ความอิจฉา: การจัดการกับอารมณ์ที่รบกวนจิตใจ

02:46
ความอิจฉามีหลายรูปแบบ มันอาจเป็นแค่เพียงการไม่สามารถทนต่อความสำเร็จของผู้อื่น หรืออาจรวมถึงความปรารถนาที่เราอยากมีมันให้กับตัวเราเอง เราอาจอยากได้ใคร่มีในสิ่งที่คนอื่นมี และปรารถนาที่จะมีมันให้กับตัวเราเอง และแม้แต่อาจปรารถนาให้คนอื่นสูญเสียมันไป ความสามารถในการแข่งขันอาจมีส่วนเกี่ยวข้องด้วย รวมทั้งความคิดแบบการอยู่เป็นคู่ของตัวเราเองในฐานะ "ผู้แพ้" และของคนอื่นในฐานะ "ผู้ชนะ" ล้วน ๆ เบื้องหลังทั้งหมดนี้คือ การหมกมุ่นอยู่กับตัวเราเอง โดยการวิเคราะห์องค์ประกอบเหล่านี้ทั้งหมด พระพุทธศาสนาเสนอวิธีการที่ซับซ้อนในการแยกโครงสร้างทางอารมณ์ที่รบกวนต่าง ๆ และการกำจัดอารมณ์เหล่านั้น

อารมณ์ที่รบกวนจิตใจ

เราทุกคนประสบกับอารมณ์ที่รบกวนจิตใจ (nyon-mongs ภาษาสันสกฤต kleśa เป็นกิเลส หรืออารมณ์ที่ทำให้ทุกข์ทรมาน) ซึ่งเป็นสภาพจิตใจที่เมื่อเราพัฒนาสิ่งเหล่านี้ มันก็จะทำให้เราสูญเสียความสงบทางจิตใจ และทำให้เราไร้ความสามารถจนสูญเสียการควบคุมตนเอง ตัวอย่างทั่วไปได้แก่ ความโลภ ความยึดติด ความเป็นศัตรู ความโกรธ ความอิจฉา  และความริษยา สิ่งเหล่านี้ปลุกปั่นให้เกิดแรงกระตุ้นทางจิตใจ (กรรม) ต่าง ๆ ขึ้นมา ซึ่งมักจะนำไปสู่พฤติกรรมที่ทำลาย แรงกระตุ้นนั้นอาจเป็นการกระทำที่เป็นไปในทางทำลายผู้อื่น หรือทำลายตนเอง ผลลัพธ์คือ เราสร้างปัญหาและความทุกข์ให้กับผู้อื่นและตัวเราเองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

อารมณ์ที่รบกวนต่าง ๆ มีอยู่หลายประเภท แต่ละวัฒนธรรมจะมีการวาดเส้นที่ปราศจากเหตุผลรอบ ๆ ชุดของประสบการณ์ทางอารมณ์ทั่วไปที่คนส่วนใหญ่ในสังคมประสบ ตัดสินใจในการกำหนดลักษณะบางอย่างที่มันแสดงออกมาให้เป็นหมวดหมู่ แล้วตั้งชื่อหมวดหมู่นั้น แน่นอนว่า แต่ละวัฒนธรรมจะเลือกชุดประสบการณ์ทางอารมณ์ทั่วไปที่แตกต่างกัน การกำหนดลักษณะที่แสดงออกที่แตกต่างกันในการอธิบายถึงมัน และด้วยวิธีนี้ ทำให้เกิดมวดหมู่ต่าง ๆ ของอารมณ์ที่รบกวน

หมวดหมู่ของอารมณ์ที่รบกวนจิตใจที่ระบุโดยวัฒนธรรมที่แตกต่างกันมักจะไม่ซ้อนทับกัน เพราะคำจำกัดความของอารมณ์นั้นมีความแตกต่างกันเล็กน้อย ตัวอย่างเช่น ภาษาสันสกฤตและภาษาทิเบต แต่ละแต่ละภาษามีหนึ่งคำมักจะแปลว่า “ความริษยา” (ภาษาสันสกฤต irshya ภาษาทิเบต phrag-dog) ในขณะที่ภาษาตะวันตกส่วนใหญ่มีอยู่สองคำ ภาษาอังกฤษมีคำว่า “ความริษยา” และ “ความอิจฉา” (“jealousy” และ “envy”) ในขณะที่ภาษาเยอรมันมีสองคำคือ คำว่า “Eifersucht” และ “Neid” ความแตกต่างระหว่างคำศัพท์ภาษาอังกฤษสองคำนั้นไม่เหมือนกับคำศัพท์สองคำที่ใช้ในภาษาเยอรมัน และภาษาสันสกฤตและทิเบตก็ไม่ตรงกับคำศัพท์ใด ๆ ในภาษาใดภาษาหนึ่งนั้นเลย ในฐานะชาวตะวันตก หากเราประสบปัญหาทางอารมณ์ในหมวดหมู่ทั่วไปนี้ ซึ่งกำหนดโดยหมวดหมู่ที่ถูกสร้างขึ้นโดยวัฒนธรรมและภาษาของเราเอง และเราปรารถนาที่จะเรียนรู้วิธีการทางพระพุทธศาสนาในการเอาชนะสิ่งเหล่านั้น เราอาจจำเป็นที่จะต้องวิเคราะห์และแยกชิ้นส่วนอารมณ์ต่าง ๆ ของเราตามที่เราสร้างกรอบแนวความคิดเกี่ยวกับมันขึ้นมาไปสู่การผสมผสานระหว่างอารมณ์ที่รบกวนหลายอย่างตามที่ได้ระบุไว้ในพระพุทธศาสนา

