คำจำกัดความของพฤติกรรมที่เป็นการทำลาย
จริยธรรมแต่ละระบบมีรายการประเภทของพฤติกรรมที่เป็นการทำลายตามแนวคิดที่แตกต่างกันว่า พฤติกรรมใดที่ยอมรับได้และพฤติกรรมใดที่ยอมรับไม่ได้ ระบบของศาสนาและระบบของพลเมืองยึดหลักกฎหมายที่มาจากผู้มีอำนาจแห่งสวรรค์ ประมุขของรัฐ หรือสภานิติบัญญัติบางอย่าง เมื่อเราไม่เชื่อฟัง เรามีความผิด และจำเป็นต้องได้รับการลงโทษ เมื่อเราเชื่อฟัง เราได้รับรางวัลไม่ว่าจะในสวรรค์หรือในชาตินี้เป็นสังคมที่ปลอดภัยและสมานฉันท์ ระบบของผู้มีมนุษยธรรมมุ่งเน้นไปที่การไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้อื่น แต่สิ่งนี้ก็เป็นปัญหาเช่นกัน นั่นคือ เราสามารถตัดสินได้เสมอไปหรือว่า จริง ๆ แล้ว อะไรที่เป็นอันตรายหรืออะไรที่เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น? ตัวอย่างเช่น การตะโกนใส่ใครบางคนอาจทำร้ายความรู้สึกของคน ๆ นั้น หรืออาจช่วยให้คน ๆ นั้นหลีกเลี่ยงจากอันตรายบางอย่างได้
จริยธรรมทางพระพุทธศาสนาเน้นการละเว้นจากพฤติกรรมทำลายตัวเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การกระทำในลักษณะที่จะทำร้ายเราในระยะยาว หากเราตะโกนใส่คนขับรถคนที่พยายามจะแซงเราอย่างบ้าคลั่ง มันอาจจะทำให้เรารู้สึกดีขึ้นชั่วขณะหนึ่ง แต่มันก็จะทำให้จิตใจของเราไม่สงบและทำให้พลังงานของเราสั่นคลอน ทำให้เราสูญเสียความสงบแห่งจิตใจ เมื่อเราตะโกนเป็นนิสัย เราก็จะไม่สามารถทนต่อความไม่สะดวกสบายใด ๆ โดยไม่อารมณ์เสียได้ สิ่งนี้ไม่เพียงทำลายความสัมพันธ์ของเรากับผู้อื่นเท่านั้น แต่ยังทำลายสุขภาพของเราเองด้วย
ในทางกลับกัน เมื่อพฤติกรรมของเราเกิดจากความเป็นห่วงกังวลผู้อื่นอย่างแท้จริงแล้ว ด้วยความรัก ความเห็นอกเห็นใจ และความเข้าใจ แน่นอนว่า เราก็จะละเว้นจากการตะโกนนั้นแม้ว่าเราจะรู้สึกอยากทำเช่นนั้นโดยอัตโนมัติก็ตาม นั่นคือ เรายินดีให้คนขับรถคนนั้นแซงผ่านเราไปได้ ผลที่ได้คือ คนขับรถรู้สึกเป็นสุข และเราก็ได้รับประโยชน์ด้วย นั่นคือ เราใจเย็นและสงบด้วยสภาพจิตใจที่มีความสุขโดยแท้จริง เราไม่กลั้นความอยากที่จะตะโกนและจบลงด้วยความหงุดหงิด แต่เราเห็นว่าทุกคนที่อยู่บนท้องถนนต้องการไปให้ถึงที่หมายโดยเร็วที่สุดเท่า ๆ กัน ดังนั้น เราจึงเข้าใจถึงความไร้ประโยชน์และไร้จุดหมายของการพยายามทำให้การขับรถของเราเข้าไปสู่การแข่งขัน
