พระพุทธเจ้าและเหตุการณ์ทางการเมืองในยุคของพระองค์

ชีวิตของพระพุทธเจ้าตามประวัติศาสตร์ปรากฏอยู่ในวรรณกรรมพระพุทธศาสนาดั้งเดิมหลายตอน  รูปแบบที่เก่าแก่ที่สุดไม่ได้ปรากฏอยู่ในคัมภีร์ใดคัมภีร์หนึ่ง แต่สามารถประติดประต่อกันได้จากเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่บันทึกไว้ในพระสูตรบาลี และวรรณกรรมพระวินัยของสายเถรวาท  คัมภีร์ในยุคสมัยต่อมาของสายมหาสังฆิกะ สรวาสติวาทและมหายานช่วยเติมเต็มโครงสร้างเปลือยที่ปรากฏออกมาจากคัมภีร์สมัยแรก ๆ เหล่านี้ และบางครั้งก็เสริมเรื่องอภินิหารเหนือมนุษย์เข้าไปด้วย  อย่างไรก็ตามภาพดั้งเดิมที่ปรากฏขึ้นในวรรณกรรมบาลีนั้นแสดงให้เห็นถึงมนุษย์ผู้หนึ่งที่มีชีวิตอยู่ท่ามกลางปัญหาในช่วงเวลาที่ไม่สงบ ผู้ต้องประสบกับความยากลำบากท้าทายมายมากมายทั้งในชีวิตส่วนตัวและในชุมชนสงฆ์  ในบทความนี้เราจะสรุปชีวิตของพระพุทธเจ้าในรูปแบบที่เก่าแก่ที่สุด โดยอิงจากงานค้นคว้าทางวิชาการของสตีเฟ่น แบทแชลอร์ (Stephen Batchelor) ตามที่นำเสนอในหนังสือเรื่อง Confession of a Buddhist Atheist ชื่อทั้งหมดจะใช้ตามรูปแบบภาษาบาลี

พระพุทธเจ้าทรงประสูติในปี 566 ก่อนคริสตกาล ณ สวนลุมพินี ซึ่งปัจจุบันอยู่ทางตอนใต้ของประเทศเนปาล  สวนแห่งนี้อยู่ไม่ไกลจากเมืองกปิลวัตถุมากนัก เมืองหลวงของศากยะ ถึงแม้ว่าพระนามเรียกของพระองค์ นั่นคือ สิทธัตถะ จะไม่ปรากฏในคัมภีร์บาลี เราจะใช้พระนามของท่านในบทความนี้เพื่อความสะดวกในการกล่าวถึง  โคตม เป็นอีกพระนามหนึ่งที่มักใช้กล่าวถึงพระพุทธเจ้า ซึ่งอันที่จริงแล้วเป็นชื่อของตระกูลท่าน

พระราชบิดาของเจ้าชายสิทธัตถะมีพระนามว่า พระเจ้าสุทโธทนะ ซึ่งไม่ได้เป็นกษัตริย์ตามที่อธิบายไว้ในวรรณกรรมศาสนาพุทธยุคหลัง ๆ  หากแต่พระองค์ทรงเป็นขุนนางจากตระกูลโคตม ซึ่งน่าจะรับตำแหน่งเป็นผู้ปกครองส่วนท้องถิ่นในเมืองศากยะ  คัมภีร์บาลีไม่ได้บันทึกนามพระมารดาของท่านไว้ แต่แหล่งข้อมูลภาษาสันสกฤตในยุคหลังระบุว่าพระนางมีนามว่า มายาเทวี พระมารดาของท่านสวรรคตหลังจากพระพุทธเจ้าประสูติได้ไม่นาน พระองค์จึงได้รับการเลี้ยงดูโดยพระเชษฐภคินีของพระนาง นามว่า พระนางประชาบดี ซึ่งพระราชบิดาอภิเษกสมรสด้วยตามประเพณีในยุคสมัยนั้น

ศากยะเป็นสาธารณรัฐโบราณ แต่ตอนที่เจ้าชายสิทธัตถะประสูติ เมืองนี้ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรมหาอำนาจที่ชื่อว่า โกศล ไปแล้ว โดยโกศลมีขอบเขตครอบคลุมจากชายฝั่งตอนเหนือของแม่น้ำคงคา ซึ่งเป็นรัฐพิหารในปัจจุบัน จรดตีนเทือกเขาหิมาลัยและมีสาวัตถีเป็นเมืองหลวง

ตอนนี้เราจะมาดูคำอธิบายโดยสังเขปด้านภูมิศาสตร์ของสถานที่สำคัญในชีวิตของพระพุทธเจ้า เพราะข้อมูลนี้น่าจะช่วยให้เราเข้าใจชีวประวัติของพระองค์ได้ง่ายขึ้น  เมืองศากยะตั้งอยู่ด้านตะวันออกของอาณาจักรโกศล โดยมีแคว้นมัลละ อยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของศากยะ  ฝั่งตะวันออกของมัลละคือสาธารณรัฐวัชชี ซึ่งมีเมืองหลวงชื่อเวสาลี สาธารณรัฐวัชชีปกครองโดยสมาพันธรัฐจากหลายตระกูล โดยตระกูลลิจฉวี มีชื่อเสียงมากที่สุด  ด้านใต้ของวัชชีและโกศล ตรงข้ามแม่น้ำคงคา เป็นที่ตั้งของอาณาจักรมคธ ซึ่งมีเมืองหลวงชื่อ กรุงราชคฤห์ ด้านตะวันตกของโกศล ซึ่งในปัจจุบันคือรัฐปัญจาบในประเทศปากีสถาน คือแคว้นคันธาระ ซึ่งเป็นผู้ปกครองชั้นรองของจักรวรรดิอะคีเมนิดของเปอร์เซีย  ในเมืองหลวงตักศิลา มีมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงโด่งดังที่สุดในสมัยนั้น  นี่เป็นที่ที่แนวคิดและวัฒนธรรมแบบกรีกและเปอร์เซียผสมผสานเข้ากับของอินเดียร่วมสมัย

