อารมณ์ที่รบกวนจิตใจคืออะไร?

02:28
เมื่อจิตใจของเราถูกรบกวนด้วยความโกรธ ความยึดติด ความเห็นแก่ตัว หรือความโลภ พลังงานของเราก็จะถูกรบกวนเช่นกัน เราจะรู้สึกไม่สบายใจ จิตใจของเราไม่สงบ ความคิดของเราวุ่นวาย เราพูดและทำสิ่งที่เราจะเสียใจในภายหลัง ถ้าเราสังเกตเห็นความปั่นป่วนในจิตใจและพลังงานของเราอย่างกะทันหัน เราสามารถมั่นใจได้เลยว่ามันเป็นการทำงานของอารมณ์บางอย่างที่รบกวนจิตใจ เคล็ดลับคือ จับมันทันทีที่มันปรากฏขึ้นมา แล้วใช้สภาพจิตใจของฝ่ายตรงข้าม เช่น ความรักและความเห็นอกเห็นใจ เพื่อที่จะหลีกเลี่ยงปัญหาต่าง ๆ ที่เราอาจจะสร้างขึ้นหากเรายอมทำตามอารมณ์ที่สร้างปัญหานั้น แล้วแสดงมันออกมา

“อารมณ์ที่รบกวนจิตใจ” คืออะไร?

อารมณ์ที่รบกวนจิตใจถูกนิยามว่าเป็นสภาพจิตใจที่เมื่อเราพัฒนามัน ก็จะทำให้เราสูญเสียความสงบของจิตใจและสูญเสียการควบคุมตนเอง

เนื่องจากเราสูญเสียความสงบของจิตใจ มันจึงรบกวน มันรบกวนความสงบของจิตใจเรา เนื่องจากเรารู้สึกไม่สบายใจเมื่อเราสูญเสียความสงบในจิตใจ เราจึงไม่มีความชัดเจนในความคิดหรือความรู้สึกของเรา เนื่องจากการขาดความชัดเจนนั้น เราจึงสูญเสียความรู้สึกของการแยกแยะที่จำเป็นสำหรับการควบคุมตนเอง เราจำเป็นจะต้องสามารถแยกแยะระหว่างสิ่งที่เป็นประโยชน์กับสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ได้ หมายถึงว่า อะไรเหมาะสมและอะไรที่ไม่เหมาะสมในบางสถานการณ์ได้

อารมณ์ที่รบกวนจิตใจอาจมาพร้อมกับสภาพจิตใจที่สร้างสรรค์ได้

ตัวอย่างของอารมณ์ที่รบกวนจิตใจ เช่น ความยึดติดหรือความอยากได้ ความโกรธ ความอิจฉาริษยา ความทะนงตน ความเย่อหยิ่ง ฯลฯ อารมณ์ที่รบกวนจิตใจเหล่านี้บางอย่างอาจทำให้เรากระทำในสิ่งที่เป็นไปในทางทำลาย แต่ก็ไม่จริงเสมอไป ยกตัวอย่างเช่น ความยึดติดและความอยากได้อาจนำเราไปสู่การกระทำที่เป็นไปในทางทำลาย เช่น ออกไปขโมยของ แต่เราก็อาจมีความอยากได้ที่จะได้รับความรักและเรายึดติดกับสิ่งนั้น ด้วยเหตุนี้ เราจึงช่วยเหลือผู้อื่นเพื่อที่จะได้รับความรักจากพวกเขา การช่วยเหลือผู้อื่นไม่ใช่เป็นการทำลาย มันเป็นสิ่งที่สร้างสรรค์ แต่มันมีอารมณ์ที่รบกวนจิตใจอยู่เบื้องหลังมันที่ว่า “ฉันต้องการที่จะได้รับความรัก ดังนั้น ฉันจึงขอให้คุณรักฉันเป็นการตอบแทน”

