ชีวิตและบุคลิกภาพของเซอคง รินโปเช

บทบาทของรินโปเชในฐานะอาจารย์ผู้ช่วยขององค์ดาไลลามะ

เซนซับ เซอคง รินโปเชเป็นคนร่างสูงใหญ่  ท่านเป็นพระที่โกนหัว สวมใส่จีวรสีแดง และมีรอยเหี่ยวย่นตามใบหน้าอย่างมาก จึงทำให้ท่านดูมีอาวุโสมากกว่าอายุจริง  ความถ่อมตน ความปราดเปรื่อง และอารมณ์ขันเบา ๆ ของท่านทำให้ท่านดูเหมือนฤษีตามแบบฉบับเรื่องเล่านิทาน  คุณสมบัติดังกล่าวเป็นสิ่งที่ชาวตะวันตกก็สังเกตเห็นเมื่อพบเจอท่าน  ยกตัวอย่างเช่นเมื่อทีมผู้สร้างภาพยนตร์เรื่องสตาร์ วอร์ส (Star Wars) มาพบท่านที่ธรรมศาลา พวกเขาก็ตัดสินใจใช้ท่านเป็นต้นแบบสำหรับตัวละครโยดา ซึ่งเป็นผู้นำทางศาสนาในมหากาพย์  รินโปเชไม่เคยได้ดูภาพยนต์เรื่องนี้ แต่ท่านคงจะต้องขำเมื่อได้เห็นตัวละครล้อเลียนของตัวท่านอย่างแน่นอน  อย่างไรก็ตาม คุณสมบัติที่โดดเด่นที่สุดของรินโปเชก็คือความสัมพันธ์ของท่านกับสมเด็จองค์ดาไลลามะ

องค์ดาไลลามะเป็นผู้นำทางศาสนาและทางโลกของทิเบต  ตำแหน่งนี้สืบทอดต่อกันทางการกลับชาติมาเกิดใหม่  เมื่อองค์ดาไลลามะมรณภาพ ผู้เกี่ยวข้องใกล้ชิดของท่านจะปฏิบัติตามขั้นตอนอันซับซ้อนเพื่อระบุตัวตนและหาร่างที่กลับมาเกิดใหม่เป็นเด็กเล็ก  จากนั้นองค์ดาไลลามะจะได้รับการศึกษาที่ดีที่สุดจากอาจารย์ที่มีคุณสมบัติเพรียบพร้อมที่สุด  อาจารย์เหล่านี้มีทั้งอาจารย์อาวุโสและรองอาจารย์  รวมถึงเซนซับ (tsenshap) ทั้งเจ็ด ซึ่งมักแปลว่า “อาจารย์ผู้ช่วย”

พระพุทธศานาแบบทิเบตแบ่งออกเป็นสี่นิกายหลัก ๆ ซึ่งได้รับการเผยแพร่มาจากประเทศอินเดียผ่านทางผู้สืบทอดในวงศ์ต่าง ๆ แต่นิกายทั้งหมดนี้ไม่มีข้อขัดแย้งสำคัญในพื้นฐานหลักคำสอน  อาจารย์ประจำขององค์ดาไลลามะมาจากนิกายเกลุก ซึ่งเป็นนิกายที่ใหญ่ที่สุดในสี่นิกายที่กล่าวมา  เมื่อท่านได้ทรงศึกษาขั้นพื้นฐานเสร็จแล้ว จึงได้ทรงศึกษากับอาจารย์ที่สืบทอดนิกายที่เหลืออีกสามนิกาย นั่นคือเนียงม่า กาจู และสักยะ  เซนซับทั้งเจ็ดมาจากพระอารามนิกายเกลุกที่ต่างกันทั้งเจ็ดอาราม ซึ่งตั้งอยู่ใกล้ลาซา เมืองหลวงของทิเบต  พวกท่านได้รับเลือกโดยพิจารณาจากการศึกษา ผลสัมฤทธิ์ทางการฝึกสมาธิ และปัจจัยที่สำคัญที่สุดคือการพัฒนาลักษณะท่าทางของพวกเขา   เซอคง รินโปเชเป็นเซนซับที่ได้รับการแต่งตั้งจากพระอารามกันเดน จางเซ (Ganden Jangtsey) ซึ่งได้รับการก่อตั้งขึ้นโดยสองขะปะ (Tsongkhapa) เอง  ท่านผู้นี้เป็นผู้ก่อตั้งนิกายเกลุก   ตอนขึ้นรับตำแหน่งในปี ค.ศ. 1948  เซอคง รินโปเชมีอายุ 34 พรรษา และองค์ดาไลลามะทรงมีอายุ 13 พรรษา   เซอคง รินโปเชเป็นผู้เดียวที่สามารถติดตามองค์ดาไลลามะไปได้เมื่อท่านต้องทรงอพยพไปที่อินเดียในปี ค.ศ. 1959

