วาจาที่ถูกต้อง การกระทำที่ถูกต้อง และการหาเลี้ยงชีพที่ถูกต้อง

ทบทวน

การฝึกฝนสามประการคือ วินัยทางจริยธรรม สมาธิ และการแยกแยะการรับรู้ที่แท้จริง จะมุ่งเน้นเพื่อช่วยให้เราเอาชนะปัญหาและความทุกข์ที่เราประสบอยู่ได้เสมอ วิธีการก็คือ ระบุสาเหตุของปัญหาของเราและประยุกต์ใช้วิธีทั้งสามนั้น เพื่อกำจัดสาเหตุเหล่านี้

การฝึกฝนทั้งสามอย่างนี้ยังเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในชีวิตประจำวันของเรา เมื่อต้องรับมือกับผู้อื่นด้วย 

  • วินัยทางจริยธรรม สิ่งสำคัญคือ เราต้องระมัดระวังการกระทำและคำพูดของเรากับผู้อื่น เราจำเป็นต้องมีวินัยทางจริยธรรม เพื่อหลีกเลี่ยงทุกสิ่งที่จะเป็นอันตราย หรือที่เป็นไปในทางทำลาย ไม่สร้างสรรค์
  • สมาธิ  เราจำเป็นต้องมีสมาธิเมื่อเรามีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น เพื่อจะได้รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับพวกเขา และอะไรคือสิ่งที่พวกเขาต้องการ หากจิตใจของเราสับสน วุ่นวาย มองดูที่หน้าจอมือถืออยู่ตลอดเวลา ก็จะทำให้การติดต่อสื่อสารกับผู้อื่นเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยากลำบาก
  • การแยกแยะ ถ้าเราฟังผู้อื่นให้ดี เราจะสามารถใช้การแยกแยะการรับรู้ของเรา เพื่อตัดสินใจตอบสนองได้อย่างหมาะสม และสิ่งนี้ก็จะนำไปสู่การคิด การกระทำ และการพูดจากับผู้อื่นได้อย่างเหมาะสม

การฝึกฝนทั้งสามอย่างนี้ เกิดขึ้นไปด้วยกันและส่งเสริมกันและกัน ซึ่งเป็นเหตุผลว่าทำไมเราต้องใช้ทั้งสามอย่างนี้ไปพร้อม ๆ กัน เมื่อเวลาที่เราไม่ได้อยู่กับผู้อื่น การฝึกฝนทั้งสามอย่างก็เป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับตัวเราเองด้วยเช่นกัน

  • การฝึกฝนทั้งสามอย่างเป็นการป้องกันเราจากการกระทำที่เป็นภัยต่อตัวเราเอง
  • หากเรามีจิตใจที่ตั้งมั่น จดจ่อ เราก็จะสามารถบรรลุเป้าหมายทุกอย่างที่ต้องการได้
  • เราใช้ปัญญาขั้นพื้นฐานของเราในการแยกแยะว่าอะไรที่เหมาะสมและอะไรที่ไม่เหมาะสม

ที่กล่าวมานั้น เป็นหลักการพื้นฐานที่เราสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันของเราได้ ทั้งกับสถานการณ์ส่วนตัวและกับความสัมพันธ์ทางสังคม

มรรคแปด

การฝึกฝนทั้งสามอย่าง มีวิธีการที่ใช้ในการฝึกฝนที่เรียกว่า "มรรคแปด" ซึ่งเป็นแนวทางปฏิบัติแปดข้อง่าย ๆ ที่เมื่อปฏิบัติแล้วจะก่อให้เกิดการพัฒนาทั้งสามด้านนั้นขึ้นมา

สำหรับการฝึกฝนเรื่องวินัยทางจริยธรรมของเรานั้น มีอยู่ 3 อย่างคือ

  • วาจาที่ถูกต้อง  - วิธีการติดต่อสื่อสารของเรา
  • การกระทำที่ถูกต้อง - วิธีการปฏิบัติตัวของเรา
  • การหาเลี้ยงชีพที่ถูกต้อง - วิธีการทำมาหากินของเรา

สำหรับการฝึกฝนเรื่องสมาธิของเรานั้น ก็มีอยู่ 3 อย่างคือ

  • ความเพียรพยายามที่ถูกต้อง - กำจัดความคิดที่เป็นไปในทางทำลาย และพัฒนาภาวะจิตใจที่นำไปสู่การทำสมาธิ
  • สติที่ถูกต้อง ไม่ปล่อยให้เป้าหมายที่เราโฟกัสอยู่และแรงจูงใจของเราหลุดไป
  • สมาธิที่ถูกต้อง - จดจ่อ ตั้งมั่นอยู่กับสิ่งที่สร้างสรรค์

สำหรับการฝึกฝนเรื่องการแยกแยะการรับรู้ของเรานั้น มีอยู่ 2 อย่างคือ

  • ความเห็นที่ถูกต้อง - สิ่งที่เราเห็นว่าเป็นจริงตามการแยกแยะที่ถูกต้องว่า อะไรถูกและอะไรผิด หรือ อะไรที่เป็นโทษและอะไรที่เป็นประโยชน์
  • ความตั้งใจที่ถูกต้อง (ความคิดที่เป็นแรงจูงใจที่ถูกต้อง) - ภาวะจิตใจที่สร้างสรรค์ที่ความเห็นที่ถูกต้องนำพาไป

ในรูปแบบที่ละเอียดยิ่งขึ้น แต่ละวิธีปฏิบัติใน 8 ข้อนั้น มีวิธีที่ไม่ถูกต้องในการนำไปใช้ ซึ่งเราต้องการละทิ้งไป และวิธีการที่ถูกต้องที่เราต้องการนำมาใช้

วาจา

วิธีการที่เราพูดกับผู้อื่นสะท้อนถึงสภาพจิตใจของเรา ซึ่งมีผลกระทบต่อความรู้สึก ความคิด และการปฏิบัติของผู้อื่นต่อเรา ดังนั้น เราจึงจำเป็นต้องรู้ว่าวิธีการพูดแบบไหนที่เป็นประโยชน์ และแบบไหนที่เป็นภัย