หรือพิจารณากรณีของความโกรธ ความโกรธอาจชักนำให้เราทำในสิ่งที่เป็นไปในทางทำลายได้ นั่นคือ ออกไปทำร้ายใคร หรือแม้แต่ฆ่าคน ๆ นั้นเพราะเราโกรธมาก นั่นคือพฤติกรรมที่เป็นการทำลาย แต่สมมติว่าเราโกรธเกี่ยวกับความอยุติธรรมของระบบบางระบบหรือบางสถานการณ์ และเราโกรธมันมากจนทำบางสิ่งบางอย่างเพื่อพยายามเปลี่ยนแปลงมัน สิ่งที่เราทำไม่จำเป็นต้องเป็นความรุนแรง แต่ประเด็นก็คือ การทำสิ่งที่สร้างสรรค์หรือสิ่งที่เป็นบวกในที่นี้ก็ยังถูกกระตุ้นโดยอารมณ์ที่รบกวนจิตใจ เราไม่มีความสงบในจิตใจ และเนื่องจากเราไม่มีความสงบในจิตใจ เมื่อเราทำการกระทำในเชิงบวกนั้น จิตใจและความรู้สึกของเราก็จะไม่ชัดเจนมากนัก และสภาวะทางอารมณ์ของเราก็ไม่คงที่มากนัก

ดังนั้น ในกรณีเหล่านี้ ด้วยความอยากได้หรือความโกรธ เราจึงต้องการให้อีกฝ่ายรักเราหรือต้องการให้ความอยุติธรรมยุติลง สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่สภาพจิตใจที่มั่นคงหรือสภาพทางอารมณ์ที่มั่นคง เนื่องจากมันไม่ใช่สภาพจิตใจที่ชัดเจนหรือสภาพทางอารมณ์ที่ชัดเจน เราจึงไม่ได้คิดอย่างถี่ถ้วนเกี่ยวกับสิ่งที่จะทำและจะทำมันออกมาตามความตั้งใจจริง ๆ อย่างไร ส่งผลให้เราควบคุมตนเองไม่ได้ ตัวอย่างเช่น เราอาจพยายามช่วยใครสักคนทำบางสิ่งบางอย่าง แต่วิธีที่ดีกว่าในการช่วยเหลือคน ๆ นั้นก็อาจปล่อยให้เขาทำเอง สมมติว่าถ้าเรามีลูกสาวที่โตแล้วและเราต้องการช่วยเธอทำอาหาร หรือดูแลบ้าน หรือดูแลลูก ๆ ของเธอ ในหลาย ๆ ด้าน มันก็จะเป็นการก้าวก่าย ลูกสาวของเราอาจไม่ซาบซึ้งกับการที่ถูกสอนเรื่องวิธีทำอาหารหรือวิธีเลี้ยงลูกจริง ๆ ก็ได้ แต่เราต้องการที่จะได้รับความรักและเราต้องการที่จะทำประโยชน์ ดังนั้น เราจึงผลักดันตัวเราเองให้กับเธอ เรากำลังทำอะไรที่สร้างสรรค์ แต่ในการทำเช่นนั้น เราสูญเสียการควบคุมตนเองที่อาจจะทำให้เราคิดว่า “มันน่าจะดีกว่าถ้าฉันจะเงียบและไม่แสดงความคิดเห็นและไม่เสนอความช่วยเหลืออะไร”

แม้ว่าเราจะช่วยเหลือในสถานการณ์ที่เหมาะสมที่จะช่วยเหลือผู้อื่น เราก็จะยังรู้สึกไม่สบายใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ เพราะเราอาจคาดหวังบางสิ่งบางอย่างเป็นการตอบแทน เราต้องการที่จะได้รับความรัก เราต้องการเป็นที่ต้องการ เราต้องการที่จะได้รับการชื่นชม ด้วยความอยากได้นี้เป็นเงื่อนไขในใจของเรา ดังนั้นแล้ว ถ้าลูกสาวของเราไม่ตอบสนองในแบบที่เราต้องการ เราก็จะอารมณ์เสียมาก