ความเชี่ยวชาญของรินโปเช

รินโปเชทำงานรับใช้องค์ดาไลลามะด้วยศรัทธาไม่เสื่อมคลายตลอดจนท่านมรณภาพในเดือนสิงหาคม ปี ค.ศ. 1983  ตั้งแต่ที่ลาซา ไปจนถึงที่ธรรมศาลา  หน้าที่หลักของท่านคือการเข้าร่วมการเรียนขององค์ดาไลลามะทุกครั้งและอภิปรายกับท่านหลังบทเรียน เพื่อทำให้แน่ใจว่าองค์ดาไลลามะได้ทรงเข้าใจอย่างถูกต้อง  จริง ๆ แล้วองค์ดาไลลามะทรงขอให้รินโปเชเข้าดูการเรียนของท่านทุกครั้ง เพื่อที่อย่างน้อยจะได้มีลามะอีกองค์หนึ่งมาแบ่งปันความกว้างขวางของความรู้และการฝึกฝนกับท่าน  ดังนั้นรินโปเชจึงเป็นปรมาจารย์ทางสี่นิกายของพระพุทธศาสนาแบบทิเบตเหมือนกับองค์ดาไลลามะ  ความเชี่ยวชาญของท่านครอบคลุมการฝึกทางพระพุทธศาสนาที่แบ่งออกเป็นสองส่วนใหญ่ ๆ นั่นคือพระสูตรและพระตันตระ  พระสูตรสอนเรื่องหลักคำสอนพื้นฐาน และพระตันตระจะกล่าวถึงวิธีเชิงลึกสำหรับการเปลี่ยนแปลงตนเอง

นอกจากนี้ รินโปเชยังมีความรู้ทางด้านศิลปะและวิทยาศาสตร์ดั้งเดิมของพระพุทธศาสนาเป็นอย่างดี  ยกตัวอย่างเช่น ท่านเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการวัดและการสร้างเครื่องหมายแมนดาลาสองและสามมิติ ซึ่งใช้ในพิธีตันตระ รวมถึงสถูปเจดีย์ประเภทต่าง ๆ ที่ใช้การเก็บอัฐิ  นอกจากนั้นท่านยังเป็นเลิศทางด้านบทกลอน การแต่ง และหลักไวยากรณ์ภาษาทิเบตด้วย  วิธีการสอนของท่านจึงมีความสง่างามและอ่อนไหว ซึ่งสร้างความสมดุลให้กับการใส่ใจเชิงรายละเอียดของท่านได้อย่างลงตัว

เซอคง รินโปเชยังเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านการทำนายแบบทิเบต (mo) ด้วยเช่นกัน  ในการทำนายนี้ ผู้ทำนายจะต้องเข้าสมาธิ โยนลูกเต๋าสามลูกหลายครั้ง และทำนายผลลัพธ์เพื่อช่วยให้ผู้คนทำการตัดสินใจในเรื่องที่ยากลำบากได้ นอกจากนั้นท่านยังทราบเรื่องโหราศาสตร์ของทิเบตด้วย  ศาสตร์นี้ต้องใช้การฝึกฝนคณิตศาสตร์ที่ซับซ้อน เพื่อคำนวณตำแหน่งของดวงดาว  อย่างไรก็ตามแนวทางปฏิบัติของท่านสำหรับศาสตร์ลี้ลับเหล่านี้จะอยู่บนหลักความเป็นจริงและติดดินอยู่เสมอ  การปรึกษาศาสตร์เหล่านี้เป็นเครื่องมือในการช่วยเหลือเพิ่มเติม ไม่สามารถนำมาใช้แทนการตัดสินด้วยสามัญสำนึกได้

