การฝึกปฏิบัติทางพุทธศาสนาขั้นพื้นฐาน เป็นการฝึกฝนตนเอง 3 อย่าง เราสามารถฝึกฝน เพื่อเอาชนะปัญหาและความทุกข์ทรมานของตนเองได้ เพราะเราเป็นกังวลต่อความอยู่ดีมีสุขของเราเอง หรือ เราก็สามารถฝึกฝนตนเองในสิ่งเหล่านั้นด้วยความรักและความเมตตากรุณา เพื่อทำประโยชน์ให้กับผู้อื่นได้มากขึ้น
การฝึกฝนทั้ง 3 ประการ มีอะไรบ้าง
- วินัยทางจริยธรรมหรือศีล คือ ความสามารถในการละเว้นจากพฤติกรรมที่ก้าวร้าวและชอบทำลาย วิธีที่เราจะปรับปรุงพัฒนาสิ่งนี้ให้ดีขึ้นได้ก็คือ การมีส่วนร่วมในพฤติกรรมที่สร้างสรรค์ การฝึกฝนอย่างแรกนี้ เป็นการฝึกการมีวินัยในตนเอง ไม่ใช่การพยายามฝึกวินัยผู้อื่น
- สมาธิ คือ ความสามารถในการตั้งมั่นจดจ่อจิตใจของเรา เพื่อที่เราจะได้ไม่หลงไปกับความคิดนอกเรื่องต่าง ๆ ของเรา ทำให้จิตใจของเราฉลาด หลักแหลม และมีสมาธิ ไม่ขุ่นมัว นอกจากความมั่นคงทางจิตใจแล้ว ยังจำเป็นที่จะต้องพัฒนาความมั่นคงทางอารมณ์ด้วย เพื่อที่ว่าจิตใจของเราจะไม่ถูกครอบงำด้วยความโกรธ การผูกติดยึดติด ความหึงหวง เป็นต้น
- การแยกแยะการรับรู้ที่แท้จริง คือ ความสามารถในการแยกแยะหรือแยกความแตกต่างระหว่างอะไรที่ควรรับเอามาปฏิบัติกับอะไรที่ควรทิ้งไป ไม่ปฏิบัติ เช่นเดียวกับตอนที่คุณไปซื้อผัก คุณแยกแยะว่า “เอ่ออันนี้ดูไม่ดี แต่อันนี้ดูดีมาก” ณ ตรงนี้ เป็นการแยกแยะในแง่ของพฤติกรรมคือ อะไรที่ไม่เหมาะสมและอะไรที่เหมาะสม ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของเราและคนที่เราอยู่ด้วย ถ้าในระดับที่ลึกซึ้งลงไปอีก เราจะแยกแยะระหว่างอะไรที่เป็นความจริง กับอะไรที่เป็นเพียงการคาดคะเนจากจินตนาการของเราเท่านั้น
พุทธศาสตร์ พุทธปรัชญา และศาสนาพุทธ
ไม่ว่าการฝึกฝนทั้ง 3 ประการจะเป็นไปเพื่อประโยชน์ของตัวเราเอง หรือเพื่อประโยชน์ของผู้อื่น เราสามารถเข้าถึงและทำความเข้าใจแต่ละอย่างนี้ได้จากสองมุมมอง ซึ่งทั้งได้มาจากสมเด็จองค์ดาไลลามะที่กล่าวกับผู้ฟังทั่วไป ท่านอธิบายว่า ศาสนาพุทธมีอยู่ 3 ส่วนคือ พุทธศาสตร์ พุทธปรัชญา และศาสนาพุทธ
พุทธศาสตร์ ส่วนใหญ่หมายถึง วิทยาศาสตร์ทางด้านจิตใจว่า มันทำงานอย่างไร อารมณ์ของเรา และสิ่งที่องค์ดาไลลามะชอบเรียกว่า สุขอนามัยทางจิตและทางอารมณ์ ศาสนาพุทธมีการวิเคราะห์อย่างละเอียดเกี่ยวกับสภาวะทางอารมณ์ต่าง ๆ และวิธีการทำงาน และการเกิดขึ้นร่วมกันของสิ่งเหล่านั้น
พุทธศาสตร์ยังได้รวมถึงสิ่งต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ด้วย