กลไกของอารมณ์ที่รบกวนจิตใจนี้ทำให้เราสูญเสียความสงบของจิตใจและสูญเสียการควบคุมตนเองนั้นชัดเจนมากยิ่งขึ้นเมื่อเรากำลังต่อสู้กับความอยุติธรรม รู้สึกรำคาญกับมันจริง ๆ เราอารมณ์เสียจริง ๆ หากเรากำลังจะแสดงออกบนพื้นฐานของความไม่พอใจนั้น ซึ่งโดยปกติแล้วเราก็จะไม่คิดอย่างชัดเจนว่าจะทำอย่างไร บ่อยครั้งที่เราไม่ปฏิบัติตามแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดเพื่อทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่เราต้องการ

กล่าวโดยสรุป ไม่ว่าเราจะกระทำสิ่งที่เป็นไปในทางทำลายหรือกระทำสิ่งที่สร้างสรรค์ ถ้าสิ่งที่เราทำนั้นมาพร้อมกับแรงจูงใจและอารมณ์ที่รบกวนจิตใจควบคู่กันไปด้วยแล้ว พฤติกรรมของเราจะก่อให้เกิดปัญหา แม้ว่าเราจะไม่สามารถคาดเดาได้อย่างแม่นยำว่าจะสร้างปัญหาให้กับคนอื่นหรือไม่ แต่หลัก ๆ แล้วมันก็จะสร้างปัญหาให้กับเรา ปัญหาเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นทันที มันเป็นปัญหาระยะยาวในแง่ที่ว่าการกระทำภายใต้อิทธิพลของอารมณ์ที่รบกวนจิตใจจะสร้างนิสัยให้ทำซ้ำแล้วซ้ำอีกในวิถีทางที่รบกวน ด้วยวิธีนี้ พฤติกรรมบีบบังคับของเราตามอารมณ์ที่รบกวนจิตใจก็จะสร้างชุดพฤติกรรมที่เป็นปัญหาในระยะยาว เราจะไม่เคยมีความสงบในจิตใจเลย

ตัวอย่างที่ชัดเจนของสิ่งนั้นคือ การมีแรงจูงใจที่จะช่วยเหลือและทำสิ่งดี ๆ เพื่อผู้อื่นเพราะเราต้องการที่จะได้รับความรักและการขอบคุณ เบื้องหลังสิ่งนั้นโดยพื้นฐานคือ เรารู้สึกไม่มั่นใจ แต่ยิ่งเรากระทำการด้วยแรงจูงใจแบบนี้มากเท่าไหร่ มันก็ยิ่งจะไม่เคยทำให้เราพอใจเลย เราไม่เคยรู้สึกว่า “โอเค ตอนนี้ฉันได้รับความรักแล้ว พอแล้ว ฉันไม่ต้องการอะไรอีกแล้ว” เราไม่เคยรู้สึกแบบนั้น ดังนั้น พฤติกรรมของเราจึงยิ่งตอกย้ำและเสริมสร้างนิสัยของความรู้สึกบีบบังคับนี้มากขึ้นไปอีก “ฉันต้องรู้สึกได้รับความรัก รู้สึกสำคัญ รู้สึกได้รับการขอบคุณ” คุณเพียงแค่ให้มากขึ้นเรื่อย ๆ โดยความหวังที่จะได้รับความรัก แต่คุณรู้สึกคับข้องใจอยู่เสมอ คุณคับข้องใจเพราะถึงแม้ว่าจะมีคนขอบคุณคุณ คุณก็ยังคิดว่า “พวกเขาไม่ได้หมายความอย่างนั้นจริง ๆ” อะไรแบบนี้ เพราะเหตุนั้นเราจึงไม่เคยมีความสงบในจิตใจเลย และมันก็ยิ่งแย่ลงเรื่อย ๆ เพราะกลุ่มอาการนี้มันจะเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า และซ้ำแล้วซ้ำเล่าอยู่อย่างนั้น นั่นเรียกว่า “สังสารวัฏ” ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกอย่างควบคุมไม่ได้

