บทนำ
ทัศนคติที่กว้างไกล (ความสมบูรณ์แบบ) ประการที่ 4 ในหกประการ คือความเพียร ซึ่งหมายถึงสภาพจิตใจที่มีส่วนร่วมอย่างกระตือรือร้นในพฤติกรรมที่สร้างสรรค์และคงไว้ซึ่งความพยายามในสิ่งนั้น มันครอบคลุมมากกว่านั้น ไม่ใช่แค่เพียงการกระทำเชิงบวกเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการมีความกล้าหาญอย่างวีรบุรุษที่จะไม่ยอมแพ้และมีความปีติยินดีในการทำสิ่งที่สร้างสรรค์ด้วย
นี่ไม่ใช่การมีทัศนคติของการทำงานหนักจริง ๆ เราเกลียดงานของเรา แต่ก็ยังทำงานนั้นอยู่เพราะความรู้สึกในหน้าที่ ความรู้สึกผิด ภาระผูกพัน หรืออะไรทำนองนั้น และมันก็ไม่ใช่เกี่ยวกับการทำงานทุกวันอย่างเครื่องจักรเหมือนคนบ้างาน มันไม่ใช่สิ่งที่เราเรียกว่า “ความกระตือรือร้นในระยะสั้น” ที่เรารู้สึกตื่นเต้นอย่างมากจริง ๆ ที่ได้ทำอะไรบางอย่าง มีการใช้พลังงานจำนวนมหาศาลในการทำงานนั้น แต่จากนั้นก็เหนื่อยหน่ายและยอมแพ้หลังจากผ่านไปหนึ่งสัปดาห์ ที่นี่ เรากำลังพูดถึงความพยายามและความกระตือรือร้นอย่างต่อเนื่อง และนั่นคือเหตุผลว่าทำไมมันจึงถูกเรียกว่า ความเพียร เหตุผลที่มันยั่งยืนก็เพราะเรามีความปีติยินดีกับสิ่งที่เรากำลังทำอยู่ ซึ่งเป็นผลงานเชิงบวกทั้งหมดที่เรามีส่วนร่วม ความเพียรควบคู่ไปกับความกล้าหาญอย่างวีรบุรุษเป็นคู่ต่อสู้ที่ดีที่สุดของความเกียจคร้านและการผัดวันประกันพรุ่ง
ความเพียรเหมือนเกราะป้องกัน
ความเพียรมีอยู่ 3 ประเภท ประเภทแรกมีลักษณะเหมือนเกราะป้องกัน นี่คือความเต็มใจที่จะกระทำต่อไปไม่ว่าจะใช้เวลานานแค่ไหนหรือยากแค่ไหนก็ตาม ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นเราจะไม่เกียจคร้านหรือท้อถอย ถ้าเรารู้ว่าเส้นทางแห่งพระธรรมจะใช้เวลานาน นานจริง ๆ และถ้าเราเต็มใจแม้จะต้องไปนรกเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น ถ้าอย่างนั้นแล้วมันก็เป็นไปไม่ได้ที่จะเกียจคร้านหรือท้อแท้กับปัญหาที่เล็กกว่าที่อาจจะตามมา เรามีทัศนคติที่เป็นเหมือนเกราะป้องกันที่ว่า “ไม่มีอะไรจะมาสั่นคลอนฉันได้!” ความกล้าหาญอย่างวีรบุรุษแบบนี้จะช่วยปกป้องเราจากความยากลำบากที่เราเผชิญ เพราะเราได้ตัดสินใจแล้วว่าไม่ว่าจะได้รับความยากลำบากแค่ไหนหรือจะต้องใช้เวลานานแค่ไหน เราก็จะทำมัน