ความนอบน้อมของรินโปเชในการเป็นอาจารย์ขององค์ดาไลลามะ

ถึงแม้ว่าท่านจะมีตำแหน่งหน้าที่ที่สำคัญและความรู้ที่กว้างขวาง  รินโปเชก็ยังคงอ่อนน้อมถ่อมตนอยู่เสมอ  จริง ๆ แล้วท่านเป็นหนึ่งในอาจารย์หลักขององค์ดาไลลามะ โดยเฉพาะในการสอนกาลจักร (วัฎจักรของเวลา) ซึ่งเป็นเรื่องที่ซับซ้อนที่สุดของตำราพระตันตระ และถึงแม้ว่าท่านจะเป็นผู้มอบการเสริมตันตระให้กับลูกศิษย์เด่น ๆ ท่านก็ไม่เคยชอบให้คนเรียกว่า “อาจารย์ผู้ช่วย” (Assistant Tutor) ในภาษาอังกฤษเลย  ท่านอยากให้ตำแหน่งเซนซับได้รับการแปลอย่างตรงตัวว่า “ผู้รับใช้ด้านการอภิปราย” แต่สุดท้ายท่านก็ยอมรับคำแปลว่า “อาจารย์คู่อภิปราย”

เซอคง รินโปเชทำงานรับใช้องค์ดาไลลามะทั้งในงานทางการและไม่เป็นทางการ  ยกตัวอย่างเช่น องค์ดาไลลามะมักทรงทำการปฏิบัติสมาธิและจัดพิธีบูชาพิเศษขึ้นสำหรับความอยู่ดีมีสุขของโลกนี้ และโดยเฉพาะสำหรับชาวทิเบต  บางครั้งท่านก็จัดพิธีเป็นการส่วนตัว บางครั้งโดยมีพระสงฆ์ที่ได้รับเลือกจำนวนหนึ่งเข้าร่วมหรือในที่ประชุมขนาดใหญ่  องค์ดาไลลามะจะทรงถือธรรมเนียมในการเชิญรินโปเชให้เข้าร่วมกระบวนการ ทำพิธี หรือทำหน้าที่เป็นประธานในพิธีแทนท่านเสมอ หากท่านติดธุระอื่นอยู่  นอกจากนี้เวลาที่องค์ดาไลลามะทรงสอน  รินโปเชจะนั่งอยู่ข้างขวาท่านเสมอ คอยบอกคำพูดใด ๆ หากองค์ดาไลลามะทรงต้องการ หรือตอบคำถามใด ๆ ที่องค์ดาไลลามะทรงถาม  เวลาที่ผู้อื่นเขินอายไม่กล้าสืบหลักคำสอน หรือธรรมเนียมของตนกับองค์ดาไลลามะโดยตรง พวกเขาก็จะสืบผ่านรินโปเชแทน  และรินโปเช ก็จะทำหน้าที่เหมือนกรวยส่งต่อข้อมูลทางศาสนาให้กับองค์ดาไลลามะ

ทักษะทางการทูต

องค์ดาไลลามะมักทรงเรียกเซอคง รินโปเชว่าเป็นผู้ให้คำปรึกษาและเป็นหัวหน้าร้อยโทในการนำนโยบายของท่านส่งต่อไปสู่อารามต่าง ๆ และสาธารณะ  นี่เป็นเพราะว่ารินโปเชมีความเป็นเลิศทางด้านการทูตทั้งในด้านศาสนาและฆราวาส  ท่านมักทำหน้าที่เป็นคนกลางในกรณีพิพาทใด ๆ ในพื้นที่ และให้คำปรึกษากับสถานที่ทำงานขององค์ดาไลลามะในเรื่องเกี่ยวกับกฏระเบียบท้องถิ่นตามที่ท่านทราบ

อารมณ์ขันที่อบอุ่นช่วยเพิ่มทักษะทางการทูตของท่านอย่างมาก ผู้คนมักจะมาเล่าเรื่องตลกให้ท่านฟัง ไม่ใช่แค่เพราะท่านหัวเราะและชื่นชมเรื่องแบบนี้มากเท่านั้น แต่ยังเป็นเพราะท่านจะเล่าเรื่องเหล่านี้ให้คนอื่นฟัง ทั้งร่างของท่านจะสั่นไปด้วยเสียงหัวเราะซึ่งทำให้ทุกคนรอบตัวท่านติดเชื้อ การผสมผสานระหว่างภูมิปัญญาที่ใช้งานได้จริงและอารมณ์ขันแสนอร่อยนี้ทำให้ทุกคนรักท่านมากใครก็ตามที่ท่านพบเจอ

การสร้างวัดขึ้นมาใหม่และการฝึกร่างทรงสำหรับมลรัฐพยากรณ์ (State Oracles) 