พระพุทธศาสนาให้คำจำกัดความพฤติกรรมที่เป็นการทำลายว่า เป็นกระทำที่ถูกบีบบังคับภายใต้อิทธิพลของอารมณ์ที่รบกวนจิตใจและนิสัยเชิงลบ เราไม่ได้แยกแยะอย่างถูกต้องระหว่างสิ่งที่เป็นอันตรายกับสิ่งที่เป็นประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นเพราะว่าเราแค่ไม่รู้ว่าอะไรดีที่สุดหรือบางทีเราอาจจะรู้ แต่เราขาดการควบคุมตนเองโดยสิ้นเชิง อารมณ์ที่รบกวนจิตใจหลัก ๆ คือความโลภและความโกรธ บวกกับความไม่รู้เกี่ยวกับผลที่ตามมาของการกระทำ การพูด และการคิดของเราเมื่อถูกขับเคลื่อนด้วยอารมณ์ที่สร้างปัญหาเหล่านี้ ยิ่งไปกว่านั้น เรามักจะขาดความรู้สึกการเห็นคุณค่าในตนเอง ดังนั้น จึงไม่สนใจเลยว่าเราจะประพฤติตนอย่างไร เรามีทัศนคติเชิงลบของ อะไรก็ได้ ที่ว่าไม่มีอะไรสำคัญเลย ยกเว้นเรื่องที่ผิวเผินสองสามอย่าง เช่น เราแต่งตัวอย่างไร ทรงผมของเราเป็นอย่างไร และเพื่อนของเราเป็นใคร เราไม่สนใจเลยว่าพฤติกรรมของเราจะสะท้อนให้เห็นถึงคนรุ่นเราทั้งหมดอย่างไร หรือต่อเพศ เชื้อชาติ สัญชาติ ศาสนา หรือกลุ่มใดก็ตามที่เราคิดว่าเป็นเหมือนกันอย่างไร เราขาดศักดิ์ศรีและความเคารพตนเอง
การกระทำที่เป็นการทำลาย 10 ประการแบบดั้งเดิม
มีการกระทำทางกาย ทางวาจา และทางใจมากมายที่เป็นไปในทางทำลาย พระพุทธศาสนาอธิบายสิ่งที่เป็นอันตรายที่สุดไว้ 10 ประการ สิ่งเหล่านี้เป็นอันตรายเพราะมักจะเกิดขึ้นจากอารมณ์ที่รบกวนจิตใจ ความไม่ละอายใจ ไม่มีความกระดากอาย และเพียงแค่ไม่มีความห่วงใยก็เท่านั้น สิ่งเหล่านี้มาจากนิสัยที่ฝังรากลึกและเป็นผลให้ตอกย้ำแนวโน้มพฤติกรรมเชิงลบของเรา ในระยะยาว พฤติกรรมที่เป็นการทำลายของเราจะส่งผลให้ชีวิตไม่มีความสุขซึ่งก็จะยังคงทำให้เราสร้างปัญหาให้ตัวเองต่อไป
พฤติกรรมทางกายที่เป็นการทำลายมี 3 ประเภท ได้แก่
- การเอาชีวิตของผู้อื่น – ตั้งแต่คนลงไปจนถึงแมลงที่เล็กที่สุด ผลก็คือ เราไม่มีความอดทนต่อสิ่งที่เราเห็นว่าไม่เป็นที่พอใจ การตอบสนองทันทีของเราต่อสิ่งที่เราไม่ชอบคือ โจมตีและทำลายมัน ซึ่งบ่อยครั้งก็ทำให้เราต่อสู้กัน
- การเอาของที่เขาไม่ได้ให้เรา – การขโมย ไม่คืนของที่เรายืมมา ใช้ของของคนอื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นต้น ด้วยเหตุนี้ เราจึงรู้สึกต่ำต้อยและรู้สึกตกเป็นเหยื่ออยู่เสมอ ไม่มีใครจะให้เรายืมอะไร ความสัมพันธ์ของเรากับผู้อื่นกลายเป็นตั้งอยู่บนการเอารัดเอาเปรียบซึ่งกันและกันเป็นหลัก
- การมีพฤติกรรมทางเพศที่ไม่เหมาะสม – การข่มขืน การคบชู้ การร่วมเพศระหว่างพี่น้อง ฯลฯ ด้วยเหตุนี้ โดยส่วนมากแล้วความสัมพันธ์ทางเพศของเราจึงเป็นไปในระยะสั้น และทั้งเราและคู่นอนที่เปลี่ยนบ่อยของเราก็เพียงแค่มองกันและกันเหมือนเป็นวัตถุสิ่งของก็เท่านั้น เราสนใจสิ่งที่โดยพื้นฐานแล้วเป็นสิ่งที่สกปรกโสโครก
พฤติกรรมทางวาจาที่เป็นการทำลายมี 4 ประเภท ได้แก่