ในทางหนึ่ง ยิ่งเราคาดว่าการตรัสรู้จะใช้เวลานานขึ้น การตรัสรู้ก็จะมาถึงเราเร็วขึ้นเท่านั้น ในขณะเดียวกัน ถ้าเราคาดว่ามันจะมาในทันทีและง่ายดาย มันก็จะใช้เวลาตลอดไป ในตำราหลายเล่มและจากคำสอนของอาจารย์ผู้ยิ่งใหญ่หลายท่านกล่าวว่า หากเราแสวงหาการตรัสรู้ที่ง่ายและรวดเร็ว โดยพื้นฐานแล้ว มันก็เป็นสัญญาณบ่งบอกถึงความเห็นแก่ตัวและความเกียจคร้านของเราเอง เราต้องการผลลัพธ์ แต่เราจะไม่ใช้เวลามากมายในการช่วยเหลือผู้อื่น เราแค่อยากได้ขนมหวานแห่งการตรัสรู้ที่แสนอร่อยเท่านั้นเอง โดยพื้นฐานแล้ว เราขี้เกียจ! เราไม่ต้องการทุ่มเทให้กับการทำงานหนักที่เกี่ยวข้อง เราต้องการการตรัสรู้ที่มีการลดราคา และเราต้องการราคาถูกที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่การต่อรองแบบนี้ไม่มีทางได้ผล
เมื่อเรามีความเห็นอกเห็นใจด้วยทัศนคติที่ว่า “ฉันจะทำงานอย่างไม่หยุดหย่อนชั่วกัปชั่วกัลป์เพื่อสร้างพลังบวกในการช่วยเหลือผู้อื่น” ขอบเขตอันยิ่งใหญ่ของความกล้าหาญแบบวีรบุรุษนี้จะช่วยให้ตรัสรู้ได้เร็วมากขึ้น
ความเพียรใช้กับการกระทำที่สร้างสรรค์
ความเพียรประเภทที่สองคือ ความพยายามอย่างแรงกล้าในการมีส่วนร่วมในการกระทำเชิงบวกและสร้างสรรค์เพื่อสร้างพลังเชิงบวกที่จำเป็นในการนำเราไปสู่การตรัสรู้ ซึ่งหมายความว่า เราจะไม่เกียจคร้านในการปฏิบัติเบื้องต้นต่าง ๆ เช่น การหมอบกราบ และอื่น ๆ หรือไม่เกียจคร้านในการศึกษา เรียนรู้ และทำสมาธิ เราจำเป็นต้องทำสิ่งเหล่านี้ และเราควรยินดีที่จะทำสิ่งเหล่านี้
ความเพียรในการทำงานเพื่อประโยชน์ของสิ่งที่จำกัดมีชีวิต
ความเพียรประเภทที่สามคือ ความพยายามอย่างแรงกล้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานเพื่อช่วยเหลือและทำประโยชน์ต่อผู้อื่น ซึ่งหมายถึงวิธีการทั้งสี่ในการรวบรวมผู้อื่นภายใต้อิทธิพลเชิงบวกของเรา และการทำงานกับผู้คน 11 ประเภทเพื่อทำการช่วยเหลือที่กล่าวถึงในแง่ของวินัยตามหลักจริยธรรมที่กว้างไกลด้วย อย่างไรก็ตาม มันจะไม่เหมือนกันทุกอย่าง โดยพื้นฐานแล้วในที่นี้หมายถึง การช่วยเหลือคนประเภทนี้อย่างเต็มที่ในรูปแบบที่แตกต่างกันไปที่เหมาะสมกับความเพียรนี้ เรามีความยินดีในการทำสิ่งเหล่านี้ทั้งหมด รู้สึกมีความสุขจริง ๆ ที่ได้ทำประโยชน์ให้กับผู้อื่น นอกจากนี้ ด้วยความอดทน เราจะทนทานต่อความยากลำบากที่เกี่ยวข้อง และด้วยการมีวินัยในตนเองตามหลักจริยธรรม เราจะหลีกเลี่ยงอารมณ์ที่รบกวนเหล่านั้นที่จะหยุดเราไม่ให้ช่วยเหลือผู้อื่นได้จริง มันชัดเจนว่าทัศนคติที่กว้างไกลต่าง ๆ สนับสนุนกันและกันอย่างไร
