ความสมบูรณ์แบบของความอดทน: ขันติบารมี

“ความอดทนเป็นคุณธรรม” ตามที่พูดนั้น ดังนั้นแล้ว เราจะต้องแสยะยิ้มยิงฟันและแบกรับทุกอย่างใช่หรือไม่ ความอดทนในพระพุทธศาสนาเป็นแนวทางปฏิบัติที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าเราแค่อดทนต่อสิ่งต่าง ๆ แต่เราพัฒนาจิตใจของเราอย่างจริงจังเพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่ตกเป็นเหยื่อของอารมณ์ที่รบกวนต่าง ๆ ความอดทนทำให้เรามีพละกำลังในการปฏิบัติเพื่อทำประโยชน์ให้กับทั้งตนเองและผู้อื่น รวมทั้งยังเป็นปัจจัยหนึ่งที่ขับเคลื่อนเราไปสู่การหลุดพ้นและการตรัสรู้ด้วย

บทนำ 

ทัศนคติที่กว้างไกล (ความสมบูรณ์แบบ) ประการที่ 3ในหกประการ นี้คือ ความอดทน ซึ่งเป็นสภาพจิตใจที่เราจะไม่โกรธ แต่จะสามารถทนทานต่อความยากลำบากและความทุกข์ต่าง ๆได้ เราอาจจะได้รับอันตรายจากผู้อื่นทุกรูปแบบ แต่ก็มันจะไม่รบกวนเรา มันไม่ได้หมายความว่า เราจะไม่มีศัตรูหรือคนที่จะพยายามทำร้ายเราอีกต่อไป แต่หมายความว่า เราจะไม่โกรธ ท้อแท้ หมดกำลังใจ หรือไม่เต็มใจที่จะช่วยเหลือพวกเขา ถ้าเราโกรธอยู่ตลอดเวลา เราจะช่วยคนอื่นได้อย่างไร ในทัศนคติประเภทนี้จะมีความอดทนอยู่ 3 ประเภท

ไม่อารมณ์เสียกับผู้ที่ทำอันตราย 

ความอดทนประเภทแรกคือ ไม่โกรธหรืออารมณ์เสียกับผู้ที่ทำอันตราย ไม่ใช่เฉพาะแค่กับคนที่แสดงออกในทางลบเท่านั้น แต่ยังรวมถึงคนที่ทำสิ่งที่เลวร้ายต่อเรา ปฏิบัติไม่ดีต่อเรา และทำร้ายเราจริง ๆ ทั้งทางร่างกายและจิตใจ และยังรวมถึงคนที่ไม่แม้แต่จะขอบคุณหรือชื่นชมเราด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าเรากำลังช่วยเหลือผู้อื่นอยู่ ที่สำคัญคือจะต้องไม่โกรธพวกเขา หากพวกเขาไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำของเรา  มีผู้คนมากมายที่ยากมากที่จะช่วยเหลือ ดังนั้น แทนที่เราจะหมดความอดทน เราจำเป็นจะต้องทนทานต่อความยากลำบากที่เกี่ยวข้องทั้งหมด

ถ้าเราเป็นอาจารย์ เราจะต้องไม่หมดความอดทนกับลูกศิษย์ไม่ว่ากับคนที่เรียนรู้ช้าหรือไม่ฉลาดก็ตาม มันขึ้นอยู่กับเราในฐานะของอาจารย์ ไม่ว่าเราจะสอนธรรมะหรืออะไรอย่างอื่นก็ตาม ที่จะต้องอดทนและไม่ท้อถอย มันก็เหมือนกับการสอนเด็กทารก เราจำเป็นจะต้องมีความชำนาญ เราไม่สามารถคาดหวังให้ทารกเรียนรู้ได้เร็วเท่ากับผู้ใหญ่

การทนทานต่อความทุกข์

ความอดทนประเภทที่สองคือ การยอมรับและทนทานต่อความทุกข์ของเราเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่ท่านศานติเทวะได้กล่าวไว้อย่างมากมาย ท่านว่า ถ้าเรามีปัญหาที่สามารถแก้ไขได้ ก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะต้องโกรธ อารมณ์เสีย หรือกังวล ก็แค่ทำในสิ่งที่จำเป็นเพื่อการแก้ไขนั้นเสีย แต่ถ้าไม่มีอะไรที่สามารถทำได้เกี่ยวกับสถานการณ์นั้น แล้วทำไมจะต้องโกรธ มันไม่ได้ช่วยอะไร มันเหมือนกับการที่อากาศหนาว และเรามีเสื้อผ้าที่อบอุ่น ทำไมต้องบ่นและโกรธว่ามันหนาว ในเมื่อเราก็แค่ใส่เสื้อผ้าเพิ่มพิเศษหลายชั้นได้ ถ้าเราไม่มีเสื้อผ้าที่อบอุ่น การโกรธหรืออารมณ์เสียก็ไม่ได้ทำให้เราอุ่นขึ้นเช่นกัน