มันไม่ยากเลยที่จะรับรู้กลุ่มอาการประเภทนี้ตอนที่อารมณ์ที่รบกวนจิตใจทำให้เรากระทำเชิงลบหรือเป็นไปในทางทำลาย ตัวอย่างเช่น เราอาจรู้สึกรำคาญอยู่เสมอ และเนื่องจากเราหงุดหงิดและโกรธในเรื่องที่เล็กน้อยที่สุด ดังนั้น ในความสัมพันธ์ของเรากับผู้อื่น เราจึงมักจะพูดในลักษณะที่รุนแรงหยาบคายหรือพูดสิ่งที่โหดร้ายต่าง ๆ และมันก็เห็นได้ชัดว่าไม่มีใครชอบเราและผู้คนก็ไม่อยากอยู่กับเรามากจริง ๆ และมันก็ทำให้ความสัมพันธ์ของเรามีปัญหามากมาย มันจึงค่อนข้างง่ายที่จะรับรู้ว่ากำลังเกิดอะไรขึ้น แต่มันไม่ง่ายเลยที่จะรับรู้มันตอนที่อารมณ์ที่รบกวนจิตใจอยู่เบื้องหลังการกระทำในเชิงบวกของเรา แต่เราจำเป็นจะต้องรับรู้มันในทั้งสองสถานการณ์

วิธีการรับรู้ว่าเมื่อไหร่ที่เราอยู่ภายใต้อิทธิพลของอารมณ์ ทัศนคติ หรือสภาพจิตใจที่รบกวน

คำถามก็คือว่า เราจะรับรู้ได้อย่างไรว่าเรากำลังกระทำการอยู่ภายใต้อิทธิพลของอารมณ์หรือทัศนคติที่รบกวนจิตใจ มันไม่จำเป็นต้องเป็นแค่อารมณ์เท่านั้น แต่มันยังอาจเป็นทัศนคติต่อชีวิตหรือทัศนคติต่อตัวเราเองก็ได้ สำหรับสิ่งนี้ เราจำเป็นจะต้องมีความสำนึกเล็กน้อยที่จะคิดอย่างลึกซึ้งและสังเกตความรู้สึกภายในของเรา ในการทำเช่นนี้ คำจำกัดความของอารมณ์ที่รบกวนหรือทัศนคติที่รบกวนจิตใจนั้นมีประโยชน์มาก นั่นคือ มันทำให้เราสูญเสียความสงบของจิตใจและสูญเสียการควบคุมตนเอง

ถ้าเวลาที่เรากำลังจะพูดหรือกำลังจะทำอะไรบางอย่าง เรารู้สึกประหม่าเล็กน้อยภายใน เราไม่รู้สึกผ่อนคลายอย่างสมบูรณ์ นั่นเป็นสัญญาณว่าอารมณ์บางอย่างกำลังรบกวนเราอยู่

มันอาจจะไม่รู้ตัวและบ่อยครั้งมันก็มักจะไม่รู้ตัว แต่ก็จะมีอารมณ์ที่รบกวนจิตใจบางอย่างอยู่เบื้องหลังมัน

สมมติว่า เราพยายามอธิบายบางสิ่งบางอย่างให้ใครบางคนฟัง ถ้าเราสังเกตเห็นว่าเรารู้สึกไม่สบายใจเล็กน้อยในท้องของเราขณะที่พูดคุยกับบุคคลนั้น นั่นเป็นสัญญาณที่ดีว่ามีความภาคภูมิใจอยู่บ้างเบื้องหลังมัน เป็นต้น เราอาจรู้สึกว่า “ฉันฉลาดแค่ไหน ฉันเข้าใจมัน ฉันจะช่วยให้คุณเข้าใจมัน” เราอาจต้องการช่วยเหลืออีกคนหนึ่งด้วยการอธิบายบางสิ่งบางอย่างให้เขาฟังอย่างจริงใจ แต่ถ้าเรารู้สึกไม่สบายใจเล็กน้อยในท้องของเรา นั่นแสดงว่า มันก็ยังมีความภูมิใจอยู่บ้างตรงนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเราพูดถึงความสำเร็จหรือคุณสมบัติที่ดีของเราเอง บ่อยครั้งมาก ๆ ที่เราประสบกับความไม่สบายใจเล็กน้อย

