การทำสมาธิกำหนดลมหายใจเพื่อสงบจิตใจ

วิธีการแบบพุทธดั้งเดิมสำหรับการสงบจิตใจคือ การเพ่งสมาธิที่ลมหายใจ  ในการฝึกฝนทางพระพุทธศาสนา มีการหายใจและแบบฝึกหัดการหายใจหลากหลายแบบมาก ซึ่งเกือบทุกแบบที่ผมคุ้นเคยนั้นอาศัยการหายใจทางจมูก ไม่ใช่ทางปาก และหายใจอย่างนุ่มนวลตามธรรมชาติ แทนที่จะใช้กำลังบังคับ

วิธีการบางแบบในกลุ่มนี้อาศัยการกักลมหายใจ และสำหรับบางแบบก็ไม่มีการกักลมหายใจ  บางครั้งเราหายใจเข้าและหยุดลมหายใจนั้นไว้ และบางครั้งเราก็หยุดการหายใจชั่วขณะในขณะหายใจออก  ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับจุดประสงค์ที่แท้จริงของแบบฝึกหัดการหายใจนั้น ๆ และลักษณะที่เราหายใจ

วิธีดั้งเดิมสำหรับการสร้างความสงบคือ การใช้วัฏจักรการหายใจออกและหายใจเข้า  และเราสามารถหยุดชั่วขณะในระหว่างลมหายใจออก เพราะโดยธรรมชาติแล้ว การทำเช่นนี้จะทำให้เราหายใจเข้าได้ลึกขึ้นโดยไม่ต้องบังคับตัวเอง  สำหรับวิธีการสร้างความสงบที่เรียบง่ายที่สุดนี้ เราจะไม่กลั้นลมหายใจในระหว่างการหายใจเข้า ถึงแม้ว่าจะมีวิธีการแบบอื่นที่ทำแบบนี้ก็ตาม  และเหตุผลในการใช้วัฏจักรการหายใจดังกล่าว  ผมหมายถึงว่าจริง ๆ มีเหตุผลมากมายสำหรับการใช้วัฏจักรการหายใจออกและเข้า  แต่จุดนี้คือเหตุผลหลัก นั่นคือหากเราต้องการทำให้ความคิดของเราเงียบสงบลง วิธีนี้ต้องอาศัยสมาธิเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากวิธีการนับแบบนี้แตกต่างจากวิธีที่คนส่วนใหญ่มักจินตนาการวัฏจักรการหายใจ และเพราะว่าวิธีนี้ต้องใช้สมาธิและความใส่ใจเพิ่มมากขึ้น เราก็ไม่เหลือพื้นที่ให้คิดถึงสิ่งอื่นนัก  จึงช่วยสร้างความสงบให้จิตใจได้นั่นเอง 

นี่เป็นวิธีการแบบดั้งเดิม  แต่สิ่งที่ผมค้นพบจากประสบการณ์ส่วนตัวก็คือ ชาวตะวันตก โดยเฉพาะเวลาเดินทางมาเรียน จะมาจากวันที่เต็มไปด้วยความเครียดสูง  พวกเขาทำงานหนักมาตลอดวันและมักจะเป็นงานที่มีความกดดันสูงด้วย  จากนั้นพวกเขาก็ต้องรับมือกับการจราจรและสิ่งต่าง ๆ เพื่อเดินทางมาถึงการเรียนที่จัดสอนในเวลาตอนเย็น ซึ่งกรณีนี้จะไม่เกิดขึ้นหากเราพูดถึงพุทธศาสนิกชนแบบดั้งเดิมในประเทศอินเดีย หรือทิเบต หรือเวลาที่เราตื่นนอนตอนเช้าและนั่งลงเพื่อฝึกสมาธิ  เพราะฉะนั้นหากสิ่งแรกที่คุณขอให้ชาวตะวันตกผู้เต็มไปด้วยความเครียดทำทันทีที่เขามาถึงศูนย์พระพุทธศาสนาคือ การเพ่งสมาธิไปยังวิธีการหายใจ ซึ่งค่อนข้างแตกต่างจากวิธีปกติที่พวกเขาทำ  หากพวกเขาเครียดอยู่แล้ว สิ่งที่มักจะเกิดขึ้นคือความเครียดนั้นจะยิ่งทวีคูณขึ้นไปอีก เพราะวิธีนี้มันน่าสับสน

