บทนำ
ทัศนคติที่กว้างไกลประการที่ 2 ในหกประการ (ความสมบูรณ์แบบ) คือ การมีวินัยในตนเองตามหลักจริยธรรม สิ่งนี้ไม่ใช่ระเบียบวินัยแบบที่จำเป็นสำหรับการเรียนรู้เครื่องดนตรีหรือความเป็นเลิศในการกีฬา แต่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมทางจริยธรรมของเรา นอกจากนี้ยังไม่เกี่ยวข้องกับการควบคุมคนอื่น การฝึกสุนัขของคุณ หรือการควบคุมคนในกองทัพ เรากำลังพูดถึงแค่วินัยของเราเองเท่านั้น ซึ่งมีอยู่ 3 ประเภท
ละเว้นจากการกระทำที่เป็นการทำลาย
วินัยในตนเองตามหลักจริยธรรมประเภทแรกคือ การละเว้นจากการกระทำที่เป็นการทำลาย อันได้แก่ วิธีการที่เราทำ พูด และคิด ซึ่งโดยทั่วไปหมายความว่า เราละเว้นจากการกระทำที่เป็นการทำลาย 10 ประเภท เช่น การฆ่า การขโมย การโกหก เป็นต้น และหากเราได้ปฏิญาณตนว่าจะหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่อาจขัดขวางการพัฒนาทางศาสนาของเราแล้ว เราก็จะรักษาคำปฏิญาณเหล่านี้
เมื่อเราพูดถึงการหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่เป็นการทำลาย มันก็จะมีอยู่สองประเภท ประเภทแรกคือ พฤติกรรมที่ทำลายตามธรรมชาติอย่างเช่นการฆ่าและการขโมยที่ง่ายต่อการทำความเข้าใจ จากนั้นก็จะมีพฤติกรรมที่อาจไม่เป็นการทำลายในตัวเอง แต่พระพุทธเจ้าตรัสว่าควรหลีกเลี่ยงสำหรับบางคน หรือบางเวลา ตัวอย่างเช่น พระและแม่ชีควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารในเวลากลางคืน แต่นี่ไม่ได้เอาไปใช้กับทุกคน กฎนี้มาจากข้อเท็จจริงที่ว่า หากเราต้องการมีจิตใจที่ปลอดโปร่งในตอนกลางคืนและตอนเช้าเพื่อที่จะทำสมาธิ ดังนั้นแล้วง่าย ๆ ก็คือ ไม่ควรกินอาหารตอนกลางคืน อีกตัวอย่างหนึ่งคือ คำแนะนำที่ไม่ให้พระหรือแม่ชีไว้ผมยาว ก็เพราะการทำเช่นนั้นจะเพิ่มความยึดติดกับความงามของตัวเอง และยังเสียเวลาจัดทรงทุกวันอีกด้วย! เห็นได้ชัดว่าคำแนะนำนี้ไม่เหมาะกับทุกคน แต่ใช้เฉพาะกับพระและแม่ชีเท่านั้น
ลงมือในการกระทำที่สร้างสรรค์
การมีวินัยในตนเองตามหลักจริยธรรมประเภทที่สองคือ การลงมือในการกระทำที่สร้างสรรค์เชิงบวก ซึ่งจะสร้างพลังเชิงบวกที่เราต้องการเพื่อให้บรรลุการตรัสรู้ นั่นหมายถึงการมีวินัยที่จะไปสู่คำสอนแล้วศึกษา พิจารณา และไตร่ตรองในตัวพระธรรมนั้น รวมทั้งการปฏิบัติ งอนโดร (ngondro) ของเราให้สมบูรณ์ (คือ การปฏิบัติเบื้องต้นเพื่อไปสู่การปฏิบัติตันตระขั้นสูง) เช่น การหมอบกราบ การบูชา และอื่น ๆ