เมืองกบิลพัสดุ์ที่เจ้าชายสิทธัตถะทรงเติบใหญ่ขึ้นนั้นเป็นเมืองใหญ่บนถนนสายเหนือ ซึ่งเป็นเส้นทางการค้าสำคัญในสมัยนั้น  ถนนสายเหนือเชื่อมแคว้นโกศลกับคันธาระไปทางตะวันตกและผ่านเมืองศากยะ มัลละ และสาธารณรัฐวัชชีไปยังตอนใต้ของแคว้นมคธ  ดังนั้นถึงแม้ว่าคัมภีร์บาลีจะไม่ได้กล่าวถึงชีวิตของสิทธัตถะโคตมจนกระทั่งท่านมีพระชนมายุได้ยี่สิบเก้าปี  ก็เป็นไปได้ที่พระองค์ทรงได้สัมผัสกับวัฒนธรรมที่หลากหลายมาก่อนแล้ว  พระองค์อาจทรงศึกษาที่ตักศิลาด้วยซ้ำ แต่ข้อนี้ยังไม่ได้รับการยืนยัน

สิทธัตถะอภิเษกสมรสกับนางภัททกัจจานา ซึ่งในวรรณกรรมสันสกฤตใช้ชื่อว่า พระนางยโสธารา พระนางเป็นพระญาติกับสิตธัตถะและเป็นพระเชษฐภคินีของเทวทัต ภายหลังเทวทัตกลายเป็นศัตรูตัวฉกาจของพระพุทธเจ้า  ทั้งคู่มีพระโอรสด้วยกันหนึ่งคน นามว่า ราหุล หลังจากที่พระโอรสประสูติได้ไม่นาน พระพุทธเจ้าทรงจากเมืองกบิลพัสดุ์ไปเมื่อมีพระชนมายุได้ยี่สิบเก้าปีและทรงออกมุ่งหน้าไปยังแคว้นมคธเพื่อแสวงหาความจริงทางจิตวิญญาณ  พระองค์เสด็จไปตามถนนสายเหนือและข้ามแม่น้ำคงคาจนมาถึงกรุงราชคฤห์  ณ ตอนนั้น แคว้นมคธปกครองโดยพระเจ้าพิมพิสาร และแคว้นโกศลปกครองโดยพระเจ้าปเสนทิ เพื่อเชื่อมสัมพันธภาพระหว่างแคว้นโกศลและแคว้นมคธ กษัตริย์ทั้งสองจึงอภิเษกสมรสกับพระขนิษฐาของกันและกัน  พระขนิษฐาของพระเจ้าปเสนทิมีพระนามว่า พระเทวี

ขณะทรงพำนักอยู่ในแคว้นมคธ สิตธัตถะทรงศึกษากับพระอาจารย์สองท่าน ได้แก่ อาฬารดาบส กาลามโคตร และอุททากา รามบุตร พระอาจารย์ทั้งสองมาจาสายทางพราหมณ์ จึงสอนให้พระองค์ปฏิบัติการเพ่งสมาธิขั้นลึกเรื่องความว่างเปล่าและการแยกแยะและไม่แยกแยะสิ่งใดทั้งสิ้น  อย่างไรก็ตามสิทธัตถะทรงไม่พึงพอใจกับการบรรลุดังกล่าว จึงทรงไปจากพระอาจารย์เหล่านี้  จากนั้นพระองค์ทรงบำเพ็ญทุกรกิริยาขั้นต่าง ๆ และแทบไม่รับประทานอะไรเลย  และแล้วพระองค์ทรงรู้สึกว่าการปฏิบัติเช่นนี้ก็ไม่ได้นำไปสู่การหลุดพ้นเช่นกัน  จากนั้นพระองค์จึงทรงหยุดอดอาหารและเสด็จไปยังตำบลอุรุเวลา ที่อยู่ใกล้เคียง ซึ่งก็คือพุทธคยาในปัจจุบันนั่นเอง  ที่นี่เป็นที่ที่พระองค์ทรงตรัสรู้ใต้ต้นโพธิ์ขณะมีพระชนมายุสามสิบห้าปี  นับเป็นเวลาหกปีหลังจากที่พระองค์เสด็จออกจากแคว้นมคธ

หลังบรรลุการตรัสรู้แล้ว พระองค์เสด็จออกตะวันตกไปยังมิกาดายะ ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ซึ่งปัจจุบันคือบริเวณสารนาถที่อยู่ห่างจากเมืองพาราณสีเล็กน้อย   บริเวณนี้อยู่ทางตอนเหนือของแม่น้ำคงคา แต่พระเจ้าปเสนทิทรงมอบให้แคว้นมคธเพื่อเป็นสินสอดของพระขนิษฐา พระนางเทวี ตอนที่พระนางอภิเษกสมรสกับพระเจ้าพิมพิสาร  พระพุทธเจ้าทรงพำนักในป่าอิสิปตนมฤคทายวันพร้อมกับปัญจวัคคีย์ทั้งห้าในช่วงหน้าฝน  ไม่นานก็เริ่มมีลูกศิษย์ลูกหาจำนวนเล็กน้อยมาเข้าร่วมและก่อตั้งชุมชนสมณเพศที่พระองค์ทรงต้องดูแล

ขุนนางลิจฉวี นามว่า มหาลี จากเวสาลี ได้ทราบเกี่ยวกับพระพุทธเจ้าและทูลให้พระเจ้าพิมพิสารเชิญพระพุทธเจ้ามายังแคว้นมคธ   ดังนั้นหลังจากพ้นมรสุมไป พระพุทธเจ้าพร้อมกับกลุ่มของพระองค์ที่เพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ ก็เดินทางกลับทิศตะวันออกไปยังกรุงราชคฤห์ซึ่งเป็นเมืองหลวงของแคว้นมคธ  พระเจ้าพิมพิสารทรงประทับใจในคำเทศนาของพระพุทธเจ้าและถวายป่าร้างชื่อ ป่าเวฬุวัน คือ “ป่าไผ่” ให้เป็นที่ที่พระองค์ทรงสามารถตั้งชุมชนในช่วงหน้าฝนได้

