ความสุขธรรมดา: ความทุกข์ของการเปลี่ยนแปลง
บางคนได้อธิบายลักษณะของพุทธศาสนาว่าเป็นศาสนาเชิงลบที่ระบุทุกสิ่งที่เราประสบว่าเป็นความทุกข์ และไม่ยอมรับความสุขเลย อย่างไรก็ตาม นี่เป็นการให้มุมมองที่ผิด มันเป็นความจริงที่ว่า พระพุทธศาสนากล่าวถึงความสุขธรรมดาของเราว่า เป็นความทุกข์ของการเปลี่ยนแปลง นั่นหมายความว่า ความสุขประเภทนี้ไม่น่าพึงพอใจ มันไม่คงอยู่ และเราไม่พอกับมัน มันไม่ใช่ความสุขที่แท้จริง ตัวอย่างเช่น ถ้าการกินไอศกรีมเป็นความสุขที่แท้จริง ยิ่งเรากินไอศกรีมมากเท่าไหร่ เราก็น่าจะมีความสุขมากขึ้นเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตาม ในไม่ช้า เราก็จะมาถึงจุดที่ความสุขจากการกินไอศกรีมเปลี่ยนไปเป็นไม่มีความสุขและเป็นความทุกข์ เช่นเดียวกับกรณีการนั่งตากแดด หรือการย้ายเข้าไปในที่ร่ม นี่คือสิ่งที่หมายถึงความทุกข์ของการเปลี่ยนแปลง
อย่างไรก็ตาม พระพุทธศาสนาให้วิธีการไว้มากมายในการเอาชนะข้อจำกัดของความสุขธรรมดาของเรา ซึ่งเป็นความทุกข์จากการเปลี่ยนแปลงนี้ เพื่อให้เราไปถึงสภาวะแห่งความสุขอันเป็นนิรันดร์ของพระพุทธเจ้า ถึงอย่างนั้นก็ตาม แม้ว่าจะมีข้อบกพร่องของความสุขธรรมดาของเรา แต่พระพุทธศาสนาก็ยังได้อธิบายถึงที่มาของการบรรลุความสุขประเภทนั้นไว้ด้วย พระพุทธศาสนาให้คำสอนนี้เพราะว่าสัจพจน์พื้นฐานประการหนึ่งคือ ทุกคนต้องการมีความสุข และไม่มีใครอยากไม่มีความสุข และเนื่องจากทุกคนต่างก็มองหาความสุข และในฐานะที่เป็นสิ่งมีชีวิตธรรมดา เราไม่รู้จักความสุขประเภทอื่นใดนอกจากความสุขธรรมดานี้ ดังนั้นพระพุทธศาสนาจึงบอกเราว่าจะบรรลุมันได้อย่างไร ต่อเมื่อความปรารถนาและความต้องการความสุขนั้นได้บรรลุในระดับพื้นฐานที่สุดของความสุขธรรมดาแล้วเท่านั้น เราจึงจะสามารถมุ่งสู่ระดับที่ลึกซึ้งและน่าพอใจยิ่งขึ้นด้วยการปฏิบัติต่าง ๆ ทางด้านศาสนาขั้นสูงต่อไปได้
อย่างไรก็ตาม น่าเสียดายดังที่ท่านศานติเทวะ (Shantideva) ปรมาจารย์ทางพระพุทธศาสนาชาวอินเดียผู้ยิ่งใหญ่ได้เขียนไว้ใน การลงมือในพฤติกรรมของพระโพธิสัตว์ (Engaging in Bodhisattva Behavior) I.27 (sPyod-‘jug ภาษาสันสกฤต โพธิสัตตวจรรยาวตาร):
แม้ว่าจะมีจิตใจที่ปรารถนาจะหลีกหนีความทุกข์ แต่พวกเขาก็รีบมุ่งหน้าไปสู่ความทุกข์เสียเอง แม้ว่าจะปรารถนาความสุข แต่ด้วยความไร้เดียงสา พวกเขาก็จะทำลายความสุขของตัวเองราวกับว่ามันเป็นศัตรู
กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ แม้ว่าเราปรารถนาความสุข แต่เราก็ไร้เดียงสาเกี่ยวกับแหล่งที่มาของมัน ฉะนั้น แทนที่จะสร้างความสุขให้ตัวเองมากขึ้น เรากลับสร้างแต่ความทุกข์และความเศร้าโศกมากขึ้น
ความสุขคือความรู้สึก
แม้ว่าความสุขจะมีอยู่หลายประเภท แต่ที่นี่ เราจะมุ่งเน้นความใส่ใจไปที่ความสุขธรรมดา เพื่อให้เข้าใจแหล่งที่มา ก่อนอื่นเราต้องมีความชัดเจนเกี่ยวกับความหมายของคำว่า “ความสุข” เสียก่อน อะไรคือความสุข (bde-ba ภาษาสันสกฤต สุข) ที่เราทุกคนต้องการ จากการวิเคราะห์ทางพระพุทธศาสนา ความสุขเป็นปัจจัยทางจิตใจ กล่าวอีกนัยหนึ่ง มันคือกิจกรรมทางจิตใจประเภทหนึ่งที่เราตระหนักถึงสิ่ง ๆ หนึ่งในลักษณะหนึ่ง มันเป็นส่วนหนึ่งของปัจจัยทางจิตใจที่กว้างกว่าที่เรียกว่า “ความรู้สึก” (tshor-ba ภาษาสันสกฤต เวทนา) ซึ่งครอบคลุมวงกว้างตั้งแต่มีความสุขโดยสิ้นเชิงไปจนถึงไม่มีความสุขโดยสิ้นเชิง