ในที่นี้ เรามาเน้นกันที่คำศัพท์ทางพระพุทธศาสนาที่มีความหมายว่า “ความอิจฉา” เนื่องจากมันใกล้เคียงกับคำจำกัดความดั้งเดิมมากกว่า เราได้พูดถึงความริษยามาแล้ว ในเรื่องของความสัมพันธ์ แยกกันในหมวด “เนื้อหาสำคัญ” (ดูที่ วิธีจัดการความริษยาในความสัมพันธ์)

ความอิจฉาคืออะไร

ตำราทางพระพุทธศาสนาต่าง ๆ จัดว่า “ความอิจฉา” เป็นส่วนหนึ่งของความเป็นศัตรู ตำราเหล่านั้นให้คำจำกัดความว่าเป็น “อารมณ์ที่รบกวนจิตใจที่มุ่งเน้นไปที่ความสำเร็จของผู้อื่น เช่น คุณสมบัติที่ดี สิ่งที่ครอบครองอยู่ หรือความสำเร็จ และไม่สามารถแบกรับความสำเร็จของคนนั้นได้เนื่องจากการยึดติดกับผลประโยชน์ของตนเองที่ได้รับ หรือความเคารพที่ได้รับนั้นมากเกินไป”

ในที่นี้ ความยึดติดหมายความว่า เรามุ่งเน้นไปที่บางด้านของชีวิตที่คนอื่นประสบความสำเร็จมากกว่าที่เรามี และเราขยายความถึงแง่มุมเชิงบวกของมันเกินจริง ในความคิดของเรา เราจะทำให้เรื่องนี้เป็นหนึ่งในแง่มุมที่สำคัญที่สุดของชีวิต และให้ความรู้สึกของการมีคุณค่าในตัวเองอยู่บนพื้นฐานของสิ่งนั้น นั่นก็คือ การหมกมุ่นกับและยึดติดกับ “ฉัน” อย่างมากเกินไปเลย ดังนั้น ในแง่ของเรื่องนี้ เราจึงอิจฉาเพราะเรา “ยึดติดกับผลประโยชน์ของเราเอง หรือกับความเคารพที่เราได้รับ”  ตัวอย่างเช่น เราอาจยึดติดกับจำนวนเงินที่เรามี หรือว่าเราดูดีแค่ไหน ในแง่ของความเป็นศัตรู ความอิจฉาเพิ่มองค์ประกอบที่แข็งแกร่งของความขุ่นเคืองในสิ่งที่ผู้อื่นประสบความสำเร็จในด้านนี้ มันตรงกันข้ามกับการชื่นชมยินดี และรู้สึกมีความสุขกับสิ่งที่ผู้อื่นทำได้สำเร็จ

ความอิจฉามักจะรวมถึงองค์ประกอบของความเป็นศัตรูต่อบุคคลที่เราเชื่อว่าจะได้เปรียบมากกว่าเรา แน่นอนว่า ความได้เปรียบนั้นอาจจะจริงหรือไม่จริงก็ได้ แต่ไม่ว่าในกรณีใด เราก็หมกมุ่นอยู่กับตัวเองและในสิ่งที่เราไม่มี

