ข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างศิษย์ - อาจารย์ศาสนา
เพื่อหลีกเลี่ยงความสับสนเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างศิษย์ - อาจารย์ศาสนา เราจำเป็นต้องตระหนักถึงข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์บางประการดังต่อไปนี้
- ผู้แสวงทางจิตวิญญาณเกือบทุกคนต่างก้าวหน้าผ่านระดับต่าง ๆ ตามเส้นทางสายจิตวิญญาณ
- ผู้ปฏิบัติส่วนใหญ่เรียนกับอาจารย์หลายท่านในช่วงชีวิตของตน และมีรูปแบบความสัมพันธ์ที่แตกต่างกันไปกับอาจารย์แต่ละท่าน
- อาจารย์ศาสนาแต่ละท่านบรรลุระดับที่แตกต่างกันออกไป
- ประเภทของความสัมพันธ์ที่เหมาะกับผู้แสวงทางจิตวิญญาณกับอาจารย์แต่ละท่านนั้นขึ้นอยู่กับระดับทางจิตวิญญาณของทั้งสองฝ่าย
- ผู้คนมักรู้สึกสัมพันธ์กับอาจารย์ของตนลึกซึ้งขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อก้าวหน้าไปตามเส้นทางสายจิตวิญญาณ
- เนื่องจากอาจารย์ท่านเดียวกันอาจมีหลายบทบาทในชีวิตทางจิตวิญญาณของผู้แสวง รูปแบบความสัมพันธ์ที่เหมาะสมระหว่างผู้แสวงกับอาจารย์แต่ละท่านจึงอาจแตกต่างกันออกไป
ระดับของอาจารย์ศาสนาและผู้แสวงทางจิตวิญญาณ
ด้วยเหตุนี้อาจารย์ศาสนาและผู้แสวงทางจิตวิญญาณจึงมีหลายระดับด้วยกันดังนี้
- ศาสตราจารย์ด้านพระพุทธศาสนาให้ข้อมูลเหมือนรูปแบบการสอนในมหาวิทยาลัย
- ผู้ฝึกสอนพระธรรมะแสดงวิธีการนำธรรมะไปใช้ในชีวิต
- ผู้สอนการเจริญสมาธิสอนวิธีการต่าง ๆ ที่คล้ายกับการสอนไทชิหรือโยคะ
- ที่ปรึกษาทางจิตวิญญาณ แบ่งออกตามระดับคำปฏิญาณตนที่ให้กับศิษย์ ได้แก่ คำปฏิญาณตนของฆราวาสหรือพระสงฆ์ คำปฏิญาณตนของพระโพธิสัตว์ หรือคำปฏิญาณตนแบบตันตระ
ในลักษณะที่สอดคล้องกันนี้จึงมี:
- นักเรียนด้านพระพุทธศาสนาที่ต้องการรับข้อมูล
- นักเรียนพระธรรมที่ต้องการเรียนรู้วิธีการนำพระธรรมไปใช้ในชีวิต
- นักเรียนฝึกการเจริญสมาธิที่ต้องการเรียนรู้วิธีการสำหรับการผ่อนคลายหรือการฝึกจิต
- ศิษย์ที่ต้องการพัฒนาชีวิตในชาติต่อ ๆ ไป บรรลุการหลุดพ้น หรือการตรัสรู้ และพร้อมปฏิญาณตนในระดับหนึ่งเพื่อช่วยให้บรรลุเป้าหมายเหล่านี้ ถึงแม้ว่าศิษย์จะต้องการพัฒนาชีวิตในชาตินี้ให้ดีขึ้น พวกเขาต่างเข้าใจว่าการทำเช่นนี้เป็นเส้นทางที่นำไปสู่การหลุดพ้นและการตรัสรู้