คำจำกัดความของคำว่า "ความรู้สึก" คืออะไร ความรู้สึกเป็นปัจจัยทางจิตใจที่มีลักษณะของการประสบ (myong-ba) มันเป็นกิจกรรมทางจิตใจของการประสบกับสิ่ง ๆ หนึ่งหรือสถานการณ์ ๆ หนึ่งในลักษณะที่จริง ๆ แล้วทำให้เป็นประสบการณ์ของสิ่ง นั้นหรือสถานการณ์นั้น หากปราศจากความรู้สึกระหว่างขอบเขตความสุขกับไม่มีความสุขนั้นแล้ว เราก็จะไม่ได้ประสบกับสิ่ง ๆ หนึ่งหรือสถานการณ์ ๆ หนึ่งอย่างแท้จริง คอมพิวเตอร์จะรับข้อมูลเข้ามา แล้วทำการประมวลผลข้อมูล แต่เนื่องจากคอมพิวเตอร์ไม่มีความรู้สึกมีความสุข หรือไม่มีความสุขในการทำเช่นนี้ คอมพิวเตอร์จึงไม่ได้ประสบกับข้อมูล นี่คือความแตกต่างระหว่างคอมพิวเตอร์กับจิตใจ
การรู้สึกถึงระดับของความสุขหรือไม่มีความสุขที่มาพร้อมกับการรับรู้วัตถุทางประสาทสัมผัส เช่น สิ่งที่เห็น เสียง กลิ่น รส หรือความรู้สึกทางร่างกาย เช่น ความสุข หรือความเจ็บปวด หรือการรับรู้ถึงวัตถุทางจิตใจ เช่น เมื่อกำลังคิดถึงอะไรบางอย่าง มันไม่จำเป็นต้องน่าตื่นเต้นเร้าใจหรืออย่างสุดขีด มันอาจจะอยู่ในระดับต่ำมากก็ได้ ในความเป็นจริง ความรู้สึกมีความสุขหรือไม่มีความสุขมากับทุกขณะเวลาของชีวิตของเรา แม้กระทั่งตอนที่เราหลับสนิทโดยไม่มีความฝัน แต่เราก็ประสบมันด้วยความรู้สึกที่เป็นกลาง
นิยามของความสุข
พระพุทธศาสนาให้คำนิยามของความสุขไว้สองประการ คำนิยามหนึ่งถูกกำหนดในแง่ของความสัมพันธ์ของเรากับวัตถุหนึ่ง ในขณะที่อีกคำนิยามหนึ่งนั้นถูกกำหนดในแง่ของความสัมพันธ์ของเรากับสภาพจิตใจของความรู้สึกนั้นเอง
- คำนิยามแรกให้คำจำกัดความของความสุขว่า เป็นการประสบกับบางสิ่งในลักษณะที่น่าพอใจ โดยอาศัยการเชื่อที่ว่าสิ่งนั้นเป็นประโยชน์ต่อตัวเราเอง ไม่ว่าจะเป็นจริงหรือไม่ก็ตาม ความทุกข์คือ การประสบกับบางสิ่งในทางที่ไม่น่าพอใจและทำให้ทรมาน เราประสบกับบางสิ่งด้วยความรู้สึกที่เป็นกลางเมื่อมันไม่ใช่ทั้งในทางที่น่าพอใจและที่ทำให้รู้สึกทรมาน
- คำนิยามที่สองให้คำจำกัดความของความสุขว่า เป็นความรู้สึกที่เมื่อมันจบลงแล้ว เราก็อยากจะพบกับมันอีก ความทุกข์เป็นความรู้สึกที่เมื่อเกิดขึ้น เราก็ปรารถนาที่จะแยกทางจากมัน ในขณะที่ความรู้สึกเป็นกลาง ซึ่งเมื่อมันเกิดขึ้นหรือสิ้นสุดลง เราจะไม่มีความปรารถนาทั้งสองอย่างนั้น
คำนิยามทั้งสองนั้นมีความสัมพันธ์กัน เมื่อเรามีประสบการณ์กับบางสิ่งในทางที่น่าพึงพอใจ วิธีที่เราประสบกับวัตถุนั้นแท้จริงแล้ว วัตถุนั้น “เข้ามาอยู่ในจิตใจของเรา” (yid-du ‘ong-ba ภาษาสันสกฤต manapa) ในลักษณะที่น่าพอใจ เรายอมรับวัตถุนั้นและยังคงเป็นวัตถุที่เราให้ความใส่ใจอยู่ นี่บอกเป็นนัยว่า เรารู้สึกว่าประสบการณ์ของเราเกี่ยวกับวัตถุนั้นเป็นประโยชน์ต่อเรา มันทำให้เรามีความสุข มันรู้สึกดี ด้วยเหตุนี้ เราจึงต้องการให้ประโยชน์จากประสบการณ์ที่ได้รับนั้นมีต่อไป และถ้ามันจบลง เราก็อยากให้มันกลับมาอีก ถ้าตามภาษาพูดทั่ว ๆ ไปเราอาจกล่าวได้ว่า เราสนุกกับวัตถุนั้นและประสบการณ์ที่ได้รับจากมัน
เมื่อเราประสบกับวัตถุหนึ่งในลักษณะที่ทำให้เราทรมาน ประสบการณ์ที่ไม่มีความสุขกับวัตถุนั้นแท้จริงแล้ว “ไม่เข้ามาอยู่ในจิตใจของเรา” (yid-du ma-‘ong-ba ภาษาสันสกฤต amanapa) ในลักษณะที่น่าพอใจ เราไม่ยอมรับวัตถุนั้น และมันก็ไม่ได้อยู่เป็นวัตถุที่เราให้ความใส่ใจอย่างสบายใจนัก เรารู้สึกว่า ประสบการณ์ของเราที่มีต่อวัตถุนั้นไม่มีประโยชน์ และในความเป็นจริงมันกำลังทำร้ายเรา เราอยากให้มันจบลง ตามภาษาพูดโดยทั่ว ๆ ไปก็คือว่า เราไม่สนุกกับวัตถุนั้นหรือประสบการณ์ที่ได้รับจากมัน