- วิทยาศาสตร์การรับรู้ กล่าวถึงการทำงานของการรับรู้ของเราว่าทำงานอย่างไร ธรรมชาติของการรับรู้ และวิธีการฝึกฝนต่าง ๆ ที่จะช่วยให้เราสามารถพัฒนาสมาธิได้
- ทฤษฎีการกำเนิดจักรวาล กล่าวถึงการวิเคราะห์อย่างละเอียดของการกำเนิด การคงอยู่ และการสิ้นสุดของจักรวาล
- สสาร กล่าวถึงการวิเคราะห์อย่างละเอียดว่าสสาร พลังงาน อนุภาคย่อยของอะตอม และอื่น ๆ ทำงานอย่างไร
- การแพทย์ กล่าวถึงเรื่องของพลังงานภายในร่างกายว่ามีการทำงานอย่างไร
ทุกคนสามารถศึกษา เรียนรู้ และได้รับประโยชน์จากหัวข้อดังกล่าวข้างต้นได้ องค์ดาไลลามะมักจะสนทนากับนักวิทยาศาสตร์ในหัวเรื่องเหล่านี้อยู่บ่อย ๆ
ส่วนที่สองคือ พุทธปรัชญา อันได้แก่
- จริยธรรมหรือหลักศีลธรรม มีการอภิปรายพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องคุณค่าของมนุษย์ขั้นพื้นฐาน เช่น ความเมตตาและความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ไม่จำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับศาสนาใด ๆ และทุกคนสามารถได้รับประโยชน์จากสิ่งเหล่านี้เช่นเดียวกัน
- หลักเหตุผล (ตรรกศาสตร์) และปรัชญาว่าด้วยความจริงในธรรมชาติ (อภิปรัชญา) มีการนำเสนอรายละเอียดเกี่ยวกับทฤษฎีเซต สิ่งที่เป็นสากล รายละเอียด คุณสมบัติ คุณลักษณะ และอื่น ๆ ว่าสิ่งเหล่านี้มีการทำงานร่วมกันอย่างไร และเรารู้จักมันได้อย่างไร
- เหตุและผล กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างเหตุและผล ความเป็นจริง และการคาดคะเนของเราบิดเบือนความเป็นจริงอย่างไร
ย้ำอีกครั้งนะว่า พุทธปรัชญาไม่ได้จำกัดแค่สำหรับชาวพุทธเท่านั้น แต่เป็นประโยชน์สำหรับทุกคน
ส่วนที่สามคือ ศาสนาพุทธ จะรวมถึงขอบเขตที่แท้จริงของการฝึกปฏิบัติตนทางพุทธศาสนา รวมทั้งเรื่องของกรรม การเกิดใหม่ การประกอบพิธีกรรม และการสวดมนต์ เป็นต้น ซึ่งเป็นเรื่องเฉพาะสำหรับผู้ที่เดินตามเส้นทางของชาวพุทธ
การฝึกฝนงทั้งสามอย่างนี้ สามารถนำเสนอให้เห็นได้ง่าย ๆ ในแง่ของพุทธศาสตร์และพุทธปรัชญาที่สามารถนำไปใช้ได้และเหมาะสมกับทุกคน หรือสามารถนำเสนอให้เห็นในทั้งมุมมองนั้นและทั้งมุมมองทางศาสนาพุทธด้วย สิ่งนี้สอดคล้องกับมุมมองที่ผมเรียกว่า "ธรรมะซึ่งสามารถเข้าใจได้ง่าย (Dharma-Lite)” และ "ธรรมะที่แท้จริง (The Real Thing Dharma)"
- ธรรมะซึ่งสามารถเข้าใจได้ง่าย เป็นวิธีการฝึกฝนตามพุทธศาสตร์และพุทธปรัชญาเพียงเพื่อการปรับปรุงชีวิตนี้ให้ดีขึ้น
