เกริ่นนำ
เมื่อเราพิจารณาพระพุทธศาสนาเป็นครั้งแรก ถือเป็นการดีที่จะดูเรื่องอริยสัจสี่ก่อน นี่เป็นการสมควรเช่นกัน เพราะอริยสัจสี่เป็นวิธีที่พระพุทธเจ้าทรงใช้เริ่มต้นในช่วงที่พระองค์ทรงเริ่มเทศนา ตอนที่พระองค์ยังทรงมีพระชนม์ชีพมีศาสนาและระบบความเชื่อทางปรัชญามากมายเหลือแสนเกิดขึ้นก่อนแล้ว และในปัจจุบันนี้เรายังพบกับประเภทหลักคำสอนทางจิตวิญญาณที่กว้างใหญ่มากยิ่งขึ้นไปอีก ดังนั้นในการพิจารณาพระพุทธศาสนา เป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องพยายามระบุให้ได้ว่าสิ่งใดเป็นเอกลักษณ์สำหรับแนวทางของพระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนามีหลักคำสอนมากมายที่เหมือนกับศาสนาอื่นโดยปริยาย เช่น จงมีความน้ำใจ เป็นผู้เปี่ยมรัก พยายามอย่าทำร้ายผู้ใด และอื่น ๆ เราสามารถเห็นด้านทั้งหลายเหล่านี้ในเกือบทุกศาสนาและปรัชญา จึงไม่จำเป็นต้องหันเข้าหาพระพุทธศาสนาเพื่อเรียนรู้ด้านเหล่านี้ ถึงแม้ว่าพระพุทธศาสนาจะเปี่ยมไปด้วยวิธีการต่าง ๆ ในการสร้างความน้ำใจ ความรัก และความความเห็นอกเห็นใจก็ตาม เราสามารถได้ประโยชน์จากวิธีการเหล่านี้ ไม่ว่าเราจะยอมรับสิ่งอื่น ๆ ในหลักคำสอนของพระพุทธศาสนาหรือไม่ก็ตาม
อย่างไรก็ตาม หากเราถามว่า “พระพุทธศาสนามีอะไรเฉพาะเจาะจง” เช่นนั้นเราก็ต้องดูที่อริยสัจสี่ แม้แต่ในการอภิปรายสิ่งเหล่านี้ เราก็จะเห็นถึงหลายสิ่งหลายอย่างที่มีอยู่ในระบบความเชื่ออื่น ๆ เช่นกัน
เรามีคำเรียกที่ว่า “ความจริงอันประเสริฐ” (อริยสัจ) แต่มันช่างเป็นคำแปลที่ฟังดูแปลกเสียจริง คำว่า “ประเสริฐ” อาจก่อให้เกิดความรู้สึกของชนชั้นสูงในยุคสมัยกลาง (medieval) แต่จริง ๆ แล้วคำนี้หมายถึงผู้ที่ได้บรรลุขั้นสูงแล้ว อริยสัจสี่จึงเป็นความจริงสี่ประการที่เห็นชอบว่าเป็นข้อเท็จจริงโดยผู้ที่ได้มองเห็นความเป็นจริงเชิงไร้มโนทัศน์แล้ว ถึงแม้ว่าความจริงทั้งสี่ประการนี้จะเป็นข้อเท็จจริง ผู้คนส่วนใหญ่ก็ไม่เข้าใจ และส่วนใหญ่ไม่ได้ตระหนักถึงมันเลยด้วยซ้ำ
ความจริงอันประเสริฐประการแรก
ความจริงอันเป็นข้อเท็จจริงประการแรกมักเรียกว่า “ทุกข์” พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า ชีวิตของเราทั้งหลายนั้นเต็มเปี่ยมไปด้วยทุกข์ทรมาน และแม้แต่สิ่งที่เราคิดว่าเป็นความสุขสามัญก็ยังมีปัญหามากมายเกี่ยวรัดติดพันอยู่ด้วย คำว่า “ทุกข์” มาจากคำภาษาสันสกฤตว่า “duhkha” เรามีสุข หรือ sukha ซึ่งหมายถึงความสุข และเรามีทุกข์ ซึ่งหมายถึงความไม่เป็นสุข ในทางภาษาศาสตร์ kha คือ เนื้อที่ ส่วน duh เป็นคำอุปสรรคที่เติมข้างหน้า หมายถึง ความไม่น่าพึงพอใจ ความไม่น่าอภิรมย์ เราไม่ควรใช้คำเชิงตัดสิน เช่น “แย่” แต่ความหมายตรงนี้ก็มุ่งไปทางนั้น ทุกข์ หมายโดยนัยว่า มีบางอย่างผิดปกติกับเนื้อที่ตรงนี้ ซึ่งหมายถึงเนื้อที่ในจิตใจของเรา และ เนื้อที่ในชีวิตของเราโดยรวม มันเป็นสถานการณ์ที่ไม่น่าอภิรมย์