นอกจากนี้ ความอิจฉาตามที่กำหนดความหมายไว้ในพระพุทธศาสนายังครอบคลุมถึงบางส่วน แต่ไม่ใช่ทั้งหมด ของคำภาษาอังกฤษว่า “envy” (ความอิจฉา) แนวคิดภาษาอังกฤษนั้นจะมีการเพิ่มเติมอีกเล็กน้อย ซึ่งได้เพิ่มสิ่งที่พระพุทธศาสนาเรียกว่า “ความละโมบ” เข้าไปด้วย ความละโมบคือ “ความอยากได้สิ่งที่คนอื่นครอบครองที่มากเกินไป” ดังนั้น คำจำกัดความของคำว่า "อิจฉา" ในภาษาอังกฤษคือ "การรับรู้อย่างเจ็บปวดหรือไม่พอใจถึงผลประโยชน์ที่คนอื่นได้ ร่วมกับความอยากที่จะได้รับผลประโยชน์เช่นเดียวกันนั้น" กล่าวอีกนัยหนึ่ง นอกเหนือจากการไม่สามารถแบกรับความสำเร็จของผู้อื่นในด้านชีวิต ดังเช่นที่พระพุทธศาสนาชี้ให้เห็นแล้ว เรายังขยายความเกินจริงของความสำคัญ ความอิจฉาคือความปรารถนาที่จะมีความสำเร็จเหล่านี้ให้กับตัวเอง เราอาจไม่เพียงพอหรือขาดแคลนในด้านนี้ หรือเราอาจมีมันเพียงพอแล้ว หรือสูงกว่าค่าเฉลี่ยแล้วก็ได้ ถ้าเรามีความอิจฉาและต้องการมากขึ้น ความละโมบของเราก็จะเติบโตไปเป็นความโลภ แม้ว่าจะไม่จำเป็นต้องเป็นแบบนี้เสมอไป แต่บ่อยครั้งที่ความอิจฉาทำให้เกิดความปรารถนาให้ผู้อื่นสูญเสียสิ่งที่พวกเขาประสบความสำเร็จเพื่อที่เราจะได้รับมันแทน ในกรณีนี้ ก็ยังมีส่วนผสมของอารมณ์มากขึ้นไปอีกนั่นคือ การมีเจตนาร้าย

เมื่อรวมกับความละโมบ ความอิจฉาก็จะนำไปสู่การแข่งขัน ดังนั้น ท่านทรุงปา รินโปเช (Trungpa Rinpoche) จึงกล่าวถึงความอิจฉาว่าเป็นอารมณ์ที่รบกวนจิตใจที่ผลักดันให้เรามีการแข่งขันสูง และทำงานอย่างบ้าคลั่งเพื่อเอาชนะผู้อื่นหรือตัวเอง มันเชื่อมโยงกับการกระทำที่หนักแน่น ซึ่งเรียกว่า “ครอบครัวแห่งกรรม” เนื่องมาจากการอิจฉาในสิ่งที่ผู้อื่นประสบความสำเร็จ เราจึงผลักดันตัวเอง หรือผลักดันให้ผู้อื่นอยู่ภายใต้เราให้ทำมากขึ้นเรื่อย ๆ เช่น การแข่งขันที่รุนแรงทางธุรกิจหรือกีฬาต่าง ๆ ดังนั้น พระพุทธศาสนาจึงใช้ม้าเป็นตัวแทนของความอิจฉา มันแข่งกับม้าตัวอื่นเพราะความอิจฉา มันทนไม่ได้ที่ม้าตัวอื่นวิ่งเร็วกว่า

ความอิจฉาและการแข่งขัน

ในทางพระพุทธศาสนา มันเป็นความจริงที่ว่า ความอิจฉามีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับการแข่งขันแม้ว่าความอิจฉาไม่จำเป็นจะต้องนำไปสู่การแข่งขันก็ตาม บางคนอาจอิจฉาคนอื่น และมีความนับถือตัวเองต่ำ ไม่แม้แต่จะพยายามแข่งขันเลย ในทำนองเดียวกัน การแข่งขันก็ไม่จำเป็นต้องมาจากความอิจฉาเสมอไป บางคนชอบที่จะแข่งขันกีฬาเพียงเพื่อความสนุกสนานเพลิดเพลินของตัวเองและเล่นเป็นเพื่อนคนอื่น ๆ โดยไม่ต้องการนับแต้ม

พระพุทธศาสนาได้เชื่อมโยงความอิจฉาและการแข่งขันในวิธีที่ต่างกัน ตัวอย่างเช่น ใน การลงมือในพฤติกรรมของพระโพธิสัตว์ ท่านศานติเทวะ (Shantideva) ปรมาจารย์ชาวอินเดียผู้ยิ่งใหญ่ได้มีการรวมคำอธิบายไว้ในในบทเดียวถึงความอิจฉาต่อผู้ที่อยู่ในตำแหน่งที่สูงกว่า การแข่งขันที่เท่าเทียมกัน และความหยิ่งผยองต่อผู้ที่มีสถานะต่ำกว่า การอธิบายของท่านอยู่ในบริบทของการเรียนรู้ที่จะมองว่าสิ่งมีชีวิตทุกชนิดมีความเท่าเทียมกัน