ไม่นานนักพระสารีบุตร และพระโมคคัลลานะ สาวกระดับสูงของคุรุที่มีชื่อเสียงโด่งดังในท้องถิ่นก็มาเข้าร่วมชุมชนของพระพุทธเจ้า  ภายหลังทั้งสองกลายเป็นสาวกที่ใกล้ชิดที่สุดของพระองค์  พระสารีบุตรขอให้พระพุทธเจ้ากำหนดคำปฏิญาณตนสำหรับชุมชนสมณเพศที่ใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ และพระเจ้าพิมพิสารก็ทรงแนะนำให้ชุมชนนี้ยึดการปฏิบัติธรรมเนียมบางประการเหมือนกับกลุ่มนักบวชภิกขาจารอื่น  เช่น ศาสนาเชน  พระเจ้าพิมพิสานทรงแนะนำเป็นพิเศษว่าให้จัดการชุมนุมขึ้นทุก ๆ วันอุโบสถ เพื่ออภิปรายหลักคำสอน ซึ่งพระพุทธเจ้าก็ทรงเห็นด้วย

วันหนึ่งอนาถบิณฆิกเศรษฐี นายธนาคารผู้ร่ำรวยจากสาวัตถี ซึ่งเป็นเมืองหลวงของแคว้นโกศล เดินทางมาทำธุรกิจที่กรุงราชคฤห์  เขาซาบซึ้งในคำสอนของพระพุทธเจ้ามากและเสนอสถานที่ในเมืองสาวัตถีซึ่งเป็นเมืองหลวงของพระเจ้าปเสนทิ ให้พระพุทธเจ้าทรงพำนักในช่วงหน้าฝน  หลังจากนั้นไม่นานพระพุทธเจ้าและคณะสงฆ์ของพระองค์จึงย้ายไปยังแคว้นโกศล แต่อนาถบิณฆิกเศรษฐีก็ใช้เวลาหลายปีกว่าจะหาที่อยู่ที่เหมาะสมให้กับพระองค์ได้

ในระหว่างนั้นพระพุทธเจ้าทรงเสด็จกลับไปเยี่ยมครอบครัวในเมืองกบิลพัสดุ์  พระเจ้าสุทโธทนะ พระราชบิดากลายเป็นศิษย์ของพระองค์อย่างรวดเร็ว และพระโอรสราหุลที่มีพระชนมายุแปดปีก็เข้ารับการบรรพชาเป็นสามเณร  ในเวลาหลายปีต่อมามีขุนนางเมืองศากยะหลายคนมาเข้าร่วมด้วย ซึ่งรวมถึงพระญาติของพระองค์ ได้แก่ พระอานนท์ พระอนุรุทธ พระเทวทัต รวมถึงพระอนุชาต่างมารดาของพระองค์ พระนันทา ซึ่งรู้จักในอีกพระนามว่า “สุนทรานนท์” แปลว่า “นันทะผู้งดงาม”

พระวิมาดาและพระปิตุจฉาของพระพุทธเจ้า นั่นคือ พระนางปชาบดี ทรงขอเข้าร่วมคณะที่ใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ นี้ แต่พระองค์ทรงปฏิเสธในตอนแรก  พระนางทรงไม่ย่อท้อและปลงผมตนเอง สวมจีวรสีเหลือง และติดตามพระพุทธเจ้าพร้อมกับกลุ่มสตรีจำนวนมาก  พระนางปชาบดีทรงร้องขอการอุปสมบทจากพระพุทธเจ้าต่อไป แต่พระพุทธเจ้าก็ทรงปฏิเสธเป็นครั้งที่สองและครั้งที่สาม  สองสามปีก่อนที่พระพุทธเจ้าจะเสด็จปรินิพพาน พระอานนท์วิงวอนขอร้องให้พระนางอีกครั้งและพระพุทธเจ้าก็ทรงตกลงอุปสมบทให้สตรีในที่สุด ซึ่งกระทำในเมืองเวศาลี สาธารณรัฐวัชชี และถือเป็นจุดเริ่มต้นของคณะภิกษุณีในพระพุทธศาสนา

อนาถบิณฑิกเศรษฐีขึ้นชื่อเรื่องความโอบอ้อมอารีเหลือล้น  สองสามปีหลังจากที่พระพุทธเจ้าเสด็จกลับแคว้นโกศล เขาจ่ายทองคำไปจำนวนมากเพื่อซื้อสวนในสาวัตถี ชื่อว่า เชตวัน หรือ “สวนเจ้าเชต”  ที่นั่นเขาสร้างที่พำนักหน้าฝนที่หรูหราอย่างยิ่งสำหรับพระพุทธเจ้าและคณะสงฆ์  ยี่สิบปีหลังจากที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้  พระองค์ก็ทรงกำหนดธรรมเนียมการจำพรรษาช่วงหน้าฝนสำหรับชุมชนสงฆ์ในที่สุด  โดยในช่วงนี้ผู้ถือสมณเพศจะพำนักอยู่ในสถานที่เดียวเป็นเวลาสามเดือนในช่วงมรสุมของทุกปีและไม่เดินทางไปตามที่ต่าง ๆ อย่างที่กระทำเป็นปกติในช่วงอื่นของปี  โดยรวมแล้วพระพุทธเจ้าทรงจำพรรษาสิบเก้าครั้ง ณ สวนเชตวัน ซึ่งตลอดช่วงเวลานี้พระองค์ทรงเทศนาปาฐกถา 844 บท  อนาถบิณฑิกเศรษฐียังคงเป็นผู้อุปถัมภ์หลักของพระพุทธเจ้าต่อไป แต่เขาล้มละลายในบั้นปลายชีวิต

