วรรณกรรมที่เก่าแก่ที่สุดที่ยังหลงเหลืออยู่ในอารยธรรมมนุษย์บางเรื่องเกี่ยวข้องกับคำภาวนา ตั้งแต่เพลงสวดในวิหารของชาวสุเมเรียนไปจนถึงการท่องมนต์ของชาวอียิปต์โบราณต่อเทพเจ้าต่าง ๆ และทุกวันนี้ ศาสนาหลัก ๆ ของโลกล้วนมีองค์ประกอบของคำภาวนา ชาวคริสต์ ชาวมุสลิม และชาวยิวสวดอ้อนวอนต่อพระเจ้า ในขณะที่ชาวฮินดูสามารถเลือกเทพเจ้าจากหลากหลายองค์ที่จะถวายการสวดอ้อนวอนของพวกเขา ดูจากภายนอกแล้วพระพุทธศาสนาก็ดูจะไม่แตกต่างกับศาสนาเหล่านั้น เมื่อเยี่ยมชมวัดหรืออารามในเกือบทุกประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาแล้ว คุณจะพบกับกลุ่มผู้มาเยี่ยมชมมากมายพนมมือกันท่องคำต่าง ๆ หน้ารูปปั้นของพระพุทธเจ้า และสำหรับผู้ที่คุ้นเคยกับพุทธศาสนาแบบทิเบต เรามีสิ่งที่แปลเป็นภาษาอังกฤษว่า “ลูกปัดคำภาวนา” “กงล้อคำภาวนา” และ “ธงคำภาวนา”
การสวดคำภาวนามีปัจจัย 3 ประการ ได้แก่ บุคคลที่สวดคำภาวนา สิ่งที่สวดถึง และสิ่งที่ขอร้องในสวดคำภาวนา ดังนั้น คำถามของคำภาวนาในพระพุทธศาสนาจึงค่อนข้างซับซ้อน ท้ายที่สุดแล้ว ในศาสนาที่เชื่อว่าไม่มีพระเจ้า ไม่มีผู้สร้าง แล้วชาวพุทธสวดคำภาวนาถึงใครและเพื่ออะไร? หากไม่มีใครให้พรแก่เรา แล้วถ้าเช่นนั้นประเด็นของการสวดคำภาวนาคืออะไร? สำหรับชาวพุทธ คำถามสำคัญคือ “มันจะเป็นไปได้หรือไม่ที่คนอื่นจะขจัดความทุกข์และปัญหาของเรา?”
เพียงแค่การสวดคำภาวนาเพื่อการเปลี่ยนแปลงเท่านั้นไม่เพียงพอ จะต้องมีการปฏิบัติ – สมเด็จองค์ดาไลลามะ องค์ที่ 14
พระพุทธเจ้าตรัสว่า ไม่มีใครเลยจะสามารถขจัดปัญหาทั้งหมดให้กับเราได้ แม้แต่องค์พระพุทธเจ้าเองกับปัญญาและความสามารถทั้งหมด มันเป็นไปไม่ได้ เราต้องรับผิดชอบตัวเราเอง ถ้าเราไม่ต้องการประสบกับปัญหาและความทุกข์ เราก็จำเป็นต้องหลีกเลี่ยงสาเหตุของมัน ถ้าเราต้องการประสบกับความสุข เราเองก็ต้องสร้างเหตุแห่งความสุขนั้น จากมุมมองของพระพุทธศาสนา เราสามารถบรรลุสิ่งนี้ได้ด้วยการปฏิบัติตามศีลธรรมและจริยธรรมอันบริสุทธิ์ มันขึ้นอยู่กับเราทั้งหมดที่จะเปลี่ยนพฤติกรรมและทัศนคติของเราเพื่อสร้างชีวิตที่เราต้องการ
ชาวพุทธสวดคำภาวนาถึงใคร?
เมื่อเราเห็นผู้คนกราบรูปปั้น ถวายธูปที่วัด และท่องบทต่าง ๆ ในวิหาร พวกเขากำลังขออะไรและพวกเขากำลังสวดคำภาวนาถึงใคร? ขณะที่อาจมีคนคิดว่า “พระศากยมุนีพุทธเจ้า ขอให้ฉันมีรถเบนซ์ได้ไหม!” หรือ “พระไภษัชยคุรุพุทธเจ้า ได้โปรดรักษาฉันให้หายจากโรคภัยไข้เจ็บด้วย” อาจารย์สอนพระพุทธศาสนาส่วนใหญ่บอกว่าคำภาวนาแบบนี้ดูเหมือนจะมีประโยชน์เล็กน้อย
แต่ในทางพระพุทธศาสนา เราสวดคำภาวนาถึงพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์เพื่อให้มีแรงบันดาลใจและพลังในการดำเนินการกับตัวเราเองเพื่อที่เราจะสามารถสร้างเหตุแห่งความสุขของตัวเราเองได้และทำประโยชน์ให้กับผู้อื่นให้มากที่สุด ไม่ใช่ว่าพวกท่านโบกไม้กายสิทธิ์และทันใดนั้น เราก็มีพลังพิเศษบางอย่างที่จะทำมันได้ แต่เมื่อนึกถึงตัวอย่างของพวกท่าน พวกท่านทำหน้าที่เป็นแบบอย่างให้กับเรา เราก็จะเต็มไปด้วยความมั่นใจที่ว่า “ฉันสามารถทำสิ่งนี้ได้ !”