- ธรรมะที่แท้จริง เป็นการนำเอาการฝึกฝนทั้งสามอย่างมาใช้เพื่อบรรลุเป้าหมายทั้งสามทางพุทธศาสนา นั่นคือ การเกิดใหม่ที่ดีกว่า การหลุดพ้นจากการเกิดใหม่ และการตรัสรู้
เมื่อผมพูดถึงธรรมะซึ่งสามารถเข้าใจได้ง่าย มันมักจะอยู่ในแง่ของขั้นตอนเบื้องต้นเพื่อไปสู่ธรรมที่แท้จริง เพราะเราจำเป็นต้องรับรู้ถึงความจำเป็นในการพัฒนาปรับปรุงชีวิตปกติธรรมดาของเราให้ดีขึ้นก่อนที่เราจะสามารถคิดถึงเป้าหมายทางจิตใจต่อไป อย่างไรก็ตาม พุทธศาสตร์และพุทธปรัชญาไม่จำเป็นต้องเป็นขั้นแรกของการไปสู่พุทธศาสนา ฉะนั้นแล้ว เราจึงสามารถดูที่วิธีการฝึกฝนทั้งสามอย่าง เพื่อพัฒนาชีวิตของเราได้ โดยไม่ต้องคำนึงว่า เราจะคิดถึงมันในแง่ที่เป็นขั้นต้นของการไปสู่เส้นทางพุทธศาสนา หรือแค่โดยทั่ว ๆ ไป
อริยสัจ 4 ประการ
ในทางพุทธปรัชญา เราจะเห็นภาพของวิธีการคิดตามแนวทางพุทธศาสนานั้นใช้ได้ผลที่มักจะเรียกกันว่า อริยสัจ 4 ซึ่งเราสามารถคิดถึงสิ่งนี้ในลักษณะของความจริงสี่ประการของชีวิต อันได้แก่
- เมื่อมองดูที่ความทุกข์ทรมานและปัญหาต่าง ๆ ที่เราทุกคนเผชิญอยู่ ดังนั้น ความจริงข้อแรกก็คือ ชีวิตเป็นเรื่องยากลำบาก
- ความจริงข้อที่สองคือ ปัญหาต่าง ๆ ในชีวิตของเรามันเกิดมาจากสาเหตุต่าง ๆ
- ความจริงข้อที่สามคือ เราสามารถหยุดปัญหาเหล่านี้ได้ เราไม่จำเป็นต้องเก็บเงียบและยอมจำนนต่อปัญหา แต่เราสามารถแก้ปัญหาเหล่านั้นได้
- ความจริงข้อที่สี่คือ เราแก้ปัญหาโดยการกำจัดสาเหตุ ซึ่งทำได้โดยการทำตามแนวทางความเข้าใจ ซึ่งให้คำแนะนำเกี่ยวกับวิธีการพูด การกระทำ และอื่น ๆ ไว้
ฉะนั้นแล้ว หากการกระทำ หรือคำพูดของเราทำให้เกิดปัญหา เราก็ต้องเปลี่ยนการกระทำ หรือคำพูดนั้นเสีย การฝึกฝนทั้งสามอย่างนี้เป็นส่วนหนึ่งที่จำเป็นในการกำจัดสาเหตุต่าง ๆ ของปัญหาของเรา วิธีนี้เป็นวิธีที่มีประโยชน์มากในการทำความเข้าใจการฝึกฝนทั้งสามอย่าง เพราะเป็นสิ่งที่ช่วยชี้ให้เห็นว่าทำไมเราถึงต้องฝึกฝนตนเอง ดังนั้น หากเรากำลังมีปัญหาในชีวิต เราจะต้องมองไปที่
- ฉันมีปัญหาเรื่องวินัยทางจริยธรรมหรือศีลธรรมที่มาจากการกระทำและการพูดของฉันรึเปล่า
- ฉันมีปัญหาเรื่องของสมาธิที่ไม่คงที่ ยุ่งเหยิง และอารมณ์ที่ฟุ้งซ่านรึเปล่า
- และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ฉันมีปัญหาเรื่องของการแยกแยะระหว่างความเป็นจริงกับการคาดคะเนที่บ้าของฉันรึเปล่า