นอกจากนี้ เรายังสามารถมองความทุกข์ที่เราประสบว่าเป็นการเผาผลาญอุปสรรคด้านลบ กำลังกลายมาเป็นความสุขที่ว่า กรรมในเชิงลบกำลังสุกงอมในตอนนี้แทนที่จะเกิดในอนาคต ซึ่งมันอาจจะแย่ไปกว่านี้อีกก็ได้ ในแง่หนึ่ง เรากำลังกำจัดมันออกไปเล็กน้อย สมมติว่าเรากระแทกเท้าเราชนเข้ากับโต๊ะและมันเจ็บมาก และคิดว่า นั่นดีมากเลยนะ เพราะเราไม่ได้ขาหัก! การคิดเช่นนี้สามารถช่วยให้เราไม่โกรธ ท้ายที่สุดแล้ว กระโดดขึ้น ๆ ลง ๆ และการตีโพยตีพายเมื่อเท้าของเราเจ็บนั้นไม่ได้ช่วยอะไรเลยแม้แต่น้อย แม้ว่าแม่ของเราจะมาหอมตรงที่มันเจ็บนั้นให้เรา แต่มันก็จะไม่ทำให้ดีขึ้นได้ทั้งหมด!

อีกประเด็นหนึ่งที่ใช้เมื่อเรากำลังพยายามทำงานในเชิงบวกและสร้างสรรค์ เช่น การเริ่มต้นเข้าวิเวกปฏิบัติธรรมที่ยาวนาน การออกเดินทางไปช่วยเหลือผู้อื่น หรือการทำงานกับโครงการพระธรรมบางอย่าง หากมีอุปสรรคและความยากลำบากมากมายในตอนเริ่มต้น จริง ๆ แล้วจะถือว่าดีมาก มันเหมือนกับว่าอุปสรรคกำลังถูกเผาทำลายเพื่อให้งานส่วนที่เหลือดำเนินไปได้ด้วยดี เราควรจะมีความสุขที่ตอนนี้มันกำลังมอดไหม้แทนที่จะทำให้เป็นปัญหาใหญ่โตในภายหลัง

ท่านศานติเทวะกล่าวว่า ความทุกข์และปัญหามีคุณสมบัติที่ดีเช่นกัน ไม่ใช่ว่าเราควรจะออกไปหาปัญหาเพื่อที่จะทรมานตัวเองอย่างแข็งขัน แต่เมื่อเรากำลังเป็นทุกข์ มันก็มีคุณสมบัติดี ๆ มากมายของความทุกข์นั้นให้เราชื่นชมได้ ความทุกข์ทำให้ความเย่อหยิ่งทะนงตนของเราลดลง และทำให้เราอ่อนน้อมถ่อมตัวมากขึ้น นอกจากนี้ มันยังช่วยให้เราพัฒนาความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นที่ประสบปัญหาประเภทเดียวกัน มันเหมือนกับเวลาที่เราป่วยเป็นโรคอะไรบางอย่าง เราจะมีความซาบซึ้งและเห็นอกเห็นใจตามธรรมชาติต่อผู้ประสบความทุกข์นั้นเช่นเดียวกับเรา เมื่อเราแก่ตัวลง เราจะสามารถเข้าใจความเจ็บปวดของวัยชราได้ในที่สุด โดยปกติ เราจะไม่ค่อยมีความเห็นอกเห็นใจคนแก่ตอนที่เราอายุ 16 เพราะเราแทบจะไม่เข้าใจว่าการมีอายุ 70 เป็นอย่างไร แต่เมื่อเราถึงวัยชราและประสบกับสิ่งเหล่านี้ทั้งหมด เราก็จะมีความเห็นอกเห็นใจและความเข้าใจให้กับคนชรา

นอกจากนี้ หากเรามีความเข้าใจเกี่ยวกับเหตุและผลทางพฤติกรรมหรือกรรมแล้ว เมื่อเราทุกข์ มันก็จะเตือนให้เราหลีกเลี่ยงการกระทำที่เป็นไปในทางทำลาย ทำไมหรือ ง่าย ๆ ก็คือ การกระทำในทางลบนั้นเป็นสาเหตุของความทุกข์ มันจะกระตุ้นให้เรามีส่วนร่วมอย่างมากขึ้นในการกระทำที่สร้างสรรค์อันเป็นสาเหตุของความสุข