แต่ละระดับอาศัยคุณสมบัติเฉพาะ ในฐานะผู้แสวงทางจิตวิญญาณ เราจำเป็นต้องพิจารณาพื้นเพของตัวเราเองและอาจารย์ของเรา กล่าวคือ เราเป็นชาวเอเชียหรือชาวตะวันตก เป็นพระสงฆ์ เป็นแม่ชี หรือเป็นฆราวาส ระดับการศึกษา วุฒิภาวะทางอารมณ์และจริยธรรม ระดับความมุ่งมั่น เป็นต้น เพราะฉะนั้นการดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไปและรอบคอบจึงเป็นสิ่งสำคัญ
คุณสมบัติของผู้ที่จะเป็นศิษย์และผู้ที่จะเป็นอาจารย์ศาสนา
ในฐานะผู้ที่จะเป็นศิษย์ เราจำเป็นต้องตรวจสอบระดับพัฒนาการของเราเอง เพื่อที่เราจะได้ไม่ผูกมัดตนเองกับความสัมพันธ์ที่เราไม่พร้อม ต่อไปนี้คือคุณสมบัติหลักที่ศิษย์จำเป็นต้องมี
- เปิดใจให้กว้างโดยไม่ยึดติดกับอคติและความคิดเห็นส่วนตัว
- สามัญสำนึกในการแยกแยะว่าอะไรเหมาะสมไม่เหมาะสม
- มีความสนใจอย่างแรงกล้าในพระธรรมและในการเสาะหาอาจารย์ที่มีคุณสมบัติเพรียบพร้อม
- เห็นคุณค่าและเคารพในพระธรรมและอาจารย์ที่มีคุณสมบัติเพรียบพร้อม
- มีความเอาใจใส่
- มีวุฒิภาวะทางอารมณ์และความมั่นคงในระดับพื้นฐาน
- มีสำนึกขั้นพื้นฐานด้านความรับผิดชอบทางจริยธรรม
อาจารย์จำเป็นต้องมีคุณสมบัติสูงกว่านี้มาก ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับระดับของอาจารย์แต่ละท่าน โดยทั่วไปแล้วคุณสมบัติหลักของอาจารย์มีดังต่อไปนี้
- ความสัมพันธ์อันดีกับอาจารย์ศาสนาของตน
- มีความรู้เรื่องพระธรรมมากกว่าศิษย์
- มีประสบการณ์และสามารถนำวิธีการต่าง ๆ ไปปฏิบัติในการเจริญสมาธิและการใช้ชีวิตประจำวันได้สำเร็จในระดับหนึ่ง
- มีความสามารถในการสร้างแรงบันดาลใจผ่านการสาธิตตัวอย่างผลลัพธ์เชิงประโยชน์จากการปฏิบัติธรรมในชีวิต ซึ่งหมายถึงการมีสิ่งต่อไปนี้
- วินัยจริยธรรมในตัวเอง
- วุฒิภาวะด้านอารมณ์และความมั่นคง โดยดูจากการเป็นอิสระจากปัญหาทางอารมณ์ทั้งหมด
- ความห่วงใยอย่างจริงใจที่จะสร้างประโยชน์แก่ลูกศิษย์เป็นแรงจูงใจหลักในการสอน
- ความอดทนในการสอน
- ไม่หลอกลวง (ไม่แกล้งทำเป็นมีคุณสมบัติที่ตนเองขาด) และไม่เสแสร้ง (ไม่ซ่อนจุดบกพร่องของตนเอง เช่น การขาดความรู้และประสบการณ์)
เราจำเป็นต้องจัดการให้เหมาะสมกับสถานการณ์ตามความเป็นจริง กล่าวคือ อาจารย์ที่อยู่ในเมืองของเรามีคุณสมบัติระดับใด? เรามีเวลาและความมุ่งมั่นที่จะผูกมัดมากแค่ไหน? เป้าหมายทางจิตวิญญาณของเราคืออะไร? (ตามความเป็นจริง ไม่ใช่แค่ในเชิงอุดมคติอย่าง “การสร้างประโยชน์แก่สรรพสิ่งทั้งปวง”) เป็นต้น หากเราตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ที่จะมาเป็นอาจารย์ก่อนผูกมัดตัวเองกับความสัมพันธ์ด้านจิตวิญญาณนี้ เราจะสามารถหลีกเลี่ยงความคิดสุดโต่งในการจัดให้อาจารย์เป็นเหมือนพระเจ้า หรือเป็นเหมือนปีศาจ เมื่อเรามองว่าอาจารย์ศาสนาเป็นพระเจ้า ความไร้เดียงสาของเราก็เปิดโอกาสให้เกิดการใช้ประโยชน์ในทางที่ผิดจากความเชื่อนี้ หากเรามองว่าอาจารย์เป็นเหมือนปีศาจ ความหวาดระแวงย่อมกีดกันไม่ให้เราได้รับประโยชน์