รินโปเชเป็นผู้ขับเคลื่อนในการสร้างอารามและสำนักชีจำนวนมากขึ้นมาใหม่ในประเทศอินเดีย เนื่องจากสถานที่เหล่านี้ในทิเบตถูกทำลายไปในช่วงการบุกรุกของจีน  ท่านเริ่มด้วยการมอบการเสริมพลังและหลักคำสอน เพื่อที่พวกท่านจะได้เริ่มต้นพิธีดั้งเดิมของตนขึ้นใหม่  วิธีนี้ได้ผลมากกับอารามของมลรัฐพยากรณ์ทั้งสองแห่ง นั่นคืออารามเนชุง (Nechung) และกาดง (Gadong) ซึ่งท่านได้คงสัมพันธไมตรีไว้ตลอดช่วงชีวิตของท่าน   รินโปเชทำหน้าที่เป็นผู้ให้คำปรึกษาทางมนุษย์คนหลักขององค์ดาไลลามะฉันใด มลรัฐพยากรณ์ก็เป็นที่ปรึกษาดั้งเดิมขององค์ดาไลลามะด้านพลังเหนือธรรมชาติฉันนั้น  พวกเขาสื่อสารกับท่านผ่านทางร่างทรง   รินโปเชเป็นผู้กำกับดูแลการฝึกฝนของร่างทรง เพื่อให้พวกเขาสามารถเป็นช่องทางผ่านอันบริสุทธิ์ของปัญญาอันสูงส่งได้

รินโปเชไม่เคยปิดกั้นความลำบากใด ๆ เพื่อการรับหรือเผยแพร่หลักคำสอนของพระพุทธเจ้า  ยกตัวอย่างเช่น ในฤดูร้อนครั้งหนึ่งท่านทนกับความร้อนระอุที่พุทธคยาเพื่อรับคำสอนจากคูนู ลามะ รินโปเช (Kunu Lama Rinpoche) ในเรื่องกาลจักร   อาจารย์ผู้เก่งกาจท่านนี้มาจากเมืองคินนอร์ ซึ่งเป็นเขตวัฒนธรรมของทิเบตในเทือกเขาหิมาลัยด้านที่อยู่ในประเทศอินเดีย  อาจารย์ท่านนี้เป็นอาจารย์ในยุคปัจจุบันเพียงท่านเดียวที่ชาวทิเบตทั้งหมดยอมรับว่าเป็นพระโพธิสัตว์  พระโพธิสัตว์คือบุคคลที่ไร้ซึ่งความเห็นแก่ตัวอย่างแท้จริงและอุทิศตนให้กับการบรรลุการตรัสรู้เพื่อสร้างประโยชน์แก่ผู้อื่นอย่างเต็มที่   พุทธคยาเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ใต้ต้นโพธิ์  เมืองนี้ตั้งอยู่ในเขตที่จนที่สุดและร้อนที่สุดของอินเดีย  ในช่วงหน้าร้อน อุณหภูมิมักขึ้นไปถึง 120 องศาฟาเรนไฮต์ ซึ่งเท่ากับประมาณ 50 องศาเซลเซียส  การอาศัยอยู่ที่นี่ถือเป็นบททดสอบที่หนักเอาการอยู่ทีเดียว เพราะมักจะไฟดับ ขาดน้ำ และไม่มีเครื่องปรับอากาศ   คูนู ลามะอาศัยอยู่ที่นี่เป็นประจำในห้องที่ไม่มีหน้าต่างและไม่มีแม้แต่พัดลมสักตัว

การฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในหุบเขาหิมาลัยแห่งสปีติ

รินโปเชเดินทางอย่างต่อเนื่องเพื่อไปสอนในประเทศอินเดีย เนปาล และท่านไปสอนในยุโรปตะวันตกและอเมริกาเหนือสองครั้ง  ถึงแม้ว่าท่านจะเคยไปเยือนเมืองที่เป็นศูนย์กลางใหญ่ ๆ มาแล้ว ท่านชอบสถานที่เล็ก ๆ ที่อยู่ห่างไกล แทบจะหาอาจารย์ไม่ได้ และก็ไม่ค่อยมีใครอยากไปด้วยอยู่เสมอ  ยกตัวอย่างเช่น บางครั้งท่านจะเดินทางด้วยจามรี ไปสอนทหารในหน่วยทหารชาวทิเบตของกองทัพอินเดีย ซึ่งอยู่บริเวณชายแดนอินโด-ทิเบต  ท่านจะกางเต็นท์ที่ในที่สูง ๆ โดยไม่ได้คำนึงถึงความสะดวกสบายเลย