การทนทานต่อความยากลำบากเพื่อประโยชน์แห่งพระธรรม 

ความอดทนประเภทที่สามคือ การอดทนต่อความยากลำบากในการศึกษาและปฏิบัติธรรม มันจะต้องใช้ความพยายามอย่างมากมายมหาศาลในการบรรลุการตรัสรู้ และเราจำเป็นต้องอยู่บนพื้นฐานความจริงในเรื่องนี้เพื่อไม่ให้ท้อแท้ เราจำเป็นต้องอดทนกับตัวเราเอง

มันเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องเข้าใจและยอมรับว่าธรรมชาติของสังสารวัฏมีทั้งขึ้นและลง ไม่ใช่แค่ในแง่ของการเกิดใหม่ที่สูงกว่าและต่ำกว่าเท่านั้นแต่ในลักษณะโดยทั่วไปและตลอดเวลา บางครั้งเรารู้สึกอยากปฏิบัติและบางครั้งเราก็รู้สึกไม่อยากปฏิบัติ บางครั้งการปฏิบัติของเราเป็นไปด้วยดีและบางครั้งก็ไม่ดี เราจะควรคาดหวังอะไรอีก ในที่สุดมันก็คือสังสารวัฏ มันจะไม่ดีขึ้น ๆ เรื่อย ๆ ทุกวัน ดังนั้น เราจะต้องอดทนและไม่ยอมแพ้เมื่อวันหนึ่งมันไม่เป็นไปตามแผนที่เราวางไว้ บางทีเราอาจคิดว่า เราจัดการกับความโกรธได้แล้วและจะไม่โกรธอีก แต่จู่ ๆ ก็มีบางอย่างเกิดขึ้นและเราก็โกรธ ซึ่งมันก็จะเกิดขึ้นได้ เราจะไม่กำจัดความโกรธออกไปได้ทั้งหมดจนกว่าเราจะได้รับการปลดปล่อยให้เป็นอิสระเป็นอรหันต์เสียก่อน ดังนั้น ความอดทนจึงเป็นกุญแจสำคัญ

ศานติเทวะกับการพัฒนาความอดทน

ท่านศานติเทวะอธิบายถึงวิธีการหลายวิธีในการพัฒนาความอดทนใน การลงมือในพฤติกรรมของพระโพธิสัตว์ มาดูกันสักสองสามตัวอย่างดังนี้

ถ้าไฟไหม้มือเรา เราจะไม่โกรธที่ไฟร้อน เพราะนั่นคือธรรมชาติของไฟ ในทำนองเดียวกัน แล้วเราจะสามารถคาดหวังอะไรจากสังสารวัฏได้ แน่นอนว่า ผู้คนจะทำให้เราผิดหวัง ผู้คนจะทำให้เราเจ็บปวด และสิ่งต่าง ๆ ก็จะยากลำบาก ถ้าเราขอให้ใครทำอะไรบางอย่างให้เรา เราก็ควรจะคาดหวังว่าพวกเขาจะทำอย่างไม่ถูกต้อง ถ้าพวกเขาไม่ทำในแบบที่เราชอบแล้ว มันเป็นความผิดของใคร มันก็เป็นความผิดของเราเองที่ขี้เกียจทำเองและขอให้คนอื่นทำให้ ถ้าเราจะโกรธใคร เราก็ควรจะโกรธความเกียจคร้านของเราเอง!

วลีที่ว่า “เราจะคาดหวังอะไรจากสังสารวัฏ” เป็นวลีที่มีประโยชน์ที่ควรจดจำสำหรับความอดทนประเภทต่าง ๆ ที่เราต้องพัฒนา  เราคิดหรือว่า ชีวิตจะง่ายและทุกอย่างจะออกมาดีเสมอไปและตลอดไป ธรรมชาติของทุกชั่วขณะของชีวิตเราคือสังสารวัฏ และนั่นเท่ากับความทุกข์และปัญหาจะเกิดขึ้นซ้ำอีกอย่างควบคุมไม่ได้ ฉะนั้นแล้ว เมื่อสิ่งต่าง ๆ ไม่เป็นไปตามที่เราต้องการ หรือมีคนทำร้าย หรือทำให้เราผิดหวัง ก็อย่าแปลกใจ เราจะคาดหวังอะไรอีก นี่คือเหตุผลว่า ทำไมเราต้องการออกไปจากมัน

มันเหมือนกับการบ่นว่า ฤดูหนาวอากาศหนาวและมืดมาก แล้วเราคาดหวังอะไรจากฤดูหนาว เราคาดว่ามันจะสวยงาม อบอุ่นและเราจะสามารถอาบแดดได้อย่างนั้นหรือ! ก็เช่นเดียวกับธรรมชาติของไฟที่ร้อน ถ้าเรายื่นมือเราเข้าไปในเปลวไฟ มือเราก็จะถูกเผา ฤดูหนาวมันก็จะมืดและหนาวเท่านั้นเอง ดังนั้น มันจึงไม่มีประโยชน์ที่จะโกรธ