- การโกหก – พูดสิ่งที่ไม่เป็นความจริงโดยตั้งใจ ทำให้ผู้อื่นเข้าใจผิด ฯลฯ ผลก็คือ ไม่มีใครเชื่อหรือไว้วางใจในสิ่งที่เราพูดและเราก็ไม่เชื่อใจในสิ่งที่พวกเขาพูดเช่นกัน เราไม่สามารถแยกแยะความแตกต่างระหว่างความเป็นจริงกับสิ่งที่เราปั้นแต่งขึ้นมาของเราเองได้
- การพูดจาที่ทำให้เกิดความแตกแยก – พูดถึงสิ่งที่ไม่ดีเกี่ยวกับผู้อื่นเพื่อทำให้พวกเขาแตกแยกกัน หรือทำให้ความเป็นศัตรูหรือความบาดหมางของพวกเขาแย่ลง ส่งผลให้มิตรภาพของเราไม่ยั่งยืนเพราะเพื่อนของเราระแวงว่าเราจะพูดไม่ดีเกี่ยวกับพวกเขาลับหลัง เราจะขาดเพื่อนสนิท แล้วก็จะรู้สึกโดดเดี่ยวและเดียวดาย
- การพูดจารุนแรงหยาบคาย – พูดสิ่งที่ทำร้ายจิตใจผู้อื่น เป็นผลให้ผู้คนไม่ชอบและหลีกเลี่ยงเรา แม้แต่ตอนที่อยู่กับเรา คนอื่น ๆ ก็ไม่สามารถผ่อนคลายได้และพวกเขาก็มักจะพูดสิ่งที่น่ารังเกียจกลับมาที่เรา เรายิ่งจะโดดเดี่ยวและเดียวดายมากขึ้นไปอีก
- การพูดคุยอย่างไร้ความหมาย – เสียเวลาของเราเองและเวลาของคนอื่นไปกับการพูดคุยที่ไร้ความหมาย ขัดจังหวะผู้อื่นด้วยคำพูดที่ไร้ค่าของเราเมื่อพวกเขากำลังทำสิ่งที่เป็นบวก เป็นผลให้ไม่มีใครให้ความสำคัญกับเรา เราไม่สามารถให้ความใส่ใจกับงานใด ๆ ได้โดยที่ไม่เช็คอุปกรณ์มือถือของเราทุก ๆ 2-3 นาที เราจึงทำอะไรที่สำคัญหรือมีความหมายไม่สำเร็จสักอย่างเดียว
วิธีการคิดที่เป็นการทำลายมี 3 ประเภท ได้แก่
- การคิดอย่างโลภ – เพราะความอิจฉาริษยา จึงคิดและวางแผนอย่างหมกมุ่นว่าจะทำอย่างไรให้ได้ของบางอย่าง หรือคุณสมบัติบางอย่างที่คนอื่นมีหรือที่ดีกว่ามา เพื่อเอาชนะพวกเขา ส่งผลให้เราไม่มีความสงบในจิตใจหรือรู้สึกเบิกบานใจเพราะเรามักจะทุกข์ทรมานด้วยความคิดเชิงลบเกี่ยวกับความสำเร็จของผู้อื่นอยู่เสมอ
- การคิดมุ่งร้าย – คิดและวางแผนว่าจะทำร้ายคนอื่นอย่างไร หรือจะแก้แค้นสิ่งที่พวกเขาพูดหรือทำอย่างไร เป็นผลให้เราไม่เคยรู้สึกปลอดภัยหรือสามารถผ่อนคลายได้เลย ทำให้เราอยู่ในความหวาดระแวงและความกลัวอยู่เสมอ กลัวว่าคนอื่นจะวางแผนร้ายต่อเราด้วยเช่นกัน
- การคิดอย่างบิดเบือนด้วยการต่อต้าน – ไม่ใช่แค่การคิดอย่างดื้อรั้นซึ่งขัดกับความจริงและความถูกต้องเท่านั้น แต่ยังเป็นการโต้เถียงในใจของเรากับผู้อื่นที่ไม่เห็นด้วยกับเราและแสดงออกด้วยท่าทีก้าวร้าวด้วย ผลก็คือ ทำให้เราเป็นคนใจแคบมากขึ้น ไม่ยอมรับฟังข้อเสนอแนะหรือคำแนะนำที่เป็นประโยชน์ใด ๆ เลย ใจของเราก็จะปิดสำหรับคนอื่นเช่นกัน นึกถึงแต่ตัวเองอยู่เสมอและคิดว่าตัวเราเองถูกเสมอ เราจึงยังคงไม่รู้และโง่เขลาต่อไป
ไม่ว่าภูมิหลังทางศาสนาหรือความเชื่อของเราจะเป็นอย่างไร การงดเว้นจากพฤติกรรม 10 ข้อเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญสำหรับทุกคนที่ต้องการดำเนินชีวิตที่มีความสุขมากขึ้น