พระเจ้าปเสนทิ เจ้าเมืองโกศล ทรงพบพระโคตมพุทธเจ้าเป็นครั้งแรกที่ป่าเชตวัน  ตอนนั้นพระพุทธเจ้าทรงมีพระชนมายุประมาณสี่สิบพรรษา  พระพุทธเจ้าทรงทำให้ท่านเจ้าเมืองซาบซึ้งเป็นอย่างมาก จึงทรงถวายตัวเป็นผู้อุปถัมภ์และลูกศิษย์ของพระองค์ในเวลาต่อมา  แต่ความสัมพันธ์ระหว่างพระพุทธเจ้ากับท่านเจ้าเมืองนั้นเปราะบางมากเสมอ  ถึงแม้ว่าท่านเจ้าเมืองจะทรงเป็นผู้อุปถัมภ์ทรงปัญญาในการเรียนรู้ พระองค์ก็ทรงเป็นผู้มักมากในกามและมักแสดงความอำมหิตเหี้ยมโหด  ยกตัวอย่างเช่น ด้วยความหวาดระแวงเกินเหตุ พระองค์ทรงสั่งประหารชีวิตพันธุละ ซึ่งเป็นพระสหายจากแคว้นมัลละและเป็นผู้บังคับบัญชากองทัพ  พอรู้สึกสำนึกผิด พระองค์ก็ทรงแต่งตั้งหลานชายของพันธุละ นามว่า การยัน เป็นผู้นำกองทัพแทน  หลายปีต่อมานายพลการยันจึงขับไล่พระเจ้าปเสนทิโกศลเพื่อแก้แค้นแทนลุง  แต่ทว่าพระพุทธเจ้าก็ทรงอดทนต่อพฤติกรรมคุ้มดีคุ้มร้ายและโชคชะตาอันผันแปรของท่านเจ้าเมือง เพราะพระองค์ทรงต้องการให้ท่านเจ้าเมืองคุ้มครองและปกป้องคณะสงฆ์จากโจรขโมยและสัตว์ป่า รวมถึงต้องการการอุปถัมภ์จากผู้มั่งมีอย่างไม่ต้องสงสัย

พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงจำเป็นต้องมีพระโอรสเพื่อสืบต่อราชวงศ์  แต่ปรากฏว่าพระมเหสีองค์แรกของพระองค์ นั่นคือพระขนิษฐาของพระเจ้าพิมพิสารแห่งแคว้นมคธนั้นทรงไม่มีบุตร   พระองค์ทรงอภิเษกกับพระชายาองค์ที่สอง นามว่า นางมัลลิกา ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้าที่มีรูปโฉมงดงามแต่มาจากชั้นวรรณะต่ำต้อย  ชาติกำเนิดของนางสร้างความอัปยศอดสูให้นักบวชพราหมณ์ในราชสำนัก  นางมัลลิกาให้กำเนิดพระธิดาแก่พระเจ้าปเสนทิ นามว่า วจิรี

พระเจ้าปเสนทิทรงรู้สึกว่าตนต้องการพระชายาองค์ที่สามเพื่อให้กำเนิดพระโอรส  พระองค์จึงทรงอภิเษกกับพระนางวาสภ พระธิดาของพระเจ้ามหานามะ ซึ่งเป็นพระญาติของพระพุทธเจ้าและเป็นผู้ปกครองศากยะหลังจากที่พระบิดาของพระพุทธเจ้าสวรรคตไป  พระเจ้ามหานามะเป็นพระชนกของสาวกผู้ใกล้ชิดพระพุทธเจ้าที่สุด นั่นคือ พระอานนท์และพระอนุรุทธ  แม้ว่าพระเจ้ามหานามะจะทำว่านางวัสภเป็นสตรีในวัง แต่จริง ๆ แล้วนางเป็นธิดานอกสมรสของพระองค์กับทาสสตรีคนหนึ่ง   ดังนั้นแม้ว่าพระนางวัสภจะให้กำเนิดพระโอรสแก่พระเจ้าปเสนทิ นามว่า วิฑูฑภะ ตำแหน่งรัชทายาทบัลลังก์โกศลของท่านก็ไม่มั่นคงด้วยเรื่องตบตาที่แฝงอยู่ในสายเลือดของพระมารดา  เรื่องตบตาดังกล่าวทำให้พระพุทธเจ้าทรงพลอยตกที่นั่งลำบากไปด้วย เพราะพระองค์ทรงมีสายสัมพันธ์กับพระนางวัสภ

ด้วยความที่วิฑฑูภะทรงไม่ทราบถึงชาติกำเนิดที่ผิดทำนองคลองธรรมของตน พระองค์จึงเสด็จไปเยี่ยมเยือนศากยะและพระอัยกา พระเจ้ามหานามะ เป็นครั้งแรกเมื่อมีพระชนมายุสิบหกปี  ตอนที่อยู่ที่นั่นการยัน ผู้นำกองทัพของพระเจ้าปเสนทิ ก็ได้ล่วงรู้ถึงพื้นเพที่แท้จริงของพระมารดาของวิฑฑูภะ  เมื่อหัวหน้ากองทัพรายงานพระเจ้าปเสนทิว่าพระราชบุตรของพระองค์ทรงเป็นพระราชนัดดาที่ไม่ชอบธรรมจากทาสสตรีผู้หนึ่ง พระเจ้าปเสนทิทรงเกรี้ยวโกรธชาวศากยะเป็นอย่างมาก  พระองค์ทรงถอดยศพระชายาและพระโอรส แล้วขับไล่ทั้งสองไปเป็นทาส  ด้วยการร้องขอจากพระพุทธเจ้า พระเจ้าปเสนทิจึงทรงคืนสถานะให้ทั้งสองในที่สุด

อย่างไรก็ตาม ตำแหน่งของพระพุทธเจ้าในแคว้นโกศลก็เริ่มสั่นคลอนหลังจากนั้นเป็นต้นมา และเมื่อพระองค์มีพระชนมายุประมาณเจ็ดสิบพรรษา พระองค์ทรงเสด็จกลับแคว้นมคธและกรุงราชคฤห์เป็นครั้งแรก  พระองค์ทรงพำนักอยู่ในป่ามะม่วงของท่านแพทย์หลวงชีวก แทนที่จะไปพำนักที่ป่าไผ่ของกษัตริย์  จุดนี้ชี้ให้เห็นว่าพระพุทธเจ้าอาจทรงประชวรแล้วในตอนนี้