ความเกียจคร้าน 3 ประเภท
ความเกียจคร้านมีอยู่ 3 ประเภทที่อาจขัดขวางความเพียรของเรา ในการฝึกปฏิบัติและพัฒนาความเพียร เราจำเป็นต้องเอาชนะความเกียจคร้าน
1. ความเกียจคร้านของความเฉื่อยชาและการผัดวันประกันพรุ่ง
พวกเราหลายคนมีประสบการณ์ตรงเกี่ยวกับความเกียจคร้านประเภทนี้ ซึ่งเรามักจะเลื่อนสิ่งต่าง ๆ ออกไปจนกว่าจะถึงพรุ่งนี้ เพื่อเอาชนะสิ่งนี้ เราควรคิดและพิจารณาใคร่ครวญถึงความตายและความไม่เที่ยง เราต้องเข้าใจว่า เราจะต้องตายอย่างแน่นอน เราไม่สามารถรู้ได้ว่าความตายจะมาถึงเมื่อไหร่ และชีวิตมนุษย์ที่มีค่าที่เปิดโอกาสให้เราทำสิ่งที่น่าอัศจรรย์มากมายนี้ก็จะหายาก
บทพิจารณาของพุทธศาสนานิกายเซนที่ผมชอบคือ “ความตายมาได้ทุกเมื่อ…ผ่อนคลาย" เป็นการดีที่จะพิจารณาไตร่ตรองคำพูดนี้ เป็นเรื่องจริงที่ว่า ความตายสามารถจู่โจมได้ทุกขณะ แต่ถ้าเราเครียด กระวนกระวาย และเคร่งเครียดกับมันมาก เราก็จะทำอะไรไม่สำเร็จเลย เราจะรู้สึกว่า “ฉันจะต้องทำทุกอย่างในวันนี้” และกลายเป็นคนบ้าคลั่ง ซึ่งไม่เป็นประโยชน์ ใช่ เราจะตาย และมันอาจเกิดขึ้นได้ทุกวินาที แต่ถ้าเราต้องการใช้ประโยชน์จากชีวิตนี้ เราก็ต้องผ่อนคลายกับข้อเท็จจริงทั้งสองข้อนี้ หากเรามีความกลัวตายอย่างรุนแรงตลอดเวลาแล้ว เราก็จะรู้สึกอยู่เสมอว่า เราไม่มีเวลาพอ
2. ความเกียจคร้านกับการยึดติดกับสิ่งที่ไม่สำคัญ
ความเกียจคร้านประเภทที่สองคือ การยึดติดกับเรื่องไร้สาระ ซึ่งพวกเราหลายคนจะเข้าใจได้อย่างง่ายดาย เราเสียเวลาไปกับการดูทีวี ซุบซิบนินทา และคุยเรื่องไร้สาระกับเพื่อนๆ คุยเรื่องกีฬา และอื่น ๆ เรื่องพวกนี้ถือเป็นการเสียเวลา และโดยพื้นฐานแล้วก็เป็นรูปแบบหนึ่งของความเกียจคร้าน มันง่ายกว่าเยอะเลยที่จะนั่งอยู่หน้าจอทีวีแทนที่จะมาทำสมาธิ ใช่ไหม! เรายึดติดกับสิ่งปกติธรรมดาทางโลกเหล่านี้ ผ่านความเกียจคร้านของเราเอง ไม่อยากลองทำบางสิ่งที่อาจยากกว่าแต่มีความหมายมากมายกว่า
นี่ไม่ได้หมายความว่า เราจะหยุดพักหาความบันเทิงหรือการพักผ่อนไม่ได้ เพราะบางครั้งเราต้องการมันเพื่อทำให้ตัวเองมีพลังขึ้นมาอีกครั้ง ประเด็นคือ อย่ายึดติดกับมันและหักโหมจนเกินไปเพราะความเกียจคร้าน เราสามารถหยุดพัก ไปเดินเล่น ดูรายการทีวีได้เสมอ แต่เราไม่จำเป็นต้องยึดติดกับมัน เมื่อเราได้รับมันเพียงพอแล้ว เราก็กลับไปทำสิ่งที่ดีกว่าที่เราทำอยู่ก่อนนั้น
