ปฏิบัติความว่างเปล่าในระหว่างรถติด

สุญญตาหรือความว่างเปล่าหมายถึงความไร้ซึ่งตัวตนทั้งหมดของวิธีการดำรงอยู่ที่เป็นไปไม่ได้ ไม่มีสิ่งใดก่อตัวและดำรงอยู่ได้ด้วยตนเอง ด้วยพลังของตนเองโดยไม่พึ่งพาสิ่งอื่นใด นั่นเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เมื่อเราเข้าใจเกี่ยวกับสุญญตา เราจะสามารถแยกโครงสร้างภาพลักษณ์อันหลอกลวงของคนที่ดำรงอยู่ได้ด้วยตัวเองราวกับพวกงั่ง ยกตัวอย่างเช่น เราตระหนักรู้ว่าการทำตัวเป็นพวกงั่งพึ่งพาทั้งหมดกับการตีตราในใจและแนวคิดของการเป็นไอ้งั่ง ความเข้าใจในลักษณะนี้จะช่วยให้เราไม่โมโหเวลามีใครบีบแตรเสียงดังอย่างบ้าคลั่งใส่เราและพยายามที่จะแซงเราไปบนท้องถนน

การขาดความรับรู้

พระพุทธเจ้าสอนในหัวข้ออริยสัจสี่ ซึ่งคือความจริงอันประเสริฐสี่ประการซึ่งผู้ที่มีความตระหนักรู้อย่างสูง เป็น “อริยะ” เห็นว่าเป็นความจริง ต่อไปนี้คือความจริงสี่ประการตามการสรุปแบบง่าย ๆ

  1. เราทุกคนต่างเผชิญปัญหาในชีวิต
  2. ปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นจากสาเหตุต่าง ๆ
  3. เราสามารถหยุดปัญหาเหล่านี้อย่างถาวรโดยไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นอีกได้
  4. เราสามารถบรรลุวิธีการหยุดปัญหาดังกล่าวได้ด้วยความเข้าใจที่กำจัดเหตุของปัญหา

เมื่อเราพูดถึงสาเหตุของปัญหาที่สำคัญที่สุดนั้น ทุกสาเหตุล้วนมาจากสิ่งที่ตำราส่วนใหญ่มักแปลว่า “ความไม่รู้” (ignorance)  ในภาษาอังกฤษ คำว่า “การขาดความรับรู้” (unawareness) นั้นชัดเจนกว่ามาก  ความไม่รู้มีความหมายในเชิงว่าคุณโง่เขลา จึงเป็นคำที่ไม่ดี เพราะจุดนี้ไม่ได้หมายความว่าเราโง่เขลา

การขาดความรับรู้นั้นมีอยู่สองแบบที่แตกต่างกัน  แบบแรก เราขาดความรับรู้ถึงเหตุและผลในแง่ของการกระทำของตนเอง  กล่าวคือหากเราปฏิบัติตนในทางที่ทำลายก็จะก่อให้เกิดปัญหาตามมา  ส่วนแบบในระดับที่ลึกขึ้น นั่นคือ เราขาดความรับรู้ถึงความเป็นจริง  สิ่งที่เกิดขึ้นคือคนเรามีนิสัยในการจินตนาการว่าสรรพสิ่งทั้งหลายดำรงอยู่ได้ด้วยตัวของมันเอง ซึ่งเราสามารถเรียกได้ว่า “การสร้างการดำรงอยู่ด้วยตัวเอง”  นี่คือนิสัยของการยึดมั่นการดำรงอยู่โดยธรรมชาติ  ด้วยนิสัยนี้ใจของเราก็จะมองว่าสิ่งต่าง ๆ นั้นปรากฏขึ้นและดำรงอยู่ได้ด้วยตัวของมันเองในทุกขณะเวลาโดยอัตโนมัติ  กล่าวคือคุณมองราวกับว่ามันมีอะไรบางอย่างที่สร้างการดำรงอยู่ให้สิ่งเหล่านั้นเป็นสิ่งเหล่านั้นด้วยพลังของมันเองโดยไม่พึ่งพาสิ่งอื่นใด  เมื่อเราขาดความรับรู้ว่าการดำรงอยู่ในลักษณะนี้ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงใด ๆ เลย เราก็จะเข้าใจไปว่าทุกสรรพสิ่งล้วนดำรงอยู่ในลักษณะนี้

เรื่องนี้ไม่ได้เข้าใจกันได้ง่าย ๆ  มาดูคำอธิบายจากตัวอย่างต่อไปนี้กัน  สมมุติว่าเรากำลังขับรถอยู่ แล้วมีคนขับรถอีกคันที่อยู่อีกเลนหนึ่งบีบแตรใส่เราและพยายามจะแซงเรา  คนขับรถคันนั้นดูเป็นอย่างไรในสายตาเรา?  คนคนนั้นก็ดูเป็นไอ้งั่งที่พยายามจะแซงเรา  คนคนนั้นดูเหมือนจะดำรงอยู่ในความเป็นไอ้งั่งโดยธรรมชาติ เหมือนว่าเขาสร้างตัวเองให้เป็นไอ้งั่งด้วยตัวเองและไม่เกี่ยวข้องกับสิ่งอื่นใด  พูดอีกอย่างก็คือมันต้องมีอะไรผิดปกติกับคนคนนั้นแน่ ๆ ที่ทำให้เขาเป็นไอ้งั่งอย่างแท้จริงที่พยายามจะแซงฉัน แล้วก็มาบีบแตรใส่ฉัน  เราได้ยินเสียงแตรรถ เราเห็นคนคนนั้น แล้วเราก็คิดโดยอัตโนมัติว่า “เจ้างั่งเอ๊ย!”  คนคนนั้นดูเป็นอย่างนี้และเราก็เชื่อว่าภาพลักษณ์ของเขาสอดคล้องกับความเป็นจริง นั่นก็คือ คนนั้นคือเจ้างั่งจริง ๆ

สิ่งที่สุญญตา (ความว่างเปล่า) ลบล้าง

อะไรคือวัตถุที่บ่งบอกโดยนัยตามแนวคิดในการรับรู้เกี่ยวกับการดำรงอยู่ของคนผู้นี้ในฐานะเจ้างั่ง?  วัตถุที่บ่งบอกโดยนัยตามแนวคิดของการรับรู้ดังกล่าวคือ คนผู้นั้นดำรงอยู่ในฐานะเจ้างั่งจริง ๆ  มันมีคนที่เป็นเจ้างั่งโดยสันดานขับรถคันนั้นอยู่จริง ๆ  นั่นคือสิ่งที่ถ่ายทอดออกมาจากภาพลักษณ์และการที่เราเก็บมาคิดในลักษณะนี้  ยกตัวอย่างเช่น หากฉันคิดว่ามีคนอยู่ในอีกห้องจริง ๆ วัตถุที่บ่งบอกโดยนัยตามแนวคิดนั้นก็คือการที่มีใครบางคนอยู่ในอีกห้องหนึ่ง มันคือการที่ความคิดของเราคิดให้สอดคล้องกับความเป็นจริง  “วัตถุที่บ่งบอกโดยนัยตามแนวคิด” เป็นคำศัพท์เฉพาะที่สำคัญมากในการศึกษามัธยมกะ (ทางสายกลาง)

การรับรู้เชิงแนวคิดหลายอย่างจะเกี่ยวข้องกับวัตถุจำนวนมาก  คำว่า “zhen” ของคำว่า “zhen-yul” เป็นคำศัพท์ภาษาทิเบตสำหรับวัตถุที่บ่งบอกโดยนัยตามแนวคิด ซึ่งสามารถใช้เป็นกริยาได้ แปลว่า “ยึดมั่น” และเป็นคำนามในรูป zhen-pa แปลว่า “การยึดมั่น” ตามคำสอนของนิกายสักยะในเรื่อง การละจากการยึดมั่นสี่ประการ  ดังนั้นสิ่งที่บ่งบอกโดยนัยตามแนวคิดก็เปรียบเสมือนกับวัตถุที่แนวคิดที่การรับรู้ของเรา “ยึดมั่น” อยู่นั่นเอง  การยึดมั่นในที่นี่หมายถึงการที่เรายึดมั่นกับบางสิ่งบางอย่างในความเป็นจริงตามที่สอดคล้องกับสิ่งที่ปรากฏในการรับรู้เชิงแนวคิดของเรา  ดังนั้นเมื่อเรายึดมั่นกับการดำรงอยู่ที่สร้างขึ้นด้วยตัวเองมาได้แล้ว เราก็สมมติว่าลักษณะการดำรงอยู่ของสิ่งเหล่านั้นสอดคล้องกับความจริงไปโดยปริยาย  ในตัวอย่างของเรา เรากำหนดแนวคิดของเราว่าคนที่บีบแตรในรถอีกคันนั้นดำรงอยู่ในฐานะเจ้างั่งโดยธรรมชาติ  การกำหนดแนวคิดในลักษณะนี้ทำให้เราคิดว่ามีคนที่เป็นเจ้างั่งอยู่จริง ๆ เราเลยสมมติไปว่าคนที่อยู่ในรถคันนั้นเป็นเจ้างั่งจริง ๆ  เราเชื่อในการสร้างภาพขึ้นของเรา  เพราะฉะนั้นวัตถุที่บ่งบอกโดยนัยตามแนวคิดของการรับรู้นี้และของภาพลักษณ์นี้ก็คือ มีเจ้างั่งตัวจริงอยู่ในรถคันนั้น