ในกลุ่มเขตชายแดนที่ห่างไกลทั้งหมดนี้  รินโปเชมีความสนิทสนมกับสปิติเป็นพิเศษ ซึ่งตั้งอยู่บริเวณหุบเขาสูงของเทือกเขาหิมาลัยฝั่งอินเดียข้าง ๆ เมืองคินนอร์ บริเวณนี้เป็นที่ที่ท่านมรณภาพและกลับชาติมาเกิดใหม่  หนึ่งพันปีก่อน พื้นที่อันแห้งแล้งและปกคลุมไปด้วยฝุ่นแห่งนี้เคยเป็นส่วนหนึ่งของทิเบตและเป็นศูนย์กลางของการฟื้นพระพุทธศาสนา  อย่างไรก็ตามในยุคนี้ มาตรฐานได้ตกต่ำลงไปเหมือนกับเมื่อหนึ่งสหัสวรรษก่อน  พระสงฆ์ไม่ยึดมั่นในคำปฏิญาณการครองพรหมจรรย์และการละเว้นการดื่มสิ่งมึนเมา  พวกท่านศึกษาและปฏิบัติตามหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าจริง ๆ น้อยมาก

จากการไปเดินทางไปยังหุบเขาแห่งนี้ทั้งห้าครั้ง  รินโปเชพยายามสร้างการฟื้นฟูครั้งที่สองขึ้นมา  ท่านเริ่มกระบวนการนี้ด้วยการกำหนดอารามที่เก่าแก่ที่สุดในสปีติขึ้นใหม่ ซึ่งมีชื่อว่าทาโบ กอนปะ (Tabo Gonpa)  และมอบการเสริมพลังให้กับพระสงฆ์ รวมถึงการสืบทอดทางมุขปาฐะสำหรับพิธีดั้งเดิมด้วย  ท่านส่งอาจารย์สอนศาสนาที่รอบรู้มาที่นี่และก่อตั้งโรงเรียนสำหรับเด็กในพื้นที่ขึ้น  ในที่สุดในเดือนกรกฎาคม ปี ค.ศ. 1983  รินโปเชจึงจัดให้สมเด็จองค์ดาไลลามะทรงทำพิธีรับเข้ากาลจักรที่ทาโบ  การนำหลักคำสอนเรื่องกาลจักรขั้นต้นจากอินเดียไปสู่ทิเบตในปี ค.ศ. 1027 นั้นกลายเป็นเหตุการณ์สำคัญที่ก่อให้เกิดการบูรณะพระพุทธศาสนาขึ้นใหม่อย่างมั่นคงหลังจากช่วงเวลาแห่งความสับสนอันยาวนาน  ท่านจึงหวังว่าการขับเคลื่อนในครั้งนี้จะสามารถบรรลุจุดประสงค์เดียวกัน

บริจาคให้กับอารามต่าง ๆ อย่างกว้างขวาง

เซอคง รินโปเชเป็นผู้อุปถัมป์การสอนที่ยิ่งใหญ่ด้วยเช่นกัน  ยกตัวอย่างเช่นทุ กครั้งที่ท่านได้รับสิ่งใดจากสปีติ ท่านก็จะบริจาคสิ่งเหล่านั้นกลับไปยังอาราม  ด้วยทุนทรัพย์ที่ได้จากความใจบุญของท่าน อารามทาโบ กอนปะจึงสามารถเริ่มเทศกาลสวดมนต์ประจำปีได้  ในเทศกาลนี้คนในพื้นที่จะมารวมตัวกันเป็นเวลาสามวันเพื่อสวด โอม มานี ปัดมี ฮุม  บทสวดมนต์ดังกล่าวเกี่ยวข้องกับพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ ซึ่งเป็นปางหนึ่งของพระพุทธเจ้า (yidam) เป็นตัวแทนแห่งความความเห็นอกเห็นใจและมีความใกล้ชิดกับผู้นับถือศาสนาพุทธแบบทิเบต  การสวดมนต์บทนี้ช่วยให้เราเพ่งสมาธิอยู่กับความรักสำหรับทุกสรรพสิ่ง