เมื่อพระพุทธเจ้าทรงมีพระชนมายุเจ็ดสิบสองพรรษา ผู้อุปถัมภ์รายแรกของพระองค์ นั่นคือพระเจ้าพิมพิสารแห่งแคว้นมคธ ทรงถูกบังคับให้สละราชบัลลังก์ให้กับพระโอรส พระเจ้าอชาตศัตรู พระเจ้าอชาตศัตรูทรงกักขังพระบิดาและให้พระองค์อดอาหารจนสวรรคต  พระนางเทวี พระมเหสีหม้ายของพระเจ้าพิมพิสารและพระขนิษฐาของพระเจ้าปเสนทิ ทรงตรอมใจตายตาม   เพื่อแก้แค้นให้พระขนิษฐา พระเจ้าปเสนทิทรงก่อสงครามกับพระเจ้าอชาตศัตรู ซึ่งเป็นพระราชนัดดาของพระองค์ เพื่อทวงคืนหมู่บ้านรอบ ๆ พาราณสีทางตอนเหนือของแม่น้ำคงคา โดยบริเวณนี้เป็นพื้นที่ที่พระองค์ทรงมอบให้พระเจ้าพิมพิสารเพื่อเป็นสินสอดของพระนางเทวี   เนื่องจากสงครามนี้ไม่สิ้นสุดเสียที พระเจ้าปเสนทิจึงทรงจำใจมอบพระธิดา วจิรี ให้อภิเษกกับพระเจ้าอชาตศัตรูเพื่อรักษาความสงบ

ในเวลาใกล้เคียงกันนี้ พระเทวทัต พระญาติของพระพุทธเจ้าผู้กลายเป็นอาจารย์ของพระเจ้าอชาตศัตรูก็พยายามแย่งชิงการควบคุมคณะสงฆ์จากพระพุทธเจ้า  พระเทวทัตพยายามโน้มน้าวให้พระพุทธเจ้าเพิ่มกฎวินัยสงฆ์อีกหลายข้อ เช่น พระสงฆ์ต้องอาศัยอยู่ในป่า ต้องนอนใต้ต้นไม้เท่านั้น ต้องไม่ย่างกรายเข้าบ้านฆราวาส ต้องสวมใส่ผ้าขี้ริ้วเท่านั้น ห้ามรับผ้าที่มีคนถวายให้ และต้องเป็นมังสวิรัติอย่างเคร่งครัด  พระพุทธเจ้าทรงปฏิเสธเนื่องจากพระองค์ทรงรู้สึกว่าการทำเช่นนี้จะทำให้คณะสงฆ์ของท่านเป็นเหมือนกับผู้บำเพ็ญตบะและตัดขาดจากสังคมมากเกินไป  พระเทวทัตท้าทายอำนาจของพระพุทธเจ้าและชักจูงพระสงฆ์อายุน้อยหลายรูปด้วยแนวคิดของตน  จากนั้นจึงสร้างความแตกแยกด้วยการสร้างคณะสงฆ์ของตนเองขึ้นมาแข่ง  อันที่จริงแล้วพระเทวทัตพยายามลอบสังหารพระพุทธเจ้าอยู่หลายต่อหลายครั้ง แต่ก็ไม่สำเร็จ  ท้ายที่สุดพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะจึงโน้มน้าวพระสงฆ์ที่ออกไปจากคณะของพระพุทธเจ้าให้กลับมาดังเดิม

พระเทวทัตดูจะนึกเสียใจกับการกระทำของตนเองอยู่ แต่มรณภาพไปก่อนที่จะขอให้พระพุทธเจ้าทรงยกโทษให้ได้  กระนั้นแล้วพระพุทธเจ้าก็ทรงไม่เคยคิดแค้นหรือมีเจตนาไม่ดีต่อพระเทวทัตเลย  พระเจ้าอชาตศัตรูก็ทรงเสียใจที่ปลิดชีพพระบิดา และเมื่อได้รับคำแนะนำจากหมอชีวก พระองค์ทรงสารภาพกับพระพุทธเจ้าว่าตนกระทำปิตุฆาตและตั้งใจสำนึกผิด

ประมาณหนึ่งปีให้หลัง พระพุทธเจ้าเสด็จไปยังบ้านเกิดที่ศากยะอีกครั้ง  ในระหว่างที่พระเจ้าปเสนทิเสด็จไปเยี่ยมเยือนพระพุทธเจ้าเพื่อแสดงความเคารพ นายพลการยันทำการปฏิวัติและแต่งตั้งเจ้าชายวิฑฑูภะขึ้นครองบัลลังก์  พระเจ้าปเสนทิผู้โดนขับไล่ไม่มีที่ไป จึงทรงหลบหนีไปยังแคว้นมคธเพื่อขอความคุ้มครองจากพระเจ้าอชาตศัตรูในกรุงราชคฤห์ ผู้เป็นพระราชนัดดาและพระชามาดาของพระองค์   อย่างไรก็ตามพระเจ้าปเสนทิถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าเมืองและถูกพบสวรรคตในวันต่อมา

ในระหว่างนั้นพระเจ้าวิฑฑูภะ กษัตริย์องค์ใหม่แห่งแคว้นโกศล ทรงก่อสงครามปะทะเมืองศากยะเพื่อแก้แค้นที่พระเจ้ามหานามะอัยกาหลอกลวงชาติกำเนิดของตน  ถ้าคุณผู้อ่านยังพอจำได้ พระเจ้ามหานามะทรงเป็นพระญาติของพระพุทธเจ้าและเป็นผู้ปกครองเมืองศากยะในปัจจุบัน  แม้ว่าพระพุทธเจ้าจะทรงพยายามโน้มน้าวกษัตริย์องค์นี้ไม่ให้โจมตีอยู่สามครั้งสามครา คำขอของพระองค์ก็ไม่เกิดผลใด ๆ  กองทัพแคว้นโกศลได้รับคำสั่งให้สังหารทุกคนที่อยู่ในเมืองกบิลพัสดุ์ เมืองหลวงแห่งศากยะ  เมื่อไม่สามารถป้องกันการสังหารหมู่ได้ พระพุทธเจ้าจึงทรงลี้ภัยไปยังกรุงราชคฤห์ในแคว้นมคธ และทรงขอให้พระเจ้าอชาตศัตรูคุ้มครองอย่างที่พระเจ้าปเสนทิทรงทำแต่ไม่ได้ผล

