ความโกรธ: การจัดการกับอารมณ์ที่รบกวนจิตใจ

08:20
ความโกรธเป็นความรู้สึกรังเกียจที่รุนแรงต่อบางสิ่งหรือบางคนที่เราเห็นว่าเป็นสิ่งที่คุกคามหรือที่เราไม่ชอบ ในฐานะที่เป็นอารมณ์ที่รบกวนจิตใจ มันจะทำลายความสงบในจิตใจของเรา และเราจะสูญเสียการควบคุมตนเอง อย่างไรก็ตาม ด้วยวิธีปฏิบัติต่าง ๆ ที่จะพัฒนาความอดทน เราสามารถหลีกเลี่ยงความโกรธและมีชีวิตที่มีความสุขมากขึ้นได้

ปัญหาต่าง ในชีวิต

เราเกือบทุกคนรู้สึกว่าเราต่างก็มีปัญหาบางอย่างในชีวิตของเรา เราอยากมีความสุข เราไม่ต้องการที่จะมีปัญหาใด ๆ แต่เราก็จะต้องเผชิญกับปัญหาต่าง ๆ มากมายอยู่ตลอดเวลา บางครั้งเราจะรู้สึกหดหู่ใจเมื่อเราพบกับความยากลำบาก และเรารู้สึกผิดหวังในการทำงาน ผิดหวังกับตำแหน่งทางสังคมของเรา สภาพความเป็นอยู่ หรือสถานการณ์ในครอบครัวของเรา เรามีปัญหาในการไม่ได้รับสิ่งที่เราต้องการ เราต้องการที่จะประสบความสำเร็จ เราต้องการแต่สิ่งที่ดี ๆ ให้เกิดขึ้นกับครอบครัวและธุรกิจของเรา แต่สิ่งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเสมอไป จากนั้น เมื่อเรามีปัญหาเหล่านี้ เราก็จะไม่มีความสุข บางครั้งสิ่งต่าง ๆ ก็เกิดขึ้นกับเราโดยที่เราไม่ต้องการให้เกิดขึ้น เช่น การเจ็บป่วย หรืออ่อนแอมากเมื่อเราอายุมากขึ้น สูญเสียการได้ยินหรือการมองเห็น ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าไม่มีใครอยากให้สิ่งนั้นเกิดขึ้น

เรามีปัญหาในการทำงาน บางครั้งสิ่งต่าง ๆ ก็เป็นไปในทางเลวร้าย และธุรกิจของเราก็แย่ลงหรือล้มเหลว นั่นเป็นสิ่งที่เราไม่ต้องการให้เกิดขึ้นอย่างชัดเจน แต่มันก็เกิดขึ้นอยู่ดี บางครั้ง อันตรายเกิดขึ้นกับเรา เราได้รับบาดเจ็บ เราประสบอุบัติเหตุ เราป่วย สิ่งเหล่านี้ล้วนเกิดขึ้นเป็นปัญหาที่เราเผชิญอยู่เสมอ

นอกจากนี้ เรายังต้องเผชิญกับปัญหาทางอารมณ์และจิตใจอีกมากมายเช่นกัน สิ่งเหล่านี้อาจเป็นสิ่งที่เราอาจรู้สึกไม่อยากพูดถึง หรือเปิดเผยให้คนอื่นรู้ แต่ภายในตัวเรา เราจะพบว่ามีบางสิ่งที่รบกวนเราในแง่ของความคาดหวังที่มีต่อลูก ความเป็นห่วง หรือความวิตกกังวลนำความยากลำบากมากมายมาให้เรา นี่คือสิ่งที่เราเรียกว่า “สถานการณ์หรือปัญหาที่เกิดขึ้นซ้ำอย่างไม่สามารถควบคุมได้ ซึ่งในภาษาสันสกฤตเรียกว่า สังสารวัฏ

ปัญหาที่เกิดขึ้นซ้ำอย่างไม่สามารถควบคุมได้คือ สังสารวัฏ

ภูมิหลังและการฝึกอบรมที่ผมได้รับมาคือ การเป็นนักแปล และในฐานะที่เป็นนักแปล ผมได้เดินทางไปทั่วโลก ไปยังประเทศต่าง ๆ มากมาย ได้ทำงานแปลและบรรยายเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาด้วย ผมค้นพบว่ามีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาอยู่มาก ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาส่วนใหญ่ดูเหมือนจะเกิดจากคำภาษาอังกฤษที่ถูกเลือกมาเพื่อแปลข้อกำหนดและแนวคิดดั้งเดิม คำหลาย ๆ คำเหล่านี้ถูกเลือกโดยมิชชันนารียุควิกตอเรียในศตวรรษที่ผ่านมา และมีความหมายโดยนัยที่ค่อนข้างรุนแรงซึ่งไม่ใช่ความหมายโดยนัยหรือความหมายที่คำดั้งเดิมในภาษาเอเชียที่มีอยู่ในขณะนั้น ตัวอย่างเช่น เราได้พูดคุยกันเกี่ยวกับปัญหาต่าง ๆ ซึ่งมักจะแปลว่า “ความทุกข์” หากเป็นเช่นนั้นแล้ว ถ้าเราพูดถึงความทุกข์ ผู้คนจำนวนมากจะเข้าใจว่า ศาสนาพุทธเป็นศาสนาที่มองโลกในแง่ร้ายมาก เพราะมันบอกว่าชีวิตของทุกคนเต็มไปด้วยความทุกข์ มันดูเหมือนจะบอกว่า เราไม่มีสิทธิที่จะมีความสุข ถ้าเราพูดกับใครสักคนที่ได้รับความสะดวกสบาย มั่งคั่ง และร่ำรวย และเราพูดกับคน ๆ นั้นว่า “ชีวิตของคุณเต็มไปด้วยความทุกข์” คน ๆ นั้นก็จะแสดงการปกป้องตัวเองออกมาอย่างมาก โดยเขาอาจจะโต้เถียงและพูดว่า “คุณหมายความว่าอย่างไร ฉันมีเครื่องบันทึกวิดีโอ ฉันมีรถที่ดี และฉันมีครอบครัวที่ดี ฉันไม่มีความทุกข์”

การโต้ตอบของเขาถือว่ามีเหตุผล เพราะคำว่า “ทุกข์” นั้นเป็นคำที่รุนแรงมาก ถ้าในทางกลับกัน เราแปลแนวคิดทางพระพุทธศาสนาแบบเดียวกันนี้ในฐานะของ “ปัญหา” แล้ว เราก็จะพูดกับใครบางคนว่า “ไม่ว่าคุณจะเป็นใครร่ำรวยแค่ไหน มีลูกกี่คน ทุกคนก็ล้วนแต่มีปัญหาในชีวิตทั้งนั้น” นี่คือ สิ่งที่ทุกคนเต็มใจที่จะยอมรับ ดังนั้น ผมจะพูดคุยถึงคำอธิบายทางพระพุทธศาสนาเหล่านี้ตามศาสนาพุทธแบบทิเบตในแง่ที่แตกต่างจากที่เราใช้กันตามปกติเล็กน้อย

ปัญหาที่เกิดขึ้นซ้ำอย่างควบคุมไม่ได้คือ สังสารวัฏ ในแง่มุมที่เข้าใจได้ง่าย ๆ “สังสารวัฏ” หมายถึง สถานการณ์ที่เราไม่สามารถควบคุมได้ และยังคงเกิดขึ้นซ้ำ ๆ เช่น หงุดหงิด หรือมีห่วงกังวล และวิตกกังวลอยู่เสมอ แล้วตอนนี้ อะไรคือสาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้เกิดสิ่งเหล่านั้น พระพุทธเจ้าได้ตรัสถึงไม่ใช่แค่เพียงปัญหาที่แท้จริงที่เราเผชิญเท่านั้น แต่ปัญหาเหล่านี้มีสาเหตุที่แท้จริง และมันก็เป็นไปได้ที่จะหยุดยั้งปัญหาเหล่านี้ วิธีที่จะหยุดพวกมันเพื่อให้บรรลุการหยุดที่แท้จริงของพวกมันก็คือ การปฏิบัติตามเส้นทางที่แท้จริง ซึ่งหมายถึงการพัฒนาจิตใจเส้นทางที่แท้จริง เป็นวิธีการทำความเข้าใจที่จะขจัดสาเหตุต่าง ๆ ของปัญหาเหล่านั้น เมื่อเรากำจัดสาเหตุได้แล้ว เราก็จะกำจัดปัญหาได้

ต้นตอของปัญหา: การพยายามยึดจับหาอัตลักษณ์ที่มั่นคง

สาเหตุที่แท้จริงของปัญหาที่เกิดขึ้นซ้ำที่ไม่สามารถควบคุมได้เหล่านี้ที่เราเผชิญในชีวิตก็คือ การที่เราไม่รู้จักความเป็นจริง เราไม่ตระหนักรู้ว่า แท้จริงแล้วเราเป็นใคร คนอื่นเป็นใคร ความหมายของชีวิตคืออะไร กำลังเกิดอะไรขึ้นที่แท้จริงในโลกใบนี้ ผมใช้คำว่า "ความไม่ตระหนักรู้" แทนที่จะใช้คำว่า "อวิชชา" คำว่า “อวิชชา” ฟังดูเหมือนใครบางคนพูดกับคุณว่า คุณโง่และไม่เข้าใจ แทนที่จะเป็นเช่นนั้น เราก็แค่ไม่ตระหนักรู้ และเพราะเราไม่ตระหนักรู้ เราจึงประสบกับสิ่งนี้ที่เป็นเหมือนความไม่ปลอดภัยในระดับจิตใจ เนื่องจากความรู้สึกไม่ปลอดภัยนี้ เราจึงมักจะพยายามยึดจับหาอัตลักษณ์ที่มั่นคง บางอย่างของ “ฉัน” “ฉันไม่รู้ว่าตัวเองเป็นใคร หรือฉันมีอยู่อย่างไร ดังนั้น ฉันจะคว้าบางสิ่งบางอย่างไม่ว่าจะแท้จริง หรืออาจจะเป็นแค่เพียงจินตนาการเกี่ยวกับตัวเองเท่านั้น และบอกว่านี่คือ ฉัน นี่คือ สิ่งที่ฉันเป็นจริง ๆ”

เราอาจยึดจับหาอัตลักษณ์ของการเป็นพ่อก็ได้  เช่น “นี่คือสิ่งที่ฉันเป็น ฉันเป็นพ่อ ฉันต้องได้รับความเคารพในครอบครัวของฉัน ลูก ๆ ของฉันต้องมีทัศนคติบางอย่างของความเคารพและเชื่อฟังฉัน” หากทิศทางทั้งหมดในชีวิตของเราอยู่ในแง่ของการเป็นพ่อแล้ว สิ่งนี้จะทำให้เราลำบากได้อย่างชัดเจน นี่เป็นเพราะว่า ถ้าลูกของเราไม่เคารพสิ่งนั้น ก็จะมีปัญหาเกิดขึ้น ถ้าเราอยู่ในที่ทำงาน ผู้คนจะไม่มองว่าเราเป็น "พ่อ" หรือผู้ที่สมควรรับความเคารพแบบนั้น ซึ่งนั่นก็อาจจะเป็นสิ่งที่รบกวนอย่างมากได้เช่นเคย จะเกิดอะไรขึ้นถ้าฉันเป็นผู้ปกครองครอบครัวของฉัน และเมื่อฉันไปที่ทำงาน คนอื่น ๆ ในที่ทำงานดูถูกฉัน ปฏิบัติต่อฉันในฐานะที่ต่ำต้อยกว่า แล้วฉันต้องแสดงความเคารพต่อพวกเขาด้วยหรือ หากเรายึดจับอัตลักษณ์ของการเป็นพ่ออย่างแน่นหนาเกินไป และต้องได้รับความเคารพตามที่สั่งให้เคารพ เราก็จะไม่มีความสุขมาก ๆ ในที่ทำงานเมื่อคนอื่นไม่ปฏิบัติต่อเราในลักษณะนั้น

เราอาจจะมีอัตลักษณ์ของการเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ “ฉันเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ ฉันเป็นแบบนี้ ฉันต้องเป็นแบบนี้” อย่างไรก็ตาม หากธุรกิจของเราล้มเหลว หรือหากธุรกิจแย่มาก เราก็จะแตกสลายอย่างเต็มที่ บางคนอาจฆ่าตัวตาย หรือทำสิ่งที่น่ากลัวทุกอย่างหากธุรกิจของพวกเขาล้มเหลว  เพราะพวกเขามองไม่เห็นว่าชีวิตจะสามารถดำเนินต่อไปได้หากไม่มีอัตลักษณ์ที่แข็งแกร่งที่พวกเขาได้ยึดจับไว้มาโดยตลอดนี้