การขยายความเกินจริงเกี่ยวกับคุณภาพของวัตถุสิ่งหนึ่ง
การรู้สึกสบายใจกับวัตถุหนึ่งหมายความว่าอย่างไร เมื่อเราพอใจกับวัตถุหนึ่ง เราจะยอมรับสิ่งนั้นอย่างที่มันเป็นโดยปราศจากความไร้เดียงสาและปราศจากการขยายความเกินจริงหรือปฏิเสธ คุณสมบัติที่ดีหรือข้อบกพร่องของมัน ประเด็นนี้จะนำเราไปสู่การสนทนาเกี่ยวกับอารมณ์ที่รบกวน (nyon-rmongs ภาษาสันสกฤต klesha หรือ กิเลส อารมณ์ที่เป็นทุกข์) และความสัมพันธ์ของอารมณ์เหล่านั้นว่าเราประสบกับวัตถุหนึ่งด้วยความสุขหรือความทุกข์
อารมณ์ที่รบกวนกลุ่มหนึ่งคือ กามตัณหา ความยึดติด และความโลภ ด้วยทั้งสามอย่างนี้ เราขยายความเกินจริงถึงคุณสมบัติที่ดีของวัตถุหนึ่ง ด้วยกามตัณหา เราต้องการได้วัตถุนั้นหากเราไม่มีมัน ด้วยความยึดติด เราไม่ต้องการสูญเสียสิ่งนั้นเมื่อเรามีมัน และด้วยความโลภ เราต้องการมากขึ้นแม้ว่าเราจะมีมันอยู่แล้วก็ตาม ด้วยอารมณ์ที่รบกวนเหล่านี้ เรามีแนวโน้มที่จะละเลยข้อบกพร่องของวัตถุนั้น สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่สภาพจิตใจที่มีความสุข เนื่องจากเราไม่พบว่าวัตถุนั้นมันน่าพอใจ นั่นหมายความว่า เราไม่พอใจกับวัตถุนั้น เราไม่ยอมรับมันในสิ่งที่มันเป็น
ตัวอย่างเช่น เมื่อเราเห็นแฟนของเราที่เรามีความรู้สึกยึดติดมาก เราอาจจะประสบสิ่งที่เห็นนั้นพร้อมความสุข เราพอใจที่จะเห็นบุคคลนั้น เราพบว่ามันน่าพึงพอใจ แต่ทันทีที่การยึดติดของเราเกิดขึ้น เมื่อเราขยายความเกินจริงถึงคุณสมบัติที่ดีของบุคคลนั้นและการอยู่ร่วมกับคนนั้น และเราขยายความเกินจริงถึงคุณสมบัติเชิงลบของการที่เราไม่มีบุคคลนั้น ดังนั้นแล้ว เราจึงรู้สึกไม่พอใจและไม่มีความสุข เราไม่ยอมรับสถานการณ์ที่เห็นคน ๆ นั้นในตอนนี้ และแค่มีความสุขกับขณะเวลานี้ แต่เราต้องการมากกว่านั้น และกลัวว่าคนนั้นจะจากไป ด้วยเหตุนี้ เราจึงเห็นคนที่เรารักด้วยความรู้สึกไม่พอใจ ไม่สบายใจ และไม่มีความสุขขึ้นมาในทันทีทันใด
อารมณ์ที่รบกวนอีกกลุ่มหนึ่งคือ ความรู้สึกรังเกียจ ความโกรธ และความเกลียดชัง ด้วยสิ่งเหล่านี้ เราจึงขยายความเกินจริงถึงข้อบกพร่องหรือคุณสมบัติเชิงลบของวัตถุนั้น และต้องการหลีกเลี่ยงมันหากเราไม่มีมัน เราต้องการกำจัดมันเมื่อเรามีมัน และเมื่อมันจบลง เราก็ไม่ต้องการที่จะให้มันเกิดขึ้นอีก อารมณ์ที่รบกวนทั้งสามอย่างนี้มักจะถูกผสมกับความกลัว สิ่งเหล่านี้ก็ไม่ใช่สภาพจิตใจที่มีความสุขเช่นกัน เนื่องจากเราไม่พอใจกับสิ่งนั้น เราไม่ยอมรับมันในสิ่งที่มันเป็น
ตัวอย่างเช่น เราอาจจะต้องทำการรักษารากฟัน วัตถุของประสบการณ์ของเราคือ ความรู้สึกเจ็บปวดทางกายภาพ แต่ถ้าเรายอมรับมันในสิ่งที่มันเป็น โดยไม่ขยายความเกินจริงถึงคุณสมบัติเชิงลบของมัน เราจะไม่ทุกข์ในระหว่างขั้นตอนนั้น เราสามารถที่จะมีความรู้สึกเป็นกลางเป็นวิธีที่เราประสบกับความเจ็บปวดนั้นนั่นคือ เราจะยอมรับสิ่งนั้นตราบเท่าระยะเวลาที่ต้องใช้ในขั้นตอนนี้ ดังนั้น เราจะไม่ภาวนาให้มันจบลงโดยเร็ว และเมื่อหมอฟันหยุดกรอฟัน เราก็ไม่ต้องการให้หมอกรอฟันมากขึ้นอีก เรามีใจเป็นกลางเกี่ยวกับความเจ็บปวดจากการกรอฟันนั้น ไม่มีความรู้สึกรังเกียจ ไม่มีความดึงดูด หรือไม่มีความไร้เดียงสา อันที่จริงในระหว่างขั้นตอนนี้ เราสามารถที่จะสัมผัสกับความสุขได้โดยมุ่งเน้นไปที่ความคิดที่ว่า เรากำลังป้องกันความเจ็บปวดที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตจากอาการปวดฟันมากขึ้น
สังเกตว่า การมีความสุขหรือพอใจกับบางสิ่งไม่ได้ขัดขวางความต้องการบางสิ่งมากขึ้นหรือน้อยลงโดยพื้นฐานของความจำเป็น มันไม่ได้ทำให้เราเฉื่อยชาเพื่อที่จะไม่ให้เราพยายามปรับปรุงสิ่งต่าง ๆ หรือปรับปรุงตัวเองหรือสถานการณ์ในชีวิตของเรา ตัวอย่างเช่น เราสามารถยอมรับ พอใจ และมีความสุขที่ตามมาได้ กับความก้าวหน้าในการดำเนินโครงการในที่ทำงาน หรือการฟื้นตัวจากการผ่าตัด แต่จากพื้นฐานของความจำเป็น เรายังคงต้องการก้าวหน้าต่อไปโดยปราศจากความทุกข์กับสิ่งที่เราประสบความสำเร็จจนถึงตอนนี้ เช่นเดียวกับกรณีปริมาณอาหารในจานของเรา หรือจำนวนเงินที่เรามีอยู่ในธนาคาร ถ้าจริง ๆ แล้วความเป็นจริงคือว่าเราไม่มีมันเพียงพอและเราจำเป็นต้องมีมากกว่านั้น หากปราศจากการขยายความเกินจริงในแง่ลบของการมีอาหารไม่พอกิน หรือมีเงินในธนาคารไม่พอ หรือการปฏิเสธผลประโยชน์ของการมีมากขึ้นอีกนั้น เราสามารถพยายามที่จะหาอาหารหรือเงินให้มากขึ้นอีกโดยปราศจากความรู้สึกทุกข์เกี่ยวกับมันได้ ถ้าเราทำสำเร็จ มันก็โอเค และถ้าเราล้มเหลวก็ไม่เป็นไร ยังไงเราก็จะจัดการได้ แต่เราจะยังคงพยายาม ที่สำคัญที่สุดคือ เราพยายามที่จะได้รับมากขึ้นแต่ปราศจากการล่องลอยเกี่ยวกับการคาดหวังถึงความสำเร็จ หรือความกังวลเกี่ยวกับความล้มเหลว
ท่านศานติเทวะ (Shantideva) ได้เขียนไว้อย่างดีในเนื้อหาบทที่เกี่ยวกับความอดทน (VI.10) ว่า
ถ้าสามารถแก้ไขได้ ทำไมต้องอารมณ์เสียกับบางสิ่งบางอย่างด้วย และถ้าไม่สามารถแก้ไขได้ เมื่อเราอารมณ์เสียกับมันแล้ว มันจะช่วยอะไรได้
พฤติกรรมที่สร้างสรรค์ในฐานะแหล่งที่มาที่สำคัญของความสุข
ในระยะยาว สาเหตุหลักของความสุขคือ พฤติกรรมที่สร้างสรรค์ ซึ่งหมายถึง การละเว้นจากการกระทำ การพูด หรือการคิดภายใต้อิทธิพลของอารมณ์ที่รบกวน เช่น กามตัณหา ความยึดติด ความโลภ ความรู้สึกรังเกียจ ความโกรธ ความไร้เดียงสา เป็นต้นโดยปราศจากความกังวลถึงผลกระทบในระยะยาวของพฤติกรรมของเราที่มีต่อตนเองและผู้อื่น พฤติกรรมที่ทำลาย ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการไม่มีความสุข คือการไม่ละเว้นจากพฤติกรรมประเภทนั้น แต่การมีส่วนร่วมในพฤติกรรมนั้น ตัวอย่างเช่น ด้วยความปรารถนาอยากได้ เราจึงขยายความเกินจริงของคุณสมบัติที่ดีของวัตถุสิ่งของในร้านค้า และเพิกเฉยต่อผลทางกฎหมาย เราจึงไปขโมยมัน ด้วยความโกรธ เราขยายความเกินจริงถึงคุณสมบัติเชิงลบของสิ่งที่คนรักของเราพูด และโดยไม่สนใจผลที่จะมีต่อความสัมพันธ์ของเรา เราจึงตะโกนใส่เขาหรือเธอ และพูดคำที่โหดร้ายออกไป
การกระทำ การพูด และการคิดในขณะที่ละเว้นจากการอยู่ภายใต้อิทธิพลของอารมณ์ที่รบกวนจะสร้างนิสัยที่จะละเว้นจากการอยู่ภายใต้อิทธิพลดังกล่าวในอนาคต ด้วยเหตุนี้ หากมีอารมณ์ที่รบกวนเกิดขึ้นในอนาคต เราจะไม่กระทำการบนพื้นฐานของมัน และในที่สุดกำลังของอารมณ์ที่รบกวนนั้นจะอ่อนลง จนในที่สุดอารมณ์ที่รบกวนนั้นก็แทบจะไม่เกิดขึ้นเลย ในทางกลับกัน ยิ่งเรากระทำการตามอารมณ์ที่รบกวนมากเท่าไหร่ มันก็จะยิ่งเกิดขึ้นในอนาคตและจะยิ่งแข็งแกร่งมากขึ้นเท่านั้น
