แม้ว่าสายการบวชภิกษุในนิกายมูลสรวาสติวาทจะมีขึ้นในทิเบตถึง 3 ครั้ง แต่ภิกษุณีสงฆ์ของนิกายมูลสรวาสติวาทก็ไม่เคยได้รับการจัดตั้งอย่างมั่นคงอยู่ดี ด้วยเหตุนี้ สตรีที่นับถือพระพุทธศาสนาแบบทิเบตตามพระวินัยในนิกายมูลสรวาสติวาท และผู้ที่ปรารถนาจะบวชจึงกลายมาเป็นสามเณริกา (shramanerika) หรือแม่ชีสามเณร
การบวชภิกษุในนิกายมูลสรวาสติวาทถูกจัดขึ้นในทิเบตเป็นครั้งแรกจากการมาเยือนของปรมาจารย์ชาวอินเดีย พระศานตรักษิต (Shantarakshita) พร้อมด้วยพระภิกษุอีก 30 รูป กับการก่อตั้งอารามซัมเย (Samye ภาษาทิเบตคือ bSam-yas) ในทิเบตตอนกลางในปี ค.ศ. 775 ซึ่งอยู่ภายใต้การอุปถัมภ์ของจักรพรรดิทิเบตคือ พระเจ้าตรีซง เดทเซ็น (Tri Songdetsen ภาษาทิเบตคือ Khri Srong-lde-btsan) อย่างไรก็ตาม เนื่องจากไม่มีภิกษุณีในนิกายมูลสรวาสติวาทชาวอินเดียทั้ง 12 รูปเดินทางมายังทิเบตในเวลานั้น และหลังจากนั้นก็ไม่มีสตรีชาวทิเบตเดินทางไปอินเดียเพื่อรับการบวชในระดับที่สูงขึ้น สายการบวชภิกษุณีในนิกายมูลสรวาสติวาทจึงไม่ได้รับการก่อตั้งขึ้นในทิเบตในช่วงแรกนี้
อย่างไรก็ตาม จากแหล่งที่มาของจีนตามเอกสารของตุนหวง (Dunhuang) ที่ถูกเก็บรักษาไว้นั้น มเหสีองค์รองของพระเจ้าตรีซง เดทเซ็น ราชินีโดรซา จังโดรน (Droza Jangdron ภาษาทิเบตคือ ‘Bro-bza’ Byang-sgron) และสตรีอีก 30 คนได้รับการบวชเป็นภิกษุณีที่ซัมเย ซึ่งน่าจะเป็นการบวชโดยพระภิกษุชาวจีนที่ได้รับเชิญไปยังสำนักการแปลที่ซัมเยในปี ค.ศ. 781 เนื่องจากจักรพรรดิถังจงจง (Tang Emperor Zhong-zong) ของจีนทรงมีพระราชกฤษฎีกาในปี ค.ศ. 709 ว่าให้ปฏิบัติตามสายการบวชนิกายธรรมคุปต์ (Dharmaguptaka) เท่านั้นในประเทศจีน การบวชภิกษุณีในทิเบตจึงต้องมาจากสายธรรมคุปต์ สันนิษฐานได้ว่า การบวชนั้นทำโดยวิธีการของสงฆ์ฝ่ายเดียว และสายการบวชนั้นก็ไม่ได้ดำเนินต่อหลังจากความพ่ายแพ้ของฝ่ายจีนในการโต้วาทีที่ซัมเย (ค.ศ. 792-794) และถูกขับไล่ออกจากทิเบต
ในรัชสมัยของจักรพรรดิทิเบต ทรี เรลปาเชน (Tri Relpachen ภาษาทิเบตคือ Khri Ral-pa can ช่วงปี ค.ศ. 815 – 836) พระจักรพรรดิมีคำสั่งว่าไม่ให้มีการแปลตำราหรือคัมภีร์ของฝ่ายหินยานยกเว้นที่อยู่ในส่วนของสายสรวาสติวาท (Sarvastivada) ที่สามารถแปลเป็นภาษาทิเบตได้ ซึ่งจำกัดความเป็นไปได้ของสายการการบวชอื่นที่นอกเหนือไปจากสายมูลสรวาสติวาทเข้าสู่ทิเบตอย่างได้ผล
สายการบวชพระภิกษุในนิกายมูลสรวาสติวาทจากพระศานตรักษิตแทบจะสูญหายไปกับการปราบปรามพระพุทธศาสนาของกษัตริย์ลังทาร์มา (Langdarma) ในปลายศตวรรษที่ 9 หรือต้นศตวรรษที่ 10 พระภิกษุในนิกายมูลสรวาสติวาทที่รอดชีวิต 3 รูป และด้วยความช่วยเหลือจากพระภิกษุนิกายธรรมคุปต์ชาวจีน 2 รูป ได้ฟื้นฟูสายการบวชพระภิกษุนี้ด้วยการบวชกองปา รับเซล (Gongpa-rabsel ภาษาทิเบตคือ dGongs-pa rab-gsal) ในทิเบตตะวันออก อย่างไรก็ตาม ไม่มีการปฏิบัติตามขั้นตอนที่คล้ายคลึงกันเกี่ยวกับภิกษุณีในนิกายธรรมคุปต์ในการก่อตั้งการบวชภิกษุณีในนิกายมูลสรวาสติวาทผ่านคณะสงฆ์สองสายที่ผสมรวมกันแต่อย่างใดในเวลานั้น