ปัญหาที่พระพุทธศาสนากำลังพูดถึงอยู่ที่นี่คือความรู้สึกว่า “ฉัน” พิเศษ ซึ่งเป็นสิ่งที่อยู่ภายใต้อารมณ์ที่รบกวนทั้งสามนั้น หากเราคิดและรู้สึกว่า “ฉัน” เป็นคนเดียวที่สมควรทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เช่น มีความก้าวหน้าในชีวิต และเราก็อิจฉาถ้าคนอื่นประสบความสำเร็จ เราก็จะแข่งขัน เราต้องเอาชนะอีกฝ่ายแม้ว่าเราจะประสบความสำเร็จในระดับปานกลางแล้วก็ตาม ที่นี่ ความอิจฉาเป็นความรู้สึกที่รุนแรงของ "ฉัน" และความหมกมุ่นอย่างแรงกล้ากับเราเพียงคนเดียว เราไม่ได้คิดถึงคนอื่นในลักษณะเดียวกับที่เราคิดถึงตัวเอง เราคิดว่าตัวเองพิเศษ

แนวทางแก้ไขที่พระพุทธศาสนาเสนอให้กับปัญหาและความทุกข์ที่เกิดจากความอิจฉา การแข่งขัน และความเย่อหยิ่งประเภทนี้คือ ต้องแก้ไขความคิดที่ไม่ถูกต้องที่อยู่เบื้องหลังเกี่ยวกับ “ฉัน” และ “เธอ” เราต้องตระหนักและมองว่าทุกคนเท่าเทียมกัน ทุกคนมีความสามารถพื้นฐานเหมือนกันในแง่ที่ว่าทุกคนมีธรรมชาติแห่งความเป็นพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นศักยภาพที่เอื้อให้เกิดการตรัสรู้ นอกจากนี้ ทุกคนมีความปรารถนาเดียวกันที่จะมีความสุขและประสบความสำเร็จ ไม่ใช่ต้องการที่จะไม่มีความสุขหรือล้มเหลว และทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกันที่จะมีความสุขและประสบความสำเร็จ และมีสิทธิเหมือนกันที่จะไม่มีความสุขหรือล้มเหลว ไม่มีอะไรพิเศษเกี่ยวกับ “ฉัน” ในเรื่องเหล่านี้ พระพุทธศาสนายังสอนเรื่องความรัก ซึ่งหมายถึงความปรารถนาให้ทุกคนมีความสุขเท่าเทียมกันด้วย

เมื่อเราเรียนรู้ที่จะมองทุกคนว่าเท่าเทียมกันทั้งในแง่ของธรรมชาติแห่งความเป็นพระพุทธเจ้าและความรัก ฉะนั้นแล้ว เราจึงเปิดกว้างเพื่อดูว่าจะมีความสัมพันธ์กับคนที่ประสบความสำเร็จมากกว่าที่เรามีหรือคนที่ประสบความสำเร็จเมื่อเราไม่มีสิ่งนั้นได้อย่างไร เรามีความปีติยินดีในความสำเร็จของเขาหรือเธอ เพราะเราต้องการให้ทุกคนมีความสุข เราพยายามช่วยให้ผู้ที่เท่าเทียมกับเราประสบความสำเร็จเช่นกัน แทนที่จะแข่งขันกับพวกเขาและพยายามเอาชนะพวกเขา สำหรับผู้ที่ประสบความสำเร็จน้อยกว่าเรา เราจะพยายามช่วยให้พวกเขาทำได้ดีแทนที่จะมองด้วยความพึงพอและรู้สึกดีกว่าที่พวกเขาเป็นอยู่ด้วยความเย่อหยิ่ง

การเสริมสร้างทางวัฒนธรรมแห่งความอิจฉาและการแข่งขัน

วิธีการทางพระพุทธศาสนาที่แนะนำเหล่านี้อยู่ในขั้นสูงมากและยากอย่างยิ่งที่จะนำไปใช้เมื่อความอิจฉาและความสามารถในการแข่งขันของเราซึ่งเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติได้รับการเสริมสร้าง ทำให้แข็งแรง และแม้กระทั่งได้รับการตอบแทนจากคุณค่าทางวัฒนธรรมตะวันตกบางประการ ท้ายที่สุด เด็กเกือบทุกคนชอบที่จะชนะและจะร้องไห้เมื่อพวกเขาแพ้โดยอัตโนมัติ แต่ยิ่งไปกว่านั้น วัฒนธรรมตะวันตกจำนวนมากสอนให้ทุนนิยมเป็นรูปแบบที่ดีที่สุดโดยธรรมชาติของสังคมประชาธิปไตย มันเป็นทฤษฎีที่ว่าสิ่งมีชีวิตที่เหมาะสมที่สุดเท่านั้นที่จะอยู่รอด ซึ่งกำหนดให้การแข่งขันเป็นแรงผลักดันพื้นฐานของชีวิต แทนที่จะเป็นตัวอย่างเช่น ความรักและความชื่นชอบ ยิ่งไปกว่านั้น วัฒนธรรมตะวันตกยังตอกย้ำความสำคัญของความสำเร็จและการชนะด้วยความหลงใหลในกีฬาที่มีการแข่งขัน และให้การยกย่องเชิดชูนักกีฬาที่ดีที่สุดและคนที่ร่ำรวยที่สุดในโลก