แล้วมันไม่น่าอภิรมย์อย่างไรเล่า ก่อนอื่นเราประสบกับความทุกข์ทรมานโดยรวมทั้งหมด เช่น ความเจ็บปวด ความไร้สุข และความเศร้าโศก เหล่านี้เป็นสิ่งที่พวกเราล้วนเข้าใจได้ และคนทุกคน แม้แต่เหล่าสัตว์ ก็ต้องการหลีกเลี่ยงสิ่งเหล่านี้ ไม่มีสิ่งใดเป็นเรื่องพิเศษเกี่ยวกับการที่พระพุทธศาสนากล่าวว่า ความเจ็บปวดและความไม่เป็นสุขเป็นสถานการณ์ที่ไม่น่าพึงพอใจและเราควรเอาตัวออกจากสถานการณ์นี้ ความทุกข์ประเภทที่สอง คือ ความทุกข์ทรมานแห่งความเปลี่ยนแปลง และตรงนี้พูดถึงความสุขเชิงสามัญที่เกิดขึ้นประจำวันของเรา ความสุขประเภทนี้มีปัญหาอย่างไรหรือ ปัญหา คือ มันไม่ยั่งยืน กล่าวคือ มันเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา หากสิ่งที่เราพิจารณาว่าเป็นความสุขสามัญเป็นความสุขที่แท้จริงล่ะก็ ยิ่งเราก็มีมากเท่าไหร่ เราก็ยิ่งต้องเป็นสุขมากขึ้นเท่านั้น ดังนั้นหากเรามีความสุขจากการทานช็อคโกแลต ยิ่งเราทานเข้าไปมากเท่าไหร่ ทานอย่างไม่หยุดหย่อนเป็นชั่วโมง ๆ เราก็ยิ่งต้องมีความสุขมากขึ้นเท่านั้น พวกเราต่างรู้ดีว่ากรณีนี้ไม่จริงเลย! หรือลองจินตนาการว่าคนรักลูบไล้มือของคุณอยู่หลายชั่วโมงสิ ความรู้สึกอันน่าอภิรมย์ย่อมกลายเป็นความเจ็บปวด หรือความรู้สึกแปลก ๆ ในไม่ช้า ตรงนี้เป็นเพียงเพราะความสุขสามัญเปลี่ยนแปลงเท่านั้นเอง และแน่นอนว่าเราไม่เคยมีเพียงพอ เราไม่เคยพึงพอใจ เราอยากได้ช็อคโกแลตเพิ่มเติมอยู่เสมอ อาจไม่ใช่ในทันที แต่หลังจากนั้นสักพัก
มันเป็นเรื่องที่น่าสนใจหากคุณคิดว่า “ฉันต้องทานอาหารโปรดของฉันมากเท่าใดถึงจะเพลิดเพลินกับมันได้” เพียงกัดคำเล็ก ๆ คำเดียวก็ควรเพียงพอแล้ว แต่จริง ๆ แล้วเราอยากได้เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ เสมอ ทีนี้ความต้องการเอาชนะปัญหาของความสุขสามัญทางโลกก็ไม่ได้จำกัดอยู่แต่ในพระพุทธศาสนาอีก มีศาสนาอีกมากมายที่สอนให้เราดำเนินก้าวข้ามความรื่นรมย์ทางโลกไปสู่สรวงสวรรค์บางรูปแบบด้วยความสุขสำราญอันเป็นนิรันดร์
ความทุกข์ประการที่สามนี้เป็นสิ่งจำเพาะของพระพุทธศาสนา ซึ่งเรียกว่า “ความทุกข์ที่แพร่หลายไปทั่ว” เราอาจเรียกมันว่า “ปัญหาที่แผ่ซ่านไปทั่ว” ได้เช่นเดียวกัน ความทุกข์ทรมานเช่นนี้แผ่ซ่านไปทั่วทุกสิ่งอย่างที่เราประสบ และหมายถึงการที่เราต้องเวียนว่ายตายเกิดอย่างควบคุมไม่ได้ ซึ่งเป็นมูลรากที่แท้จริงของความขึ้นลงในชีวิตประจำวันของเรา กล่าวอีกอย่างคือ การเกิดใหม่ซ้ำแล้วซ้ำเล่า โดยมีประเภทของจิตใจและร่างกายอย่างที่เรามีนั้นเป็นรากฐานของความทุกข์สองประการแรก ตรงนี้แตะประเด็นเรื่องการเกิดใหม่ ซึ่งเราสามารถเรียนรู้ในภายหลังได้
แน่นอนว่ามีระบบปรัชญาทางอินเดียอื่น ๆ มากมายที่สอนเกี่ยวกับเรื่องการเกิดใหม่ ดังนั้น นี่ก็ไม่ใช่สิ่งแปลกใหม่ใด ๆ จากพระพุทธเจ้าอีก อย่างไรก็ตาม พระองค์ทรงเข้าใจและอธิบายกลไกของการเกิดใหม่ในลักษณะที่ล้ำลึกกว่าปรัชญา หรือศาสนาอื่นใดที่อธิบายไว้ ณ ตอนนั้น พระพุทธองค์ทรงให้คำอธิบายละเอียดชัดเจนแจ่มแจ้งถึงการทำงานของการเกิดใหม่ กอปรกับการที่จิตใจและร่างกายของเราประสบกับความขึ้นลงของความเจ็บปวด ความไม่เป็นสุข และความสุขสามัญ
ความจริงอันประเสริฐประการที่สอง
ความจริงประการที่สองพิจารณาเหตุที่แท้จริงของความไม่เป็นสุขทั้งหมดที่เราประสบนี้ เรายังไม่จำเป็นต้องโยงไปถึงเรื่องการเกิดใหม่ในตอนนี้ หากแต่เราสามารถทำความเข้าใจสิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ด้วยวิธีการง่าย ๆ ที่สมเหตุสมผลได้ เราพูดถึงความทุกข์และความสุขสามัญ และทั้งสองสิ่งนี้มาจากเหตุต่าง ๆ แต่พระพุทธเจ้าทรงสนพระทัยใน “เหตุที่แท้จริง” เราอาจคิดว่าความสุขและความเจ็บปวดนั้นมาสู่เราในฐานะรางวัล หรือบทลงโทษ หรืออะไรทำนองนั้น แต่พระพุทธเจ้าตรัสถึงเหตุที่แท้จริงในฐานะพฤติกรรมเชิงทำลายและพฤติกรรมเชิงสร้างสรรค์