หนทางไปแคว้นมคธตัดผ่านสาธารณรัฐวัชชี  ที่นั่นพระสารีบุตร สาวกที่ใกล้ชิดที่สุดของพระพุทธเจ้ารอพระองค์อยู่ในเมืองหลวงเวศาลี  อย่างไรก็ตาม ที่นั่นมีอดีตผู้ติดตามของพระพุทธเจ้าคนหนึ่ง นามว่า สุนักกัตตะ ซึ่งเป็นขุนนางเมืองเวศาลีที่สึกและออกจากคณะสงฆ์ของพระพุทธเจ้าก่อนหน้านี้  เขากล่าวว่าร้ายพระพุทธเจ้าต่อสภาเมืองวัชชี โดยกล่าวว่าพระพุทธเจ้าทรงไม่มีพลังวิเศษใด ๆ เลยและทรงสอนวิธีเชิงตรรกะทั่วไปในการหยุดความอยากได้อยากมี แต่ไม่ใช่วิธีบรรลุสภาวะเหนือธรรมชาติใด ๆ  พระพุทธเจ้าทรงน้อมรับข้อนี้ไว้เป็นคำชม  กระนั้นแล้วคำกล่าวโทษบวกกับการก่อตั้งคณะภิกษุณีในตอนนั้นก็ทำให้พระพุทธเจ้าทรงเสียแรงสนับสนุนและชื่อเสียงในเมืองวัชชี  จากนั้นพระพุทธเจ้าจึงเสด็จข้ามแม่น้ำคงคาต่อไปยังกรุงราชคฤห์ ซึ่งพระองค์ทรงพำนักในถ้ำใกล้ ๆ เขาคิชฌกูฏ หรือยอดเขาอีแร้งนั่นเอง

นายกรัฐมนตรีของพระเจ้าอชาตศัตรู นามว่า วัสสการ เดินทางมาเยี่ยมเยือนพระพุทธเจ้า  เขาแจ้งให้พระองค์ทราบว่าพระเจ้าอชาตศัตรูทรงมีแผนจะขยายอาณาจักรและบุกเข้ายึดสาธารณรัฐวัชชีในเร็ว ๆ นี้   ถึงแม้ว่าพระพุทธเจ้าจะทรงแนะนำว่าพวกเขาไม่อาจซื้อใจชาววัชชีได้ด้วยการใช้กำลัง หากแต่ควรจะรักษาขนบธรรมเนียมดั้งเดิมอันมีเกียรติของพวกเขาไว้  พระพุทธเจ้าก็ทรงไม่อาจป้องกันการเกิดสงครามได้อีก เหมือนกับตอนที่แคว้นโกศลเข้ายึดครองศากยะ  ความสูญเสียยังไม่สิ้นสุดแค่นั้น เพราะสาวกที่ใกล้ชิดที่สุดของพระพุทธเจ้า นั่นคือพระสารีบุตรกับพระโมคคัลลานะ มรณภาพในเวลาใกล้เคียงกันนี้ด้วย  พระสารีบุตรอาวุโสมรณภาพจากอาการป่วย ส่วนพระโมคัลลานะโดนโจรรุมซ้อนจนมรณภาพขณะปลีกวิเวก

เมื่อไม่ได้รับความเห็นใจหรือแรงสนับสนุนจากแคว้นมคธ พระพุทธเจ้าทรงตัดสินใจเสด็จกลับทางเหนืออีกครั้ง ซึ่งน่าจะเป็นบ้านเกิดศากยะของท่าน  บางทีท่านอาจทรงอยากไปดูว่ามีสิ่งใดหลงเหลืออยู่บ้างหลังจากที่ถูกแคว้นโกศลโจมตี  ก่อนเสด็จเดินทาง พระพุทธเจ้าทรงขอให้พระอานนท์เรียกพระสงฆ์ทุกรูปมารวมตัวกันที่ยอดเขาอีแร้ง ซึ่งเป็นที่ที่พระองค์ทรงเทศนาเป็นครั้งสุดท้าย  พระองค์ขอให้พวกเขาจัดรูปแบบชุมชนสงฆ์ตามระบบประชาธิปไตยของสภาวัชชี  พวกเขาควรจัดประชุมหารือกันเป็นประจำ อยู่ร่วมกันอย่างสันติ แบ่งปันทานแก่กันและเคารพผู้อาวุโส

จากนั้นไม่นานพระพุทธเจ้าจึงเสด็จออกจากยอดเขาอีแร้งและแคว้นมคธ  พระองค์ทรงหยุดจำพรรษาช่วงหน้าฝนก่อนถึงเวศาลีในสาธารณรัฐวัชชี  พระองค์ทรงพบว่าบ้านเมืองที่นั่นเสื่อมโทรมท่ามกลางอันตรายจากสงคราม  ในเมื่อพระพุทธเจ้าทรงสูญเสียการสนับสนุนจากสภาวัชชี พระองค์จึงทรงใช้ช่วงมรสุมตามลำพังและบอกให้พระสงฆ์รูปอื่นหาที่พักอาศัยกับสหายและผู้สนับสนุนผู้อื่น

ในช่วงฝนมรสุมนี้ พระพุทธเจ้าในวัยแปดสิบพรรษาประชวรหนักจนใกล้ดับขันธ์  พระอานนท์ขอให้พระองค์ทรงเทศนาคำสอนสุดท้ายแก่เหล่าพระสงฆ์  แต่พระพุทธเจ้าทรงบอกพวกเขาว่าพระองค์ได้สอนทุกอย่างที่พระองค์ทราบไปหมดแล้ว และในอนาคตคำสอนเหล่านี้ล่ะจะเป็นที่พึ่งพาหลักและเป็นสิ่งชี้นำทาง  พวกเขาจะต้องผสมผสานหลักคำสอนเหล่านี้ด้วยตัวเองและไม่หวังให้ผู้นำหรือชุมชนใด ๆ มาช่วยตนในหนทางแห่งการหลุดพ้นทุกข์  จากนั้นพระพุทธเจ้าจึงทรงประกาศว่าพระองค์จะเสด็จปรินิพพานในอีกไม่ช้า

