อริยสัจสี่ในภาษาทั่วไป
ผมรู้สึกดีใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้มาเยือนเมืองฮาลาปาอีกครั้ง และหัวข้อที่ผมได้รับเชิญมาพูดในค่ำคื่นนี้ก็คือเรื่องกรรม แน่นอนว่าเวลาเราศึกษาหัวข้อต่าง ๆ ในพระพุทธศาสนา เราจำเป็นต้องรู้บ้างว่าเราต้องการศึกษาสิ่งเหล่านี้ไปทำไม? สิ่งนี้สำคัญอย่างไร? และเชื่อมโยงกับบริบททั้งหมดของพระพุทธศาสนาอย่างไร? โดยพื้นฐานแล้วพระพุทธเจ้าทรงตรัสถึงประสบการณ์ของชีวิตทุกคน สิ่งที่เราสัมผัสในชีวิต และสิ่งที่เกิดขึ้น ทุกคนว่าอะไรเป็นสิ่งขั้นพื้นฐานที่สุดที่เราสัมผัสครับ? สิ่งนั้นก็คือการที่บางครั้งเราก็ไม่มีความสุขและบางครั้งเราก็มีความสุข นี่คือวิธีที่เราสัมผัสประสบการณ์ชีวิต จริงไหมครับ?
หากเราพินิจดูสถานการณ์ที่บางครั้งเราก็ไม่มีความสุข บางครั้งก็มีความสุข เราจะพบว่ามีปัญหามากมายที่เกี่ยวข้องกับส่วนนี้ เมื่อเราไม่มีความสุข ก็เห็นได้ชัดว่าเราทุกข์ ไม่มีใครอยากทุกข์ จริงไหมครับ? เราอาจรู้สึกไม่มีความสุขเวลาเห็นสิ่งต่าง ๆ เช่น เห็นเพื่อนจากไป หรือได้ยินสิ่งต่าง ๆ เช่น คำพูดที่ไม่น่ารื่นรมย์ และเราก็สามารถไม่มีความสุขเวลาคิดถึงเรื่องต่าง ๆ ด้วยอารมณ์ต่างต่างนานา แต่บางครั้งเราก็รู้สึกไม่มีความสุขโดยดูเหมือนจะไม่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่เราเห็นหรือได้ยิน หรืออะไรก็ตามที่เกิดรอบตัวเราเลย นี่คือปัญหา จริงไหมครับ?
แล้วถ้าเป็นความสุขล่ะ? บางครั้งเราก็รู้สึกมีความสุขใช่ไหมครับ? เรารู้สึกมีความสุขเวลาได้เห็นหรือได้ยินสิ่งต่าง ๆ ได้ยินเสียงคนที่เรารัก และเราก็สามารถมีความสุขเวลาคิดถึงอะไรบางอย่าง เช่น การนึกถึงช่วงเวลาดี ๆ ที่เรามีกับใครบางคน แต่หากเรามองให้ลึกลงไปแล้ว เราจะพบว่าความสุขที่เราประสบอยู่นั้นก็มีปัญหาเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยเช่นกัน ก่อนอื่นเลย ความสุขนี้ไม่เคยจีรังยั่งยืน และเราก็ไม่รู้ด้วยว่ามันจะคงอยู่ไปอีกนานแค่ไหน แล้วมันก็ดูไม่เคยพอเลย เราอาจจะมีความสุขกับการที่ได้ทานอาหารหนึ่งช้อนพูน แต่นั่นมันไม่พอ เราอยากทานอีกเรื่อย ๆ จริง ๆ แล้วนั่นเป็นคำถามที่น่าสนใจมากนะครับ คนเราต้องทานสิ่งนั้นมากเท่าไหร่เพื่อให้เพลิดเพลินกับมันได้จริง ๆ? ลองคิดดูนะครับ ข้อเสียอีกอย่างหนึ่ง ข้อบกพร่องอีกอย่างหนึ่งของความสุขนี้ก็คือ เราไม่รู้ว่าจะต้องเผชิญกับอะไรต่อไป เราอาจจะยังมีความสุขในนาทีต่อไป หรือเราอาจจะไม่มีความสุขก็ได้ มันเปลี่ยนแปลงได้เสมอ เพราะฉะนั้นจึงไม่มีความมั่นคงในความสุขลักษณะดังกล่าวเลย
จริง ๆ แล้ว ความรู้แจ้งหรือการวิเคราะห์ความสุขและความทุกข์ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่แต่อย่างใดในพระพุทธศาสนา นักปรัชญาหลายท่านในโลกก็สังเกตเห็นและสอนเกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่สิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสอน สิ่งที่พระองค์ทรงเข้าใจคือ ประเภทของปัญหาหรือทุกข์ในเชิงที่ลึกซึ้งมากขึ้น พระองค์ทรงพิจารณาสถานการณ์ขึ้นลงในชีวิตของทุกคน ความสุขและความทุกข์ที่สลับกันไปมาอยู่เสมอ และสิ่งที่พระองค์ทรงเข้าใจคือ สาเหตุของการเกิดเรื่องแบบนี้ขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของทุกขณะเวลาชีวิตที่เราประสบ พูดอีกอย่างก็คือ วิธีที่เราสัมผัสประสบการณ์ขึ้นลง ทั้งทุกข์ทั้งสุขนั้นสร้างความต่อเนื่องให้สถานการณ์อันไม่น่าพึงพอใจดังกล่าวคงอยู่ตลอดไป
ดังนั้น พระพุทธเจ้าจึงทรงมองและเห็นถึงสาเหตุที่มีอยู่ในทุก ๆ ขณะเวลา และซึ่งเป็นตัวสร้างความต่อเนื่องให้กับสถานการณ์อันไม่น่าพึงพอใจนี้ คืออะไรและพระองค์ก็ทรงพบว่าสาเหตุหลักคือความสับสนเกี่ยวกับความเป็นจริงนั่นเอง กล่าวอีกนัยหนึ่ง ก็คือ ความสับสนเกี่ยวกับการดำรงอยู่ของเรา ของทุกคนรอบตัวเรา และของโลกนี้
สิ่งนี้ค่อนข้างแตกต่างจากสิ่งที่หลายคนพูดไว้มาก ยกตัวอย่างเช่น บางคนกล่าวว่าจริง ๆ แล้วชีวิตขาขึ้นขาลงที่เราประสบอยู่นั้นเกิดขึ้นจากการได้รับรางวัลและการลงโทษ จากการปฏิบัติตามกฏหมายและการละเมิดกฏหมาย อาจารย์หลายท่านก็กล่าวว่าปัญหาพื้นฐานของความรู้สึกสุขและทุกข์ก็คือ การเชื่อฟังนั่นเอง แต่พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า ไม่ นั่นไม่ใช่สาเหตุ สาเหตุที่แท้จริงคือความสับสนของเราต่างหาก ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องเชื่อฟังหรือไม่เชื่อฟัง มันคือภาวะสับสนเกี่ยวกับชีวิต จากนั้นพระพุทธองค์จึงตรัสต่อไปว่า ความสับสนดังกล่าวมิใช่ส่วนหลักหรือสิ่งที่จำเป็นในชีวิตและการสัมผัสประสบการณ์ชีวิตของเราเลย ความสับสนนี้ไม่จำเป็นต้องอยู่ตรงนี้ มันเป็นสิ่งที่เราสามารถกำจัดออกไปได้ และสามารถกำจัดออกไปอย่างสมบูรณ์ได้ด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้มันกลับมาอีก จากนั้นท่านจึงตรัสว่าวิธีที่จะทำได้เช่นนั้นคือ การเปลี่ยนวิธีการสัมผัสประสบการณ์สิ่งต่าง ๆ ของเรานั่นเอง
การกำจัดความสับสนออกไม่ใช่การไปขอให้ผู้อื่นกำจัดออกให้เรา แต่มันเป็นเรื่องของการเปลี่ยนทัศนคติ เปลี่ยนความเข้าใจของเราเกี่ยวกับความเป็นจริง หากเราสามารถนำความเข้าใจใส่ลงไปแทนที่ความไม่เข้าใจ และเรามีความเข้าใจนี้ตลอดเวลา เราก็จะพบว่าเราไม่ได้มีสุขทุกข์สลับกันไปมาอยู่ตลอดเวลา และเราก็ไม่ได้ทำให้การสลับสุขทุกข์นี้คงอยู่ตลอดไปด้วย นั่นคือการสรุปคำสอนขั้นพื้นฐานของพระพุทธเจ้าในภาษาทั่วไปครับ
กรรมเกี่ยวกับสาเหตุและผลของพฤติกรรม
หากเราพูดถึงกรรม กรรมคือคำอธิบายพื้นฐานเกี่ยวกับว่าประสบการณ์ที่เราสัมผัสกับความทุกข์สุขสลับกันไปมาเกิดขึ้นได้อย่างไรและทำไมจึงเกิดขึ้น นั่นล่ะคือกรรม พูดอีกอย่างก็คือ ความสับสนของเราทำให้เกิดความขึ้นลงของทุกข์สุข รวมถึงประสบการณ์อันน่ารื่นรมย์และไม่พึงประสงค์ได้อย่างไร? พูดอีกอย่างก็คือ กรรมนั้นเกี่ยวข้องกับเหตุและผล และเหตุกับผลที่เราพูดถึงอยู่นี่แหละเป็นหัวข้อที่ซับซ้อนมากเหลือเกิน อย่างที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ว่า ถังน้ำไม่ได้เติมเต็มด้วยน้ำหยดแรกและก็ไม่ได้เติมเต็มด้วยน้ำหยดสุดท้าย หากแต่เป็นหยดน้ำทั้งหมดรวมกัน ในลักษณะเดียวกันนี้ สิ่งที่เราประสบในชีวิตของเราก็ไม่ได้เกิดขึ้นจากสาเหตุเดียว สาเหตุไม่ไม่ใช่แค่เรื่องเดียวนั้นที่เราเพิ่งทำไปก่อนหน้านี้ หรือที่เราทำไปเมื่อหลายกัลป์ที่ผ่านมา มันคือผลของปัจจัยสาเหตุและเงื่อนไขจำนวนมหาศาลรวมกัน
จุดนี้สอดคล้องกับมุมมองทางวิทยาศาสตร์ค่อนข้างมากนะครับ เพราะมันมองว่าเหตุการณ์ต่าง ๆ ไม่ได้เกิดขึ้นด้วยตัวของมันเอง หากแต่ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนเกี่ยวข้องกันทั้งนั้น ยกตัวอย่างง่าย ๆ นะครับ พวกเราคงไม่มานั่งฟังการบรรยายครั้งนี้อยู่ในห้องนี้ หากชาวสเปนไม่ได้เดินทางมายังทวีปอเมริกา จริงไหมครับ? นั่นคือหนึ่งสาเหตุที่ทำไมเราถึงมาอยู่ที่นี่ได้ เมื่อมองในลักษณะนี้แล้ว เราจะเห็นว่ามีเหตุผลมากมาย ทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งร่วมกันส่งผลต่อสถานการณ์ที่เราประสบอยู่ในตอนนี้ หรือในขณะเวลาไหนก็ตาม
อย่างไรก็ตาม กรรมเป็นเครื่องอธิบายถึงเหตุผลต่าง ๆ ที่เชื่อมต่อกับจิตใจของเราโดยเฉพาะ แต่ยังมีเหตุผลอื่น ๆ อีกมากมายที่ส่งผลต่อสิ่งที่เราเผชิญ ไม่ว่าจะเป็นเหตุผลทางกายภาพ อย่างดินฟ้าอากาศและอื่น ๆ อีกมากมาย หลายสิ่งที่มีผลกับเราไม่ได้มาจากจิตใจของเราเองเท่านั้น แต่ยังมาจากจิตใจของผู้อื่นอีกด้วย สมมุติว่าถ้านักการเมืองกลุ่มหนึ่งตัดสินใจใช้นโยบายหลายอย่างที่ส่งผลต่อเรา จุดนี้ก็ทำให้เรื่องนี้ดูสับสนได้เหมือนกันใช่ไหมครับ?
