
การเห็นอกเห็นใจตัวเองเป็นหลักสำคัญของการปฏิบัติในทางพระพุทธศาสนา แต่บ่อยครั้งที่มักจะถูกเข้าใจผิดหรือมองข้ามไปในชีวิตประจำวัน เราหลายคนถูกสอนมาว่าให้ใจดีมีเมตตาและเห็นอกเห็นใจคนอื่น แต่กลับกลายเป็นเรื่องยากที่จะใจดีมีเมตตาต่อตัวเอง ในทางพระพุทธศาสนา การเห็นอกเห็นใจตัวเองไม่ได้เป็นแค่การทำสิ่งที่แสดงออกถึงความใจดีมีเมตตาเท่านั้น แต่ยังเป็นรากฐานที่จำเป็นต่อการพัฒนาจิตใจและความอยู่ดีมีสุขอีกด้วย
พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “ถ้าใครบางคนลงไปในแม่น้ำที่เป็นคลื่นและไหลเชี่ยวกราก แล้วถูกกระแสน้ำพัดพาไป เขาจะช่วยพาคนอื่นข้ามไปได้อย่างไร?”
การเห็นอกเห็นใจตัวเองคืออะไร?
โดยแก่นแท้แล้ว การเห็นอกเห็นใจตัวเองคือการปฏิบัติต่อตัวเองด้วยความใส่ใจ ห่วงใย และเข้าใจ อย่างที่เราจะให้กับเพื่อนที่รักของเรา บ่อยครั้งที่เรามักจะพบว่าการรับฟังปัญหาของเพื่อนโดยไม่ตัดสินพวกเขาเป็นเรื่องง่าย แต่พอเวลาที่เป็นเรื่องของตัวเราเอง เรากลับรู้สึกว่าเราไม่สมควรได้รับสิ่งเดียวกันนี้ การเห็นอกเห็นใจตัวเองหมายถึงการยอมรับในความไม่สมบูรณ์แบบ ความล้มเหลว และความยากลำบากของเราโดยไม่ตัดสินตัวเองอย่างรุนแรง แทนที่จะวิพากษ์วิจารณ์ข้อบกพร่องของเรา เราก็จะหันมาให้การยอมรับและความเข้าใจต่อตนเอง แนวทางการเห็นอกเห็นใจแบบนี้ไม่ได้เป็นเรื่องของการตามใจตัวเองหรือหาข้อแก้ตัวให้กับตัวเอง แต่เป็นเรื่องของการรับรู้ถึงอุปสรรคหรือปัญหาที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ทุกคนต้องเผชิญ ซึ่งรวมถึงตัวเราเองด้วย
ทำไมการเห็นอกเห็นใจตัวเองจึงมีความสำคัญในทางพระพุทธศาสนา?
ความเห็นอกเห็นใจเริ่มต้นจากตัวเรา
โดยทั่วไปแล้ว เราอาจพูดได้ว่าการเห็นอกเห็นใจผู้อื่นที่แท้จริงนั้นเริ่มต้นจากการเห็นอกเห็นใจตัวเองก่อน ถ้าเราเข้มงวดและติเตียนตัวเองอยู่เสมอแล้ว ก็ให้ลองนึกดูว่าการเห็นอกเห็นใจผู้อื่นที่แท้จริงนั้นจะเป็นเรื่องที่ยากแค่ไหน การฝึกเห็นอกเห็นใจตัวเองจะช่วยให้เราบ่มเพาะทัศนคติที่อ่อนโยนและใจดีมีเมตตา ซึ่งจะค่อย ๆ แผ่ขยายออกไปอย่างเป็นธรรมชาติ ช่วยให้เราเชื่อมโยงกับผู้อื่นได้ด้วยความเห็นอกเห็นใจมากยิ่งขึ้น
การเห็นอกเห็นใจตัวเองช่วยเยียวยาทางอารมณ์
ชีวิตมีขึ้นมีลง และวิธีที่เราตอบสนองต่อความทุกข์ของตัวเราเองนั้นก็ส่งผลอย่างมากต่อความอยู่ดีมีสุขของเรา การเห็นอกเห็นใจตัวเองจะช่วยบรรเทาความทุกข์ในช่วงเวลาที่ยากลำบาก ช่วยให้เราเปิดใจยอมรับความเจ็บปวดโดยไม่รู้สึกว่ามันมากเกินไป และช่วยให้เราฟื้นตัวจากความล้มเหลวได้ง่ายขึ้น
การเห็นอกเห็นใจตัวเองช่วยลดการพูดถึงตัวเองในแง่ลบ
พวกเราหลายคนมีนักวิจารณ์ภายในที่คอยตัดสินและดูถูกตัวเราเอง สำหรับบางคนแล้ว นักวิจารณ์ภายในนี้ก็ไม่เคยเงียบเลย! มันอาจจะดูไม่ใช่เรื่องร้ายแรงนัก แต่การพูดกับตัวเองในแง่ลบแบบนี้อาจสร้างความเสียหายได้อย่างมาก นำไปสู่ความรู้สึกต่ำต้อยและการเห็นคุณค่าในตัวเองต่ำ การฝึกเห็นอกเห็นใจตัวเอง เช่น การรับรู้ถึง “ธรรมชาติแห่งความเป็นพระพุทธเจ้า” ของเรา นั่นก็คือความจริงที่ว่า เราทุกคนสามารถที่จะเป็นพระพุทธเจ้าได้ และนั่นก็จะทำให้เราสามารถเงียบเสียงของนักวิจารณ์ภายในนี้ลงได้ แล้วแทนที่การตัดสินตัวเองอย่างรุนแรงด้วยความคิดที่สนับสนุนและให้กำลังใจ การเปลี่ยนแปลงนี้ไม่เพียงแต่จะทำให้สุขภาพจิตของเราดีขึ้นเท่านั้น แต่ยังสร้างภาพลักษณ์เชิงบวกให้กับจิตใจของเรามากขึ้นอีกด้วย