หรือพิจารณากรณีทัศนคติที่รบกวนจิตใจ เช่น ทัศนคติที่ว่า “ทุกคนควรใส่ใจฉัน” ซึ่งบ่อยครั้งที่เรามีสิ่งนี้ เราไม่ชอบถูกละเลย ไม่มีใครชอบถูกละเลย เราจึงรู้สึกว่า “ผู้คนควรให้ความใส่ใจฉันและฟังสิ่งที่ฉันพูด” เป็นต้น นั่นอาจมาพร้อมกับความประหม่าภายใน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าผู้คนไม่ใส่ใจเรา ทำไมพวกเขาต้องใส่ใจเราด้วย? เมื่อคุณคิดถึงเกี่ยวกับมัน มันก็ไม่มีเหตุผลที่ดีอะไรเลย

คำในภาษาสันสกฤต “กิเลส” (klesha) ซึ่งในภาษาทิเบตคือ “นยน-มง” (nyon-mong)  เป็นคำที่ยากมากที่ผมกำลังแปลอยู่ตรงนี้ว่าเป็น “อารมณ์ที่รบกวน” หรือ “ทัศนคติที่รบกวน” มันยากเพราะมีบางส่วนที่ไม่เข้ากับหมวดหมู่ของอารมณ์หรือทัศนคติ เช่น ความไร้เดียงสา เราอาจไร้เดียงสาได้มาก ๆ เกี่ยวกับผลกระทบของพฤติกรรมของเราต่อผู้อื่นหรือต่อตัวเราเอง หรือเราอาจจะไร้เดียงสาเกี่ยวกับสถานการณ์ ซึ่งก็คือ ความเป็นจริงของสิ่งที่เกิดขึ้น สมมติว่าเราไร้เดียงสาว่ามีคนไม่สบายหรือมีคนอารมณ์เสีย ในสถานการณ์เช่นนี้ เราอาจไร้เดียงสาได้อย่างแน่นอนเกี่ยวกับผลของการพูดอะไรกับพวกเขาว่ามันจะเป็นอย่างไร พวกเขาอาจจะรำคาญเรามาก ถึงแม้ว่าเราจะมีเจตนาดีก็ตาม

เมื่อเรามีสภาพจิตใจที่รบกวนแบบนั้น สมมติว่าเราเรียกมันแบบนั้น เราก็คงไม่จำเป็นต้องรู้สึกไม่สบายจากภายใน แต่อย่างที่เราเห็น เมื่อเราสูญเสียความสงบของจิตใจไป จิตใจของเราก็ไม่ชัดเจน ดังนั้น เมื่อเราไร้เดียงสา จิตใจของเราก็ไม่ชัดเจน เราอยู่ในโลกใบเล็ก ๆ ของเราเอง เราสูญเสียการควบคุมตนเองในแง่ที่ว่า เนื่องจากเราอยู่ในโลกใบเล็ก ๆ ของเราเอง เราจึงไม่แยกแยะระหว่างสิ่งที่เป็นประโยชน์และเหมาะสมในสถานการณ์หนึ่งกับสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์และไม่เหมาะสมในสถานการณ์นั้น เนื่องจากเราขาดการแยกแยะ เราจึงไม่กระทำการอย่างเหมาะสมและละเอียดอ่อน กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ เราไม่มีการควบคุมตนเองเพื่อให้สามารถกระทำการได้อย่างถูกต้องและยับยั้งไม่ให้ทำสิ่งที่ไม่เหมาะสมได้ ด้วยเหตุนี้ ความไร้เดียงสาจึงเข้ากับคำจำกัดความของสภาพจิตใจที่รบกวน แม้ว่าจะเป็นเรื่องยากที่จะคิดว่าความไร้เดียงสาเป็นอารมณ์หรือทัศนคติก็ตาม อย่างที่ผมพูดไปว่า “กิเลส” เป็นศัพท์ที่ยากมากที่จะหาคำแปลที่ดีจริง ๆ ได้