เวลาเราพูดถึงเรื่องกรรม เราไม่ได้พูดถึงความศรัทธา เราไม่ได้พูดถึงพรหมลิขิต หรือชะตาชีวิตที่กำหนดไว้ล่วงหน้าแล้ว หรืออะไรเทือกนั้น หากแต่เราพูดถึงวิธีที่เราประสบกับสิ่งต่าง ๆ และวิธีที่ทัศนคติของเราส่งผลต่อสิ่งที่เราประสบในชีวิต คำว่า “กรรม” นั้นใช้ในความหมายทั่วไป ซึ่งหมายถึงทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ในด้านเหตุและผลของพฤติกรรม พูดอีกอย่างก็คือ ความสัมพันธ์ของเหตุและผลที่มาจากพฤติกรรมและทัศนตคิของเรานั่นเอง “กรรม” อาจใช้เพื่อหมายถึงเรื่องเหตุและผลของพฤติกรรมโดยรวมทั้งหมดก็ได้ หรืออาจใช้เพื่อหมายถึงด้านใดด้านหนึ่งโดยเฉพาะในกระบวนการทั้งหมดนี้ ดังนั้นหากเราอยากเข้าใจกลไกของกรรมแล้วล่ะก็ เราต้องมองกรรมในแง่รายละเอียดแบบเจาะจงมากกว่านี้
ระบบอธิบายเรื่องกรรมหลายแบบ
เมื่อเราเริ่มมองคำอธิบายแบบเจาะจงมากขึ้นในพระพุทธศาสนา เราจะเห็นได้ทันทีเลยว่ามันไม่ได้มีแค่คำอธิบายแบบเดียว ชาวตะวันตกบางคนไม่ค่อยสบายใจกับข้อนี้นัก แต่ถ้าเรามีปัญหาหรือประสบกับสถานการณ์ใดอยู่นั้น เราก็สามารถอธิบายได้จากหลายวิธี โดยขึ้นอยู่กับมุมมองของเรา ในโลกตะวันตกเราทำแบบนั้นอยู่แล้ว เราอธิบายจากมุมมองของสังคม มุมมองด้านจิตวิทยา มุมมองด้านเศรษฐศาสตร์ จุดนี้จึงไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจนัก คำอธิบายหลายแบบนี้ช่วยให้เราสามารถเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นได้สมบูรณ์มากขึ้น และวิธีการอธิบายแต่ละวิธีก็อิงจากระบบความคิดที่แตกต่างกัน ระบบความคิดแบบจิตวิทยา แบบการเมือง แบบเศรษฐศาสตร์ และอื่น ๆ สำหรับพระพุทธศาสนา เราก็มีรูปแบบที่คล้ายคลึงกันเช่นกัน ดังนั้นเราจึงพบว่ามีคำอธิบายเกี่ยวกับการทำงานของกรรมมากมายจากระบบความเชื่อทางปรัชญาที่ต่างกัน จริง ๆ แล้วข้อนี้ก็เป็นจริงในโลกตะวันตกเช่นกันนะครับ แม้แต่ในสาขาเดียวกันอย่างจิตวิทยา มีคำอธิบายจากมุมมองหลักจิตวิทยาแบบฟรอยเดี้ยน (Freudian) คำอธิบายจากมุมมองแบบยุงเงี่ยน (Jungian) คุณอาจจะอธิบายในแบบสังคมนิยมหรือทุนนิยมก็ได้ พระพุทธศาสนาก็เป็นแบบนี้ ซึ่งจริง ๆ แล้วการศึกษาระบบต่าง ๆ เหล่านี้มีประโยชน์มากนะครับ เพราะมันให้ความคิดเชิงลึกที่ต่างกันเกี่ยวกับการทำงานของกรรม สำหรับจุดประสงค์ของเรา เราไม่จำเป็นต้องลงรายละเอียดเกี่ยวกับความแตกต่างของระบบเหล่านี้ แต่การทราบว่ามีระบบที่แตกต่างกันหลายอย่างก็ถือเป็นประโยชน์
แน่นอนว่านี่หมายความว่าเราสามารถมีระบบความคิดแบบตะวันตกที่สามารถอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นกับประสบการณ์ของเราเช่นกัน ข้อนี้ไม่จำเป็นต้องขัดแย้งกับสิ่งที่เราพูดถึงกรรมเสียทีเดียว
กรรมในฐานะปัจจัยทางจิตใจในด้านแรงกระตุ้น
หากเรายึดตามระบบการอธิบายแบบหนึ่งแล้ว กรรมในความหมายของสิ่งเฉพาะตัวนั้นคือปัจจัยทางจิตใจ “ปัจจัยทางจิตใจ” หมายความว่าอย่างไร? ปัจจัยทางจิตใจคือรูปแบบของการตระหนักถึงบางสิ่งบางอย่าง มาดูตัวอย่างกันครับ เราเห็นคนคนหนึ่งและเรากำลังเดินเข้าไปหาคนคนนั้น ในประสบการณ์นี้มีปัจจัยทางจิตใจมากมายที่เข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งก็คือมุมมองต่าง ๆ ของวิธีที่เราตระหนักถึงคนคนนี้ มุมมองเหล่านี้อาจเป็นมุมมองพื้นฐาน เช่น การแยกแยะคนคนนี้ออกจากคนอื่น หรือออกจากกำแพง ความสนใจก็เป็นการตระหนักถึงคนคนนี้ซึ่งมาพร้อมกับการมองเห็นเขาเช่นกัน ในกระบวนการนี้อาจมีการเพ่งสมาธิไปที่เขาคนนั้น รวมถึงอารมณ์หลากหลายอย่างด้วย สิ่งเหล่านี้คือปัจจัยทางจิตใจ และทั้งหมดทำงานเชื่อมโยงกันภายในขณะเวลาที่เราเห็นคนคนนั้นและเดินไปหาเขา
แล้วปัจจัยทางจิตใจแบบไหนคือกรรมล่ะ? กรรมคือปัจจัยทางจิตใจที่ดึงดูดเราให้ไปหาคนคนนั้น มันคือแรงกระตุ้นที่มาพร้อมกับการเห็นเขา แล้วจึงเดินไปหาเขา เพราะฉะนั้นบางทฤษฎีจึงอธิบายกรรมราวกับเป็นพลังทางกายภาพ แน่นนอนว่าอาจมีปัจจัยทางจิตใจอื่นเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เช่น ความเจตนา เรามีเจตนาจะทำอะไรกับคนคนนี้? เราอาจจะมีเจตนาไปกอดเขา หรือเราอาจจะตั้งใจไปต่อยหน้าเขาก็ได้ มีปัจจัยมากมายเหลือเกินที่เข้ามาเกี่ยวข้อง แต่กรรมเป็นเพียงแรงกระตุ้นทางใจที่ดึงดูดเราให้กระทำการกอด หรือการต่อยเมื่อเราเห็นเขาและเดินไปหาเขา นอกจากนั้น เราต้องอย่าลืมว่าแรงกระตุ้นทางจิตใจนั้นไม่ได้ทำให้เกิดการกระทำทางกาย อย่างการกอดหรือการต่อยเท่านั้น อาจมีแรงกระตุ้นทางใจที่ผลักดันให้เราคิดถึงบางอย่างด้วย ซึ่งไม่ใช่แค่ในด้านการพูดหรือทำอะไรทางกายเท่านั้น ไม่ว่าเราจะคิดอะไร จะพูดอะไร หรือจะทำอะไรทางกาย ทั้งหมดนี้อาศัยแรงกระตุ้นทางใจบางประเภททั้งนั้น
ผลของพฤติกรรมแห่งกรรม