ความแตกต่างระหว่างการเป็นศิษย์ของที่ปรึกษาด้านจิตวิญญาณ และ การเป็นลูกค้าของนักบำบัด
หนึ่งในบ่อเกิดความสับสนที่สำคัญในความสัมพันธ์ระหว่างศิษย์ – อาจารย์ศาสนา คือ ความปรารถนาที่จะให้ที่ปรึกษาด้านจิตวิญญาณเป็นเหมือนนักบำบัด ลองพิจารณาตัวอย่างนี้ดู สมมุติว่าบุคคลหนึ่งปรารถนาอยากได้ความสุขทางอารมณ์และความสัมพันธ์ที่ดีไปตลอดชีวิต การเป็นศิษย์ของที่ปรึกษาทางจิตวิญญาณเพื่อบรรลุเป้าหมายนี้ก็คล้ายกับการเป็นลูกค้าของนักบำบัดอยู่หลายส่วนโดยมีจุดประสงค์เดียวกัน
ทั้งพระพุทธศาสนาและการบำบัด:
- เกิดจากการตระหนักและรับรู้ถึงทุกข์ในชีวิตของเรา และปรารถนาที่จะบรรเทาทุกข์ดังกล่าว
- เกี่ยวข้องกับการทำงานกับบุคคลหนึ่งเพื่อสร้างความตระหนักรู้และเข้าใจถึงปัญหาและสาเหตุของปัญหาเหล่านั้น อันที่จริงแล้วการบำบัดหลายรูปแบบก็สอดคล้องกับพระพุทธศาสนาในลักษณะที่ว่า ความเข้าใจเป็นกุญแจสู่การเปลี่ยนแปลงตนเอง
- น้อมรับกลุ่มความคิดที่เน้นย้ำความเข้าใจเรื่องเหตุของปัญหาอย่างลึกซึ้ง ธรรมเนียมที่เน้นวิธีการที่ปฏิบัติได้จริงเพื่อเอาชนะปัจจัยเหล่านี้ และระบบต่าง ๆ ที่แนะนำการผสมผสานทั้งสองแนวทางอย่างสมดุล
- สนับสนุนการสร้างความสัมพันธ์เชิงอารมณ์แบบสุขภาพดีกับที่ปรึกษาหรือนักบำบัดให้เป็นส่วนสำคัญของกระบวนการพัฒนาตนเอง
- แม้ว่าการบำบัดรูปแบบดั้งเดิมส่วนใหญ่จะหลีกเลี่ยงการใช้แนวทางเชิงจริยธรรมเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและวิธีการคิดของลูกค้า กลุ่มยุคหลังคลาสสิคบางกลุ่มก็สนับสนุนหลักจริยธรรมที่คล้ายกับหลักของพระพุทธศาสนา หลักการดังกล่าวรวมถึงการให้ความยุติธรรมเท่าเทียมกับสมาชิกทั้งหมดในครอบครัวที่ผิดปกติ และการระงับการแสดงออกตามแรงกระตุ้นเชิงโทษ เช่น พฤติกรรมจากความโกรธ
ถึงแม้จะมีความคล้ายคลึงกัน แต่การเป็นศิษย์ของที่ปรึกษาทางพระพุทธศาสนากับการเป็นลูกค้าของนักบำบัดก็มีความแตกต่างกันที่ชัดเจนอย่างน้อยห้าประการดังนี้