พฤติกรรมเชิงทำลายหมายความว่าอย่างไร เป็นเพียงแค่การทำร้ายหรือเปล่า เมื่อเราพูดถึงการทำร้าย อาจหมายถึงการทำร้ายผู้อื่น หรือการทำร้ายตนเอง จริง ๆ แล้วเป็นเรื่องยากมากที่จะรู้ว่าพฤติกรรมของเราจะส่งผลอย่างไรต่อผู้อื่น ว่ามันจะทำร้าย หรือช่วยเหลือเขา ยกตัวอย่างเช่น เราอาจให้เงินจำนวนมากกับคนคนหนึ่งไป และผลลัพธ์ที่ได้คือ คนคนนั้นโดนฆ่าตายโดยคนอีกคนที่อยากขโมยเงินก้อนนั้น เป้าหมายของเราอาจเป็นการช่วยเหลือเขา แต่จริง ๆ มันไม่มีอะไรมาการันตีได้เลย สิ่งที่แน่นอน คือ ประเภทของพฤติกรรมที่เป็นเชิงทำลายต่อตัวเราเอง นี่คือสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงหมายถึงเมื่อกล่าวถึงพฤติกรรมเชิงทำลาย กล่าวคือ เป็นเชิงทำลายต่อตนเอง
สิ่งนี้จึงหมายถึง การคิด การกระทำ หรือการพูดจาที่ตกอยู่ใต้อิทธิพลของอารมณ์รบกวนทั้งหลาย กล่าวง่าย ๆ คือ อารมณ์รบกวนนั้นเป็นสิ่งรบกวน! มันทำให้เราสูญเสียสันติในใจและเสียการควบคุมตนเอง ตรงนี้หมายถึง ความโกรธ ความโลภ การยึดติด ความอิจฉาริษยา ความเย่อหยิ่ง ความไร้เดียงสา และประเภทอารมณ์เหล่านี้ยืดยาวต่อไปเรื่อย เมื่อความคิดของเราติดอยู่กับหนึ่งในอารมณ์เหล่านี้ เราจึงพูดจา หรือกระทำการภายใต้อิทธิพลของมัน จึงก่อให้เกิดความไม่เป็นสุขต่อตัวเราเอง อาจจะไม่ใช่ในทันทีทันใด แต่ในระยะยาวมันสร้างความไม่เป็นสุข เพราะมันสั่งสมแนวโน้มในการดำเนินต่อไปเช่นนั้น
ในอีกทางหนึ่ง เรามีพฤติกรรมเชิงสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่ไม่ได้อยู่ภายใต้อิทธิพลของอารมณ์รบกวนเหล่านี้ แต่อาจได้รับแรงกระตุ้นจากอารมณ์เชิงบวกด้วยซ้ำ เช่น ความรัก ความความเห็นอกเห็นใจ หรือความอดทน
การกระทำเชิงสร้างสรรค์ก่อให้เกิดความสุข จิตใจของเราสบายขึ้นและเราก็สงบขึ้นโดยรวม เรามักมีการควบคุมตนเองมากขึ้น ดังนั้นเราจึงไม่ประพฤติตัวอย่างโง่เขลา หรือพูดสิ่งโง่เขลาที่จะก่อให้เกิดปัญหา เช่นเดียวกัน ผลของการกระทำเช่นนี้อาจไม่เกิดขึ้นทันที แต่ในระยะยาวมันสร้างความสุข อย่างไรก็ตาม สิ่งที่รองรับตรงนี้ คือ ความไร้เดียงสาเกี่ยวกับการดำรงอยู่ของเรา การดำรงอยู่ของผู้อื่น และการดำรงอยู่ของความเป็นจริงโดยรวม
ความสุขสามัญและความไม่เป็นสุขของเราไม่ใช่รางวัล หรือบทลงโทษที่ถูกส่งมาโดยผู้ทำหน้าที่ตัดสินจากภายนอกใด ๆ ทั้งสองสิ่งนี้เป็นไปตามกฎที่เกือบจะคล้ายกับกฎแห่งฟิสิกส์ มูลฐานของเหตุและผลของพฤติกรรมคืออะไร มูลฐาน คือ ความสับสนของเรา โดยเฉพาะเกี่ยวกับตัวเราเอง เราคิดว่า “เอาล่ะ ฉันเป็นคนที่สำคัญที่สุด ฉันควรได้อย่างที่ต้องการสิ ฉันควรจะอยู่หน้าคิวในซุปเปอร์มาเก็ต ฉันควรเป็นคนแรก” เราละโมบที่จะเป็นคนแรก เราจึงรู้สึกโมโหผู้คนที่อยู่หน้าเรา เราหมดความอดทน เพราะคนที่อยู่หน้าเรายืดยาดและอืดอาดเหลือเกิน และจิตของเราก็เต็มไปด้วยความคิดไม่เป็นสุขมากมายเกี่ยวกับคนคนนั้น แม้ว่าเราจะกระทำการเชิงสร้างสรรค์ก็ยังมีความสับสนมากมายเกี่ยวกับ “ตัวฉัน” เป็นรากฐานของทั้งหมด ยกตัวอย่างเช่น เราอาจจะช่วยเหลือผู้อื่น เพราะว่าเราอยากให้เขาชอบเรา หรือทำอะไรให้เราเป็นการตอบแทน หรือมันทำให้เรารู้สึกเป็นที่ต้องการ อย่างน้อย ๆ เราก็ต้องการคำขอบคุณ!