วิธีการสอนของพระพุทธศาสนามีความคล้ายคลึงกับวิทยาศาสตร์ กล่าวคือทั้งสองต่างสอนเกี่ยวกับเหตุและผล ดังนั้นเมื่อเราถูกดึงดูดโดยกรรม โดยแรงกระตุ้นนี้ เราจึงกระทำสิ่งต่าง ๆ เราพูดสิ่งต่าง ๆ และคิดเรื่องต่าง ๆ ซึ่งนำไปสู่ผลลัพธ์ตามมา กรรมไม่ได้กล่าวถึงผลกระทบของพฤติกรรมของเราต่อผู้อื่นนัก ถึงแม้ว่าในความจริงแล้วการกระทำของเราส่งผลกระทบต่อผู้อื่นอย่างแน่นอน เหตุผลสำหรับเรื่องนี้เป็นเพราะว่า จริง ๆ แล้วการกระทำของเราจะส่งผลต่อผู้อื่นอย่างไรนั้นก็ขึ้นอยู่กับคนคนนั้นเป็นส่วนใหญ่ ผลกระทบบางอย่างที่ผู้อื่นได้รับจากการกระทำของเราเป็นเพียงปัจจัยทางกายภาพ คุณใช้กำลังกับเขา ทำให้ผิวของเขาเกิดรอยฟกช้ำ นั่นเป็นแค่เหตุและผลทางกายภาพ สำหรับเรื่องกรรมเราไม่ได้พูดถึงตรงนี้ แต่ผลกระทบที่ผู้นั้นได้รับในเชิงประสบการณ์ของเขาอันเกิดจากสิ่งที่เราทำหรือพูดกับเขานั้นขึ้นอยู่กับเขา จริงไหมครับ? ยกตัวอย่างนะครับ เราอาจจะพูดจาร้ายแรงมากใส่คนคนหนึ่งและเขาก็อาจจะเสียความรู้สึกมาก แต่เขาก็อาจจะคิดว่าเราเป็นพวกงี่เง่าเหลือทน จึงเลือกที่จะไม่เชื่อเราและไม่ถือสาคำพูดของเรามากก็ได้ หรือเขาอาจจะไม่ได้ยินที่เราพูดหรือฟังเราผิดไป ไม่แน่ว่าจิตใจของเขาอาจจะหมกมุ่นอยู่กับเรื่องอื่นอยู่ก็ได้ เพราะฉะนั้นถึงแม้ว่าเราจะมีเจตนามุ่งร้ายเพื่อทำร้ายความรู้สึกคนคนนั้น มันก็ไม่สามารถการันตีได้ว่าเจตนานั้นจะเกิดผลสำเร็จ ถึงแม้ว่าจริง ๆ แล้วพระพุทธศาสนาสอนว่าเราไม่ควรทำร้ายใครก็ตาม แต่สิ่งนี้ไม่ได้เกี่ยวกับกรรมที่เราพูดถึงกันตรงนี้
เวลาเราพูดถึงผลแห่งกรรมของอะไรบางอย่าง เราหมายถึงผลแห่งกรรมที่เราจะได้รับอันเกิดจากการกระทำที่ถูกดันหรือบีบบังคับจากแรงกระตุ้นของกรรมทั้งหลาย
ผลกระทบภายในตัวเราคืออะไร? ผลกระทบอย่างหนึ่ง ซึ่งข้อนี้คล้ายกับคำอธิบายของวิทยาศาสตร์ตะวันตกมากนะครับ คือการที่เราสร้างเงื่อนไขให้ตัวเราคิดคำนึงในแบบหนึ่ง พูดจาในแบบหนึ่ง และกระทำการในแบบหนึ่ง ซึ่งนำไปสู่แนวโน้มในการปฏิบัติพฤติกรรมเช่นนั้นซ้ำอีก ผลลัพธ์ของแนวโน้มที่จะกระทำการเช่นนั้นซ้ำและศักยภาพที่จะกระทำซ้ำเช่นเดิมนั้น ซึ่งเราก็สร้างความแตกต่างระหว่างศักยภาพและแนวโน้มเหล่านี้ด้วย ถึงแม้ว่าตอนนี้เราจะยังไม่ต้องลงรายละเอียดในส่วนนี้ก็ตาม ผลลัพธ์ของสิ่งเหล่านี้ก็คือ เราอยากจะกระทำเช่นนี้ซ้ำอีกนั่นเอง
แล้วแนวโน้มหรือศักยภาพนี้มันทำให้เกิดอะไรขึ้นกันแน่? แนวโน้มทำให้เกิดความรู้สึก ยกตัวอย่างเช่น ความรู้สึกที่อยากจะไปหาคุณ อยากจะไปกอดคุณ หรือความรู้สึกที่อยากจะเดินไปหาคุณและพูดจาน่ารังเกียจใส่คุณ จากนั้นเมื่อเรารู้สึกว่าอยากทำแล้ว แน่นอนว่าเราก็มีตัวเลือกว่าจะทำหรือไม่ทำ จุดนี้สำคัญมากนะครับ เราต้องตระหนักอยู่เสมอว่าเราเลือกที่จะกระทำหรือไม่กระทำสิ่งที่เรารู้สึกอยากทำได้เสมอ แต่ถ้าเราตัดสินใจแล้วว่าจะทำ หรือถ้าเราไม่แม้แต่จะคิดด้วยซ้ำว่าจะทำหรือไม่ทำดี แล้วเราก็ทำเช่นนั้นไปเลย ทีนี้กรรมก็จะเข้ามาเกี่ยวในขั้นต่อไปแล้วครับ กรรมคือแรงกระตุ้น แรงผลักดัน แรงกดบังคับซึ่งทำให้เรากระทำสิ่งนั้น
จากแนวโน้มเหล่านี้ก่อให้เกิดหลายสิ่งหลายอย่างตามมา เอาง่าย ๆ เลยอย่างหนึ่งก็คือสารที่เราได้รับนั่นเอง “สาร” นี่เป็นคำใหญ่นะครับ ผมว่าเราต้องใช้คำนี้อย่างเฉพาะเจาะจงนิดนึง คำคำนี้หมายถึง ยกตัวอย่างเช่น การเจอคนคนนี้ และก็ไม่เจอคนคนนั้น มันรวมถึงวิธีที่ผู้คนปฏิบัติตัวกับเราด้วย เราต้องใช้ความระมัดระวังเวลาพูดถึงจุดนี้นะครับ เพื่อความหมายที่ชัดเจน กรรมของเราไม่ได้ทำให้ผู้อื่นตะโกนใส่เรา ผู้นั้นตะโกนใส่เรา เพราะนั่นเป็นผลของแนวโน้มที่เขาจะตะโกนใส่ผู้อื่น แต่กรรมของเราทำให้เราต้องประสบเหตุการณ์ที่ผู้อื่นตะโกนใส่เรา
แน่นอนว่าเรื่องนี้ไม่ได้เข้าใจกันง่าย ๆ แต่ผมคิดว่าหนึ่งในแนวทางทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องนี้คือการพิจารณาจากตัวอย่าง หากเด็กทารกใส่ผ้าอ้อมและถ่ายออกมาในผ้าอ้อม เด็กทารกคนนั้นก็ต้องอยู่อย่างนั้นไป เด็กคนนั้นต้องอยู่กับของเสียที่ตนเองปล่อยออกมา ตอนนี้คือเราไม่ได้พูดถึงเรื่องที่ว่าควรมีใครมาเปลี่ยนผ้าอ้อมให้เด็กไหม่นะครับ ประเด็นของตัวอย่างนี้อยู่ที่ว่าคุณสร้างของเสียให้ตัวเองและคุณก็ต้องอยู่กับสิ่งนั้นไป เราสร้างปัญหาในชีวิตขึ้น และเมื่อชีวิตเราดำเนินต่อไป เราก็สร้างปัญหามากขึ้นเรื่อย ๆ ในชีวิต หากมองง่าย ๆ นี่ก็คือกระบวนการของมันล่ะ หากจะพูดให้เจาะจงมากขึ้นก็คือ เราปฏิบัติต่อผู้อื่นในลักษณะหนึ่ง และเราก็จะประสบกับเหตุการณ์ที่ผู้อื่นปฏิบัติกับเราในลักษณะที่คล้ายคลึงกันนั่นเอง แต่อีกหลักการหนึ่งที่สำคัญมากในเรื่องกรรมคือ มันไม่ได้ทำงานทันที เราอาจพูดจาไพเราะมีเมตตากับคนคนหนึ่งมาก แต่เขากลับเสียสติและตะโกนใส่เราด้วยความโกรธก็เป็นได้
นี่คือสาเหตุที่ว่าหากเราจะเข้าใจเรื่องกรรมได้อย่างแท้จริงนั้น เราจำเป็นต้องกล่าวถึงการอภิปรายเรื่องการเวียนว่ายตายเกิดทั้งหมด ซึ่งหมายความว่าสิ่งเหล่านี้ใช้เวลานานมาก ๆ กว่าจะผลิตผลลัพธ์ออกมา และผลลัพธ์ที่ว่าอาจจะไม่เกิดขึ้นในชาตินี้ด้วยซ้ำ ในความเป็นจริงแล้ว ผลลัพธ์ส่วนใหญ่ไม่ได้เกิดในชาตินี้ สำหรับพวกเราชาวตะวันตก เราอาจรู้สึกว่ารับเรื่องนี้ได้ค่อนข้างยาก บางคนเข้าใจไปว่าพระพุทธศาสนาสอนว่า “ทำดีในชาตินี้ เมื่อตายไปคุณก็จะได้ขึ้นประสบกับผลลัพธ์ในสวรรค์ หากทำชั่ว ตายไปคุณก็จะลงประสบกับผลลัพธ์ในนรก”
เราต้องพิจารณาข้อนี้อย่างละเอียดหน่อยนะครับ พระพุทธศาสนากล่าวแบบเดียวกันหรือเปล่า หัวข้อนี้ไม่ง่ายเลย มันซับซ้อนมากเลยล่ะ เพราะการที่เราจะเข้าใจเหตุและผลของกรรมนั้น เราจำเป็นต้องเข้าใจการเวียนว่ายตายเกิดก่อน ผมหมายถึงแนวคิดเรื่องการเวียนว่ายตายเกิดของพระพุทธศาสนานะครับ ไม่ใช่แนวคิดของลัทธิอื่นที่ไม่ใช่พระพุทธศาสนา ใครเป็นผู้ก่อเหตุทางกรรมและใครเป็นผู้ประสบกับผลลัพธ์ทางกรรมนั้น มี “ตัวฉัน” ที่สามารถรับการตบรางวัลหรือลงโทษได้หรือเปล่า?