สุญญตา (ความว่างเปล่า) คือการไร้ซึ่งตัวตน มันมีอะไรบางอย่างที่ไม่มีตัวตน  สิ่งที่ไม่มีตัวตนอย่างแท้จริงในกรณีนี้ก็คือวัตถุที่บ่งบอกโดยนัยตามแนวคิด  ภาพลักษณ์ของเจ้างั่งตัวจริงไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง  ถึงแม้ว่าจะมีคนขับรถคันนั้นอยู่จริง ๆ เขาคนนั้นก็ไม่ได้ดำรงอยู่ในฐานะเจ้างั่งโดยธรรมชาติ  ไม่มีใครสามารถดำรงอยู่ในฐานะเจ้างั่งได้โดยธรรมชาติ เพราะการดำรงอยู่ในฐานะเจ้างั่งโดยธรรมชาตินั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้  ดังนั้นจึงไม่มีเจ้างั่งโดยธรรมชาติอยู่ในรถคันนั้น  นั่นคือความคิดโดยรวม  อย่างไรก็ตามเราจะต้องเจาะลึกลงไปในจุดนี้เพื่อความเข้าใจแบบเจาะจงมากขึ้น

มาลองใช้อีกตัวอย่างหนึ่งที่ง่ายขึ้น แต่ก็เจาะจงน้อยลงเช่นกัน  สมมุติว่าเด็กคนหนึ่งคิดว่ามีสัตว์ประหลาดอยู่ใต้เตียง  วัตถุที่บ่งบอกโดยนัยตามแนวคิดก็คือตัวสัตว์ประหลาดที่อยู่ใต้เตียง  ความกลัวของเด็กคนนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับความจริงเลย  ดังนั้นสิ่งที่เราพูดถึงในเรื่องสุญญตาก็คือ การไร้ซึ่งตัวตนของสิ่งที่ค่อนข้างเจาะจง  มันคือการไร้ซึ่งตัวตนของสิ่งที่ไม่ได้ดำรงอยู่เลย มันไม่มีทางดำรงอยู่ได้เลย

อย่างไรก็ตามเวลาเราพูดถึงสุญญตา เราไม่ได้พูดถึงการไร้ซึ่งตัวตนของสิ่งที่เป็นไปไม่ได้อย่างสัตว์ประหลาด  เราพูดถึงวิธีการดำรงอยู่ที่เป็นไปไม่ได้  ยกตัวอย่างเช่น มันอาจจะมีแมวที่อยู่ใต้เตียง ซึ่งเด็กคนนั้นคิดว่าเป็นสัตว์ประหลาด แต่แมวตัวนั้นไม่ได้ดำรงอยู่ในฐานะสัตว์ประหลาด เพราะ “การดำรงอยู่ของสัตว์ประหลาด” นั้นไม่มีอยู่จริง  สุญญตาในที่นี้ไม่ได้ลบล้างการดำรงอยู่ของแมวตัวนั้น แต่มันลบล้างการดำรงอยู่ของแมวในฐานะสัตว์ประหลาด

การตีตราสร้างลักษณะให้เป็นจริง

ตอนนี้เรากลับมาดูตัวอย่างของเจ้างั่งกัน  โดยสมมติแล้ว คนคนนี้อาจจะขับรถแบบเจ้างั่งจริง ๆ แต่เราสามารถตีตราสร้างลักษณะให้เขาด้วยแนวคิดของความเป็น “เจ้างั่ง” และเรียกเขาว่าเจ้างั่งอย่างถูกต้องได้อย่างไร?  ปรมาจารย์ชาวอินเดียนามว่า จันทรกีรติ เสนอหลักเกณฑ์สามประการในการสร้างตราตามจริง

ก่อนอื่นต้องมีแบบแผนที่ได้รับการสร้างขึ้นและยอมรับซึ่งเห็นด้วยกับการสร้างตราดังกล่าว  ในประเทศเยอรมนีมีกฎมารยาทบางอย่างในการขับรถ  การขับรถโดยวางมือไว้บนแตรรถในขณะที่พยายามขับแซงผู้อื่นนั้นถือเป็นเรื่องไม่เหมาะสม  ใครก็ตามที่ทำแบบนี้ก็จะถูกมองว่าเป็นเจ้างั่ง นี่ก็ตามสัดส่วน  ในประเทศอินเดียการขับรถในลักษณะนี้ถือเป็นเรื่องปกติ  ผมเคยมาที่ยุโรปกับเพื่อนชาวอินเดียคนหนึ่ง ซึ่งเป็นทริปมาเยือนประเทศตะวันตกครั้งแรกของเขา และสิ่งที่ทำให้เขาประหลาดใจมากที่สุดคือการที่ผู้คนขับรถโดยไม่บีบแตรใส่กัน!  นี่เป็นเพราะว่าในประเทศตะวันตก เรามีธรรมเนียมแบบแผนว่าผู้คนที่ขับรถแบบนั้นคือพวกงั่ง  จากมุมมองนี้การเรียกผู้คนที่ขับรถแบบนี้ว่าเจ้างั่งก็เป็นเรื่องที่ถูกต้อง

เกณฑ์ข้อที่สองคือ ข้อนี้ต้องไม่ขัดแย้งกับจิตใจที่รับรู้ความจริงแบบผิวเผินหรือความจริงโดยสมมติ  หากเรามองอย่างเป็นกลางแล้ว คนนั้นเขาขับรถแบบเจ้างั่งจริง ๆ หรือเปล่า?  ฉันใส่แว่นตาถูกหรือเปล่า?  ฉันใส่เครื่องช่วยฟังถูกต้องหรือเปล่า?  ฉันเห็นและได้ยินถูกหรือเปล่า?  คนอื่นแถวนี้ก็เห็นคนคนนี้ที่พยายามแซงและบีบแตรใส่ทุกคน  ดังนั้นสิ่งที่เราเห็นก็ไม่ได้ขัดแย้งกับสิ่งที่ผู้อื่นเห็นอย่างแท้จริงในด้านนี้เช่นกัน

หลักเกณฑ์ที่สามคือการสร้างตรานี้ต้องไม่ขัดแย้งโดยจิตใจที่เห็นความจริงอันสูงสุดได้อย่างแท้จริง  ข้อนี้หมายถึงจิตใจที่เห็นอย่างแท้จริงว่าบุคคลนี้ดำรงอยู่ในฐานะเจ้างั่งอย่างไร  เขาเป็นเจ้างั่งอย่างไร?  เขาเป็นแค่เจ้างั่งโดยสมมติ ซึ่งขึ้นอยู่กับสถานที่ที่เขาขับรถและวิธีที่เขาขับรถ หรือว่าเราแค่สร้างภาพให้ตัวเราเข้าใจว่าเขาดำรงอยู่ในฐานะเจ้างั่งโดยธรรมชาติ?  หากเราคิดว่าคนคนนี้เป็นเจ้างั่งจริง ๆ โดยธรรมชาติแล้ว จุดนี้ก็จะขัดแย้งกับจิตใจที่มองเห็นถึงการดำรงอยู่ของสรรพสิ่งอย่างแท้จริง  คนคนนี้ขับรถแบบเจ้างั่งเมื่อมองโดยสมมติ  ข้อนี้ถูก นั่นคือข้อสมมติที่ถูกต้อง เป็นการตีตราที่ถูกต้อง และเป็นความจริงอันผิวเผินที่ถูกต้อง  สิ่งที่เกิดขึ้นคือเราขยายการดำรงอยู่ของเขาในฐานะเจ้างั่ง  การที่เขาดำรงอยู่ในฐานะเจ้างั่งขึ้นอยู่กับหลายสิ่งหลายอย่าง โดยเฉพาะในเรื่องการตีตราทางจิตใจ ซึ่งเดี๋ยวเราจะพูดถึงต่อจากนี้