เราสามารถนำสิ่งนี้ไปใช้ในชีวิตปกติของเราในชั่วชีวิตนี้ หรืออาจขยายไปใช้กับปัญหาที่เราอาจเผชิญในชาติหน้าก็ได้ ในระดับเริ่มต้น เราควรพิจารณาการฝึกฝนเหล่านี้ในแง่ของชีวิตประจำวันของเราก่อนว่า สิ่งเหล่านี้จะช่วยเราได้อย่างไร เรากำลังทำอะไรที่เป็นสาเหตุของปัญหา เราจะทำอย่างไรเพื่อให้ปัญหาเหล่านั้นลดลง
สาเหตุของความทุกข์
ในมุมมองทางพุทธปรัชญา สาเหตุของความทุกข์ของเรานั้นคือ การไม่รู้ หมายถึงว่า เราไม่รู้ หรือสับสน ไม่เข้าใจสิ่งสองสิ่งโดยเฉพาะ
สิ่งแรกที่เราไม่รู้ก็คือ เหตุและผล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่ของพฤติกรรมของเรา หากเรามีอารมณ์ที่รบกวนจิตใจ เช่น ความโกรธ ความโลภ การผูกติดยึดติด ความถือตัว ความหึงหวง และอื่น ๆ การกระทำของเราก็จะเป็นไปในเชิงทำลาย เราโกรธ และตะโกนใส่ผู้คน เราอิจฉา และพยายามทำร้ายผู้คน เรายึดติดอยู่กับผู้คน ทั้งหมดนี้เป็นสาเหตุทำให้เรามีปัญหา เพราะอารมณ์เหล่านี้ ทำให้เรากระทำการในเชิงทำลายล้างหรือขั้นทำร้ายตัวเอง ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้คือ ความทุกข์
มันจะมีประโยชน์ หากได้รู้คำนิยามของอารมณ์ที่รบกวนจิตใจนั้นว่า มันเป็นสภาวะของจิตใจที่เมื่อเกิดขึ้นจะทำให้จิตใจเราไม่สงบและไม่สามารถควบคุมตนเองได้ เมื่อเราตะโกนใส่คน ๆ หนึ่งด้วยความโกรธ มันอาจทำให้คน ๆ นั้นโกรธ หรือไม่โกรธก็ได้ เขาอาจไม่ได้ยินสิ่งที่เราพูด หรือเขาอาจหัวเราะ และคิดว่าเราโง่ แต่ตัวเราจะสูญเสียความสงบของจิตใจ และก็จะทำให้เราอารมณ์เสีย ซึ่งมันอาจอยู่กับเราแม้หลังจากที่เราหยุดตะโกนแล้วก็ตาม มันเป็นประสบการณ์ที่ไม่น่ายินดีเลย และเนื่องจากเราไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ เราอาจพูดในสิ่งที่อาจทำให้เราเสียใจในภายหลังได้
สาเหตุที่ทำให้เราทำแบบนี้ เพราะ
- เราไม่เข้าใจเหตุและผลที่แท้จริง เรามักจะไม่เข้าใจว่า ถ้าเรากระทำสิ่งใดภายใต้อิทธิพลของอารมณ์ที่รบกวนจิตใจ จะส่งผลให้เราไม่มีความสุข
- หรือเราสับสนเกี่ยวกับเหตุและผล และเข้าใจเรื่องนี้ไปในทางตรงกันข้าม เรามักจะคิดว่า “ถ้าฉันตะโกนใส่คนคนนี้แล้ว มันจะทำให้ฉันรู้สึกดีขึ้น” ซึ่งแน่นอนว่ามันไม่เป็นเช่นนั้น หรือเมื่อเรารักชอบใครสักคน เราอาจพูดว่า “ทำไมคุณไม่โทรหาให้บ่อยขึ้น หรือมาเยี่ยมฉันให้บ่อยขึ้น” การกระทำเหล่านี้ยิ่งทำให้คนเหล่านั้นไม่อยากอยู่ใกล้เราใช่ไหมล่ะ เราทำในสิ่งที่เราต้องการไม่สำเร็จ เพราะเราสับสนเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างเหตุและผลว่ามันทำงานอย่างไรนั่นเอง