ถ้าเราพับเรื่องการเวียนว่ายตายเกิดและใครเป็นผู้ได้รับผลกรรมไปก่อนนั้น ตามที่ผมได้กล่าวไว้ในข้างต้นว่า พระพุทธศาสนามิได้กล่าวถึงระบบการให้รางวัลและการลงโทษ โดยอิงจากการยอมตามกฏหมาย พระพุทธศาสนามิเคยกล่าวว่า ชีวิตนี้เป็นเหมือนบททดสอบอะไรบางอย่างและเราจะได้ผลลัพธ์ของการทดสอบนี้ในชาติหน้า พระพุทธศาสนาเพียงแต่กล่าวว่าสิ่งเหล่านี้ใช้เวลานานมากกว่าจะก่อให้เกิดผล เราสามารถเห็นจุดนี้ได้จากสิ่งแวดล้อม เราปฏิบัติตัวในลักษณะหนึ่งและก่อให้เกิดผลลัพธ์บางอย่างในช่วงชีวิตของเรา แต่มันจะส่งผลลัพธ์ตามมาอีกมากมายในช่วงชีวิตของคนรุ่นหลัง เรื่องนี้ก็คล้ายกันแหละครับ
ความสุขและความทุกข์
ตอนนี้มาดูอีกหนึ่งมิติแตกต่างอันเกิดจากกรรมที่ออกไปอย่างสิ้นเชิง หรือถ้าพูดอีกอย่างก็คือ อีกมิติหนึ่งที่มีผลลัพธ์อันเกิดมาจากกการกระทำทางกรรม มิตินี้เกี่ยวข้องกับสิ่งที่พวกเราได้พูดถึงในตอนต้นของการบรรยายนี้ ซึ่งก็คือมิติของความสุขและความทุกข์ ด้วยการกระทำบางอย่างซ้ำกันไปเรื่อย ๆ เราจึงได้รับประสบการณ์เกี่ยวกับบางสิ่งบางอย่างที่เกิดขึ้นกับเรา เช่น ผู้คนปฏิบัติกับเราในลักษณะนั้น ๆ หรืออาจจะเป็นการที่มีก้อนหินจากหน้าผาร่วงลงมาโดนศีรษะเรา เราสัมผัสกับสิ่งเหล่านี้อย่างมีความสุขหรือมีความทุกข์ ลองคิดดูนะครับ มีผู้คนบางคนที่เมื่อเหยียบแมลงสาปตายได้แล้ว พวกเขารู้สึกดีใจมาก เหมือนกับว่า เจ้านี้มันเสร็จฉันละ! สำหรับบางคน การเหยียบแมลงสาปทำให้พวกเขารู้สึกขยะแขยงและรู้สึกไม่มีความสุขเอาเสียเลย คนบางคนเวลาโดนผู้อื่นตี หรือตะโกนด่าทอใส่จะรู้สึกทุกข์และเศร้ามาก แต่คนบางคนก็รู้สึกมีความสุข คิดว่า “ใช่ ก็ฉันมันคนบาปนี่ ฉันมันเลว ฉันมันไม่ดี ฉันสมควรจะโดนด่าและโดนตี”
มันมีคำพูดนี้ที่ผมว่ามันมาจากเม็กซิโกนะ หรือไม่อย่างนั้นก็มีคนแต่งเรื่องขึ้นมาและผมก็เชื่อเขา เขาว่า “ถ้าสามีตีฉันหมายความว่าเขารักฉันจริง ๆ ถ้าเขาไม่ตีฉันแสดงว่าเขาไม่สนใจ”
ความสุขและความทุกข์ดูแทบจะเป็นมิติอีกประเภทหนึ่งเลยก็ว่าได้ จริงไหมครับ? สิ่งที่เกิดขึ้นกับเราเมื่อเรามองจากมิติหนึ่งคือ สิ่งที่เราโดนบีบให้กระทำ ซึ่งเกิดมาจากการกระทำซ้ำเดิมและสิ่งที่เราประสบ ซึ่งก็คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับเรา นั่นคือมิติหนึ่ง และอีกมิติหนึ่งก็คือวิธีที่เราประสบกับสิ่งเหล่านั้น ประสบกับความสุขหรือความทุกข์ สิ่งที่เราประสบ ทั้งสองมิตินี้ คือผลอันเกิดจากการกระทำทางกรรมในอดีต แต่เกิดจากจากการกระทำทางกรรมที่แตกต่างกัน หากเรามองแค่มิติของความสุขและความทุกข์ นั่นเป็นมิติแบบทั่วไปมาก ๆ มันมาจากการที่เรากระทำสิ่งใดในเชิงทำลายหรือเชิงประโยชน์ หากเรากระทำในเชิงทำลาย ผลลัพธ์ที่เราประสบก็คือความทุกข์ หากเรากระทำในเชิงประโยชน์ ผลลัพธ์ที่ได้ก็คือการประสบกับความสุขนั่นเอง
พฤติกรรมเชิงประโยชน์และเชิงทำลาย
เมื่อเราศึกษาลึกเข้าไปถึงความหมายของสิ่งที่เป็นเชิงประโยชน์และเชิงทำลายในพระพุทธศาสนาแล้ว เราจะพบว่ามันน่าสนใจเป็นอย่างมาก ตามปกติแล้วมีคำอธิบายเรื่องนี้อยู่หลายอย่าง แต่ตามที่เราได้เห็นแล้ว เราไม่สามารถระบุลักษณะของการกระทำในเชิงของผลกระทบที่เกิดกับผู้อื่นได้ เพราะใครจะไปรู้ว่าผลกระทบจะเป็นอย่างไร มันมีปัจจัยอื่นอีกมากมายที่เข้ามาเกี่ยวข้อง ดังนั้นลักษณะเชิงประโยชน์และทำลายจึงเกี่ยวข้องกับสภาพของจิตใจตอนที่เรากระทำการนั้น หากการกระทำของเราตั้งอยู่บนความโลภ หรือความยึดติด หรือความโกรธ หรือความไร้เดียงสาอย่างแท้จริง การกระทำนั้นก็ถือเป็นเชิงทำลาย ในทางกลับกันหากการกระทำของเราไม่ได้ตั้งอยู่บนความโกรธ ความโลภ ความยึดติด ความไร้เดียงสา ก็ถือว่าเป็นเชิงประโยชน์ แน่นอนว่าหากกระทำของเราตั้งอยู่บนสภาพจิตใจที่ดียิ่งกว่านั้น เช่น ตั้งอยู่บนความรัก เห็นอกเห็นใจ ความโอบอ้อมอารี และอื่น ๆ ในลักษณะนี้ การกระทำนั้นก็เป็นเชิงประโยชน์เช่นกัน
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่น ๆ อีก การตรวจสอบพิจารณาปัจจัยที่ทำให้การกระทำเป็นเชิงประโยชน์หรือทำลายนั้นน่าสนใจมาก ปัจจัยหนึ่งคือ เกียรติทางจริยธรรมในตัวเอง หรือเกียรติทางศีลธรรมในตัวเอง จุดนี้เกี่ยวกับภาพลักษณ์และความเคารพในตัวเองของเรา หากเราไม่มีความเคารพตัวเองเลย ก็เราไม่สนใจเกี่ยวกับผลกระทบที่พฤติกรรมของเราส่งผลต่อตัวเอง มันคือทัศนคติแบบ “ช่างมันเถอะ” หากเรามีการเห็นคุณค่าในตัวเองต่ำเช่นนั้น เราก็จะกระทำการในเชิงทำลาย พูดอีกอย่างก็คือ ถ้าผมมองตัวเองในลักษณะเชิงบวกมากมาย ถ้าผมมีความเคารพให้ตัวเองในฐานะคนคนหนึ่ง ผมก็จะไม่ทำตัวอย่างพวกงั่ง ผมจะไม่ทำตัวในลักษณะโง่เขลาหรือโหดร้าย เพราะผมไม่อยากกดตัวเองลงไปต่ำในระดับที่สามารถทำสิ่งเหล่านั้นได้ ในเมื่อผมรู้อยู่แก่ใจว่าผมทำดีได้กว่านั้นมาก นี่คือปัจจัยที่เรากำลังพูดถึงอยู่ครับ กล่าวคือการมีสำนึกถึงเกียรติเชิงจริยธรรมในตัวเอง หรือการไม่มีสำนึกถึงเกียรติเชิงจริยธรรมในตัวเอง ปัจจัยนี้มีความสำคัญมากถึงมากที่สุดในการกำหนดว่าเรากระทำการในเชิงประโยชน์หรือเชิงทำลาย
ปัจจัยอีกอย่างคือการใส่ใจว่าพฤติกรรมของเราจะกระทบกับผู้อื่นอย่างไร เรากำลังพูดถึงอะไรเหรอครับ? หากผมปฏิบัติตัวในทางเสียหาย พฤติกรรมของผมจะกระทบกับครอบครัวของผมอย่างไรครับ? มันจะกระทบกับประเทศของผมอย่างไร? หากผมปฏิบัติตัวในทางเสียหาย ผู้คนจะคิดถึงคนเม็กซิกันว่าเป็นอย่างไร? หากเราเป็นพุทธศาสนิกชน หากผมออกไปเที่ยวและเมา แล้วไปมีเรื่องทะเลาะวิวาท พฤติกรรมนี้จะกระทบกับพระพุทธศาสนาและกลุ่มพุทธศาสนิกชนอย่างไร? เพราะว่าเรามีความเคารพพอสำหรับครอบครัวเรา กลุ่มของเรา หรืออะไรก็ตามที ไม่ว่าจะเป็นศาสนา ประเทศ เมือง ด้วยความรู้สึกเป็นห่วงเกี่ยวกับผลของความประพฤติเรา ด้วยความเป็นห่วงว่าความประพฤติของเราจะกระทบกับผู้อื่นอย่างไร หากเรามีสำนึกตรงนี้ เราก็จะสามารถยับยั้งตัวเองไม่ให้ปฏิบัติในเชิงทำลายได้ แต่หากเราไม่มีสำนึกในส่วนนี้ เราก็จะปฏิบัติในเชิงทำลาย นี่คือการเข้าใจเชิงลึกอย่างถ่องแท้อันน่าเหลือเชื่อในพระพุทธศาสนา ปัจจัยที่สำคัญคืออะไรครับ? การเห็นคุณค่าในตัวเอง เกียรติในตัวเอง และสำนึกถึงความภูมิใจในชุมชนของเรา