หรือเราอาจจะยึดจับอัตลักษณ์ของเราบนพื้นฐานของความเป็นบุรุษที่แข็งแรง “ผมเป็นแบบนี้  ผมเป็นผู้ชายที่แข็งแรง หล่อเหลา และมีเสน่ห์” แต่เมื่อเราเริ่มแก่ตัวลง และสูญเสียความแข็งแรงของเรา สิ่งนี้อาจทำให้เราประสาทเสียได้ บางคนอาจรู้สึกผิดหวังอย่างสิ้นเชิงหากนั่นคืออัตลักษณ์ของตนเอง พวกเขาไม่เต็มใจที่จะเห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างมีการเปลี่ยนแปลงในชีวิต และอัตลักษณ์นี้ก็เป็นสิ่งที่ไม่ถาวร

เรายังอาจรู้สึกได้ว่า เราเป็นคนดั้งเดิม ดังนั้น ทุกอย่างต้องทำตามวิถีดั้งเดิม เมื่อสังคมเปลี่ยนไป และคนหนุ่มสาวไม่ปฏิบัติตามประเพณีที่เป็นพื้นฐานของอัตลักษณ์ของเราอีกต่อไป เราอาจจะโกรธมาก อารมณ์เสียมาก เจ็บปวดมาก เรานึกภาพไม่ออกจริง ๆ ว่าเราจะอยู่ในโลกที่ไม่ปฏิบัติตามประเพณีจีนดั้งเดิมของเรา ซึ่งเป็นหนทางตามประเพณีที่เราเติบโตมาได้อย่างไร

ในทางกลับกัน ในฐานะคนหนุ่มสาว เราอาจตั้งอัตลักษณ์ของเราบนพื้นฐานของความเป็นคนสมัยใหม่ “ฉันเป็นคนสมัยใหม่ของโลกใบนี้ ฉันไม่ต้องการค่านิยมดั้งเดิมเหล่านี้” หากเรายึดจับสิ่งนี้ไว้อย่างแน่นหนา แล้วพ่อแม่ของเราเริ่มยืนกรานให้เราปฏิบัติตามค่านิยมดั้งเดิม และปฏิบัติต่อพวกเขาในรูปแบบดั้งเดิมอย่างแข็งขัน และก็เช่นเคย ในฐานะคนหนุ่มสาวสมัยใหม่ เราอาจรู้สึกไม่เป็นมิตรและโกรธมาก ๆ  เราอาจจะไม่แสดงออก แต่ภายในเราอาจจะรู้สึกว่า เพราะอัตลักษณ์ของเราเป็นคนทันสมัย เราจึงไม่จำเป็นต้องไปเยี่ยมพ่อแม่ในวันตรุษจีน เราไม่จำเป็นต้องทำสิ่งที่เป็นประเพณีดั้งเดิมทั้งหมดเหล่านี้ และอีกเช่นเคย เราก็จะได้รับปัญหาต่าง ๆ มากมาย

เรายังอาจคิดเหมือนกันเกี่ยวกับอาชีพของเราได้ด้วย ฉะนั้น ถ้าธุรกิจของเราล้มเหลว และเราคิดถึงแต่ตัวเองในแง่ที่ว่านี่เป็นอาชีพเดียวที่เรามี เราก็จะไม่ยืดหยุ่นหรือปรับตัวไปตามสถานการณ์ เมื่อเราไม่สามารถทำงานที่เราเคยทำมาก่อนได้ เราจะรู้สึกว่าโลกของเราจบสิ้นลงแล้ว เราจะไม่เห็นว่า มันเป็นไปได้ที่จะก้าวเข้าสู่อาชีพอื่นที่แตกต่างไป และเราก็ไม่จำเป็นจะต้องทำอาชีพเพียงอาชีพเดียวเสมอไป

เรายึดจับอัตลักษณ์ต่าง ๆ เหล่านี้ไว้เพื่อทำให้เรารู้สึกปลอดภัย เรายึดถือความคิดบางอย่างเกี่ยวกับตัวเราเอง ประเภทของกฎที่เราจะปฏิบัติตาม ประเภทของสิ่งต่าง ๆ ที่เราต้องการในชีวิต เรามีแนวโน้มที่จะคิดว่านี่เป็นเรื่องถาวร ว่านี่คือรูปธรรมทั้งหมด และนั่นคือตัวฉันจริง ๆ บนพื้นฐานของความคิดเกี่ยวกับตัวเราเองนี้ อันเป็นภาพของตัวเราเองนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือว่า เรามีอารมณ์รบกวนทุกประเภทที่เกิดขึ้นมาเพื่อเป็นหนทางในการสนับสนุนอัตลักษณ์นั้น นี่เป็นเพราะว่า เรายังรู้สึกไม่ปลอดภัยเกี่ยวกับอัตลักษณ์ดังกล่าวนั้น ด้วยเหตุนี้ เราจึงรู้สึกว่าเราจะต้องพิสูจน์และยืนยันมัน

ตัวอย่างเช่น ถ้าเรารู้สึกว่า “ฉันคือพ่อในครอบครัว” ดังนั้นแล้ว มันจึงไม่พอที่เราจะรู้สึกแค่ว่าเราเป็นพ่อในครอบครัว เราจะต้องยืนยันอำนาจนั้นด้วย เราต้องยืนยันอำนาจของเราที่มีอยู่เหนือครอบครัว และทำให้แน่ใจว่าทุกคนให้เกียรติเรา เพราะเราต้องพิสูจน์ให้ทุกคนเห็นว่าเรายังคงเป็นพ่ออยู่ มันไม่พอสำหรับเราที่เราจะเพียงแค่รู้สิ่งนั้น ถ้าเรารู้สึกว่าอัตลักษณ์นี้ถูกคุกคาม เราก็จะพยายามปกป้องตัวเองมากขึ้นอีก หรือเราอาจกลายเป็นคนที่รุกรานและก้าวร้าวเพื่อพิสูจน์บางสิ่งบางอย่าง “ฉันต้องพิสูจน์ว่าฉันเป็นใคร ฉันต้องพิสูจน์ว่าฉันยังมีความเป็นชายและมีเสน่ห์” ดังนั้น เราจึงต้องออกไปหาภรรยาอีกคน หรือมีความสัมพันธ์ฉันท์ชู้สาวกับหญิงสาวเพื่อพิสูจน์ว่านี่คือเรา นี่คือสิ่งที่เราดำรงอยู่

อารมณ์และทัศนคติที่รบกวน

การดึงดูดและความปรารถนาอยากได้

อารมณ์และทัศนคติที่รบกวนคือ สภาพจิตใจที่เกิดขึ้น ซึ่งเราใช้ในการพยายามจะพิสูจน์ หรือรักษาอัตลักษณ์ไว้ให้มั่นคง อารมณ์ที่รบกวนเหล่านี้อาจมีได้หลายประเภท เช่น การดึงดูด และความปรารถนาอยากได้ ความปรารถนาอยากได้เกิดขึ้นเมื่อเราจำเป็นต้องได้รับบางบางสิ่งให้กับตัวเรา ให้อยู่รอบ ๆ ตัวเรา เพื่อทำให้อัตลักษณ์นั้นปลอดภัย ตัวอย่างเช่น ถ้าอัตลักษณ์ของฉันอยู่ในฐานะพ่อหรือผู้ปกครองของครอบครัว ฉันอาจจะคิดว่า “ฉันต้องได้รับความเคารพ  ฉันต้องให้เด็ก ๆ มาในช่วงปีใหม่ และต้องให้พวกเขาเชื่อฟังทุกสิ่งที่ฉันพูด” ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม ฉันรู้สึกว่าถ้าฉันได้รับความเคารพมากพอ สิ่งนี้จะทำให้ฉันรู้สึกปลอดภัยมาก และเห็นได้ชัดว่า เมื่อฉันไม่ได้รับความเคารพนั้น ฉันจะรู้สึกเจ็บปวดและอาจโกรธมาก

นอกจากนี้ ฉันยังคิดว่าอัตลักษณ์ของฉันคือ ฉันเป็นคนโชคดี “ฉันจะต้องมีโชคลาภ และโชคดีอยู่เสมอ และฉันจะต้องชนะไพ่นกกระจอกเสมอ” ถ้านี่คืออัตลักษณ์ของฉัน ฉันรู้สึกว่าถ้าฉันชนะไพ่นกกระจอกเสมอ ชนะพนันประเภทต่าง ๆ เสมอ นั่นทำให้ฉันรู้สึกปลอดภัย หรือฉันอาจต้องไปหาหมอดู หรือโยนไม้เสี่ยงทายที่วัดพุทธศาสนาจีนเสมอเพื่อให้ได้คำตอบที่ถูกต้อง ซึ่งยืนยันกับฉันว่าฉันจะประสบความสำเร็จ ว่าฉันจะโอเค ฉันรู้สึกไม่มีความมั่นใจมาก ๆ ในความสามารถทางธุรกิจของฉันที่จะรู้สึกว่าฉันจะประสบความสำเร็จ ฉันมักจะต้องได้รับสัญญาณเพิ่มเติม สัญญาณเพิ่มเติมจากเทพเจ้า หรือสัญญาณอื่น ๆ จากใครก็ตามที่จะทำให้ฉันรู้สึกมั่นใจ ฉะนั้นแล้ว ฉันจึงมักจะต้องพยายามทำสิ่งนี้อย่างไม่อาจต้านทานได้

ฉันอาจยังรู้สึกได้ว่า “ฉันเป็นผู้มีอำนาจในธุรกิจของฉัน ฉันติดใจหลงใหลในอำนาจ และอำนาจก็จะทำให้ฉันรู้สึกปลอดภัย” ทัศนคตินั้นอาจเกิดจากแนวคิดทางด้านจิตใจที่แตกต่างกัน มันอาจจะขึ้นอยู่กับความรู้สึกที่ว่า ฉันเป็นคนที่มีอำนาจ หรือความรู้สึกที่ว่า ฉันไม่ใช่คนที่มีอำนาจจริง ๆ แต่ฉันต้องการอำนาจนั้นเพื่อสนับสนุนฉัน เราจึงรู้สึกว่า “ถ้าฉันสามารถทำให้ทุกคนในที่ทำงานเชื่อฟังฉันได้ ทำในแบบที่ฉันต้องการ นั่นจะทำให้ฉันปลอดภัย” หรือถ้าเรามีคนรับใช้ในบ้าน เพื่อพิสูจน์ว่าฉันอยู่ในตำแหน่งผู้มีอำนาจ ฉันมักจะติดใจหลงใหลกับความคิดที่ว่า พวกเขาควรทำสิ่งต่าง ๆ ในแบบที่ฉันต้องการ และฉันอาจจะเริ่มแม้แต่สั่งให้พวกเขาทำสิ่งที่ไม่จำเป็นด้วยซ้ำ เพียงเพื่อพิสูจน์ให้พวกเขาเห็นว่าใครเป็นผู้ควบคุม

นอกจากนี้ บางคนยังอาจจะลุ่มหลงในความใส่ใจด้วย เมื่อเป็นคนหนุ่มสาว เราอาจรู้สึกว่า “อัตลักษณ์ของฉันคือ เป็นคนทันสมัย แต่งตัวตามแฟชั่นของคนหนุ่มสาว และถ้าฉันสามารถติดตามแฟชั่นใหม่ล่าสุด วิดีโอล่าสุด ซีดีใหม่ล่าสุด สิ่งต่าง ๆ ล่าสุดที่กำลังเกิดขึ้นในนิตยสารแฟชั่นทั้งหมด นั่นจะทำให้อัตลักษณ์ของฉันปลอดภัย”

มีวิธีที่แตกต่างกันหลายวิธี มีสิ่งที่แตกต่างกันหลายสิ่งที่เราอาจจะมุ่งเน้นและรู้สึกว่า ถ้าฉันสามารถได้สิ่งนั้นทั้งหมดมาไว้รอบตัวฉัน และสร้างมันให้เพียงพอ มีเงินเพียงพอ สมบัติที่เพียงพอ มีอำนาจเพียงพอ ความใส่ใจเพียงพอ หรือความรักเพียงพอ นั่นจะทำให้ฉันปลอดภัย แน่นอนว่า มันใช้ไม่ได้ ในความเป็นจริง ถ้ามันเคยใช้ได้ผล เมื่อถึงจุดหนึ่ง เราจะรู้สึกว่าเรามีเพียงพอและเราพอใจอย่างเต็มที่ แต่เราไม่เคยรู้สึกว่าเรามีเพียงพอ และเรามักจะต้องการมากกว่าเดิมเสมอ และเมื่อเราไม่ได้รับมัน เราก็จะโกรธ ความโกรธเกิดขึ้นได้หลายแบบ