เราขยายภาพลักษณ์แบบผิวเผินและสร้างภาพสิ่งที่ไม่มีอยู่จริงขึ้นมา ซึ่งเป็นวิธีการดำรงอยู่ที่ไม่มีอยู่จริง  เราไม่ได้ตั้งใจทำอย่างนี้  มันเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจากจิตใต้สำนึก  มันเกิดขึ้นเองโดยอัตโนมัติเนื่องจากนิสัยการมองเห็นสิ่งต่าง ๆ ในลักษณะนี้ของคนเรา  การขยายในลักษณะนี้คือ การที่เขาดำรงอยู่ในฐานะเจ้างั่งโดยธรรมชาติ  รูปแบบการดำรงอยู่โดยธรรมชาติในฐานะเจ้างั่งนั้นไม่ได้กล่าวถึงสิ่งที่เป็นความจริงเลย  อีกครั้ง  เรากำลังพูดถึงการไร้ซึ่งตัวตนของวิธีในการดำรงอยู่ที่เป็นไปไม่ได้ ไม่ใช่การไร้ซึ่งตัวตนของวัตถุที่เป็นไปไม่ได้

ความแตกต่างระหว่าง “โดยกำเนิด” และ  “โดยธรรมชาติ”

ในส่วนนี้เราจะมาดูรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับความหมายของการดำรงอยู่โดยธรรมชาติและโดยการตีตราในใจ  เราจำเป็นต้องเข้าใจความแตกต่างระหว่างสิ่งที่เป็นอยู่โดยกำเนิดและโดยธรรมชาติ

คนเรามีคุณสมบัติที่ติดตัวมาโดยกำเนิดหลายอย่าง  ยกตัวอย่างเช่น ความต่อเนื่องทางจิตใจที่ติดตัวมาโดยกำเนิดนั้นมีร่างกาย การพูด จิต ความเข้าใจ อารมณ์ และอื่น ๆ ที่มาพร้อมกับการเป็นสัตว์มีความรู้สึก  เรามีธรรมชาติพระพุทธเจ้าและทุกด้านในธรรมชาติพระพุทธเจ้า  คำศัพท์ทางเทคนิคของคำว่า “โดยกำเนิด” ในภาษาทิเบตคือ Ihan-skyes และในภาษาสันสกฤตคือคำว่า สหจะ ซึ่งบางครั้งก็แปลว่า “เกิดขึ้นในเวลาเดียวกัน”  คำนี้หมายถึงว่าสิ่งเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของแพ็คเกจเดียวกันและเกิดขึ้นพร้อมกันในแต่ละขณะของจิตใจ  ในประสบการณ์แต่ละขณะ เรามีร่างกาย การพูด และจิตใจอยู่เสมอ ไม่ว่าเราจะตื่นหรือหลับอยู่  เราอาจไม่ได้พูดตอนนอนหลับ แต่มีความสามารถในการสื่อสาร ยกตัวอย่างเช่น คนอื่นสามารถมองมาที่เราและเห็นว่าเรากำลังนอนหลับอยู่  ถึงแม้ว่าเราจะไม่กรนเวลานอนหลับ การหายใจของเราก็มีความสม่ำเสมอและความช้าที่สื่อว่าเรากำลังนอนหลับอยู่  นี่คือตัวอย่างของการที่เราสื่อสารอยู่ตลอดเวลา  ถึงแม้ว่าคุณสมบัตินี้มักได้รับการแปลว่า “การพูด” มันก็ไม่ได้จำกัดอยู่แต่การพูดโดยใช้คำอย่างเดียวเท่านั้น  ทั้งหมดนี้คือปัจจัยที่ติดตัวมาแต่กำเนิด

คำว่า “โดยธรรมชาติ” (ทิเบต: rang-bzhin) นั้นแตกต่างกันมาก  ถ้ามีสิ่งที่เป็นโดยธรรมชาติอยู่จริง สิ่งนั้นก็คงเป็นสิ่งที่ติดตัวมาแต่กำเนิด แต่เป็นเช่นนั้นด้วยพลังของตัวมันเอง ซึ่งจะทำให้สิ่งนั้นดำรงอยู่และดำรงอยู่ได้ในฐานะที่มันเป็น  บางครั้งคำนี้ก็ใช้พูดถึงลักษณะเด่น หรือลักษณะที่บ่งบอกด้านในของวัตถุนั้นที่ทำให้เป็นสิ่งนั้น  ในกรณีของเจ้างั่ง มันก็คงจะต้องมีอะไรที่ผิดอย่างมากกับเขา ซึ่งหาพบได้ในตัวเขา สิ่งนั้นอยู่อย่างถาวรในตัวเขา ซึ่งโดยพลังของตัวมันเองทำให้เขากลายเป็นเจ้างั่ง  หลาย ๆ ครั้งเราคิดในลักษณะว่า  “คนไม่เอาไหนข้างบ้านที่เอาแต่เล่นดนตรีอยู่ตลอดเวลา…” หรือ “คนแสนดีที่ฉันเพิ่งเจอ…” ราวกับว่ามีอะไรบางอย่างโดยธรรมชาติในตัวบุคคลเหล่านั้นตลอดเวลาที่ทำให้เขาดำรงอยู่ในฐานะคนแบบนั้น  ผมใช้ตัวอย่างที่เต็มไปด้วยอารมณ์ก็จริง แต่นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับทุกอย่าง  มันดูเหมือนว่าจะมีบางสิ่งบางอย่างโดยธรรมชาติเกี่ยวกับคุณที่ทำให้คุณเป็นมนุษย์โดยธรรมชาติ

สิ่งที่อยู่ข้างในคนขับคนนั้นทำให้เขาดำรงอยู่ในฐานะเจ้างั่งโดยธรรมชาติ มันทำให้เขาดำรงอยู่ในลักษณะนี้โดยไม่ข้องเกี่ยวกับสิ่งอื่นใดเลย มันทำให้เขาเป็นอย่างนั้นด้วยอำนาจของมันเอง  เหมือนกับว่าหากเราตรวจสอบอย่างละเอียด เราก็จะพบสิ่งนั้นเป็นตัวเป็นตน  แน่นอนว่าหากเราชำแหละและตรวจสอบดู เราก็จะไม่พบสิ่งใดในวัตถุนั้นที่ทำให้วัตถุนั้นเป็นเช่นนั้นเลย  หากคุณเริ่มวิเคราะห์บุคคลที่อยู่ในรถนี้ คุณก็จะพบแต่อะตอมและสนามพลังงานจำนวนมาก แต่คุณจะไม่พบอะไรเป็นชิ้นเป็นอันที่ทำให้เขาคนนั้นเป็นเจ้างั่งเลย  หากเราวิเคราะห์การกระทำของเขาโดยพิจารณาจากการเคลื่อนไหวเป็นหน่วยไมโครวินาที เราจะพบว่ามีการเคลื่อนไหวของการขยับนิ้วหนึ่งมิลลิเมตรทางนี้และอีกหนึ่งมิลลิเมตรในอีกทาง แล้วก็ขยับต่อไปอย่างนี้อีก แล้วอะไรกันที่ทำให้เขาเป็นเจ้างั่ง? คุณไม่สามารถชี้ไปที่ไมโครวินาทีของพฤติกรรมที่ทำให้เขาเป็นเจ้างั่งได้ไหม? เมื่อมองในลักษณะนี้แล้วคุณไม่สามารถพบสิ่งใดที่ฝังตัวอยู่ในตัวเขาด้วยพลังของมันเองและทำให้เขาคนนี้ดำรงอยู่ในฐานะเจ้างั่งได้เลย ถึงแม้ว่าเขาจะดูเหมือนเจ้างั่งก็ตาม