การเห็นอกเห็นใจตัวเองส่งเสริมการพัฒนาตนเอง
บางคนคิดว่าการเห็นอกเห็นใจตัวเองเป็นการตามใจตัวเอง เอาแต่ดูแลตัวเอง หลีกเลี่ยงความรับผิดชอบต่อความผิดพลาดของตัวเอง หรือไม่สนใจข้อบกพร่องของตัวเอง ในทางตรงกันข้าม จริง ๆ แล้ว การเห็นอกเห็นใจตัวเองจะให้พื้นที่ปลอดภัยในการยอมรับความผิดพลาดและความไม่สมบูรณ์แบบของตัวเราเอง และในเวลานั้นเท่านั้นที่เราจะสามารถเรียนรู้และพัฒนาจากสิ่งเหล่านี้ได้อย่างแท้จริง แม้ว่าบางคนอาจได้รับประโยชน์จากการโทษตัวเองอย่างแรง แต่สำหรับพวกเราส่วนใหญ่แล้ว ความใจดีมีเมตตาและความเข้าใจมีแนวโน้มที่จะนำไปสู่การพัฒนาตนเองมากกว่า

วิธีการฝึกเห็นอกเห็นใจตัวเอง
ยอมรับความทุกข์ของตนเอง
สิ่งแรกที่เราต้องทำในการฝึกเห็นอกเห็นใจตัวเองก็คือ การยอมรับว่าเรามีความทุกข์ ซึ่งอาจฟังดูเหมือนเป็นเรื่องง่าย แต่ในความเป็นจริงการยอมรับว่าเรากำลังต่อสู้ดิ้นรนกับความยากลำบากอยู่อาจเป็นเรื่องยากก็ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาที่เรารู้สึกว่าเราควรจะเข้มแข็งหรือควบคุมทุกอย่างได้เสมอ ดังนั้น อย่างแรกเลยก็คือ ให้คุณยอมรับความเจ็บปวดทั้งทางจิตใจและร่างกายโดยไม่ตัดสินหรือตำหนิตัวเองเสียก่อน
ปฏิบัติต่อตนเองด้วยความใจดีมีเมตตา
ลองนึกภาพว่า คุณจะปฏิบัติต่อเพื่อนสนิทอย่างไรถ้าเพื่อนคนนั้นกำลังเผชิญช่วงเวลาที่ยากลำบาก คุณจะใช้คำพูดแบบไหน? คุณจะให้การสนับสนุนอย่างไร? ตอนนี้ ก็ให้ลองหันกลับมาใช้ความใจดีมีเมตตาและความเข้าใจแบบเดียวกันนั้นกับตัวคุณเอง พูดกับตัวเองด้วยถ้อยคำที่อ่อนโยนและให้กำลังใจ และมอบคำปลอบใจที่คุณต้องการให้กับตัวคุณเอง
ตระหนักถึงความเป็นมนุษย์ร่วมกันของคุณ
ขอให้จำไว้ว่า ทุกคนล้วนประสบกับความทุกข์ ไม่มีใครที่ไม่เคยทำผิดพลาด ความทุกข์เป็นส่วนหนึ่งของความเป็นมนุษย์ เมื่อคุณตระหนักว่าคุณไม่ได้เผชิญกับความยากลำบากเพียงลำพัง คุณก็จะรู้สึกเชื่อมโยงกับผู้อื่นมากขึ้นและรู้สึกโดดเดี่ยวในประสบการณ์ของคุณน้อยลง
ฝึกความตระหนักรู้อย่างมีสติ
อยู่กับอารมณ์ความรู้สึกของคุณในปัจจุบัน โดยไม่ปล่อยให้มันพัดพาคุณไป สังเกตความรู้สึกและความคิดของคุณด้วยความอยากรู้อยากเห็นและเปิดใจ ปล่อยให้มันเป็นไป โดยไม่พยายามเปลี่ยนแปลงหรือข่มมันไว้ แนวทางอย่างมีสตินี้จะช่วยให้คุณควบคุมอารมณ์ความรู้สึกเมื่อเผชิญกับความไม่แน่นอนและสร้างความสงบภายในได้
บทสรุป
ในการปฏิบัติตามแนวทางพระพุทธศาสนา การเห็นอกเห็นใจตัวเองไม่ใช่สิ่งฟุ่มเฟือยหรือสิ่งที่คิดขึ้นหรือเพิ่มเข้ามาภายหลัง แต่เป็นองค์ประกอบสำคัญของชีวิตที่เปี่ยมด้วยความเห็นอกเห็นใจ การฝึกเห็นอกเห็นใจตัวเองจะช่วยเราสร้างรากฐานที่มั่นคงให้กับความอยู่ดีมีสุขของตัวเราเองและความสามารถในการช่วยเหลือผู้อื่น จำไว้ว่าการใจดีมีเมตตาต่อตนเองนั้นไม่ใช่ความเห็นแก่ตัว แต่เป็นขั้นตอนสำคัญในการก้าวไปสู่ชีวิตที่เปี่ยมด้วยความเห็นอกเห็นใจ มีสติ และสมหวังมากขึ้น ดังนั้น ขอให้คุณใช้เวลาสักครู่ตอนนี้ทบทวนหัวข้อต่าง ๆ ข้างต้น แล้วแสดงความเห็นอกเห็นใจต่อตัวเองตามที่คุณสมควรได้รับเลย