ในเมื่อจุดประสงค์ของแบบฝึกหัดการหายใจอย่างแรกคือการทำให้จิตใจสงบลง ผมจึงแนะนำให้ผู้ปฏิบัติชาวตะวันตกที่มาจากพื้นฐานที่มีความเครียดสูงว่า หากการนับวัฏจักรลมหายใจแบบออก จากนั้นจึงหยุดสักพัก แล้วหายใจเข้านั้นน่าสับสนสำหรับพวกเขา และทำให้พวกเขารู้สึกเครียดมากขึ้น แบบฝึกหัดนี้ย่อมไม่บรรลุจุดประสงค์  ดังนั้นจึงไม่มีเหตุผลใดที่เราต้องยืนยันการใช้วิธีนี้ในบริบทดังกล่าว  สำหรับสถานการณ์แบบนี้ ผมแนะนำว่าถ้าวิธีการสังเกตลมหายใจแบบดั้งเดิมทำให้พวกเขารู้สึกเครียด พวกเขาก็สามารถใช้วิธีการนับวัฏจักรลมหายใจแบบตะวันตกมากขึ้นก็ได้ ซึ่งก็คือการหายใจเข้า แล้วจึงหายใจออก โดยไม่หยุดชั่วขณะ ทั้งหมดนี้นับเป็นหนึ่งวัฏจักร

ดังนั้น เพื่อทำให้จิตใจเราสงบลง เราก็สามารถเพ่งสมาธิไปที่วัฏจักรการหายใจและนับการหายใจได้หากจิตใจเราฟุ้งซ่านเสียเลย  แต่หากจิตใจเราไม่ได้ฟุ้งซ่าน หรือค่อนข้างสงบและพร้อมอยู่แล้ว เราก็ไม่จำเป็นต้องนับลมหายใจ

พูดอีกอย่างก็คือ ในการปฏิบัติตามแนวทางธรรมะแบบดั้งเดิมนั้น เรามีวิธีการสามอย่างที่สามารถใช้ได้  ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของผู้ฝึก ซึ่งผู้ฝึกจะต้องประเมินผลตัวเองว่าวิธีใดเหมาะสมกับตัวเองที่สุด  ดังนั้น

  • หากเรามีความเครียดสูง ให้นับลมหายใจตามแบบตะวันตกทั่วไป  หายใจเข้า-ออกนับเป็นหนึ่งรอบ
  • หากเราไม่ได้เครียดมาก แต่จิตใจเราไม่มุ่งเน้น ให้ใช้วิธีการนับลมหายใจแบบดั้งเดิม นั่นคือหายใจออก หยุดชั่วขณะ แล้วจึงหายใจเข้า
  • หากจิตใจเราค่อนข้างสงบอยู่แล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องนับลมหายใจ แค่เพ่งสมาธิไปยังลมหายใจก็พอ

เมื่อนำวิธีเหล่านี้ไปปฏิบัติ สิ่งที่เราสังเกตได้ในส่วนนี้คือ เราต้องมีความอ่อนไหวกับตนเองและใช้วิธีการที่เหมาะสม  สิ่งหนึ่งที่ยอดเยี่ยมมากเกี่ยวกับหลักคำสอนในพระพุทธศาสนาคือ คำสอนเหล่านี้อุดมไปด้วยวิธีการมากมาย เราจึงมักพบวิธีการหลายแบบเพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายเฉพาะอย่าง  จุดนี้จะเป็นประโยชน์อย่างมากในการฝึกความอ่อนไหวเช่นกัน  เราจำเป็นต้องฝึกพัฒนาความอ่อนไหวในตัวเราเกี่ยวกับภาวะทางอารมณ์ที่แท้จริงของเราในช่วงเวลานั้น ๆ และเมื่อเราได้เรียนรู้วิธีการหลายแบบสำหรับการบรรลุเป้าหมายต่าง ๆ ให้สำเร็จแล้ว เราก็สามารถเลือกใช้วิธีการที่เหมาะสมได้  และถ้าวิธีที่เลือกไม่ได้ผล เราก็ลองใช้วิธีอื่น  เพราะฉะนั้นเรามาเพ่งสมาธิไปที่ลมหายใจโดยใช้วิธีการใดก็ได้ในสามวิธีนี้เพื่อสร้างความสงบกัน

[นั่งสมาธิ]