โดยสมมติแล้ว เขาทำตัวเหมือนเจ้างั่ง  เราต้องใช้ความระมัดระวังตรงนี้เพื่อไม่ปฏิเสธความเป็นจริงของลักษณะผิวเผินและความเป็นจริงของการกระทำของเขาโดยสมมติ  เขาทำตัวเป็นเจ้างั่ง  ใช่แล้ว  ปัญหาอยู่ที่ว่าเขาดูเหมือนจะดำรงอยู่ในฐานะเจ้างั่ง  เขาทำตัวเป็นเจ้างั่งขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่น ๆ  ทั้งหมดนี้อาศัยสิ่งอื่น ๆ นอกเหนือจากตัวเขาเอง  มันไม่ใช่ว่าเขาคนนี้ทำตัวเป็นเจ้างั่งเพราะพลังอำนาจของอะไรบางอย่างในตัวเขา  เขาคนนี้ทำตัวเป็นเจ้างั่งเนื่องจากส่วนต่าง ๆ (มือของเขาที่ขยับไปในลักษณะต่าง ๆ) และอาศัยสาเหตุต่าง ๆ (เขารถติดและกำลังรีบอยู่)  หากเขาเป็นเจ้างั่งโดยธรรมชาติจริง ๆ เขาก็จะต้องเป็นเจ้างั่งเวลาที่เขาไม่ได้ขับรถและแม้แต่เวลาที่เขานอนหลับอยู่  เขาทำตัวเป็นเจ้างั่งเนื่องจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับเขา  นอกจากนี้ยังอาจมีปัจจัยอื่น ๆ ทางวัฒนธรรม ทางจิตวิทยา หรือปัจจัยส่วนตัวที่ทำให้เขาขับรถแบบเจ้างั่งก็ได้  เพราะฉะนั้นเขาคนนี้ขับรถเหมือนเจ้างั่ง ซึ่งมีสาเหตุมาจากปัจจัยทั้งหมดนี้นั่นเอง

การตีตราทางจิตใจ

หากมองในเชิงพื้นฐานกว่านี้ เราสามารถพูดได้ว่าการรับรู้ว่าเขาคนนี้ขับรถเหมือนเจ้างั่งนั้นขึ้นอยู่กับแนวคิดของความเป็น “เจ้างั่ง”  หากไม่มีแนวคิดเช่นนี้อยู่ เราก็จะไม่สามารถพูดได้ว่าเขาขับรถเหมือนเจ้างั่ง  จริงไหมครับ?  จุดนี้จึงนำเราเข้ามาในเรื่องของการตีตราทางจิตใจ

การตีตราทางจิตใจเป็นเรื่องที่อาจฟังดูน่าสับสนอยู่พอสมควร  เวลาที่เราเรียกคนคนนี้ว่าเป็นเจ้างั่ง มันไม่ได้ทำให้เขาเป็นเจ้างั่งใช่ไหม  เราไม่ได้พูดถึงเด็กตัวน้อยที่ตะโกนใส่กันว่า “นายนั่นแหละงั่ง”  การตีตราและการกำหนดชื่อต่าง ๆ ไม่มีพลังที่สามารถทำให้สิ่งนั้นหรือคนคนนั้นเป็นอย่างที่เราเรียก  หลายคนคิดว่าการตีตราทางจิตใจหมายถึงการที่เราสร้างสิ่งต่าง ๆ ขึ้นด้วยคำพูดหรือแนวคิด  แต่นั่นไม่ใช่ความหมายของการตีตราทางจิตใจตามหลักพระพุทธศาสนาอย่างแน่นอน

ลองคิดดู ไม่ว่าเราจะตีตราให้เขาคนนี้เป็นเจ้างั่งหรือไม่ก็ตาม และไม่ว่าเราจะคิดว่า “เจ้างั่ง” และไม่ว่าจะมีใครบนถนนเห็นเขาคนนี้ขับรถก็ตาม เขายังขับรถเหมือนเจ้างั่งอยู่ไหม?  หากมีเขาอยู่คนเดียวบนถนน แล้วไม่มีใครว่าเขาเป็นเจ้างั่ง เขายังขับรถเหมือนเจ้างั่งอยู่ไหม?

คือคุณก็คงจะบอกว่ามันต่างกันสำหรับกลุ่มคนที่มีแนวคิดเรื่องเจ้างั่งและอีกกลุ่มที่ไม่มีแนวคิดเรื่องนี้  ถ้าอย่างนั้นมันก็ขึ้นอยู่กับกลุ่มและโครงสร้างทางแนวคิด คุณพูดได้แต่เพียงว่าเขาคนนี้ขับรถเหมือนเจ้างั่งโดยสมมติรูปแบบหนึ่ง แต่เขาไม่ได้ขับรถเหมือนเจ้างั่งโดยธรรมชาติอย่างสมบูรณ์  ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับกฎหมายและธรรมเนียม ไม่ว่าจะมีใครเห็นเขาหรือไม่ก็ตาม  หากเราพูดว่ามันไม่เกี่ยวข้องกับสิ่งอื่นใดเลยอย่างแน่นอนและทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับวิธีที่เขาขับรถเท่านั้น จุดนี้เป็นไปไม่ได้เลย  ประเด็นเหล่านี้คือสิ่งที่ผู้คนมักสับสนมากที่สุดเกี่ยวกับเรื่องการสร้างลักษณะทางจิตใจ

ถ้าอย่างนั้นคุณอาจสงสัยว่า “เราสามารถพูดอย่างเป็นกลางได้ไหมว่าเขาขับรถอย่างไร?”  นี่คือคำถามที่เหมาะกับการวิเคราะห์เป็นอย่างยิ่ง เพราะนี่แหละคือปัญหา การไขว่คว้าหาสิ่งที่เกิดขึ้นจริง ๆ  เขาขับรถอย่างเจ้างั่งหรือไม่?  เมื่อเราเข้ามาสู่เรื่องเกี่ยวกับว่าเขาเป็นอย่างไรกันแน่ เราก็เข้ามาอยู่ในเรื่องของการดำรงอยู่โดยธรรมชาติ  เขาคนนี้ขับรถอย่างเจ้างั่งโดยขึ้นอยู่กับแนวคิด “เจ้างั่ง”  ขึ้นอยู่กับธรรมเนียมตะวันตก และอะไรก็ว่าไป  การขยายความตรงนั้นคือเขาเป็นเจ้างั่งจริง ๆ แต่นี่คือการดำรงอยู่โดยธรรมชาติที่สร้างขึ้นด้วยตัวเอง นี่แหละคือสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

ผมว่าจุดนี้เริ่มบ่งชี้ให้เห็นว่าความสับสนดังกล่าวฝังรากลึกขนาดไหน เพราะว่าจริง ๆ แล้วพวกเราส่วนใหญ่อยากรู้ว่าสิ่งต่าง ๆ เป็นอย่างไรกันแน่และคิดว่าสิ่งเหล่านี้มีตัวตนอยู่จริง ๆ ด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง จริงไหมครับ?  เราบอกว่า “บ้านหลังนี้ช่างวิเศษเหลือเกิน” หรือ “คืนนี้เรามีช่วงเวลาที่ดีมากเลยล่ะ” ราวกับว่ามีบางสิ่งบางอย่างอยู่ตรงนั้นโดยธรรมชาติและทุกคนก็ควรมองในลักษณะนี้เช่นกัน  เพราะว่าเราคุ้นชินกับการมองในลักษณะนี้มาก กล่าวคือทุกสิ่งทุกอย่างมีลักษณะเป็นอย่างนั้นโดยอัตโนมัติและเราก็คิดถึงสิ่งนั้นในลักษณะนั้น  การมองแบบนี้เรียกว่า “การสร้างภาพลักษณ์ที่หลอกลวง” หรือบางทีก็เรียกว่า “ภาพลักษณ์สองนัย”  คำว่า “สองนัย” ในที่นี้หมายถึงสองสิ่งที่ไม่ลงรอยกัน ไม่เหมือนกับสิ่งที่เป็นในความเป็นจริง วิธีที่ภาพลักษณ์ถูกนำเสนอออกมานั้นไม่สามัคคีกับวิธีที่สิ่งนั้นดำรงอยู่จริง ๆ  นี่คือความหมายของภาพลักษณ์สองนัยในการใช้แบบนิกายเกลุก-ปราสังคิกะ

เรื่องของเรื่องก็คือเขาคนนี้ขับรถอย่างเจ้างั่ง  ข้อนี้ถูกต้องโดยสมมติ  เราสามารถมีความคิดเห็นบ้า ๆ ที่ไม่มีคนเห็นด้วยหรือมีคนเห็นด้วยก็ได้  หากเป็นที่ประเทศเยอรมนี คนที่นี่ก็จะเห็นด้วยว่าเขาคนนี้ขับรถอย่างเจ้างั่ง แต่นั่นไม่ได้ทำให้เขาเป็นเจ้างั่งอย่างแท้จริง  เราสามารถมีความคิดเห็นว่าสุนัขเป็นคนขับรถ แต่ไม่มีใครเห็นด้วย  มันมีทั้งความคิดเห็นแบบคึกคะนองและความคิดเห็นที่ได้รับการยอมรับว่าถูกต้อง

