ประโยชน์ตนกับประโยชน์ผู้อื่น ข้อขัดแย้งในการดำเนินชีวิตอย่างมีจริยธรรม
หัวใจสำคัญของพุทธศาสนา คือ หากเราสามารถช่วยผู้อื่นได้ จงช่วยพวกเขาเสีย แต่ถ้าเราทำไม่ได้ อย่างน้อยพึงเว้นจากการเบียดเบียนทำร้ายผู้อื่น นี้คือสาระสำคัญของการดำเนินชีวิตอย่างมีจริยธรรม
การกระทำทุกอย่างมีแรงจูงใจ หากเราทำร้ายผู้อื่น การทำร้ายนั้นก็มีแรงจูงใจ และหากเราช่วยเหลือผู้อื่น ก็เกิดจากแรงจูงใจเช่นเดียวกัน ดังนั้นเมื่อเราช่วยเหลือหรือรับใช้ผู้อื่น เราต้องมีแรงจูงใจต่อการกระทำนั้นๆ นั่นจึงเป็นที่มาของความคิดว่า เพราะอะไรเราจึงให้ความช่วยเหลือ และทำไมเราจึงไม่ทำร้ายผู้อื่น
ขอยกตัวอย่างเช่น เมื่อเราเกือบจะทำร้ายผู้อื่น เราเกิดสติรู้สึกตัวและไม่ทำ เราคงมีความตั้งใจบางอย่างเป็นแน่ [ถึงไม่ทำร้ายผู้อื่น] ใจหนึ่งก็อยากทำร้ายใครบางคน แต่อีกใจหนึ่งก็แย้งว่านั่นมันผิด ไม่ถูกต้อง เพราะเราเห็นว่ามันผิด เราเกิดพลังใจบางอย่างขึ้นมาจึงไม่ทำ ในทางเลือกสองทาง [ว่าทำร้ายหรือไม่ทำร้ายดี] เราต้องตระหนักรู้ได้ว่าการกระทำบางอย่างจะส่งผลระยะยาวตามมา เนื่องจากเราเป็นมนุษย์ผู้มีสติปัญญา แลห็นผลลัพธ์ระยะยาวได้ เราจึงควบคุมตนเองได้ทันกาล
มีแนวทางสองแนวทางที่แตกต่างกันที่เราอาจจะนำมาใช้ ณ ที่นี้ แนวทางแรก เราคิดถึงประโยชน์ตนก่อน คือ ถ้าหากเราช่วยเหลือได้ ก็จะทำ แต่ถ้าช่วยเหลือไม่ได้ เราก็จะละเว้น [ที่จะทำร้าย] แนวทางที่สอง เราคำนึงถึงประโยชน์ผู้อื่น ที่คล้ายกับข้อข้างต้น คือ ถ้าหากเราช่วยเหลือได้ ก็จะทำ แต่ถ้าช่วยเหลือไม่ได้ เราก็จะละเว้น [ที่จะทำร้าย] เรามีความคิดในการไม่ทำร้ายว่า “หากเราทำแล้ว คงมีผลไม่ดีตามมา รวมทั้งผลร้ายในทางกฎหมายบ้านเมืองด้วย” เหตุผลแรกที่เราละเว้นไม่ทำเป็นเพราะเราคำนึงประโยชน์ตนเป็นที่ตั้ง จึงไม่ทำ อีกแนวทางหนึ่ง เราคำนึงถึงประโยชน์ผู้อื่นก่อน เราคิดว่า “คนอื่นก็เหมือนกับเรา ไม่ต้องการความทุกข์ ความเจ็บปวด ดังนั้น เราจะละเว้นไม่ทำร้ายผู้อื่น”
เมื่อเราได้ฝึกจิตของตน ตอนๆเเรกเราจะนึกถึงประโยชน์ของตนก่อน แต่หลังจากนั้น เราจะคิดถึงผู้อื่นเป็นอย่างมาก การคิดถึงผู้อื่นอย่างแรงกล้านั้นมีพลังมากกว่า ในหลักพระปาฏิโมกข์ข้อถือศีลการหลุดพ้นเพื่อตนเอง การสมาทานถือศีลพระวินัยสงฆ์มีเป้าหมายหลักคือ การคิดถึงประโยชน์ตน ดังนั้นเราจึงไม่ทำร้ายผู้อื่น แต่ในหลักการปฏิบัติพระโพธิสัตย์ เหตุผลหลักที่เราไม่ทำร้ายผู้อื่น เพราะเราคำนึงถึงประโยชน์ผู้อื่นเป็นที่ตั้งก่อน บางทีแล้วแนวทางที่สองคือ การไม่เบียดเบียนทำร้ายผู้อื่นบนหลักการเพื่อประโยชน์ของผู้อื่น มีความเกี่ยวข้องกับความคิดความรับผิดชอบระดับสากลที่อาตมาตรัสไว้บ่อยครั้ง