ดังที่เราเคยเห็นมาแล้ว เมื่อเราประสบกับวัตถุหนึ่งด้วยความสุข เราจะประสบกับสิ่งนั้นโดยปราศจากอารมณ์ที่รบกวนของความไร้เดียงสา กามตัณหา ความยึดติด ความโลภ ความรู้สึกรังเกียจ หรือความโกรธนั้น ประสบการณ์ของเราเกี่ยวกับวัตถุนั้นขึ้นอยู่กับการยอมรับลักษณะที่แท้จริงของมันว่าเป็นอย่างนั้นโดยไม่ขยายความเกินจริงหรือปฏิเสธจุดดีหรือไม่ดีของมัน ดังนั้น วิธีการประสบกับสิ่งต่าง ๆ นี้จะมาจากนิสัยของพฤติกรรมที่สร้างสรรค์ที่เราทำ พูด และคิด ในทำนองเดียวกันบนพื้นฐานของการยอมรับธรรมชาติที่แท้จริงของผู้คน วัตถุสิ่งของ หรือสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เป็นอยู่โดยไม่ขยายความเกินจริง หรือปฏิเสธจุดดีหรือไม่ดีของสิ่งเหล่านั้น
สภาวะแวดล้อมที่เอื้อให้ศักยภาพแห่งความสุขสุกงอม
ดังนั้นแล้ว วิธีการประสบกับวัตถุต่าง ๆ หรือความคิดต่าง ๆ ของเรา ไม่ว่าจะด้วยความสุขหรือความทุกข์ จึงไม่ได้ถูกกำหนดโดยวัตถุนั้นหรือความคิดนั้นด้วยตัวมันเอง ดังที่เราได้เห็นแล้วว่า กับพฤติกรรมก่อนหน้านี้ระยะยาวของเรา ถ้าเราได้สร้างนิสัยละเว้นจากการขยายความเกินจริง หรือปฏิเสธด้านบวกหรือด้านลบของสิ่งเหล่านี้แล้ว เราก็จะสามารถประสบแม้กระทั่งกับความเจ็บปวดจากการรักษารากฟันในสภาพจิตใจที่มีความสุขได้ ย้อนกลับไปที่นิยามของความสุข เราจะประสบกับขั้นตอนนั้นในลักษณะที่น่าพอใจบนพื้นฐานความเชื่อที่ว่ามันจะเป็นประโยชน์ต่อตัวเราเอง
แม้ว่าเราอาจสร้างนิสัยในการละเว้นจากการกระทำ การพูด หรือการคิดภายใต้อิทธิพลของอารมณ์ที่รบกวนได้ แล้วก็สร้างศักยภาพที่จะประสบกับวัตถุต่าง ๆ และความคิดต่าง ๆ ด้วยความสุข แต่ก็ยังมีบางสภาวะแวดล้อมที่จำเป็นเพื่อเอื้อให้ศักยภาพนั้นเกิดสุกงอมไปสู่ประสบการณ์แห่งความสุข ดังที่เราได้เห็นมาแล้ว วัตถุประสบการณ์ของเราไม่จำเป็นต้องเป็นตัวกำหนดว่า เราจะประสบกับความสุขหรือความทุกข์ แต่การได้ประสบกับวัตถุหนึ่งอย่างมีความสุขนั้นขึ้นอยู่กับทัศนคติของเราในการยอมรับความเป็นจริงที่แท้จริงของวัตถุนั้นมากกว่าโดยไม่คำนึงว่าวัตถุนั้นจะเป็นอะไร เช่น ความรู้สึกทางกายภาพที่เจ็บปวดจากการรักษารากฟัน หรือการมองเห็นคนที่คุณรัก ดังนั้น ทัศนคติของเรา สภาพจิตใจของเรา จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในเวลาที่เรารู้สึกมีความสุขหรือไม่มีความสุข ไม่ว่าวัตถุที่เรามองเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ได้ชิม ได้สัมผัสทางกายภาพ หรือการคิดจะเป็นอะไรก็ตาม
นอกจากนี้ เรายังได้เห็นว่า เมื่อเรายอมรับความเป็นจริงของสิ่งที่มันเป็นอยู่ และไม่มีความไร้เดียงสา เราก็จะไม่ขยายความเกินจริงหรือปฏิเสธคุณสมบัติที่ดีหรือไม่ดีของมัน ฉะนั้นแล้ว เราจึงไม่ประสบกับวัตถุนั้นด้วยกามตัณหา ความโลภ ความยึดติด ความรู้สึกรังเกียจ หรือความโกรธ ด้วยเหตุนี้ สิ่งที่จะช่วยกระตุ้นให้เกิดการสุกงอมของความสุขในขณะเวลาใดเวลาหนึ่งก็คือ ความเป็นอิสระจากความไร้เดียงสา
ความไร้เดียงสา
ในช่วงเวลาที่ไม่มีความสุข ความไร้เดียงสา ของเรา (gti-mug ภาษาสันสกฤต โมหะ) ไม่จำเป็นต้องจำกัดอยู่ที่ความไร้เดียงสาเกี่ยวกับวัตถุที่เรากำลังประสบอยู่เท่านั้น ความไร้เดียงสามีขอบเขตที่กว้างกว่ามาก อาจจะมุ่งเน้นไปที่ตัวเราเองด้วย เมื่อเรากำลังประสบปัญหาด้วยความทุกข์อย่างใหญ่หลวง ดังนั้น ด้วยความไร้เดียงสา เรามักจะตรึงกับตัวเองเท่านั้น และเราอาจคิดว่า เราเป็นคนเดียวที่เคยประสบปัญหานี้