รินโปเชใช้ปัจจัยที่ท่านได้รับจากการเดินสายในประเทศตะวันตกครั้งแรกของท่านสั่งทำม้วนผ้าปักขนาดใหญ่ที่พรรณนาถึงพระพุทธเจ้าปางกาลจักร  ท่านมอบผ้าม้วนนี้ให้องค์ดาไลลามะทรงใช้เมื่อท่านเสด็จไปยังพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อเสริมพลังการนั่งสมาธิในรูปแบบนี้  นอกจากนี้ท่านยังใช้ปัจจัยส่วนนี้สั่งทำม้วนภาพวาดครบชุดเกี่ยวกับชีวิตประวัติของสองขะปะ  ซึ่งท่านได้มอบให้พระอารามของท่านเอง นั่นคืออารามกานเดน จังเซหลายปีก่อนหน้านั้นท่านได้ช่วยก่อตั้งพระอารามนี้ขึ้นใหม่ในเมืองมุนทโคทะ (Mundgod) ทางตอนใต้ของอินเดีย  ต่อจากนั้นท่านใช้ปัจจัยที่ได้รับบริจาคจากการเดินสายโลกตะวันตกครั้งที่สองบริจาคช่วยเหลือพระสงฆ์และชีมากกว่า 4000 รูปที่มารวมตัวกันที่อารามเดรปุง (Drepung) ในเมืองมุนทโคทะในเดือนมีนาคม ค.ศ.1983 สำหรับการเฉลิมฉลองมนลัม (Monlam) แบบเต็มรูปแบบครั้งแรกในอินเดีย   มนลัมเป็นเทศกาลสวดมนต์ใหญ่ที่ปกติจะจัดขึ้นที่เมืองลาซา ซึ่งจะมีคณะสงฆ์ทั้งหมดเข้าร่วมชุมนุมกันเป็นเวลาหนึ่งเดือนสำหรับการปฏิบัติบูชาร่วมกัน

ไม่ชอบความเป็นทางการและปฏิบัติความเรียบง่าย

ถึงแม้ว่ารินโปเชจะเป็นปรมาจารย์แห่งพิธีกรรมและกฎระเบียบต่าง ๆ ท่านก็ไม่เคยโอ้อวด แถมยังไม่ชอบความเป็นทางการอีกด้วย  ยกตัวอย่างเช่น ตอนที่ท่านเดินทางไปดินแดนตะวันตก ท่านไม่เคยพกเครื่องมือทำพิธี หรือรูปภาพหรูหราใด ๆ ติดไปด้วยเลย  เวลาที่ท่านทำพิธีมอบเสริมพลังที่นั่น ท่านจะวาดรูปเองที่จำเป็นต้องมี ใช้คุกกี้หรือเค้กแทนเครื่องบูชาแป้งปั้น (torma) และใช้แจกันดอกไม้หรือแม้แต่ขวดนมทำเป็นแจกันในพิธี  ในระหว่างการเดินทาง หากไม่มีการเตรียมการพิเศษสำหรับพิธีซอค (tsog) ซึ่งจะทำสองครั้งต่อเดือน (เป็นพิธีที่ต้องถวายแอลกอฮอล์ เนื้อสัตว์ แป้งปั้น ผลไม้ และขนม) ท่านก็จะถวายมื้ออาหารอะไรก็ได้ที่มีคนถวายท่าน

นอกจากนี้ รินโปเชยังนำเสนอหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าตามที่สอดคล้องกับผู้ฟังอีกด้วย  มีครั้งหนึ่ง รินโปเชได้รับเชิญให้ไปยังศูนย์เซนเมานต์เตร็มเปอร์  (Mount Tremper Zen Center) ใกล้เมืองวู้ดสต็อค ในนิวยอร์ก  สมาชิกของศูนย์ขอให้ท่านทำพิธีขออนุญาต (jenang) สำหรับการปฏิบัติแบบพระมัญชูศรี ซึ่งเป็นพระพุทธเจ้าปางปัญญา  รินโปเชจึงใช้วิธีที่สอดคล้องกับธรรมเนียมความเรียบง่ายของหลักเซน โดยการนั่งที่พื้น ไม่ใช่ที่แท่นบัลลังก์ และทำพิธีขออนุญาตโดยไม่ใช้เครื่องมือ หรือเครื่องประดับทางพิธีกรรมใด ๆ