ถึงแม้ว่าการช่วยเหลือผู้อื่นเช่นนี้จะทำให้เรารู้สึกเป็นสุข เบื้องล่างนั้นไม่ได้สบายเลย ความสุขที่เราประสบเช่นนี้ไม่เคยคงอยู่ในระยะยาวเลย มันเปลี่ยนแปลงกลายเป็นสิ่งที่ไม่น่าพึงพอใจ เป็นเช่นนี้เรื่อยไปตลอดชั่วชีวิตของเรา และจากมุมมองทางพระพุทธศาสนา มันเป็นเช่นนี้ตลอดชั่วชีวิตในภายภาคหน้าของเราด้วย
เมื่อเราพิจารณาให้ลึกขึ้น เราจะเห็นว่าเรามีความสับสนเกี่ยวกับทุกสิ่งอย่าง ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเรารักใครบางคนมากเหลือเกิน เราทำให้คุณสมบัติดี ๆ ของเขาเป็นเรื่องเกินจริงอย่างมาก หรือเวลาเราไม่ชอบใครบางคนเอาเสียเลย เราก็ทำให้คุณสมบัติเชิงลบของเขาให้เป็นเรื่องเกินจริงและไม่สามารถมองเห็นสิ่งดี ๆ ในตัวเขาได้เลย ยิ่งเราสืบสาวตรงนี้ให้มากขึ้นเท่าไหร่ เราก็ยิ่งพบความสับสนที่เป็นพื้นฐานสนับสนุนทุกสิ่งอย่างที่เราประสบอยู่เสมอ
เมื่อลงไปให้ลึกขึ้น เราจะเห็นว่ารากฐานของทั้งหมดนี้คือขีดจำกัดของเราเอง ด้วยจิตใจและร่างกายที่เรามีนี้ เรามีความจำกัด เมื่อเราหลับตาลง มันเหมือนกับว่าโลกทั้งใบนี้ไม่อยู่เลย มีแต่ฉันเพียงผู้เดียว มีเสียงในหัวเราที่ดูเหมือนเป็น “ตัวฉัน” เหมือนเป็นฉันภายในตัวฉัน น่าแปลกจริง อย่างไรก็ตาม เมื่อเราระบุตัวตนกับมัน เพราะมันเป็นตัวที่คอยบ่นเสมอว่า “ฉันต้องไปข้างหน้า ฉันต้องทำแบบนี้” มันเป็นสิ่งที่คอยกังวลอยู่ตลอดเวลา สำหรับเราดูเหมือนว่าเจ้าเสียงภายในหัวเราเป็นสิ่งพิเศษ มีเอกลักษณ์ และดำรงอยู่โดยไม่ข้องเกี่ยวกับผู้ใดเลย เพราะเมื่อเราหลับตาลงแล้วก็ไม่มีสิ่งใดเลยนอกจาก “ตัวฉัน”
นี่เป็นวิธีการคิดที่สับสนเป็นอย่างมาก เพราะแน่นอนว่าเราไม่ได้ดำรงอยู่โดยไม่ข้องเกี่ยวกับผู้ใดเลย แถมจริง ๆ แล้วก็ไม่ได้มีสิ่งวิเศษเกี่ยวกับผู้ใดเลย พวกเราล้วนเป็นมนุษย์ ลองคิดถึงเพนกวินกว่าแสนตัวที่ยืนกอดกันคุดคู้ในแอนตาร์ติคสุดหนาวยะเยือกสิ อะไรทำให้พวกมันตัวหนึ่งวิเศษไปกว่าตัวอื่น จริง ๆ แล้วพวกมันก็เหมือนกันหมดนั่นแหละ พวกเราก็เช่นเดียวกัน สำหรับเพนกวินแล้ว มนุษย์ทุกคนก็คงจะหน้าตาเหมือนกันหมด! กระนั้นแล้ว ด้วยรากฐานของความคิดที่ว่า “ฉันเป็นคนพิเศษและไม่ข้องเกี่ยวกับผู้ใดเลย” เราจึงต้องได้อย่างที่เราต้องการ และโมโหโกรธาเมื่อไม่ได้อย่างนั้น
กล่าวง่าย ๆ คือ ฮาร์ดแวร์ของจิตใจและร่างกายของเรานั้นเอื้อต่อการมีความสับสนเช่นนี้ มันอาจดูแปลก แต่เรารับรู้โลกนี้ผ่านรูสองรูด้านหน้าหัวของเราเป็นส่วนใหญ่ ผมมองไม่เห็นว่าด้านหลังมีอะไร ผมมองเห็นแต่สิ่งที่อยู่ตรงหน้าตอนนี้เท่านั้น กล่าวคือ ผมไม่อาจมองเห็นว่าสิ่งใดมาก่อน หรือสิ่งใดกำลังจะตามมา มันค่อนข้างจำกัด และจากนั้นเราก็อายุมากขึ้น เริ่มได้ยินไม่ค่อยชัด คนเขาพูดอย่างหนึ่งแล้วเราก็ฟังไม่ชัด เลยคิดไปว่าเขาพูดอะไรอีกอย่าง เราเลยโกรธ เมื่อมาคิดดูแล้วค่อนข้างน่าสมเพชไม่น้อย
ปัญหาที่แผ่ซ่านไปทั่วของเรา คือ เราเวียนว่ายตายเกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่าด้วยร่างกายและจิตใจประเภทนี้ ซึ่งทำให้ความสับสนดังกล่าวยืดยาวนานเป็นนิตย์ บนรากฐานของความสับสนนี้ เรากระทำการเชิงทำลาย หรือกระทำการเชิงสร้างสรรค์แบบสามัญ เช่นนี้คือสิ่งที่ก่อให้เกิดความไม่เป็นสุขและความสุขสามัญที่เราประสบ