(1) ประการแรกคือระดับอารมณ์ที่สร้างความสัมพันธ์ขึ้น ผู้ที่จะมาเป็นลูกค้ามักเข้าหานักบำบัดในยามที่มีอารมณ์ปั่นป่วน พวกเขาอาจมีอาการทางจิตเภทและต้องการยาเพื่อรักษา ในทางกลับกัน ผู้ที่จะมาเป็นศิษย์นั้นไม่ได้สร้างสัมพันธ์กับที่ปรึกษาเป็นขั้นแรกของเส้นทางสายจิตวิญญาณ ก่อนหน้านี้พวกเขาได้ศึกษาหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าและเริ่มต้นปฏิบัติด้วยตนเองมาแล้ว เพราะฉะนั้นพวกเขาจึงได้บรรลุวุฒิภาวะทางอารมณ์และความมั่นคงในระดับที่เพียงพอแล้ว จึงทำให้ความสัมพันธ์ในรูปแบบศิษย์-ที่ปรึกษาที่พวกเขาสร้างขึ้นนั้นก่อให้เกิดประโยชน์ในเชิงพระพุทธศาสนา กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ศิษย์ทางพระพุทธศาสนานั้นจำเป็นต้องเป็นอิสระจากทัศนคติและพฤติกรรมที่ไม่เสถียรพอสมควรแล้ว
(2) ประการที่สองคือปฏิสัมพันธ์ที่คาดหวังจากความสัมพันธ์นี้ ผู้ที่จะมาเป็นลูกค้าสนใจให้ผู้อื่นฟังตนเองเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นพวกเขาจึงคาดหวังให้นักบำบัดทุ่มเทความสนใจให้ตนและปัญหาส่วนตัวของตน แม้จะอยู่ในบริบทของการบำบัดกลุ่มก็ตาม ในทางกลับกันศิษย์มักไม่แบ่งปันปัญหาส่วนตัวกับที่ปรึกษาและไม่คาดหวังหรือเรียกร้องความสนใจแก่ตนเอง ถึงแม้ว่าเขาจะขอคำปรึกษาส่วนตัวจากที่ปรึกษา พวกเขาก็ไม่ได้ทำเป็นประจำ จุดมุ่งเน้นของความสัมพันธ์นี้อยู่ที่การฟังหลักคำสอน โดยหลักแล้วศิษย์ทางพระพุทธศาสนาเรียนรู้วิธีการจากที่ปรึกษาเพื่อก้าวข้ามปัญหาทั่วไปที่ผู้คนล้วนเผชิญหน้า จากนั้นพวกเขาถือว่าการนำวิธีการเหล่านี้ไปใช้กับสถานการณ์เฉพาะนั้น ๆ เป็นความรับผิดชอบส่วนตน
(3) ประการที่สามคือผลลัพธ์ที่คาดหวังจากความสัมพันธ์ดังกล่าว การบำบัดมีเป้าหมายสำหรับการเรียนรู้ที่จะยอมรับและใช้ชีวิตอยู่กับปัญหาในชีวิตเรา หรือเพื่อบรรเทาปัญหาให้พอทนได้มากขึ้น หากเราจะเข้าหาที่ปรึกษาจิตวิญญาณทางพระพุทธศาสนาโดยมีเป้าหมายสำหรับสุขภาวะทางอารมณ์ในชีวิตนี้ เราอาจคาดหวังที่จะบรรเทาปัญหาของเราด้วย แม้ว่าชีวิตจะยากลำบากซึ่งเป็นข้อเท็จจริงประการแรกของชีวิต (อริยสัจ) ตามที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ เราย่อมสามารถทำให้ชีวิตลำบากน้อยลงได้
กระนั้นแล้ว การทำให้ชีวิตเราลำบากน้อยลงนั้นก็เป็นเพียงแค่ขั้นตอนเบื้องต้นในการเริ่มเดินทางบนเส้นทางสายพระพุทธศาสนาแบบดั้งเดิม อย่างน้อยที่สุดศิษย์ของที่ปรึกษาทางจิตวิญญาณมักมีใจมุ่งไปสู่เป้าหมายที่ยิ่งใหญ่กว่าอย่างการเกิดใหม่ที่เอื้ออำนวยมากขึ้น การหลุดพ้นและการตรัสรู้ ยิ่งไปกว่านั้นศิษย์ทางพระพุทธศาสนาจะต้องมีความเข้าใจเชิงปัญญาเกี่ยวกับการเกิดใหม่ตามที่อธิบายไว้ในพระพุทธศาสนา และอย่างน้อยก็ต้องยอมรับการดำรงอยู่ของเรื่องนี้ได้ในเบื้องต้น ลูกค้าที่ไปบำบัดไม่มีความจำเป็นที่จะต้องคิดถึงเรื่องการเกิดใหม่ หรือเป้าหมายที่อยู่ไกลเกินจากการทำสถานการณ์ปัจจุบันให้ดีขึ้น