ความรู้สึกรังเกียจและความเป็นศัตรู

อีกกลไกหนึ่งที่เราใช้ในการพยายามที่จะทำให้อัตลักษณ์ที่ดูเหมือนว่ามั่นคงจะปลอดภัยคือ ความรู้สึกรังเกียจ ความเป็นศัตรู และความโกรธ “ถ้าฉันสามารถทำให้บางสิ่งที่ฉันไม่ชอบออกไปจากตัวฉันได้ ซึ่งกำลังคุกคามอัตลักษณ์ของฉันอยู่ นั่นก็จะทำให้ฉันปลอดภัย” ดังนั้น ถ้าฉันตั้งอัตลักษณ์ของฉันบนพื้นฐานของมุมมองทางการเมือง เชื้อชาติ หรือวัฒนธรรมของฉัน “ถ้าฉันเพียงแค่ทำให้คนที่มีมุมมองที่แตกต่าง ผิวสีที่แตกต่าง ศาสนาที่แตกต่างจากฉัน ออกไปจากตัวฉันได้ นั่นจะทำให้ฉันปลอดภัย" หรือถ้าคนรับใช้ของฉันทำในสิ่งที่แตกต่างไปจากที่ฉันต้องการเล็กน้อย หรือคนที่ทำงานในที่ทำงานของฉันกำลังทำสิ่งที่แตกต่างไปจากที่ฉันต้องการ เราก็จะรู้สึกว่า “ถ้าฉันแค่แก้ไขพวกเขาได้ ถ้าฉันแค่เปลี่ยนสิ่งนั้นได้ นั่นจะทำให้ฉันปลอดภัย” ฉันชอบเอกสารของฉันจัดไว้บนโต๊ะทำงานในแบบหนึ่ง แต่คนอื่นในที่ทำงานของฉันจัดเรียงเอกสารนั้นให้แตกต่างออกไป ด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง เราก็รู้สึกว่าสิ่งนี้คุกคามเราอยู่ “ถ้าฉันสามารถทำให้พวกเขาทำในแบบของฉันได้ นั่นจะทำให้ฉันรู้สึกปลอดภัย” แล้วมันต่างกันตรงไหน ด้วยวิธีนี้ เรามุ่งส่งความเป็นศัตรูไปที่ผู้อื่นเพื่อพยายามดึงทุกสิ่งที่คุกคามเราออกไปจากเรา

หรือเมื่อเราตั้งอัตลักษณ์ของเราบนการเป็นคนที่ถูกต้องเสมอ ฉะนั้นแล้ว เมื่อมีคนไม่เห็นด้วยหรือวิพากษ์วิจารณ์เรา เราก็จะกลายมาเป็นคนที่พยายามปกป้องตัวเองอย่างมาก เป็นศัตรู และโกรธแค้น แทนที่จะยอมรับด้วยความขอบคุณคำวิจารณ์ของบุคคลนี้เพื่อให้เราเติบโตและปรับปรุงตัวเอง หรือแม้กระทั่งว่า ถ้าคำวิจารณ์ของคนนั้นไม่ยุติธรรม ก็สามารถใช้โอกาสนี้ตรวจสอบตัวเอง และทำให้แน่ใจว่าเราไม่หละหลวม หรือผิด เราฟาดฟันบุคคลนั้นด้วยถ้อยคำที่รุนแรง หรือเราแสดงท่าทีความเป็นศัตรูในทางที่ไม่โต้ตอบโดยไม่สนใจบุคคลนั้น และไม่พูดกับบุคคลนั้น เราดำเนินการในลักษณะนี้เพราะเรารู้สึกไม่ปลอดภัยและถูกคุกคาม เราคิดว่าบุคคลนั้นกำลังปฏิเสธ “ฉัน” ซึ่งเป็นคนที่ถูกต้องเสมอ และเพื่อปกป้อง “ฉัน” ที่มั่นคงนี้ เราจึงปฏิเสธบุคคลนั้น

ความไม่รู้ตามที่เป็นจริงด้วยจิตใจที่ปิดกั้น

อีกกลไกหนึ่งคือ ความไม่รู้ตามที่เป็นจริงด้วยใจที่ปิดกั้น ซึ่งโดยพื้นฐานแล้วจะสร้างกำแพงรอบตัวเรา “ถ้ามีบางอย่างคุกคามฉัน คุกคามอัตลักษณ์ของฉัน ฉันก็แค่แสร้งทำเป็นว่าไม่มีอยู่จริง” เรามีปัญหากับครอบครัว ความยากลำบากในการทำงาน และเรากลับบ้านพร้อมใบหน้าที่ไร้อารมณ์ความรู้สึกใด ๆ  ราวกับว่าไม่มีอะไรรบกวนเราอยู่เลย เราไม่ต้องการพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องนี้ เราแค่เปิดโทรทัศน์และแสร้งทำเป็นว่าไม่มีปัญหา นี่คือทัศนคติที่มีจิตใจปิดกั้น ลูก ๆ ของเราต้องการพูดคุยเกี่ยวกับปัญหาที่พวกเขามี และเราก็แค่ผลักมันออกไป “อัตลักษณ์ของฉันคือ ครอบครัวของเราไม่มีปัญหา ครอบครัวของเราสมบูรณ์แบบ เป็นไปตามค่านิยมตามประเพณีดั้งเดิมทั้งหมด คุณบอกมาได้อย่างไรว่ามีปัญหา และทำให้เสียสมดุล ทำให้เสียความสามัคคี” เรารู้สึกว่าวิธีเดียวที่จะจัดการกับปัญหานั้นได้ก็คือ แสร้งทำเป็นว่ามันไม่มีอยู่จริง ทัศนคติประเภทนี้เรียกว่า ความไม่รู้ตามที่เป็นจริงด้วยจิตใจที่ปิดกั้น

แรงกระตุ้นที่เข้ามาในจิตใจของเราคือ การแสดงออกของกรรม

เมื่อเรามีอารมณ์รบกวนประเภทต่าง ๆ เหล่านี้ สิ่งต่อไปที่จะเกิดขึ้นคือ แรงกระตุ้นต่าง ๆ จะเข้ามาในจิตใจของเรา นี่คือ สิ่งที่กรรมหมายถึง “กรรม” ไม่ได้หมายถึงโชคชะตาหรือพรหมลิขิต น่าเสียดายที่หลายคนดูเหมือนจะคิดว่า มันหมายความว่าอย่างนั้น หากธุรกิจของใครบางคนล้มเหลว หรือใครบางคนถูกรถชน เราอาจพูดว่า "แย่จัง นั่นเป็นกรรมของเขา" นี่ก็เกือบจะเหมือนกับการพูดว่า “นั่นคือความประสงค์ของพระเจ้า”

ที่นี่ เราไม่ได้พูดถึงเจตจำนงของพระเจ้า หรือพรหมลิขิตในการพูดคุยเรื่องกรรม เรากำลังพูดถึงแรงกระตุ้น แรงกระตุ้นต่าง ๆ ที่เข้ามาในจิตใจของเราที่ทำให้เราทำสิ่งต่าง ๆ ตัวอย่างเช่น แรงกระตุ้นที่เกิดขึ้นในจิตใจของเราในการตัดสินใจบางอย่างทางธุรกิจของเรา ซึ่งกลายเป็นการตัดสินใจที่ไม่ดี หรือแรงกระตุ้นที่จะเรียกร้องให้ลูก ๆ ของฉันจะต้องแสดงความเคารพฉัน หรือแรงกระตุ้นที่จะตะโกนใส่พนักงานในที่ทำงานของฉันว่า พวกเขาต้องทำสิ่งต่าง ๆ ไม่ใช่ในแบบของพวกเขา แต่เป็นในแบบของฉัน แรงกระตุ้นอีกอย่างหนึ่งอาจเกิดขึ้นในใจของฉันเพื่อแสดงใบหน้าที่ไม่มีความรู้สึกใด ๆ เปิดโทรทัศน์และไม่แม้แต่จะฟังใครอื่นใดเลย แรงกระตุ้นประเภทนี้ ซึ่งเป็นกรรม เข้ามาในจิตใจของเรา เราจะทำมันออกมาอย่างถูกบีบบังคับ และนั่นจะก่อให้เกิดปัญหาซ้ำซากที่ไม่สามารถควบคุมได้ นั่นคือกลไกของมัน

เราอาจมีปัญหาของการรู้สึกวิตกกังวลและห่วงกังวลอยู่เสมอเกี่ยวกับตำแหน่งหน้าที่ในที่ทำงาน หรือเกี่ยวกับปัญหาในครอบครัวของเรา บนพื้นฐานของการยึดจับอัตลักษณ์ที่มั่นคงนั้นว่า “ฉันต้องประสบความสำเร็จ และจะทำให้พ่อแม่ หรือสังคมพอใจด้วยการประสบความสำเร็จ” เราพยายามปกป้องอัตลักษณ์นั้นโดยปฏิเสธว่ามีปัญหาความวิตกกังวลอยู่ เรากลายเป็นคนที่มีจิตใจปิดกั้นและหัวใจปิดกั้น ดังนั้น แม้ว่าความยากลำบากทุกอย่างอาจดำเนินไปในครอบครัวหรือในที่ทำงานของเรา แต่สิ่งเหล่านี้จะอยู่ภายใต้เปลือกนอกผิวเผินนั้น แล้วทุกคนก็แค่ทำหน้าให้ดูดี แม้ว่าข้างในจะมีความกังวลและความตึงเครียดเหล่านี้อยู่ก็ตาม ซึ่งต่อมาอาจระเบิดเป็นแรงกระตุ้นที่นำไปสู่ความรุนแรงที่มักจะพุ่งเป้าไปที่คนในครอบครัว หรือคนที่อยู่ในที่ทำงานของเรา ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับปัญหานั้นด้วยซ้ำ สิ่งนี้นำไปสู่ปัญหาอันใหญ่หลวงต่อไป

เหล่านี้คือกลไกต่าง ๆ ที่ก่อให้เกิดปัญหาซ้ำซากที่ไม่สามารถควบคุมได้ของเรา เราจะเห็นได้ว่านี่เป็นการจัดการกับอารมณ์ต่าง ๆ ของเรา และแน่นอนคำถามที่เกิดขึ้นนั้นก็คือว่า อารมณ์ทั้งหมดเป็นตัวก่อปัญหาใช่หรือไม่ อารมณ์ทั้งหมดเป็นสิ่งที่ทำให้เรามีปัญหาใช่หรือไม่

อารมณ์ที่สร้างสรรค์

เราจะต้องแยกความแตกต่างระหว่างอารมณ์บางอย่างที่เป็นอารมณ์เชิงบวกและสร้างสรรค์มาก ๆ เช่น ความรัก ความอบอุ่น ความชอบพอ ความอดกลั้น ความอดทน และความน้ำใจ กับอารมณ์เชิงลบหรือเชิงทำลาย เช่น ความปรารถนาอยากได้ ความเป็นศัตรู ความมีจิตใจที่ปิดกั้น ความทะนงตน ความเย่อหยิ่ง ความอิจฉาริษยา เป็นต้น ไม่มีคำว่าอารมณ์ในภาษาบาลี สันสกฤตหรือทิเบต เราสามารถพูดถึงสิ่งที่เป็นบวกหรือสิ่งที่เป็นลบ แต่ไม่มีคำทั่วไปที่ครอบคลุมทั้งสองอย่างนี้เหมือนที่เรามีในภาษาอังกฤษ

เมื่อเราพูดถึงอารมณ์ หรือทัศนคติบางอย่างที่เมื่อถูกสร้างขึ้นจะทำให้เรารู้สึกอึดอัด หรือไม่สบายใจ สิ่งเหล่านั้นอาจเป็นอารมณ์ที่รบกวนหรือทัศนคติที่รบกวนจิตใจ ตัวอย่างเช่น เราอาจมีความหลงใหล หรือหมกมุ่นอยู่กับบางสิ่ง หรือใครบางคน และนั่นทำให้เรารู้สึกไม่สบายใจอย่างมาก เราอาจจะวิตกกังวลมากที่จะได้รับความเคารพ หรือยึดจับเพื่อให้ได้มาซึ่งความรัก ความใส่ใจ หรือความเห็นชอบจากใครสักคนเพราะเรายึดติดกับคน ๆ นี้ และยึดติดความเห็นชอบของเขาหรือเธอ ฯลฯ ไว้ เพื่อที่จะทำให้เรารู้สึกมีคุณค่าและปลอดภัย สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในแง่อารมณ์ที่รบกวนของความปรารถนาอยากได้นั้น เมื่อใดก็ตามที่เราเป็นศัตรูกัน เราจะรู้สึกไม่สบายใจมาก หรือถ้าเรามีจิตใจที่ปิดกั้น นั่นก็เป็นความรู้สึกไม่สบายใจเช่นกัน ทัศนคติทั้งหมดนี้เป็นตัวสร้างปัญหา ดังนั้น เราจึงต้องแยกความแตกต่างของอารมณ์เชิงลบออกจากอารมณ์เชิงบวก ตัวอย่างเช่น ความรัก

