ในปัจจุบันมีจำนวนคนหนุ่มสาวที่ประสบกับปัญหาทางสุขภาพจิตเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ปัญหานี้คือวิกฤตสำคัญของโลกปัจจุบัน ซึ่งนำไปสู่คำถามที่ว่า เราจะแก้ไข้ปัญหานี้ได้อย่างไร?
เราได้เห็นสงคราม ข้อขัดแย้ง และการโจมตีก่อการร้ายมากมายเกิดขึ้น โดยอ้างว่ากระทำในนามของศาสนา ในทุก ๆ ที่ที่สมเด็จองค์ดาไลลามะทรงเสด็จไป ผู้คน นักการศึกษา นักสังคมสงเคราะห์ และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญล้วนถามคำถามเดียวกัน นั่นคือ เกิดปัญหาอะไรขึ้นกับโลกเรา? โลกเรากำลังประสบวิกฤตต่าง ๆ เกี่ยวกับการก่อการร้าย การฉ้อราษฎร์บังหลวง การกีดกันระหว่างเพศ ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจน แล้วก็ปัญหาด้านจิตใจในกลุ่มเยาวชน ทุกวันนี้เกิดปัญหาด้านสุขภาพจิตในกลุ่มคนวัยหนุ่มสาวเพิ่มขึ้นมากจนถือว่าเป็นวิกฤตสำคัญเลยทีเดียว แล้วเราจะแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้อย่างไร?
ในกรณีของปัญหาสุขภาพจิต เราต้องถามก่อนว่าทำไมปัญหานี้จึงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ในเมื่อการศึกษาสมัยใหม่ควรจะเข้ามาแก้ไขในจุดนี้ ปัญหาที่แท้จริงคืออะไรกันแน่? มันเกิดขึ้นได้อย่างไร? ทั้งหมดนี้เป็นคำถามทั่วไปที่ผู้คนมักถามสมเด็จ ท่านทรงตรัสอย่างไม่ลังเลว่า ปัญหานี้เกิดขึ้นจากช่องโหว่ในระบบการศึกษาสมัยใหม่ ช่องโหว่ที่ว่านี้คือระบบการศึกษาในปัจจุบันเน้นการพัฒนาความฉลาด ในห้องเรียน หากเราตอบได้ว่าสองบวกสองเท่ากับสี่ เราก็สอบผ่าน ถึงแม้ว่าเราจะมีจิตใจอันดีงาม มีจิตสาธารณะ และมีพรสวรรค์มากเท่าไหร่ หากเราตอบว่าสองบวกสองเท่ากับสี่นิด ๆ เราก็สอบตก ไม่มีใครสนใจเรื่องจิตใจหรอก! สมองเท่านั้นที่เป็นเครื่องพิสูจน์ความน่าเชื่อถือ
นี่ล่ะคือตัวการของปัญหานี้ การพัฒนาสมองอย่างเดียวไม่สามารถการันตีความสุขบนโลกนี้ได้ หรือแม้แต่ความเชื่อใจและความรักและความเห็นอกเห็นใจในหมู่มนุษยชาติ ฉะนั้นหากมองในเชิงปฏิบัติแล้ว อะไรจะสามารถเป็นพลังขับเคลื่อน เป็นแรงกระตุ้นที่ช่วยผลักดันมนุษยชาติไปสู่ความสันติและความสามัคคีปรองดองกันมากขึ้นล่ะ? คำตอบคือหัวใจนั่นเอง หัวใจของมนุษย์
เพื่อทำให้แน่ใจว่าโลกของเราสามารถพัฒนาต่อไป โดยไม่ละทิ้งหัวใจอันดีงามนี้ เราจำเป็นต้องใช้ปัญญา ปัญญาและหัวใจเป็นของคู่กัน เมื่อเราจำจุดนี้ได้แล้ว ในฐานะหลักของจริยธรรมและศีลธรรม สิ่งที่ถือเป็นสากลก็คือหัวใจแห่งความเห็นอกเห็นใจนั่นเอง ไม่มีผู้ใดปฏิเสธข้อนี้ ไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นพวกไม่เชื่อในศาสนา เคร่งศาสนา มีการศึกษา หรืออ่านเขียนไม่ได้ก็ตาม ปัจจัยเหล่านี้ไม่มีความเกี่ยวข้องใด ๆ เลย ทุกคนปลาบปลื้มและชื่นชอบให้มีใครแสดงความรักและความอาทรต่อตนเอง อย่าลืมว่าพื้นฐานของจริยธรรมก็คือความเห็นอกเห็นใจ คือความรักและเห็นอกเห็นใจที่เรามีต่อผู้อื่นนั่นเอง
ฉะนั้นคำถามต่อไปคือ เราจะสามารถทำอะไรได้บ้าง เราจะสามารถส่งเสริมเรื่องนี้ได้อย่างไร ก่อนอื่นเลย ศูนย์ต่าง ๆ ทั่วโลกสามารถช่วยเหลือได้ ยกตัวอย่างเช่น ที่ศูนย์สำหรับจริยธรรมและคุณค่า (Center for Ethics and Values) ที่วิทยาลัยรามานุชัน (Ramanujan College) ในนิวเดลีนี้ มีการจัดโปรเจคขนาดใหญ่ภายใต้การอุปภัมป์ขององค์ดาไลลามะเพื่อส่งเสริมจริยธรรมสากล
จากนั้นเราก็ต้องคิดว่า เราสามารถปฏิบัติตัวในลักษณะใดได้บ้างที่จะเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้อื่นมีความเห็นอกเห็นใจมากขึ้น การปฏิบัติดังกล่าวนี้ไม่ควรทำในรูปแบบของลัทธิ แต่ในรูปแบบของการเปิดรับ การพิจารณา และเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เราอาจไม่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในโลกได้ในทันที แต่อย่างน้อยเราก็สามารถลองสร้างอิทธิพลต่อผู้คนรอบตัวเราได้ ผู้คนที่สามารถใช้ชีวิตด้วยมีความเห็นอกเห็นใจมากขึ้น แต่อาจไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไร เราจะสร้างอิทธิพลต่อผู้อื่นได้อย่างไร หากเราไม่สามารถพบปะกับผู้คนที่สามารถสร้างอิทธิพลต่อโลกนี้ได้? เราก็ต้องเสาะหาวิธีในการเผยแพร่ความสำคัญของความเห็นอกเห็นใจ ไม่ว่าผู้คนเหล่านั้นจะเป็นใคร การทำแบบนี้มีความสำคัญมากโดยเฉพาะสำหรับกลุ่มเยาวชน ท้ายที่สุดแล้วความหวังสำหรับอนาคตก็อยู่ในมือคนหนุ่มสาวในยุคปัจจุบัน