(4) ประการที่สี่คือระดับความมุ่งมั่นในการเปลี่ยนแปลงตนเอง ลูกค้าของนักบำบัดมักจ่ายค่าบริการรายชั่วโมง แต่ไม่ได้ผูกมัดตัวเองกับการเปลี่ยนแปลงทัศนคติหรือพฤติกรรมในระยะยาว ในทางกลับกันศิษย์ทางพระพุทธศาสนาอาจจะจ่ายหรือไม่จ่ายค่าสอนก็ได้ กระนั้นแล้วพวกเขาย่อมตั้งใจเปลี่ยนแปลงทิศทางในชีวิต ในการเลือกเดินไปในทิศทางที่ปลอดภัย (ที่พึ่งพา) ศิษย์มุ่งมั่นปฏิบัติตามวิถีการพัฒนาตนเองที่พระพุทธเจ้าได้ทรงปฏิบัติสำเร็จแล้วและทรงนำมาสอน ซึ่งเป็นเส้นทางที่ชุมชนที่มีความตระหนักรู้ทางจิตวิญญาณขั้นสูงมุ่งมั่นที่จะเดินตาม
นอกจากนี้ศิษย์ทางพระพุทธศาสนายังผูกมัดตัวเองกับวิถีการกระทำ การพูด และการคิดที่มีจริยธรรมและก่อให้เกิดประโยชน์ในชีวิต พวกเขาพยายามอย่างสุดกำลังที่จะหลีกเลี่ยงรูปแบบที่เป็นโทษและข้องเกี่ยวกับรูปแบบที่เป็นประโยชน์แทน เมื่อศิษย์ปรารถนาอย่างจริงใจที่จะหลุดพ้นจากปัญหาการเวียนว่ายตายเกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่าที่ควบคุมไม่ได้ พวกเขาจึงทำการผูกมัดตัวเองอย่างแรงกล้ามากขึ้นกว่าเดิมโดยทำการปฏิญาณตนแบบฆราวาสหรือแบบสมณเพศ ศิษย์ที่อยู่ในระดับการพัฒนาตนเองนั้นปฏิญาณว่าในชีวิตนี้ตนจะหลีกเลี่ยงจากรูปแบบการกระทำที่เป็นโทษโดยตัวของมันเอง หรือการกระทำที่พระพุทธเจ้าทรงเตือนให้ผู้คนหลีกเลี่ยงเพื่อจุดประสงค์บางประการอยู่เสมอ ตัวอย่างสำหรับการกระทำอย่างหลังคือ การที่บุคคลในสมณเพศละทิ้งเสื้อผ้าแบบฆราวาสและหันมาสวมจีวรแทนเพื่อลดการยึดติด แม้แต่ก่อนที่จะเกิดความปรารถนาสำหรับการหลุดพ้นอย่างสมบูรณ์ ศิษย์ก็มักปฏิญาณตนแบบฆราวาสหรือแบบสมณเพศแล้ว
ในทางกลับกันลูกค้าที่ไปเข้ารับการบำบัดนั้นตกลงที่จะปฏิบัติตามกฎบางข้อในขั้นตอนซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาการบำบัด เช่น การจำกัดเวลานัดหมายให้อยู่ภายในห้าสิบนาที กระนั้นแล้วกฎเหล่านี้ก็มีผลระหว่างการรักษาเท่านั้น มันไม่ได้มีผลในบริบทภายนอกการบำบัดเลย มันไม่ได้เกี่ยวข้องกับการละเว้นพฤติกรรมที่เป็นโทษโดยธรรมชาติและไม่ใช่สำหรับชีวิตระยะยาว
