พระพุทธศาสนาได้รับการเผยแพร่เข้ามาสู่ประเทศศรีลังกาครั้งแรกในปี 249 ก่อนสากลศักราช ผ่านภารกิจของพระมหินธเถระ พระโอรสในพระเจ้าอโศกมหาราช กษัตริย์แห่งอินเดีย ในช่วงนี้จึงมีการบวชพระภิกษุชาวศรีลังกาชุดแรก ถึงแม้ว่าวันที่มีการเริ่มต้นใช้ชื่อสาย เถรวาท ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ในปัจจุบัน เราจะกล่าวถึงการสืบสายวงศ์นี้ในนาม “เถรวาท” เพื่อความเข้าใจที่ง่ายขึ้น จากนั้นการสืบสายการบวชพระภิกษุณีในสายเถรวาทจึงได้รับการเผยแพร่มาสู่ประเทศศรีลังกาในปี 240 ก่อนสากลศักราช พร้อมกับการมาเยือนเกาะศรีลังกาของพระนางสังฆมิตตาเถรี พระธิดาในพระเจ้าอโศกมหาราช ซึ่งการสืบสายดังกล่าวได้สิ้นสุดลงในยุค 1050 สากลศักราช อันเนื่องมาจากการบุกรุกของชาวทมิฬและการที่ประเทศศรีลังกาตกอยู่ใต้การปกครองของจักรวรรดิโจฬะ (Chola Empire)
ตามธรรมเนียมมุขปาฐะ พระเจ้าอโศกมหาราชได้ทรงส่งทูตอีกสองคนไปยังอาณาจักรสุวรรณภูมิด้วย ทูตทั้งสองมีนามว่า พระโสณเถระและพระอุตตรเถระ ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มพระพุทธศาสนาสายเถรวาทและการสืบสายการบวชพระภิกษุที่ดินแดนแห่งนี้ นักวิชาการส่วนใหญ่ระบุอาณาจักรนี้กับชาวมอญ และเมืองสะเทิม ซึ่งเป็นเมืองท่าทางตอนใต้ของพม่า อย่างไรก็ตาม ข้อมูลเกี่ยวกับว่าการสืบสายการบวชพระภิกษุณีเกิดขึ้นในระยะเวลานี้ หรือเกิดขึ้นในภายหลังนั้นยังไม่เป็นที่ประจักษ์
ถึงแม้ว่าในกลุ่มเมืองรัฐปยู ทางตอนเหนือของพม่านั้นจะมีการนับถือพระพุทธศาสนาสายเถรวาทตั้งแต่ศตวรรษที่ 1 ก่อนสากลศักราชเป็นอย่างน้อย สายเถรวาทก็ได้รับการผสมผสานกับสายมหายาน ศาสนาฮินดู และศาสนาพื้นเมืองอะยี (Ari) ซึ่งเกี่ยวข้องกับการสังเวยสัตว์ต่อเหล่าวิญญาณ ในช่วงกลางศตวรรษที่ 11 สากลศักราช พระเจ้าอโนรธามังช่อ (King Anawrahta) ทรงรวมตอนเหนือของพม่าเข้าไว้ด้วยกัน โดยยึดครองอาณาจักรมอญที่เมืองสะเทิมไว้ได้ จากนั้นจึงทรงก่อตั้งเมืองหลวงของพระองค์ที่เมืองพุกาม และนิมนต์พระภิกษุชาวมอญชื่อว่าอรหันตะมาเริ่มพระพุทธศาสนาสายเถรวาทและการสืบสายการบวชทั่วอาณาจักรของพระองค์
เนื่องจากการล่มสลายของอาณาจักรโจฬะในประเทศศรีลังกาในปี 1070 สากลศักราช และการก่อตั้งเมืองหลวงแห่งใหม่ขึ้นที่โปโลนนารุวะ (Polonnaruwa) การสืบสายการบวชสายเถรวาทจึงได้รับการเริ่มต้นขึ้นใหม่ในศรีลังกา โดยการนิมนต์พระภิกษุมาจากเมืองพุกาม อย่างไรก็ตามพระเจ้าอโนรธามังช่อทรงมีความเคลือบแคลงใจเกี่ยวกับความบริสุทธิ์ของการสืบสายพระภิกษุณีชาวมอญ จึงทรงไม่ส่งพระภิกษุณีไปเริ่มต้นการบวชพระภิกษุณีที่นั่น ดังนั้นในช่วงนี้จึงไม่มีการฟื้นฟูการสืบสายการบวชพระภิกษุณีในสายเถรวาทในศรีลังกา หลักฐานที่จารึกไว้ครั้งสุดท้ายเกี่ยวกับอารามพระภิกษุณีในประเทศพม่าคือช่วง 1287 สากลศักราช ตอนที่เมืองพุกามตกอยู่ใต้การบุกรุกของชาวมองโกล