ประเด็นคือมันมีการรับรู้ที่ถูกต้องที่รู้ว่าอะไรเป็นอะไรโดยสมมติ  ตรงนี้สำคัญมาก  นิกายต่าง ๆ ในพระพุทธศาสนาแบบทิเบตมีคำอธิบายเฉพาะตัวเกี่ยวกับความแตกต่างนี้  นิกายเกลุกจะพูดถึงในเชิงของความจริงแบบผิวเผินที่แม่นยำและไม่แม่นยำ  ความจริงผิวเผินที่ไม่แม่นยำเกี่ยวกับบางสิ่งไม่สอดคล้องกับสิ่งที่เป็นโดยสมมติ  การที่บางอย่างเป็นแบบนั้นโดยสมมติ แตกต่างจากการดำรงอยู่ที่แท้จริงของสิ่งนั้นมาก

การตีตราที่ถูกต้องในการอภิปรายเกลุกเกี่ยวกับสวตันตริกะและประสังคิกะ

เราจะรู้ได้อย่างไรว่าความคิดเห็นนั้นถูกต้องใช้ได้?  เราใช้หลักเกณฑ์สามอย่างของท่านจันทรกีรติสำหรับการตีตราที่ถูกต้อง  ที่นี่ความแตกต่างปรากฏระหว่างสวตันตริกะ-มัธยมกะและประสังคิกะ-มัธยมกะตามคำอธิบายของเกลุก  กาคยู (Kagyu) อธิบายถึงทั้งสองนิกายต่างกันเล็กน้อย  ประเด็นหลักของมัธยมกะคือว่าทุกสิ่งทุกอย่างล้วนดำรงอยู่โดยอิงจากการตีตราทางจิตใจ  นี่ไม่ได้หมายความว่าการตีตราทางจิตใจเป็นตัวสร้างสิ่งเหล่านี้  การนำเสนอเรื่องการตีตราทางจิตใจของมัธยมกะคือ การใส่รายละเอียดเข้าไปในหลักการทางพระพุทธศาสนาอินเดียของนิกายที่มีความซับซ้อนน้อยกว่า เช่น จิตมาตร อธิบายเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างจิตกับวัตถุต่าง ๆ  หนึ่งในประเด็นหลักของการศึกษาหลักการของนิกายเหล่านี้ตามลำดับที่เหมาะสมคือ การทำความเข้าใจเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างจิตและวัตถุในระดับที่ซับซ้อนขึ้นไปเรื่อย ๆ ตามลำดับ

ตัวอย่างที่ใช้ในตำราคือ การตีตราให้คนคนหนึ่งเป็น “ราชา”  คนคนนั้นดำรงอยู่ในฐานะราชาโดยขึ้นอยู่กับแนวคิดและคำว่า “ราชา”  หากไม่มีประเพณีทางสังคมเกี่ยวกับราชา แน่นอนว่าก็ไม่มีใครสามารถเป็นราชาได้  คำถามก็คือ อะไรทำให้การตีตราใด ๆ นั้นถูกต้อง?  สวตันตริกะกล่าวว่าสิ่งต่าง ๆ มีลักษณะนิยามโดยธรรมชาติในตัวของมัน ซึ่งเราหาเจอได้และทำให้เราสามารถตีตราให้สิ่งเหล่านั้นเป็นสิ่งที่มันเป็นได้  ต้องมีอะไรบางอย่างในตัวราชาที่ทำให้เขาเป็นเชื้อพระวงศ์ เขาถึงจะได้รับการตีตราให้เป็น “ราชา” ได้อย่างถูกต้อง  หากไม่มีเราก็สามารถตีตราให้สุนัขหรือผู้กวาดเป็น “ราชา” ก็ได้ และนั่นก็จะทำให้เป็นราชา  เราเริ่มเห็นแล้วว่ามีความคิดทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวในเรื่องนี้  แต่จริง ๆ แล้วนี่ไม่ใช่เรื่องล้อเล่น  ปรัชญานี้พัฒนาขึ้นในประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นที่ที่การคิดเรื่องชนชั้นวรรณะเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง  เพราะฉะนั้นมันจะต้องมีอะไรสักอย่างในตัวใครคนหนึ่งโดยธรรมชาติที่ทำให้ผู้นั้นเป็นสมาชิกของวรรณะกษัตริย์  นั่นคือการอธิบายแบบสวตันตริกะ

แต่ประสังคิกะบอกว่าไม่ใช่ เราไม่อาจพบอะไรที่อยู่ในตัวเขาคนนั้นที่ทำให้เขาเป็นราชาได้  แน่นอนว่าถ้ามองโดยสมมติแล้ว จะมีเรื่องลักษณะท่าทางที่เป็นเครื่องกำหนด  บุคคลที่ปกครองประเทศในระบบเชื้อพระวงศ์นั้นถือเป็นราชา  มันมีลักษณะท่าทางที่เป็นเครื่องกำหนดว่าราชาต้องเป็นอย่างไร  หากไม่มีสิ่งใดที่สามารถกำหนดได้ งั้นก็ไม่มีสิ่งใดที่จะสามารถทำงานได้เลย แต่สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงเรื่องโดยสมมติเท่านั้น  ลักษณะท่าทางนิยามเหล่านี้ไม่ได้ดำรงอยู่ในฐานะสิ่งที่เราจะหาเจอภายในวัตถุ หรือคนเหล่านั้นได้  ยกตัวอย่างเช่น เราจะไม่เจอสิ่งใด ๆ ที่ทำให้บุคคลคนนั้นเป็นเชื้อพระวงศ์ได้ด้วยอำนาจของสิ่งนั้นเอง

แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าการตีตรานั้นถูกต้อง?  เราก็ต้องกลับมาที่หลักเกณฑ์สามประการของท่านจันทรกีรติ  เนื่องจากว่าความเข้าใจหลักเกณฑ์เหล่านี้มีความสำคัญมาก เรามาอธิบายอีกครั้งด้วยตัวอย่างใหม่  อย่างแรกเลยเรามีข้อสมมติที่สร้างขึ้นและได้รับการยอมรับ  เรากลับมาที่บ้านและดูคู่ชีวิตของเรา  เพื่อให้การอภิปรายนี้ง่ายขึ้น สมมุติว่าคู่ของเราเป็นผู้หญิงแล้วกัน  ใบหน้าของเธอแสดงออกถึงสีหน้าบางอย่าง  คิ้วของเธอขมวด ปากของเธอคว่ำลง และดูเหมือนว่าเธอจะไม่พอใจและโกรธ  จุดนี้ต้องอาศัยข้อสมมติที่สร้างขึ้น นั่นคือหลักเกณฑ์อย่างแรก  มันมีข้อสมมติที่ว่า โดยเฉพาะในวัฒนธรรมตะวันตก มนุษย์ขมวดคิ้วและทำหน้าบึ้งเมื่อตนไม่พอใจ  สุนัขขู่ แต่มนุษย์เราแสดงความไม่พอใจในลักษณะนี้  คู่ของเรากำลังปฏิบัติตามข้อสมมติที่มนุษย์ทำเวลาไม่พอใจ  นั่นคือวิธีหนึ่งในการทำให้ภาพลักษณ์ดังกล่าวถูกต้อง  นอกจากนี้เรายังสามารถเปรียบเทียบกับสถานการณ์ในอดีตเวลาที่เธอไม่พอใจได้ด้วย เพื่อดูว่าการแสดงออกของเธอสอดคล้องกับแบบแผนทางข้อสมมติหรือไม่

เกณฑ์ข้อที่สองคือมันต้องไม่ขัดแย้งกับจิตที่เห็นความจริงอันผิวเผินอย่างถูกต้อง  เราสวมแว่นตา เปิดไฟ เพื่อทำให้แน่ใจว่าเราเห็นสีหน้าดังกล่าวได้ชัดเจน  มันไม่ได้เป็นเพราะว่ามันมืด เราเห็นไม่ชัด หรือเราไม่ได้สวมแว่นตา  หลักเกณฑ์นี้หมายถึงสิ่งที่ตรงไปตรงมาและเป็นเชิงปฏิบัติมาก ๆ