ยกตัวอย่างเช่น การตกงานของเรา ความจริงก็คือ มีคนหลายล้านคนทั่วโลกที่ตกงานและว่างงานอยู่ในขณะนี้ เราสามารถคิดถึงสถานการณ์ของเราได้โดยปราศจากความไร้เดียงสาเกี่ยวกับความไม่เที่ยง เป็นต้น เราควรจำไว้ว่า ปรากฏการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นจากสาเหตุและสถานการณ์ต่าง ๆ จะได้รับผลกระทบจากสาเหตุและสถานการณ์เพิ่มเติมต่าง ๆ อีก และมันก็จะสิ้นสุดลงในที่สุด นั่นสามารถเป็นประโยชน์ได้มาก แต่จะยิ่งมีประสิทธิภาพมากกว่านั้นก็คือ การขยายขอบเขตความคิดของเราให้กว้างขึ้นไม่รวมเพียงแค่ตัวเราเท่านั้น แต่ยังรวมถึงปัญหาการตกงานของคนอื่น ๆ ด้วย ถ้าสิ่งนั้นเกิดขึ้นกับพวกเขา เราต้องคิดว่า “นี่ไม่ใช่แค่ปัญหาของฉันคนเดียว มันเป็นปัญหาของคนจำนวนมหาศาล ฉันไม่ใช่คนเดียวที่ต้องการทางออก คนอื่นก็ต้องการทางออกเช่นเดียวกัน ทุกคนต้องการเอาชนะปัญหาและความทุกข์ดังกล่าว” จริง ๆ แล้วนั่นก็คือ ความเป็นจริง
ด้วยวิธีคิดแบบนี้ที่ปราศจากความไร้เดียงสา เราจะพัฒนาความเห็นอกเห็นใจ (snying-rje ภาษาสันสกฤต กรุณา) ต่อผู้อื่น แทนที่จะหมกมุ่นอยู่กับการสงสารตัวเอง จิตใจของเราไม่ได้จดจ่ออยู่ที่ตัวเราเพียงแคบ ๆ อีกต่อไป แต่เปิดกว้างมากขึ้นในการคิดถึงคนอื่นทุกคนในสถานการณ์ที่คล้ายคลึงกัน ด้วยความปรารถนาที่จะช่วยให้พวกเขาเอาชนะปัญหาของพวกเขาเช่นกัน ปัญหาส่วนบุคคลของเราเองก็จะลดความสำคัญลง และเราก็จะพัฒนาความกล้าหาญและความเข้มแข็งที่จะจัดการกับปัญหาเหล่านั้นอย่างมีภาวะวิสัย แน่นอนว่า เราไม่ต้องการตกงาน แต่ด้วยความวางใจเป็นกลาง เราจะยอมรับความเป็นจริงของสถานการณ์นั้น และเมื่อนึกถึงคนอื่น ๆ เราอาจจะมีความสุขที่คิดว่าตอนนี้เรามีโอกาสที่จะพยายามช่วยเหลือพวกเขา
ความสัมพันธ์ระหว่างความเห็นอกเห็นใจและความสุข
ดังนั้นแล้ว ความเห็นอกเห็นใจจึงเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งในการกระตุ้นศักยภาพของเราในการประสบกับวัตถุหนึ่ง หรือสถานการณ์หนึ่งด้วยความสุข แต่มันทำงานอย่างไร ความเห็นอกเห็นใจคือ ความปรารถนาให้ผู้อื่นพ้นทุกข์และสาเหตุต่าง ๆ ของความทุกข์นั้น เช่นเดียวกับที่เราปรารถนาให้เกิดขึ้นกับตัวเราเอง แต่เมื่อเรามุ่งไปที่ความทุกข์และการไม่มีความสุขของผู้อื่น เรามักจะรู้สึกเศร้ากับสิ่งนั้น ซึ่งมันไม่ใช่ความสุข หรือเราอาจปิดกั้นความรู้สึกและไม่รู้สึกอะไรเลย ไม่ว่าในกรณีใด เราจะไม่รู้สึกยินดีกับความทุกข์ของพวกเขา ถ้าอย่างนั้นแล้ว ความเห็นอกเห็นใจจะทำให้จิตใจมีความสุขได้อย่างไร
เพื่อให้เข้าใจสิ่งนี้ เราจำเป็นต้องแยกความรู้สึกที่ทำให้อารมณ์เสีย (zang-zing) ออกจากความรู้สึกที่ไม่ทำให้อารมณ์เสีย (zang-zing med-pa) ก่อน ในที่นี้ ผมไม่ได้ใช้คำศัพท์เหล่านี้ด้วยคำจำกัดความที่เข้มงวด แต่เป็นคำที่ใช้ในลักษณะของภาษาพูดและไม่ใช่ทางเทคนิคมากกว่า ความแตกต่างคือ ความรู้สึกมีความสุข ไม่มีความสุข หรือรู้สึกกลาง ๆ ถูกผสมกับความไร้เดียงสาและความสับสนเกี่ยวกับความรู้สึกนั้นเองหรือไม่ จำไว้ว่า เมื่อเราแยกความสุขออกจากไม่มีความสุขโดยทั่วไปแล้ว ตัวแปรคือ เราไร้เดียงสาเกี่ยวกับวัตถุที่เรากำลังประสบอยู่นั้นหรือไม่ ในที่นี้ แม้ว่าเราจะไม่ขยายความเกินจริงหรือปฏิเสธคุณสมบัติของวัตถุที่เราประสบกับการไม่มีความสุข เราอาจยังคงทำให้ความรู้สึกที่ไม่มีความสุขนั้นกลายเป็น “สิ่ง” ที่มั่นคงและดำรงอยู่จริงเหมือนเมฆหนาสีเข้มมืดดำที่ลอยอยู่เหนือหัวของเรา จากนั้นแล้ว เราก็จะขยายความเกินจริงถึงคุณสมบัติเชิงลบของความรู้สึกนั้น และจินตนาการว่ามันเป็น "ความหดหู่ที่น่ากลัว" และเรารู้สึกติดอยู่ในนั้น ในกรณีนี้ ความไร้เดียงสาเป็นการไม่ยอมรับความรู้สึกที่ไม่มีความสุขในสิ่งที่มันเป็นอยู่ ท้ายที่สุดแล้ว ความรู้สึกไม่มีความสุขเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปทุกขณะเนื่องจากความรุนแรงของมันแตกต่างกันไป มันไม่ใช่วัตถุเสาหินแข็งบางประเภทขนาดใหญ่ที่ดำรงอยู่ด้วยตัวเองอย่างแท้จริงโดยไม่ได้รับผลกระทบจากสิ่งอื่นใดเลย