การพูดที่ไม่ถูกต้อง                                                                                                           

การพูดที่ไม่ถูกต้องก่อให้เกิดทุกข์และปัญหาต่าง ๆ

  • การโกหก - การพูดในสิ่งที่ไม่จริงและหลอกลวงผู้อื่น หากผู้คนรู้จักเราในฐานะที่เป็นคนพูดโกหกหรือหลอกลวงผู้อื่น ก็จะไม่มีใครเชื่อเรา ไว้ใจเรา หรือแม้แต่จะฟังสิ่งที่เราพูด สิ่งนี้ก่อให้เกิดสถานการณ์ที่เป็นทุกข์
  • การพูดที่ทำให้เกิดความแตกแยก - การพูดไม่ดีเกี่ยวกับผู้คนให้เพื่อน หรือผู้ที่พวกเขาคบค้าอยู่ฟัง เพื่อพยายามทำลายความสัมพันธ์ของพวกเขาเหล่านั้น สิ่งนี้ทำให้ผู้คนสงสัยว่า เรากำลังพูดอะไรเกี่ยวกับพวกเขาลับหลังอยู่รึเปล่า และนั่นก็เป็นการทำลายความสัมพันธ์ของเราเอง
  • การพูดคำหยาบ - การพูดในลักษณะที่โหดร้าย หรือตะโกน และด่าทอผู้อื่น เมื่อเราทำร้ายผู้อื่นด้วยคำพูดของเรา คนเหล่านั้นก็จะเริ่มพูดกับเราแบบนั้นเช่นกัน และพวกเขาจะไม่อยากอยู่กับคนอย่างเราที่ตะโกนใส่พวกเขาไม่หยุดหย่อน เว้นเสียแต่ว่า คนเหล่านั้นจะเป็นพวกที่มีความสุขเมื่อตัวเองเจ็บปวด
  • การพูดเพ้อเจ้อ ไร้สาระ - การพูด “เหลวไหล ไร้สาระ” ตลอดเวลา ขัดจังหวะผู้อื่น พูดเกี่ยวกับเรื่องไร้สาระ หรือนินทาผู้อื่น ผลก็คือ ไม่มีใครคิดว่าเราจริงจัง และผู้คนจะคิดว่า เราน่ารำคาญที่จะอยู่ด้วย ทำให้ตัวเองเสียเวลา และเสียเวลาคนอื่นด้วย

วาจาที่ถูกต้อง

คำพูดที่สร้างสรรค์จะช่วยให้เราละเว้นจากการพูดที่ไม่ถูกต้องทั้ง 4 อย่างข้างต้นได้ วินัยระดับแรกที่เราต้องมีคือ เมื่อเรารู้สึกว่า จะพูดอะไรที่ไม่จริง ตะโกนใส่ใครบางคน หรือพูดเพ้อเจ้อ ไร้สาระอะไรออกไป เรารู้ว่ามันเป็นภัยหรือเป็นไปในทางทำลาย และทำให้ไม่มีความสุข ดังนั้น เราจึงควรพยายามอย่างมากที่จะไม่พูดเช่นนั้นออกไป

แต่นี่มันไม่ง่ายเลยนะ เพราะคุณจำเป็นต้องรู้ตัว และหยุดตัวเองในช่วงที่กำลังอยากจะพูดสิ่งนั้น ก่อนที่คุณจะพูดมันออกไปตามแรงกดดัน เหมือนกับการอยากได้เค้กสักชิ้นหนึ่ง บางครั้ง เรามีโอกาสที่จะได้เค้กชิ้นที่สองด้วย ก่อนที่จะด่วนหยิบเค้กอีกชิ้นหนึ่งนั้น ให้เราคิดแบบนี้นะ “แม้ว่าฉันอยากได้เค้กชิ้นนั้น แต่ฉันไม่จำเป็นที่จะต้องหยิบมันนะ ฉันไม่จำเป็นต้องกินเค้กชิ้นนี้ มันจะทำให้ฉันอ้วนมากขึ้น ฉันต้องลดน้ำหนัก” และนี่คือวินัยที่เรากำลังพูดถึงอยู่

เมื่อใดก็ตามที่เรารู้สึกต้องทำสิ่งเหล่านี้ มีอาจารย์สอนพุทธศาสนาชาวอินเดียชื่อ ศานติเทวะ (Shantideva) แนะให้เราทำตัวให้เหมือนท่อนไม้ ถ้าฉันรู้สึกอยากตะโกน หรือพูดอะไรที่หยาบคายออกไป แต่รู้ว่า มันจะทำให้ทั้งฉันและคุณอารมณ์เสีย ดังนั้น ฉันจะไม่พูดมันออกไป ฉันก็แค่ทำตัวให้เหมือนท่อนไม้เสีย ฉันรู้สึกอยากเล่าเรื่องตลกที่ไร้สาระ หรือแสดงความคิดเห็นไร้สาระโง่ ๆ ออกไป แต่รู้ว่า มันเป็นการพูดที่ไม่มีประโยชน์ ไร้สาระ และฉันก็ไม่พูดมันออกไป อะไรแบบนี้นะ

วินัยระดับที่สองคือ การทำสิ่งที่สร้างสรรค์แทน ซึ่งก็คือ พูดในแนวทางที่เป็นประโยชน์ ตระหนักได้ว่า การทำเช่นนั้นจะนำมาซึ่งความสุข และทำให้เกิดความสามัคคีมากขึ้น สิ่งที่เราเป็นต้องทำคือ การคิดในแง่ของเหตุและผล

การปลูกฝังการพูดที่ถูกต้องอาศัยความพยายามที่มีสติ และความตั้งใจอย่างแน่วแน่เด็ดเดี่ยวในการพูดตามความจริง พูดอย่างสุภาพอ่อนโยน ในเวลาที่เหมาะสม ด้วยวิธีการที่เหมาะสม และมีความหมาย หรือมีประโยชน์

  • เราควรพยายามที่จะไม่ไปขัดจังหวะ รบกวน หรือส่งข้อความถึงผู้อื่นตลอดเวลา โดยเฉพาะเกี่ยวกับสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น คุณกินอะไรเป็นอาหารเช้า หรือการนินทา มันเป็นการพูดไร้สาระที่ไปรบกวนหรือขัดจังหวะผู้อื่น
  • วิธีการพูดที่เหมาะสม ถ้าเราพูดคุยกับผู้อื่น เราไม่ควรพูดมากเกินไป หรือพยายามโน้มน้าวผู้อื่นเกี่ยวกับเรื่องบางอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากพวกเขาเห็นด้วยกับเราแล้ว