ความไม่รู้ประเภทที่สองคือ ความไม่รู้เกี่ยวกับความเป็นจริงของสิ่งต่าง ๆ เนื่องจากเราสับสนเกี่ยวกับความเป็นจริง เราจึงมีทัศนคติที่รบกวนจิตใจ ตัวอย่างในเรื่องนี้คือ การหมกมุ่นกับตัวเอง ซึ่งเรามักจะคิดถึงฉัน ตัวฉันและตัวฉันเอง อาจเป็นการด่วนตัดสินอย่างมาก ซึ่งอาจนำไปสู่อาการของโรคที่ทำให้รู้สึกว่า เราต้องสมบูรณ์แบบ แม้ว่าเราจะทำอย่างสร้างสรรค์ พยายามที่จะเป็นคนที่สมบูรณ์แบบหรือเพอร์เฟค ทำทุกอย่างตามลำดับขั้นตอนเป็นระเบียบเรียบ แต่มันจะกลายเป็นการบีบบังคับตัวเอง เราอาจมีความสุขเพียงชั่วคราว แต่มันก็จะเปลี่ยนไปเป็นความไม่พอใจอย่างรวดเร็ว เพราะเรายังคงคิดว่า "ฉันไม่ดีพอ" และผลักดันเพื่อปรับปรุงตัวเองไปเรื่อย ๆ
ยกตัวอย่างคนที่บ้าทำความสะอาด สมบูรณ์แบบสุด ๆ เมื่อพูดถึงการทำความสะอาดบ้าน คนแบบนี้อยู่ภายใต้ความเข้าใจผิดที่ว่า ตนเองสามารถควบคุมทุกอย่างได้ ทำให้มันสะอาดและเป็นระเบียบได้ แต่มันเป็นไปไม่ได้! คุณทำทุกอย่างให้มันสะอาด สมบูรณ์แบบ คุณรู้สึกดี จากนั้น พอเด็ก ๆ กลับมาบ้าน และทำทุกอย่างรก คุณก็ไม่พอใจ และต้องทำความสะอาดอีกครั้ง ซึ่งจะกลายเป็นการกดดันบังคับตัวเองไปเสีย และทุกครั้งที่คุณรู้สึกมีความสุขเล็กน้อยว่า “ฮ้า ทุกอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อยแล้ว” ความรู้สึกเหล่านี้จะหายไปได้อย่างรวดเร็ว เพราะมันจะมีจุดที่คุณพลาดไม่ได้ทำให้สมบูรณ์เกิดขึ้นอยู่เสมอ!
หากภาวะจิตใจคิดแบบนี้ซ้ำ ๆ ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์หรือทัศนคติที่รบกวนจิตใจ และผ่านการกระทำที่ซ้ำซากเชิงบีบบังคับเช่นนี้ สิ่งที่คุณจะได้รับคือ “ความทุกข์ที่แพร่กระจายไปทั่ว” มันเป็นวิธีที่เราสร้างนิสัยขึ้นมา ซึ่งจริง ๆ แล้ว ก็เพื่อทำให้ปัญหาของเรามีอยู่ต่อไป
มันไม่เพียงแต่จะส่งผลกระทบต่อจิตใจของเราเท่านั้น แต่ยังมีผลต่อร่างกายเราด้วย ตัวอย่างเช่น ถ้าเราโกรธอยู่ตลอดเวลา เราก็จะมีความดันโลหิตสูง และจากนั้นก็จะเกิดแผลในกระเพาะอาหารอันเนื่องมาจากความกังวล และอื่น ๆ หรือถ้าคุณเป็นคนที่บ้าทำความสะอาด ก็ยากที่จะผ่อนคลาย คุณจะเครียดอยู่เสมอ เพราะทุกอย่างต้องสมบูรณ์แบบ แต่มันไม่เคยมีอะไรที่สมบูรณ์แบบ
การฝึกฝนทั้งสามประการช่วยขจัดสาเหตุของปัญหาของเราได้อย่างไร