หากเราลงลึกไปกว่านี้ก็จะมีความซับซ้อน และเราไม่จำเป็นต้องลงลึกขนาดนั้นในตอนนี้ แต่ความสับสนนี้แหละ คือ สิ่งที่ผลักดันการเวียนว่ายตายเกิดที่ควบคุมไม่ได้ นี่เป็นเหตุที่แท้จริงของปัญหาที่แท้จริง ความสับสน หรือการขาดความตระหนักรู้นี้มักได้รับการแปลว่า “ความไม่รู้” ผมไม่อยากใช้คำนี้ เพราะมันมีความหมายโดยนัยว่าเราโง่เขลา แต่นี่ไม่ใช่ปัญหาจริง ๆ เลย และมันก็ไม่ใช่ความหมายแฝงที่เราต้องการ การขาดความตระหนักรู้มีความหมายโดยนัยว่า เราไม่รู้ว่าตัวเรา หรือปรากฏการณ์ต่าง ๆ ดำรงอยู่อย่างไร เราขาดความตระหนักรู้ในลักษณะนี้ เหมือนกับการคิดว่าเราเป็นคนที่สำคัญที่สุดในโลก เป็นศูนย์กลางของจักรวาล ในเมื่อตรงนี้ขัดแย้งต่อความเป็นจริงอย่างสิ้นเชิง ความเป็นจริงคือพวกเราอยู่ตรงนี้ด้วยกันทั้งหมด มันไม่ใช่ว่าเราโง่ แต่ร่างกายและจิตใจของเราทำให้เราคิดอย่างนี้
นี่จึงเป็นที่มาของการเรียกสิ่งเหล่านี้ว่า “ความจริงอันประเสริฐ” ผู้ที่มองเห็นความเป็นจริงเห็นแตกต่างจากลักษณะที่ผู้อื่นมอง เราเชื่ออย่างแท้จริงว่าความสับสนและการแสดงภาพของเรานั้นสอดคล้องกับความเป็นจริง เราเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องจริง จริง ๆ แล้วเราไม่คิดถึงมันด้วยซ้ำ เพราะสัญชาตญาณของเราคือ “ฉันเป็นคนที่สำคัญที่สุด ฉันควรได้อย่างที่ต้องการ ทุกคนควรต้องรักฉัน” หรือบางคนเชื่อในทางกลับกันว่า “ทุกคนควรสมควรเกลียดฉัน ฉันมันไม่เอาไหน” มันคือสิ่งเดียวกัน เป็นแค่อีกด้านหนึ่งของเหรียญเท่านั้น เช่นนี้คือเหตุที่แท้จริง
ความจริงอันประเสริฐประการที่สาม
ความจริงประการที่สาม คือ ความจริงที่เราเรียกกันว่า “การดับที่แท้จริง” มักแปลว่า “การยุติที่แท้จริง” และหมายถึงข้อเท็จจริงที่ว่า การหยุดและกำจัดความสับสนดังกล่าวนี้เพื่อไม่ให้มันเกิดขึ้นอีกนั้นเป็นไปได้จริง หากเรากำจัดความสับสน อันเป็นเหตุที่แท้จริง อย่างนั้นเราจึงกำจัดปัญหาที่แท้จริง นั่นคือ ความขึ้นลง และ การเวียนเวียนตายเกิดอันควบคุมไม่ได้ที่เรามีเป็นรากฐาน หากเราทำเช่นนี้ เราจึงได้รับสิ่งที่เรียกว่า “การหลุดพ้น” ผมมั่นใจว่าทุกคุณคงเคยได้เห็นคำภาษาสันสกฤต “สังสารวัฏ” สำหรับการเวียนว่ายตายเกิดที่ควบคุมไม่ได้ และ “นิพพาน” สำหรับการหลุดพ้นมาแล้ว
ขณะที่พระพุทธเจ้ายังมีพระชนม์มาชีพอยู่นั้น มีระบบความเชื่อทางอินเดียอื่น ๆ ที่กล่าวถึงการหลุดพ้นจากสังสารวัฏ นี่เป็นสาระสำคัญที่แพร่หลายในอินเดีย กระนั้นแล้ว พระพุทธเจ้าทรงเห็นว่าระบบความเชื่ออื่น ๆ นี้ไม่ได้ลงลึกเพียงพอในการระบุเหตุที่แท้จริง คุณอาจได้รับการหยุดชั่วคราวจากการปัญหาที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกอย่างควบคุมไม่ได้จริง ยกตัวอย่างเช่น การเกิดในภพภูมิสวรรค์แห่งหนึ่งที่จิตของคุณว่างเปล่าเป็นเวลาชั่วกัปชั่วกัลป์ แต่อย่างไรแล้วมันย่อมมาถึงจุดจบ ไม่มีการหลุดพ้นที่แท้จริงในระบบความเชื่ออื่น ๆ
พระพุทธเจ้าทรงสอนเรื่องการดับที่แท้จริง และเป็นสิ่งสำคัญที่เราพึงทำความเข้าใจและมั่นใจว่า เราสามารถกำจัดความสับสนออกเพื่อไม่ให้มันเกิดขึ้นอีกได้จริง มิเช่นนั้น คุณจะพยายามกำจัดมันออกเพื่ออะไรเล่า หากคุณไม่ใส่ใจเกี่ยวกับการดับความสับสนนี้ไปตลอดกาล เช่นนั้นคุณก็จงปิดปากเงียบ ยอมรับสถานการณ์ และทำมันให้ดีที่สุดเสีย การบำบัดหลายอย่างอาจมีเป้าหมายเช่นนี้ นั่นคือ เรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตอยู่กับมัน หรือทานยาเสีย!