พระพุทธเจ้าทรงออกเดินทางอีกครั้งหลังฝนพร้อมกับพระญาติและสาวก นั่นคือ พระอานนท์และพระอนุรุทธ  ขณะมุ่งหน้าไปยังเมืองศากยะ พวกเขาหยุดที่เมืองปาวา ซึ่งเป็นหนึ่งในสองเมืองหลักของแคว้นมัลละ  ที่นั่นช่างตีเหล็กนามว่า จุนทะ ถวายหมูมียาพิษแก่คณะ พระพุทธเจ้าทรงรู้สึกว่ามีสิ่งผิดปกติจึงบอกพระญาติไม่ให้ฉันหมูชิ้นนั้น แต่พระองค์ทรงฉันหมูชิ้นนั้นเองและบอกให้พวกเขาฝังกลบหมูที่เหลือไป  แคว้นมัลละเป็นถิ่นของนายพลการยันผู้กระทำการสังหารหมู่ในศากยะ จึงค่อนข้างเป็นไปได้ว่ายาพิษนั้นตั้งใจนำมาให้พระอานนท์ ผู้ขึ้นชื่อว่าจดจำหลักคำสอนทุกอย่างของพระพุทธเจ้าได้ขึ้นใจ   หากพระอานนท์ถูกสังหาร หลักคำสอนและชุมชนของพระพุทธเจ้าก็ไม่อาจคงอยู่ต่อไปได้

ขณะทรงทนทุกข์ทรมานจากอาการท้องร่วงเป็นโลหิตอย่างรุนแรง พระพุทธเจ้าทรงบอกให้พระอานนท์พาพระองค์ไปยังเมืองกุสินาราที่อยู่ใกล้เคียง ขณะที่นอนอยู่ระหว่างต้นไม้สองต้น พระพุทธเจ้าตรัสถามพระสงฆ์สองสามรูปบริเวณนั้นว่าพวกเขามีคำถามหรือข้อสงสัยใด ๆ เพิ่มเติมหรือไม่  พระอานนท์และพระสงฆ์รูปอื่นรู้สึกท่วมท้นไปด้วยความโศกเศร้า จึงพากันปิดปากเงียบกริบ  จากนั้นพระพุทธเจ้าจึงเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานขณะมีพระชนมายุได้แปดสิบพรรษาในปี 485 ก่อนคริสตกาล

ก่อนที่จะเผาร่างของพระพุทธเจ้ามีกลุ่มพระสงฆ์เดินทางมาจากเมืองปาวา นำโดยพระมหากัสสป โดยยืนกรานให้รอจนพวกเขาได้แสดงความเคารพต่อพระองค์ก่อนจึงค่อยเผา  พระมหากัสสปเป็นพราหมณ์จากแคว้นมคธที่อุปสมบทเป็นพระสงฆ์ตอนอายุมากแล้วเมื่อสองสามปีก่อนหน้านี้  ตอนที่พระพุทธเจ้าทรงพบท่านเป็นครั้งแรก พระองค์ทรงมอบจีวรเก่าที่ใส่แล้วให้พระมหากัสสปเพื่อแลกกับจีวรใหม่ของพราหมณ์  หลังจากนั้นการมอบจีวรดังกล่าวจึงถือเป็นตัวแทนการถ่ายทอดสิทธิ์และจุดเริ่มต้นของวงศ์อัครบิดรในพระพุทธศาสนา

อย่างไรก็ตาม พระพุทธเจ้าตรัสอย่างชัดเจนกับสาวกของพระองค์ในหลายโอกาสว่า หลังจากที่พระองค์เสด็จดับขันธ์แล้ว พระธรรมถือเป็นครูอาจารย์ของพวกเขา  พระองค์ทรงปรารถนาให้ชุมชนของท่านดำเนินไปในระบบสภาของวัชชี  พระองค์ทรงไม่ได้มุ่งหมายให้ชุมชนนี้ปกครองตามรูปแบบอาณาจักรอย่างแคว้นโกศลหรือแคว้นมคธโดยมีพระสงฆ์รูปเดียวเป็นหัวหน้า

กระนั้นแล้วหลังจากที่พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธ์ก็ดูเหมือนจะมีการต่อสู้ชิงอำนาจระหว่างพระมหากัสสปกับพระอานนท์  พูดอีกนัยหนึ่งก็คือ เกิดการต่อสู้กันระหว่างระบบแบบอินเดียดั้งเดิมของการสืบทอดสิทธิ์จากคุรุไปยังสาวกโดยปริยาย กับ ระบบที่มีความเท่าเทียมกันทางประชาธิปไตยมากกว่าซึ่งว่าด้วยการที่พระภิกษุสงฆ์อาศัยอยู่ในชุมชนขนาดเล็กและปฏิบัติตามกฎและหลักการที่กำหนดไว้  สุดท้ายพระมหากัสสปประสบความสำเร็จ