ถึงแม้ว่าในตำราจะไม่ได้กล่าวถึงอย่างชัดเจน เราสามารถตรวจดูหลักเกณฑ์อื่นที่เชื่อมโยงกับข้อที่สองได้ เช่น ความสามารถในการก่อให้เกิดผลกระทบของบางสิ่ง  ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเราพูดว่า “สวัสดี” เธอไม่พูดอะไรตอบมา  จุดนี้เป็นหลักฐานยืนยันเพิ่มเติมว่าเธอไม่พอใจอยู่จริง ๆ  พฤติกรรมอย่างอื่นของเธอก็สนับสนุนว่าเธอไม่พอใจ เพราะปกติเวลาที่เธอไม่พอใจและโกรธนั้น เธอมักจะไม่พูดทักทาย  พูดอีกอย่างก็คือความโกรธก่อให้เกิดผลกระทบที่เกิดขึ้นเป็นประจำ  เราอาจจะถามเธอด้วยก็ได้ว่าเธอไม่พอใจหรือเปล่า หากเราอยากเช็คให้แน่ใจจริง ๆ 

หากเราจบเรื่องทั้งหมดไว้แค่นั้นและพูดว่า “เอาล่ะ เธอไม่พอใจและโกรธ เพราะสงสัยจะมีเหตุการณ์แย่ ๆ เกิดขึ้นวันนี้  มันมีปัจจัยหลายอย่างเข้ามาเกี่ยวข้องมากเลยนะ”  ถ้าอย่างนั้นการรับรู้ของเราก็ใช้ได้อย่างแน่นอน  การรับรู้เช่นนี้จะไม่ขัดแย้งกับจิตที่มองเห็นการดำรงอยู่ในระดับลึกสุดอย่างถูกต้อง จิตที่เห็นว่า สิ่งต่าง ๆ ดำรงอยู่อย่างไร คู่ของเราดำรงอยู่ในอารมณ์โกรธอย่างไร

หากเราพบว่าคู่ของเราไม่ได้โกรธเพียงเพราะเหตุผลนั้นหรือเหตุผลนี้ แต่เราไปคิดว่า “ให้ตายสิ เธอโกรธอีกแล้วเหรอเนี่ย เธอนี่เป็นคนหัวร้อนจริง ๆ เดี๋ยวก็ไม่พอใจเรื่องนู้นเรื่องนี้ ฉันไม่ไหวแล้ว!”  ความคิดแบบนั้นขัดแย้งกับจิตที่เห็นความจริงที่ลึกที่สุดอย่างแท้จริง  ไม่มีใครดำรงอยู่ในแบบนั้นโดยธรรมชาติได้

ด้วยวิธีนี้เราทำให้การตีตราให้คนคนนี้ไม่พอใจหรือโกรธได้อย่างถูกต้อง โดยไม่ต้องมองว่ามันต้องมีอะไรบางอย่างอยู่ในตัวคนคนนั้นโดยธรรมชาติที่ทำให้เขาดำรงอยู่ในความโกรธ  เมื่อเราพูดถึงสุญญตา เราพูดถึงเวลาที่เราคิดว่าเธอเป็นคนที่แย่มาก  สุญญตาคือการไร้ซึ่งตัวตนอย่างแท้จริงของวิธีการดำรงอยู่อย่างนั้น  การไร้ซึ่งตัวตนอย่างแท้จริงของการที่มีอะไรบางอย่างผิดปกติกับเธอคนนั้นอย่างมาก ซึ่งทำให้เธอเป็นคนที่ไม่น่าคบด้วยเลย  เมื่อเราเชื่อว่าเธอดำรงอยู่ในลักษณะนั้น เราก็จะมีปฏิกิริยาตอบโต้ในเชิงรบกวน  เรารู้สึกไม่พอใจกับเธอและเริ่มหมดความอดทน

คุณอาจถามว่า “การรับมือกับสถานการณ์ด้วยปัญญาและความใจเย็นนั้นขึ้นอยู่กับการรู้สาเหตุว่าทำไมคู่ของเราถึงโกรธด้วยไม่ใช่หรือ?”  คือต่อให้เราไม่เข้าใจว่าทำไมเธอโกรธ เราก็พยายามทำความเข้าใจว่าการโกรธของเธอต้องขึ้นอยู่กับเหตุผลและสาเหตุต่าง ๆ แน่เลย  มันไม่ใช่ว่าเธอโกรธอยู่ตลอดเวลาโดยธรรมชาติ  การทำความเข้าใจในลักษณะนี้ทำให้เราเห็นได้ว่าสถานการณ์นี้อาจเปลี่ยนแปลงได้  อย่างไรก็ตาม การพูดว่า “คู่ของฉันโกรธและไม่พอใจ” เป็นเรื่องที่ถูกต้อง  ข้อนี้สำคัญมาก  หากเราไม่รับรู้ว่าคู่ของเรารู้สึกไม่พอใจตามสมมติแล้ว เราจะใช้หลักอะไรในการมีความเห็นอกเห็นใจและช่วยเหลือเธอ?  ทุกสิ่งทุกอย่างในการสัมผัสกับเธออย่างเป็นประโยชน์นั้นก็จะพังลงและเราก็กลายเป็นพวกลัทธิสุญนิยมสุดโต่ง (nihilism)

การเน้นน้ำเรื่องการรับรู้ความจริงแบบผิวเผินที่ถูกต้องนั้นทำให้เกิดการเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดระหว่างความเข้าใจเรื่องสุญญตาและความเห็นอกเห็นใจ  หากไม่มีตรงนี้แล้ว เราก็จะไม่ใส่ใจผู้อื่นเป็นอย่างมาก ซึ่งจะบ่อนทำลายการเข้าไปรับรู้ปัญหาของผู้อื่นและช่วยเหลือพวกเขา  มันดูเป็นเรื่องที่ค่อนข้างละเอียด แต่ผมว่ามันสำคัญมาก

การอาศัยกันในการเกิดขึ้นและกรรม

หากคุณเข้าใจเรื่องการอาศัยกันในการเกิดขึ้น คุณจะต้องไม่ลืมข้อเท็จจริงที่ว่าการกระทำเชิงบวกและเชิงลบก็เป็นเชิงบวกและเชิงลบจริง ๆ ข้อนี้เป็นเรื่องจริงมาก ๆ  เวลาเราพูดถึงเรื่องเป็นตามสัดส่วน เราไม่ได้ลดทอนสิ่งต่าง ๆ จนถึงจุดที่สิ่งเหล่านั้นสามารถเป็นอะไรก็ได้  การฆ่าเป็นการกระทำเชิงโทษ ไม่ว่าคุณจะมีแรงจูงใจอย่างไร  ถึงแม้ว่าเราจะฆ่าสิ่งมีชีวิตด้วยความเห็นอกเห็นใจขั้นสูง อย่างที่พระพุทธเจ้าทรงฆ่าคนพายเรือที่กำลังจะฆ่าพ่อค้า 499 คนบนเรือ  การฆ่านั้นก็ยังเป็นการกระทำเชิงโทษอยู่ดี  มันก่อให้เกิดเป็นประสบการณ์แห่งทุกข์ นั่นคือพระพุทธเจ้าทรงถูกหนามตำพระบาท  ความทุกข์นั้น ซึ่งก็คือผลเชิงลบของการกระทำนี้ค่อนข้างเบามาก เพราะพระองค์ทรงกระทำด้วยแรงจูงใจที่เปี่ยมเห็นอกเห็นใจ  ถึงกระนั้นแล้วการกระทำนี้ก็ยังเป็นเชิงโทษและยังเป็นไปตามกฎแห่งกรรม กล่าวคือการกระทำเชิงโทษนำไปสู่ทุกข์  กำลังของการกระทำเชิงโทษนั้นก็เป็นตามสัดส่วน แต่ก็ไม่เป็นตามสัดส่วนทั้งหมดเสียทีเดียว  การกระทำเชิงโทษไม่สามารถกลายเป็นการกระทำเชิงประโยชน์ได้  พระพุทธศาสนาเห็นด้วยว่ามีระเบียบของจักรวาล

หากพิจารณาตามสมมติแล้ว การฆ่าเป็นการกระทำเชิงโทษ  แต่อะไรที่ทำให้การกระทำนี้เป็นเชิงโทษ?  เราอาจบอกว่ามันไม่มีอะไรที่หาได้ในการกระทำการฆ่าที่มีอำนาจทำให้การกระทำดังกล่าวเป็นเชิงโทษด้วยตัวของมันเอง  มันขึ้นอยู่กับการที่มีคนกระทำการฆ่า มีคนที่ถูกฆ่า และมีความต่อเนื่องทางจิตที่ได้รับอิทธิพลและจะประสบกับทุกข์ตามมา  แรงผลักดันของกรรมในเชิงลบจากการกระทำนี้ดำเนินต่อไปในฐานะส่วนหนึ่งของความต่อเนื่องทางจิตของผู้กระทำผิด เพราะฉะนั้นผู้ที่กระทำการฆ่าก็จะประสบกับความทุกข์ตามมา  เราไม่สามารถพูดว่าบางสิ่งบางอย่างเป็น “เชิงโทษ” โดยไม่ขึ้นอยู่กับเหตุและผลใด ๆ  มันไม่ได้เป็นเชิงโทษเพราะฟ้าสั่งมา  การกระทำในเชิงโทษหมายถึงการกระทำที่เจริญเติบโตไปเป็นประสบการณ์แห่งความทุกข์สำหรับผู้กระทำการผิด