ความจริงอันประเสริฐประการที่สี่
ความจริงประการที่สี่มักแปลว่า “หนทางที่แท้จริง” และมันช่วยให้เราเข้าใจความจริงประการที่สาม ความจริงประการนี้ หมายถึง สภาวะของจิตที่หากเราพัฒนาขึ้นแล้วย่อมเป็นหนทางนำพาไปสู่การหลุดพ้น เราสามารถเรียกได้อีกอย่างว่า “หนทางแห่งจิต” (pathway mind) แต่คำนี้ค่อนข้างยากต่อการแปลเป็นภาษาอื่น
จิตของเราแสดงภาพไร้สาระอย่างสิ้นเชิง แต่การแสดงภาพไร้สาระเช่นนี้ก็ยังแบ่งออกเป็นหลายระดับด้วยกัน ระดับสุดโต่งคือการเป็นโรคจิตเภท หรือโรคหวาดระแวง ซึ่งเราคิดจริง ๆ ว่าทุกคนมุ่งร้ายต่อเรา ในระดับที่ลดความสุดโต่งลงมา เช่น “นี่เป็นเค้กช็อคโกแลตที่ยอดเยี่ยมที่สุดที่ฉันเคยเห็นมาเลย ถ้าฉันทานมัน มันจะต้องทำให้ฉันมีความสุขสุด ๆ แน่” ผมประสบกับเหตุการณ์นี้ในระหว่างบินไปบูคาเรสต์ ซึ่งผมต้องไปหยุดที่เวียนนา ผมคิดว่า “เอาล่ะ แอปเปิ้ลสตรูเดิ้ลของเวียนนาต้องยอดเยี่ยมที่สุดในโลกแน่ ๆ” ผมเลยสั่งมาชิ้นหนึ่ง และมันก็ไม่ได้ยอดเยี่ยมที่สุด การแสดงภาพของผมเกี่ยวกับลักษณะที่มันควรจะเป็นถือเป็นเรื่องไร้สาระ มีแอปเปิ้ลสตรูเดิ้ลอยู่จริง ๆ ตรงนี้ไม่ใช่การแสดงภาพจากจิตของผม แต่วิธีการดำรงอยู่ของแอปเปิ้ลสตรูเดิ้ลนี้สิ ในฐานะที่เป็นสิ่งที่ยอดเยี่ยมที่สุดที่จะทำให้ผมมีความสุขมาก ๆ นั่นเป็นการแสดงภาพจากจิตของผม
เช่นเดียวกัน ผมดำรงอยู่และคุณก็ดำรงอยู่ พระพุทธศาสนาไม่ได้บอกว่าไม่มีพวกเราดำรงอยู่ เพียงแต่กล่าวว่าเราแสดงภาพวิธีการดำรงอยู่ที่ไม่สอดคล้องต่อการดำรงอยู่ที่แท้จริงให้เป็นความเป็นจริง เรามีความคิดที่ว่า สรรพสิ่งทั้งหลายดำรงอยู่ด้วยตัวของมันเองอย่างสมบูรณ์จริง ๆ ซึ่งเป็นวิธีการดำรงอยู่ที่เป็นไปไม่ได้ สรรพสิ่งทั้งหลายอุบัติขึ้นจากเหตุและเงื่อนไขต่าง ๆ และมันเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ อย่างไรก็ตาม เรามองไม่เห็นอย่างนี้ เราเห็นแค่สิ่งที่อยู่ต่อหน้าเราเท่านั้น ยกตัวอย่างเช่น เรานัดพบคนคนหนึ่งไว้ แต่เขาไม่มา สำหรับเรามันดูเหมือนว่าเขาคนนี้เป็นคนเลวร้าย ทำให้เราผิดหวังตลอด ไม่ชอบเราอีกต่อไปแล้ว เราคิดว่าชีวิตของเขาดำรงอยู่โดยไม่เกี่ยวพันกับการจราจร หรืองานเพิ่มเติมที่ออฟฟิศ หรืออะไรก็ตามที แต่ในเมื่อทุกสิ่งอย่างอุบัติขึ้นจากเหตุและเงื่อนไข จึงเป็นไปไม่ได้เลยที่เขาเป็นคนเลวร้ายด้วยตัวของเขาเองโดยไม่ได้เกี่ยวพันกับสิ่งใดเลย กระนั้นแล้ว จิตของเราก็ยังคงแสดงภาพเช่นนี้และยึดมั่นถือมั่นกับภาพนี้ จึงก่อเกิดเป็นความโกรธ ซึ่งเป็นอารมณ์เชิงทำลายประการหนึ่ง จากนั้นพอเราพบเขาในครั้งถัดมา เรามองเขาไม่เหมือนเดิม และตะโกนว่าเขาโดยไม่ให้โอกาสเขาอธิบายเลย ตลอดเหตุการณ์ทั้งหมดนี้ เราเป็นคนที่เศร้าเสียใจและไม่เป็นสุขอย่างมาก จริงหรือไม่