นอกจากนี้ ระบบการเมืองทั้งหมดของประชาธิปไตยและการลงคะแนนเสียงยังนำมาซึ่งการแข่งขัน นั่นคือ มีการเสนอ และจากนั้นก็ขายตัวเองในฐานะผู้สมัครโดยการเผยแพร่ว่าเราดีกว่าคู่แข่งในตำแหน่งมากเพียงใด ตามที่ปฏิบัติกันทั่วไปในตะวันตก การรณรงค์หาเสียงช่วยเพิ่มความพยายามอย่างมากในการค้นหาจุดอ่อนที่เป็นไปได้ของผู้สมัครคู่แข่ง แม้แต่ในแง่ของชีวิตส่วนตัวของพวกเขา และทำให้ขยายความเพิ่มเติมสิ่งเหล่านั้นมากขึ้น และเผยแพร่อย่างกว้างขวางเพื่อทำลายชื่อเสียงของพวกเขา มิหนำซ้ำหลายคนยังมองว่าพฤติกรรมประเภทนี้ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความริษยา และการแข่งขันเป็นสิ่งที่น่ายกย่องและยุติธรรมอีกด้วย ในที่นี้ การแปลศัพท์ทางพระพุทธศาสนาเป็น "ความริษยา" นั้นเหมาะสมกว่า "ความอิจฉา" แม้ว่าพลวัตทางอารมณ์จะเหมือนกัน

ในทางกลับกัน สังคมชาวทิเบตไม่ยอมรับใครก็ตามที่ดูถูกคนอื่นและอ้างว่าเขาดีกว่าคนอื่น สิ่งเหล่านี้ถือเป็นลักษณะนิสัยเชิงลบ ในความเป็นจริง คำปฏิญาณของพระโพธิสัตว์ข้อที่หนึ่งคือ ไม่ยกย่องตัวเองและดูหมิ่นผู้อื่นต่อผู้ที่อยู่ในตำแหน่งที่ต่ำกว่าตัวเรา ซึ่งในที่นี้จะรวมถึงการโฆษณาถ้อยคำดังกล่าวต่อสาธารณะชนที่ลงคะแนนเสียงด้วย แรงจูงใจถูกระบุว่าเป็นความต้องการกำไร การยกย่องสรรเสริญ ความรัก ความเคารพ และอื่น ๆ จากบุคคลที่กล่าวถึง และความริษยาบุคคลที่ถูกดูแคลนนั้น มันก็ไม่ต่างกัน ไม่ว่าสิ่งที่เราพูดจะเป็นจริงหรือเป็นเท็จ ในทางตรงกันข้าม เมื่อพูดถึงเกี่ยวกับตัวเราเอง ด้วยความถ่อมตัวอย่างสุดโต่ง เราจะพูดว่า “ฉันไม่มีคุณสมบัติที่ดี ฉันไม่รู้อะไรเลย” กลับถือเป็นเรื่องที่น่ายกย่อง ดังนั้น ประชาธิปไตยและการรณรงค์หาเสียงจึงเป็นสิ่งแปลกประหลาดโดยสิ้นเชิง และจะไม่ได้ผลในสังคมชาวทิเบตหากปฏิบัติตามรูปแบบทางตะวันตกตามปกติ

แม้กระทั่งแค่จะบอกว่าเราต้องการรณรงค์ให้ได้รับเลือกเข้าดำรงตำแหน่งก็ถือเป็นสัญญาณที่น่าสงสัยของความหยิ่งผยอง และเป็นแรงจูงใจที่ไม่เห็นแก่ผู้อื่นแล้ว การประนีประนอมทางเดียวที่เป็นไปได้คือ ให้ตัวแทนของผู้สมัคร ไม่ใช่ผู้ได้รับการเสนอ พูดกับผู้อื่นเกี่ยวกับคุณสมบัติและความสำเร็จที่ดีของผู้สมัคร โดยไม่เปรียบเทียบกับคู่แข่งที่ลงชิงตำแหน่ง หรือพูดอะไรที่ไม่ดีเกี่ยวกับพวกเขา อย่างไรก็ตาม สิ่งนี้แทบจะไม่เคยได้ทำ โดยปกติ ผู้สมัครที่เป็นที่รู้จักกันดี เช่น จากตระกูลชั้นสูง หรือองค์ลามะผู้กลับชาติมาเกิดจะได้รับการเสนอชื่อโดยไม่แม้แต่จะถามเขาว่า เขาต้องการลงสมัครหรือไม่ ถ้าเขาบอกว่า ไม่ต้องการลงสมัครรับตำแหน่ง สิ่งนี้ถือเป็นสัญญาณของความถ่อมตัวเนื่องจากการพูดว่า “ใช่” ในทันทีแสดงถึงความหยิ่งยะโสและความโลภในอำนาจ มันแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่คนที่ได้รับการเสนอชื่อจะปฏิเสธ ฉะนั้นแล้ว การลงคะแนนก็เสร็จสิ้นโดยไม่มีการหาเสียง ผู้คนมักจะลงคะแนนให้กับผู้สมัครที่เป็นที่รู้จักมากที่สุด