ข้อนี้ทำให้เราได้เข้าใจอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับปัจจัยที่ต้องนำไปพิจารณาเมื่อเราพูดเกี่ยวกับการรับมือกับกับการก่อการร้าย หากคุณริดรอนความรู้สึกเกี่ยวกับเกียรติภูมิในตัวผู้คนและชุมชนของพวกเขาจนหมดสิ้น ทำให้ชีวิตของพวกเขาเลวร้าย และคิดถึงพวกเขาในแง่เลวร้าย พวกเขาก็จะรู้สึกว่าพวกเขาทำอะไรก็ไม่มีความสำคัญ หากพวกเขาไม่เห็นถึงสำนึกในคุณค่าในตัวเองและชุมชนของตน พวกเขาก็ออกไปกระทำการเชิงทำลายข้างนอกเสียเลยสิ ยังไงก็ไม่มีอะไรต้องเสียอยู่แล้ว ผมคิดว่าข้อนี้เป็นสิ่งที่เราควรจำไว้เมื่อต้องจัดการกับผู้อื่นนะครับ โดยเฉพาะในสถานการณ์ปัญหาในโลก เป็นเรื่องสำคัญมากที่เราจะต้องไม่ไปริดรอนเกียรติภูมิในตัวเอง หรือความรู้สึกถึงคุณค่าของชุมชนของใครเป็นอันขาด
ทั้งหมดนี้เป็นปัจจัยบางส่วนที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่ทำให้การกระทำนั้นเป็นเชิงทำลายหรือทำให้การกระทำนั้นเป็นเชิงประโยชน์ นอกจากนี้ยังมีเรื่องเกี่ยวกับการตระหนักอย่างจริงจังว่า วิธีที่เรากระทำและปฏิบัติตัวต่อผู้อื่นนั้นจะส่งผลกระทบต่อผู้นั้น ข้อนี้หมายถึงว่าให้เรามีจิตสำนึกในการพิจารณาและเป็นห่วงเป็นใย ผมเรียกมันว่า “ทัศนคติห่วงใย” แต่บางครั้งเราก็ไร้เดียงสาเหลือเกิน เราคิดไปว่าฉันสามารถพูดอะไรกับคุณก็ได้ มันไม่เป็นไรหรอก ฉันไม่ได้คิดถึงความรู้สึกคุณมากขนากนั้น นั่นแหละครับคือการขาดทัศนคติห่วงใย
หากเราปฏิบัติด้วยปัจจัยทางจิตใจเหล่านี้ นั่นคือ ความโลภ ความโกรธ การขาดการเห็นคุณค่าในตัวเอง การขาดการเอาใจเขามาใส่ใจเรา การไม่ห่วงใย ไม่ถือจริงจังว่าการกระทำของเราจะส่งผลต่อผู้อื่นอย่างไรและจะส่งผลต่อตัวเราอย่างไร หากเราปฏิบัติในลักษณะเหล่านี้จะเกิดอะไรขึ้นครับ? ความทุกข์ อย่างไรก็ตามความทุกข์ที่ว่านี้ไม่ใช่การลงโทษ
เราต้องคิดวิเคราะห์จุดนี้ให้ลึกเลยนะครับ สภาพจิตใจที่เต็มไปด้วยปัจจัยเชิงลบเหล่านี้เป็นสภาพจิตใจที่มีความสุขได้ไหม? และมันสามารถส่งให้เราประสบกับความสุขในตัวได้หรือไม่? หรือว่ามันสร้างแต่ความทุกข์เท่านั้น? หากเราลองคิดไปเรื่อย ๆ แล้ว จริง ๆ มันก็มีเหตุผลนะครับว่า สภาพจิตใจแบบนั้น สภาพจิตใจในเชิงลบจะก่อให้ประสบกับความทุกข์ และถ้าเรามีสภาพจิตใจแบบตรงกันข้าม โดยที่ไม่มีความโลภ ความโกรธ และสิ่งอื่น ๆ ทั้งหมดนั้น การกระทำของเราก็จะสร้างความสุข ดังนั้นเราจึงมีประเภททั่วไปของการกระทำ ทั้งเชิงประโยชน์และเชิงทำลาย และการกระทำเหล่านี้จะส่งผลให้เราประสบกับความสุขและความทุกข์นั่นเอง
นอกจากนี้แล้วเรายังมีประเภทเจาะจงของการกระทำที่เราทำด้วย เช่น การตะโกนด่าผู้อื่น หรือการมีเมตตากับผู้อื่น การกระทำเหล่านี้ล้วนมีผลกระทบในเชิงแนวโน้มที่จะกระทำพฤติกรรมนั้นซ้ำ และแนวโน้มที่จะทำให้เราเข้าไปอยู่ในสถานการณ์ที่ผู้อื่นจะทำแบบเดียวกันนั้นกับเรา
ผลจากการกระทำเชิงกรรมของเราอีกอย่าง ซึ่งเราจะไม่ลงรายละเอียดมากในตอนนี้นะครับ ผลนี้เกี่ยวข้องกับประเภทการเวียนว่ายตายเกิด เราจะไปเกิดใหม่ในร่างที่มีร่างกายและจิตใจขั้นพื้นฐานของสุนัข แมลงสาป หรือมนุษย์ เราจะมีร่างกายและจิตใจแบบไหนเป็นบริบทสำหรับการประสบสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับเราและลักษณะที่เราปฏิบัติตัว เรื่องนี้มีรายละเอียดเยอะมากครับ แต่ในการบรรยายขั้นต้นนี้ผมอยากจะกล่าวครอบคลุมหลักการต่าง ๆ ในขั้นทั่วไปมากที่สุดก่อน
นิยัตินิยม หรือเจตจำนงเสรี
ในด้านหนึ่งเราประสบกับพฤติกรรมประเภทต่าง ๆ ที่ได้รับการทำซ้ำและสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับเรา ส่วนอีกด้านหนึ่งเราประสบกับสิ่งเหล่านี้พร้อมกับควาทุกข์ความสุขสลับกันไปมา ซึ่งบางครั้งก็ตรงกับการกระทำของเรา แต่บางครั้งก็ตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิง ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นสลับกันไปมาเรื่อย ๆ และเราไม่รู้เลยว่าอะไรจะเกิดขึ้นต่อไป แน่นอนว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับเราไม่ได้มีสาเหตุมาจากตัวเราและกรรมของเราเท่านั้น แต่ยังเป็นผลกระทบจากสิ่งที่เกิดขึ้นกับผู้คนอื่นทั่วจักรวาลและกรรมของพวกเขา รวมถึงสิ่งที่พวกเขาทำและสิ่งที่เกิดกับจักรวาลเองด้วย ซึ่งหมายถึงธาตุของจักรวาล เช่น อากาศ แผ่นดินไหวและอะไรพวกนั้น ด้วยเหตุนี้การคาดการณ์ว่าเราจะประสบกับสิ่งใดต่อไปจึงเป็นเรื่องที่ทำได้ยากมาก ปัจจัยที่ส่งผลต่อจุดนี้ช่างซับซ้อนซ่อนเงื่อนมากเหลือเกิน ที่จริงแล้วพระพุทธเจ้าทรงตรัสว่าข้อนี้เป็นสิ่งที่ยากต่อการเข้าใจเหนือสิ่งอื่นใด
เราต้องเข้าใจตรงนี้ให้ชัดเจนนะครับ เพราะมีหลายคนมากที่ถามเรื่องนี้เมื่อพูดถึงกรรม ทั้งหมดนี้คือนิยัตินิยมหรือเจตจำนงเสรีกันแน่? ผิดทั้งคู่เลยครับ เพราะทั้งสองอย่างนี้มีความสุดโต่งทั้งคู่ นิยัตินิยมมักใช้ในเชิงความหมายว่ามีคนกำหนดให้เราแล้วว่าเราจะต้องทำอะไรหรือเราจะต้องประสบกับอะไรบ้าง ซึ่งอาจเป็นสิ่งที่ดำรงอยู่ภายนอก สิ่งที่อยู่สูงกว่าเรา หรืออะไรแบบนั้น พระพุทธศาสนาอธิบายว่ามันไม่ใช่แบบนั้น ไม่ใช่ว่ามีคนอื่นมากำหนดให้เราว่าเราจะต้องทำอะไร และเราก็ไม่ได้เป็นเพียงหุ่นเชิดที่แสดงไปตามละครที่มีคนอื่นเขียนไว้ให้เรา
ส่วนในอีกด้านหนึ่ง เจตจำนงเสรีฟังดูคล้ายกับการที่เรานั่งอยู่ในร้านอาหาร มองเมนูอาหารที่ถือไว้ตรงหน้า แล้วก็ตัดสินใจว่าจะสั่งอะไร ชีวิตคนเราไม่ได้เป็นแบบนั้น พระพุทธศาสนากล่าวว่าการจินตนาการว่าชีวิตเป็นเช่นนั้นก็ผิดเช่นกัน นั่นคือความสับสน ตอนนี้อาจจะฟังดูเหมือนว่ามันมี “ตัวฉัน” ที่แยกออกมา แยกออกมาจากชีวิต แยกออกมาจากประสบการณ์ และที่อยู่เหนือทุกอย่างกำลังมองดูชีวิตเหมือนกับการมองดูเมนูอาหารและสั่งว่าจะรับอะไร มันไม่มี “ตัวฉัน” ที่แยกออกมาจากชีวิต แยกออกมาจากประสบการณ์หรอกครับ และสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับเราก็ไม่ได้ดำรงอยู่เหมือนกับสินค้าในเมนูที่เราสามารถเลือกได้ราวกับว่ามันอยู่ตรงนั้นอยู่แล้ว เราก็แค่กดปุ่มเลือก แล้วเดี๋ยวมันก็เด้งออกมาจากเครื่องขายสินค้า หรืออะไรเทือกนั้น ผมว่าการมองแบบนี้มีประโยชน์ในการทำให้เราเห็นว่าการคิดแบบนี้น่าขันแค่ไหน ประสบการณ์ต่าง ๆ ไม่ได้คงอยู่อย่างขนมหวานที่อยู่ในเครื่องกดสินค้า แล้วคุณก็เลือกว่าจะเอาอะไร กดปุ่ม ใส่เงิน แล้วเดี๋ยวมันก็ออกมา ชีวิตคนเราไม่ได้เป็นแบบนั้น จริงไหมครับ? มันไม่ใช่ว่าเราตัดสินใจล่วงหน้าว่า “วันนี้ฉันจะประสบกับความสุขและฉันจะประสบกับการที่ทุกคนดีกับฉันหมดเลย” จากนั้นเราก็ใส่เงินเข้าไปเครื่องจักรชีวิต แล้วสิ่งที่เราเลือกก็เด้งออกมา อย่างนั้นคือเจตจำนงเสรี ถูกไหมครับ? มันคือเจตจำนงที่เราสามารถตัดสินใจได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับเราและเราจะทำอะไร แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับเรามีความละเอียดอ่อนและซับซ้อนกว่าความคิดสุดโต่งทั้งแบบนิยัตินิยมและแบบเจตจำนงเสรีมาก