อารมณ์ที่ไม่รบกวนจิตใจ

ในภาษาสันสกฤตและภาษาทิเบตไม่มีคำว่า “อารมณ์” ภาษาเหล่านี้พูดถึงปัจจัยของจิตใจ ซึ่งเป็นองค์ประกอบต่าง ๆ ที่ประกอบขึ้นเป็นแต่ละขณะของสภาพจิตใจของเรา พวกเขาแบ่งปัจจัยของจิตใจเหล่านี้ออกเป็นปัจจัยที่รบกวนและปัจจัยที่ไม่รบกวนจิตใจและเป็นปัจจัยที่สร้างสรรค์และปัจจัยที่ทำลาย ทั้งสองคู่ไม่ทับซ้อนกันทั้งหมด นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยของจิตใจที่ไม่อยู่ในหมวดหมู่เหล่านี้ ในแง่ของสิ่งที่เราในตะวันตกเรียกว่า “อารมณ์” มีบางอย่างที่รบกวนและบางอย่างที่ไม่รบกวน มันไม่ใช่ว่าเรามุ่งเป้าไปที่ศาสนาพุทธเพื่อกำจัดอารมณ์ทั้งหมด ไม่ใช่เลย เราแค่ต้องการกำจัดอารมณ์ที่รบกวนจิตใจเท่านั้น ซึ่งทำได้ใน 2 ขั้นตอน ขั้นตอนแรกคือ ไม่อยู่ภายใต้การควบคุมของมัน และขั้นตอนที่สองคือ การกำจัดมันเพื่อไม่ให้มันเกิดขึ้น

อะไรที่น่าจะเป็นอารมณ์ที่ไม่รบกวนจิตใจ? เราอาจคิดว่า “ความรัก” เป็นอารมณ์ที่ไม่รบกวนจิตใจ หรือ “ความเห็นอกเห็นใจ” หรือ “ความอดทน” แต่เมื่อเราวิเคราะห์คำเหล่านี้ที่เรามีในภาษาทางยุโรปของเรา เราก็จะพบว่าแต่ละอารมณ์เหล่านี้อาจมีความหลากหลายที่รบกวนและไม่รบกวนได้ ดังนั้น เราจึงต้องระวังกันนิดนึง ถ้าความรักเป็นความรู้สึกแบบที่เรารู้สึกว่า “ฉันรักคุณมาก ฉันต้องการคุณ อย่าทิ้งฉันไป!” ถ้าอย่างนั้นความรักประเภทนี้ก็ค่อนข้างจะรบกวนจิตใจ มันรบกวนจิตใจเพราะว่าถ้าคน ๆ นั้นไม่รักเราตอบหรือไม่ต้องการเรา เราก็จะอารมณ์เสียมาก เราจะโกรธมากและจู่ ๆ อารมณ์เราก็จะเปลี่ยนไป “ฉันไม่รักคุณอีกต่อไปแล้ว”

ดังนั้น เวลาที่เราวิเคราะห์สภาพของจิตใจ แม้ว่าเราอาจคิดว่ามันเป็นสภาพทางอารมณ์ และเราอาจเรียกว่า “ความรัก” ที่จริงแล้ว สภาพจิตใจนี้เป็นส่วนผสมของปัจจัยของจิตใจหลายอย่าง เราไม่ได้ประสบแค่อารมณ์อย่างเดียว สภาพทางอารมณ์ของเรามักจะผสมปนเปกันเสมอ มีองค์ประกอบที่แตกต่างกันมากมาย ความรักแบบที่เรารู้สึกว่า “ฉันรักคุณ ฉันอยู่ไม่ได้ถ้าไม่มีคุณ” เป็นการพึ่งพาประเภทหนึ่งและค่อนข้างรบกวนจิตใจ แต่ก็มีความรักที่ไม่รบกวนจิตใจ ซึ่งเป็นเพียงความปรารถนาให้อีกฝ่ายมีความสุขและมีเหตุแห่งความสุข ไม่ว่าพวกเขาจะทำอะไรก็ตาม เราไม่ได้คาดหวังอะไรกลับมาจากพวกเขา