ประเทศศรีลังกาถูกรุกรานและพื้นที่ส่วนใหญ่ตกอยู่ใต้การปกครองของพระเจ้ามาฆะแห่งกลิงคะ (King Magha of Kalinga) ในช่วงระหว่าง 1215 ถึง 1236 สากลศักราช (ปัจจุบันคือรัฐโอริสสา ทางอินเดียตะวันออก) ในช่วงระยะเวลานี้คณะพระภิกษุสงฆ์สายเถรวาทในศรีลังกานั้นอ่อนแอเป็นอย่างมาก หลังการพ่ายแพ้ของพระเจ้ามาฆะ จึงมีการนิมนต์กลุ่มพระภิกษุสายเถรวาทจากกาญจีปุรัม (Kanchipuram) ซึ่งเป็นศูนย์พระพุทธศาสนาที่อยู่ในอาณาจักรโจฬะอันอ่อนแอ ปัจจุบันคือรัฐทมิฬนาฑู ทางตอนใต้ของอินเดีย มายังศรีลังกาในช่วง 1236 สากลศักราช เพื่อฟื้นฟูการสืบวงศ์การบวชพระภิกษุ ข้อเท็จจริงที่ว่าไม่มีการนิมนต์พระภิกษุณีชาวทมิฬเสนอว่าในช่วงนี้ไม่มีคณะพระภิกษุณีสายเถรวาทหลงเหลืออยู่ทางตอนใต้ของอินเดียแล้ว หลักฐานสุดท้ายที่จารึกไว้เกี่ยวกับคณะพระภิกษุณีทางตอนเหนือของอินเดีย ซึ่งรวมถึงแคว้นเบงกอล (Bengal) ด้วยนั้น มาจากช่วงปลายศตวรรษที่ 12 สากลศักราช ซึ่งข้อมูลเกี่ยวกับประเภทของวงศ์ปาติโมกข์ที่พระภิกษุณีนั้นได้ปฏิบัติยังไม่เป็นที่แน่ชัด
พ่อขุนรามคำแหงแห่งอาณาจักรสุโขทัยของประเทศไทยก่อตั้งพระพุทธศาสนาสายเถรวาทขึ้นในประเทศไทยในตอนปลายศตวรรษที่ 13 สากลศักราช โดยรับมาจากประเทศศรีลังกา เนื่องจาก ณ ตอนนั้น ไม่มีคณะพระภิกษุณีหลงเหลืออยู่ในศรีลังกาแล้ว การสืบวงศ์การบวชพระภิกษุณีในสายเถรวาทจึงไม่ได้รับการเผยแพร่เข้ามาถึงประเทศไทย มีแต่การสืบวงศ์ของพระภิกษุเท่านั้น พระพุทธศาสนาสายเถรวาทในประเทศไทยได้รับการเผยแพร่ไปสู่ประเทศกัมพูชาในช่วงต้นศตวรรษที่ 14 สากลศักราช และจากนั้นไม่นาน จากกัมพูชาก็เผยแพร่ไปสู่ประเทศลาว ทำให้การสืบสายการบวชพระภิกษุณีไม่ได้รับการริเริ่มขึ้นในประเทศเหล่านี้เช่นกัน
ในกลุ่มประเทศที่นับถือสายเถรวาท มีเพียงประเทศศรีลังกาเท่านั้นที่ริเริ่มการบวชพระภิกษุณีในสายเถรวาทขึ้นมาใหม่ ซึ่งเกิดขึ้นในปี 1998 สากลศักราช ก่อนหน้านั้นอุบาสิกาในศรีลังกาได้รับอนุญาตให้เป็นเพียง “ผู้ปฏิบัติศีล 10 ข้อ” (dasasil matas) แต่ไม่ได้รับอนุญาตให้เป็นพระภิกษุณี ถึงแม้ว่าอุบาสิกาเหล่านี้จะนุ่งห่มจีวรและครองพรหมจรรย์ พวกนางก็ไม่ได้รับการพิจารณาในฐานะเป็นสมาชิกของพระสงฆ์ ในพม่าและกัมพูชา อุบาสิกาได้รับอนุญาตให้เป็น “ผู้ปฏิบัติศีล 8 ข้อ” ซึ่งเรียกว่า “ศีลาชิน” (silashin) ในพม่า และ “ดอนชี” (donchi) หรือ “เยชี” (yieychi) ในกัมพูชา อุบาสิกาบางรายในพม่าได้รับศีล 10 ข้อเช่นกัน ส่วนในประเทศไทย อุบาสิกาสามารถเป็น “ผู้ปฏิบัติศีล 8 ข้อ” หรือที่เรียกกันว่า “แม่ชี” ตั้งแต่การรื้อฟื้นพระพุทธศาสนาในเมืองจิตตะกองและช่องเขาจิตตะกองในประเทศบังคลาเทศในปี 1864 สากลศักราช จากเมืองยะไข่ ชายฝั่งพม่า อุบาสิกาสามารถเป็นผู้ปฏิบัติศีล 8 ข้อในเขตนี้ได้เช่นกัน