ความสับสนเป็นบ่อเกิดของกรรม
ในช่วงก่อนหน้านี้ของการบรรยาย เราได้พูดไปแล้วว่าสิ่งที่มีเอกลักษณ์มากในพระพุทธศาสนาคือ การที่พระพุทธเจ้าทรงสอนว่าเหตุผลของการพบสุขและทุกข์สลับกันไปมาอยู่ตลอดเวลา และเหตุผลของทุกสิ่งที่เกิดขึ้นกับเรา ซึ่งเราไม่อยากให้เกิดขึ้นและเราก็ไม่สามารถควบคุมมันได้ด้วย เหตุนี้เป็นส่วนหนึ่งของทุกขณะเวลาในประสบการณ์ของเราและทำให้อาการนี้คงอยู่เรื่อยไป เหตุนี้ก็คือความสับสน ไม่ใช่เพียงเท่านั้นนะครับ แต่เวลาเรากระทำการใด ๆ ด้วยความสับสน ไม่ว่าจะเป็นเชิงทำลายหรือเชิงประโยชน์ มันจะเสริมกำลังของสิ่งที่เรียกว่า “นิสัยประจำ” นั่นคือนิสัยของการกระทำการใด ๆ ด้วยความสับสนอยู่เป็นประจำ ดังนั้นเราจะกระทำการด้วยความสับสนในทุกขณะเวลาต่อไป
แล้วความสับสนที่ว่านี่คืออะไรกัน? นี่เป็นหัวข้อที่ลึกมากในพระพุทธศาสนานะครับ แต่หากเราจะอธิบายในคำง่าย ๆ แล้วล่ะก็ สิ่งที่เราพูดถึงอยู่ก็คือความสับสนในเรื่องการดำรงอยู่ของตัวฉัน การดำรงอยู่ของคุณ และการดำรงอยู่ของทุกคน ยกตัวอย่างเช่น เราคิดว่าฉันเป็นศูนย์กลางของจักรวาล ฉันเป็นคนที่สำคัญที่สุด ฉันต้องได้อย่างที่ต้องการเสมอ ฉันถูกเสมอ คนอื่นต้องมีเวลาให้ฉันสิ เราสามารถเห็นภาพทัศนคตินี้ได้จากการใช้โทรศัพท์มือถือ เรารู้สึกว่าเราต้องสามารถโทรหาใครตอนไหนก็ได้และสามารถไปขัดจังหวะเขาได้ไม่ว่าเขาจะทำอะไรอยู่ก็ตาม และพวกเขาจะต้องมีเวลาว่างมารับสายฉัน เพราะสิ่งที่ฉันต้องพูดมีความสำคัญมากกว่าอะไรก็ตามที่เขากำลังทำอยู่ตอนนี้ จากความสับสนนี้ เราอาจปฏิบัติต่อคนคนนั้นในเชิงทำลาย เราอาจตะโกนใส่เขาหรือใจร้ายกับเขา และเราจะทำอย่างนั้นเพราะเขาไม่ทำตามอย่างที่ฉันต้องการ หรือเพราะเขากำลังทำอะไรที่ฉันไม่ชอบอยู่ เขาควรจะทำในสิ่งที่ฉันชอบ เพราะสิ่งที่ฉันต้องการนั้นสำคัญมากกว่าสิ่งที่เขาต้องการอยู่แล้ว หรือจากความสับสนนี้ เราอาจจะทำสิ่งดี ๆ ให้กับคนนั้นก็ได้ เราอาจจะใจดีกับเขา เพราะเราอยากให้เขาชอบเรา เราอยากให้เขามีความสุขกับเรา เราอยากรู้สึกจำเป็นว่าเรากำลังทำอะไรบางอย่างให้เขา ซึ่งเราคิดว่าเขาต้องการ เช่น ฉันก็เลยต้องสอนลูกสาวว่าต้องเลี้ยงลูกตัวเองอย่างไรและต้องจัดการบ้านตัวเองอย่างไร มันเป็นประโยชน์ไม่ใช่เหรอ? และไม่สำคัญว่าลูกสาวจะไม่ต้องการคำแนะนำและความช่วยเหลือจากเรา แต่เราคิดว่าฉันสำคัญที่สุดและฉันต้องการเป็นสิ่งจำเป็นและแน่นอนว่าฉันต้องรู้ดีกว่าลูกอยู่แล้วว่าเธอควรเลี้ยงลูกตัวเองอย่างไร ลูกต้องฟังคำสอนของฉันเป็นแน่แท้
นี่ล่ะครับคือความสับสนประเภทนี้ ซึ่งอยู่เบื้องหลังทั้งพฤติกรรมเชิงทำลายและเชิงประโยชน์ ความสับสนนี้ทำให้เราคงวงจรความทุกข์สุขสลับกันไปมาเรื่อย ๆ ดังนั้นเราจึงต้องมาพิจารณาดูว่าเราจะตัดส่วนนี้ออกไปได้อย่างไร
ขจัดความสับสนออกจากตัวเรา
เมื่อเราพิจารณากลไกที่เหล่าแนวโน้มและนิสัยทางกรรมจะให้สุกงอม โดยเฉพาะเรื่องแนวโน้มต่าง ๆ เราจะพบว่าทั้งหมดขึ้นอยู่กับทัศนคติของเราต่อวงจรความทุกข์สุขที่สลับกันตามที่เราประสบนั่นเอง เรามีปัจจัยทางจิตใจสองอย่างที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับการประสบกับความสุขและควาทุกข์ ซึ่งมีความสำคัญมากสำหรับจุดนี้ ปัจจัยแรกเรียกว่า “ตัณหา” เมื่อเราประสบกับความสุข เรามีตัณหาที่จะไม่พรากจากความสุขนี้ไป ความอยากในที่นี่หมายถึงความอยากอันแรงกล้า “อย่าไปเลย อยู่กับฉันตลอดไปเลยนะ! อยู่ต่ออีกได้ไหม?” สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นตอนที่เราเพลิดเพลินกับการใช้เวลาอยู่กับใครบางคน หรือเวลาที่เราเพลิดเพลินและมีความสุขไปกับการทานเค้กชอคโกแล็ต เราถึงไม่อยากจากความสุขนี้ไป ด้วยเหตุนี้เราจึงทานเพิ่มเข้าไปเรื่อย ๆ จริงไหมครับ? นั่นล่ะคือตัณหา จากนั้นเมื่อเราประสบกับความทุกข์ เราก็อยากจะจากมันไปให้เร็วที่สุด ปัจจัยทางจิตใจอย่างที่สองเป็นปัจจัยที่หนุนทั้งสองอย่างนี้ไว้ ซึ่งก็คือทัศนคติอันแรงกล้าในการระบุ “ฉัน” ความเป็น “ฉัน” ที่เข้มแข็ง เมื่อประสบกับสิ่งต่าง ๆ ฉันต้องได้ความสุขนี้และอะไรก็ตามที่ให้ความสุขกับฉันเรื่อย ๆ และไม่จากกันไปไหน ฉันต้องออกไปจากสิ่งที่ฉันไม่ชอบ ฉันไม่ชอบสิ่งที่คุณพูด งั้นคุณก็หุบปากไปเถอะ ไม่งั้นฉันจะตะโกนใส่คุณ
เมื่อเราประสบกับวงจรสลับทุกข์สลับสุขในชีวิตเราด้วยตัณหาและการระบุอย่างแรงกล้าในความเป็น “ตัวฉัน” กับสิ่งที่เกิดขึ้น ซึ่งในความจริงแล้วล้วนขึ้นอยู่กับความสับสน ก็จะทำให้แนวโน้มทางกรรมเหล่านี้ได้รับการสุกงอม ในลักษณะนี้เรากำลังสร้างความต่อเนื่องให้กับวงจรสลับทุกข์สุขและกระทำพฤติกรรมทั้งหมดซ้ำอีกครั้ง เพราะนี่คือสิ่งที่สุกงอมจากแนวโน้มเหล่านั้น สิ่งที่แย่มากก็คือ ความสับสนนี้อยู่กับทุกขณะเวลาของความสุขและความทุกข์ และมันยืดเยื้อขณะเวลาของความสุขและความทุกข์อีกต่อไป ซึ่งก็จะเต็มไปด้วยความสับสนเช่นกัน ความสับสนที่เรากำลังประสบอยู่ในตอนนี้คือผลลัพธ์ของความสับสนของเราก่อนหน้านี้ ตอนที่เรากำลังประสบความสุขและความทุกข์
วงจรที่เกิดขึ้นซ้ำซ้อนกันอย่างควบคุมไม่ได้นี้ วงจรที่ดำเนินอย่างต่อเนื่องด้วยตัวเอง นี่คือสิ่งที่พระพุทธศาสนาเรียกว่า “สังสารวัฏ” หากเราสามารถกำจัดความสับสนนี้ออกไปได้ ระบบทั้งหมดของกรรมก็จะแตกสลายลงและเราก็จะเป็นอิสระจากสังสารวัฏ หากเราใส่ความเข้าใจที่ถูกต้องเข้าไปแทนความสับสนนี้ ซึ่งผมจะขอไม่ลงรายละเอียดทั้งหมดเกี่ยวกับความหมายในส่วนนี้นะครับ ผมจะพูดเพียงแค่โดยรวมเท่านั้น ถ้าเราใส่ความเข้าใจที่ถูกต้องเข้าไปแทนที่ความสับสนนี้ ก็จะไม่มีรากฐานสำหรับ “ตัวฉัน” ที่เข้มแข็ง ไม่มีรากฐานสำหรับการที่ “ฉันจะต้องได้สิ่งนี้และไม่ใช่สิ่งนั้น” เมื่อไม่มีตัณหา ก็ไม่มีอะไรมากระตุ้นแนวโน้มและนิสัยเหล่านั้นให้ทำงาน และถ้าไม่มีอะไรมากระตุ้นแนวโน้มและนิสัยพวกนั้นแล้ว คุณก็พูดไม่ได้ว่าคุณยังมีแนวโน้มและนิสัยพวกนั้นอยู่
ผมจะลองยกตัวอย่างนะครับ หากมีแนวโน้มในการดูไดโนเสาร์ เมื่อไดโนเสาร์สูญพันธุ์ไป ก็จะไม่มีแนวโน้มในการมองหาไดโนเสาร์เวลาเราเดินป่า จริงไหมครับ? มันเคยมีแนวโน้มนี้คือ เมื่อฉันเดินป่า ฉันมักมองหาไดโนเสาร์เสมอ ตอนนี้ไม่มีไดโนเสาร์แล้ว ก็เลยไม่มีแนวโน้มที่จะดูไดโนเสาร์ จากตัวอย่างนี้เราจะเห็นว่า เมื่อไม่มีอะไรมาทำให้แนวโน้มสุกงอม เพราะในตัวอย่างนี้การเห็นไดโนเสาร์เดินอยู่หน้าคุณทำให้เกิดการสุกงอม แนวโน้มในการดูไดโนเสาร์ขึ้นเรื่อย ๆ หากไม่มีสิ่งใดมากระตุ้นแนวโน้มนั้นแล้ว คุณก็จะไม่มีแนวโน้มนั้นอีกต่อไป แล้วถ้าแนวโน้มทางกรรมเหล่านี้ไม่สุกงอมมาแล้ว เพราะมันไม่มีแนวโน้มเหล่านั้นอีกต่อไป เราก็จะไม่ประสบกับวงจรสลับทุกข์สุขอีกต่อไปและเราก็จะไม่ประสบกับความสับสนใด ๆ ด้วย เพราะความสับสนนี้ก็หายไปเช่นกัน