ดังนั้น พวกเราดำรงอยู่ แต่ลักษณะที่เราคิดว่าตนเองดำรงอยู่ กล่าวคือ ในลักษณะพิเศษและไม่เกี่ยวพันเชื่อมโยงกับผู้อื่นใด เป็นการแสดงภาพทั้งสิ้น เป็นเรื่องไร้สาระ มันไม่ได้หมายถึงสิ่งใดที่เป็นจริงเลย นี่คือสิ่งที่เราเรียกว่า “สุญญตา” ในพระพุทธศาสนา มักแปลว่า “ความว่างเปล่า” ในภาษาสันสฤต คำนี้เป็นคำเดียวกันกับ “ศูนย์” ซึ่งหมายถึง “ความไร้” เป็นความไร้ซึ่งสิ่งใดที่เป็นจริงอย่างสมบูรณ์ เหมือนกับเวลาที่เราแสดงภาพว่าคู่รักคนใหม่ของเรานั้นเป็นเจ้าหญิง หรือเจ้าชายแสนสมบูรณ์แบบ ผู้ขี่ม้าขาวในเทพนิยาย มันเป็นไปไม่ได้ ไม่มีใครที่ดำรงอยู่แบบนั้น แต่เราก็ยังตามหามันอยู่เสมอ และเมื่อเขาคนนั้นไม่สามารถเป็นไปตามการแสดงภาพของเรา เราจึงรู้สึกผิดหวังและมองหาคนใหม่ ถึงแม้ว่าเรากำลังมองหาสิ่งที่เป็นไปไม่ได้อยู่ก็ตาม
ฉะนั้นแล้ว หนทางที่แท้จริงแห่งจิต คือ ความเข้าใจว่าทุกสิ่งอย่างนี้เป็นสิ่งไร้สาระ ว่าการแสดงภาพทั้งหลายของเราไม่ได้สอดคล้องกับสิ่งใดที่เป็นจริงเลย หากเราพิจารณาเหตุที่แท้จริงย่อมเห็นว่า ความทุกข์เกิดจากการเชื่อว่าการแสดงภาพทั้งหลายของเราสอดคล้องกับสิ่งที่เป็นจริง หนทางที่แท้จริง คือ ความเข้าใจอย่างล้ำลึกว่ามันไม่ได้สอดคล้องต่อสิ่งใดที่เป็นจริงเลย การแสดงภาพมายาทั้งหลายกับความเป็นจริงเป็นสิ่งที่แยกออกจากกันอย่างสิ้นเชิง ขอย้ำ ความสับสนคือการคิดว่าการแสดงภาพนี้สอดคล้องกับสิ่งที่เป็นจริง และความเข้าใจที่ถูกต้องคือการมองเห็นว่าไม่มีสิ่งนี้อยู่จริงเลย กล่าวง่าย ๆ คือ มีสิ่งที่สอดคล้องกัน หรือไม่ก็ไม่มีสิ่งนั้น มันคือ ใช่ กับ ไม่ใช่ เราไม่อาจคิดว่าทั้งสองสิ่งถูกต้องในขณะเดียวกันได้
ตอนนี้เราสามารถวิเคราะห์ว่าอย่างใดแข็งกล้ามากกว่าสำหรับเรา จะเป็น “ใช่” หรือ “ไม่ใช่” หากเราพิจารณาด้วยหลักเหตุผล ย่อมเห็นได้ชัดเจนว่าต้องเป็น “ไม่ใช่” เพราะ “ใช่” ไม่เป็นไปตามหลักเหตุผล เมื่อผมหลับตาลง คนอื่นทุกคนหยุดการดำรงอยู่หรือเปล่า ไม่ แน่นอนว่าไม่ใช่อยู่แล้ว มันถูกต้องไหมที่ผมควรต้องได้ตามต้องการเสมอ เพราะผมเป็นคนที่สำคัญที่สุดในโลก ไม่ นั่นเป็นเรื่องน่าขัน ยิ่งเราสืบเสาะมากขึ้นเท่าไหร่ เราก็ยิ่งสามารถเริ่มต้นตั้งคำถามกับเจ้า “ตัวฉัน” น้อย ๆ ในหัวเราได้มากขึ้น หากคุณเริ่มทำการวิเคราะห์สมอง ส่วนไหนของสมองที่มีเจ้า “ตัวฉัน” นี้พูดอยู่ในหัวเรา หรือทำการตัดสินใจ มันเกิดอะไรขึ้นกันแน่ จากการวิเคราะห์ย่อมไม่พบสิ่งที่หาตัวตนได้ที่เราเรียกว่า “ตัวฉัน” แน่นอนว่าผมทำงานต่าง ๆ ผมทำสิ่งต่าง ๆ ผมพูดจา เราไม่ได้ปฏิเสธข้อนี้ สิ่งที่เราปฏิเสธคือมันไม่มีเจ้า “ตัวฉัน” ที่คลำพบได้ ที่ต้องได้ตามต้องการเสมอ เพราะว่าไม่มีเหตุผลใดมาสนับสนุนตรงนี้ได้เลย จากการใช้เหตุผลและการสืบค้นแล้ว เราย่อมเห็นได้ว่าสิ่งนี้ไม่มีอยู่จริง และดังนั้นความสับสนของเราที่คิดว่ามันสอดคล้องกับสิ่งที่เป็นจริงจึงไม่ได้รับการสนับสนุนโดยสิ่งใดเลย