ความรัก ในทางพระพุทธศาสนาเป็นอารมณ์เชิงบวกที่เราปรารถนาให้ผู้อื่นมีความสุขและมีสาเหตุต่าง ๆ ของความสุข สิ่งนี้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของเหตุผลที่ว่า เราทุกคนเท่าเทียมกัน และทุกคนต้องการมีความสุขเท่า ๆ กัน และไม่มีใครอยากมีปัญหา ทุกคนมีสิทธิที่จะมีความสุขเท่าเทียมกัน การดูแลและหวงแหนผู้อื่นเช่นเดียวกับที่เราทำกับตัวเองคือ ความรัก มันเป็นความห่วงใยที่จะให้ผู้อื่นมีความสุขโดยที่ไม่ได้ขึ้นอยู่กับสิ่งที่พวกเขาทำ มันเปรียบเสมือนความรักของแม่ที่ยังคงรักลูกแม้ขณะที่ทารกจะทำเสื้อผ้าเปื้อนหรืออาเจียนใส่เธอก็ตาม นั่นไม่ใช่เรื่องใหญ่โตอะไร แม่ไม่ได้หยุดรักลูกเพียงเพราะลูกป่วยและอาเจียนใส่เสื้อผ้าของเธอ แม่ก็ยังคงมีความห่วงใยเหมือนเดิมคือ ขอให้ลูกมีความสุข แต่ทว่า สิ่งที่เรามักเรียกว่า ความรัก คือการแสดงออกถึงการพึ่งพาหรือความต้องการ “ฉันรักคุณ” หมายถึง “ฉันต้องการคุณ อย่าทิ้งฉันไป ฉันอยู่ไม่ได้ถ้าไม่มีคุณ และคุณควรทำสิ่งนี้และสิ่งนั้น เป็นภรรยาที่ดีหรือสามีที่ดี ให้ดอกไม้ฉันในวันวาเลนไทน์เสมอ และทำในสิ่งที่ทำให้ฉันพอใจเท่านั้น ถ้าคุณไม่ทำ ตอนนี้ฉันก็จะเกลียดคุณเพราะคุณไม่ได้ทำในสิ่งที่ฉันต้องการให้คุณทำ คุณไม่อยู่ตรงนั้นเมื่อฉันต้องการคุณ”

ทัศนคติดังกล่าวเป็นอารมณ์ที่รบกวนจิตใจ และไม่ใช่แนวความคิดเรื่องความรักในทางพุทธศาสนา ความรักคือ ความห่วงใยใครบางคน ไม่ว่าคนนั้นจะส่งดอกไม้มาให้เราหรือไม่ ไม่ว่าคนนั้นจะฟังเราหรือไม่ ไม่ว่าคนนั้นจะใจดีและถูกใจเรา หรือทำตัวไม่ดีต่อเรา และแม้กระทั่งปฏิเสธเราหรือไม่ก็ตาม มันเป็นความห่วงใยที่จะให้พวกเขามีความสุข เราควรตระหนักว่า เมื่อเราพูดถึงความรักและอารมณ์ที่คล้ายกัน อาจจะมีทั้งแบบที่เป็นบวกและแบบที่รบกวนได้

ความโกรธเป็นอารมณ์ที่รบกวนจิตใจทุกครั้งที่เกิดขึ้น

ตอนนี้ เราจะมาพูดคุยถึง ความโกรธเป็นเรื่องท้ายสุด มันเกิดอะไรขึ้นกับความโกรธ ความโกรธเป็นอะไรบางอย่างที่รบกวนจิตใจอยู่ทุกครั้งที่เกิดขึ้น ไม่มีใครมีความสุขมากขึ้นจากการโกรธ มันไม่ได้ทำให้เรารู้สึกดีขึ้นที่จะโกรธ มันไม่ได้ทำให้อาหารของเรามีรสชาติดีขึ้น เมื่อเราโกรธและอารมณ์เสีย เราจะรู้สึกไม่สบายใจและนอนไม่หลับ เราไม่จำเป็นต้องทำให้มันเป็นเรื่องใหญ่โต กรีดร้อง และตะโกนออกมา แต่ถ้าข้างในเราโกรธมากเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นในที่ทำงาน หรือในครอบครัวของเรา มันอาจจะทำให้เรามีการย่อยอาหารที่ไม่ดี หรือเป็นแผลในกระเพาะอาหาร หรือเราไม่สามารถหลับได้ในตอนกลางคืน เราประสบกับความยากลำบากมากมายที่เกิดขึ้นเนื่องจากการกลั้นความโกรธเอาไว้ และถ้าเราแสดงความโกรธออกมาจริง ๆ และทำหน้าตาและอาการสั่นเท่าไม่เป็นมิตรมาก ๆ ต่อผู้อื่น แม้กระทั่งแมวและสุนัขก็ไม่อยากอยู่ใกล้เรา พวกมันจะค่อย ๆ คืบคลานไปเพราะมันรู้สึกอึดอัดกับการปรากฏตัวของเราที่มาพร้อมกับความโกรธของเรา

ความโกรธเป็นสิ่งที่ไม่มีประโยชน์เลยโดยแท้ ถ้าความโกรธของเรารุนแรงขึ้น หรือหงุดหงิดมากจนต้องระบายออกมาและเราระเบิด แล้วสบถใส่ใครบางคน หรือพ่นคำสาปชั่วร้ายใส่เขา สิ่งนี้จะทำให้เรารู้สึกดีขึ้นจริง ๆ หรือ มันทำให้เรารู้สึกดีขึ้นไหมที่เห็นคนอื่นเจ็บปวดและอารมณ์เสีย หรือเราโกรธมากจนรู้สึกว่าจะต้องชกฝาห้อง การชกฝาห้องจะทำให้เรารู้สึกดีขึ้นจริงหรือ ไม่ใช่อย่างแน่นอน มันเจ็บ แท้จริงแล้ว ความโกรธไม่ได้ช่วยเราแต่อย่างใดเลย ถ้าเราติดอยู่ในการจราจรและเราโกรธมากจนเริ่มบีบแตร กรีดร้อง และสาปแช่งทุกคน แล้วแบบนั้นมันดีตรงไหน นั่นทำให้เรารู้สึกดีขึ้นหรือไม่ นั่นทำให้รถเคลื่อนไปเร็วขึ้นหรือไม่ ไม่ มันก็แค่ทำให้เราเสียหน้าต่อหน้าคนอื่นเพราะพวกเขาจะพูดว่า "ใครกันที่งี่เง่าบีบแตรอยู่นี่" เห็นได้ชัดว่าสิ่งนี้จะไม่ช่วยสถานการณ์นั้นให้ดีขึ้นได้

เราจำเป็นต้องประสบกับความโกรธไหม

ถ้าอารมณ์ที่รบกวนจิตใจ เช่น ความโกรธ และพฤติกรรมที่หุนหันพลันแล่นบนพื้นฐานของอารมณ์เหล่านั้น เช่น การกรีดร้องและตะโกนใส่ใครบางคน หรือด้วยความเป็นศัตรูที่ปิดตัวเองจากใครบางคน หรือการปฏิเสธเขาหรือเธอ เป็นสาเหตุต่าง ๆ ของปัญหาของเรา เราจะมีปัญหากับสิ่งเหล่านั้นเสมอไปหรือไม่ นี่คือสิ่งที่เราต้องประสบอยู่เสมอใช่หรือไม่ ไม่ใช่ นั่นไม่จริง เพราะอารมณ์ที่รบกวนไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติของจิตใจ ถ้าเป็นเช่นนั้นแล้ว จิตใจของเราก็คงจะต้องถูกรบกวนอยู่เสมอ แม้แต่กับคนที่ถูกรบกวนจิตใจอย่างรุนแรงที่สุด ก็ยังมีขณะเวลาที่เราไม่ถูกรบกวนด้วยความโกรธ ตัวอย่างเช่น เมื่อเราหลับไปในที่สุด เราก็จะไม่รู้สึกโกรธ

ดังนั้น จึงเป็นไปได้ว่าจะมีบางขณะเวลาที่ไม่มีอารมณ์ที่รบกวน เช่น ความโกรธ ความเป็นศัตรู และความขุ่นเคืองใจเหล่านั้น นี่เป็นการพิสูจน์ว่า อารมณ์ที่เป็นไปในทางทำลายเหล่านี้ไม่ถาวร พวกมันไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติของจิตใจของเรา ดังนั้น พวกมันจึงเป็นสิ่งที่สามารถกำจัดได้ ถ้าเราหยุดสาเหตุของความโกรธ และไม่ใช่แค่เพียงผิวเผิน แต่ในระดับที่ลึกที่สุดได้ มันก็เป็นไปได้ที่จะเอาชนะความขุ่นเคือง และมีความสงบสุขทางจิตใจ

นี่ไม่ได้หมายความว่า เราควรกำจัดอารมณ์และความรู้สึกทั้งหมด และกลายเป็นเหมือนสป็อค (Spock) ในภาพยนตร์ชุด Star Trek กลายเป็นคนที่เหมือนหุ่นยนต์ หรือคอมพิวเตอร์ที่ไร้อารมณ์ แต่สิ่งที่เราต้องการคือ การกำจัดอารมณ์ที่รบกวน ทัศนคติที่รบกวนจิตใจที่มีพื้นฐานมาจากความสับสน และการขาดความตระหนักรู้เกี่ยวกับความเป็นจริงว่าเราเป็นใคร คำสอนทางพระพุทธศาสนามีวิธีการมากมายสำหรับการทำสิ่งนี้

การเอาชนะความโกรธ: การเปลี่ยนแปลงคุณภาพชีวิตของเรา

อันดับแรก เราจะต้องมีแรงจูงใจ หรือพื้นฐานบางอย่างที่จะกระตุ้นให้เราพัฒนาตัวเองเพื่อกำจัดความโกรธ รวมทั้งอารมณ์และทัศนคติที่รบกวนจิตใจทั้งหมดของเรา ถ้าเราไม่มีเหตุผลที่จะทำมันแล้ว เราจะทำไปทำไม ดังนั้น จึงสำคัญอย่างยิ่งที่จะต้องมีแรงจูงใจ

เราสามารถเริ่มสร้างแรงจูงใจดังกล่าวได้โดยคิดว่า “ฉันอยากมีความสุขและไม่ต้องการมีปัญหาใด ๆ ฉันต้องการปรับปรุงคุณภาพชีวิตของฉัน ชีวิตของฉันไม่น่าพอใจนัก เพราะฉันมักจะรู้สึกมีความขุ่นเคืองใจและความเป็นศัตรูกันอยู่ในตัวของฉัน บ่อยครั้งที่ฉันโกรธ บางที ฉันอาจจะไม่แสดงออก แต่มันอยู่ที่นั่น และมันทำให้ฉันรู้สึกเป็นทุกข์มาก อารมณ์เสียมากตลอดเวลา และมันก็ไม่ใช่คุณภาพชีวิตที่ดีนัก นอกจากนี้ มันยังทำให้ฉันมีการย่อยอาหารที่ไม่ดี และทำให้ฉันรู้สึกไม่สบาย ฉันไม่สามารถเพลิดเพลินกับอาหารที่ฉันชอบได้”

ท้ายที่สุด คุณภาพชีวิตของเราก็คือ สิ่งที่อยู่ในมือของเรานั่นเอง ข้อความที่ยิ่งใหญ่ที่สุดอย่างหนึ่งที่พระพุทธเจ้าสอนไว้คือ เราสามารถทำอะไรบางอย่างเกี่ยวกับคุณภาพชีวิตของเราได้ เราไม่ได้ถูกตราหน้าว่า ต้องใช้ชีวิตอย่างทุกข์ยากตลอดเวลา เราสามารถทำอะไรบางอย่างกับมันได้