ธรรมชาติพื้นฐานของมนุษย์
โดยทั่วไป มนุษย์เป็นสัตว์สังคม ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม การที่เขาหรือเธอจะอยู่รอดนั้น ขึ้นอยู่กับเพื่อนมนุษย์คนอื่น เมื่อปัจเจกชนจะอยู่รอดได้ หรือมีชีวิตที่ดีได้นั้นขึ้นอยู่กับสังคมทั้งหมด ดังนั้นความห่วงใยและคำนึงถึงความผาสุกของผู้อื่น นับได้ว่าเป็นธรรมชาติพื้นฐานของเราทุกคน ดั่งเช่นตัวอย่างเจ้าลิงบาบูน ลิงตัวที่เป็นผู้ใหญ่มีอายุมากจะรับผิดชอบเต็มที่ในฝูงของมัน เมื่อตัวอื่นกำลังให้อาหาร ลิงตัวผู้ที่แก่กว่ามักจะคอยเฝ้าดูอยู่เคียงข้างตลอด ตัวที่แข็งแรงกว่าจะช่วยดูแลตัวอื่นๆในกลุ่มเพื่อประโยชน์ของกลุ่ม
ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ มนุษย์เรายังไม่มีการศึกษาหรือเทคโนโลยี สังคมพื้นฐานมนุษย์นั้นเรียบง่าย ทุกคนทำงานและแบ่งปันกัน พวกลัทธิสังคมนิยมบอกว่านี้คือลัทธิสังคมนิยมดั้งเดิม ทุกคนทำงานและสนุกสนานร่วมกัน หลังจากนั้นการศึกษาได้เจริญพัฒนาขึ้น และเรามีความเจริญทางอารยธรรม จิตใจมนุษย์พัฒนามากขึ้นกว่าเดิม แต่เกิดความโลภมากยิ่งขึ้น ความอิจฉาริษยาและความเกลียดชังจึงตามมาเรื่อยๆ และเพิ่มมากยิ่งขึ้น
ในปัจจุบัน ศตวรรษที่ยี่สิบเอ็ด มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมากมายในสังคมมนุษย์ เกิดความแตกต่างมากยิ่งขึ้น [ในสังคมมนุษย์ด้วยกันเอง] ทั้งในด้านการศึกษา การงาน พื้นฐานสังคม และแม้แต่กระทั่งเกิดความแตกต่างทางอายุและเชื้อชาติ แต่นั่นทั้งหมดก็เป็นเรื่องรอง ในระดับพื้นฐานแล้ว เรามนุษย์ทุกคนเหมือนกันหมด นับแต่แสนปีที่ผ่านมา
เด็กๆมีทัศนคติที่ว่า พวกเขาไม่ได้สนใจว่าเด็กคนอื่นจะมีความแตกต่างทางสังคม ทางศาสนา เชื้อชาติ สีผิว หรือฐานะกันอย่างไรบ้าง เด็กเล่นด้วยกัน เป็นเพื่อนเล่นกันอย่างแท้จริง ตราบใดที่พวกเขายังเป็นมิตรกันและกัน แต่เมื่อพวกเราโตขึ้น ฉลาดและพัฒนามากขึ้น เรากลับตัดสินผู้อื่นจากพื้นฐานทางสังคม โดยเริ่มคาดการณ์ว่า หากฉันยิ้ม ฉันจะได้อะไรตอบแทนกลับคืนมา และถ้าหากทำหน้านิ่วคิ้วขมวดฉันจะเสียอะไรลงไป
ความรับผิดชอบระดับสากล
ความคิดถึงความรับผิดชอบต่อโลกที่อาศัยอยู่ หรือความรับผิดชอบระดับสากลนี้ เป็นเรื่องของเราทุกคน เราเป็นห่วงคนอื่นเพราะ “เราก็เป็นส่วนหนึ่งของพวกเขา ความเป็นอยู่ของเราขึ้นอยู่กับพวกเขา แม้ว่าเราจะแตกต่างกันก็ตามที” ความแตกต่างก็ย่อมมีเป็นวันยังคํ่า และอาจจะมีคุณประโยชน์ด้วยซํ้าไป