พฤติกรรมที่เป็นการทำลาย 10 ประเภทที่กว้างขึ้น
การกระทำที่เป็นการทำลาย 10 ประการนั้นแนะประเภทของพฤติกรรมกว้าง ๆ ทั่วไปที่เราต้องหลีกเลี่ยง เราต้องคิดให้กว้างและครอบคลุมที่สุดเกี่ยวกับพฤติกรรมของเราและผลที่ตามมาของมัน ต่อไปนี้คือตัวอย่างบางส่วนที่ควรคำนึงถึง แต่ผมแน่ใจว่าเราแต่ละคนสามารถให้รายละเอียดเพิ่มเติมในรายการนี้ได้
- การเอาชีวิตของผู้อื่น – ทุบ ตี หรือปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างหยาบคาย ไม่สนใจที่จะช่วยเหลือคน ๆ หนึ่งเวลาที่คน ๆ นั้นต้องการความช่วยเหลือ เดินไปกับคนป่วยหรือคนชราเร็วเกินไป และก่อให้เกิดอันตรายทางกายทุกประเภท รวมทั้งการสร้างมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมและการสูบบุหรี่ในบริเวณใกล้เคียงกับบริเวณของผู้ที่ไม่สูบบุหรี่โดยเฉพาะเด็ก
- การเอาของที่เขาไม่ได้ให้เรา – ดาวน์โหลดข้อมูลหรือเนื้อหาจากอินเทอร์เน็ตอย่างผิดกฎหมาย คัดลอกผลงาน ฉ้อโกง เลี่ยงภาษี บุกรุกความเป็นส่วนตัวของผู้อื่น และแม้กระทั่งการชิมอาหารจากจานของแฟนหรือเพื่อนของเราโดยไม่ถามก่อน
- มีพฤติกรรมทางเพศที่ไม่เหมาะสม – ล่วงละเมิดทางเพศ ไม่สนใจความต้องการของคู่ครองของเราตอนที่มีเพศสัมพันธ์กัน และแสดงความรักน้อยเกินไปหรือมากเกินไป
- การโกหก – หลอกลวงผู้อื่นเกี่ยวกับความรู้สึกที่แท้จริงหรือความตั้งใจของเราในความสัมพันธ์ของเรากับคน ๆ นั้น
- การพูดจาที่ทำให้เกิดความแตกแยก – วิจารณ์สิ่งที่เป็นบวกหรือเป็นกลางทางจริยธรรมที่บุคคลหนึ่งเกี่ยวข้องหรือกำลังวางแผนที่จะทำและทำให้คน ๆ นั้นหมดกำลังใจที่จะมีส่วนร่วมในสิ่งนั้น
- การพูดจารุนแรงหยาบคาย – ตะโกนใส่ผู้อื่น พูดด้วยน้ำเสียงที่ก้าวร้าว พูดจาไร้ความเห็นอกเห็นใจและวิจารณ์ผู้อื่นเวลาที่พวกเขามีความเปราะบางทางอารมณ์ และใช้ภาษาที่หยาบคายหรือประชดประชันในการคบหาสมาคมที่ไม่เหมาะสมหรือในเวลาที่ไม่เหมาะสม
- การพูดคุยอย่างไร้ความหมาย – ทรยศต่อความมั่นใจของผู้อื่นและเปิดเผยความลับที่เป็นส่วนตัวของพวกเขากับผู้อื่น ส่งข้อความถึงผู้อื่นเกี่ยวกับเรื่องไร้สาระโดยเฉพาะอย่างยิ่งในตอนกลางคืน โพสต์รูปภาพและแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับแง่มุมเล็ก ๆ น้อย ๆ ในชีวิตประจำวันของเราบนโซเชียลมีเดีย รบกวนผู้อื่นโดยไม่ยอมให้พวกเขาพูดให้จบ และพูดจาไร้สาระ หรือพูดเรื่องที่โง่เขลาในระหว่างการสนทนาที่สำคัญ
- การคิดอย่างโลภ – หวังว่าคนที่เรากำลังทานอาหารด้วยที่ร้านอาหารจะให้เราชิมหรือจิบสิ่งที่พวกเขาสั่งมา และเมื่อเห็นรูปถ่ายหรืออ่านโพสต์บนโซเชียลมีเดียเกี่ยวกับช่วงเวลาที่น่าตื่นเต้น ยอดเยี่ยมที่คนอื่นมี ก็รู้สึกสงสารตัวเราเองและคิดด้วยความอิจฉาและหวังว่าเราจะเป็นที่นิยมและมีความสุขได้อย่างไร