ดังนั้น วิธีการทางพระพุทธศาสนาในการชื่นชมยินดีในชัยชนะของผู้อื่น หรืออีกวิธีหนึ่งที่แข็งแกร่งยิ่งกว่าวิธีนี้คือ การมอบชัยชนะให้ผู้อื่นและยอมรับความพ่ายแพ้ของตัวเราเอง อาจไม่ใช่วิธีการรักษาขั้นแรกที่เหมาะสมที่สุดสำหรับชาวตะวันตกที่เชื่อมั่นในคุณธรรมของระบบทุนนิยมและระบบการรณรงค์หาเสียงการเลือกตั้งแบบตะวันตก ในฐานะชาวตะวันตก เราอาจต้องประเมินความถูกต้องของคุณค่าทางวัฒนธรรมของเราอีกทีเสียก่อน และจัดการกับรูปแบบของความริษยา ความอิจฉา และการแข่งขันตามลัทธิที่เกิดจากการยอมรับคุณค่าเหล่านั้นก่อนที่จะกล่าวถึงรูปแบบที่เกิดขึ้นโดยอัตโนมัตินั้น

ตัวอย่างที่อาจช่วยให้เราเห็นความสัมพันธ์ของความอิจฉา ความริษยา และการแข่งขันตามหลักวัฒนธรรมตะวันตกคือ ตลาดอินเดีย ในอินเดีย มีตลาดขายผ้า ตลาดขายเครื่องประดับอัญมณี ตลาดขายผัก และอื่น ๆ แต่ละแถวจะมีแผงขายของ และร้านค้าตั้งอยู่ติดกัน ซึ่งขายสินค้าเกือบจะเหมือนกันทุกอย่าง เจ้าของร้านส่วนใหญ่เป็นเพื่อนกัน และมักจะนั่งดื่มชาด้วยกันอยู่นอกร้านของพวกเขา ทัศนคติของพวกเขาคือว่า ร้านค้าของพวกเขาขายได้ดีหรือไม่ดีมันขึ้นอยู่กับกรรม

ลักษณะปรากฎที่หลอกลวงที่อยู่เบื้องหลังความอิจฉา

ดังที่เราได้เห็นแล้ว ความอิจฉาคือ การไม่สามารถแบกรับความสำเร็จของคนอื่นในแง่ที่ว่าเราขยายความสำคัญนั้นเกินจริง เช่น ความสำเร็จทางการเงิน ด้วยความอิจฉามัน เราจึงปรารถนาว่าเราจะประสบความสำเร็จในสิ่งนั้นแทน รูปแบบต่างกันของสิ่งนี้จะเกิดขึ้นเมื่อใครบางคนได้รับบางสิ่งบางอย่างจากใครบางคน เช่น ความรัก หรือความชื่นชอบ ในทำนองเดียวกัน เราก็หวังว่าจะได้รับมันแทน