ฉะนั้นแล้ว เราน่าจะคิดว่า “ไม่เพียงแต่ว่าฉันต้องการปรับปรุงคุณภาพชีวิตของฉันในตอนนี้ หรือในขณะเวลานี้ ในระยะสั้นเท่านั้น แต่ยังในระยะยาวด้วย ฉันไม่อยากปล่อยให้เรื่องมันเลวร้ายแย่ลงไปกว่านี้ ตัวอย่างเช่น เพราะถ้าฉันไม่กำจัดความเป็นศัตรูและความขุ่นเคืองใจของฉันตอนนี้ และถ้าฉันเก็บมันไว้ข้างใน มันจะแย่ลง และฉันอาจจะมีแผลพุพองได้ ฉันอาจจะระเบิด และทำอะไรบางอย่างที่น่ากลัว เช่น สบถหรือสาปแช่งใครบางคน และพยายามทำลายคน ๆ นั้น นั่นอาจนำไปสู่การตอบโต้จากอีกฝ่ายด้วยการสาปแช่งฉันและครอบครัว และทันใดนั้น เราก็จะมีบทละครที่สมบูรณ์แบบสำหรับวิดีโอหรือภาพยนตร์เรื่องใหม่"

หากเราคิดล่วงหน้าว่า นี่เป็นสิ่งที่เราไม่อยากให้เกิดขึ้น เราจะพยายามแก้ไข และพยายามกำจัดความโกรธเพื่อไม่ให้ปัญหาลุกลามบานปลาย นอกจากนี้ เราอาจปรารถนาไม่เพียงแค่ลดปัญหาของเราลง แต่จะดียิ่งขึ้นอีกที่จะกำจัดปัญหาทั้งหมดไปด้วย เพราะการรู้สึกถึงความเป็นศัตรูและความขุ่นเคืองใจแม้เพียงเล็กน้อยก็ไม่สนุกเลย “ฉันต้องพัฒนาความตั้งใจมั่นอย่างแรงกล้าที่จะเป็นอิสระจากปัญหาทั้งหมด”

ความตั้งใจมั่นที่จะเป็นอิสระ

โดยปกติ สิ่งที่ผมมักจะเรียกว่า "ความตั้งใจมั่นที่จะเป็นอิสระ" จะได้รับการแปลว่า "การเสียสละ" ซึ่งเป็นการแปลที่ค่อนข้างทำให้เข้าใจผิด มันมีแนวโน้มที่จะให้ความรู้สึกว่า เราควรยอมสละทุกสิ่งทุกอย่างและไปใช้ชีวิตอยู่ในถ้ำ นี่ไม่ใช่สิ่งที่เราเรียกกันที่นี่ สิ่งที่เรากำลังพูดคุยกันคือ การมองปัญหาของเราอย่างตรงไปตรงมาและกล้าหาญ และมองว่าการใช้ชีวิตร่วมกับมันเป็นเรื่องไร้สาระเพียงใด จึงตัดสินใจว่า “ฉันไม่อยากเป็นแบบนี้อีกต่อไป ฉันมีมันพอแล้ว ฉันเบื่อมัน ฉันเหนื่อยหน่ายกับมัน ฉันต้องออกไปจากมัน”

ทัศนคติที่จะพัฒนาในที่นี้คือ ความตั้งใจมั่นที่จะเป็นอิสระ พร้อมกับความเต็มใจที่จะสละรูปแบบความคิด คำพูด และพฤติกรรมแบบเก่าที่รบกวนจิตใจของเรา นี่สำคัญที่สุด หากเราไม่ได้ตัดสินใจอย่างแข็งขัน เราก็จะไม่ทุ่มเทพลังทั้งหมดลงไปในนั้น จนกว่าเราจะทุ่มเทพลังทั้งหมดลงไปในนั้น ความพยายามที่จะเป็นอิสระของเราก็จะเป็นแค่เพียงครึ่งใจ และเราก็จะไม่ไปไหนเลย เราอยากจะได้รับความสุข แต่จะไม่ยอมเลิกอะไรเลย เช่น นิสัยและอารมณ์เชิงลบของเรา นั่นก็จะไม่มีวันประสบความสำเร็จได้เลย ดังนั้น มันจึงเป็นเรื่องสำคัญมากที่จะต้องมีความตั้งใจมั่นอย่างแน่วแน่ในการตัดสินใจว่า จะต้องหยุดปัญหาเหล่านั้น และเต็มใจที่จะเลิกมันและเลิกสาเหตุของมันด้วย

ในระดับที่สูงขึ้นต่อไป เราจะต้องคิดว่า “ฉันต้องกำจัดความโกรธไม่ใช่แค่เพื่อหาความสุขให้ตัวเองเท่านั้น แต่ยังเพื่อประโยชน์ของคนอื่น ๆ รอบตัวฉันด้วย เพื่อเห็นแก่ครอบครัว เพื่อน เพื่อนร่วมงาน และสังคมของฉัน ฉันต้องกำจัดความโกรธของฉัน ฉันต้องเอาชนะสิ่งนี้โดยคำนึงถึงผู้อื่น ฉันไม่อยากทำให้พวกเขาเดือดร้อน และทำให้พวกเขาไม่มีความสุข มันจะไม่เพียงแต่ทำให้ฉันเสียหน้า ถ้าฉันแสดงความโกรธ แต่มันยังสร้างความอับอายให้กับครอบครัวของฉันอีกด้วย มันจะนำความอับอายมาสู่เพื่อนร่วมงานของฉัน และอื่น ๆ ด้วย ดังนั้น เมื่อโดยคำนึงถึงพวกเขาแล้ว ฉันจะต้องเรียนรู้ที่จะสามารถควบคุม และจัดการกับอารมณ์โกรธของฉัน และกำจัดมันให้ได้”

แรงจูงใจที่แข็งแกร่งกว่าเดิมเกิดจากการพิจารณาว่า “ฉันต้องกำจัดความโกรธนี้เพราะมันขัดขวางไม่ให้ฉันช่วยเหลือผู้อื่น หากคนอื่นต้องการความช่วยเหลือจากฉัน เช่น ลูก ๆ ของฉัน หรือคนในที่ทำงาน หรือพ่อแม่ของฉัน และถ้าฉันอารมณ์เสีย หรือถูกรบกวนจากความโกรธ หรือความเป็นศัตรูอย่างสิ้นเชิง ฉันจะช่วยพวกเขาได้อย่างไร” นั่นเป็นอุปสรรคสำคัญ ฉะนั้นแล้ว จึงเป็นเรื่องสำคัญมากที่จะต้องฝึกฝนตัวเองเพื่อพัฒนาแรงจูงใจในระดับต่าง ๆ เหล่านี้อย่างจริงใจ

ไม่ว่าวิธีการนั้นจะซับซ้อนเพียงใดเพื่อใช้จัดการกับความโกรธ หากเราไม่มีแรงจูงใจอย่างแรงกล้าที่จะใช้มัน เราก็จะไม่ทำมัน และถ้าเราไม่ใช้วิธีการที่เราเรียนรู้แล้ว จะเรียนเพื่ออะไร ดังนั้น ขั้นตอนแรกคือ การคิดในแง่ของแรงจูงใจ

วิธีการเอาชนะความโกรธ

อะไรคือวิธีที่แท้จริงที่เราสามารถใช้เพื่อเอาชนะความโกรธได้ ความโกรธหมายถึง สภาพจิตใจที่ปั่นป่วนกระวนกระวายที่ต้องการสร้างความรุนแรงต่อบางสิ่งบางอย่าง ไม่ว่าจะมีชีวิตหรือไม่มีชีวิตก็ตาม หากเรามุ่งความสนใจไปที่บุคคล สัตว์สถานการณ์ หรือวัตถุบางอย่าง แล้วเราไม่ชอบมัน และเราต้องการแสดงความรุนแรงและความปั่นป่วนกระวนกระวายใจต่อสิ่งนั้นเพื่อให้มันเปลี่ยนไปในทางที่ใช้ความรุนแรง นี่คือความโกรธ ดังนั้น ความโกรธจึงเป็นสภาวะของการไม่อดกลั้นและการขาดความอดทน รวมกับความปรารถนาที่จะทำร้ายทุกสิ่งที่เราไม่สามารถทนได้ สิ่งที่ตรงข้ามมันก็คือ ความอดทน ซึ่งตรงกันข้ามกับความไม่อดทน และในทางกลับกันก็คือ ความรัก เพราะความรักคือ การปรารถนาให้คนอื่นมีความสุข ความรักจึงตรงกันข้ามกับการปรารถนาให้คนอื่นได้รับอันตราย

บ่อยครั้งที่เราโกรธสถานการณ์ที่มีบางสิ่งเกิดขึ้นกับเราโดยที่เราไม่ชอบที่จะให้มันเกิดขึ้น ผู้คนไม่ได้ทำในแบบที่เราต้องการให้พวกเขาทำ ตัวอย่างเช่น พวกเขาไม่ได้แสดงความเคารพต่อเรา พวกเขาไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเราในที่ทำงาน หรือพวกเขาสัญญาว่าจะทำบางอย่างทางธุรกิจให้กับเรา แล้วพวกเขาก็ไม่ทำมัน เนื่องจากพวกเขาไม่ทำตามที่เราคาดหวังไว้ เราจึงโกรธพวกเขามาก อีกตัวอย่างหนึ่ง บางคนอาจเหยียบนิ้วเท้าเรา และเราก็โกรธเขาเพราะนั่นเป็นสิ่งที่เราไม่ชอบให้เกิดขึ้น แต่มีหลายวิธีที่เราสามารถจัดการกับสถานการณ์ดังกล่าวโดยไม่โกรธได้

คำแนะนำของท่านศานติเทวะ (Shantideva) สำหรับการปลูกฝังความอดทน

ท่านศานติเทวะ ปรมาจารย์ทางพระพุทธศาสนาชาวอินเดียผู้ยิ่งใหญ่ในศตวรรษที่แปดได้ให้แนวคิดไว้หลายแนวที่จะช่วยในเรื่องนี้ ผมขออนุญาตถอดความสิ่งที่ท่านเขียนไว้ คือท่านกล่าวว่า “ถ้าอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก มีบางอย่างที่เราสามารถทำได้เพื่อเปลี่ยนแปลงมัน ฉะนั้นแล้ว ทำไมต้องกังวลและโกรธ ก็แค่เปลี่ยนมันเท่านั้นเอง ถ้าไม่มีอะไรที่เราจะทำได้ แล้วจะไปกังวลและโกรธทำไม ถ้าไม่สามารถเปลี่ยนแปลงมันได้ ความโกรธก็จะไม่ช่วยอะไรเช่นกัน”

ตัวอย่างเช่น เราต้องการบินจากที่นี่ที่ปีนังไปยังสิงคโปร์ แต่เมื่อเราไปถึงสนามบิน เที่ยวบินนั้นถูกจองเกินจำนวนและตั๋วก็เต็มแล้ว มันก็ไม่มีประโยชน์ที่จะโกรธ ความโกรธมันไม่ได้ช่วยให้เราขึ้นเครื่องบินได้ อย่างไรก็ตาม มีบางอย่างที่เราสามารถทำได้เพื่อเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ เราสามารถขึ้นเครื่องบินเที่ยวถัดไปได้ จะโกรธทำไม ทำการจองเที่ยวบินถัดไป โทรศัพท์หาเพื่อนที่สิงคโปร์ และแจ้งว่าเราจะมาในภายหลังก็เป็นอันเสร็จสิ้น นี่คือสิ่งที่เราทำได้เพื่อจัดการกับปัญหานั้น ถ้าโทรทัศน์ของคุณเสีย ทำไมต้องโกรธแล้วเตะมันและสบถ ก็แค่ซ่อมมันเท่านั้นเอง นี่เป็นอะไรที่ชัดเจนมาก หากมีสถานการณ์ที่เราสามารถเปลี่ยนแปลงได้ ฉะนั้นแล้วก็ไม่จำเป็นต้องโกรธ เพียงแค่เปลี่ยนมันเท่านั้นเอง

ถ้าไม่มีอะไรที่เราจะสามารถทำได้เพื่อเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ เช่น ถ้าเราติดอยู่ในการจราจรที่คับคั่งในชั่วโมงเร่งด่วน เราก็ต้องยอมรับมันเท่านั้นเอง เราไม่มีปืนลำแสงเลเซอร์ที่ด้านหน้ารถของเราเพื่อยิงทำลายรถทุกคันที่อยู่ข้างหน้า หรือบินหนีไปอยู่เหนือการจราจรนั้นเหมือนในการ์ตูนญี่ปุ่น ดังนั้น เราจะต้องยอมรับมันอย่างสง่างามโดยคิดว่า “โอเค ฉันอยู่ในการจราจรนี้ ฉันจะเปิดวิทยุ หรือฉันจะใส่เทปลงไปฟังคำสอนทางพุทธศาสนา หรือดนตรีที่ไพเราะ” ส่วนใหญ่เรารู้ว่าเมื่อไหร่ที่เราจะต้องเจอกับการจราจรในชั่วโมงเร่งด่วน ดังนั้น เราจึงเตรียมตัวเราได้ด้วยการหยิบเทปเพื่อไปฟังในรถด้วย ถ้าเรารู้ว่าจะต้องขับรถในสภาพการจราจรดังกล่าว เราก็สามารถใช้เวลานั้นให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้ เราสามารถคิดถึงปัญหาบางอย่างในที่ทำงานของเรา หรือกับครอบครัวของเรา หรืออะไรก็ตาม และพยายามหาทางออกที่ดีให้กับสิ่งเหล่านั้น