อีกวิธีหนึ่งที่ท่านศานติเทวะแนะนำคือ การมองคนอื่นราวกับว่าพวกเขาเป็นคนบ้าหรือเป็นเด็กทารก ถ้าคนบ้าหรือคนเมาตะโกนใส่เรา เราก็จะยิ่งบ้าไปใหญ่ถ้าเราตะโกนกลับใส่พวกเขา ถ้าลูกอายุสองขวบของเรากรีดร้องว่า “หนูเกลียดพ่อแม่ !” เมื่อเราปิดโทรทัศน์และพาพวกเขาเข้านอน เราจะโกรธและไม่พอใจที่ลูกเกลียดเราอย่างจริงจังอย่างนั้นหรือ มันก็ไม่ใช่ เพราะลูกยังเป็นเด็ก หากเราสามารถมองคนอื่นที่ทำตัวแย่ ๆ เหมือนว่าพวกเขาเป็นเด็กอารมณ์ไม่ดี หรือเป็นคนบ้า มันจะช่วยให้เราไม่โกรธพวกเขาได้จริง ๆ

นอกจากนี้ หากมีคนทำให้เรารู้สึกลำบากมาก ๆ การมองพวกเขาเป็นครูของเราก็จะเป็นประโยชน์มาก เราต่างก็มีคนที่น่ารำคาญมากอยู่สักหนึ่งคนที่ดูเหมือนจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ใช่ไหม ถ้าอย่างนั้นแล้ว เมื่อเราอยู่กับคน ๆ นั้น เราก็ควรคิดว่า “คนนี้คือครูแห่งความอดทนของฉัน” อันที่จริง ถ้าผู้คนไม่ทำให้เรารำคาญ หรือทำให้เราลำบาก เราก็จะไม่สามารถเรียนรู้ถึงความอดทนได้ เราไม่เคยถูกท้าทาย ดังนั้น เราจึงอาจเห็นได้ว่าคนเหล่านี้ใจดีมากที่ให้โอกาสเหล่านี้แก่เรา สมเด็จองค์ดาไลลามะมักกล่าวเสมอว่า ผู้นำจีนเป็นครูของเขา และเหมา เจ๋อตง ก็เป็นครูของความอดทนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของท่าน

บทสรุป 

ทุก ๆ วันที่เราติดอยู่ในสังสารวัฏ เราจะพบกับปัญหาและความผิดหวัง บางครั้งสิ่งต่าง ๆ ก็เป็นไปอย่างที่เราต้องการ และบางครั้งชีวิตก็ดูเหมือนควบคุมไม่ได้ ทุกสิ่งที่เราทำมีโอกาสที่จะผิดพลาดได้ เพื่อนทุกคนที่เรามีโอกาสรู้จักก็มีโอกาสที่จะกลายเป็นศัตรูได้ ไม่ว่าเราจะช่วยเพื่อนที่ดีที่สุดของเรามากแค่ไหนก็ตาม สุดท้ายมันอาจจบลงตรงที่พวกเขาอาจพูดอะไรที่แย่ ๆ เกี่ยวกับเราลับหลังได้

ในสถานการณ์เหล่านี้ ดูเหมือนเป็นเรื่องธรรมดาที่จะเกิดความโกรธ ซึ่งทำให้เราเชื่อว่าเมื่อเราทำลายศัตรูของเราแล้ว เราจะได้รับความสงบทางจิตใจอย่างที่เราต้องการ น่าเสียดายที่แม้ว่าเราจะทำลายศัตรูตัวสำคัญของเราในวันนี้ พรุ่งนี้ และวันถัดไปได้ แต่หลังจากนั้นศัตรูตัวใหม่ ๆ ก็จะปรากฏขึ้น ท่านศานติเทวะแนะนำให้เราปกปิดเท้าของตัวเองด้วยหนัง แทนที่จะพยายามปกปิดทั้งโลกด้วยหนัง กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ มันไม่มีประโยชน์ที่จะพยายามเอาชนะศัตรูภายนอกทั้งหมดของเราเมื่อสิ่งที่เราต้องทำทั้งหมดคือทำลายศัตรูภายในของเราเอง ซึ่งนั่นก็คือความโกรธ หนังในที่นี้หมายถึงความอดทนที่เป็นประตูที่จะนำเราไปสู่การแบกรับความยากลำบากต่าง ๆ ที่คนอื่นมอบให้เรา และนั่นเป็นสิ่งที่เราจะได้พบบนเส้นทางแห่งการหลุดพ้น

Top