สายการบวชพระภิกษุในนิกายมูลสรวาสติวาทของกองปา รับเซล ถูกนำกลับไปที่ทิเบตตอนกลางและกลายเป็นที่รู้จักกันในฐานะสาย “วินัยทิเบตตอนล่าง (Lower Tibet Vinaya)” (ภาษาทิเบต: sMad-'dul) อย่างไรก็ตาม ในทิเบตตะวันตก ช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 10 กษัตริย์เยเชย์โว Yeshey-wo (ภาษาทิเบต: Ye-shes ‘od) ได้หันไปหาอินเดียเพื่อก่อตั้งหรืออาจสถาปนาการบวชพระภิกษุของสายมูลสรวาสติวาทในอาณาจักรของพระองค์ขึ้นใหม่ ด้วยเหตุนี้ ท่านจึงเชิญบัณฑิตธรรมปาละชาวอินเดียตะวันออกและลูกศิษย์หลายคนของเขาไปยังอาณาจักรกูเก (Guge) ในทิเบตตะวันตกเพื่อก่อตั้งสายการบวชพระภิกษุของนิกายมูลสรวาสติวาทสายที่สองขึ้น สายนี้กลายเป็นที่รู้จักกันในชื่อสาย “วินัยทิเบตตอนบน (Upper Tibet Vinaya)” (ภาษาทิเบต: sTod-'dul)
ตามบันทึกเหตุการณ์ของอาณาจักรกูเก (Guge Chronicles) ภิกษุณีสงฆ์สายมูลสรวาสติวาทก็ได้รับการแต่งตั้งในเกกูในเวลานี้เช่นกัน และพระธิดาของกษัตริย์ เยเชย์โว นามว่าไล เมต็อก (Lhai-metog ภาษาทิเบตคือ Lha'i me-tog) ก็ได้รับการบวชในนั้นด้วย อย่างไรก็ตาม ไม่มีความชัดเจนว่า การบวชครั้งนี้เป็นการบวชภิกษุณีหรือสามเณริกา แต่ไม่ว่าจะเป็นกรณีใด ก็ไม่ชัดเจนว่าภิกษุณีสายมูลสรวาสติวาทได้รับเชิญไปที่กูเกเพื่อให้การบวชนั้นหรือไม่ และก็ไม่มีหลักฐานว่าภิกษุณีสงฆ์สายมูลสรวาสติวาทได้รับการก่อตั้งอย่างมั่นคงในทิเบตตะวันตกในเวลานั้น
ในปี ค.ศ. 1204 นักแปลชาวทิเบตชื่อ โทรปุ โลตซะวะ (Tropu Lotsawa ภาษาทิเบตคือ Khro-phu Lo-tsa-ba Byams-pa dpal) ได้เชิญพระศากยะศรีภาดรา (Shakyashribhadra) ปรมาจารย์ชาวอินเดียผู้ครองบัลลังก์คนสุดท้ายของอารามนาลันทา (Nalanda) มาที่ทิเบตเพื่อหลบหนีการทำลายล้างที่เกิดจากการบุกรุกของชาวเติร์กชนเผ่ากัซ (Guzz) แห่งราชวงศ์กูริด (Ghurid) ขณะที่อยู่ในทิเบต พระศากยะศรีภาดรากับพระสงฆ์ชาวอินเดียที่ร่วมเดินทางไปทำการบวชพระภิกษุสายมูลสรวาสติวาทให้กับผู้ที่ต้องการบวชตามสายประเพณีของศากยะ (Sakya) ดังนั้น นั่นจึงเป็นการเริ่มต้นสายการบวชดังกล่าวเป็นครั้งที่สามในทิเบต มีสายย่อย 2 สาย สายหนึ่งมาจากการบวชพระศากยบัณฑิต (Sakya Pandita ภาษาทิเบตคือ Sa-skya Pan-di-ta Kun-dga’ rgyal-mtshan) ของพระศากยะศรีภาดรา และอีกสายหนึ่งจากการบวชพระสงฆ์หมู่ของท่านที่ท่านได้ฝึกอบรมต่อมาในภายหลัง และในที่สุดก็แบ่งออกเป็น ชุมชนสงฆ์ศากยะ 4 แห่ง (ภาษาทิเบต: tshogs-pa bzhi) แม้ว่าจะมีหลักฐานว่ายังมีภิกษุณีอยู่ทางตอนเหนือของอินเดียจนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 12 แต่ก็ไม่มีภิกษุณีสายมูลสรวาสติวาทที่ติดตามพระศากยะศรีภาดราไปยังทิเบต ดังนั้น สายการบวชภิกษุณีนิกายมูลสรวาสติวาทจึงไม่เคยได้รับการถ่ายทอดร่วมกับสายการบวชพระภิกษุนิกายมูลสรวาสติวาทในทิเบตเลย
ในช่วงหลายศตวรรษหลังการมาเยือนของพระศากยะศรีภาดรา มีความพยายามอย่างน้อยหนึ่งครั้งในการก่อตั้งการบวชภิกษุณีสายมูลสรวาสติวาทในทิเบต แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ ในช่วงต้นศตวรรษที่ 15 ปรมาจารย์สายวงศ์ศากยะชื่อ ศากยะ-โชกเดน (Shakya-chogden ภาษาทิเบตคือ Sha-kya mchog-ldan) ได้เรียกชุมนุมจัดให้มีการบวชภิกษุณีสายมูลสรวาสติวาทโดยสงฆ์ฝ่ายเดียวให้กับมารดาของท่านโดยเฉพาะ อย่างไรก็ตามโกรัมปา (Gorampa ภาษาทิเบตคือ Go-ram-pa bSod-nams seng-ge) ปรมาจารย์แห่งศากยะร่วมสมัยอีกท่านหนึ่งได้วิจารณ์อย่างรุนแรงถึงความถูกต้องของการบวชนี้ แล้วต่อมาก็ถูกยกเลิกไป