ตัวอย่างเช่น เราอาจมีความรักที่ไม่รบกวนจิตใจต่อลูก ๆ ของเรา เราไม่ได้คาดหวังอะไรกลับมาจากพวกเขาจริง ๆ เห็นได้ชัดว่าพ่อแม่บางคนเป็นอย่างนั้น แต่โดยปกติ ไม่ว่าลูกจะทำอะไร เราก็ยังรักลูก เราอยากให้ลูกมีความสุข แต่บ่อยครั้งที่สิ่งนี้ปะปนกับสภาพที่รบกวนจิตใจอีกอย่างหนึ่ง นั่นคือเราต้องการให้ตัวเราเองสามารถทำให้พวกเขามีความสุขได้ ถ้าเราทำอะไรโดยตั้งใจให้ลูกมีความสุข เช่น พาลูกไปงานเชิดหุ่นกระบอก แล้วมันก็ไม่ได้ผล มันไม่ได้ทำให้พวกเขามีความสุข พวกเขาอยากจะเล่นเกมคอมพิวเตอร์มากกว่า เราก็รู้สึกแย่มาก เรารู้สึกแย่มากเพราะเราต้องการเป็นสาเหตุของความสุขของลูก ไม่ใช่เกมคอมพิวเตอร์ แต่เรายังคงเรียกความรู้สึกนั้นต่อลูกของเราว่า “ความรัก” “ฉันต้องการให้คุณมีความสุข ฉันจะพยายามทำให้คุณมีความสุข แต่ฉันอยากเป็นคนที่สำคัญที่สุดในชีวิตของคุณที่ทำแบบนั้น”

ดังนั้น ประเด็นของการสนทนาที่ซับซ้อนทั้งหมดนี้ก็คือ  เราจำเป็นจะต้องพิจารณาสภาพทางอารมณ์ของเราอย่างละเอียดถี่ถ้วน และไม่จมปลักกับคำพูดที่เราใช้เพื่อระบุอารมณ์ต่าง ๆ เราจำเป็นต้องตรวจสอบจริง ๆ เพื่อค้นหาว่าด้านใดของสภาพจิตใจของเราที่กำลังรบกวนเราอยู่ และทำให้เราสูญเสียความสงบของจิตใจ สูญเสียความชัดเจน สูญเสียการควบคุมตนเอง นี่คือสิ่งที่เราต้องฝึกพัฒนา

ความไม่ตระหนักรู้เป็นเหตุที่อยู่เบื้องหลังของอารมณ์ที่รบกวนจิตใจ

ถ้าเราต้องการกำจัดสภาพจิตใจ หรืออารมณ์ หรือทัศนคติที่รบกวนจิตใจเหล่านี้ออกไป เราจำเป็นจะต้องหาสาเหตุของมันให้ได้ ถ้าเราสามารถขจัดสาเหตุที่อยู่เบื้องหลังมันได้ เราก็จะสามารถกำจัดมันออกไปได้ มันไม่ใช่แค่การขจัดอารมณ์ที่รบกวนจิตใจตัวเราเองซึ่งเป็นสาเหตุของปัญหาของเราเท่านั้น แต่จริง ๆ แล้ว เราจำเป็นจะต้องไปที่รากเหง้าของอารมณ์ที่รบกวนจิตใจนั้นและกำจัดสิ่งนั้นออกไป