สิ่งที่เราต้องการจริง ๆ คือ การฝึกฝนสามอย่างนี้ ได้แก่
- เราต้องการ การแยกแยะการรับรู้ที่แท้จริง เพื่อกำจัดความสับสนของเรา ตัวอย่างเช่น เมื่อมันเป็นเรื่องของการบ้าทำความสะอาดที่คุณมีจินตนาการว่า "ทุกอย่างต้องสมบูรณ์แบบ สะอาดอยู่เสมอ และฉันต้องควบคุมทุกอย่าง" คุณก็แทนที่มันด้วย "แน่นอนว่า บ้านของฉันย่อมจะสกปรกได้ ไม่มีใครควบคุมสิ่งนี้ได้หรอก” คุณจะผ่อนคลายมากขึ้น เพราะคุณยังคงทำความสะอาดบ้าน แต่ก็รู้ว่า คุณไม่จำเป็นต้องครอบงำอยู่กับมัน คัมภีร์โบราณ ก็จะยกตัวอย่างของการตัดต้นไม้ด้วยขวานที่คม
- เพื่อที่จะตัดต้นไม้ลงด้วยขวานนี้ เราจำเป็นต้องฟันขวานลงไปที่ตรงจุดเดิมซ้ำ ๆ อย่างสม่ำเสมอ นั่นคือ การมีสมาธิ หากจิตใจของเราวอกแวกอยู่ตลอดเวลา เราก็จะไม่มีการแยกแยะการรับรู้ที่แท้จริงได้ ดังนั้น เราต้องมีสมาธิ เพื่อที่ว่า เราจะได้ฟันขวานลงไปที่ตรงจุดเดิมตลอดเวลา
- การใช้ขวานนี้ต้องอาศัยพละกำลัง ถ้าเราไม่มีกำลัง เราก็ไม่สามารถแม้แต่จะหยิบขวานขึ้นมาได้ ซึ่งพละกำลังความแข็งแรงนี้มาจาก การมีวินัยในตนเองตามหลักจริยธรรม นั่นเอง
เช่นนี้แล้วทำให้เราเข้าใจได้ว่าการฝึกฝนทั้งสามอย่างนี้จะสามารถช่วยให้เราเอาชนะปัญหาของเราได้อย่างไร เราสามารถนำไปใช้ได้โดยไม่ต้องอ้างอิงถึงพุทธศาสนาเลย ดังนั้น มันจึงเหมาะกับทุกคน ก่อนที่จะไปต่อ เรามาทบทวนอย่างรวดเร็วก่อนว่า เราได้เรียนรู้อะไรไปบ้าง
- เราใช้ การแยกแยะการรับรู้ที่แท้จริง เพื่อให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างจินตนาการกับความเป็นจริง แล้วเราจะสามารถเห็นถึงเหตุและผลในพฤติกรรมของเราเอง เมื่อเราไม่มีการแยกแยะการรับรู้ที่แท้จริงแล้ว พฤติกรรมและทัศนคติของเราก็จะสร้างความทุกข์ หรือความสุขที่ไม่เคยทำให้เราพอใจ
- เพื่อที่จะเข้าใจถึงสิ่งที่กล่าวมาแล้วข้างต้นได้อย่างถูกต้อง เราจำเป็นต้องมี สมาธิ เพื่อจะได้มีใจที่ตั้งมั่น จดจ่อได้
- ในการที่จะพัฒนาให้มีสมาธิดี เราจำเป็นต้องมีวินัย เพื่อที่ว่า เมื่อจิตใจของเราวอกแวก เราจะได้เรียกมันกลับคืนมาได้
- เราต้องการการฝึกฝนทั้งสามอย่างนี้ เพื่อจะช่วยให้เราจัดการกับปัญหาต่าง ๆ ของเรา และพัฒนาปรับปรุงคุณภาพชีวิตของเราให้ดีขึ้น