ขอย้ำอีกครั้งว่า การมีวินัยในตนเองตามหลักจริยธรรมคือสภาพจิตใจมากกว่าพฤติกรรมจริง เป็นระเบียบวินัยที่มาจากจิตใจของเราและเป็นตัวกำหนดพฤติกรรมของเรา เป็นการตรวจสอบให้แน่ใจว่าเรามีลงมือในสิ่งที่ดี และละเว้นจากพฤติกรรมที่เป็นการทำลายและไม่เหมาะสม หากปราศจากระเบียบวินัยนี้ เราจะควบคุมตัวเองไม่ได้โดยสิ้นเชิงและตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของอารมณ์ที่รบกวนได้ง่าย
การมีวินัยในตนเองตามหลักจริยธรรมตั้งอยู่บนพื้นฐานของการแยกแยะและการรับรู้ที่แยกแยะ ในการละเว้นจากการกระทำที่เป็นไปในทางทำลาย เราจะแยกแยะและมีความเด็ดขาดเกี่ยวกับข้อเสียของการกระทำที่เป็นไปในทางทำลาย ด้วยการลงมือในพฤติกรรมเชิงบวก เราแยกแยะประโยชน์การทำสมาธิ การปฏิบัติเบื้องต้น และอื่น ๆ ด้วยการแยกแยะ เราจะรู้โดยอัตโนมัติว่าจะต้องปฏิบัติตนอย่างไรและมีความมั่นใจเกี่ยวกับเรื่องนี้
พัฒนาเพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น
การมีวินัยในตนเองตามหลักจริยธรรมประเภทที่สามคือ การพัฒนาเพื่อให้เป็นประโยชน์และช่วยเหลือผู้อื่นอย่างแท้จริง ที่นี่เรามีการแยกแยะประโยชน์ของการช่วยเหลือผู้อื่น และการละเว้นไม่ช่วยเหลือพวกเขา เพราะเราไม่มีอารมณ์ที่จะทำ หรือไม่ชอบใครบางคนเป็นพิเศษ
มีหลายแง่มุมที่เกี่ยวข้องกับการช่วยเหลือผู้อื่น แต่โดยทั่วไปแล้ว เรามีวินัยในการลงมือในสิ่งที่เรียกว่า “วิธีการทั้งสี่ในการรวบรวมผู้อื่นภายใต้อิทธิพลเชิงบวกของเรา” กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ เราปฏิบัติตนในรูปแบบที่ทำให้ผู้อื่นเปิดรับเรามากขึ้นเพื่อที่เราจะได้สอนพวกเขาในสิ่งที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น
วิธีการทั้งสี่นี้ได้แก่
- มีความเอื้อเฟื้อ
- พูดจาในลักษณะเป็นที่น่าพอใจ
- กระตุ้นให้ผู้อื่นบรรลุเป้าหมายของพวกเขา
- ปฏิบัติตนให้สอดคล้องกับเป้าหมายเหล่านี้
คำสอนเกี่ยวกับทัศนคติที่กว้างไกล 6 ประการระบุรายการประเภทของบุคคลไว้ 11 ประเภทที่เราต้องทำงานหนักเป็นพิเศษเพื่อพยายามช่วยเหลือและทำประโยชน์แก่พวกเขา เราไม่ควรคิดว่ามันเป็นเพียงแค่รายการเท่านั้น แต่เป็นการสอนที่เฉพาะพิเศษมากเพื่อช่วยเหลือคนเหล่านี้เมื่อเราเจอพวกเขาแทนที่จะเพิกเฉยต่อพวกเขา
- ผู้ที่มีความทุกข์
- ผู้ที่สับสนเกี่ยวกับวิธีการช่วยเหลือตัวเอง
- ผู้ที่ได้ช่วยเหลือเรา
- ผู้ที่เต็มไปด้วยความกลัว
- ผู้ที่เอาชนะด้วยความเศร้าโศกทางจิตใจ
- ผู้ที่ยากจนและยากไร้
- ผู้ที่ยึดติดกับเรา
- ผู้ที่เราสามารถช่วยเหลือได้ตามความปรารถนาของพวกเขา
- ผู้ที่ใช้ชีวิตอย่างซื่อตรง