แน่นอนว่า เราต้องใช้การแยกแยะ ตัวอย่างการพูดตามความเป็นจริง เช่น ถ้ามีคนใส่เสื้อหรือชุดที่ดูแล้วน่าเกลียด และพูดไปตามจริง มันก็จะทำร้ายจิตใจคน ๆ นั้น คุณก็จะไม่พูดว่า “นั่นดูน่าเกลียดจริง ๆ เลย” บางครั้งคุณต้องมีความระมัดระวังด้วย แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับบุคคลนั้น พี่สาวของผมเพิ่งจะมาเยี่ยมผม และพวกเราก็ออกไปข้างนอกกัน เธอใส่เสื้อที่ดูตึง ๆ ไม่พอดีกับตัวเธอ แต่เพราะเธอเป็นพี่สาวของผม ดังนั้น ผมจึงบอกเธอตรง ๆ ได้ว่ามันดูแย่มากนะ แต่เป็นการยากที่จะพูดแบบนี้กับคนอื่นที่ไม่ใช่ครอบครัวของคุณ! คุณคงจะไม่พูดกับแฟนใหม่ของคุณว่า “เสื้อที่คุณใส่อยู่น่ะ ดูน่าเกลียดนะ ไปใส่อย่างอื่นไป๊!” แม้ว่ามันจะเป็นความจริงก็ตาม

ในเรื่องของภาษาที่รุนแรงหยาบคายนั้น บางครั้งคุณอาจจำเป็นต้องพูดอะไรบางอย่างที่รุนแรงออกไป อย่างเช่น ถ้าลูกคุณเล่นไม้ขีดไฟหรือไฟแช็ก หรืออะไรที่เป็นอันตรายอยู่ คุณอาจจำเป็นต้องพูดรุนแรงออกไป แต่นั่นจะไม่ถือว่า เป็นการพูดหยาบคาย เพราะแรงจูงใจของคุณไม่ใช่ความโกรธ ฉะนั้นแล้ว แรงจูงใจเป็นสิ่งสำคัญมาก

ตัวอย่างของการพูดที่ไม่ถูกต้องอื่น ๆ

เราสามารถขยายความของวิธีการพูดที่เป็นการทำลาย ไม่ใช่แค่กับผู้อื่น แต่รวมถึงกับตัวเราเองด้วย เราสามารถคิดได้กว้างขึ้นอีกเกี่ยวกับวิธีการพูดที่ไม่สร้างสรรค์เหล่านี้

การโกหกอาจรวมถึงการโกหกผู้อื่นเกี่ยวกับความรู้สึกของเรา หรือเจตนาของเราที่มีต่อพวกเขา  เราอาจทำดีกับใครบางคน บอกเขาว่า เรารักเขา แม้กระทั่งหลอกตัวเราเองให้เชื่อแบบนั้นด้วย แต่ทุกสิ่งที่เราต้องการคือ เงิน หรืออะไรอย่างอื่นจากเขา และนี่เป็นการหลอกลวง แน่นอนว่า เราจะไม่ไปบอกคน ๆ นั้นว่า “ฉันไม่ได้รักคุณจริง ๆ ฉันแค่ต้องการเงินของคุณเท่านั้น” เพราะมันไม่เหมาะสม แต่เราจำเป็นต้องตรวจสอบตัวเองว่า เราซื่อสัตย์ต่อความรู้สึก และเจตนา หรือความตั้งใจของเราหรือไม่

การพูดที่ทำให้เกิดความแตกแยก เวลาที่เราพูดในสิ่งที่น่ารังเกียจจนทำให้เพื่อนของเราทิ้งเราไป บางคนได้แต่บ่น หรือพูดในเชิงลบอยู่ตลอดเวลา ซึ่งมันทำให้ทุกคนห่างจากพวกเขาออกไป ถ้าเราเป็นแบบนั้นแล้ว ใครจะอยู่กับเราล่ะ หรือพูดแบบไม่หยุด จนทำให้คนอื่นไม่มีโอกาสพูดอะไรได้เลย สิ่งนี้ทำให้ผู้คนพากันทิ้งเราไป เราทุกคนรู้จักคนแบบนั้น และเราก็ไม่อยากพบเจอพวกเขาบ่อย ๆ เป็นเรื่องดีที่จะพูดถึงสิ่งดี ๆ เกี่ยวกับคนอื่น และพยายามคิดในทางบวกให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

การใช้ภาษาที่หยาบคายเกิดขึ้นเมื่อเราไม่เพียงแต่ก่นด่าคนอื่น แต่รวมถึงตัวเราเองด้วย เมื่อเราบอกคนอื่นว่า พวกเขาโง่ หรือเลวร้ายน่ากลัว แน่นอนว่ามันรุนแรงโหดร้าย ดังนั้นมันก็โหดร้ายเช่นกันเมื่อเรานำมันเข้าหาตัวเราเอง แน่นอนว่า มันไม่ได้ทำให้เรามีความสุขมากขึ้นเลย ดังนั้น จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องมีทัศนคติที่ดีต่อตัวเอง และวิธีการที่เราปฏิบัติต่อตัวเอง และวิธีการพูดกับตัวเองในใจด้วย

ในเรื่องการพูดเพ้อเจ้อ ไร้สาระนั้น เราไม่ควรพูดถึงเรื่องส่วนตัวของเรา ความสงสัย ความกังวลของเรา และอื่น ๆ กับผู้อื่นอย่างขาดการพิจารณา มีบางเรื่องที่เราต้องไม่แชร์ หรือไม่ควรแชร์กับคนอื่น อย่างเช่น ถ้ามีคนบอกความลับของเขาว่า เขาเป็นเกย์ หรือเป็นมะเร็ง และขอให้คุณเก็บไว้เป็นความลับ คุณก็ควรทำเช่นนั้น การทรยศต่อความไว้ใจของคนอื่น มักจะเกิดขึ้นในรูปของการพูดเพ้อเจ้อ ไร้สาระ

การพูดที่ถูกต้องนั้นจริง ๆ ก็คือ การพูดให้เหมาะสมกับกาลเทศะ หรือให้เหมาะกับเวลาและสถานการณ์นั่นเอง บางครั้งเราจำเป็นต้องพูดอย่างเป็นทางการ และบางครั้งก็ไม่เป็นทางการ เราต้องพูดในทางที่ทำให้คนสบายใจ เมื่อคุณต้องอธิบายบางสิ่งให้เด็กฟัง คุณต้องอธิบายด้วยวิธีการที่จะทำให้เด็กเข้าใจ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ ครอบคลุมใช้ได้กับทั้งผู้ใหญ่ และผู้คนจากต่างวัฒนธรรมด้วย

