่าเสียดาย

อีกโปรเจคหนึ่งที่น่าสนใจคือ การจัดการแปลและตีพิมพ์หนังสือโดย บกุละ รินโปเช (Bakula Rinpoche) เป็นภาษามองโกเลียสมัยใหม่ เพื่อช่วยฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในแถบนั้น บกุละ รินโปเช เป็นทูตชาวอินเดียผู้เดินทางไปยังมองโกเลียในตอนนั้น

การเดินทางกลับมาโลกตะวันตก

รวมทั้งหมดแล้ว ผมเดินทางและไปสอนในประเทศต่าง ๆ ประมาณ 70 ประเทศทั่วโลก  ตลอดระยะเวลานี้ผมยังคงฝึกนั่งสมาธิเป็นประจำทุกวัน ซึ่งเป็นส่วนช่วยให้ผมสามารถทำงานต่อไปได้เป็นอย่างมาก  เมื่อเวลาผ่านไป ผมก็ได้รับเชิญไปสอนและบรรยายตามสถานที่ต่าง ๆ เพิ่มขึ้น  การเดินสายบรรยายดำเนินเป็นระยะเวลานานมาขึ้นเรื่อย ๆ  ที่นานที่สุดคือ 15 เดือน ซึ่งในหนึ่งอาทิตย์ผมต้องไปเยือนสองถึงสามเมืองและต้องเดินทางไปทั่ว การฝึกสมาธิตามหลักพุทธทำให้ผมมีความมั่นคงที่จะปฏิบัติหน้าที่ในระหว่างการเดินทางทั้งหมดนี้ เพราะผมเดินทางคนเดียวตลอดด้วย

ในเวลาหลายปีนี้ผมได้เขียนหนังสือหลายเล่ม และพอมาถึงจุดหนึ่ง ผมก็ตระหนักได้ว่าการตั้งรกรากอยู่ที่อินเดียนั้นไม่เอื้อต่อการทำงานกับสำนักพิมพ์ โสนว์ไลอัน (Snow Lion) ที่ผมทำงานด้วยเอาเสียเลย  นอกจากนี้ผมยังอยากเริ่มมุ่งหน้าไปทางโลกอินเทอร์เน็ต ซึ่งทำได้ค่อนข้างยากในอินเดีย  ดังนั้นในปี ค.ศ. 1998 ผมจึงย้ายจากอินเดียไปสู่โลกตะวันตก  หลังจากลองไปอยู่ในสถานที่ต่าง ๆ ที่เชิญผมไปเยือนดูแล้ว ผมตัดสินใจตั้งรกรากที่กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี  ผมพูดภาษาเยอรมันได้อยู่แล้ว เรื่องภาษาจึงไม่ใช่ปัญหา และที่นั่นผมได้รับความเป็นอิสระส่วนตัวมากที่สุด  จุดนี้สำคัญกับผมเป็นอย่างมาก เพราะผมไม่ต้องการถูกผูกมัดกับองค์กรใดองค์กรหนึ่ง  เบอร์ลินจึงเป็นสถานที่ที่สะดวกสำหรับการอยู่อาศัยและยังสามารถเดินทางไปยังประเทศยุโรปตะวันออกกลางได้ง่ายอีกด้วย เช่น รัสเซีย และประเทศที่เคยเป็นโซเวียตมาก่อน ซึ่งผมได้ไปสอนอยู่บ่อย ๆ และรู้สึกผูกพันเป็นอย่างมาก

ผมมาถึงตะวันตกพร้อมกับประมาณ 30,000 หน้าของต้นฉบับหนังสือ (หนังสือหลายเล่มที่ผมยังเขียนไม่จบ) พร้อมทั้งหมายเหตุในการอ่าน การแปลบทเรียนที่ผมศึกษา การถอดคำการบรรยายของผม หรือของอาจารย์ที่ผมแปล  นอกจากนี้ยังมีบันทึกอีกเป็นตั้ง ๆ ที่ผมจดจากการเรียนกับสมเด็จองค์ดาไลลามะ อาจารย์หลักทั้งสามของท่าน และ เกเช ดากเย  ผมตั้งใจมากที่จะดูแลไม่ให้ทั้งหมดนี้ต้องถูกโยนทิ้งขยะไปเมื่อผมเสียชีวิต

