สุญญตา หรือที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายว่า “ความว่างเปล่า” นั้น เป็นหนึ่งในความความรู้แจ้งหลักของพระพุทธเจ้า พระองค์ทรงตระหนักได้ว่าบ่อเกิดของปัญหาในชีวิตของทุกคนที่ลึกที่สุดนั้นคือ ความสับสนของผู้คนเกี่ยวกับการมีตัวตนของตนเอง ของผู้อื่น และของทุกสิ่งทุกอย่าง จิตใจของพวกเขามองถึงการดำรงอยู่ของทุกสิ่งอย่างในรูปแบบที่เป็นไปไม่ได้ เมื่อพวกเขาไม่รู้ตัวว่าการมองในลักษณะนั้นไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง พวกเขาก็สร้างปัญหาและทุกข์ให้ตัวเอง ซึ่งเกิดจากความไม่รู้ ยกตัวอย่างเช่น การมองว่าตนเองเป็นพวกขี้แพ้ และไม่ว่าจะทำอะไร เราก็จะไม่มีวันประสบความสำเร็จในชีวิตได้ จะไม่เพียงแต่ทำให้เรารู้สึกหดหู่ เห็นค่าในตัวเองและมีความมั่นใจต่ำ แต่อาจทำให้เราล้มเลิกความพยายามที่จะพัฒนาตัวเองได้ เราก็จะปล่อยให้ตัวเองอยู่ในจุดตกต่ำของชีวิตต่อไป
สุญญตาหมายถึงการไร้ซึ่งตัวตนอย่างแท้จริง การไร้ซึ่งวิธีในการดำรงอยู่ที่เรามักสร้างภาพกันตามสัญชาติญาณ เรามักจะสร้างภาพเหล่านี้ขึ้นอย่างบีบบังคับมาจากนิสัยอันหยั่งรากลึกเกี่ยวกับความเชื่อที่ว่า การสร้างภาพของจินตนาการนั้นคือความเป็นจริง ยกตัวอย่างเช่น “ผู้แพ้” ก็เป็นเพียงแค่คำศัพท์และแนวคิดอย่างหนึ่ง เมื่อเราตราหน้าตัวเองด้วยแนวคิดของการเป็นคน “แพ้” และใช้ตัวเองเป็นตัวแทนของคำ หรือชื่อ “ขี้แพ้” เราจำเป็นต้องตระหนักว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเพียงแค่การมองตามอัตภาพเท่านั้น เราอาจจะล้มเหลวในชีวิตมาหลายต่อหลายครั้งก็จริง หรือบางทีเราอาจจะไม่ได้ล้มเหลวเสียทีเดียว แต่เมื่อเราเปรียบเทียบกับความสมบูรณ์แบบแล้ว เราก็รู้สึกว่าเรานั้นเป็นพวกล้มเหลวในชีวิต เพราะเราไม่ดีพอ ไม่ว่าจะในกรณีไหน ชีวิตเรามีสิ่งต่าง ๆ อีกมากมายเกิดขึ้นนอกเหนือจากความสำเร็จและความล้มเหลว แต่การตีตราว่าตัวเองเป็นพวกผู้แพ้ ใจของเราก็จำกัดตัวเองในกล่องว่าเป็นพวก “ผู้แพ้” ไปแล้ว และเชื่อว่าเราดำรงอยู่ในฐานะคนอยู่ในกล่องนี้จริง ๆ ในความเป็นจริงแล้ว ในความเป็นจริง เราจินตนาการว่ามีอะไรบางอย่างผิดปกติหรือแย่เกี่ยวกับเรา ซึ่งทำให้เรากลายเป็นคนอยู่ในกล่องนี้อย่างเลี่ยงไม่ได้ ความคิดแบบนี้ตีกรอบให้เราอยู่ในกล่องนี้ด้วยพลังของมันเอง โดยไม่อิงจากสิ่งอื่น ๆ ที่เราได้ทำในชีวิตนี้หรือสิ่งที่ผู้อื่นคิดเลย