ขอบเขตของการกระทำที่ถูกต้อง (พฤติกรรม)

ประการที่ 2 ในมรรค 8 นั้น เป็นเรื่องเกี่ยวกับขอบเขตของการกระทำที่ถูกต้อง ซึ่งเป็นศัพท์เทคนิค เมื่อเราพูดถึงขอบเขต เรากำลังพูดถึงขีดจำกัดในลักษณะที่ว่า "ฉันจะทำจนถึงขอบเขตนี้ แต่ไม่เกินขอบเขตนี้นะ"

การกระทำที่ไม่ถูกต้อง    

การกระทำที่เกินขอบเขตหมายถึง พฤติกรรมที่เป็นไปในทางทำลาย มี 3 ประเภทคือ

  • การตัดรอนชีวิต - การฆ่าสัตว์ที่มีชีวิต
  • การเอาของที่ผู้อื่นไม่ได้ให้เรามาเป็นของตน – เอาของที่ไม่ใช่ของเราไป การลักขโมย
  • การประพฤติทางเพศที่ไม่เหมาะสม

การฆ่า                                                                                                                                                                          

คือ การเอาชีวิตของผู้อื่น ไม่เพียงแค่มนุษย์เท่านั้น แต่รวมถึงสัตว์ทุกประเภท รวมทั้งปลา แมลง และอื่น ๆ                             

ผมคิดว่า สำหรับพวกเราส่วนใหญ่ การเลิกล่าสัตว์และตกปลานั้นไม่ใช่เรื่องยาก แต่สำหรับบางคน การไม่ฆ่าแมลงอาจเป็นเรื่องยาก มีหลายวิธีที่ทำได้โดยไม่จำเป็นต้องคิดในเรื่องของชีวิตชาติที่แล้ว หรือชีวิตชาติหน้า เช่น “แมลงวันตัวนี้เป็นแม่ของฉันในชาติก่อน” จุดเน้นหลักคือ หากมีบางสิ่งที่ทำให้เรารำคาญ หรือรบกวนเรา เราไม่ต้องการฆ่ามันตามการตอบสนองทางสัญชาตญาณเริ่มแรกของเรา มันเป็นการสร้างนิสัยที่ต้องการทำลายทุกสิ่งที่เราไม่ชอบด้วยความรุนแรง และขยายไปเกินกว่าเรื่องของแมลงวันทำเสียงหึ่ง ๆ วนเวียนอยู่แถว ๆ หน้าเรา เราจำต้องหาวิธีที่สงบสันติในการจัดการกับสิ่งที่น่ารำคาญนั้น ไม่ว่าแมลง หรือยุง ถ้ามันไปเกาะที่ฝาผนัง เราก็เอาแก้วมาครอบมัน ใช้กระดาษรองข้างใต้ แล้วเอามันไปปล่อยข้างนอก ในหลาย ๆ สถานการณ์เราสามารถหาวิธีที่สงบสันติ ไม่รุนแรงในการจัดการกับสิ่งที่เราไม่ชอบได้

ถ้าคุณอาศัยอยู่ในประเทศอินเดีย อย่างที่ผมเคยอยู่ คุณจะเรียนรู้ที่จะอยู่กับแมลงต่าง ๆ ไม่มีทางไหนที่จะกำจัดแมลงทั้งหมดในอินเดียได้เลย ผมเคยจินตนาการถึงแคมเปญโฆษณาสำหรับบริษัทตัวแทนท่องเที่ยวว่า “ถ้าคุณชอบแมลง คุณจะรักอินเดีย!” ตอนนั้นผมย้ายไปอยู่อินเดียครั้งแรก ผมเป็นคนที่ไม่ชอบแมลงเลย แต่ผมเป็นแฟนนิยายวิทยาศาสตร์ตัวยงเลย ผมเคยจินตนาการว่า ถ้าผมเดินทางไปยังดาวเคราะห์ที่อยู่ห่างไกลดวงหนึ่ง และสิ่งมีชีวิตที่นั่นก็อยู่ในรูปแบบของแมลงเหมือนกัน มันคงจะเลวร้ายน่ากลัวมาก ถ้าตอนที่ผมได้เจอแมลงเหล่านี้ สิ่งเดียวที่ผมต้องการจะทำคือ บี้มัน! ถ้าคุณเริ่มพาตัวเองเข้าไปอยู่ในสถานที่ของแมลง มันก็แค่ทำในสิ่งที่มันต้องทำเท่านั้น แล้วคุณก็จะเริ่มเคารพมันในฐานะรูปแบบของชีวิตแบบหนึ่ง

เห็นได้ชัดว่า มีแมลงที่เป็นอันตราย เช่นเดียวกับที่มีคนที่เป็นอันตราย ซึ่งบางครั้ง มีคำแนะนำให้ใช้มาตรการที่เข้มแข็ง ในการควบคุมมัน แต่วิธีที่ดีที่สุดคือ การลองใช้วิธีที่สงบสันติก่อน ไม่ว่าเมื่อพูดถึงความขัดแย้งของมนุษย์ หรือบ้านที่มีมดหรือแมลงสาบมารบกวนก็ตาม

แต่ถ้าลองพิจารณากรณีที่ตั๊กแตนมากินพืชผลของคุณ  สิ่งสำคัญที่เกี่ยวข้องคือ แรงจูงใจ ยกตัวอย่างชีวิตของพระพุทธเจ้าในชาติก่อนที่เป็นนักเดินเรือ แล้วมีบางคนบนเรือที่กำลังวางแผนจะฆ่าทุกคนบนเรือ  และพระพุทธเจ้าเห็นว่าไม่มีทางที่จะป้องกันการฆ่าหมู่ครั้งนี้ได้ด้วยสันติวิธี ทางออกเดียวที่จะป้องกันไม่ให้มีการฆ่าหมู่เกิดขึ้นคือ ต้องฆ่าคนที่จะฆ่าผู้อื่นนี้ด้วยตนเอง ดังนั้นพระพุทธเจ้าจึงฆ่าบุคคลนี้ แต่เป็นการทำด้วยแรงจูงใจแห่งความเมตตากรุณา นั่นคือ เพื่อช่วยชีวิตผู้คนบนเรือลำนั้น และเพื่อป้องกันไม่ให้คนที่คิดจะฆ่าคนบนเรือนั้นก่อกรรมเชิงลบอย่างมากมาย ไม่ใช่แรงจูงใจที่มาจากความโกรธ หรือความกลัว แต่พระพุทธเจ้าก็ทราบดีว่า ตัวเองได้ฆ่าคนไม่ว่าแรงจูงใจจะเป็นอะไรก็ตาม มันก็ยังเป็นการกระทำในทางทำลาย ไม่สร้างสรรค์ จึงตัดสินใจว่า “ข้าพเจ้าพร้อมที่จะยอมรับผลจากการกระทำนี้ของตนเองเพื่อไว้ชีวิตของผู้อื่น”