หากไม่มีอะไรที่เราสามารถทำได้เพื่อเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ที่ยากลำบาก ฉะนั้นแล้ว เราแค่พยายามทำให้ดีที่สุดก็เท่านั้นเอง ถ้าเราทำให้นิ้วเท้าของเราได้รับบาดเจ็บในที่มืด ถ้าเรากระโดดขึ้นลงแล้วกรีดร้องและตะโกนด่าว่าสิ่งนั้นจะทำให้รู้สึกดีขึ้นไหม ในคำแสลงของชาวอเมริกัน เราเรียกสิ่งนั้นว่า “เต้นไปเจ็บไป” (doing a hurt dance) คุณเจ็บมากจนเต้นขึ้นลง กระโดดขึ้นลง  แต่นั่นจะไม่ทำให้รู้สึกดีขึ้น แทบไม่มีอะไรที่เราจะสามารถทำได้เลย สิ่งเดียวที่ต้องทำก็คือ ทำอะไรก็แล้วแต่ที่เรากำลังทำอยู่ต่อไป ความเจ็บปวดเป็นของไม่เที่ยง มันเป็นอะไรที่จะผ่านไป มันจะไม่คงอยู่ตลอดไป การกระโดดขึ้นลง การกรีดร้อง และการตะโกนจะไม่ทำให้เรารู้สึกดีขึ้น เราต้องการอะไร เราต้องการให้ทุกคนมาพูดว่า "โอ้ คุณน่าสงสารจัง คุณเจ็บนิ้วเท้า" ไหม หากทารกหรือเด็กทำให้ตัวเองบาดเจ็บ แม่ก็จะเข้ามาหาและหอมมัน แล้วจะทำให้รู้สึกดีขึ้น ดังนั้น เราจึงคาดหวังว่าผู้คนจะปฏิบัติต่อเราในลักษณะเดียวกันกับที่ปฏิบัติต่อทารกอย่างนั้นหรือ

ระหว่างที่กำลังรอคิว หรือรอขึ้นรถเมล์ ถ้าเราคิดถึงความไม่เที่ยง ฉันจะไม่ใช่อยู่ในคิวหมายเลข 32 หรือเลข 9 เสมอไป แต่ในที่สุดมันก็จะมาถึงตาของฉัน ซึ่งจะช่วยให้เราสามารถอดทนต่อสถานการณ์นั้นได้ และเราอาจใช้เวลานั้นในรูปแบบที่แตกต่างออกไป มีคำกล่าวในอินเดียว่า “การรอคอยมีความสุขในตัวของมันเอง” นี่เป็นเรื่องจริง เพราะถ้าเราต้องรอคิวหรือรอขึ้นรถเมล์ เราสามารถใช้เวลานั้นในการรับรู้ถึงคนอื่น ๆ ที่อยู่ในคิวหรือที่ป้ายรถเมล์ได้ สิ่งที่เกิดขึ้นในที่ทำงาน หรืออะไรก็ตาม มันจะช่วยให้เราพัฒนาความรู้สึกห่วงใยผู้อื่นและความเห็นอกเห็นใจได้ หากเราอยู่ที่นั่น เราเราน่าจะใช้เวลาอย่างสร้างสรรค์แทนที่จะใช้เวลาครึ่งชั่วโมงไปกับการสบถ

คำแนะนำอีกอย่างหนึ่งของท่านศานติเทวะบอกเราว่า “ถ้ามีใครตีเราด้วยไม้ เราจะโกรธใครดี เราจะโกรธคน ๆ นั้น หรือเราจะโกรธไม้” ถ้าเราคิดอย่างมีเหตุผล มันก็ควรจะเป็นไม้ที่เราโกรธเพราะมันเป็นไม้ที่ทำร้ายเรา! แต่นั่นมันงี่เง่า ไม่มีใครโกรธไม้ เราโกรธคน ๆ นั้น ทำไมเราถึงโกรธคน ๆ นั้น นี่เป็นเพราะไม้ถูกควบคุมโดยคนนั้น ในทำนองเดียวกัน ถ้าเราคิดต่อไป บุคคลนั้นก็ถูกควบคุมโดยอารมณ์ที่รบกวนจิตใจของเขาหรือเธอด้วยเช่นกัน ดังนั้น หากเรากำลังจะโกรธ เราก็ควรโกรธอารมณ์ที่รบกวนจิตใจของบุคคลนี้ที่ทำให้เขาหรือเธอตีเราด้วยไม้

แล้วเราก็จะคิดว่า “อารมณ์ที่รบกวนนี้มาจากไหน มันไม่ได้เกิดขึ้นมาจากที่ไหนก็ไม่รู้ ฉันต้องไปทำอะไรบางอย่างที่กระตุ้นให้มันเกิดขึ้น ฉันต้องไปทำอะไรบางอย่างที่ทำให้อีกฝ่ายโกรธฉัน แล้วจึงตีฉันด้วยไม้ เหมือนกัน ฉันอาจจะขอให้ใครบางคนช่วยฉัน และเมื่อเขาหรือเธอปฏิเสธ ฉันก็โกรธ ฉันได้รับความเจ็บเพราะสิ่งนั้น ถ้าฉันคิดเกี่ยวกับเรื่องนี้ มันเป็นความผิดของฉันเอง ฉันขี้เกียจเกินไป และไม่ได้ทำมันด้วยตัวเอง ฉันขอให้คนอื่นช่วยฉัน และเมื่อเขาหรือเธอปฏิเสธ ฉันก็โกรธ ถ้าตัวฉันเองไม่ขี้เกียจขนาดนี้ ฉันก็คงจะไม่ขอให้คน ๆ นี้ช่วยฉัน และปัญหาทั้งหมดก็คงจะไม่มีทางเกิดขึ้นเลย ถ้าฉันจะโกรธ ฉันก็ควรจะโกรธตัวเองที่ทำตัวงี่เง่าและขี้เกียจจึงขอให้คน ๆ นี้ช่วยฉัน”

แม้ว่าบางส่วนมันจะไม่ใช่ความผิดของเรา แต่เราก็ต้องดูว่าตัวเราเองนั้นเป็นอิสระจากอารมณ์ที่รบกวนนี้ที่กำลังชักใยอีกฝ่ายอยู่หรือไม่ เช่น ความเห็นแก่ตัว “เขาปฏิเสธไม่ช่วยฉัน ถ้างั้น ฉันมักจะช่วยคนอื่นอยู่เสมอหรือไม่ ฉันเป็นคนที่ยินยอมช่วยเหลือผู้อื่นอยู่เสมอ และทำเช่นนั้นทันทีหรือไม่ ถ้าฉันไม่เป็นคนแบบนั้นแล้ว ทำไมฉันต้องคาดหวังว่าคนอื่น ๆ มักจะพยายามอย่างมากที่จะทำบางอย่างเพื่อฉันเสมอ” นี่เป็นอีกวิธีหนึ่งในการจัดการกับความโกรธ

ผมได้กล่าวไว้ก่อนหน้านี้แล้วว่า ความโกรธไม่จำเป็นต้องแสดงออกผ่านการตะโกน กรีดร้อง หรือตีคนอื่นเสมอไป ความโกรธเป็นอารมณ์ที่รบกวนจิตใจ ซึ่งโดยคำจำกัดความแล้ว เมื่อมันเกิดขึ้น มันจะทำให้เรารู้สึกไม่สบายใจ ดังนั้น แม้ว่าเราจะเก็บมันไว้ข้างใน และไม่เคยแสดงออกเลย แต่ความโกรธจะทำลายเราอยู่ภายในอย่างมาก และจะทำให้เราอารมณ์เสียมาก ต่อมา มันก็จะออกมาในทางที่ทำลายล้างมาก เราจำเป็นต้องใช้วิธีการเดียวกันกับที่ผมเพิ่งอธิบายไปเพื่อที่จะสามารถจัดการกับความโกรธที่เก็บไว้ไม่แสดงออกมาภายในตัวเราได้ เราต้องเปลี่ยนทัศนคติของเรา เราต้องพัฒนาความอดทน

ความอดทนประเภทต่าง

ประเภทของความอดทนตามเป้าหมาย

ความอดทนมีหลายประเภท ประเภทแรกคือ ประเภทของความอดทนตามเป้าหมาย แนวคิดก็คือ ถ้าคุณไม่ได้ตั้งเป้าไว้ ก็ไม่มีใครจะยิงไปที่มัน ในอเมริกาเด็ก ๆ มีอุบายเล่นกัน พวกเขาปักหรือแปะกระดาษด้านหลังกางเกงของเพื่อน บนกระดาษเขียนว่า "เตะฉัน" และนี่เรียกว่าเครื่องหมาย "เตะฉัน" แล้วใครก็ตามที่เห็นว่า "เตะฉัน" ที่ก้นของเด็กคนนี้ก็จะเตะเด็กคนนี้ เหมือนกัน ด้วยความอดทนประเภทนี้ เราจึงคิดว่าเราได้ปักเครื่องหมาย "เตะฉัน" ไว้ที่ก้นของเราเองผ่านการกระทำเชิงลบและเป็นไปในทางทำลายในอดีต และนี่คือสิ่งที่ทำให้เกิดปัญหาทุกประเภทแก่เราอยู่ในตอนนี้

ตัวอย่างเช่น สมมติว่าเราถูกปล้นบนถนน เราจะคิดว่า “ถ้าฉันไม่ได้ตั้งเป้านั้นไว้จากการกระทำในแง่ลบและเป็นไปในทางทำลายในอดีต หรือในชาติก่อน แรงกระตุ้นก็คงไม่เกิดขึ้นในใจของฉันที่จะให้ไปตามถนนที่มืดมิดในเวลานั้นเมื่อมีโจรดักรอที่จะปล้นฉันและทุบตีฉัน ปกติฉันไม่ไปที่นั่น แต่คืนนั้น ฉันคิดว่าฉันจะไปตามถนนที่มืดมิดนั้น ฉันมักจะกลับบ้านเร็วกว่าปกติมาก แต่คืนนั้น มีแรงกระตุ้นที่ทำให้ฉันอยู่กับเพื่อนนานต่อไปอีกหน่อย นอกจากนี้ ฉันยังไปตามถนนสายนั้นในช่วงเวลานั้นเมื่อมีโจรรอดักใครสักคนที่จะผ่านมาที่นั่น ทำไมแรงกระตุ้นนั้นถึงเข้ามาในหัวฉัน คงเป็นเพราะในอดีต ฉันเคยทำอะไรบางอย่างที่ทำร้ายคน ๆ นี้ และตอนนี้สิ่งนั้นมันก็สุกงอมเต็มที่ในแง่ของเหตุและผลแล้ว”

แรงกระตุ้นมาสู่จิตใจของเราเป็นการแสดงออกของกรรม ดังนั้น เราจึงคิดได้ว่า “ฉันกำลังทำให้กรรมด้านลบในอดีตของฉันหมดสิ้นไป ฉันควรจะมีความสุขมากที่ได้ขจัดออกไปอย่างเบา ๆ เพราะมันอาจจะแย่กว่านี้มาก คนนี้ก็แค่ปล้นฉัน แต่เขาก็อาจจะยิงฉันได้ด้วย ดังนั้น ฉันควรจะรู้สึกโล่งใจมากที่ตอนนี้สิ่งที่เป็นด้านลบนี้ได้สุกงอมอย่างเบา ๆ และฉันก็ทำมันเสร็จแล้ว สุดท้ายแล้ว มันก็ไม่ได้เลวร้ายนัก และมันก็เป็นการดีที่จะกำจัดมันออกไปจากฉัน ฉันไม่มีหนี้กรรมนี้อีกต่อไป”