ถ้าอย่างนั้น อะไรคือสาเหตุที่ลึกที่สุดของสภาพจิตใจที่รบกวนเหล่านี้? สิ่งที่เราพบคือ สิ่งที่มักจะแปลว่า “ความไม่รู้” หรือที่ผมชอบแปลก็คือ “ความไม่ตระหนักรู้” เราไม่ตระหนักรู้อะไรบางอย่าง เราแค่ไม่รู้ก็เท่านั้น ความไม่รู้ดูเหมือนเราโง่ มันไม่ใช่ว่าเราโง่ เพียงแต่เราไม่รู้ก็เท่านั้น หรือมันอาจเป็นเพราะเราสับสน เราเข้าใจบางสิ่งบางอย่างไม่ถูกต้อง

เราสับสนเรื่องอะไร หรือเราไม่ตระหนักรู้เรื่องอะไร? โดยพื้นฐานแล้ว มันคือผลกระทบของพฤติกรรมของเราและมันคือสถานการณ์ต่าง ๆ เราโกรธ หรือยึดติด หรืออารมณ์เสียมากไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง และมันก็ทำให้เรากระทำอย่างบีบบังคับ ซึ่งตั้งอยู่บนนิสัยและแนวโน้มก่อน ๆ นั่นคือทั้งหมดที่เกี่ยวกับกรรม ซึ่งก็คือการบีบบังคับให้กระทำในลักษณะที่ขึ้นอยู่กับอารมณ์ที่รบกวนหรือทัศนคติที่รบกวนจิตใจ ดังนั้นแล้ว จึงไม่มีการควบคุมตนเอง

สิ่งที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังพฤติกรรมบีบบังคับนั้นคือ การไม่ตระหนักรู้ นั่นคือ เราไม่รู้ว่าสิ่งที่เราทำหรือพูดจะส่งผลกระทบอย่างไร หรือเราสับสน นั่นคือ เราคิดว่าการขโมยอะไรบางอย่างจะทำให้เรามีความสุข แต่มันก็ไม่เป็นเช่นนั้น หรือเราคิดว่าการช่วยคุณจะทำให้ฉันรู้สึกเป็นที่ต้องการและเป็นที่รัก แต่มันก็ไม่ได้เป็นแบบนั้น เราไม่รู้ว่าผลจะเป็นอย่างไร “ฉันไม่รู้ว่าถ้าฉันพูดออกไปแบบนั้น มันจะทำร้ายคุณ” หรือเราสับสนกับมัน “ฉันคิดว่ามันจะช่วยได้แต่ก็ไม่ได้” “ฉันคิดว่ามันจะทำให้ฉันมีความสุข แต่มันก็ไม่ใช่” หรือมันจะทำให้คุณมีความสุข มันก็ไม่ใช่ หรือเกี่ยวกับสถานการณ์ต่าง ๆ  “ฉันไม่รู้ว่าคุณยุ่ง” หรือ “ฉันไม่รู้ว่าคุณแต่งงานแล้ว” หรือเราอาจสับสนว่า “ฉันคิดว่าคุณมีเวลาเหลือเฟือ” แต่คุณก็ไม่มี “ฉันคิดว่าคุณโสด ไม่มีคู่ ฉันก็เลยพยายามสานสัมพันธ์ที่โรแมนติกกับคุณ” ซึ่งไม่เหมาะสม ดังนั้น เช่นเคยว่า เราไม่ตระหนักรู้ถึงสถานการณ์ต่าง ๆ ไม่ว่าเราจะไม่รู้หรือเราสับสนเกี่ยวกับสถานการณ์ต่าง ๆ แต่เราก็รู้ว่ามันเป็นหนทางที่ผิด

ตอนนี้ มันเป็นความจริงที่ว่า การขาดความตระหนักรู้เป็นรากเหง้าของการกระทำอย่างบีบบังคับของเรา แต่มันก็ไม่ชัดเจนมากนักว่า มันเป็นรากเหง้าของอารมณ์ที่รบกวน และอารมณ์ที่รบกวนนั้นเชื่อมโยงกับพฤติกรรมบีบบังคับอย่างมาก ดังนั้น เราจึงจำเป็นจะต้องพิจารณาประเด็นเหล่านี้ให้รอบคอบมากขึ้น

Top