ห้องเก็บเอกสารเบอร์ซิ่น (The Berzin Archives)

ผมอยู่ในตำแหน่งที่มีสิทธิพิเศษมากอย่างไม่น่าเชื่อ และค่อนข้างมีความเฉพาะตัวมาก เพราะผมได้ศึกษาเล่าเรียนกับลามะผู้ยิ่งใหญ่ทั้งหลายของยุคที่แล้ว  สิ่งที่ผมได้เรียนรู้และได้จดมามีค่ามาก และจำเป็นต้องได้รับการแบ่งปันกับโลก  ถึงแม้ว่าการตีพิมพ์ข้อมูลเหล่านี้จะดูดีและน่ามีไว้ในครอบครอง มันก็ไม่สามารถเข้าถึงกลุ่มผู้อ่านได้อย่างกว้างขวาง นอกเสียจากว่าหนังสือของคุณจะเป็นหนังสือติดอันดับขายดี ซึ่งหนังสือของผมไม่ติดอันดับเลย  โดยทั่วไปแล้วหนังสือยังมีราคาค่อนข้างแพงที่จะผลิต แพงสำหรับผู้ซื้อ ต้องใช้ระยะเวลานานมากในการผลิตหนังสือ และคุณก็ไม่สามารถแก้ไขได้จนกว่าจะมีการตีพิมพ์ครั้งต่อไป  ถึงแม้ว่าผมจะเป็นชื่นชอบการศึกษาประวัติศาสตร์ตัวยง ผมก็ผู้ที่ชื่นชอบการมองถึงอนาคตตัวยงด้วยเช่นกัน และอนาคตคืออินเทอร์เน็ต ในความเป็นจริงปัจจุบันก็คืออินเทอร์เน็ตเช่นกัน ด้วยเหตุผลเหล่านี้ ผมจึงตัดสินใจลงงานทั้งหมดของผมบนเว็บไซต์ ผมจึงเริ่ม berzinarchives.com ขึ้นมาในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2001

หลักการสำคัญที่ผมปฏิบัติตามมาเสมอนั้นคือ ทุกสิ่งทุกอย่างบนเว็บไซต์จะต้องเข้าถึงได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ โดยไม่มีการโฆษณา หรือการขายอะไรทั้งสิ้น  ข้อมูลทั้งหมดบนเว็บไซต์มีทั้งพระพุทธศาสนาแบบทิเบตด้านต่าง ๆ ซึ่งครอบคลุมนิกายทั้งสี่ของทิเบต โดยเน้นเกลุกเป็นหลัก  นอกจากนี้ยังมีข้อมูลเชิงเปรียบเทียบ ข้อมูลเกี่ยวกับการแพทย์แผนทิเบต โหราศาสตร์ พุทธประวัติ ประวัติศาสตร์เอเชีย ประวัติศาสตร์ทิเบต และข้อมูลอื่น ๆ อีกมากมายเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างพระพุทธศาสนาและศาสนาอิสลาม  ผมยังมีความเชื่ออันแรงกล้าในการแปลข้อมูลเหล่านี้เป็นภาษาอื่น ๆ ด้วย

ผมคิดว่างานส่วนที่เกี่ยวกับมุสลิมนั้นมีความสำคัญอย่างยวดยิ่ง และสมเด็จองค์ดาไลลามะก็สนับสนุนเรื่องนี้เป็นอย่างมาก  จากการไปเยี่ยมเยือนและทำการบรรยายตามมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในโลกอิสลาม ทำให้ผมมั่นใจว่าผู้คนเหล่านั้นกระหายความรู้เกี่ยวกับโลก  ดังนั้นเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสมานฉันท์ในโลก เราจึงไม่ควรกีดกันพวกเขาอย่างเด็ดขาด  หากแต่เราควรทำให้พวกเขาสามารถเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ รวมถึงคำสอนของทิเบต โดยปราศจากเจตนาในการแนะนำให้พวกเขาหันมานับถือศาสนาพุทธ