เมื่อหลายร้อยปีที่ผ่านมา โลกใบนี้มีประชากรอยู่เพียงหนึ่งพันล้านคน ปัจจุบันมีมากกว่าหกพันล้านคน เพราะคนล้นโลก ประเทศใดประเทศหนึ่งมีอาหารและทรัพยากรไม่เพียงพอที่จะเลี้ยงคนในประเทศของตนได้ ปัจจุบันนี้เรามีเศรษฐกิจระดับโลก ความจริงของโลกปัจจุบันนี้ก็คือ โลกเล็กลงๆ และผู้คนเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันมากขึ้นกว่าเก่า นั่นคือความจริง และเหนือไปกว่านั้นคือประเด็นด้านนิเวศวิทยา ปัญหาโลกร้อน ที่ไม่ใช่ปัญหาคนประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่เป็นเรื่องความห่วงใยของพวกเราหกล้านกว่าคนทั้งหมดที่อาศัยอยู่บนโลกใบนี้ ความจริงแบบใหม่คือ ความคิดต่อความรับผิดชอบร่วมกันบนโลกใบนี้
เช่นในอดีตสมัยก่อนป ระเทศอังกฤษคิดถึงแต่ประเทศของตัวเอง บางครั้งยังทำลายดินแดนอื่นไปทั่วโลก ไม่ได้คำนึงถึงความรู้สึกของผู้อื่น นั่นคืออดีต แต่ปัจจุบันสิ่งต่างๆเปลี่ยนไป ไม่เหมือนแต่ก่อน เราจำต้องดูแลใส่ใจประเทศอื่นๆด้วย
ความจริงแล้ว จักรวรรดิ์นิยมอังกฤษได้ทำสิ่งดีๆหลายอย่างที่ผ่านมา เช่นได้นำการศึกษาที่ดีเป็นภาษาอังกฤษมาสู่ประเทศอินเดีย อินเดียจำต้องระลึกถึงข้อนี้ที่ชาติอังกฤษได้นำเทคโนโลยีใหม่ๆ ระบบคมนาคมทางรถไฟ นั่นคือคุณภาพหนึ่งในหลายๆข้อที่ประเทศของท่านมอบให้ เมื่ออาตมาเดินทางถึงประเทศอินเดีย ผู้คนที่ศรัทธาแนวความคิดของท่านคานธีที่ยังมีชีวิตอยู่ในขณะนั้นได้แนะนำอาตมาถึงแนวทางอหิงสา ขณะนั้นอาตมารู้สึกว่าจักรวรรดิ์นิยมอังกฤษเลวร้ายมาก แต่เมื่ออาตมามามองประเทศอินเดียหลังจากที่ได้รับเอกราชแล้ว ไม่ว่าจะเป็นระบบศาล เสรีภาพทางหนังสือพิมพ์ เสรีภาพการพูด และหลายๆอย่าง เมื่ออาตมาพิจารณาอย่างลึกซึ้งแล้ว ก็เห็นว่ามีหลายสิ่งที่อินเดียรับมาจากอังกฤษดีมากๆ
ในปัจจุบัน ประเทศแต่ละประเทศ ทวีปแต่ละทวีป ติดต่อเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันมาก ความจริงนี้ เราย่อมต้องการความรับผิดชอบร่วมกันของโลก ผลประโยชน์ของตนย่อมขึ้นกับการพัฒนาเติบโตของผลประโยชน์ของชาติอื่น ดังนั้นการรักษาผลประโยชน์ตนเอง เราจำต้องดูแลและคำนึงถึงผู้อื่นด้วย ในด้านเศรษฐกิจ ก็ทำกันอยู่แล้ว ถึงแม้ว่าเราจะมีความคิดทางอุดมการณ์ที่แตกต่างกัน แม้จะไม่ไว้วางใจกัน แต่เราก็จำต้องเกี่ยวข้องในทางเศรษฐกิจโลก ดังนั้นความรับผิดชอบร่วมกันในโลกใบนี้บนพื้นฐานการเคราพซึ่งกันและกันจึงสำคัญมาก