ดังนั้น หากจำเป็นต้องฆ่านักล่าอย่างตั๊กแตนเพื่อรักษาพืชผลไว้ ซึ่งไม่ใช่เพราะความโกรธ หรือกลัว หรือต้องการทำเงินจำนวนมากจากการขายพืชผล แต่ทำไปด้วยความสงสาร เมตตากรุณา ผลลัพธ์ที่ตามมาก็จะน้อยกว่าหากทำไปด้วยความโกรธ อย่างไรก็ตาม เช่นเดียวกับพระพุทธเจ้า สิ่งสำคัญคือ ต้องยอมรับว่ามันเป็นการกระทำที่เป็นด้านลบ และยอมรับผลที่จะตามมา

การลักขโมย                                                                                                                                                    

คนส่วนใหญ่ยึดติดกับชีวิตของพวกเขามากกว่าทรัพย์สิน แต่ถึงกระนั้น ถ้าคุณขโมยของคนอื่น มันก่อให้เกิดความทุกข์แก่ทั้งสองฝ่าย โดยเฉพาะขโมยก็จะมีความรู้สึกรบกวนอยู่ตลอดเวลาว่า “ฉันจะถูกจับได้รึเปล่า”

ตอนนี้ สิ่งที่เราต้องการทำคือ หลีกเลี่ยงปัญหาสำหรับตัวเอง แน่นอนว่า ถ้าคุณฆ่าปลา หรือแมลง มันจะเป็นปัญหาสำหรับพวกปลาและแมลง แต่เราก็มีปัญหาด้วยเช่นกัน เพราะหากว่า แมลงมันรบกวนเราอย่างมาก เราก็มักจะกังวลเกี่ยวกับยุงที่บุกรุกพื้นที่ของเรา ทำให้เราต้องตื่นขึ้นมากลางดึก เพื่อตามล่าพวกมัน จิตใจเราก็จะเป็นกังวล แต่ถ้าโดยปกติเราใช้วิธีการสันติเพื่อจัดการกับสิ่งเหล่านี้ เราก็จะสบายใจมากขึ้น

เช่นเดียวกันกับการขโมย ที่คุณต้องทำแบบลับ ๆ ล่อ ๆ และกังวลว่าจะถูกจับได้ มันขึ้นอยู่กับความปรารถนาอันแรงกล้า ซึ่งคุณไม่มีความอดทนพอที่จะทำงานเพื่อให้ได้มาในสิ่งที่ตนเองต้องการ ดังนั้น คุณจึงขโมยมันมาจากคนอื่น

นอกจากนี้ ยังมีตัวอย่างของการฆ่าและการขโมยด้วยแรงจูงใจที่ตรงกันข้าม

  • คุณอาจฆ่าเพราะการผูกติดยึดติดและความโลภได้ บางทีอาจเป็นเพราะคุณอยากกินสัตว์หรือปลาจริง ๆ ถ้าไม่มีอะไรอย่างอื่นเลยให้กินมันก็เป็นเรื่องหนึ่ง แต่ถ้ามีทางเลือกอื่น นั่นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
  • คุณอาจขโมยเนื่องจากความโกรธได้ เพราะคุณต้องการที่จะทำร้ายใครซักคน ดังนั้น คุณจึงเอาอะไรบางอย่างที่เป็นของเขาไป

การประพฤติทางเพศที่ไม่เหมาะสม

นี่เป็นหัวข้อที่ยากสำหรับพวกเราส่วนใหญ่ แรงผลักดันรุนแรงที่อยู่เบื้องหลังพฤติกรรมทางเพศของเราก็คือ ความปรารถนา และ ความต้องการ ศาสนาพุทธได้อธิบายแนวทางพื้นฐานของสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงในเรื่องดังกล่าวไว้ดังนี้

  • พฤติกรรมทางเพศของเราที่ทำร้าย รวมถึงการข่มขืน และการละเมิดผู้อื่น
  • กดดัน บีบบังคับผู้อื่น แม้กระทั่งแฟนของเราเอง ให้มีเพศสัมพันธ์เมื่อเขาไม่ต้องการ
  • มีเพศสัมพันธ์กับคู่ของคนอื่น หรือถ้าเรามีคู่แล้ว เรายังไปมีเพศสัมพันธ์กับคนอื่น ไม่ว่าเราจะระมัดระวังแค่ไหนก็ตาม มันมักจะนำไปสู่ปัญหาเสมอ

มีด้านอื่น ๆ อีกมากมายที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมทางเพศที่ไม่เหมาะสม แต่แนวคิดที่อยู่เบื้องหลังนี้ก็คือ เราไม่ทำตัวเหมือนสัตว์ สัตว์จะร่วมเพศกับสัตว์ตัวอื่นได้ทุกเมื่อที่มันต้องการ ไม่คำนึงว่าจะเป็นตัวไหนที่อยู่ใกล้มัน พวกมันทั้งหมดตกอยู่ภายใต้การควบคุมของความต้องการ และความใคร่ นี่คือ สิ่งที่เราต้องการจะหลีกเลี่ยง

สิ่งที่เราต้องทำคือ กำหนดขอบเขตที่ชัดเจน และตกลงใจที่จะจำกัดพฤติกรรมทางเพศของเราไว้ไม่ให้เกินขอบเขตนั้นที่เราตั้งไว้ ขอบเขตที่เรากำหนดไว้อาจเกี่ยวกับเรื่องของความถี่บ่อย ประเภท ท่าทางการมีเซ็กส์  หรืออะไรก็ตาม ประเด็นคือ เพื่อสร้างแนวทางที่ชัดเจนสำหรับวิธีการดำเนินชีวิตทางเพศของเรา ไม่ใช่ทำทุกอย่างตามที่เราอยากทำเวลาไหนก็ได้ ที่ไหนก็ได้ กับใครก็ได้เหมือนกับสัตว์ นี่เป็นเรื่องสำคัญมากในแง่ของวินัยในตนเองตามหลักจริยธรรม ความมีวินัยในตนเองคือ การละเว้นจากการกระทำที่เกินขอบเขตที่เราตั้งไว้ เพราะเราเข้าใจว่า การกระทำที่เกินขอบเขตไปนั้น มันก็จะเป็นแค่ความใคร่เท่านั้น และความใคร่นี้ เป็นที่มาของปัญหานับไม่ถ้วนเลยทีเดียว