นี่คือวิธีที่เราสามารถปลดปล่อยตัวเองออกจากสังสารวัฏทั้งหมดได้ เราจะไม่ประสบกับวงจรสลับทุกข์สุขอันไม่น่าพึงพอใจ และไม่แน่นอนนี้อีกต่อไป แต่เราจะมีประการณ์อันมั่นคงของความสุขประเภทที่มีคุณภาพที่แตกต่างจากเดิมมาก ไม่ใช่ความสุขประเภทที่เต็มไปด้วยความสับสน แล้วก็ไม่ใช่ความสุขประเภทที่ “ฉันชนะเกมนี้แล้ว ฉันเลยได้รางวัล” หากแต่เป็นความสุขประเภทที่เรารู้สึกได้เมื่อเราเป็นอิสระจากสถานการณ์อันยากลำบาก ผมคิดว่าตัวอย่างง่าย ๆ (ถึงจะไม่ใช่ตัวอย่างที่ตรงเป๊ะก็ตาม) สำหรับการเข้าใจจุดนี้ก็คือ ความสุขที่เรารู้สึกเมื่อเราถอดรองเท้าบีบ ๆ ตอนกลับบ้าน มันคือความโล่งที่เราได้เป็นอิสระจากความเจ็บปวดนั้น
นอกจากนี้ สิ่งที่เราสัมผัสได้จากการปลดปล่อยนี้ก็คือ การกระทำของเราไม่ได้โดนขับเคลื่อนด้วยแรงกระตุ้นบังคับของกรรม ซึ่งทำให้เรากระทำการบางอย่างและประสบกับสิ่งบางอย่าง หากแต่ถ้าเราปฏิบัติไปให้ไกลกว่าการปลดปล่อยเพื่อตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าแล้ว สิ่งที่ขับเคลื่อนการกระทำของเราก็คือความเห็นอกเห็นใจ ความปรารถนาให้ผู้อื่นได้เป็นอิสระจากความทุกข์และเหตุต่าง ๆ ของทุกข์นั่นเอง
บทสรุป
ทั้งหมดนี้คือบทเบื้องต้นสู่หลักการที่เกี่ยวข้องกับเรื่องกรรม ยังมีคำอธิบายและหลักการอีกหลายสิ่งหลายอย่างมากมาย บางแบบอธิบายด้วยหลักการทั่วไปบางอย่าง อย่างเช่นการกระทำประเภทนี้จะทำให้เกิดผลลัพธ์ประเภทนี้ และถ้ามีปัจจัยนี้อยู่ ผลลัพธ์ก็จะมีความแข็งแกร่งขึ้น และถ้าไม่มี หากคุณทำอะไรโดยเกิดจากอุบัติเหตุแทนที่จะตั้งใจทำสิ่งนั้น ผลลัพธ์ก็จะออกมาต่างกัน ยังมีรายละเอียดในเรื่องนี้อีกมากมายเลยครับ
นอกจากนี้หากดูในแง่ของสิ่งที่กำลังจะสุกงอมในตอนนี้ จุดนี้ยากต่อการสรุปโดยรวมกับหลักการทั้งหลายมาก เพราะว่ามันได้รับผลกระทบจากอย่างอื่นทั้งหมดที่เกิดขึ้นรอบตัวเรา สิ่งที่เกิดขึ้นกับเราในตอนนี้ เราไม่สามารถพูดคลุมทั่วๆไปได้จากหลักการกว้าง ๆ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้ได้รับผลกระทบจากทุกอย่างที่เกิดขึ้น ลองคิดถึงว่าถ้าคุณประสบอุบัติเหตุบนถนน อะไรเป็นสิ่งที่ทำให้อุบัตินั้นเกิดขึ้น? มันคือกรรมที่ทุกคนบนถนนนำพามาในตอนนั้น มันคือสภาพการจราจร อากาศ และสภาพของถนน มีหลายอย่างมากที่นำพาสิ่งสิ่งนั้นเข้ามา ซึ่งนำไปสู่การเกิดอุบัติเหตุในที่สุด
หากเราสนใจเรื่องนี้ ยังมีด้านต่าง ๆ ที่ศึกษาได้อีกมากมายเลยครับ ยิ่งเราเรียนรู้เกี่ยวกับกรรมมากเท่าไหร่ ผมคิดว่าก็จะยิ่งเป็นประโยชน์กับเราในการก้าวข้ามการควบคุมของกรรม เพื่อที่เราจะได้ไม่เพียงแต่ปลดปล่อยตัวเองออกจากความทุกข์ในสังสารวัฏ แต่ยังทำให้ตัวเองอยู่ในตำแหน่งที่ดีขึ้นในการช่วยเหลือผู้อื่นด้วย
คุณมีคำถามอะไรครับ?
คำถาม
ในบริบทนี้ไม่ได้พูดถึงความรู้สึกผิดเลยใช่ไหมคะ? มันไม่เกี่ยวกับความรู้สึกผิดเลยใช่ไหมคะ?
ใช่แล้วครับ คำอธิบายเรื่องกรรมในพระพุทธศาสนาไม่เกี่ยวข้องกับความรู้สึกผิดเลย ความรู้สึกผิดอิงจากความคิดที่มี “ตัวฉัน” อย่างแรงกล้าและเข้มแข็ง เป็นสิ่งที่แยกออกมาต่างหากและเห็นสิ่งที่ตัวฉันทำในฐานะสิ่งที่แยกออกมานั้น เหมือนลูกปิงปองสองลูก หรืออะไรแบบนั้นน่ะครับ และเมื่อเราเชื่อว่าตัวตนของ “ตัวฉัน” นั้นไม่ดีเลยและตัวตนของ “สิ่งที่ฉันทำ” นั้นก็ไม่ดีเลยเช่นกัน ดังนั้นก็เลยมีการตัดสินตัวตนอันชัดเจนทั้งสองสิ่งนี้และการไม่ปล่อยวาง นั่นล่ะครับคือความรู้สึกผิด มันเหมือนกับการไม่โยนขยะทิ้งออกไปจากบ้าน แต่กลับเก็บขยะนั้นไว้ แล้วก็บ่นว่ามันแย่แค่ไหน มันเหม็นแค่ไหน มันสกปรกแค่ไหน แต่ก็ไม่เคยปล่อยวาง
มันฟังดูชัดเจนและมีตรรกะมากครับ และผมสามารถเข้าใจระบบทั้งหมดได้ รวมถึงวิธีการขจัดความสับสน แรงกระตุ้น แนวโน้ม และทุกอย่าง แต่ผมคิดว่าการเข้าใจมันไม่เพียงสำหรับการขจัดประสบการณ์ หรือแรงกระตุ้นในการกระทำการอย่างโดนบีบในตอนนี้
ถูกครับ ใช่แล้ว นี่เป็นเหตุผลที่ทำไมก่อนอื่นเราต้องฝึกปฏิบัติการควบคุมตัวเองทางจริยธรรมก่อน จำไว้เรากล่าวว่ามันมีช่องเวลาคั่นเล็กน้อยระหว่างเวลาที่ผมรู้สึกอยากจะพูดว่า “วันนี้คุณใส่ชุดกระโปรงอะไรมาน่าเกลียดจัง” และเวลาที่ผมจะพูดออกไปจริง ๆ หากเราจับช่องเวลาที่คั่นนั้นได้ เราก็จะสามารถตัดสินใจได้ว่า หากฉันบอกเธอไปว่าชุดที่เธอใส่น่าเกลียด ผลกระทบที่เกิดขึ้นจะเป็นอย่างไร และถ้าเราเห็นแล้วว่าการพูดเช่นนี้คงจะไม่ได้เกิดผลดีอะไรขึ้นมา เราก็ไม่ต้องพูด นั่นล่ะครับคือจุดเริ่มต้น เริ่มต้นด้วยวินัยและการควบคุมตนเองทางจริยธรรม
นอกจากนี้เรายังสามารถตรวจสอบอารมณ์ที่เรารู้สึกเวลาเราอยากทำอะไรบางอย่างได้ด้วย ฉันอยากทำแบบนี้ด้วยอารมณ์รบกวนอย่างความโลภหรือเปล่านะ? หรือว่ามันเกิดจากอารมณ์โกรธ? หรือว่าเป็นความไร้เดียงสา? ฉันคิดว่าการบอกว่าชุดของคุณน่าเกลียดจะไม่ส่งผลอะไรต่อคุณหรือเปล่านะ? หรือฉันอยากทำสิ่งนี้ด้วยความเมตตาและปัจจัยในเชิงบวกอื่น ๆ ? นี่เป็นเหตุผลที่ทำไมนิยามของคำว่าอารมณ์หรือทัศนคติรบกวนเข้ามาช่วยได้มาก มันคือสภาพของจิตใจ ซึ่งเมื่อเกิดขึ้นแล้วจะทำให้เราสูญเสียความสงบสุขในจิตใจและการควบคุมตัวเอง
คุณจะรู้ตัวเวลาที่เสียความสงบสุขในใจไป หัวใจเราจะเต้นเร็วขึ้นหน่อย เรารู้สึกไม่ค่อยสบายใจนัก เราก็เลยพยายามจะสังเกตเห็นสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างเช่น ฉันพูดสิ่งนี้ด้วยความภาคภูมิใจหรือเปล่านะ? ยกตัวอย่างเช่น มีคนพูดว่า “ฉันไม่เข้าใจสิ่งนั้นเลย” แล้วคุณพูดว่า “อ๋อ แต่ฉันเข้าใจ!” คุณจะสังเกตถึงความไม่สบายใจเล็กน้อยที่เกิดขึ้น เพราะมีเรื่องความภาคภูมิใจ ความหยิ่งหนุนหลังคำพูดของคุณอยู่ และนี่ก็คือสิ่งที่คุณต้องมองหา
แต่การจะเข้าใจความเป็นจริง ซึ่งหมายถึงการบรรลุความเข้าใจเรื่องสุญญตาและอื่น ๆ นั้น เป็นเรื่องที่ยากมาก ๆ และถึงแม้ว่าเราจะเข้าใจแล้ว เราก็ต้องปรับตัวให้เข้ากับความเข้าใจนั้น เพื่อให้เราจะมีอยู่ตลอดเวลา เราถึงต้องเริ่มจากการฝึกวินัยทางจริยธรรมในตัวเอง เพื่อห้ามไม่ให้เรากระทำการใดในเชิงทำลาย
ผมงงนิดหน่อยครับ ผมคิดว่าคุณพูดว่ามีอารมณ์สองลักษณะที่สร้างความต่อเนื่องให้กับความทุกข์สุข วงจรขึ้นลงนี้ คุณหมายถึงว่าอารมณ์ลักษณะหนึ่งคือตัณหา แล้วอีกอย่างหนึ่งคืออะไรนะครับ?