เราต้องคิดถึงผู้อื่นว่าเป็นพี่น้องเดียวกัน และเกิดความรู้สึกใกล้ชิดกัน เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับศาสนา เราต้องการสิ่งนี้ ความคิดที่ว่า นั่นเรานั่นเขา แม้จะเป็นจริงก็ตาม แต่โลกทั้งหมดต้องคิดว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของ “เราทั้งหลาย” ผลประโยชน์ของเพื่อนบ้านก็คือผลประโยชน์ของตนเอง
สันโดษ
การดำเนินชีวิตอย่างมีจริยธรรมในฐานะปัจเจกชนหมายถึงการไม่ทำร้ายผู้อื่น และถ้าเป็นไปได้ โปรดให้ความช่วยเหลือพวกเขา จะทำได้ถ้าเราเอาความสุขผู้อื่นเป็นหลักในจริยธรรมของเราในการดำเนินชีวิต เราจำต้องคำนึงถึงหลักการข้อนี้
มีช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจนเพิ่มมากขึ้น แม้แต่ในประเทศอเมริกา หากมองดูประเทศอเมริกาซึ่งเป็นประเทศที่รวยที่สุด ก็ยังมีความยากจนที่นั่น ครั้งหนึ่งเมื่ออาตมาอยู่ที่เมืองวอชิงตัน ดีซี ซึ่งเป็นเมืองหลวงของประเทศที่รํ่ารวยที่สุด อาตมาเห็นมีคนจนมากมายที่นั่น คนเหล่านี้ขาดการได้รับความจำเป็นขั้นพื้นฐานที่เพียงพอ [ในทำนองคล้ายๆกัน] ประเทศอุตสาหกรรมทางตอนเหนือมีการพัฒนาและรํ่ารวย [กว่าส่วนอื่นของโลก] ในขณะที่ประเทศอื่นๆทางตอนใต้ประสบปัญหาความอดอยาก ขาดแคลนอาหาร นั่นไม่เพียงผิดหลักทางศีลธรรมเท่านั้น แต่ยังเป็นปัญหาใหญ่ ดังนั้นประเทศที่รํ่ารวยทั้งหลายจักต้องหันกลับมาดู และพิจารณาการดำเนินชีวิตของคนในประเทศตน กล่าวคือ จำเป็นที่ว่าคนเหล่านั้นต้องหันกลับมาใช้ชีวิตอย่างพอเพียงและสันโดษ
มีครั้งหนึ่งที่ญี่ปุ่น สิบห้าปีก่อน อาตมาได้แสดงความเห็นต่อความคิดของคนที่นั่นที่เชื่อว่า หากเศรษฐกิจเติบโตขึ้นทุกปี ก็จะเกิดความก้าวหน้าทางวัตถุขึ้นตามมาทุกปี ว่าเป็นความคิดที่ผิดพลาดอย่างมหันต์ เพราะว่าสักวันหนึ่งเศรษฐกิจจะหยุดนิ่ง พวกท่านต้องเตรียมตัวเตรียมใจในข้อนี้ หากมันเกิดขึ้นจริง คงจะไม่เลวร้ายมากนัก เพราะท่านเตรียมใจไว้แล้ว และหลังจากนั้นสักสองสามปี ญี่ปุ่นก็ประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ
ชีวิตของใครบางคนอาจหรูหราฟุ่มเฟือย มีเงินมากมาย พวกเขาอาจไม่ได้ลักขโมย เอาเปรียบคนอื่นหรือฉ้อโกงผู้อื่น ในมุมมองของประโยชน์ตน การได้เงินมาด้วยหนทางที่ไม่ผิดจริยธรรมถือว่าไม่ผิดอะไร แต่หากมองในมุมมองของประโยชน์ผู้อื่นแล้ว ในทางจริยธรรม ถือว่าไม่ใช่สิ่งที่ดีเลย เพราะตราบใดที่ยังมีคนอดอยากหิวโหย ถ้าหากทุกคนมีชีวิตที่หรูหราแบบเดียวกันหมด ก็คงจะไม่ผิดอะไร แต่กว่าจะไปถึงระดับนั้น การดำเนินชีวิตที่ดีกว่านั้นก็คือ การใช้ชีวิตอย่างพอเพียงให้มากกว่านี้น่าจะดีกว่า เหมือนที่อาตมาประสบเห็นที่ญี่ปุ่น ที่อเมริกาและสังคมอื่นๆที่รํ่ารวย คงต้องมีการเปลี่ยนแปลงการดำเนินชีวิตกันใหม่
ในประเทศหลายประเทศ ครอบครัวครอบครัวหนึ่ง มีรถใช้กันในบ้านสองสามคัน ลองคิดดูประเทศอินเดียและจีน หากประชากรของสองประเทศนี้รวมกันก็มากกว่าสองพันล้านคนแล้ว หากคนสองพันล้านคนมีรถสองพันล้านคัน หรืออาจจะมากว่านั้น มันคงจะแย่แน่ๆ คงเกิดปัญหาอย่างมาก และความสับสนวุ่นวาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการใช้พลังงานเชื้อเพลิง แหล่งวัตถุและทรัพยกรธรรมชาติ และปัญหาอื่นๆอีกมากมายที่จะตามมา
ข้อคำนึงเรื่องสิ่งแวดล้อม
มีอีกเรื่องหนึ่งที่จะขอกล่าวเพิ่มเติม คือ การดำเนินชีวิตอย่างมีจริยธรรมในเรื่องสิ่งแวดล้อม ขอยกตัวอย่างเช่น การใช้นำ้ ที่อาตมายกตัวอย่างโดยใช้เรื่องราวตัวเอง อาจฟังแล้วดูตลก คือหลายปีมาแล้วที่อาตมาไม่เคยอาบนํ้าจากอ่างอาบนํ้าเลย อาตมาอาบนํ้าธรรมดาๆเนี่ยแหละ อาบนํ้าในอ่างอาบนํ้าสิ้นเปลืองนํ้ามาก บางทีอาตมาอาจโง่ที่อาบนํ้าวันละสองครั้ง แต่นำ้ที่ใช้ไปก็ใช้เท่าเดิม แต่หากเป็นเรื่องการใช้ไฟฟ้าแล้ว เมื่ออาตมาออกจากห้อง ก็จะปิดไฟทุกครั้ง นี้คือข้อเล็กๆน้อยๆในการทำประโยชน์เรื่องสิ่งแวดล้อม การดำเนินชีวิตอย่างมีจริยธรรมเกิดขึ้นจากสามัญสำนึกในความรับผิดชอบต่อโลกที่เราอาศัยอยู่
จะช่วยผู้อื่นได้อย่างไร
การที่จะช่วยเหลือผู้อื่นได้อย่างไรนั้น มีหลายวิธี ส่วนมากแล้วขึ้นอยู่กับสถานการณ์ เมื่ออาตมาเป็นเด็ก ราวๆสักเจ็ดหรือแปดชวบได้ ในขณะเรียนหนังสืออยู่นั้น ครูของอาตมา ท่านอาจารย์ลิง ริมโปเชถือไม้เรียวอยู่ตลอดเวลา ในขณะนั้นพี่ชายอาตมาคนโตและอาตมาเรียนหนังสือด้วยกัน จริงๆแล้วมีไม้เรียวสองอัน อันสีเหลืองเป็นไม้เรียวศักดิ์สิทธ์เพราะเอาไว้ตีองค์ดาไลลามะ หากท่านใช้ไม้เรียวอันศักดิ์สิทธิ์นี้ อาตมาไม่คิดว่า ที่เจ็บจะเจ็บแบบศักดิ์สิทธ์ ! นั่นดูจะเป็นวิธีการที่โหดร้าย แต่จริงๆแล้วถือว่ามีประโยชน์มาก