(5) ประการที่ห้าคือทัศนคติต่ออาจารย์หรือนักบำบัด ศิษย์มักมองว่าที่ปรึกษาทางจิตวิญญาณเป็นตัวอย่างการใช้ชีวิตที่พวกเขามุ่งมั่นจะบรรลุให้ได้ พวกเขามองอาจารย์ในลักษณะนี้ผ่านการตระหนักรู้ถึงคุณสมบัติอันดีงามของที่ปรึกษา และพวกเขารักษาและเสริมพลังให้มุมมองดังกล่าวนี้ตลอดเส้นทางตามลำดับขั้นไปจนถึงการตรัสรู้ ในทางตรงกันข้าม ลูกค้าอาจมองว่านักบำบัดเป็นบุคคลตัวอย่างสำหรับสุขภาพทางอารมณ์ แต่พวกเขาไม่ต้องใช้ความตระหนักรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับคุณสมบัติที่ดีงามของนักบำบัด การเป็นเหมือนกับนักบำบัดไม่ใช่จุดประสงค์ของความสัมพันธ์นี้ ในระหว่างการรักษา นักบำบัดจะนำทางลูกค้าให้ก้าวเดินไปไกลกว่าการสร้างภาพอุดมคติ
การใช้คำว่า “ศิษย์” อย่างไม่เหมาะสม
บางครั้งผู้คนก็เรียกตัวเองว่าเป็นศิษย์ของที่ปรึกษาทางจิตวิญญาณถึงแม้ว่าในความเป็นจริงพวกเขา อาจารย์ หรืออาจจะทั้งสองฝ่ายยังขาดคุณสมบัติที่สามารถเติมเต็มความหมายที่แท้จริงของคำนี้ได้ ความไร้เดียงสามักนำทั้งคู่ไปสู่ความคาดหวังที่ไม่ได้ตั้งอยู่บนความเป็นจริง ความเข้าใจผิด การเสียความรู้สึก หรือแม้กระทั่งการใช้ประโยชน์ในทางที่ผิด การกลายเป็นผู้ถูกกระทำในบริบทนี้ หมายถึง การโดนเอาเปรียบทางเพศ ทางอารมณ์ ทางการเงิน หรือการโดนบงการโดยผู้อื่นที่ต้องการแสดงอำนาจ เรามาดูสามประเภทหลักของศิษย์จอมปลอมที่พบได้ในโลกตะวันตก ผู้มักอ่อนไหวต่อปัญหากับอาจารย์ศาสนาเป็นพิเศษ
(1) บางคนมายังศูนย์ธรรมะเพื่อเติมเต็มภาพลวงตาของตน พวกเขาได้อ่านหรือได้ยินเกี่ยวกับ “โลกตะวันออกแสนเร้นลับ” หรือเกี่ยวกับคุรุชื่อดังต่าง ๆ และปรารถนาที่จะก้าวข้ามชีวิตที่ดูไม่น่าตื่นเต้นของตนโดยการเข้าร่วมประสบการณ์แปลกประหลาดหรือเร้นลับ พวกเขาพบกับอาจารย์ศาสนาและมักประกาศตนเป็นศิษย์ในทันที โดยเฉพาะหากอาจารย์เป็นชาวเอเชีย นุ่งห่มจีวร หรือทั้งสองอย่าง พวกเขามีแนวโน้มที่จะทำพฤติกรรมแบบเดียวกันนี้กับอาจารย์ชาวตะวันตกที่มียศหรือมีชื่อเรียกเป็นภาษาเอเชีย ไม่ว่าอาจารย์ผู้นั้นจะนุ่งห่มจีวรหรือไม่
ภารกิจไล่ล่าสิ่งลี้ลับนี้มักบ่อนทำลายความสัมพันธ์ที่นักแสวงเหล่านั้นสร้างขึ้นกับอาจารย์ศาสนาของตน ถึงแม้ว่าพวกเขาจะประกาศตนว่าเป็นศิษย์ของที่ปรึกษาที่มีคุณสมบัติเพรียบพร้อม พวกเขาก็มักทิ้งอาจารย์เหล่านี้เมื่อตระหนักได้ว่าไม่มีสิ่งเหนือธรรมชาติใด ๆ เกิดขึ้นเลย ยกเว้นเสียแต่ในจินตนาการของตนเอง ยิ่งไปกว่านั้นทัศนคติที่ไม่สมจริงและการคาดหวังสูงของ “ลูกศิษย์เร่งด่วน” เหล่านี้มักบดบังปัญญาในการวิเคราะห์ของพวกเขา ผู้คนเหล่านี้มักเปิดรับการเสแสร้งจากอาจารย์กำมะลอยอดนักแสดงเก่งได้ง่าย ๆ