วิธีที่ดีที่สุดในการเอาชนะการยึดติดกับสิ่งที่ไม่สำคัญคือ การคิดว่าความยินดีและความพึงพอใจที่เราได้รับจากความสำเร็จและกิจกรรมทางโลกไม่เคยทำให้เรามีความสุขที่ยั่งยืนอย่างไร มันไม่สำคัญว่าเราจะดูหนังกี่เรื่อง หรือนินทาคนดังต่าง ๆ มากแค่ไหน หรือว่าเราเดินทางไปยังสถานที่ต่าง ๆ มากแค่ไหน แต่มันก็ไม่ทำให้เรามีความสุขที่ยั่งยืนเลยแม้แต่น้อย วิธีเดียวที่จะได้รับความสุขที่ยั่งยืนนี้คือ การฝึกฝนตนเองด้วยวิถีแห่งธรรมเพื่อนำไปสู่ความสุขที่ยั่งยืนนั้น เราสามารถใช้เวลาทั้งหมดในการฝึกซ้อมเพื่อเตะบอลให้เข้าตาข่ายได้ แต่นั่นก็จะไม่ทำให้เราได้รับการเกิดใหม่ที่ดีกว่า
ดังนั้นประเด็นหลักที่ต้องนำไปใช้ก็คือ การไม่ยึดติด เราอาจทำบางสิ่งเพื่อการผ่อนคลาย แต่การยึดติดกับกิจกรรมและใช้ความพยายามอย่างเต็มที่ทั้งหมดไปกับการทำสิ่งนั้นเพราะเราเกียจคร้านมากเกินไปที่จะทำอะไรอย่างอื่นที่สร้างสรรค์กว่านั้น นั่นก็เป็นเพียงแค่การสูญเปล่าเท่านั้น จริง ๆ แล้ว ความเกียจคร้านประเภทนี้เป็นสิ่งกีดขวางที่จะให้เรามีความปีติยินดีในการทำสิ่งที่สร้างสรรค์
3. ความเกียจคร้านจากการหมดกำลังใจ
ความเกียจคร้านประเภทที่สามคือ การที่เรามีความเข้าใจผิดว่าไม่มีความสามารถ นั่นคือ สิ่งนั้นมันก็แค่ยากเกินไปสำหรับเรา และเราจะไม่สามารถทำมันได้เลย ดังนั้น เราจึงหมดกำลังใจ บ่อยแค่ไหนที่เราคิดว่า “ฉันจะไม่ลองทำมันด้วยซ้ำ คนอย่างฉันจะทำมันได้อย่างไร” เป้าหมายใหญ่ เช่น การตรัสรู้อาจดูน่ากลัว แต่การไม่พยายามเลยก็คือ ความเกียจคร้านนั่นเอง
เพื่อให้ผ่านพ้นไปได้ เราต้องระลึกถึงธรรมชาติแห่งความเป็นพระพุทธเจ้า นั่นคือความจริงที่ว่าเราแต่ละคนมีคุณสมบัติและศักยภาพที่น่าอัศจรรย์มากมายที่เราสามารถเติมเต็มได้ หากคนจำนวนมากสามารถทำงานตั้งแต่เช้าจนถึงกลางคืนเพียงเพื่อทำกำไรเล็กน้อยจากการขายหมากฝรั่ง หรืออะไรก็แล้วแต่ ถ้าอย่างนั้นแล้ว เราก็สามารถจัดสรรเวลาเพื่อทำบางสิ่งที่สำคัญมากกว่านี้ให้สำเร็จได้อย่างแน่นอน ถ้าเราสามารถยืนต่อแถวเป็นเวลาหลายชั่วโมงเพื่อรับบัตรเข้าชมคอนเสิร์ตที่ใช้เวลาแสดงเพียง 90 นาทีได้ ฉะนั้นแล้ว เราก็ไม่ควรคิดว่าเราไม่สามารถทำบางสิ่งที่สร้างสรรค์ที่จะนำไปสู่เป้าหมายการตรัสรู้อันเป็นนิรันดร์ได้
ปัจจัยสนับสนุนสี่ประการเพื่อพัฒนาความเพียร
ท่านศานติเทวะอธิบายปัจจัยสนับสนุนสี่ประการที่ช่วยให้เราพัฒนาความเพียรไว้ดังต่อไปนี้
1. ความเชื่อมั่นที่หนักแน่น