ในที่สุดแล้ว การกระทำใดถือว่าเป็นประโยชน์หรึอโทษนั้นขึ้นอยู่กับเจตนาหรือแรงจูงใจ วิธีการบางอย่างอาจจะรุนแรงบ้าง หรืออ่อนโยนบ้าง แต่เพราะมาจากความจริงใจในความสุข ความผาสุกของชีวิตผู้อื่น แม้ในบางครั้งการพูดปดเล็กๆน้อยๆอาจช่วยได้ เช่น เพื่อนสนิทหรือพ่อแม่ที่อยู่ไกลอาจป่วยหนักหรือใกล้ตาย ทั้งๆที่ท่านรู้ แต่ถ้าหากพูดความจริงออกไปว่าพ่อแม่เขาใกล้ตาย คนนั้นอาจจะเศร้าโศกเสียใจ รู้สึกกังวลใจ หรือเป็นลมเป็นแล้งไป ท่านอาจจะบอกเขาไปว่า “ไม่ต้องกังวลไป พวกเขาสบายดี” เมื่อท่านห่วงใยเพื่อนของท่านจริงๆแล้ว ในกรณีนี้แม้การโกหกจะผิดหลักจริยธรรม หากมองจากผลประโยชน์เเห่งตน แต่หากมองเพื่อผู้อื่นแล้ว การโกหกนั้นอาจจะสมควรเป็นอย่างมาก
การใช้ความรุนแรงกับการไม่ใช้ความรุนแรง
แล้วเราจะช่วยผู้อื่นให้อย่างดีที่สุดได้อย่างไร เป็นเรื่องยากมากเลย เราต้องมีปัญญา เห็นชัดในเหตุการณ์ ต้องมีความยืดหยุ่น ใช้หลายๆวิธีการในสถานการณ์ที่แตกต่างกันไป และข้อสำคัญที่สุดคือเจตนา คือมีเจตนาเพื่อความห่วงใยอันแท้จริงของผู้อื่น
เช่น การจะใช้วิธีที่รุนแรงหรือไม่รุนแรงนั้นขึ้นอยู่กับเจตนาเป็นสำคัญ แม้ว่าการโกหกจะรุนแรงโดยตัวของมันเอง แต่หากพิจารณาถึงเรื่องเจตนา อาจจะเป็นวิธีการในการช่วยผู้อื่นได้ ดังนั้นข้อนี้ถือว่าไม่ได้ใช้ความรุนแรงแต่อย่างใด ในหลักการเดียวกันหากเราต้องการทำลายผู้อื่น แล้วเราหยิบยื่นของขวัญให้ มองผิวเผินแล้วเป็นการกระทำที่ไม่ใช้ความรุนแรง แต่จริงๆแล้วเราต้องการหลอกผู้อื่นและทำลายเขา การกระทำนั้นถือเป็นการกระทำที่ใช้ความรุนแรง สรุปแล้วการใช้ความรุนแรงหรือไม่ใช้ความรุนแรงขึ้นอยู่กับเจตนาเป็นที่ตั้ง การกระทำของมนุษย์ทุกอย่างมีเจตนาหรือมีเป้าหมายเป็นหลัก แม้ว่าจะมีเป้าหมายที่ดี แต่หากว่าเจตนานั้นมีความโกรธ ก็นับว่าเป็นเรื่องไม่ดี ดังนั้นถือว่าเจตนามีความสำคัญที่สุด
ความปรองดองระหว่างศาสนา
การสนทนาพูดคุยครั้งนี้ ข้อสำคัญที่สุดที่ท่านจักนำกลับไปบ้านได้นั้น คือการพัฒนาให้เกิดความสงบภายในใจ เราจำต้องคิดถึงเรื่องนี้ และทำให้เกิดขึ้นในตนให้ได้ นอกจากนี้หากมีใครผู้ฟังในที่นี้ที่ผู้มีศรัทธาปสาทะในศาสนา ข้อหนึ่งที่อาตมาเน้นเป็นอย่างมากคือ ความปรองดองกันระหว่างศาสนา อาตมาคิดว่าศาสนาหลักๆในโลกนี้ หากไม่รวมเอาศาสนาส่วนน้อยที่บูชาพระอาทิตย์พระจันทร์ ศาสนาพวกนี้ไม่มีคำสอนเป็นหลักปรัชญา แต่ศาสนาใหญ่ๆมีปรัชญาและเทววิทยา และคำสอนศาสนาที่ตั้งบนฐานปรัชญาจึงดำรงอยู่ได้เป็นพันๆปี แม้ว่าศาสนาต่างๆจะมีหลักปรัชญาที่ต่างกัน แต่ศาสนาทุกศาสนาได้ให้ความสำคัญกับข้อการปฏิบัติเรื่องความรักและความเมตตา