อารมณ์แห่งความอิจฉาที่รบกวนจิตใจนี้เกิดจากลักษณะปรากฎที่หลอกลวงสองลักษณะนั่นคือ เนื่องมากจากความสับสนและแค่ไม่รู้ว่าสิ่งต่าง ๆ ดำรงอยู่อย่างไร จิตใจของเราจึงสร้างและฉายภาพ ประการแรกคือ รูปลักษณ์ที่อยู่เป็นคู่ของ (1) “ฉัน” ที่ดูเหมือนเป็นรูปธรรมที่สมควรได้รับความสำเร็จ หรือได้รับบางสิ่งโดยธรรมชาติ แต่ไม่ใช่อย่างนั้น และ (2) “คุณ” ที่ดูเหมือนเป็นรูปธรรมที่โดยธรรมชาติแล้วไม่สมควรได้รับสิ่งนั้น โดยไม่รู้ตัว เรารู้สึกว่าโลกนี้เป็นหนี้เรา และมันไม่ยุติธรรมเมื่อคนอื่นรับมันไปแทน เราแบ่งโลกนี้ออกเป็นสองหมวดหมู่ที่มั่นคงคือ “ผู้แพ้” และ “ผู้ชนะ”  และจินตนาการว่าผู้คนมีอยู่จริง และพบได้ภายในกล่องของหมวดหมู่ที่แท้จริงที่ดูเหมือนจะมั่นคงเหล่านี้ จากนั้น เราก็จัดให้ตัวเองอยู่ในหมวดหมู่ถาวรที่มั่นคงของ "ผู้แพ้" และเราจัดให้บุคคลอื่นอยู่ในประเภทถาวรที่มั่นคงของ "ผู้ชนะ" เราอาจแม้กระทั่งกำหนดให้ทุกคนเป็นผู้ชนะยกเว้นตัวเราเอง ไม่เพียงแต่เราจะรู้สึกไม่พอใจเท่านั้น แต่เรายังรู้สึกถึงว่าถูกกำหนดหายนะไว้แล้วอีกด้วย สิ่งนี้นำไปสู่การยึดติดกับความคิดที่เจ็บปวดว่า “ฉันผู้น่าสงสาร”

ความไร้เดียงสาเกี่ยวกับเหตุและผลทางพฤติกรรมมักมาพร้อมกับความอิจฉา ตัวอย่างเช่น เราไม่เข้าใจและปฏิเสธด้วยซ้ำว่าบุคคลที่ได้รับการเลื่อนตำแหน่ง หรือได้รับความชื่นชอบทำทุกอย่างเพื่อให้ได้มาหรือสมควรได้รับ ยิ่งไปกว่านั้น เรารู้สึกว่าเราควรได้รับมันโดยไม่ต้องทำอะไรเพื่อให้มันเกิดขึ้น หรืออีกแบบคือ เรารู้สึกว่าทำไปมาก แต่ก็ยังไม่ได้รับรางวัล จิตใจของเราจึงสร้างรูปลักษณ์ที่หลอกลวงอีกแป๊บนึงและฉายภาพมันออกมา จิตใจที่สับสนของเราทำให้สิ่งต่าง ๆ ดูเหมือนจะเกิดขึ้นโดยไม่มีเหตุผล หรือด้วยเหตุผลเดียวนั่นคือ สิ่งที่เราทำโดยลำพัง

การวิเคราะห์แยกโครงสร้างรูปลักษณ์ที่หลอกลวง

เราจำเป็นต้องแยกโครงสร้างรูปลักษณ์ที่หลอกลวงทั้งสองหล่านี้ออก วัฒนธรรมของเราอาจสอนเราว่า หลักการขับเคลื่อนซึ่งเป็นปกติวิสัยที่มีอยู่ในโลกของสิ่งมีชีวิตคือการแข่งขัน ซึ่งเป็นแรงผลักดันที่จะชนะ นั่นคือสิ่งมีชีวิตที่เหมาะสมที่สุดเท่านั้นที่จะอยู่รอด แต่หลักฐานนั้นอาจไม่เป็นความจริงก็ได้ อย่างไรก็ตาม หากเรายอมรับมันแล้ว ด้วยธรรมชาติอย่างมากของมัน เราก็จะเชื่อว่าโลกถูกแบ่งออกโดยธรรมชาติ เข้าสู่การแบ่งขั้วกันระหว่างผู้ชนะและผู้แพ้อย่างเด็ดขาด ด้วยเหตุนี้ เราจึงรับรู้โลกนี้ในหมวดหมู่แนวคิดที่ตายตัวของผู้ชนะและผู้แพ้ และแน่นอนว่าเรามองตัวเองด้วยกรอบความคิดเดียวกัน

แม้ว่าแนวคิดเหล่านี้เกี่ยวกับผู้ชนะ ผู้แพ้ และการแข่งขันอาจเป็นประโยชน์สำหรับการอธิบายถึงวิวัฒนาการ แต่เราต้องตระหนักว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเพียงการสร้างจิตใจตามอำเภอใจเท่านั้น "ผู้ชนะ" และ "ผู้แพ้" เป็นเพียงป้ายกำกับทางใจเท่านั้น มันเป็นหมวดหมู่เกี่ยวกับจิตใจที่สะดวกที่ใช้อธิบายเหตุการณ์บางอย่าง เช่น การเข้าร่วมการแข่งขันครั้งแรก การได้รับการเลื่อนตำแหน่งในที่ทำงานแทนที่จะให้คนอื่นได้รับ การสูญเสียลูกค้าหรือนักเรียนไปให้คนอื่น เราอาจแบ่งคนออกเป็นหมวดหมู่ของ “คนดี” และ “คนไม่ดี” ได้อย่างง่ายดาย ขึ้นอยู่กับว่าเรานิยามคำว่า “ ดี” ว่าอย่างไร