การบริโภคของมึนเมา                                                                                                                                             

การบริโภคของมึนเมาไม่ได้รวมอยู่ในการกระทำที่เป็นไปในทางทำลายเหล่านี้ แต่การละเลิกสิ่งมึนเมานี้มีความสำคัญมากในแง่ของการพัฒนาตัวเรา

เราต้องการพัฒนาสมาธิ เราต้องการพัฒนาวินัยของตัวเรา ถ้าเราเมา เราจะสูญเสียวินัยทั้งหมดใช่ไหม เราใช้ยาเสพติดที่ออกฤทธิ์หลอนประสาท หรือกัญชา และเราก็สูญเสียสมาธิของเราทั้งหมดไป สภาพจิตใจของเราเต็มไปความล่องลอย และจินตนาการ ถ้าเราดูผลของยา สารเสพติดมึนเมา หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แล้วเปรียบเทียบกับสิ่งที่เราต้องการบรรลุผลสำเร็จในแง่ของการพัฒนาตัวเอง เราจะเห็นว่า การเมายา หรือเมาสุรานั้น มันขัดแย้งกัน มันสร้างอุปสรรค ไม่ใช่แค่เฉพาะตอนเมา แต่ยังมีอาการเมาค้างที่เหลือตามมาด้วย ดังนั้น จึงเป็นการดีแน่นอนที่จะจำกัดการใช้สิ่งเหล่านี้ และแน่นอนว่า ย่อมเป็นการดีที่สุดที่จะเลิกสิ่งเหล่านี้โดยสิ้นเชิง

ขอบเขตของการกระทำที่ถูกต้อง (พฤติกรรมที่ถูกต้อง)  

ด้านหนึ่งของการมีวินัยในตนเองคือ การละเว้นจากพฤติกรรมที่เป็นไปในทางทำลาย อีกด้านหนึ่งก็คือ การมีส่วนร่วมในการกระทำที่เป็นไปในทางสร้างสรรค์ และนี่คือ สิ่งที่เรียกว่า "พฤติกรรมที่ถูกต้อง"                                                                         

ดังนั้น แทนที่จะฆ่าหรือเอาชีวิตของผู้อื่น คุณช่วยรักษาชีวิตไว้อย่างเต็มที่  ในการประยุกต์ใช้ที่กว้างขึ้นมาอีกก็เป็นการไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม แต่การดูแลรักษามัน เพื่อทั้งสัตว์และปลาสามารถมีชีวิตอยู่ได้อย่างอิสระเสรี คุณให้อาหารหมูของคุณ  ถ้าคุณมีหมู ไม่ใช่เลี้ยงให้มันอ้วนขึ้น เพื่อที่จะได้กินมัน แต่เลี้ยงให้มันเจริญเติบโต นี่คือ การรักษาชีวิตไว้ คุณให้อาหารสุนัขของคุณ นั่นเป็นวิธีการที่จะช่วยรักษาชีวิต! นอกจากนี้ ยังรวมถึงสิ่งต่าง ๆ อย่างเช่น การดูแลผู้ป่วย หรือช่วยเหลือผู้บาดเจ็บด้วย

ลองนึกถึงแมลงวันหรือผึ้งที่บินวนเวียนส่งเสียงหึ่ง ๆ อยู่ในห้องของคุณ มันไม่ได้อยากไปอยู่ที่นั่นจริง ๆ หรอก มันต้องการออกไป แต่ไม่รู้จะออกไปยังไง ดังนั้น ถ้าคุณฆ่ามันเพราะมันทำผิดพลาดไปแค่บินเข้ามาในห้องของคุณ มันไม่ดีเลยถ้าทำแบบนั้นใช่ไหม คุณสามารถช่วยให้มันออกไปได้โดยเปิดหน้าต่างแล้วพูดว่า "ชู่ ๆ ๆ ๆ" หรืออะไรสักอย่างให้มันออกไป นั่นเป็นการช่วยรักษาชีวิตไว้ และผึ้งมันก็ต้องการมีชีวิตอยู่! ถ้านกบินเข้ามาในห้องของคุณโดยความผิดพลาด คุณคงไม่เอาปืนออกมายิงมันใช่ไหม แต่ระหว่างผึ้งกับนก มันก็แค่ต่างกันตรงที่ ขนาด รูปร่างลักษณะ และเสียงของมันเท่านั้นเอง ถ้าคุณไม่ชอบให้แมลงวันเข้ามาในห้องของคุณ ก็อย่าเปิดหน้าต่าง หรือไม่ก็กั้นด้วยม่านหรือมุ้งลวดเสีย

ในเรื่องของการไม่ขโมย การกระทำที่ถูกต้องคือ การปกป้องทรัพย์สินของผู้อื่น ถ้ามีคนให้คุณยืมของ คุณจะพยายามอย่างดีที่สุดที่จะไม่ทำให้มันเสียหาย คุณพยายามช่วยคนอื่นให้มีของที่ดี ๆ

แทนที่จะมีพฤติกรรมทางเพศที่ไม่เหมาะสม ซึ่งรวมถึง ไม่เฉพาะแต่การมีเพศสัมพันธ์กับคนอื่นเท่านั้น  แต่ยังรวมถึงการมีเพศสัมพันธ์กับตัวเองด้วย เราต้องมีความนุ่มนวล สุภาพอ่อนโยน ไม่ใช่แบบสุนัขติดสัด

ตัวอย่างพฤติกรรมที่ถูกต้องและไม่ถูกต้องอื่น ๆ                                                                                     

ถ้าเราสามารถขยายขอบเขตของสิ่งที่เราสนทนากันออกไปอีก จะเห็นว่ามีแง่มุมอื่น ๆ อีกมากมายที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมทั้งสามประเภทนี้