ความเข้าใจที่แท้จริงอันสำคัญคือความสุขและความทุกข์ที่เราพบเจอในชีวิตของเรานั้นมาจากความสับสนของเราเอง แทนที่จะโทษว่าปัญหาของเรามาจากผู้อื่น สังคม เศรษฐกิจ และอะไรอื่น ๆ เรามุ่งเน้นไปที่ระดับที่ลึกซึ้งกว่านั้น เรามองดูที่สภาวะจิตใจของเราในการรับมือกับสถานการณ์เหล่านี้ เราอาจเผชิญกับสถานการณ์ที่ยากลำบากมากมาย แต่ ณ ตรงนี้ เรากำลังพูดถึงความรู้สึกทั่วไปของความทุกข์และความสุขชั่วประเดี๋ยวเดียวของเรา ฉะนั้น เราควรตั้งเป้าหมายให้มากกว่านี้ เป็นความสุขที่มาพร้อมกับความสงบของจิตใจ และเป็นความสุขที่ยั่งยืนและมั่นคงยิ่งขึ้น
เมื่อเราพบกับความยากลำบาก เราจะรู้สึกหดหู่และเศร้าหมอง หรือว่าเราจะเลือกเผชิญหน้ากับมันด้วยจิตใจที่สงบ เพราะเรามองดูสถานการณ์นั้นได้อย่างชัดเจนมากขึ้น เราเห็นว่ามันเกี่ยวข้องกับอะไร และรู้วิธีการที่จะใช้รับมือกับมันแทนที่จะรู้สึกสงสารตัวเองแค่นั้น
ลองนึกถึงในกรณีที่ลูกของคุณออกไปข้างนอกตอนกลางคืน และคุณกังวลอย่างมากว่า “ลูกจะกลับมาอย่างปลอดภัยหรือไม่” อย่างที่กล่าวไปแล้วข้างต้นว่า ความกังวลและความทุกข์ของเรามาจากทัศนคติของเราที่ว่า “ฉันสามารถควบคุมความปลอดภัยของลูกฉันได้” ซึ่งแน่นอนว่า นั่นคือ จินตนาการ เมื่อลูกกลับมาถึงบ้านอย่างปลอดภัย คุณก็มีความสุข รู้สึกโล่งใจ และครั้งต่อไปที่ลูกออกไปข้างนอก คุณก็จะวิตกกังวลอีกครั้ง ความรู้สึกสบายใจแบบนั้น มันไม่ได้อยู่กับเราตลอดใช่ไหม แล้วเราก็จะเป็นกังวลอยู่เสมอ และมันก็จะเป็นแบบนี้ไปตลอด เราได้ทำให้มันกลายเป็นนิสัยที่วิตกกังวลไปเสียทุกอย่าง และมันเป็นภาวะที่ไม่มีความสุขเอามาก ๆ เลย
กุญแจสำคัญคือ การเข้าใจว่า สาเหตุของทั้งหมดนี้เกิดจากความสับสนของเราเอง เราคิดว่าทำแบบนี้แล้วจะนำมาซึ่งความสุข หรือทัศนคติที่ว่า เราควบคุมทุกอย่างได้เป็นสิ่งที่ถูกต้อง แต่มันไม่ได้เป็นอย่างนั้น เราต้องยุติความคิดแบบนี้ “มันไร้สาระ!” และมีสมาธิจดจ่อกับสิ่งนี้
บทสรุป
เมื่อเราไตร่ตรองเกี่ยวกับข้อเท็จจริงของชีวิต 4 ประการได้ เราจะมีกำลังใจ และเห็นว่าปัญหาและอารมณ์ด้านลบของเรามันไม่อยู่คงที่ไปตลอด แต่มันสามารถปรับปรุงได้ และยิ่งไปกว่านั้น เราสามารถกำจัดมันออกไปได้โดยสิ้นเชิง เมื่อเราจัดการกับสาเหตุของความทุกข์ได้ ความทุกข์ก็จะยุติ แต่สาเหตุเหล่านี้มันจะไม่หายไปเองเฉย ๆ
วิธีการใช้ชีวิตของเราที่ดีที่สุดนั้นก็คือ การใช้ชีวิตภายใต้บริบทของการฝึกฝนทั้งสามอย่างในเรื่องของ วินัยทางจริยธรรม สมาธิ และการแยกแยะการรับรู้ที่แท้จริง สิ่งเหล่านี้ทำงานร่วมกันและทำงานไปพร้อม ๆ กัน เพื่อนำเราเข้าไปใกล้สิ่งที่เรามองหามาโดยตลอด ที่เรียกว่า “ความสุข” นั่นเอง