- การคิดมุ่งร้าย – เมื่อมีคนพูดอะไรที่น่ารังเกียจหรือโหดร้ายกับเรา แล้วเราก็อึ้งจนพูดไม่ออก จึงคิดในใจจากนั้นว่าควรจะพูดอะไรกลับไปเพื่อที่จะทำร้ายคน ๆ นั้น
- การคิดอย่างบิดเบือนด้วยการต่อต้าน – คิดในแง่ลบ คิดร้ายเกี่ยวกับคนที่เสนอหรือพยายามช่วยเราทำอะไรบางอย่างที่เรารู้สึกว่าเราสามารถจัดการได้ด้วยตัวเราเอง และคิดว่าใครบางคนที่พยายามปรับปรุงตัวเขาเองในบางด้านที่เป็นประโยชน์แต่เราไม่สนใจหรือคิดว่าไม่สำคัญ นั้นโง่แค่ไหน
การกระทำที่เป็นไปในทางทำลายตัวเราเอง
วิธีที่เราปฏิบัติต่อตัวเราเองอาจเป็นอันตรายได้พอ ๆ กับตอนที่พฤติกรรมของเรามุ่งเป้าไปที่ผู้อื่น ในการที่จะมีชีวิตที่มีความสุขมากขึ้น เราต้องรับรู้ถึงรูปแบบในเชิงลบเหล่านี้และพยายามแก้ไขมัน เช่นเคยว่า การกระทำที่เป็นการทำลาย 10 ประเภทนั้นชี้แนะประเภทของพฤติกรรมที่เราจำเป็นต้องยุติ
- การเอาชีวิตของผู้อื่น – ทำร้ายร่างกายตนเองด้วยการทำงานหนักเกินไป กินอาหารที่ไม่ดี ไม่ออกกำลังกาย หรือนอนพักผ่อนไม่เพียงพอ
- การเอาของที่เขาไม่ได้ให้เรา – เสียเงินไปกับของไร้สาระ หรือขี้เหนียวเมื่อใช้จ่ายเพื่อตัวเองในยามที่เรามีเงินจ่ายได้
- มีพฤติกรรมทางเพศที่ไม่เหมาะสม – มีส่วนร่วมในกิจกรรมทางเพศที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของเรา หรือสร้างมลพิษทางจิตใจด้วยภาพลามกอนาจาร
- การโกหก - หลอกตัวเองเกี่ยวกับความรู้สึกหรือแรงจูงใจของเรา
- การพูดจาที่ทำให้เกิดความแตกแยก – พูดจาในแบบที่น่ารังเกียจ เช่น บ่นตลอดเวลา จนคนอื่นรู้สึกไม่สบายใจที่จะอยู่กับเรา จึงหลีกเลี่ยงที่จะคบค้าสมาคมกับเรา
- การพูดจารุนแรงหยาบคาย – ก่นด่าตัวเราเอง
- การพูดคุยอย่างไร้ความหมาย – พูดอย่างขาดการพิจารณาเกี่ยวกับเรื่องส่วนตัว ความสงสัย หรือความกังวลของเรา หรือเสียเวลานับไม่ถ้วนไปกับการดูโซเชียลมีเดีย เล่นวิดีโอเกม หรือท่องอินเทอร์เน็ตโดยไม่สนใจอะไรเลย
- การคิดอย่างโลภ – คิดที่จะเอาชนะตัวเราเองเพราะการเป็นคนที่สมบูรณ์แบบของเรา
- การคิดมุ่งร้าย – คิดด้วยความรู้สึกผิดว่าเราแย่แค่ไหนและไม่สมควรที่จะมีความสุข
- การคิดอย่างบิดเบือนด้วยการต่อต้าน – คิดว่าเราโง่ที่พยายามจะปรับปรุงตัวเราเองหรือเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น
วิธีจัดการกับรูปแบบที่เป็นการทำลายของเรา