การคิดแบบนี้มีประโยชน์มาก ผมจำได้ว่า ครั้งหนึ่งผมไปเที่ยวทะเลกับเพื่อนในวันหยุดสุดสัปดาห์ เราต้องขับรถหลายชั่วโมง มันเป็นการขับรถจากตัวเมืองที่ใช้เวลานาน หลังจากเราขับรถมาประมาณชั่วโมงครึ่ง เราก็ได้ยินเสียงแปลก ๆ ดังมาจากรถ เราจึงขับรถเข้าข้างทางหาช่างซ่อมที่สถานีริมถนน ช่างมาดูรถ แล้วบอกว่ามีรอยแตกที่เพลา และเราก็ไปต่อไม่ได้ เราต้องเอารถลากเพื่อลากรถเรากลับไปที่เมืองใหญ่ เพื่อนของผมและผมอาจจะโกรธและอารมณ์เสียมาก เพราะเราต้องการไปที่รีสอร์ทริมชายหาดที่สวยงามแห่งนี้เพื่อพักผ่อนในช่วงสุดสัปดาห์ แต่ด้วยทัศนคติที่แตกต่างจากนั้นอย่างสิ้นเชิง คือคิดว่า “ว้าว นี่มันเป็นสิ่งที่วิเศษมาก! มันดีแค่ไหนที่สิ่งนี้เกิดขึ้น เพราะถ้าเราขับต่อไป แล้วเพลาเกิดเสียขึ้นมาในขณะที่เราขับรถอยู่ เราอาจประสบอุบัติเหตุร้ายแรงและเสียชีวิตทั้งคู่ก็ได้ มันช่างยอดเยี่ยมเพียงใดที่ได้ทำให้มันเกิดขึ้นในแบบนี้ เราออกมาจากมันได้ง่ายมาก" ดังนั้น ด้วยความสบายใจ เราจึงนั่งรถลากกลับไปที่เมือง และเมื่อไปถึงที่นั่น เราก็ไปยืมรถคันอื่น แล้วก็เปลี่ยนไปใช้แผนอื่นแทน

คุณจะเห็นว่า มีหลายวิธีที่เราอาจประสบกับสถานการณ์แบบนั้นได้ การโกรธและอารมณ์เสียจะไม่ช่วยอะไรเลย หากเรามองในแง่ที่ว่า “นี่เป็นการทำลายกรรมด้านลบในอดีตของฉัน ตอนนี้ หนี้กรรมนี้สุกงอมแล้ว ช่างวิเศษมาก มันจบแล้ว มันอาจแย่กว่านี้มาก” นี่เป็นวิธีจัดการกับสิ่งนั้นได้อย่างปกติมีเหตุมีผลกว่ามาก

ประเภทของความอดทนบนความรักและความเห็นอกเห็นใจ

นอกจากนี้ ยังมีความอดทนประเภทหนึ่งที่เรียกว่า “ความอดทนด้วยความรักและความเห็นอกเห็นใจ” ด้วยความอดทนประเภทนี้ เราถือว่าใครก็ตามที่โกรธเรา หรือตะโกนและกรีดร้องใส่เราเหมือนคนบ้า หรือเป็นคนที่ถูกรบกวนทางจิตใจ ความอดทนประเภทนี้ยังสามารถประยุกต์ใช้กับคนที่ทำให้เราอับอาย หรือวิพากษ์วิจารณ์เราต่อหน้าคนอื่นได้ด้วย ซึ่งทำให้เราเสียหน้าและเราจะโกรธพวกเขา ตัวอย่างเช่น ถ้านกแก้วพูดดูถูกเราต่อหน้าคนอื่น นั่นจะไม่ทำให้เราเสียหน้าใช่หรือไม่ ไม่มีเหตุผลที่จะไปโกรธนก มันคงเป็นปฏิกิริยาตอบโต้ที่โง่เขลา ในทำนองเดียวกัน ถ้าคนบ้าเริ่มตะโกนและกรีดร้องใส่เรา จริง ๆ แล้ว เราก็คงจะไม่เสียหน้า ทุกคนรู้ดีว่าเด็ก ๆ มักจะแสดงอารมณ์ฉุนเฉียวเกรี้ยวกราดเป็นครั้งคราว นอกจากนี้ จิตแพทย์ก็จะไม่โกรธผู้ป่วยเมื่อผู้ป่วยโกรธ แต่จะรู้สึกเห็นอกเห็นใจผู้ป่วยมากกว่า

ในทำนองเดียวกัน เราควรจะพยายามรู้สึกสงสารใครก็ตามที่ทำให้เราอารมณ์เสีย โกรธเรา หรือทำให้เราอับอาย เราจำเป็นต้องรู้ว่าแท้จริงแล้วพวกเขาเป็นคนที่เสียหน้าใช่หรือไม่ เราไม่ใช่คนที่เสียหน้า ทุกคนมองว่าคน ๆ นี้เป็นคนที่ทำตัวงี่เง่าเองโดยสิ้นเชิง เราจึงควรรู้สึกเห็นอกเห็นใจคน ๆ นี้ แทนที่จะโกรธ

นี่ไม่ได้หมายความว่า หากมีใครพยายามตีเรา เราจะไม่พยายามหยุดเขา หากลูกของเรากำลังกรีดร้อง เราจะพยายามทำให้ลูกเงียบลง เราต้องการหยุดไม่ให้เขาทำอันตรายเราหรือผู้อื่น และทำร้ายตัวเอง ประเด็นคือ อย่าทำมันด้วยความโกรธ ถ้าลูกของเราทำตัวดื้อซน เราก็จะอบรมลูกไม่ใช่ด้วยความโกรธแต่เพื่อเห็นแก่ตัวเด็กเอง เราอยากจะช่วยลูกไม่ให้เสียหน้า และไม่อยากให้มีคนคิดไม่ดีกับลูกของเรา เราต้องการสร้างวินัยให้ลูกด้วยความเป็นห่วงไม่ใช่จากความโกรธ

ประเภทความอดทนแบบครูกับลูกศิษย์

จากนั้นก็มี “ความอดทนประเภทครูกับลูกศิษย์ สิ่งนี้มาจากข้อเท็จจริงที่ว่า ลูกศิษย์ไม่สามารถเรียนรู้ได้หากไม่มีครู ดังนั้น หากไม่มีใครทดสอบเรา เราก็จะไม่สามารถพัฒนาความอดทนได้ ในศตวรรษที่สิบ ท่านอติศะ (Atisha) ปรมาจารย์ชาวอินเดียผู้ยิ่งใหญ่ได้รับนิมนต์ให้ไปทิเบตเพื่อช่วยฟื้นฟูพระพุทธศาสนาที่นั่น ปรมาจารย์ชาวอินเดียท่านนี้พาพ่อครัวชาวอินเดียมาด้วย พ่อครัวชาวอินเดียไม่เคยทำอะไรอย่างถูกต้องหรือด้วยความเคารพเลย เขาเป็นคนที่น่ารังเกียจและไม่น่าพอใจอย่างมาก ชาวทิเบตนับถือท่านอติศะมากจึงถามท่านว่า “อาจารย์ทำไมถึงนำพ่อครัวที่น่ารังเกียจคนนี้มาจากอินเดียด้วย ทำไมท่านไม่ส่งเขากลับไปเสีย เราสามารถทำอาหารให้ท่านได้ เราทำอาหารได้ดีมาก” ท่านอติศะตอบพวกเขาว่า “โอ้ เขาไม่ใช่เป็นแค่พ่อครัวของฉัน ฉันพาเขามาด้วยเพราะเขาเป็นครูแห่งความอดทนของฉัน!”

ในทำนองเดียวกัน ถ้ามีใครสักคนในที่ทำงานของเราที่ทำตัวน่ารังเกียจ และมักจะพูดในสิ่งที่สร้างความรำคาญให้กับเรา เราสามารถมองบุคคลนี้เป็นครูแห่งความอดทนของเราได้ มีบางคนที่มีนิสัยที่น่ารำคาญมาก เช่น ชอบเคาะนิ้วเป็นจังหวะซ้ำ ๆ อยู่เสมอ ถ้าไม่มีใครทดสอบเรา เราจะพัฒนาตัวเองได้อย่างไร หากเราพบสถานการณ์ที่ยากลำบาก เช่น ความล่าช้าเป็นเวลานานที่สนามบิน หรือที่สถานีขนส่ง เราสามารถใช้โอกาสนี้เป็นโอกาสทองในการปฏิบัติความอดทนได้ “ฮ้า! ฉันกำลังฝึกทำสิ่งนี้อยู่ ฉันได้รับการฝึกฝนเพื่อปลูกฝังความอดทน และตอนนี้ก็เป็นโอกาสของฉันที่จะดูว่า ฉันทำได้จริงหรือไม่” หรือหากเราประสบปัญหาในการขอแบบฟอร์มราชการจากสำนักงาน เราจะถือว่านี่เป็นความท้าทายสำหรับเรา “นี่เหมือนกับตอนที่ฉันกำลังฝึกศิลปะการต่อสู้มาได้สักระยะหนึ่ง และในที่สุดฉันก็มีโอกาสใช้ทักษะของตัวเอง ฉันรู้สึกยินดี” ในทำนองเดียวกัน หากเราฝึกฝนตนเองให้มีความอดทนและอดกลั้นเมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่น่ารังเกียจเช่นนี้ เราจะมองดูมันด้วยความยินดีอย่างยิ่ง “ฮ้า! นี่คือความท้าทาย มาดูกันว่า ถ้าฉันสามารถจัดการมันได้ และจะไม่โมโห ไม่โกรธ แม้แต่ถึงขนาดว่าจะไม่รู้สึกแย่อยู่ภายในได้หรือไม่”

การไม่สูญเสียความอดทนของเราเป็นความท้าทายที่ยิ่งใหญ่กว่าการเผชิญหน้าในศิลปะการต่อสู้ นี่เป็นเพราะเราต้องพบกับความท้าทายทางจิตใจของเรา ด้วยความรู้สึกของเรา ไม่ใช่แค่ด้วยร่างกายและการควบคุมร่างกายเท่านั้น หากคนอื่นวิจารณ์เรา เราจะต้องพยายามมองคำวิจารณ์นี้เป็นโอกาสเพื่อจะดูว่า เราอยู่ตรงจุดไหนในการพัฒนาแทนที่จะรู้สึกโกรธกับเรื่องนี้ “คนที่วิจารณ์ฉันคนนี้อาจจะกำลังชี้ให้เห็นบางสิ่งเกี่ยวกับตัวฉัน ซึ่งบางทีฉันก็อาจเรียนรู้จากมันได้” ในแง่นี้ เราจึงต้องพยายามอดทนต่อคำวิพากษ์วิจารณ์ และเรียนรู้วิธีจัดการกับมันโดยการเปลี่ยนทัศนคติของเรา ถ้าเราอารมณ์เสียมาก มันอาจทำให้เราเสียหน้ามากกว่าถ้าคนบ้าบางคนเพียงแค่วิพากษ์วิจารณ์และตะโกนใส่เราเท่านั้น

ความอดทนกับธรรมชาติของสิ่งต่าง

อีกวิธีหนึ่งในการจัดการกับความโกรธ และการพัฒนาความอดทนคือ “ความอดทนต่อธรรมชาติของสิ่งต่าง ๆ” มันเป็นธรรมชาติของคนที่ทำตัวเหมือนเด็กที่จะทำไม่ดีและหยาบคาย ถ้ามีไฟ ธรรมชาติของมันคือ ต้องร้อนและไหม้ ถ้าเราเอามือแหย่เข้าไปในกองไฟนี้ และถูกไฟไหม้แล้ว เราจะคาดหวังอะไรหรือ ไฟมันร้อน นั่นคือสาเหตุที่ไฟลุกไหม้ ถ้าเราขับรถข้ามเมืองในช่วงอาหารกลางวันแล้ว เราจะคาดหวังอะไรหรือ มันเป็นช่วงเวลาทานอาหารกลางวัน และมันก็จะมีการจราจรที่คับคั่ง ซึ่งเป็นธรรมชาติของสิ่งต่าง ๆ ถ้าเราขอให้เด็กเล็ก ๆ ถือถาด หรือชาร้อนสักถ้วย แล้วเขาทำมันหก เราจะคาดหวังอะไรหรือ เขาเป็นเด็กและเราไม่สามารถคาดหวังได้ว่าเด็กจะไม่ทำอะไรหก ในทำนองเดียวกัน ถ้าเราขอให้คนอื่นช่วยเหลือเรา หรือทำบางอย่างเพื่อธุรกิจของเรา เราทำข้อตกลงร่วมกัน แล้วพวกเขาก็บอกเลิกเรา แล้วเราจะคาดหวังอะไรหรือ คนเราก็เหมือนเด็ก เราไม่สามารถพึ่งคนอื่นได้ ท่านศานติเทวะปรมาจารย์ชาวอินเดียผู้ยิ่งใหญ่กล่าวว่า “ถ้าท่านต้องการทำสิ่งที่เป็นบวกและสร้างสรรค์ให้ทำด้วยตัวเอง อย่าพึ่งพาคนอื่น นี่เป็นเพราะถ้าต้องพึ่งพาคนอื่น ท่านก็จะไม่มีความมั่นใจเลยว่า เขาหรือเธอจะไม่ทำให้ท่านเสียแผนและผิดหวัง” นี่คือวิธีการที่เรามองดูสถานการณ์ดังกล่าว “ฉันคาดหวังอะไรหรือ ถ้ามันเป็นธรรมชาติของคนที่จะทำให้คนอื่นเสียแผน ก็ไม่มีเหตุผลที่ฉันจะโกรธ”