ถ้าอย่างนั้นอะไรกันที่ทำให้การกระทำการฆ่าเป็นเชิงโทษ?  การกระทำนี้เป็นเชิงโทษโดยขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ ที่นอกเหนือจากการกระทำเอง  ในกรณีนี้คือผลกระทบทางกรรมของการกระทำ  มันไม่ใช่ว่าการกระทำนี้เป็นเชิงโทษโดยธรรมชาติด้วยตัวของมันเอง เพราะมีอะไรบางอย่างที่หาได้ในตัวของมันที่ทำให้มันเป็นเช่นนั้น

เรามาดูอีกตัวอย่างหนึ่งที่เป็นสถานการณ์ทั่วไปมากขึ้น  สุนัขของเราประสบอุบัติเหตุบริเวณพื้นครัว เราโกรธมากและตะโกนใส่สุนัขเราว่า “แย่มาก! ทำพื้นเลอะเทอะไปหมดเลย! ทำอะไรแย่ ๆ อย่างนี้นะ!” ราวกับว่าการกระทำนั้นดำรงอยู่ในฐานะการกระทำแย่ด้วยตัวของมันเอง โดยไม่ขึ้นอยู่กับสิ่งอื่นใดเลย  จากตัวอย่างนี้ การคิดถึงผลของการกระทำที่ “มนุษย์ทำ” นั้นง่ายกว่าการคิดถึงผลกระทบทางกรรมที่สุนัขตัวนั้นจะได้รับ  โปรดสังเกตุว่าผลกระทบทางกรรมกับผลกระทบที่มนุษย์ทำนั้นต่างกัน ผลกระทบที่มนุษย์ทำ หรือในกรณีนี้คือผลกระทบของการกระทำที่สุนัขทำนั้นคือ มันทำให้พื้นเละเทะ เราจึงต้องทำความสะอาด  เมื่ออิงจากเกณฑ์นี้แล้ว สิ่งที่สุนัขทำก็ไม่ใช่เรื่องที่ดี

การอาศัยกันในการเกิดขึ้นและตัวเลือก 

เมื่อเราพูดเกี่ยวกับการตีตราและความคิดเห็นที่ถูกต้องแล้ว เราจะสามารถแนะนำเกี่ยวกับการตัดสินใจที่ถูกต้องได้อย่างไรบ้าง?  ในการตัดสินใจแต่ละครั้งนั้นมีปัจจัยมากมายเข้ามาเกี่ยวข้อง  มันไม่ใช่เพียงแค่ตีตราการเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นคำตอบหรือทางแก้ไขที่ถูกต้องสำหรับสถานการณ์ลำบากแต่ละครั้ง  ในการกำหนดว่าการตัดสินใจแบบใดมีความเหมาะสมมากที่สุดตามสมมตินั้น เราจำเป็นต้องพยายามพิจารณาปัจจัยที่จะส่งผลต่อผลลัพธ์ตามมาให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้  สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นไม่ได้เกิดขึ้นจากสาเหตุเดียว  จึงเป็นเรื่องสำคัญที่เราไม่ควรขยายการกระทำและความสำคัญของการตัดสินใจของเราจนเกินควร  ยกตัวอย่างเช่นหากเราพูดอะไรบางอย่าง แล้วมีคนไม่พอใจ  มันมีหลายปัจจัยมากที่ทำให้คนคนนั้นไม่พอใจ ไม่ใช่เพียงแค่สิ่งที่เราพูด

มันง่ายที่จะพูดว่า “ตราบใดที่เรามีเจตนาดี เราจะตัดสินใจทำอะไรก็ย่อมเป็นเรื่องที่ยอมรับได้” แต่ในภาษาอังกฤษมีสำนวนที่ว่า “เส้นทางไปสู่นรกนั้นปูด้วยเจตนาดี” (The road to hell is paved with good intentions)  ยิ่งไปกว่านั้นแล้วเรามีเจตนาและแรงจูงใจมากมายที่อยู่เบื้องหลังเส้นทางการกระทำที่เราสามารถเลือกได้ ไม่ใช่แค่อย่างเดียว เพราะฉะนั้นจุดนี้จึงมีความซับซ้อนมาก

บางคนพูดว่า “ทำตามใจสั่งเลย” แต่การกระทำแบบนี้มักหมายถึงการทำตามที่โรคประสาทสั่ง  ถ้าลูกของเรากำลังร้องไห้แล้วสิ่งแรกที่แล่นเข้ามาในหัวเราคือตีเด็กเสีย เราก็คงจะบอกว่านั่นไม่ใช่การตัดสินใจที่ดีที่สุด ถึงแม้ว่ามันจะเป็นสิ่งที่ใจสั่งก็ตาม  เราจำเป็นต้องพยายามพิจารณาสิ่งต่าง ๆ ให้ครอบคลุมมากที่สุดก่อนตัดสินใจ โดยเฉพาะหากการตัดสินใจนั้นเกี่ยวกับการยุติความสัมพันธ์หรือเปลี่ยนงานที่ทำ  เราจำเป็นต้องสร้างความกระจ่างเกี่ยวกับสิ่งที่เรารู้สึกว่าอยากทำ สิ่งที่เราต้องการจะทำ สิ่งที่เราจำเป็นต้องทำ และสิ่งที่สัญชาตญาณเราบอกให้ทำ  ทั้งสี่อย่างนี้อาจมีความแตกต่างกัน

ยกตัวอย่างเช่น ผมจำเป็นต้องลดน้ำหนัก ผมต้องการจะยึดรูปแบบการรับประทานอาหารแบบนี้ให้ได้ แต่ผมรู้สึกว่าอยากทานเค้กสักชิ้นหนึ่ง  สัญชาตญาณบอกผมว่าผมจะรู้สึกผิดหลังจากที่ทำอย่างนั้น  เราจำเป็นต้องวิเคราะห์ทั้งสี่ด้านของการตัดสินใจนี้ รวมถึงเหตุผลของแต่ละด้านด้วย  บางทีเราอาจรู้สึกว่าอยากทานเพราะเรามีความตะกละอยากทานเค้ก  ทำไมเราถึงอยากลดน้ำหนัก?  มันเป็นเพราะเหตุผลทางสุขภาพ หรือเป็นความรักสวยรักงามส่วนตัว หรือว่าเราอยากดูดีขึ้นเพื่อจะได้หาแฟนได้?  นอกจากนี้เรายังต้องชั่งน้ำหนักผลที่ตามมาของสิ่งที่เราทำด้วย แล้วจากนั้นเราก็ใช้การชั่งน้ำหนักในลักษณะเดียวกันนี้พิจารณาปัจจัยต่าง ๆ และดูว่าอันไหนถูกต้อง อันไหนไม่ถูกต้อง  ยกตัวอย่างเช่น “ผมไม่อยากทานตอนนี้ ผมรู้สึกว่าไม่อยากทาน แต่ถ้าผมไม่ทานตอนนี้ ผมจะไม่มีเวลาทานอีกเลยทั้งวัน ถ้าอย่างนั้นผมก็ควรจะทานอะไรเสียตั้งแต่ตอนนี้”

ด้วยวิธีนี้เราพยายามทำการตัดสินใจ โดยให้ความสำคัญกับปัจจัยต่าง ๆ มากที่สุด  จุดนี้สำคัญเป็นพิเศษสำหรับการทำการตัดสินใจที่ยาก  ถ้าเป็นเรื่องการตัดสินใจว่าฉันจะใส่เสื้อสีดำหรือสีฟ้า หรือฉันจะเลือกทานเมนูอะไรในร้านอาหารดี เรื่องแบบนี้ก็เลือก ๆ ไป มันไม่เป็นไร  เราไม่ควรต้องวิเคราะห์มากเกินไป  การตัดสินใจไม่ใช่เรื่องง่าย