เมื่อเราเริ่มมองดูพฤติกรรมที่เป็นการทำลายที่เราเคยทำในอดีต สิ่งสำคัญคือต้องหลีกเลี่ยงความรู้สึกด้านลบเกี่ยวกับตัวเราเอง แทนที่จะกลายเป็นอัมพาตด้วยความรู้สึกผิด เราควรรับรู้ว่าสิ่งที่เราทำนั้นเกิดจากความไม่รู้และขาดประสบการณ์ในเรื่องของผลกระทบของพฤติกรรมของเรา นั่นคือ เราถูกผลักดันด้วยอารมณ์ที่รบกวนจิตใจของเรา ไม่ใช่เพราะว่าเราไม่ดีโดยกำเนิด เรารู้สึกเสียใจกับสิ่งที่เราทำไป โดยหวังว่ามันไม่ได้เกิดขึ้น แต่ตระหนักดีว่าเราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอดีตได้ สิ่งที่ผ่านไปแล้วคืออดีต แต่ตอนนี้เราสามารถแก้ไขได้ว่าจะพยายามไม่ให้เกิดพฤติกรรมดังกล่าวซ้ำอีก จากนั้นเราก็ยืนยันทิศทางเชิงบวกอีกครั้งว่าเราจะพยายามวางมันไว้ในชีวิตของเรา และพยายามมีส่วนร่วมในการกระทำที่สร้างสรรค์ให้มากที่สุดโดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของความรักและความเห็นอกเห็นใจ สิ่งนี้จะสร้างนิสัยเชิงบวกมากขึ้นเพื่อถ่วงดุลและก็จะมีค่าเกินกว่านิสัยเชิงลบในที่สุด
จากนั้น เราก็จะเริ่มชะลอการตอบสนองของเราต่อผู้คนและเหตุการณ์ที่เราพบเพื่อที่เราจะได้มีพื้นที่ว่างระหว่างตอนที่เรารู้สึกอยากแสดงออกไปในทางทำลายอันเป็นนิสัยกับตอนที่เราแสดงออกมาจริง ๆ เราใช้ช่วงเวลานั้นตัดสินใจว่าอะไรจะเป็นประโยชน์และอะไรที่จะเป็นอันตราย ซึ่งจะช่วยให้เราละเว้นจากการกระทำ การพูด หรือการคิดสิ่งที่เป็นการทำลายได้ ดังที่ปรมาจารย์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งพุทธศาสนาชาวอินเดียนามว่า ศานติเทวะ ได้แนะนำว่า “จงเป็นเหมือนท่อนไม้” เราสามารถทำเช่นนั้นได้ แต่ต้องทำด้วยความเข้าใจ ความรัก ความเห็นอกเห็นใจ และเคารพทั้งต่อตนเองและผู้อื่น ไม่ใช่ว่าเรากำลังอดกลั้นกับทุกสิ่งซึ่งจะทำให้เราแค่วิตกกังวลและเครียดก็เท่านั้น ด้วยจิตใจที่เฉลียวฉลาดและเห็นอกเห็นใจ เราจะขจัดพลังงานด้านลบที่ผลักดันให้เราทำหรือพูดในสิ่งที่เราจะเสียใจในภายหลัง จากนั้นแล้ว เราก็จะเป็นอิสระที่จะประพฤติตนอย่างสร้างสรรค์โดยตั้งอยู่บนอารมณ์และความเข้าใจเชิงบวก
บทสรุป
เมื่อเราละเว้นจากพฤติกรรมที่เป็นการทำลาย มันไม่เพียงแต่จะเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นเท่านั้น แต่ยังเป็นผลดีต่อตนเองในท้ายที่สุดอีกด้วย เมื่อเราเห็นว่าพฤติกรรมของเราเองเป็นต้นเหตุแห่งความทุกข์ของเราเอง ซึ่งจริง ๆ แล้วโดยธรรมชาติ เราก็จะมีความสุขในการหลีกเลี่ยงนิสัยและการกระทำที่เป็นการทำลายและเป็นลบ เมื่อเราหยุดเสริมสร้างนิสัยเหล่านี้ ความสัมพันธ์ของเรากับผู้อื่นก็จะดีขึ้นและจริงใจมากขึ้น ในขณะเดียวกันเราก็จะรู้สึกสงบกับตัวเราเองมากขึ้น ถ้าเราต้องการความสงบในใจจริง ๆ เราจะต้องพยายามกำจัดการกระทำ การพูด และการคิดที่เป็นการทำลายออกไป การทำเช่นนี้จะช่วยปรับปรุงคุณภาพชีวิตของเราได้อย่างมาก