หลังจากที่เผาและแจกจ่ายพระบรมสารีริกธาตุแล้ว พระสงฆ์ต่างยอมรับข้อเสนอของพระมหากัสสปในการจัดตั้งการสังคายนาในกรุงราชคฤห์ในฤดูฝนถัดมา เพื่อทบทวน ยืนยัน และรวบรวมสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้  พระมหากัสสปต้องเลือกพระสงฆ์อาวุโสมาเข้าร่วม  ท่านเลือกเฉพาะพระอรหันต์ ซึ่งหมายถึงผู้ที่หลุดพ้นแล้ว รวมกันเป็นจำนวน 499 รูป  ตอนแรกพระมหากัสสปไม่ได้รวมพระอานนท์เข้าไปด้วยเนื่องจากท่านยังไม่บรรลุอรหันต์  พระมหากัสสปละเว้นพระอานนท์แม้ว่าท่านจะจดจำคำสอนของพระพุทธเจ้าได้ครบถ้วนที่สุด  นอกจากนี้พระอานนท์ยังเป็นผู้สนับสนุนและผู้ผลักดันความปรารถนาของพระพุทธเจ้าในการไม่ให้มีผู้นำเดี่ยวอย่างแข็งขัน  บางทีปัจจัยอีกประการหนึ่งที่ทำให้พระมหากัสสปไม่ชื่นชอบพระอานนท์อาจเป็นเพราะว่าพระอานนท์เป็นผู้โน้มน้าวให้พระพุทธเจ้าทรงอุปสมบทสตรี  จุดนี้น่าจะสร้างความโกรธเคืองให้กับพื้นเพแบบประเพณีนิยมทางพราหมณ์ของพระมหากัสสป  อย่างไรก็ตามท้ายที่สุดแล้ว กลุ่มพระสงฆ์อาวุโสก็ประท้วงการละเว้นพระอานนท์  พระมหากัสสปจึงยอมจำนนและอนุญาตให้พระอานนท์เข้าร่วมในที่สุด  บันทึกของสายเถรวาทกล่าวว่า พระอานนท์บรรลุอรหันต์คืนก่อนวันสังคายนา

แต่ในขณะที่รอการสังคายนาเริ่มต้น พระอานนท์ได้พบกับวัสสการ นายกรัฐมนตรีของพระเจ้าอชาตศัตรู  พระอานนท์ได้ทราบจากเขาว่านอกจากกองทัพแคว้นมคธจะเตรียมโจมตีวัชชีแล้ว พวกเขายังเตรียมโจมตีพระเจ้าปรัทโยต แห่งแคว้นอวันตี ซึ่งเป็นอาณาจักรทางตะวันตกของแคว้นมคธด้วย  ดังนั้นถึงแม้ว่าพระพุทธเจ้าจะทรงไม่ได้ต้องการให้มีวงศ์อัครบิดรเป็นผู้นำชุมชน การที่พระมหากัสสปรับบทเป็นผู้นำชุมชนก็เอื้อประโยชน์ต่อการสืบต่อหลักคำสอนและชุมชนของพระพุทธเจ้าในช่วงเวลาที่วิกฤตและไม่แน่นอนอย่างไม่ต้องสงสัย

พระอรหันต์ห้าร้อยรูปเข้าร่วมการสังคายนาครั้งแรกในพระพุทธศาสนา ซึ่งจัดขึ้นที่ถ้ำสัตตบรรณิคูหา หรือถ้ำเจ็ดใบใกล้กับกรุงราชคฤห์  พระมหากัสสปเป็นประธาน พระอานนท์ท่องพระสูตรตามที่จำได้ขึ้นใจ และพระอุปาลี ท่องกฎพระวินัยของสงฆ์  การบันทึกในสายเถรวาทเผยว่าการสังคายนาครั้งนี้ไม่ได้มีการท่องหลักคำสอนพระอภิธรรมเกี่ยวกับหัวข้อความรู้เฉพาะ  แต่การบันทึกของไวภาษิกะของสายสรวาสติวาทนั้นระบุว่าพระมหากัสสปได้ท่องหลักคำสอนพระอภิธรรมจำนวนหนึ่งด้วย แต่ไม่ทั้งหมด  อย่างไรก็ตามกลุ่มเสาตรานติกะกล่าวอ้างว่า จริง ๆ แล้วหลักคำสอนอภิธรรมเหล่านี้ไม่ใช่คำสอนของพระพุทธเจ้า หากแต่แต่งขึ้นโดยพระอรหันต์เจ็ดรูป

หากดูตามสายทิเบตแล้ว พระมหากัสสปเป็นผู้เริ่มต้นวงศ์อัครบิดรทั้งเจ็ด สายฉานในประเทศจีน ตามด้วยสายซนในเกาหลีและเซ็นในญี่ปุ่นดำเนินตามรอยอัครบิดรทั้งยี่สิบแปดรูปในประเทศอินเดีย โดยมีพระโพธิธรรมเป็นรูปที่ยี่สิบแปด  พระโพธิธรรมเป็นปรมาจารย์ชาวอินเดียที่นำหลักคำสอนของฉานไปยังประเทศจีน  ในฝั่งเอเชียตะวันออก ท่านถือเป็นอัครบิดรคนแรกของสายฉาน

โดยสรุปแล้ว วรรณกรรมบาลีของสายเถรวาทนำเสนอภาพของพระพุทธเจ้าในฐานะผู้นำทางจิตวิญญาณที่มีสเน่ห์แต่ก็เกือบจะน่าอนาถใจ  พระองค์ทรงต้องดิ้นรนในการก่อตั้งและสนับสนุนชุมชนสาวกและศิษย์ที่ขยายใหญ่ขึ้นอย่างต่อเนื่องภายใต้สถานการณ์แสนยากลำบาก  พระองค์ทรงต้องเผชิญหน้ากับแผนการทางการเมือง ศึกสงครามหลายครั้งหลายครา การสังหารหมู่ผู้คนที่บ้านเกิดของท่าน การถูกกล่าวประนามต่อหน้ารัฐบาล การถูกท้าทายความเป็นผู้นำจากสาวกของพระองค์เอง การที่สาวกที่ใกล้ชิดที่สุดคนหนึ่งของท่านถูกฆาตกรรม ปิดฉากลงด้วยการดับขันธ์โดยมีเหตุจากยาพิษ  กระนั้นแล้วตลอดอุปสรรคอันยากลำเค็ญทั้งหลายเหล่านี้ พระพุทธเจ้าทรงรักษาสันติในใจและทรงไม่ย่อท้อ  ตลอดสี่สิบหกปีที่พระองค์ทรงเทศนาสอนสั่งหลังจากบรรลุการตรัสรู้นั้น พระองค์ทรงมีความมั่นคงแน่วแน่ที่จะแสดงให้โลกเห็นถึงหนทางสู่การหลุดพ้นและการตรัสรู้

Top