- ผู้ที่ใช้ชีวิตเป็นไปในทางทำลาย
- ผู้ที่ต้องการให้เราใช้ความสามารถพิเศษที่เราอาจมี
ศานติเทวะกับการมีวินัยในตนเองตามหลักจริยธรรม
ท่านศานติเทวะกล่าวถึงการมีวินัยในตนเองตามหลักจริยธรรมในเนื้อหาสองบทที่เขียนไว้ใน การลงมือในพฤติกรรมของพระโพธิสัตว์ (Engaging in Bodhisattva Behavior) บทแรกเรียกว่า “ทัศนคติที่ห่วงใย” เป็นพื้นฐานของการมีวินัยในตนเองตามหลักจริยธรรม ซึ่งเราห่วงใยเกี่ยวกับผลกระทบของพฤติกรรมของเรา และห่วงใยว่าจะไม่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของอารมณ์ที่รบกวน เราให้ความสำคัญอย่างจริงจังว่าคนอื่นก็มีความรู้สึกเช่นกัน และถ้าเรากระทำการที่เป็นการทำลาย เราก็จะทำร้ายพวกเขา เราห่วงใยผลลัพธ์ของพฤติกรรมของเราที่มีต่อตัวเราในอนาคต ทั้งหมดนี้สร้างพื้นฐานการมีวินัยในตนเองตามหลักจริยธรรม ถ้าเราไม่ห่วงใยว่าจะทำร้ายผู้อื่นหรืออนาคตของเราเองจริง ๆ แล้ว เราก็จะไม่รู้สึกว่ามีความจำเป็นที่จะต้องปฏิบัติตนตามหลักจริยธรรม
ในหลายภาษา ทัศนคติที่ห่วงใยนี้เป็นคำที่แปลยากมาก มันรวมถึงการห่วงใย และดังนั้นจึงจะต้องระมัดระวังในการกระทำของเรา แต่ยังหมายรวมถึงสิ่งที่ตามมาด้วย ซึ่งเป็นการคำนึงถึงผลกระทบของพฤติกรรมของเราที่มีต่อตนเองและผู้อื่นอย่างจริงจัง
บทที่สองที่ท่านศานติเทวะอุทิศให้กับหัวข้อนี้เกี่ยวข้องกับสติและความตื่นตัว สติคือสภาพจิตใจที่รักษาการควบคุมจิตใจมีวินัย ไม่ยอมจำนนต่ออารมณ์ที่รบกวน มันเป็นกาวใจที่ยึดติดกับวินัยนั้น อย่างเช่น เมื่อเราผ่านร้านเบเกอรี่ขณะที่เราลดน้ำหนัก แล้วเห็นเค้กโปรดของเรา แต่เราก็ยับยั้งตัวเราได้ เราไม่ปล่อยการลดน้ำหนักไป “ฉันจะไม่ซื้อเค้กก้อนนั้นภายใต้อิทธิพลของความโลภและความยึดติด” นี่เป็นเพราะการมีสติ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมากในการมีวินัยตามหลักจริยธรรม ด้วยความตื่นตัว เราจะระวังเมื่อเราเริ่มจะวอกแวกไม่มั่นคงจากการทานอาหารของเรา และพูดว่า “อืม ก็แค่เค้กชิ้นเล็ก ๆ เท่านั้น !” การตื่นตัวของเราจะส่งเสียงเตือนจากภายในเพื่อให้เราละเว้น และกลับสู่การควบคุมตนเอง เราจำเป็นต้องระวังสิ่งเหล่านี้ สติและความตื่นตัวเป็นสิ่งที่สนับสนุนวินัยทางจริยธรรม สิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องมือที่เราสามารถใช้รักษาวินัยของเราและใช้พัฒนาสมาธิต่อมาในภายหลังได้
สุดท้าย ท่านศานติเทวะชี้ให้เห็นถึงปัจจัยสามประการที่ช่วยให้เราพัฒนาและรักษาสติ