การดำรงอยู่แบบคนติดอยู่ในกล่องผู้แพ้นี้และสมควรจะเป็นแบบนั้นเป็นมโนคติอย่างแท้จริง การคิดในลักษณะนี้ไม่ได้สอดคล้องกับความจริงแต่อย่างใดเลย ไม่มีใครติดอยู่ในกล่องแบบนั้น การดำรงอยู่ของเราในฐานะคนขี้แพ้เกิดขึ้นจากแนวคิดและคำเรียกที่เราบอกตัวเองเท่านั้น แนวคิดของการเป็นคน “ขี้แพ้” และคำเรียกว่า “ไอ้ขี้แพ้” เป็นเพียงการมองในเชิงอัตภาพเท่านั้น มันอาจจะเหมาะกับการใช้ในบางกรณี เช่น ผู้ที่แพ้ในเกมการเล่นไพ่ก็คือผู้แพ้ในเชิงอัตภาพ แต่ไม่มีใครดำรงอยู่ในฐานะผู้แพ้โดยกำเนิด ที่จะไม่มีทางชนะอะไรได้เด็ดขาด เพราะพวกเขาเป็นผู้แพ้อย่างแท้จริง
เมื่อเราตระหนักถึงสุญญตาของการดำรงอยู่ในฐานะผู้แพ้ เราก็จะเข้าใจว่าไม่มีการดำรงอยู่ในลักษณะนี้เลย มันไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ความรู้สึกว่าเราเป็นผู้แพ้นั้นสามารถเข้าใจได้ในเชิงแนวคิดและคำศัพท์ “ผู้แพ้” ซึ่งเรากำหนดให้ตัวเองเท่านั้น เพราะบางครั้งเราก็อาจจะทำสิ่งต่าง ๆ ล้มเหลวบ้าง แต่ก็ไม่มีสิ่งใดผิดปกติเกี่ยวกับตัวเราโดยกำเนิด ซึ่งทำให้เรากลายเป็นผู้แพ้เท่านั้นอย่างถาวรด้วยพลังของมันเอง ดังนั้นสุญญตาก็คือการไร้ซึ่งวิธีของการดำรงอยู่ที่เป็นไปไม่ได้นี้ ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ไม่มีใครจะดำรงอยู่ในลักษณะนี้ได้
เราต้องทำความคุ้มเคยกับสุญญตาเป็นอย่างมากก่อนที่เราจะสามารถทำลายและเลิกเชื่อมโนคติต่าง ๆ ของเรา แต่หากเรามุมานะในการทำสมาธิเกี่ยวกับสุญญตาไปเรื่อย ๆ เมื่อเราเผลอมองว่าตัวเองเป็นผู้แพ้ตามความเคยชินของเราเมื่อไหร่ เราก็จะตระหนักได้ว่านี่เป็นเรื่องไร้สาระและสามารถขับไล่มโนคติดังกล่าวออกไปได้ ในที่สุดเราก็จะสามารถทำลายนิสัยนี้และไม่มองว่าตัวเองเป็นผู้แพ้อีกต่อไป
สรุป
เพียงแค่ว่าไม่มีสิ่งใดดำรงอยู่ในวิธีที่เป็นไปไม่ได้นั้น ไม่ได้หมายความว่าไม่มีสิ่งใดดำรงอยู่เลย สุญญตาเพียงแต่ลบล้างวิธีการดำรงอยู่ที่เป็นไปไม่ได้เหล่านั้นเท่านั้น เช่น การกำหนดการดำรงอยู่ตามธรรมชาติด้วยตนเอง สุญญตาไม่ได้ลบล้างการดำรงอยู่ของสิ่งนู้นสิ่งนี้ตามที่สอดคล้องกับอัตภาพของคำศัพท์และแนวคิด