นอกจากนี้ในช่วงแรกของการสร้างความสงบ เราสามารถลืมตา มองบริเวณพื้น หรือว่าจะหลับตาก็ได้  พระพุทธเจ้าทรงเป็นผู้สอนทั้งสองวิธีนี้  หลักคำสอนของพระพุทธศาสนาแบ่งออกได้เป็นสองกลุ่มใหญ่  สำหรับสายเถรวาท ซึ่งเป็นส่วนของสายหินยานที่ยังคงเหลืออยู่  เรามักจะนั่งสมาธิด้วยการหลับตา  สำหรับสายมหายาน ซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่อีกกลุ่มหนึ่ง เรามักจะนั่งสมาธิด้วยการลืมตา โดยมองไปยังปลายจมูกหรือมองไปที่พื้น  แต่ถ้าเรามองไปที่พื้นตามทิศทางของปลายจมูกแล้ว ตาของเราก็จะเพ่งเพียงแค่เบา ๆ ไม่ได้เพ่งอย่างจริงจัง

ตอนนี้เราต้องมีความอ่อนไหวกับตัวเองอีกครั้ง แต่ถ้าเรารู้สึกเครียดหรือกระสับกระส่ายมาก ๆ การนั่งสมาธิโดยการหลับตานั้นจะง่ายกว่า  แต่ถ้าเราค่อนข้างสงบอยู่แล้ว เราควรลืมตาโดยมองไปยังพื้น เพราะเราไม่ได้ต้องการแค่ความสงบเวลาเราหลับตาและปิดกั้นโลกทั้งหมดออกไป  เราต้องการที่จะมีความสงบและผ่อนคลายในขณะที่รับมือกับโลกและผู้อื่นด้วย  ดังนั้นการนั่งสมาธิแบบลืมตาจึงเอื้อต่อลักษณะนี้

ขั้นตอนต่อไปคือการยืนยันแรงจูงใจของเราอีกครั้ง  บ่อยครั้งเราคิดถึงจุดนี้ในลักษณะการตรวจสอบเหตุผลทางอารมณ์ หรือเหตุผลทางจิตวิทยาของการมาฝึกหรือมานั่งสมาธิในครั้งนี้  ทำไมฉันถึงทำแบบนี้?  เพราะรู้สึกผิดงั้นหรือ?  ฉันทำสิ่งนี้เพราะได้รับแรงกดดันจากกลุ่มเพื่อนหรือเปล่า?  ทำสิ่งนี้เพราะโอกาสทางสังคม เพราะยึดติดกับกลุ่ม หรืออย่างที่ผมเรียกว่า “ติดพระธรรม” (Dharma-junky) เพื่อมารับพลังจากผู้นำที่ทรงเสน่ห์หรือเปล่า?  หรือว่าคุณตกหลุมรักอาจารย์ผู้ฝึกเข้าให้ คุณจึงมาที่นี่เพราะความยึดติด  นี่ไม่ใช่สิ่งที่เน้นย้ำในแนวทางการปฏิบัติพระพุทธศาสนาเลย  นี่เป็นแนวทางแบบตะวันตกมากกว่าและแน่นอนว่ามันก็มีประโยชน์

แต่ในแนวทางปฏิบัติทางพระพุทธศาสนาแบบดั้งเดิม เมื่อเราพูดถึงการยืนยันแรงจูงใจอีกครั้ง เราหมายถึงการยืนยันเจตนาของเราอีกครั้ง  แรงจูงใจทางพระพุทธศาสนาอยู่ในหมวดหมู่ของเจตนา  พูดอีกอย่างก็คือ เรามาที่นี่เพื่อมาทำอะไร?  เรามีเจตนาอย่างไร?  เป้าหมายของเราคืออะไร?  เราสามารถมองจุดนี้ในลักษณะเป้าหมายที่เป็นไปได้สามอย่างที่เราต้องการบรรลุในการมาที่นี่ก็ได้ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่เหมาะสม  แล้วเราก็ต้องมีความอ่อนไหวต่อตัวเองและซื่อสัตย์ต่อตัวเองด้วย  เป้าหมายของเราคืออะไรกันแน่  จุดมุ่งหมายของเราคืออะไร  เพราะมันง่ายที่ใครสักคนที่ถือว่าตัวเองเป็นชาวพุทธจะพูดว่า “ฉันทำสิ่งนี้เพราะจะได้บรรลุการตรัสรู้เพื่อเป็นประโยชน์ต่อสิ่งมีชีวิตทั้งปวง”  นี่เป็นเพียงแค่คำพูดเท่านั้น