ตัวอย่างนะ หากขยายความในแง่ของการไม่ฆ่าออกไปอีก มันก็คือ การหยุดปฏิบัติต่อผู้อื่นด้วยวิธีการทางกายที่รุนแรง หยาบคาย ไม่เพียงแค่ชกต่อย ตบตี ทำร้ายร่างกายผู้อื่นเท่านั้น แต่รวมถึงการไม่ให้ทำงานหนักเกินไป หรือกดดันผู้อื่นอย่างหนักให้ทำสิ่งต่าง ๆ ที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายได้  เราสามารถประยุกต์ใช้สิ่งนี้กับตัวเราได้ด้วยเช่นกัน อย่างเช่น เราไม่ควรทารุณตัวเองโดยการทำงานหนักเกินไป และไม่ทานอาหารที่มีประโยชน์ และนอนน้อยเกินไป เรามักจะคิดถึงการกระทำของเราต่อผู้อื่น แต่มันก็สำคัญที่จะต้องนำมาใช้กับตัวเราเองด้วยเช่นกัน

ในเรื่องของการขโมย ไม่ใช่เพียงแค่เอาทรัพย์สมบัติของผู้อื่นมาเป็นของตัวเองเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการใช้สิ่งของของคนอื่นโดยไม่ขออนุญาตก่อน เหมือนกับการเอาโทรศัพท์ของคนอื่นมาใช้ แล้วโทรออกที่ต้องเสียค่าโทรแพง ๆ หรือเอาอาหารของคนอื่นในตู้เย็นไปโดยไม่ขออนุญาต แอบเข้าไปดูหนังในโรงหนังโดยไม่จ่ายเงิน แล้วก็อันนี้ที่คนไม่อยากได้ยิน ไม่จ่ายภาษีของตัวเอง! นี่คือ การขโมย เราอาจโต้แย้งว่า “ฉันไม่ต้องการที่จะจ่ายภาษี เพราะมันเอาไปให้กับการทำสงครามและซื้ออาวุธ” แต่ในความเป็นจริงก็คือ ภาษีที่เราจ่ายนั้น นำไปใช้ในการสร้างถนน โรงพยาบาล โรงเรียน และอื่น ๆ ด้วย ถ้าคุณต้องการสิ่งเหล่านั้น คุณก็ต้องจ่ายภาษีบ้าง

แล้วการดาวน์โหลดซอฟต์แวร์ หรือวิดีโอที่ไม่มีลิขสิทธิ์หรือละเมิดลิขสิทธิ์ เป็นการขโมยรึเปล่า ผมคิดว่าเป็นนะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าเขาบอกไว้อย่างชัดเจนว่า “ห้ามดาวน์โหลดโดยไม่จ่ายเงิน” มันค่อนข้างชัดเจน ไม่มีทางเลยที่จะบอกว่า ไม่ได้ขโมย    อย่างไรก็ตาม หลักการคือ การกำหนดขอบเขต มันมีระยะตลอดตั้งแต่ทำทุกอย่างที่คุณต้องการโดยไม่คิดถึงผลที่จะตามมา ไปจนถึงการไม่ทำอะไรเลย สำหรับการขโมย เราอาจพูดว่า “ฉันจะไม่ปล้นธนาคาร หรือขโมยของจากร้านค้า แต่ดาวน์โหลดโดยไม่จ่ายเงินล่ะ ตอนนี้ฉันไม่สามารถหลีกเลี่ยงมันได้แล้วจริง ๆ” อย่างน้อยสิ่งนี้ก็ได้สร้างขอบเขตอะไรบางอย่างขึ้นมา แต่ก็ยังเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องยอมรับว่า การดาวน์โหลดโดยไม่จ่ายเงินนั้นเป็นการขโมย นอกจากนี้ ยังมีความแตกต่างอย่างมากระหว่างการดาวน์โหลดสิ่งต่าง ๆ เวลาที่คุณมีเงินจ่ายกับเวลาที่คุณไม่มีเงินจ่าย มันเป็นเรื่องที่ซีเรียสมากขึ้นเมื่อคุณสามารถจ่ายได้ แต่ไม่ทำ เพียงเพราะคุณขี้เหนียวและแย่มาก นี่เป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง

ในประเด็นนี้ของการขโมย เราสามารถมองดูที่ตัวเองได้ เราสามารถหยุดเสียเงินให้กับสิ่งที่ไร้สาระ ไม่มีประโยชน์ อย่างเช่น การพนัน เป็นการนำทรัพย์สินของตัวเองไปใช้ในทางที่ผิด เราไม่ควรตระหนี่ถี่เหนียวกับตัวเอง เมื่อจริง ๆ แล้ว เราสามารถจ่ายได้ คุณมีเงินที่จะกินอาหารที่มีประโยชน์และซื้ออาหารที่ดีได้ แต่คุณขี้เหนียว จึงซื้ออาหารที่มีราคาถูกที่สุดและคุณภาพแย่ที่สุด นี่เป็นเหมือนการขโมยจากตัวเราเอง!

เมื่อมาถึงในเรื่องของพฤติกรรมทางเพศที่ไม่เหมาะสมนั้น ไม่เพียงแต่การบีบบังคับกดดันตัวเองกับผู้อื่น หรือกับแฟนของเขาในเรื่องนี้ แต่ยังต้องหยุดการมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางเพศที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพร่างกาย หรือทางอารมณ์ของตัวเราเองด้วย ตัวอย่างเช่น คุณพบคนที่คุณชอบ คุณสนใจเขามาก และคุณต้องการมีเพศสัมพันธ์กับคนนั้น แต่ปัญหาคือ คน ๆ นั้นมีปัญหาทางอารมณ์และปัญหาอื่น ๆ และคุณก็ตระหนักว่า ถ้าคุณเข้าไปเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับคน ๆ นั้นแล้ว จะมีปัญหารออยู่ข้างหน้าแน่นอน ดังนั้น เพื่อสุขภาพของคุณเอง คุณก็ไม่ควรเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับคน ๆ นั้น เราไม่ควรได้รับแรงผลักดันจากความใคร่ของเรา เพียงเพราะคนนั้นสวยเท่านั้น!