เมื่อเรามีความเมตตา การให้อภัยก็เกิดขึ้นโดยทันที และตามมาด้วยขันติและสันโดษ ทั้งสามข้อนี้ก่อให้เกิดความสุข ศาสนาทุกศาสนาเหมือนกันหมด การขยายคุณค่าพื้นฐานของมนุษย์ที่เราพูดประจำสำคัญมาก ในข้อนี้ศาสนาทุกศาสนามีประโยชน์ที่ช่วยสนับสนุนเรื่องความสุขอันเป็นพื้นฐานของมนุษย์คือ การดำเนินชีวิตอย่างมีจริยธรรม ดังนั้นเมื่อศาสนาสอนเหมือนกันหมด ศาสนาทุกศาสนาจึงมีศักยภาพในการช่วยเหลือเพื่อนมนุษยชาติ
ศาสนาแต่ละศาสนาเกิดขึ้นต่างเวลา ต่างสถานที่ ดังนั้นจึงมีคำสอนที่แตกต่างกัน จึงต้องเป็นไปแบบนั้น เวลา สถานที่และวิถีชีวิตที่ต่างกันเหล่านี้เป็นเพราะสิ่งแวดล้อมที่ต่างกัน ดังนั้นศาสนาจึงเกิดขึ้นต่างกัน ความคิดหรือคำสอนบางอย่างของศาสนานั้นอาจเหมาะสมหรือสมควรภายในเวลานั้น คนจึงน้อมรับ ข้อนี้จึงอธิบายได้ถึงการเกิดจารีตประเพณีศาสนาที่มีอายุเป็นพันๆปี เราต้องการความหลากหลาย เพราะศาสนาที่หลากหลายตอบสนองคนแต่ละประเภทที่ต่างกัน ศาสนาเพียงศาสนาเดียวไม่เหมาะกับคนทั้งหมด
ในสมัยพระพุทธเจ้า มีลัทธิความเชื่อศาสนาเกิดขึ้นมากมายในประเทศอินเดีย พระพุทธเจ้าไม่ได้พยายามให้คนอินเดียทั้งหมดในเวลานั้นหันมานับถือพุทธศาสนา จะมีศาสนาอื่นๆก็ไม่เห็นเป็นอะไร อาจจะมีการโต้แย้ง หรือโต้วาทีกันบ้างระหว่างศาสนาเป็นครั้งเป็นคราว โดยเฉพาะช่วงหลังพุทธกาลเป็นเวลาร้อยกว่าปีที่มีการโต้วาทีกันมากระหว่างศาสนาจารย์ การโต้วาทีระหว่างศาสนานั้นมีประโยชน์มาก โดยเฉพาะในหัวเรื่องญาณวิทยาหรือทฤษฎีความรู้ นักปราชญ์บัณฑิตจากลัทธินิกายศาสนาต่างๆได้ตรวจสอบวิพากย์วิจารณ์หลักปรัชญาคำสอนศาสนาอื่นๆ และนั่นกลับช่วยให้พวกเขาหันกลับมาพิจารณาคำสอนหรือปรัชญาและแนวจารีตต่างๆที่ตนเองนับถือ แท้จริงแล้วถือเป็นความก้าวหน้าต่างหาก อาจมีบ้างที่บางครั้ง เกิดความรุนเเรงขึ้นในการประลองโต้วาทีนั้น แต่โดยทั่วไปถือว่าเป็นการพัฒนาที่ดี
ประเทศอินเดียถือว่าเป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องขันติธรรมอย่างแท้จริงระหว่างศาสนาที่เกิดขึ้น เป็นเวลาหลายร้อยปี และข้อปฏิบัติที่กลายเป็นจารีตประเพณีนี้ ก็ยังคงดำเนินอยู่ให้เห็นในปัจจุบัน ถือว่าเป็นตัวอย่างที่ดีของ่โลก
ในสมัยโบราณ ผู้คนต่างอยู่กันห่างไกลกัน แต่ก็อยู่กันได้ แต่เดี๋ยวนี้แตกต่างโดยสิ้นเชิง เช่นกรุงลอนดอนเกือบเป็นสังคมพหุนิยมศาสนาอย่างมาก ขันติธรรมระหว่างศาสนาจึงสำคัญมาก ดังนั้นพวกท่าน ณ ที่นี้เป็นผู้มีศาสนา ความปรองดอง ความสามัคคีและความอดทนอดกลั้นจึงสำคัญมากๆ เมื่อพวกท่านมีโอกาส ก็ขอจงทำข้อเหล่านี้ให้เกิดขึ้นเป็นจริง