เราสามารถใช้การวิเคราะห์ที่คล้ายกันนี้ได้เมื่อเราประสบกับความไม่รู้สึกอะไรเมื่อกำลังคิดถึงความทุกข์ของผู้อื่น ในกรณีนี้ เมื่อเราก็ขยายความเกินจริงถึงคุณภาพเชิงลบของความรู้สึกเศร้าหรือไม่มีความสุข เราก็จะกลัวที่จะรู้สึกเช่นนั้น ดังนั้นเราจึงปิดกั้นมัน จากนั้น เราก็จะได้ประสบกับความรู้สึกเป็นกลาง ไม่ทั้งสุขหรือทุกข์ แต่จากนั้น เราก็ขยายความเกินจริงเกี่ยวกับความรู้สึกที่เป็นกลางนั้นเช่นกัน โดยจินตนาการว่ามันเป็นสิ่ง “ไม่มีอะไร” ที่ใหญ่โตมั่นคงที่นั่งอยู่ข้างในตัวเรา ซึ่งป้องกันเราจากความรู้สึกใด ๆ อย่างจริงใจ
ในการพัฒนาความเห็นอกเห็นใจ สิ่งสำคัญคือ ต้องไม่ปฏิเสธว่าสถานการณ์ที่ยากลำบากของผู้อื่นนั้นเป็นเรื่องน่าเศร้า เช่นเดียวกับของเราอย่างเช่น เมื่อเราสูญเสียงานของเรา มันคงไม่ค่อยดีต่อสุขภาพที่จะกลัวที่จะรู้สึกถึงความเศร้านั้น หรือปิดกั้น หรือข่มมันไว้ เราจำเป็นจะต้องรู้สึกถึงความโศกเศร้านี้ แต่ในลักษณะที่ไม่ทำให้เสียใจเพื่อที่จะสามารถเอาใจใส่กับความทุกข์ของผู้อื่นได้เพื่อจะพัฒนาความปรารถนาที่จริงใจอย่างลึกซึ้งในการทำให้ผู้อื่นพ้นจากความทุกข์นั้น และจะรับผิดชอบบางอย่างเพื่อพยายามช่วยเหลือพวกเขาในการที่จะเอาชนะมัน สรุปแล้ว คำแนะนำทางพระพุทธศาสนาก็คือ “อย่าทำความรู้สึกเศร้าให้เป็น ‘สิ่ง ๆ หนึ่ง’ ที่แข็งแรงมั่นคง นั่นคือ อย่าทำมันให้เป็นเรื่องใหญ่”
ทำให้จิตใจเงียบสงบ
การประสบกับความรู้สึกเศร้าโศกในลักษณะที่ไม่อารมณ์เสีย เราจำเป็นจะต้องสงบจิตใจของเราจากความใจลอยและความมัวทั้งหมด ด้วยความใจลอย ความใส่ใจของเราจะบินไปสู่ความคิดภายนอกที่รบกวน เช่น ความคิดที่เต็มไปด้วยความกังวล ความสงสัย ความกลัว หรือความคิดที่เต็มไปด้วยความคาดหวังในสิ่งที่เราหวังว่าจะเป็นสิ่งที่น่าพอใจมากขึ้น ด้วยความมัวทางจิตใจ เราจึงตกอยู่ในความคลุมเครือทางจิตใจและกลายเป็นไม่ใส่ใจทุกสิ่งทุกอย่าง
พระพุทธศาสนาอุดมไปด้วยวิธีในการขจัดสภาพจิตใจของเราที่หลงทางและมัว วิธีพื้นฐานที่สุดวิธีหนึ่งคือ การสงบลงโดยจดจ่ออยู่กับลมหายใจของเรา ด้วยจิตใจที่มีอาการใจลอยและมัวน้อยที่สุด จิตใจของเราจะเงียบสงบและราบเรียบ ในสภาวะเช่นนี้ เราจะสามารถสงบลงได้ง่ายขึ้น เช่นเดียวกับการขยายความเกินจริง หรือความรู้สึกรังเกียจ หรือไม่แยแสต่อปัญหาและความทุกข์ของผู้อื่น รวมทั้งความรู้สึกของเราเกี่ยวกับสิ่งเหล่านั้นด้วย แม้ว่าในตอนแรกเราจะรู้สึกเศร้า แต่ก็ไม่ได้ทำให้อารมณ์เสีย
อย่างไรก็ตาม ในที่สุด เมื่อจิตใจของเราผ่อนคลายและสงบลงมากขึ้น เราจะรู้สึกถึงความสุขในระดับต่ำโดยธรรมชาติ ในสภาพจิตใจและอารมณ์ที่เงียบสงบ ความอบอุ่นและความสุขตามธรรมชาติของจิตใจก็จะปรากฏให้เห็น หากเราได้สร้างศักยภาพที่แข็งแกร่งเพียงพอสำหรับการประสบกับความสุขจากการมีส่วนร่วมในพฤติกรรมที่สร้างสรรค์แล้ว สภาพจิตใจที่เงียบสงบของเราจะช่วยกระตุ้นให้ศักยภาพความสุขเหล่านั้นสุกงอมที่เช่นกัน
การพัฒนาความรัก