กิจกรรมการสวดคำภาวนาของชาวพุทธ เช่น การสวดพระสูตร การสวดมนต์ซ้ำ ๆ ตลอดจนการสร้างมโนภาพของเทพต่าง ๆ ล้วนเกี่ยวข้องกับความสามารถภายในของเราเพื่อพัฒนาอารมณ์ที่สร้างสรรค์ เช่น ความเห็นอกเห็นใจ ความกระตือรือร้น ความอดทน เป็นต้น และเพื่อมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือผู้อื่นอย่างสร้างสรรค์
คำภาวนา 7 ประการ
แนวทางปฏิบัติที่รู้จักกันดีคือ คำภาวนา 7 ประการ ซึ่งมีสาระสำคัญของเส้นทางพระพุทธศาสนาทั้งหมด มี 7 ส่วน แต่ละส่วนส่งผลเฉพาะเจาะจง:
(1) ข้าพเจ้าขอกราบนมัสการพระพุทธเจ้าทุกองค์ที่ทรงพระคุณให้แก่กาลเวลาทั้งสาม พระธรรมและพระสงฆ์ที่ยอดเยียม กราบลงด้วยร่างกายให้มากมายเท่า ๆ กับอะตอมทั้งหมดของโลกนี้
(2) เช่นเดียวกับที่พระมัญชุศรีโพธิสัตว์และองค์อื่น ๆ ได้ถวายเครื่องบูชาแด่ท่าน ผู้มีชัย ข้าพเจ้าก็เช่นกันที่กำลังถวายเครื่องบูชาแด่ท่าน ผู้พิทักษ์ที่จากไปแล้วของข้าพเจ้า และต่อลูกหลานทางศาสนาของท่านด้วยเช่นกัน
(3) ตลอดการดำรงอยู่ในสังสารวัฏที่ไร้จุดเริ่มต้นของข้าพเจ้าทั้งในชีวิตนี้และชีวิตอื่น ๆ ข้าพเจ้าได้กระทำการเชิงลบโดยไม่เจตนาหรือทำให้ผู้อื่นกระทำสิ่งเหล่านี้ และยิ่งไปกว่านั้น เมื่อถูกกดขี่จากความสับสนของความไร้เดียงสา ข้าพเจ้าได้ชื่นชมยินดีในสิ่งเหล่านั้น ไม่ว่าอะไรก็ตามที่ข้าพเจ้าทำลงไป ข้าพเจ้าเห็นว่ามันเป็นความผิดพลาดและประกาศมันต่อท่าน ผู้พิทักษ์ของข้าพเจ้า อย่างเปิดเผยจากส่วนลึกในหัวใจของข้าพเจ้า
(4) ด้วยความปีติยินดี ข้าพเจ้าชื่นชมในมหาสมุทรแห่งพลังบวกจากการพัฒนาพระโพธิจิตของท่านที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อนำความสุขมาให้กับสิ่งจำกัดที่มีชีวิตและในการกระทำของท่านที่ได้ช่วยเหลือสิ่งจำกัดที่มีชีวิตเหล่านั้น
(5) ด้วยการพนมมือเข้าหากัน ข้าพเจ้าขอวิงวอนพระพุทธเจ้าในทุกทิศทุกทาง ได้โปรดส่องแสงไฟจากตะเกียงของพระธรรมให้กับสิ่งจำกัดที่มีชีวิตที่กำลังมีความทุกข์และเสาะหาทางในความมืดด้วย
(6) ด้วยการพนมมือเข้าหากัน ข้าพเจ้าขอวิงวอนท่าน ผู้มีชัย ผู้ที่จะผ่านพ้นความเศร้าโศก: ข้าพเจ้าขอร้องให้ท่านอยู่เป็นกัปนับไม่ถ้วนเพื่อที่จะไม่ปล่อยให้สิ่งมีชีวิตที่หลงทางเหล่านี้อยู่ในความมืดบอดของพวกเขา
(7) ด้วยพลังเชิงบวกใด ๆ ก็ตามที่ข้าพเจ้าได้สร้างขึ้นจากสิ่งเหล่านี้ทั้งหมดที่ข้าพเจ้าได้ทำเช่นนั้น ขอให้ข้าพเจ้าขจัดความทุกข์ทุกอย่างของสิ่งจำกัดที่มีชีวิตทั้งหมดได้
- ส่วนแรกของการสวดมนต์คือ การกราบ เรากราบพระพุทธเจ้าต่าง ๆ นั้นในฐานะที่เป็นสัญลักษณ์ของการแสดงความเคารพต่อทุกสิ่งที่พวกท่านเป็นตัวแทน: ความเห็นอกเห็นใจ ความรัก และปัญญา การกราบ ตรงที่เราวางส่วนที่สูงที่สุดของร่างกายนั่นคือ ศีรษะ ลงบนพื้น ยังช่วยให้เราเอาชนะความภาคภูมิใจและปลูกฝังความอ่อนน้อมถ่อมตนด้วย