เรามีความตั้งใจอย่างยิ่งที่จะนำคำสอนไปปฏิบัติจากการมีความเชื่อมั่นที่หนักแน่นในคุณสมบัติเชิงบวกของพระธรรม และประโยชน์ของพระธรรมที่จะนำมาสู่เรา
2. ความแน่วแน่มั่นคงและความภาคภูมิใจในตนเอง
เราจำเป็นต้องมีความแน่วแน่และมั่นคงบนพื้นฐานของความมั่นใจในตนเองและความเข้าใจในธรรมชาติแห่งความเป็นพระพุทธเจ้า เมื่อเราเชื่อมั่นอย่างแท้จริงเกี่ยวกับธรรมชาติแห่งความเป็นพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นศักยภาพพื้นฐานภายในตัวเราทุกคน เช่นนั้นแล้ว เราก็จะมีความมั่นใจในตนเองอย่างไม่น่าเชื่อโดยอัตโนมัติ ซึ่งท่านศานติเทวะเรียกว่า “ความภาคภูมิใจ” หรือ “ความภาคภูมิใจในตนเอง” หากเรามีความมั่นใจในตนเอง เราจะมีความมั่นคงและแน่วแน่ในความพยายามของเรา ไม่ว่าจะมีอะไรขึ้นและลง เราจะเพียรพยายามด้วยความกล้าหาญอย่างวีรบุรุษต่อไป
3. ความปีติยินดี
ปัจจัยสนับสนุนข้อที่สามคือ ความปีติยินดีในสิ่งที่เรากำลังทำอยู่ เป็นความรู้สึกที่มีความสุขและพึงพอใจกับสิ่งที่เรากำลังทำอยู่กับชีวิตของเรา มันคือสิ่งที่น่าพอใจและเติมเต็มในการทำงานเพื่อพัฒนาตนเองและช่วยเหลือผู้อื่นมากที่สุด เมื่อเราทำเช่นนี้ มันจะก่อให้เกิดความรู้สึกปีติยินดีภายในตัวเราโดยธรรมชาติ
4. การปล่อยวาง
ปัจจัยสนับสนุนข้อสุดท้ายคือ การรู้ว่าเมื่อใดควรพักผ่อน เราไม่ควรออกแรงจนถึงจุดที่เราแค่ละทิ้งและยอมแพ้ และไม่สามารถกลับไปทำสิ่งที่เราทำอยู่ได้ เราต้องหาทางสายกลาง ระหว่างการผลักดันตัวเองหนักเกินไปและปฏิบัติต่อตัวเองเหมือนเด็กทารก ประเด็นนี้ไม่ได้บอกว่าทุกครั้งที่เรารู้สึกแค่เหนื่อยเล็กน้อย เราก็ควรจะนอนหลับสักงีบ!
อย่างไรก็ตาม ตริจาง รินโปเช (Trijang Rinpoche) อดีตรองครูพิเศษของสมเด็จองค์ดาไลลามะกล่าวว่า เมื่อเราอยู่ในอารมณ์ในแง่ลบที่ไม่ดีจริง ๆ และดูเหมือนว่าไม่มีวิธีการทางธรรมะอื่นใดที่จะช่วยเราได้ สิ่งที่ดีที่สุดคือการงีบหลับ เมื่อเราตื่นขึ้นมา อารมณ์ของเราจะต่างไป ก็เป็นแค่ธรรมชาติของการงีบหลับเท่านั้น นี่เป็นคำแนะนำที่ปฏิบัติได้จริง
อีกสองปัจจัยเพื่อพัฒนาความกล้าหาญอย่างวีรบุรุษ
ท่านศานติเทวะชี้ให้เห็นถึงอีกสองปัจจัยที่จะช่วยได้คือ
1. การยอมรับอย่างไม่ลังเล