ไม่โอ้อวดและนอบน้อมด้วยใจจริง

ท่านสมเด็จมักทรงพูดถึงเซนซับ เซอคง รินโปเชว่าเป็นกาดัมปะ เกเช (Kadampa Geshe) แท้จริง  หมายถึงปรมาจารย์ทางพระพุทธศาสนาสายทิเบตในศตวรรษที่สิบเอ็ดถึงสิบสาม ซึ่งขึ้นชื่อเรื่องความจริงใจ การปฏิบัติอย่างตรงไปตรงมา และความอ่อนน้อมถ่อมตน  ยกตัวอย่างเช่นในการแสดงธรรมเทศนาครั้งหนึ่ง ท่านสมเด็จกล่าวถึง รินโปเชว่าบุคคลเดียวที่นั่งอย่างถ่อมตนอยู่ ณ ที่นี่ คือคนที่ไม่จำเป็นต้องถ่อมตนเลยด้วยซ้ำ ในขณะที่คนอื่นต่างนั่งอยู่ด้วยความทระนงตัว  ครั้งหนึ่งมีคนขอคำแนะนำสำคัญจากรินโปเช ท่านก็แนะนำว่าให้อ่อนน้อมถ่อมตนอยู่เสมอ อย่าโอ้อวด ให้มีหัวใจอันอบอุ่น และให้ความสำคัญกับทุกคน

ริโปเชใช้ชีวิตตามคำแนะนำของท่านเองอย่างแท้จริง  มีครั้งหนึ่งที่รินโปเชพักอยู่ในอพาร์ทเมนท์ใหญ่โตของครอบครัวแสนดีในเมืองมิลาน ประเทศอิตาลี  ลามะที่มีตำแหน่งสูงส่วนใหญ่จะมาพักที่บ้านนี้เมื่อมาเยือนมิลาน  คุณยายเจ้าของบ้านกล่าวว่าในจำนวนลามะที่มาพักทั้งหมด เธอชอบเซอคง รินโปเชมากที่สุด  ลามะคนอื่น ๆ จะนั่งอยู่ในห้องอย่างเป็นทางการมากและฉันอาหารเพียงลำพังอย่างเงียบ ๆ  ในทางตรงกันข้ามเซอคง รินโปเชมักเดินเข้ามาในครัวในผ้าสบงและเสื้อตัวในตอนเช้าตรู่  ท่านจะมานั่งดื่มชาที่โต๊ะครัวอย่างไม่ถือตัว สวดมนต์พร้อมกับนับลูกประคำและดูยิ้มแย้มผ่อนคลายในระหว่างที่เธอเตรียมอาหารเช้า

ทักษะในการสอนความอ่อนน้อมถ่อมตนให้ผู้อื่นและให้ความสำคัญกับทุกคน

รินโปเชยังสอนผู้อื่นให้ละทิ้งความอวดเก่งด้วย   มีอยู่ครั้งหนึ่งพระชาวตะวันตกของอารามนาลันดา (Nalanda) ในเมืองลาวอร์ ประเทศฝรั่งเศส เชิญรินโปเชไปสอนเป็นเวลาสามวัน  พวกท่านขอให้รินโปเชอธิบายบทที่ยากมาก ๆ เกี่ยวกับปัญญาจากเรื่องโพธิสัตตวจรรยาวตาร ซึ่งรจนาโดยอาจารย์ชาวอินเดียนามว่า ศานติเทวะ   รินโปเชเริ่มต้นธรรมเทศนาด้วยการอธิบายหลักสุญญตาในระดับที่ยุ่งยากและซับซ้อนมากจนไม่มีใครตามทัน  จากนั้นรินโปเชจึงหยุดและดุพระสงฆ์เหล่านั้นที่อวดรู้กันเหลือเกิน  ท่านบอกพวกท่านว่าหากสองขะปะต้องใช้ความเพียรพยายามอย่างมากในการทำความเข้าใจเรื่องสุญญตาอย่างถูกต้อง และใช้เวลาหมั่นฝึกฝนการปฏิบัติขั้นแรกอยู่นานหนักหนา  พวกเขาคิดหรือว่าเรื่องนี้จะง่ายพอที่จะเข้าใจทั้งหมดภายในเวลาสามวัน  จากนั้นรินโปเชจึงสอนเนื้อหาต่อไปในระดับที่ง่ายขึ้น ซึ่งพระสงฆ์ก็สามารถตามได้ทัน

ครั้งหนึ่งรินโปเชเคยกล่าวว่าโลกตะวันตกไม่มีอะไรน่าสนใจสำหรับท่าน นอกเสียจากความสนใจอย่างแท้จริงที่ผู้คนจำนวนมากมีต่อคำสอนของพระพุทธเจ้า  ดังนั้นไม่ว่าใครจะขอให้ท่านไปสอน ท่านก็เคารพในความสนใจของพวกเขาทั้งนั้น  ถึงแม้ว่าท่านจะสอนให้สอดคล้องตามระดับความรู้ของผู้ฟัง ท่านก็มักจะผลักดันความรู้ให้เกินขอบเขตที่พวกเขาคาดไว้เล็กน้อยเสมอ  รินโปเชผู้รักละครสัตว์เคยพูดว่า หากหมีสามารถเรียนรู้การขี่จักรยานได้ ด้วยการใช้วิธีการอย่างมีทักษะและความอดทน มนุษย์เราก็ย่อมสามารถเรียนรู้ทุกอย่างได้เช่นกัน