สิ่งที่ผมอธิบายคือปัจจัยสองประการที่กระตุ้นให้แนวโน้มทางกรรมทำงาน ซึ่งมาจากหลักคำสอนเรื่องการอาศัยกันในการเกิดขึ้น มี 12 ข้อ (ปฏิจจสมุปบาท) หนึ่งในปัจจัยนี้คือตัณหา ส่วนอีกปัจจัย ซึ่งผมพูดสรุปในภาพรวมนะครับ ปัจจัยอีกอย่างนั้นคือ “ทัศนคติหรืออารมณ์ของผู้ได้รับ” ซึ่งแยกออกมาเป็นรายการของความเป็นไปได้ประมาณห้าอย่าง นี่คือสิ่งที่จะได้รับผลลัพธ์ ดังนั้นด้านที่ชัดเจนที่สุดก็คือการระบุความเป็น “ตัวตน” อย่างเข้มแข็ง กับสิ่งที่เราประสบและสิ่งที่เกิดขึ้น
การระบุ “ตัวตน” อย่างเข้มแข็งนี้มีความสัมพันธ์กับอะไรหรือเปล่าครับ มันชัดเจนว่าจุดนี้มีความสับสนเข้ามาเกี่ยวข้องอยู่แล้ว และเราต้องดูแลและกำจัดความสับสนนั้นออกไป แต่เรากำลังสับสนเรื่องอะไรกันแน่และเราสับสนสิ่งนั้นกับอะไรครับ?
นั่นไม่ใช่คำถามที่จะสามารถตอบแบบง่ายๆเลยครับ เรากำลังสับสนเรื่อง “ตัวตน” ที่ไม่มีการดำรงอยู่จริง สับสนเรื่อง “ตัวฉัน” โดยสมมติ กับความเป็น “ตัวฉัน” ที่ผิด ซึ่งไม่มีตัวตนอยู่จริง สิ่งที่เราทำคือการจินตนาการว่า ตัวตนของ “ฉัน” นั้นซึ่งดำรงอยู่จริง ดำรงอยู่ด้วยวิธีที่เป็นไปไม่ได้ มันเป็นการคิดเกินจริง มันคือการแต่งเติมอะไรเข้าไปทั้ง ๆ ที่มันไม่มีอยู่ ยกตัวอย่างเช่น ฉันมีความสุขหรือฉันมีทุกข์ มันไม่ใช่ว่า คุณมีทุกข์ ฉันมีทุกข์ เมื่อเกิดประสบการณ์ของความสุขหรือความทุกข์ เราพูดถึงประสบการณ์นี้ในเชิง ฉันมีความสุข มันไม่ใช่ว่าคุณมีความสุข หรือใครคนอื่นมีความสุข อย่าง ฉันมีความสุขหรอกครับ “ตัวฉัน” นั้นคือ “ฉัน”โดยสมมติ ซึ่งไม่ได้ดำรงอยู่จริง
ผมขอยกตัวอย่างสำหรับ “ตัวฉัน” โดยสมมตินะครับ สมมุติว่าเรากำลังดูภาพยนต์อยู่ เอาเป็นว่าภาพยนต์เรื่องนั้นคือเรื่อง วิมานลอย (“Gone with the Wind”) แล้วกันครับ ในเรื่องมีฉากที่มีความสุข ตามด้วยฉากเศร้า แล้วก็กลับมาฉากที่มีความสุขอีกครั้ง เอาล่ะ เกิดอะไรขึ้นตรงนี้ครับ? ฉากแฮปปี้นี่มาจากเรื่อง วิมานลอย และฉากเศร้าก็มาจากเรื่อง วิมานลอย ตามสมมติแล้วเราก็จะเรียกทั้งหมดนี้ว่า วิมานลอย ซึ่งรวมทั้งฉากเศร้าและฉากสุข อย่างไรก็ตาม วิมานลอย ก็เป็นแค่ชื่อเรื่อง เป็นแค่ชื่อชื่อหนึ่ง แต่เวลาเราพูดถึง วิมานลอย เราไม่ได้พูดถึงแค่ชื่อเรื่อง เราพูดถึงภาพยนต์ทั้งเรื่อง เราพูดถึงสิ่งที่ชื่อสื่อออกมา นั่นคือการดำรงอยู่ตามสมมติของภาพยนต์ มันดำรงอยู่ ภาพยนต์ไม่ใช่สิ่งที่แยกออกมาจากฉากเหล่านั้น ภาพยนต์ที่แยกต่างหากออกมาจากฉากเหล่านั้นก็จะเป็นภาพยนต์ผิด มันไม่มีอยู่จริง ภาพยนต์ที่ดำรงอยู่ตามสมมติก็เป็นเพียงสิ่งที่เราติดป้ายฉลากหรืออ้างถึงได้ เราพูดถึงมันบนพื้นฐานของฉากเหล่านั้น
ในลักษณะเดียวกัน เรามีทั้งช่วงเวลาที่มีสุขและช่วงเวลาที่มีทุกข์ในชีวิตของเรา แล้วเรากล่าวถึงทั้งหมดนั้นอย่างไรครับ? เรากล่าวถึงมันในเชิง “ตัวฉัน” โดยสมมติ ซึ่งมีอยู่จริง มันไม่ใช่คุณ แต่เป็น “ฉัน” ในลักษณะเดียวกัน ภาพยนต์เรื่องนั้นคือเรื่อง วิมานลอย ไม่ใช่เรื่อง สตาร์ วอร์ส (“Star Wars”) แต่มันไม่มี “ตัวฉัน” ที่แยกออกมาจากขณะเวลาแห่งความสุขและความทุกข์ และที่ประสบขณะเวลาเหล่านั้น นั่นคือ “ตัวฉัน” ที่ผิด คือ “ตัวฉัน” ที่ไม่มีอยู่จริง และ “ตัวฉัน” ก็เป็นเพียงแค่คำคำหนึ่ง ดังนั้น “ตัวฉัน” ก็เป็นเพียงแค่คำที่หมายถึงขณะเวลาทั้งหมดของประสบการณ์ในชีวิตนั่นเอง
เพราะฉะนั้นความสับสนก็คือ การคิดว่ามันมี “ตัวฉัน” ที่แยกออกมาต่างหาก ซึ่งอยู่ในร่างกายนี้ ครอบครองและเชื่อมต่อร่างกายนี้อยู่ และคอยกดปุ่มต่าง ๆ และตอนนี้ “ตัวฉัน” ก็กำลังประสบกับอาการปวดเท้า ทำให้ฉันไม่มีความสุขเอามาก ๆ แล้วฉันก็ไม่ชอบเลย นี้เหมือนกับว่ามันมี “ตัวฉัน” ที่แยกออกมาจากประสบการณ์ทั้งหมดที่สิ่งแปลกปลอมที่เรียกว่า ร่างกาย กำลังประสบอยู่ จากความสับสนนี้ “ตัวฉัน” ที่แยกออกมา “ตัวฉัน” ที่ผิด รวมกับ “ตัวฉัน” โดยสมมติ และการระบุด้วย “ตัวฉัน” แบบผิด ๆ นี้ เรามีตัณหาที่ว่า “ฉันต้องออกไปจากความทุกข์นี้ ความเจ็บปวดนี้ ความทุกข์ที่ฉันได้รับจากการเจ็บปวดทางร่างกาย” แน่นอนว่าถ้าเราไม่มอง “ตัวฉัน” ที่เข้มแข็ง ในทางที่ผิด ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะได้แต่นั่งเฉย ๆ รับความเจ็บปวดไป ถ้าเท้าเราโดนไฟไหม้ แน่นอนว่าเราก็ต้องดึงเท้าออกจากไฟ แต่แนวคิดของ “ตัวฉัน” ที่เป็นรากฐานนั้นแตกต่างออกไปมาก มันไม่มีความตื่นตระหนก
แต่แนวคิดของ “ตัวฉัน” แบบผิด ๆ เทียบกับ “ตัวฉัน” โดยสมมตินั้นเป็นเรื่องที่ซับซ้อนและอยู่ในขั้นสูงมาก เราจึงควรพับมันเก็บไว้ในตอนนี้ก่อน สำหรับค่ำคืนนี้ผมขอจบด้วยการอุทิศส่วนกุศล ให้เราคิดว่า ความเข้าใจใด ๆ พลังในเชิงบวกใด ๆ ที่ได้ในวันนี้ ขอให้สิ่งเหล่านั้นเข้าไปลึก ๆ หยั่งรากลึกให้แข็งแกร่งขึ้นเรื่อย ๆ และขอให้เป็นเหตุของการตรัสรู้เพื่อผลประโยชน์ส่วนรวมด้วยเถิด