ความอดทนประเภทขอบเขตที่เป็นจริง

วิธีสุดท้ายที่จะใช้เพื่อต่อสู้กับความโกรธเรียกว่า “ความอดทนประเภทขอบเขตที่เป็นจริง” เพื่อดูว่าเกิดอะไรขึ้นจริง ๆ เรามักจะติดป้ายชื่อตัวเอง คนอื่น และสิ่งต่าง ๆ ด้วยอัตลักษณ์ที่แข็งแรงมั่นคง มันเหมือนกับการวาดเส้นทึบขนาดใหญ่ไว้ในจินตนาการของเราในบางแง่มุมของตัวเรา และฉายภาพในแง่มุมนี้ว่า นั่นคืออัตลักษณ์ที่มั่นคงของเรา “นี่คือสิ่งที่ฉันเป็น นี่คือสิ่งที่ฉันต้องเป็นอยู่เสมอ” ตัวอย่างเช่น “ฉันเป็นของขวัญจากพระเจ้าที่จะให้กับโลกใบนี้” หรือ “ฉันเป็นผู้แพ้ ผู้ที่ล้มเหลว” หรือเราวางเส้นทึบขนาดใหญ่รอบ ๆ คนอื่นแล้วพูดว่า “เขาน่ารังเกียจ เขาไม่ดี เขาเป็นตัวสร้างปัญหา” อย่างไรก็ตาม หากนั่นคือตัวตนที่แท้จริงและมั่นคงของบุคคลนี้ เขาก็คงจะต้องมีตัวตนในลักษณะนี้เสมอ เขาคงจะต้องอยู่ในลักษณะนี้เช่นเดียวเมื่อยังเป็นเด็กเล็ก ๆ เขาคงจะต้องเป็นที่น่ารังเกียจสำหรับทุกคน สำหรับภรรยา สุนัข แมว และพ่อแม่ของเขา เพราะเขาเป็นคนที่น่ารังเกียจอย่างแท้จริง

ถ้าเราสามารถมองเห็นได้ว่า ผู้คนไม่มีตัวตนด้วยเส้นทึบขนาดใหญ่ล้อมรอบตัวพวกเขาที่  วาดภาพอัตลักษณ์ หรือธรรมชาติ ที่เป็นรูปธรรมแท้จริงของพวกเขา เช่นเคย นั่นก็จะทำให้เราคลายความกังวลได้อีกครั้ง และเราจะไม่โกรธพวกเขามากนัก เรามองเห็นว่าคน ๆ นี้ทำตัวน่ารังเกียจเป็นเพียงแค่เหตุการณ์ที่ผ่านไป แม้ว่าจะเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งก็ตาม และไม่ยึดถือเป็นแบบที่เขาต้องเป็นเสมอไป

การพัฒนานิสัยที่เป็นประโยชน์

มันอาจจะไม่ง่ายนักที่จะประยุกต์ใช้ข้อแนะนำเหล่านี้ทั้งหมดในสถานการณ์ที่ยากลำบาก  วิธีการให้เหตุผลต่าง ๆ เหล่านี้เรียกว่า "มาตรการป้องกัน" นี่คือวิธีที่ผมแปลคำว่า พระธรรม” “พระธรรม” เป็นมาตรการที่เราใช้เพื่อป้องกันปัญหาต่าง ๆ  เราต้องการที่จะป้องกันไม่ให้โกรธโดยพยายามสร้างความอดทนประเภทต่าง ๆ เหล่านี้ให้เป็นนิสัยที่เป็นประโยชน์ นั่นคือ “การทำสมาธิ”  คำภาษาทิเบตสำหรับการทำสมาธิมาจากคำว่า “ทำบางสิ่งให้เป็นนิสัย” เพื่อทำให้เราคุ้นเคยกับบางสิ่งที่เป็นประโยชน์

อันดับแรก เราจำเป็นต้องฟังคำอธิบายต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับความอดทนประเภทต่าง ๆ เหล่านี้เสียก่อน จากนั้น เราจำเป็นต้องคิดเกี่ยวกับสิ่งเหล่านั้นเพื่อที่เราจะได้ทำความเข้าใจมัน และดูว่าสิ่งนั้นมันสมเหตุสมผลหรือไม่ หากสิ่งนั้นมีเหตุมีผล และเราเข้าใจมัน และเราก็มีแรงจูงใจที่จะต้องการนำไปใช้ เราก็จะพยายามสร้างสิ่งนั้นให้เป็นนิสัยที่เป็นประโยชน์โดยการฝึกซ้อมและปฏิบัติสิ่งนั้น

สิ่งนี้ทำได้โดยการทบทวนข้อแนะนำเหล่านี้ก่อน หลังจากที่เราทบทวนแล้ว เราต้องพยายามที่จะมองเห็นและรู้สึกถึงสิ่งต่าง ๆ ในลักษณะนั้น เราจะต้องนึกภาพสถานการณ์ในใจโดยใช้จินตนาการของเรา เราสามารถจินตนาการถึงสถานการณ์ที่เรามักจะโกรธและอารมณ์เสีย ตัวอย่างเช่น บางคนในที่ทำงานของเราอาจทำสิ่งที่เราไม่ชอบ ขั้นแรก เราพยายามมองคน ๆ นี้อย่างที่เขาเป็นในฐานะมนุษย์คนหนึ่งที่ต้องการมีความสุขและไม่ต้องการมีความทุกข์ แม้ว่าเขาจะพยายามเต็มที่ แต่เขาก็ยังเหมือนเด็กและก็ไม่รู้ว่ากำลังทำอะไรอยู่ ถ้าเราพยายามมองเห็นและรู้สึกแบบนี้กับเขา และเราฝึกซ้อมสิ่งนั้นในใจขณะนั่งเงียบ ๆ อยู่ที่บ้าน ยิ่งเราทำสิ่งนี้มากเท่าไหร่ เราก็จะตอบสนองในทางบวกได้ง่ายขึ้นเมื่อเราอยู่ในที่ทำงานและเขาคนนั้นเริ่มทำตัวน่ารังเกียจ แทนที่จะเป็นแรงกระตุ้นให้โกรธเขา แรงกระตุ้นใหม่จะเข้ามาในจิตใจของเรานั่นคือ แรงกระตุ้นที่มีความอดทนมากขึ้น อดกลั้นมากขึ้น

เมื่อฝึกเห็นเขาเป็นเหมือนเด็กเพื่อพัฒนาความอดทนกับพฤติกรรมดื้อซนของเขาแล้ว เราก็จะสามารถก้าวไปอีกขั้นหนึ่งได้ เราจะเห็นได้ว่า เมื่อเขาทำในสิ่งที่น่ารังเกียจเช่นนี้ เขาจะเป็นคนที่กำลังเสียหน้า ดังนั้น เราจึงพัฒนาความเห็นอกเห็นใจให้เขา เราสามารถสร้างนิสัยเพื่อที่จะมองเห็นและรู้สึกแบบนี้ได้ด้วยการทำสมาธิ เมื่อมองดูและรู้สึกด้วยความอดทนกลายเป็นนิสัยที่เป็นประโยชน์ มันก็จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของเรามากขึ้นเรื่อย ๆ มันจะกลายเป็นวิธีธรรมชาติของเราในการตอบสนองต่อสถานการณ์ที่ยากลำบากที่เราต้องเผชิญ เมื่อมีแรงกระตุ้นเกิดขึ้นในใจของเราที่จะโกรธ มันก็จะมีพื้นที่ว่าง เราจะไม่แสดงออกในทันที และจะมีแรงกระตุ้นเชิงบวกมากขึ้นเพื่อแสดงออกในทางที่เป็นประโยชน์มากขึ้น

ในการบรรยายเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา เรามักจะมุ่งเน้นไปที่ความรู้สึกของการหายใจ และนับลมหายใจถึงยี่สิบเอ็ดตอนที่เริ่มพูดในแต่ละครั้ง การปฏิบัตินี้ยังมีประโยชน์มากเมื่อเราสังเกตว่าตัวเองกำลังเริ่มโกรธ มันสร้างพื้นที่ว่างที่เราจะไม่แสดงแรงกระตุ้นเชิงลบที่จะพูดสิ่งที่โหดร้ายในทันที และทำให้มีพื้นที่ว่างในการพิจารณาใหม่หากเราต้องการที่จะโกรธและอารมณ์เสีย เราจะคิดว่า “ฉันต้องการทำให้มันเป็นเรื่องขึ้นมาจริง ๆ หรือมีวิธีที่ดีกว่านี้ในการจัดการสถานการณ์นี้” ผลมาจากการทำสมาธิและการสร้างนิสัยที่เป็นประโยชน์มากขึ้นจะทำให้เราเห็นสถานการณ์ต่าง ๆ ด้วยความอดทนมากขึ้น และจะรู้สึกอดทนต่อสถานการณ์เหล่านั้นมากขึ้น ทางเลือกที่เป็นบวกมากขึ้นจะเข้ามาในหัวของเรา และเราจะเลือกทางเลือกเหล่านั้นโดยธรรมชาติเนื่องจากเราต้องการมีความสุข และเรารู้ว่าทางเลือกเหล่านี้จะนำผลลัพธ์นั้นมาให้เรา

ในการทำเช่นนี้ เราจะต้องมีสมาธิ นั่นคือเหตุผลว่าทำไมจึงมีวิธีการทำสมาธิในแบบต่าง ๆ มากมายในทางพระพุทธศาสนาเพื่อพัฒนาสมาธิ วิธีการเหล่านี้ไม่ใช่เพียงแค่เรียนรู้การปฏิบัติในเชิงนามธรรมเท่านั้น การปฏิบัติวิธีการต่าง ๆ นั้นก็เพื่อที่จะนำไปใช้และประยุกต์ใช้ เราจะนำมันไปประยุกต์ใช้เมื่อไหร่ เราจะประยุกต์ใช้มันในสถานการณ์ที่ยากลำบากเมื่อเราต้องเผชิญกับคนที่น่ารังเกียจหรือสภาพที่น่ารังเกียจ มันจะช่วยให้เรามีสมาธิในการรักษาจิตใจให้อดทน

บทสรุป

เราไม่ได้สํารวมตัวเองจากพฤติกรรมเชิงลบและเป็นไปในทางทำลายเพียงแค่ใช้การควบคุมตนเองและระเบียบวินัยเท่านั้น ถ้าเราทำสิ่งนี้ด้วยการควบคุมตนเองและมีวินัยเพียงเท่านั้น ความโกรธก็ยังคงอยู่ในตัวเรา เราก็แค่ทำให้ใบหน้าที่เห็นภายนอกแข็งแกร่งมาก แต่ภายในความโกรธนั้นจะแผดเผาและทำให้เรามีแผล แต่ตรงกันข้าม เมื่อเราใช้วิธีการเหล่านี้อย่างถูกต้อง ความโกรธก็จะไม่เกิดขึ้นด้วยซ้ำ มันไม่ใช่เรื่องของการควบคุมความโกรธ และเก็บทุกสิ่งไว้ภายใน มันเป็นเรื่องของการแทนที่แรงกระตุ้นที่เข้ามาในหัวของเรา แทนที่จะมีแรงกระตุ้นเชิงลบที่เกิดขึ้น ซึ่งเราอาจต้องจัดการด้วยการเก็บทุกสิ่งไว้ข้างใน แรงกระตุ้นเชิงบวกจะเกิดขึ้น

เมื่อเราทำได้แล้ว ก็จะขึ้นอยู่กับแรงจูงใจของเรา เราสามารถกำจัดปัญหาของเราได้ในตอนนี้ และสิ่งต่าง ๆ ก็จะไม่เลวร้ายลงไปอีกในอนาคต หรือเราจะไม่มีปัญหาใด ๆ เลย หรือด้วยแรงจูงใจที่แข็งแกร่งและก้าวหน้าที่สุด เราจะไม่สร้างปัญหาให้กับครอบครัวของเรา เพื่อนของเรา คนรอบตัวเรา และเราจะสามารถช่วยเหลือผู้อื่นได้อย่างเต็มที่ เราจะทำอย่างนั้นได้ เพราะเราจะไม่ถูกจำกัดด้วยอารมณ์และปัญหาที่รบกวนจิตใจของเรา ดังนั้น เราก็จะสามารถบรรลุถึงศักยภาพทั้งหมดของเราได้

Top