ผลลัพธ์ของการคิดว่าเราดำรงอยู่ในลักษณะที่เป็นไปไม่ได้เช่นนี้คืออะไรเหรอ เราทำให้ตัวเองเศร้าโศกเสียใจ! ผลลัพธ์ของการคิดว่าไม่มีการดำรงอยู่แบบนั้นคืออะไรเหรอ เราปลดปล่อยตนเองออกจากปัญหาทั้งหมดเหล่านี้ เมื่อผมคิดว่า “มันไม่มีสิ่งนี้อยู่จริง มันเป็นเรื่องไร้สาระ” จึงเป็นไปไม่ได้ที่ผมจะคิดในขณะเดียวกันว่าสิ่งนี้สอดคล้องกับความเป็นจริง ความเข้าใจที่ถูกต้องเข้าทดแทนและทรงพลังเหนือความเข้าใจที่ผิด หากเราสามารถตั้งจิตให้มั่นอยู่ในความเข้าใจที่ถูกต้องตลอดเวลา เมื่อนั้นความสับสนก็จะไม่อุบัติขึ้นอีก
ตรงนี้ก็เช่นกัน คำสอนของพระพุทธเจ้าที่ว่า ความเข้าใจที่ถูกต้องเรื่องความเป็นจริงสามารถเข้าแทนที่ความเข้าใจผิดและนำพาการหลุดพ้นจากทุกข์และการเกิดใหม่ก็ไม่ใช่เรื่องที่เป็นเอกลักษณ์ ระบบความเชื่อทางอินเดียอื่น ๆ ก็กล่าวถึงจุดนี้เช่นกัน สิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ คือ ความเข้าใจเฉพาะที่จะขับไล่ความสับสนเกี่ยวกับความเป็นจริงในระดับที่แผ่วเบาที่สุดออกไปตลอดกาล ในการบรรลุการจดจ่ออย่างสมบูรณ์ผ่านการเจริญสมาธิ เพื่อปลูกฝังความเข้าใจที่ถูกต้องในจิตของเราและบรรลุการดับความสับสนอย่างแท้จริง พระพุทธเจ้าทรงใช้ประโยชน์จากวิธีการทั้งหลายที่พบได้ในศาสนาทางอินเดียทั้งหมด ด้วยการทำเช่นนี้ เราจึงสามารถบรรลุการดับที่แท้จริงของเหตุที่แท้จริง จึงเป็นการดับทุกข์ที่แท้จริงด้วย
สิ่งที่ให้พละกำลังแก่จิตของเราในการตั้งมั่นอยู่ในความเข้าใจที่ถูกต้องเรื่องความเป็นจริง ให้ตัดผ่านอารมณ์เชิงทำลายทั้งหลายทั้งปวง คือ แรงจูงใจ ตรงนี้เป็นส่วนที่ความรัก ความความเห็นอกเห็นใจ และอื่น ๆ เข้ามามีบทบาท เพราะเราเห็นว่าพวกเราทั้งหลายล้วนเกี่ยวพันเชื่อมโยงกัน และพวกเราทั้งหลายนั้นเหมือนกันในแง่ที่ว่า เราต่างต้องการความสุข เราจึงจำเป็นต้องกำจัดความสับสนออกเพื่อให้สามารถช่วยเหลือผู้อื่นได้อย่างเต็มที่
เช่นนี้เป็นการนำเสนอขั้นพื้นฐานเรื่องอริยสัจสี่ เพื่อทำความเข้าใจแต่ละประการให้ลึกซึ้งขึ้น เราจำเป็นต้องเรียนรู้เพิ่มเติมอีกเล็กน้อยเกี่ยวกับความเข้าใจทางพระพุทธศาสนาเรื่องจิตและเรื่องกรรม
บทสรุป
แม้ว่าพระพุทธศาสนาจะมีสิ่งที่เหมือนกับศาสนาสำคัญและระบบปรัชญาอื่น ๆ มากมาย อริยสัจสี่ ซึ่งเป็นคำสอนแรกของพระพุทธเจ้า ถือเป็นการนำเสนออันมีเอกลักษณ์ในเรื่องลักษณะการดำรงอยู่ของเรา ความทุกข์ทรมานที่เราประสบ และวิธีการเอาชนะปัญหาของเรา
พระพุทธเจ้ามักได้รับการเปรียบกับแพทย์ แพทย์ยืนยันว่าเราป่วยฉันใด พระพุทธเจ้าก็ทรงชี้ให้เห็นถึงความทุกข์นานาประการที่สรรพชีวิตทุกแห่งหนต้องประสบฉันนั้น แพทย์ค้นหาเหตุของอาการป่วยฉันใด พระพุทธเจ้าก็ทรงชี้ให้เห็นถึงเหตุที่แท้จริงของการมีความสับสนเกี่ยวกับลักษณะที่เราดำรงอยู่ฉันนั้น จากนั้นพวกเขาจึงบอกเราว่าสามารถรักษาหายได้หรือไม่ และให้ยารักษาแก่เราถ้าเป็นไปได้ เฉกเช่นเดียวกัน พระพุทธเจ้าทรงสอนการดับที่แท้จริงและวิธีไปถึงจุดนั้น ท้ายที่สุดแล้วก็ขึ้นอยู่กับตัวเราเองว่าจะทานยานั้นหรือไม่ หรือว่าจะเดินบนหนทางนี้หรือไม่ หากเราต้องการเอาชนะความทุกข์ของเรา