มีชาวตะวันตกที่มีท่าทางเหมือนพวกฮิปปี้อยู่คนหนึ่ง เขาเพิ่งเริ่มสนใจในพระพุทธศาสนาและกำลังมึนด้วยฤทธิ์ยาเสพติด เขาขอให้รินโปเชสอนหลักปฏิบัติทั้งหกของนาโรปะให้  ตามปกติแล้วผู้ที่จะเรียนหัวข้อขั้นสูงมากอย่างนี้ได้ต้องสำเร็จการฝึกสมาธิขั้นสูงมาเป็นเวลาหลายปีแล้วเท่านั้น  แทนที่รินโปเชจะบอกปัดชายคนนี้ไปเพราะความอวดรู้และหยิ่งผยองของเขา  ท่านกลับตอบตกลงและบอกเขาว่าความสนใจของเขานั้นยอดเยี่ยมเหลือเกิน  อย่างไรก็ตามในขั้นแรกชายผู้นี้จะต้องเตรียมตัวเองให้พร้อมก่อน  รินโปเชจึงสอนการปฏิบัติต่าง ๆ ในขั้นแรกให้เขา   ด้วยการให้ความสำคัญกับความสนใจในการพัฒนาตนเองของผู้อื่น รินโปเชสร้างแรงบันดาลใจให้ชาวตะวันตกหลายคนหันมาให้ความสำคัญกับตัวเองอย่างจริงจังมากขึ้น  จุดนี้ช่วยให้พวกเขาสามารถก้าวต่อไปในเส้นทางธรรมได้มากทีเดียว

เคารพทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน

ไม่ว่ารินโปเชจะเจอใคร ไม่ว่าจะเป็นสมเด็จพระสันตะปาปา คนเมาข้างถนน หรือกลุ่มเด็ก ๆ ท่านจะปฏิบัติกับพวกเขาด้วยความใจเป็นกลางและความเคารพอย่างเท่าเทียมกัน  มีครั้งหนึ่งสมาชิกของศูนย์ Wisdom’s Golden Rod Center ในอิทาคา นิวยอร์ก ขอให้รินโปเชไปพูดคุยกับลูก ๆ ของตน  ท่านบอกเด็กเหล่านั้นว่าท่านเคารพพวกเขาเหลือเกิน เพราะพวกเขายังเล็กและมีจิตใจที่เปิดกว้าง  พวกเขามีศักยภาพที่จะพัฒนาตนเองได้เหนือกว่าพ่อแม่ของพวกเขาเสียอีก  ด้วยวิธีนี้ท่านสร้างแรงบันดาลใจให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้ที่จะเคารพตัวเอง

ความสามารถในการจดจำการพันธะทางกรรมแบบพิเศษ

ถึงแม้ว่าเซอคง รินโปเชมักสามารถเห็นความสัมพันธ์ทางกรรมที่ท่านมีกับผู้คนที่พบเจอได้ ท่านก็ไม่เคยเสแสร้งว่าสามารถให้ความช่วยเหลือได้มากกว่าที่ทำได้  มีชายชาวสวิสผู้หนึ่งเข้ามาหาท่านที่ธรรมศาลาและอธิบายว่าเขาถูกผีมารบกวน  รินโปเชตอบว่าท่านไม่ได้มีพันธะทางกรรมที่จะช่วยเขาในเรื่องนี้ได้ และบอกให้ชายผู้นี้ไปหาลามะอีกคนที่มีพันธะทางกรรมกับเขา  อย่างไรก็ตามถ้าเป็นคนอื่นที่ท่านมีพันธะทางกรรมด้วย ท่านจะขอให้ผู้ช่วยจดที่อยู่ของคนเหล่านั้นไว้ทันทีตั้งแต่ครั้งแรกที่พบกัน แล้วความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นก็จะก่อตัวขึ้นตามธรรมชาติ  ผมเองเป็นหนึ่งในกลุ่มคนที่โชคดีเหล่านั้น ถึงแม้ว่ารินโปเชจะไม่เห็นความจำเป็นในการจดที่อยู่ผมไว้ก็ตาม เพราะผมกลับมาเองอยู่แล้ว

Top