เมื่อเราเห็นว่าชุดหมวดหมู่แบบคู่ทั้งหมดดังกล่าวเป็นเพียงการสร้างขึ้นทางจิตใจเท่านั้น เราก็จะเริ่มตระหนักว่าไม่มีสิ่งใดอยู่ข้าง “ฉัน” หรือ “คุณ” ที่ล็อกเราไว้ให้อยู่ในหมวดหมู่ที่มั่นคงแข็งแรง ไม่ใช่ว่าโดยพื้นฐานแล้วเราเป็นผู้แพ้โดยธรรมชาติ และในการคิดว่าตัวเองเป็นผู้แพ้ ในที่สุดเราก็จะได้ค้นพบความจริงว่าที่แท้จริงแล้ว “ฉัน” คือผู้แพ้ "ฉัน" ที่น่าสงสาร แต่เรามีคุณสมบัติอื่น ๆ อีกมากมายนอกเหนือจากการสูญเสียลูกค้าไปให้คนอื่น ดังนั้น ทำไมต้องอยู่กับสิ่งนั้นราวกับว่านั่นคือ “ฉัน” ตัวจริง

ยิ่งไปกว่านั้น มันเป็นเพียงเพราะจิตใจที่จำกัดของเรา และความหมกมุ่นอยู่กับการคิดว่า “'ฉัน ผู้น่าสงสาร" และ “คุณ ไอ้ สารเลว'” ที่มันดูเหมือนความสำเร็จและความล้มเหลว การได้รับและการสูญเสีย เกิดขึ้นโดยไม่มีเหตุผลใด ๆ เลย หรือจากเหตุผลที่ไม่เกี่ยวข้อง นั่นเป็นเหตุผลที่เราคิดว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับเรามันไม่ยุติธรรม สิ่งที่เกิดขึ้นในจักรวาลเกิดขึ้นเนื่องจากเครือข่ายของเหตุและผลขนาดใหญ่ มีหลายสิ่งหลายอย่างที่ส่งผลต่อสิ่งที่เกิดขึ้นกับเราและต่อผู้อื่น ซึ่งมันเกินกว่าที่จินตนาการของเราจะรวมเอาไว้ทุกปัจจัยได้

เมื่อเราแยกแยะรูปลักษณ์ที่หลอกลวงทั้งสองนี้ออก (ผู้ชนะและผู้แพ้ และสิ่งที่เกิดขึ้นโดยไม่มีเหตุผลที่ดี) และหยุดการฉายภาพสิ่งเหล่านี้ เราจะผ่อนคลายความรู้สึกของความไม่ยุติธรรม ภายใต้ความริษยาของเราเป็นเพียงแค่การรับรู้ถึงสิ่งที่ทำได้สำเร็จ สิ่งที่เกิดขึ้นเท่านั้น เราสูญเสียลูกค้าไปให้คนอื่น และตอนนี้คนอื่นก็มีลูกค้ารายนี้ สิ่งนี้ทำให้เราตระหนักถึงเป้าหมายที่จะบรรลุ ถ้าเราไม่ดูถูกคนอื่นในการบรรลุหรือได้รับสิ่งนั้น เราอาจเรียนรู้ว่าบุคคลนั้นทำสำเร็จได้อย่างไรก็ได้ สิ่งนี้ทำให้เราเห็นวิธีการทำให้มันสำเร็จได้ด้วยตัวเราเอง เราเพียงแค่รู้สึกอิจฉาและริษยาเพราะการซ้อนทับการรับรู้นี้ด้วยรูปลักษณ์ที่เป็นคู่และอัตลักษณ์ที่เป็นรูปธรรมเท่านั้นเอง

บทสรุป

ดังนั้น พระพุทธศาสนาจึงเสนอวิธีการต่าง ๆ มากมายในการจัดการกับอารมณ์อิจฉาที่รบกวนจิตใจไม่ว่าเราจะกำหนดสิ่งเหล่านี้ในทางพระพุทธศาสนาหรือแบบตะวันตกก็ตาม เมื่อเรามีปัญหากับอารมณ์ที่รบกวนจิตใจ ความท้าทายคือ การรู้จักลักษณะที่กำหนดนั้นและภูมิหลังทางวัฒนธรรมของเราให้ถูกต้อง เมื่อผ่านการทำสมาธิ เราได้ฝึกอบรมตนเองด้วยวิธีการต่าง ๆ มากมาย เราสามารถเลือกวิธีที่เหมาะสมเพื่อช่วยให้เราพัฒนาผ่านปัญหาทางอารมณ์ต่าง ๆ ที่เราอาจประสบได้

Top