จะทำอย่างไร เมื่อเราได้ล้ำเกินขอบเขตที่เราตั้งไว้   

ในบางครั้ง เรากระทำการที่เกินขอบเขตที่เรากำหนดไว้ให้กับพฤติกรรมของเราอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  ศาสนาพุทธจึงได้นำเสนอคู่ต่อสู้ที่เอาไว้จัดการกับสถานการณ์ดังกล่าวไว้ดังนี้                                                                              

  • รับทราบสิ่งที่คุณทำลงไป ซื่อสัตย์กับตัวเอง
  • สียใจกับการกระทำนั้น นึกภาวนาว่า คุณจะไม่ได้ทำสิ่งนั้นลงไป สิ่งนี้แตกต่างจากความรู้สึกผิด ซึ่งโดยพื้นฐานแล้วจะคิดว่าตัวเองเป็นคนที่แย่มาก และไม่ยอมปล่อยให้มันผ่านไป
  • ตั้งใจอย่างแน่วแน่ที่จะพยายาม และไม่ทำแบบนั้นซ้ำอีก
  • ยืนยันเรื่องแรงจูงใจของคุณอีกครั้งว่า คุณไม่ต้องการก้าวข้ามเกินขอบเขตที่ตั้งไว้ เพราะมันจะนำไปสู่ความทุกข์ และก่อให้เกิดปัญหา
  • ใช้คู่ต่อสู้หรือสิ่งตรงกันข้าม ตัวอย่างเช่น ถ้าคุณตะโกนใส่ใครสักคน คุณสามารถขอโทษเขาด้วยความจริงใจได้ โดยอธิบายให้เขาฟังว่า เป็นเพราะคุณอารมณ์ไม่ดี หรืออะไรก็ตาม

การหาเลี้ยงชีพ

สิ่งนี้เกี่ยวข้องกับวิธีทำมาหากินของเรา บางวิธีมีจริยธรรม แต่บางวิธีไม่มี

การหาเลี้ยงชีพที่ไม่ถูกต้อง                                                                                                                 

สิ่งนี้เกี่ยวข้องกับการหลีกเลี่ยงการสร้างรายได้จากอุตสาหกรรมที่เป็นอันตราย หรือในลักษณะที่เป็นอันตรายต่อตัวเราเองและผู้อื่น เช่น

  • การผลิต หรือการค้าขายอาวุธ
  • การฆ่าสัตว์ ล่าสัตว์ ตกปลา และกำจัดแมลงให้หมดสิ้น
  • การผลิต การขาย หรือการให้บริการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือยาเสพติด
  • การดำเนินการด้านการพนัน บ่อนคาสิโน
  • การพิมพ์และการแจกจ่ายสื่อลามก

การหาเลี้ยงชีพประเภทต่าง ๆ เหล่านี้ ก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้อื่น หรืออย่างสื่อลามกทำให้เกิดความใคร่ ตัณหาราคะ ที่เพิ่มขึ้น แม้ว่าเราจะเกี่ยวข้องกับงานปกติธรรมดา สิ่งสำคัญคือ ต้องซื่อสัตย์ สุจริต และหลีกเลี่ยงความไม่สุจริต ได้แก่

  • การคิดเงินลูกค้าแพงเกินไป พยายามเอาเงินของลูกค้าให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
  • การยักยอกเงิน เอาเงินจากธุรกิจมาเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง
  • การขู่กรรโชกหรือการรีดไถ โดยการข่มขู่ผู้อื่นเพื่อเอาเงินจากพวกเขา
  • การติดสินบน
  • การแสวงหาผลประโยชน์จากผู้อื่น
  • การโฆษณาชวนเชื่อ เป็นเท็จ
  • การปลอมปนอาหารหรือผลิตภัณฑ์เพื่อให้ทำเงินได้มากขึ้น

มีวิธีการทำมาหากินที่ไม่สุจริตอื่น ๆ อีกมากมาย! เราจำเป็นต้องใช้วินัยในตนเองตามหลักจริยธรรม เพื่อหลีกเลี่ยงการหาเลี้ยงชีพแบบนี้

การหาเลี้ยงชีพที่ถูกต้อง                                                                                                                   

เราควรตั้งเป้าหมายในการหาเลี้ยงชีพด้วยวิธีที่ซื่อสัตย์ สุจริต และเป็นประโยชน์ต่อสังคม เช่น

  • การแพทย์
  • สังคมสงเคราะห์
  • การค้าที่เป็นธรรม
  • การผลิต หรือการจำหน่ายผลิตภัณฑ์และบริการที่เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น

อะไรก็ตามที่มีส่วนทำให้สังคมทำหน้าที่ได้อย่างดี และมีสวัสดิการให้กับผู้อื่นถือว่า เป็นสิ่งที่ยอดเยี่ยม ยิ่งไปกว่านี้ เราควรที่จะ

  • ไม่โกงผู้อื่น หรือคิดราคาแพงเกินไป
  • ตั้งราคาที่เป็นธรรม เพื่อให้เราสามารถทำกำไรอย่างสมเหตุสมผล
  • จ่ายเงินค่าจ้างให้คนงานเป็นอย่างดี เพื่อที่เราจะไม่เอารัดเอาเปรียบพวกเขา

ประเด็นหนึ่งที่มักเกิดขึ้นเป็นคำถามคือ ความจำเป็น ครั้งหนึ่งผมเคยไปแปลให้อาจารย์ชาวทิเบตท่านหนึ่งในออสเตรเลีย ซึ่งเป็นถิ่นที่มีแกะจำนวนมากมาย และมีคนถามท่านว่า “ในเมืองที่ฉันอาศัยอยู่ มีงานอย่างเดียวที่ให้ทำคือ เลี้ยงแกะ ผลิตภัณฑ์ที่ได้คือ ขนแกะ และเนื้อแกะ ฉันควรทำยังไงล่ะ ฉันไม่สามารถเพียงแค่ย้ายไปเมืองอื่น แล้วก็พยายามหางานอื่นทำได้นะ” ลามะทิเบตกล่าวว่า“ สิ่งสำคัญคือ คุณต้องซื่อสัตย์ สุจริตในงานของคุณ และไม่โกงคนอื่น แล้วต้องไม่กระทำทารุณต่อแกะ แต่ให้ปฏิบัติต่อพวกมันด้วยความอ่อนโยน มีเมตตากรุณา ให้อาหารพวกมัน และดูแลพวกมันอย่างดี” ฉะนั้นแล้ว สิ่งสำคัญที่สุดคือ การมีเมตตากรุณา และความซื่อสัตย์

บทสรุป

เมื่อเราดูที่คำแนะนำที่ได้จากมรรค 8 ประการนั้น เราไม่ควรรับเอามาไว้ในลักษณะที่เป็นกฎระเบียบที่จำกัดเรา แต่ให้เป็นขอบเขตที่จะทำให้เราเป็นอิสระจากการกระทำในทางลบ ซึ่งรังแต่จะทำให้เกิดอันตรายต่อตัวเราและผู้อื่น

Top