จากนั้น เราก็จะเพิ่มความสุขนี้ด้วยการคิดทางความรัก (byams-pa ภาษาสันกฤต ไมตรี) ความรักคือ ความปรารถนาให้ผู้อื่นมีความสุขและมีเหตุแห่งความสุข โดยธรรมชาติแล้ว ความปรารถนาดังกล่าวจะมาจากความรู้สึกสงสารพร้อมความเห็นอกเห็นใจ แม้ว่าเราจะรู้สึกเศร้าที่มีใครบางคนเจ็บปวดและมีความเศร้าโศก แต่การรู้สึกแบบนั้นมันเป็นเรื่องยากในขณะที่อยากให้คน ๆ นั้นมีความสุขอย่างแข็งขัน เมื่อเราหยุดคิดถึงตัวเอง และมุ่งไปที่ความสุขของใครบางคน หัวใจของเราจะอบอุ่นขึ้นโดยธรรมชาติ สิ่งนี้ทำให้เรารู้สึกมีความยินดีที่อ่อนโยนมากขึ้นโดยอัตโนมัติ และสามารถช่วยกระตุ้นศักยภาพที่จะรู้สึกมีความสุขที่สร้างขึ้นมาเป็นระยะเวลานานด้วยพฤติกรรมที่สร้างสรรค์ของเรามากยิ่งขึ้น ดังนั้น เมื่อความรักไม่เห็นแก่ตัวและจริงใจ ความสุขที่อ่อนโยนก็จะมาพร้อมกับสิ่งนั้น ซึ่งจะไม่ทำให้อารมณ์เสียและความเศร้าของเราก็จะหายไป เช่นเดียวกับที่พ่อแม่ที่ทุกข์ทรมานจากอาการปวดหัวก็จะลืมความเจ็บปวดไป พร้อมกับปลอบโยนลูกที่ป่วย เช่นเดียวกันกับความเศร้าโศกที่เรารู้สึกต่อความโชคร้ายของใครบางคนก็จะหายไปในขณะที่เราแผ่ความคิดทางความรักออกมา
บทสรุป
กล่าวโดยสรุป แหล่งที่มาของความสุขขั้นพื้นฐานในระยะยาวตามหลักพระพุทธศาสนาคือ การสร้างนิสัยในการละเว้นจากการกระทำ การพูด หรือการคิดที่เป็นไปในทางทำลายภายใต้อิทธิพลของอารมณ์และทัศนคติที่รบกวน เช่น กามตัณหา ความโลภ ความยึดติด ความรู้สึกรังเกียจ และความโกรธ ทั้งหมดนี้มีรากฐานมาจากความไร้เดียงสาทั้งนั้น พฤติกรรมที่สร้างสรรค์ดังกล่าวจะก่อให้เกิดศักยภาพในความต่อเนื่องทางจิตใจของเราในการที่จะประสบความสุขในอนาคต เราสามารถที่จะกระตุ้นศักยภาพเหล่านั้นให้สุกงอมได้โดยการไม่ขยายความเกินจริงหรือปฏิเสธคุณสมบัติที่ดีหรือไม่ดีของวัตถุใด ๆ หรือสถานการณ์ใด ๆ ที่เราประสบ หรือระดับความสุขหรือความทุกข์ที่เราประสบวัตถุนั้น ไม่ว่าวัตถุนั้นหรือสถานการณ์นั้นจะเป็นอย่างไรก็ตาม หากปราศจากความไร้เดียงสาและดังนั้น ปราศจากความยึดติด ความรู้สึกรังเกียจ หรือความไม่แยแส เราจำเป็นจะต้องทำให้จิตใจของเราสงบลงจากความใจลอยและความมัวทางจิตใจ เราจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำให้จิตใจของเราสงบจากความกังวลหรือความคาดหวังต่าง ๆ ในสภาพจิตใจที่เงียบสงบและราบเรียบนั้น เราจะรู้สึกได้ถึงความสุขในระดับต่ำแล้วมันก็จะกระตุ้นศักยภาพที่เราอาจมีให้รู้สึกมีความสุขมากขึ้นได้
จากนั้น เราจะขยายความคิดของเราโดยหันมาใส่ใจปัญหาของผู้อื่นและการที่พวกเขาอาจอยู่ในสถานการณ์ที่เลวร้ายยิ่งกว่าสถานการณ์ของเรา เราจะหยุดคิดถึงแต่ตัวเอง เราคิดว่ามันจะวิเศษแค่ไหนถ้าคนอื่น ๆ ทุกคนสามารถหลุดพ้นจากความทุกข์ได้ และจะดีแค่ไหนถ้าเราสามารถช่วยพวกเขาให้ทำสิ่งนั้นได้สำเร็จ ความเห็นอกเห็นใจอันแรงกล้านี้จะนำไปสู่ความรู้สึกรักโดยธรรมชาติ ซึ่งเป็นความปรารถนาให้พวกเขามีความสุข การคิดถึงความสุขของพวกเขาจะกระตุ้นศักยภาพของเราเองมากขึ้นที่จะทำให้ความสุขสุกงอม
ด้วยความคิดเกี่ยวกับความเห็นอกเห็นใจและความรักเหล่านี้ เราอาจจะเปลี่ยนความคิดของเราไปที่พระพุทธเจ้า หรือบุคคลสำคัญด้านมนุษยธรรมคนอื่น ๆ ได้ เมื่อนึกถึงตัวอย่างของพวกท่าน เราจะได้รับแรงบันดาลใจ (byin-gyis rlabs ภาษาสันสกฤต อธิษฐาน) ให้รับผิดชอบในการพยายามช่วยเหลือผู้อื่นอย่างแท้จริง สิ่งนี้จะช่วยให้เรามีพลังและความกล้าหาญที่จะจัดการไม่เพียงแต่ปัญหาของผู้อื่นเท่านั้น แต่ยังรวมถึงปัญหาของเราอีกด้วย โดยปราศจากการขยายความเกินจริง และปราศจากความกังวลเกี่ยวกับความล้มเหลว หรือความคาดหวังต่อความสำเร็จ