(2) ผู้อื่นอาจมายังศูนย์พร้อมความใจร้อนเพื่อขอความช่วยเหลือในการก้าวข้ามความเจ็บปวดทางอารมณ์และทางกาย พวกเขาอาจลองใช้การบำบัดหลายรูปแบบแล้วแต่ก็ไม่ได้ผล ทีนี้พวกเขาจึงแสวงหาปาฏิหาริย์ทางการรักษาจากนักเวทมนต์/ผู้เยียวยา พวกเขาประกาศตนว่าจะเป็นศิษย์ของผู้ใดก็ตามที่มอบยาวิเศษให้แก่ตน บอกคาถาพิเศษ บอกมนต์ให้ท่อง หรือบอกวิธีปฏิบัติแบบเข้มข้นซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาของพวกเขาได้โดยอัตโนมัติ เช่นว่าให้ทำการกราบสักการะหนึ่งแสนครั้ง พวกเขามักมองหาอาจารย์ประเภทเดียวกันกับผู้คนที่แสวงหาสิ่งเร้นลับ ความคิดแบบ "ซ่อมปัญหา" ของผู้แสวงหาปาฏิหาริย์มักนำไปสู่ความผิดหวังและสิ้นหวัง เมื่อการทำตามคำแนะนำของแม้แต่ที่ปรึกษาที่มีคุณสมบัติก็ไม่ส่งผลให้เกิดการรักษาที่น่าอัศจรรย์ ความคิดแนว “ซ่อมปัญหา” ยังเป็นสิ่งล่อตาล่าใจนักต้มตุ๋นทางศาสนาอีกด้วย
(3) ถึงอย่างนั้นแล้วก็ยังมีผู้อื่นที่มายังศูนย์ปฏิบัติธรรมของกลุ่มลัทธิต่าง ๆ เพื่อรับการเสริมพลังในเชิงอัตถิภาวนิยม โดยเฉพาะกลุ่มคนหนุ่มสาวว่างงานที่หมดศรัทธา ผู้หลงเพ้อความยิ่งใหญ่ทรงเสน่ห์มักดึงดูดกลุ่มคนเหล่านี้โดยใช้วิธีการแบบ “ฟาสซิสต์ทางศาสนา” (spiritual fascist) พวกเขาสัญญากับศิษย์ผู้ไม่รู้เรื่องเหล่านี้ว่ายิ่งพวกเขาสวามิภักดิ์เข้ากับลัทธิอย่างเต็มที่ พวกเขาก็จะยิ่งได้รับพลังมากขึ้น จากนั้นพวกเขาก็ล่อลวงศิษย์ต่อไปด้วยการเล่าถึงผู้ปกป้องทรงพลังที่จะกำราบศัตรูให้พวกเขา โดยเฉพาะผู้ที่ศรัทธาในนิกายพระพุทธศาสนาที่ต่ำกว่าและมีมลทินมากกว่า ด้วยการใช้เรื่องราวแสนยิ่งใหญ่เกี่ยวกับพลังเหนือมนุษย์ของผู้ก่อตั้งลัทธิของตน พวกเขาพยายามสานฝันให้ศิษย์เชื่อว่าผู้นำลัทธินี้ทรงพลังจริง ๆ และผู้นำผู้นี้ล่ะที่จะนำทางพวกเขาไปสู่การบรรลุพลังพิเศษทางจิตวิญญาณ เพื่อตอบสนองต่อคำมั่นสัญญาเหล่านี้ ผู้คนจึงรีบประกาศตนว่าเป็นศิษย์ทันทีและปฏิบัติตามขั้นตอนหรือคำสั่งใด ๆ ที่อาจารย์ผู้มีอำนาจมอบให้ ซึ่งมักนำไปสู่หายนะ
สรุป
โดยสรุปแล้ว ไม่ใช่ทุกคนที่สอนที่ศูนย์พระพุทธศาสนาจะเป็นที่ปรึกษาทางจิตวิญญาณที่แท้จริง ในลักษณะเดียวกันนี้คนที่ศึกษาในศูนย์ก็ไม่ได้เป็นศิษย์ทางจิตวิญญาณที่แท้จริงทุกคนเช่นกัน เราจำเป็นต้องใช้คำว่า ที่ปรึกษา และ ศิษย์ ให้ถูกต้องแม่นยำ ซึ่งการจะทำเช่นนี้ได้ต้องอาศัยความสัตย์จริงทางด้านจิตวิญญาณและขจัดการเสแสร้งออก