เพราะปราศจากความเข้าใจที่แท้จริงว่าการก้าวเป็นพระพุทธเจ้านั้นหมายความว่าอย่างไร และหากปราศจากการมีความปรารถนาอย่างจริงใจที่จะเป็นปลดปล่อยแม้แต่แมลงทุกตัวในจักรวาลนี้ออกจากการเวียนว่ายตายเกิดแล้ว แค่พูดว่า “เอาล่ะ ฉันมุ่งเป้าหมายไปที่การตรัสรู้เพื่อช่วยเหลือทุกสรรพสิ่ง” ก็ไร้ความหมาย  ดังนั้นจึงมีประสิทธิภาพมากขึ้นที่จะเป็นจริงและจริงใจในสิ่งที่เป็นเป้าหมายแท้จริงของเรา ดังนั้นจึงมีเป้าหมายที่เหมาะสมสามประการ  ประการหนึ่งอาจจะเป็นว่าเราสนใจที่จะพยายามพัฒนาความสัมพันธ์ของเราในชาตินี้เท่านั้น เราจึงมาที่การฝึกนี้ในลักษณะของวิธีบำบัดที่แนะนำทางพระพุทธศาสนา

หรือเราอาจจะมองจากมุมมองของ พระธรรมเบาๆ (‘Dharma-lite’) ซึ่งก็จะเป็นว่า “ฉันทำสิ่งนี้เพื่อพัฒนาความสัมพันธ์ของฉันในชาตินี้ แต่ฉันมองว่าสิ่งนี้เป็นบันไดนำไปสู่การบรรลุการปลดปล่อยและการตรัสรู้”  หรือเราสามารถปฏิบัติจากมุมมองของหลักธรรมอย่างจริงจังก็ได้ ซึ่งก็จะเป็น “ฉันทำการฝึกนี้เพื่อเป็นขั้นตอนไปสู่การปลดปล่อยและการตรัสรู้”  เพราะฉะนั้นไม่ว่าเป้าหมายหรือจุดมุ่งหมายที่แท้จริงของเราคืออะไร ก็ให้ยืนยันสิ่งนั้น ถ้าเราจริงใจกับเป้าหมายของเรา เราก็จะทุ่มเทกับเป้าหมายได้ง่ายขึ้นมาก มิฉะนั้นถ้าเราก็จะไม่มีความจริงใจเกี่ยวกับเป้าหมายของเรา แล้วสิ่งที่เราทำอยู่ก็จะกลายเป็นเพียงเกมอย่างหนึ่งเท่านั้น

เราจึงทำการตัดสินใจอย่างมีจิตสำนึกในการฟังด้วยสมาธิ  หากความใส่ใจของเราล่องลอยไปที่อื่น เราก็พยายามดึงมันกลับมา  หากเราเริ่มง่วง เราก็พยายามปลุกตัวเอง  เราสามารถปรับปรุงท่านั่งของเราให้นั่งหลังตรงแต่ไม่ใชจนเกร็งหลังได้ ถ้าท่านี้ช่วยให้เรามีสมาธิมากขึ้น  สำหรับการเพิ่มพลังขึ้น ถ้าระดับพลังของเราต่ำไปสักหน่อย ให้เพ่งไปที่จุดระหว่างคิ้วทั้งสองข้าง โดยสายตาของเรามองขึ้นไปและศีรษะอยู่ในระดับปกติ  และถ้าเรารู้สึกประหม่าหรือตึงเครียดเล็กน้อย ให้เพ่งไปยังสะดือ โดยสายตามองลงและศีรษะคงอยู่ในระดับปกติ  เพื่อให้พลังงานของเรามีรากฐาน ในขณะที่เราหายใจเข้าตามปกติ เรากลั้นหายใจไว้จนกระทั่งเราต้องปล่อยลมหายใจออก

การตัดสินใจหรือการกำหนดเจตนาอย่างมีจิตสำนึกในการเพ่งสมาธิมาจากคำสั่งสอนในการบรรลุสมาธิของเมตไตรย โดยตรง  การปรับพลังงาน ซึ่งใช้การมุ่งเน้นไปยังบริเวณระหว่างคิ้วและสะดือนั้น มาจากหลักคำสอนของกาลจักร  เพราะฉะนั้นถึงแม้ว่าจะไม่มีชุดเบื้องต้นทางพระพุทธศาสนาแบบดั้งเดิมที่นำวิธีการเหล่านี้มารวมกัน ทั้งหมดล้วนมาจากหลักคำสอนทางพระพุทธศาสนาทั้งสิ้น  แต่สาเหตุหลัก ๆ ที่ผมนำวิธีเหล่านี้มารวมกันในลักษณะนี้เนื่องจากสิ่งที่ผมพบ กล่าวคือชาวตะวันตกส่วนใหญ่มาถึงที่สอนโดยมีความเครียดสูงและวิธีการเบื้องต้นชุดนี้ก็ช่วยในจุดนี้ได้  เราต้องมีชุดวิธีการเบื้องต้นที่เหมาะสมกับชีวิตที่เต็มไปด้วยแรงกดดันของเรา

Top