ปัจจัยแรกคือ จะต้องยอมรับอย่างไม่ลังเลในสิ่งที่เราต้องฝึกปฏิบัติ และยอมรับสิ่งที่เราต้องเลิกทำ นอกจากนี้ เราจำเป็นต้องยอมรับความยากลำบากที่เกี่ยวข้อง ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับการตรวจสอบแต่ละประเด็นตามความเป็นจริงและความสามารถของเราในการจัดการกับสิ่งเหล่านี้ ซึ่งครอบคลุมถึงการยอมรับว่า เราจำเป็นต้องกระทำสิ่งที่สร้างสรรค์นี้และกระทำสิ่งที่สร้างสรรค์นั้นเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นและบรรลุการตรัสรู้จริง ๆ เรายอมรับว่ามีสิ่งต่าง ๆ ที่เราต้องเลิกทำ และจะมีความยากลำบากเข้ามาเกี่ยวข้อง
เรายอมรับมันและนำมันมาไว้กับตัวเราเอง รู้ถึงความสามารถของเราและสิ่งที่เกี่ยวข้องที่เป็นจริง เราไม่ควรมีทัศนคติที่ไม่สมจริง หากเราวางแผนที่จะทำการหมอบกราบ 100,000 ครั้ง เราต้องรู้ว่ามันจะไม่ง่ายเลยในการทำเช่นนั้น เราจะเจ็บขา เจ็บฝ่ามือ เราจะต้องเหนื่อยอย่างแน่นอน ดังนั้น เราจึงควรเตือนตัวเองถึงประโยชน์จากการกระทำสิ่งเหล่านี้
แล้วสิ่งที่เราต้องเลิกทำล่ะ ในการเริ่มต้น เราจะต้องให้เวลาที่จะทำมัน และนั่นก็อาจเป็นเรื่องยากพอสมควรแล้ว การตัดสิ่งต่าง ๆออกไปแค่จะให้เวลาเท่านั้น เราจะทบทวนตัวเองอย่างจริงใจเพื่อดูว่า “ฉันสามารถทำได้ไหม” เรายอมรับความเป็นจริงของสิ่งที่เกี่ยวข้องและเพียรพยายามอย่างมากในการทำสิ่งนั้นด้วยความกระตือรือร้นที่ปลื้มปีติ
2. การเข้าควบคุม
ปัจจัยที่สองของท่านศานติเทวะในการพัฒนาความเพียรอย่างกล้าหาญคือ เมื่อเรามีทัศนคติที่เป็นจริงในการยอมรับสิ่งที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว เราก็จะเข้าควบคุมเพื่อประยุกต์ใช้ตัวเองจริง ๆ ด้วยความตั้งใจจริง เราจะไม่เพียงแค่ปล่อยให้ตัวเองทำอะไรแบบเดิม ๆ โดยเฉพาะความเกียจคร้าน เราจะเข้าควบคุมและประยุกต์ใช้ตัวเองกับงานเชิงบวกที่เราต้องการทำให้สำเร็จ ดังที่เราอาจพูดเป็นภาษาอังกฤษว่า เรา “ใส่หัวใจของเราลงไป”
บทสรุป
เมื่อเราเชื่อมั่นอย่างแท้จริงถึงประโยชน์ของการปฏิบัติธรรมและเห็นว่าความสุขที่ได้รับนั้นหาที่เปรียบมิได้ ความเพียรพยายามในการทำสิ่งนั้นก็จะพัฒนาขึ้นโดยธรรมชาติ ไม่สำคัญว่าจะเกิดอะไรขึ้นในชีวิตของเรา หากเรามีแรงจูงใจที่แข็งแกร่งบวกกับความเพียร เช่นเดียวกับวีรบุรุษ เราก็จะบรรลุเป้าหมายของเราได้
ความเพียรจะช่วยให้เราเอาชนะอุปสรรคที่ยิ่งใหญ่ที่สุดอย่างหนึ่งที่พวกเราหลายคนเผชิญขณะที่เราพยายามจะบรรลุเป้าหมายของเรานั้น นั่นก็คือ ความเกียจคร้าน วิธีการที่อธิบายไว้ในที่นี้มีประโยชน์ไม่เพียงแต่เมื่อเราก้าวหน้าไปตามเส้นทางสู่การตรัสรู้เท่านั้น แต่ยังรวมถึงเป้าหมายทางโลกของเราตลอดชีวิตของเราด้วย