- จากนั้น เราจะถวายเครื่องบูชา ชาวพุทธหลายคนถวายขันน้ำ แต่วัตถุนั้นตัวมันเองไม่สำคัญมากนัก สิ่งที่สำคัญคือแรงจูงใจในการถวายนั่นคือ เวลา ความพยายาม พลังงาน และทรัพย์สมบัติของเรา ซึ่งจะช่วยให้เราเอาชนะความยึดติดได้
- ประการที่สาม เรายอมรับข้อบกพร่องและความผิดพลาดของเรา บางทีในบางครั้ง เราอาจขี้เกียจหรือเห็นแก่ตัว และบางครั้งเราก็ทำในสิ่งที่เป็นไปในทางทำลายอย่างมาก เรายอมรับสิ่งเหล่านี้ เสียใจกับมัน และเดินหน้าต่อไปด้วยความตั้งใจจริงที่จะพยายามไม่ทำผิดซ้ำอีก นี่เป็นส่วนหนึ่งของการเอาชนะการอยู่ภายใต้อิทธิพลของแรงกระตุ้นของกรรมในทางลบ
- จากนั้น เราก็ชื่นชมยินดี เราคิดถึงสิ่งดี ๆ ทั้งหมดที่เราทำสำเร็จและงานสร้างสรรค์ที่น่าทึ่งทั้งหมดที่ผู้อื่นได้ทำขึ้น นอกจากนี้ เรายังมองไปที่สิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่ทำโดยพระพุทธเจ้าเหล่านั้นด้วย สิ่งนี้จะช่วยเปลี่ยนแปลงความอิจฉาริษยา
- ต่อไป เราก็ขอคำสอน ซึ่งจะสร้างสภาพจิตใจที่เปิดกว้างในตัวเรา เราจะพูดว่า “เราต้องการเรียนรู้ เราต้องการสร้างความสุขให้กับตัวเองและผู้อื่น!”
- เราขอวิงวอนไม่ให้อาจารย์เหล่านั้นจากไป ในส่วนก่อนหน้านี้ เราเปิดกว้างสำหรับคำสอนต่าง ๆ และตอนนี้เราไม่ต้องการให้อาจารย์เหล่านั้นจากเราไป แต่ให้สอนเราจนกว่าเราจะบรรลุการตรัสรู้เต็มรูปแบบ
- สุดท้าย เรามีขั้นตอนที่สำคัญที่สุดนั่นคือ การอุทิศ เราอุทิศพลังบวกใด ๆ ก็ตามที่เราสร้างขึ้นเพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อตัวเราเองและสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ทั้งหมด
ดังที่เราเห็นได้จากคำภาวนานี้ จุดมุ่งหมายในพระพุทธศาสนาไม่ได้มีไว้เพื่อให้สิ่งมีชีวิตภายนอกบางองค์โฉบลงมาและช่วยเราให้พ้นจากความทุกข์ยากทั้งหมดของเรา ดังคำกล่าวที่ว่า “คุณสามารถนำทางม้าไปที่น้ำได้ แต่คุณไม่สามารถทำให้มันดื่มน้ำได้” กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ พระพุทธเจ้าต่าง ๆ แสดงให้เราเห็นหนทาง แต่เราต้องใช้ความพยายามในการเอาชนะความยึดติดและความไม่ตระหนักรู้ และเพื่อพัฒนาศักยภาพในทางสร้างสรรค์ที่ไร้ขีดจำกัดที่เราทุกคนมี
สรุป
ในขณะที่ดูจากภายนอกนั้นพระพุทธศาสนามีเครื่องประกอบและพิธีกรรมของคำภาวนา แต่แนวคิดก็คือไม่เรียกร้องสิ่งมีชีวิตภายนอกเพื่อขอความช่วยเหลือในชีวิตประจำวันของเรา พระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์เป็นแบบอย่างที่สมบูรณ์แบบ เป็นผู้ที่แสดงเส้นทางจากจุดที่เราอยู่ในตอนนี้ไปสู่การตรัสรู้ที่เต็มรูปแบบ จากการสวดคำภาวนาต่อพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์ต่าง ๆ เราได้รับแรงบันดาลใจจากท่านเหล่านั้นและปลุกความสามารถภายในของเราเองนั่นคือ ความเห็นอกเห็นใจ ความรัก และปัญญาที่ไร้ขีดจำกัด ซึ่งเราทุกคนมีศักยภาพนั้นอยู่ภายในตัวเรา