บทส่งท้าย

เมื่อถึงปี ค.ศ. 2015 เว็บไซต์ Berzin Archives มีถึง 21 ภาษาด้วยกันและมีการเข้าเยี่ยมชมประมาณ 2 ล้านครั้งต่อปี  นี่คือผลลัพธ์ของความมานะอุตสาหะของพนักงานที่ได้รับค่าจ้างและอาสาสมัครกว่า 100 คน  ในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมานี้ สมเด็จองค์ดาไลลามะทรงคอยเน้นความสำคัญของพระพุทธศาสนสำหรับศตวรรษที่ 21 อยู่เสมอ  การสนับสนุนของท่านเป็นแรงบันดาลใจให้ผมตัดสินใจรับสมัครคนยุคมิลเลนเนียลมาช่วยปรับรูปแบบเว็บไซต์ เพื่อให้เข้าถึงผู้อ่านได้ในวงกว้างขึ้นในอนาคต  การปรับรูปแบบใหม่นี้ทำให้เกิดเป็น studybuddhism.com

เว็บไซต์ใหม่มีการออกแบบแบบโต้ตอบ ซึ่งหมายความว่ามันสามารถรองรับการแสดงผลได้กับทุกหน้าจอ ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์มือถือ  บนพื้นฐานการทดสอบและการวิเคราะห์ผู้ใช้ เราได้สร้างรูปแบบเว็บไซต์ที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้  นอกจากนี้เรายังได้ขยายบทบาทในโซเชียลมีเดียเป็นอย่างมากและมีการเพิ่มไฟล์เสียงและรูปภาพต่าง ๆ ด้วย  จุดมุ่งหมายคือ การสร้างศูนย์กลางสำหรับผู้คนที่สนใจในพระพุทธศาสนาแบบทิเบต โดยให้การเข้าถึง ความรู้ที่เข้าใจได้ง่ายตั้งแต่ขั้นเริ่มต้นไปยังถึงขั้นสูง  เราต้องการสร้างชุมชนสำหรับผู้ใช้ที่สามารถเข้ามาศึกษาด้วยกัน และเพื่อเป็นแพลตฟอร์มสำหรับหลักธรรมคำสอนอันยอดเยี่ยม

ในตอนนี้เราเริ่มจากการแปลเป็นบางภาษาและลงเนื้อหาจากเว็บไซต์เก่าจำนวนหนึ่งเท่านั้น  เราได้เพิ่มบทความใหม่มากมายสำหรับผู้เริ่มต้นโดยเฉพาะ  เว็บไซต์เก่าจะยังคงดำเนินการต่อไปผ่านทางเว็บไซต์ใหม่ จนกว่าเราจะสามารถถ่ายข้อมูลทั้งหมดไปยังรูปแบบที่ได้รับการอัพเดทอย่างสมบูรณ์ได้

บทสรุป

ทั้งหมดนี้คือเรื่องราวคร่าว ๆ เกี่ยวกับตัวผม  จนถึงบัดนี้ผมยังคงการปฏิบัติตามหลักศาสนาพุทธอย่างเคร่งครัด  ยกตัวอย่างเช่น ในหลายปีมานี้ผมนั่งสมาธิประมาณ 2 ชั่วโมงต่อวันทุกวัน และผมได้ฏิบัติธรรมเป็นระยะเวลานานด้วย  ทุกวันนี้ผมลดระยะเวลาการนั่งสมาธิลง แต่ผมก็นั่งสมาธิอย่างน้อย 30 นาทีทุกวัน  ผมยึดหลักคำสอนเกี่ยวกับความความเห็นอกเห็นใจ แรงจูงใจที่เหมาะสม และการเอาชนะอัตตา รวมถึงหลักอื่น ๆ ซึ่งเป็นประเด็นหลักที่ผมเน้นอยู่เสมอ   ด้วยแรงบันดาลใจจากอาจารย์ของผม เริ่มจาก เกเช วังยัล ผู้นำพาผมไปสู่สมเด็จองค์ดาไลลามะ และจากนั้นก็อาจารย์ของท่านดาไลลามะทั้งหลาย ผมสามารถดำเนินชีวิตอย่างมีความหมาย ซึ่งผมหวังว่าจะเป็นประโยชน์และตัวอย่างสำหรับผู้อื่น โดยการผสมผสานหลักปฏิบัติของพระพุทธศาสนาเข้ากับการศึกษาพระพุทธศาสนาแบบวิชาการ พร้อมทั้งด้านประสบการณ์และจรูปธรรมของพระพุทธศาสนา  บางทีเรื่องราวของผมอาจสร้างบันดาลใจให้ใครหลายคนหันมาปฏิบัติเช่นเดียวกัน

Top