- ใช้เวลากับอาจารย์ของเรา ถ้าเราไม่สามารถทำได้ เราสามารถคิดได้ว่าเราอยู่ต่อหน้าพวกท่าน ถ้าเราอยู่ต่อหน้าพวกท่าน เราก็จะไม่ทำตัวโง่เขลา หรือทำอะไรที่เป็นไปในทางทำลาย เพราะเราเคารพพวกท่าน คิดว่า “ฉันจะทำเช่นนี้หรือพูดสิ่งเหล่านี้ต่อหน้าครูอาจารย์ของฉันหรือไม่” ถ้าเราจะไม่ทำเช่นนั้น ท่านศานติเทวะ แนะนำให้เรา “เป็นเหมือนท่อนไม้” ก็แค่ไม่ทำมันเท่านั้นเอง มันจะช่วยให้เรามีสติ เห็นได้ชัดว่าถ้าเราทานอาหารเย็นกับครู เราก็จะไม่กินอย่างมูมมามหรือตะโกนใส่ใคร
- ปฏิบัติตามคำแนะนำและการสอนของอาจารย์ของเรา การพยายามจำสิ่งที่พวกท่านพูดจะช่วยให้เรามีสติ
- ประหวั่นต่อผลลัพธ์ที่ตามมาของการไม่มีสติ ไม่ใช่ว่าเรากลัว แต่เราไม่ต้องการสัมผัสกับผลกระทบของการไม่มีสติที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของศักดิ์ศรีและคุณค่าในตนเอง เราคิดถึงตัวเองในแง่ดีมากพอแล้วว่าเราไม่ต้องการแค่ค่อย ๆ ตกต่ำไปเรื่อย ๆ จากการกระทำที่อยู่ภายใต้อิทธิพลของความโกรธ ความโลภ และอื่น ๆ
เมื่อจับมือร่วมกันปฏิบัติตามข้างต้น เราจำเป็นต้องพัฒนาความรู้สึกความน่าเกรงขามที่มีต่ออาจารย์ของเรา “ความน่าเกรงขาม” เป็นคำที่เข้าใจยาก ไม่ได้หมายความว่าเราจะกลัวอาจารย์ของเราแต่อย่างใด ราวกับว่าพวกท่านกำลังจะดุด่าเรา ความน่าเกรงขามบอกเป็นนัยว่าเราเคารพอาจารย์ของเราและศาสนาพุทธมากจนมันทำให้เรารู้สึกแย่มากหากพฤติกรรมเชิงลบของเราสะท้อนไปถึงพวกท่านอย่างรุนแรง เรากลัวว่ามันจะเลวร้ายแค่ไหน ถ้าคนคิดว่า "โอ้ ลูกศิษย์ของอาจารย์องค์นี้ทำตัวแบบนี้เหรอ" หรือ “คุณเป็นชาวพุทธไม่ใช่หรือ! แต่คุณยังคงเมา ต่อสู้ และโกรธ” ด้วยความรู้สึกของความน่าเกรงขามและความเคารพ เรารักษาสติ และปฏิบัติให้สอดคล้องตามวินัยทางจริยธรรม
บทสรุป
เราทุกคนเคยประสบกับความจริงที่ว่า การมีวินัยเป็นองค์ประกอบที่สำคัญอย่างยิ่งในการสร้างความก้าวหน้าในชีวิตของเรา ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้ตัวอักษร เรียนเพื่อสอบ หรือพยายามลดน้ำหนัก หากไม่มีวินัยก็ยากที่จะพัฒนาได้
มันตรงกันกับการปฏิบัติทางพุทธศาสนาที่เราต้องมีวินัยในแง่ของพฤติกรรมของเราเพื่อที่จะให้เกิดความก้าวหน้าบนเส้นทางนั้น หากเราห่วงใยตัวเองและผู้อื่น ดังนั้นแล้ว การมีวินัยในตนเองตามหลักจริยธรรมก็ไม่ใช่ความคิดที่ไกลตัว แต่เป็นเรื่องของสามัญสำนึกตามปกติธรรมดา ในการปลูกฝังพฤติกรรมที่สร้างสรรค์อย่างรอบคอบและพยายามอย่างเต็มที่ที่จะไม่ทำร้ายผู้อื่น เราสร้างพื้นฐานและสาเหตุของการมีความสุขในตอนนี้และพรุ่งนี้มากขึ้นกว่าเดิม