มันเป็นเรื่องที่น่าสนใจทีเดียวว่าหนึ่งในหกอารมณ์และทัศนคติรบกวนพื้นฐานคือการเปลี่ยนใจไปมา ลังเลและตัดสินใจไม่ได้เสียที  ในการก้าวข้ามภาวะจิตใจเช่นนี้ที่ทำให้อ่อนกำลัง เราสามารถหันไปพึ่งการวิเคราะห์ทางธรรมโดยละเอียดเกี่ยวกับปัจจัยที่ทำให้เรารู้สึกว่าอยากทำอะไรบางอย่าง หรือต้องการทำอะไรบางอย่าง  หลักคำสอนเรื่องกรรมและการทำงานของจิตใจสามารถอธิบายสาเหตุการเกิดขึ้นของปัจจัยเหล่านี้ในลักษณะที่ซับซ้อนและลึกซึ้งมาก  จากหลักคำสอนเหล่านี้เราสามารถวิเคราะห์ว่าปัจจัยใดบ้างที่นิกายต่าง ๆ ในพระพุทธศาสนาแบบทิเบตยอมรับว่าถูกต้องและไม่ถูกต้อง

ถ้าอย่างนั้นเราจะรู้ได้อย่างไรว่าเราได้ตัดสินใจถูกต้องแล้ว?  เว้นเสียแต่ว่าเราเป็นพระพุทธเจ้า เราไม่มีทางรู้ได้เลยว่าเราได้ตัดสินใจถูกต้องหรือเปล่า  เราไม่รู้ว่าจะเกิดผลอะไรตามมาจากการกระทำของเรา  นอกจากนี้เราจำเป็นต้องเปิดใจรับการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น โดยเฉพาะการตัดสินใจเรื่องการยุติความสัมพันธ์  จุดนี้ยาก  หลังจากชั่งน้ำหนักปัจจัยต่าง ๆ ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้แล้ว เราจำเป็นต้องไปพูดคุยกับคนคนนั้นและดูว่าการสนทนานี้จะพัฒนาไปทางใด

สำหรับการอภิปรายเรื่องสุญญตาในวันนี้ สุญญตาในบริบทนี้คงจะเป็นการไร้ซึ่งตัวตนของการมีบางสิ่งในสถานการณ์นั้นโดยธรรมชาติที่สามารถทำให้การตัดสินใจนั้นถูกต้องด้วยตัวของมันเอง  มันไม่มีอะไรดำรงอยู่แบบนั้น มันขึ้นอยู่กับสิ่งต่าง ๆ มากมายหลายอย่าง  มันไม่ใช่ว่าเมื่อเราตัดสินใจหรือพูดสิ่งใดไปแล้ว สิ่งนั้นจะทำให้เกิดผลกระทบของสิ่งที่เกิดขึ้นด้วยอำนาจของมันเอง  สิ่งที่เกิดขึ้นเกิดจากเหตุเป็นล้าน ๆ ประการ ไม่ใช่แค่สิ่งที่เราทำ

มันอาจดูเหมือนว่าสิ่งที่เราทำนั้นทำให้เกิดความยุ่งเหยิง เราก็เลยรู้สึกผิด ราวกับว่าการกระทำของเราดำรงอยู่โดยธรรมชาติและทำให้เกิดความยุ่งเหยิงขึ้นด้วยอำนาจของมันเอง  คนเรามองในลักษณะนี้และเราก็เชื่อด้วย เราถึงได้รู้สึกผิด  เมื่อมองโดยสมมติแล้ว เราอาจมีส่วนที่ทำให้เกิดความยุ่งเหยิงนี้ขึ้นจริง แต่แน่นอนว่าสิ่งที่เราทำต่างหากนั้นไม่ได้ก่อให้เกิดความยุ่งเหยิงนี้ขึ้นด้วยอำนาจของมันเองโดยไม่มีสิ่งอื่นใดเข้ามาเกี่ยวข้อง  มันมีเหตุหลายประการมาก  อย่างที่พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ว่า ถังน้ำไม่ได้เติมเต็มด้วยน้ำหยดแรกหรือหยดสุดท้าย หากแต่เติมเต็มด้วยหยดน้ำทั้งหมดรวมกัน  มีปัจจัยเป็นร้อยเป็นพันที่ทำให้เกิดผลกระทบขึ้นและเป็นตัวการรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้น

ความรับผิดชอบและความรู้สึกผิด

ยกตัวอย่างเช่น ผมทำน้ำหกและทำให้พื้นเลอะเทอะ  ความเลอะเทอะนั้นไม่ได้เกิดขึ้นจากการที่ผมปัดแก้วตกเพียงอย่างเดียว แต่เกิดเพราะคนที่วางแก้วนั้นไว้ที่ขอบโต๊ะ คนที่สร้างโต๊ะนั้นไว้ด้วยความสูงระดับนี้ แล้วแสงไฟมันก็เป็นแบบนี้ ผมก็เลยไม่ทันได้เห็น  มีปัจจัยเป็นล้านที่เข้ามาเกี่ยวข้อง

แน่นอนว่าเราพูดไม่ได้ว่าคนสร้างโต๊ะนั้นหรือคนที่วางแก้วไว้ที่ขอบโต๊ะเป็นตัวการที่ก่อให้เกิดความเลอะเทอะนี้  เราก็เป็นตัวการ แต่เราไม่ได้มีความผิด  ผมทำแก้วตก แต่นั่นไม่ได้ทำให้ผมเป็นเจ้างั่งจอมซุ่มซ่ามโดยธรรมชาติ จนคนไม่สามารถพาผมไปไหนได้เลยเพราะผมทำไอ้นู่นไอ้นี่หกตลอด  คนเราชอบใช้สิ่งเหล่านี้เป็นการระบุตัวตน เช่น “ฉันเป็นคนซุ่มซ่าม” หรือ “ฉันไม่สามารถเปลี่ยนหลอดไฟได้โดยไม่ทำมันแตก งั้นช่วยฉันหน่อยนะ”  เหล่านี้เป็นความคิดธรรมดามาก เราทุกคนต่างก็มีความคิดเช่นนี้  เราไม่ได้กำลังพูดถึงเรื่องทางปรัชญาอันลึกซึ้ง เรากำลังพูดถึงเรื่องในชีวิตประจำวัน

เพราะฉะนั้น “ความผิด” ก็หมายถึงการที่มีอะไรบางอย่างในตัวเราโดยธรรมชาติที่ทำให้เราเป็นคนไม่ดีและสิ่งที่เราทำนั้นไม่ดีโดยธรรมชาติ  เราทำอะไรบางอย่าง เราระบุว่าสิ่งที่เราทำนั้นแย่ด้วยตัวของมันเอง และตัวเรานั้นก็เป็นคนแย่โดยสันดาน แล้วเราก็ยึดติดการระบุลักษณะนี้และไม่ปล่อยวาง  หากใช้ความเข้าใจในเรื่องสุญญตาเข้ามาช่วย เราจะเข้าใจว่าไม่มีสิ่งใดและไม่มีใครที่สามารถดำรงอยู่ได้ความ “แย่” ด้วยตัวของตัวเอง  เมื่อเรามีความเข้าใจระดับลึกเช่นนี้แล้ว เราก็จะไม่รู้สึกผิด แต่ถ้าเราเข้าใจเรื่องสุญญตาอย่างถูกต้อง เราก็จะเข้าใจด้วยว่าเราต้องรับผิดชอบการกระทำของเราเอง

สรุป

ความเข้าใจเรื่องสุญญตาทำให้เราตระหนักได้ว่า ถึงแม้ว่าคนที่ขับรถข้าง ๆ เราบีบแตรและพยายามจะแซงเรานั้นจะดูเหมือนเป็นเจ้างั่งจริง ๆ เราก็ไม่ได้เชื่อว่าลักษณะนี้สอดคล้องกับความเป็นจริง  เราเห็นหลายสิ่งหลายอย่างเกิดขึ้นเป็น “สิ่งนั้น” หรือ “สิ่งนี้” โดยขึ้นอยู่กับแนวคิด และคำว่า “เจ้างั่ง” เป็นต้น และปัจจัยต่าง ๆ เมื่อเราเข้าใจตรงนี้แล้ว เราก็จะไม่สูญเสียความอดทนและโกรธคนคนนั้น  เขาอาจจะขับรถอย่างเจ้างั่งจริง ๆ เมื่อมองตามธรรมเนียมของเยอรมันแล้ว แต่นั่นไม่ได้ทำให้เขามีความผิดโทษฐานที่เป็นคนไม่ดีโดยธรรมชาติ

Top