พระพุทธศาสนานิกายเถรวาทในทวีปเอเชียใต้และตะวันออกเฉียงใต้
อินเดีย
พระพุทธศานาเริ่มเสื่อมอิทธิพลในประเทศอินเดียในช่วงศตวรรษที่ 7 และหายไปหลังจากการล่มสลายของจักรวรรดิปาละในช่วงศตวรรษที่ 12 ยกเว้นทางตอนเหนือของหิมาลัยที่ยังคงมีการนับถือพระพุทธศาสนาอยู่ ในช่วงปลายศัตวรรษที่ 19 พระพุทธศาสนาในประเทศอินเดียได้รับการฟื้นฟูขึ้นอีกครั้ง เมื่อผู้นำพุทธศาสนาชาวศรีลังกา นามว่า อนาคาริก ธรรมปาละ ผู้ก่อตั้งสมาคมมหาโพธิ์ ด้วยความช่วยเหลือจากบันฑิตชาวสหราชอาณาจักร จุดประสงค์หลักของพวกเขาคือ การฟื้นฟูสถานที่แสวงบุญทางพุทธศานาในอินเดีย และพวกเขาก็ประสบความสำเร็จในการสร้างวัดตามพุทธสถานต่าง ๆ ซึ่งล้วนแล้วแต่มีพระสงฆ์พำนักอยู่ทั้งสิ้น
ในทศวรรษ 1950 เอ็มเบ็ดการ์ได้เริ่มขบวนการพุทธใหม่ (neo-Buddhist movement) ในกลุ่มวรรณะที่จับต้องไม่ได้ ทำให้ผู้คนหลายร้อยพันคนหันมานับถือศาสนาพุทธ เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาด้านชนชั้นวรรณะ ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา พุทธศาสนาได้รับความสนใจมากขึ้นในหมู่ชนชั้นกลางในสังคมเมือง ในปัจจุบันประชากรอินเดียทั้งหมดนับถือพระพุทธศาสนาประมาณ 2%
ศรีลังกา
ประเทศศรีลังกาเป็นศุนย์กลางการเรียนพุทธศาสนาตั้งแต่ยุคศตวรรษที่ 3 ของยุคก่อนสากลสมัย เมื่อพระมหินทเถระ พระโอรสในพระเจ้าอโศกมหาราช นำพระพุทธศาสนาเข้ามาเผยแพร่ในประเทศ ประเทศศรีลังกามีประวัติความเป็นมาของพุทธศาสนาที่ยาวนานที่สุด มีการเสื่อมคลายเป็นเวลานานในช่วงสงครามและตั้งแต่ศตตวรรษที่ 16 เป็นต้นไป เมื่อเกาะศรีลังกาตกเป็นอาณานิคมและมิชชันนารีชาวยุโรปชักนำให้ประชาชนเข้ารีตเป็นคริสต์ศาสนิกชน
พระพุทธศานาได้รับการฟื้นฟูครั้งใหญ่ในช่วงปีศตวรรษที่ 19 ด้วยความช่วยเหลือจากนักวิชาการและนักเทวปรัชญาชาวสหราชอาณาจักร ดังนั้นในบางครั้งพุทธศาสนาในศรีลังกาจึงได้รับการกล่าวว่าเป็น “ศาสนาพุทธแบบโปรเตสแตนท์” โดยเน้นเรื่องการศึกษาพระธรรมและกิจกรรมอภิบาลของสงฆ์และการฝึกสมาธิสำหรับอุบาสก อุบาสิกา ประเทศศรีลังกาได้รับเอกราชในปี 1948 และตั้งแต่นั้นมาพระพุทธศาสนาและวัฒนธรรมชาวพุทธก็ได้รับการฟื้นฟูและใส่ใจมากขึ้นเรื่อย ๆ
ในปัจจุบัน 70% ของประชากรศรีลังกานับถือศาสนาพุทธ โดยส่วนใหญ่ปฏิบัติตามธรรมเนียมของนิกายเถรวาท หลังจากสงครามกลางเมืองที่ยาวนานเป็นระยะเวลา 30 ปี ศรีลังกามีความเป็นชาตินิยมทางพุทธศาสนามากขึ้น โดยมีองค์กรอย่าง Bodu Bala Sena (กองกำลังชาวพุทธ) จัดการประท้วงต่อต้านชาวมุสลิมและโจมตีผู้นำทางศาสนาพุทธที่ปานกลาง
เมียนมาร์ (พม่า)
จากการค้นคว้าทางประวัติศาสตร์เผยว่า พระพุทธศาสนาในประเทศพม่านั้นมีประวัติความเป็นมายาวนานกว่า 2,000 ปีแล้ว โดยมี 85% ของประชากรในปัจจุบันนับถือศาสนาพุทธ การปฏิบัติในหมู่สงฆ์นั้นให้ความสำคัญกับการนั่งสมาธิและการศึกษาพระธรรมอย่างสมดุล ส่วนอุบาสก อุบาสิกาก็มีศรัทธาอันแรงกล้าในพุทธศานาเสมอมา ชาวพม่าที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคนหนึ่งคือ อาจารย์สัตยา นารายัน โกเอ็นก้า ผู้สอนวิธีการปฏิบัติวิปัสสนา
เมื่อพม่าได้รับเอกราชจากสหราชอาณาจักรในปี 1948 ทั้งรัฐบาลประชาชนและทหารได้ทำการสนับสนุนพุทธศาสนานิกายเถรวาท ภายใต้การปกครองของทหาร พุทธศาสนาได้รับการควบคุมอย่างเคร่งครัด และสถานปฏิบัติธรรมที่มีความเห็นต่างจากรัฐบาลมักโดนทำลายอยู่เป็นนิจ เหล่าพระสงฆ์นำขบวนประท้วงการปกครองของทหารอยู่หลายครั้ง เช่น การก่อการกำเริบ 8888 และการปฏิวัติผ้ากาสาวพัสตร์ในปี 2007
ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา มีกลุ่มชาตินิยมหลายกลุ่มเกิดขึ้นและพวกเขาพยายามฟื้นฟูพระพุทธศาสนาเพื่อต่อต้านศาสนาอิสลาม อะชีน วีระตู ผู้นำพระสงฆ์ของกลุ่ม 969 ตั้งฉายาให้ตัวเองว่า “บินลาเด็นแห่งพม่า” และเสนอการต่อต้านร้านค้าของชาวมุสลิม การกล่าวอ้างถึง “การปกป้องพระพุทธศาสนา” นำไปสู่เหตุการณ์รุนแรงกับมัสยิดและบ้านของชาวมุสลิม ซึ่งชาวมุสลิมก็ตอบโต้ ทำให้เกิดการปะทะกันที่รุนแรงยิ่งขึ้น
บังกลาเทศ
ประเทศบังกลาเทศเป็นศูนย์กลางความศรัทธาจนกระทั่งช่วงศตวรรษที่ 11 ในปัจจุบันมีประชากรน้อยกว่า 1% ที่นับถือศาสนาพุทธ และกระจุกอยู่ในบริเวณเนินเขาจิตตะกอง ใกล้กับประเทศพม่า
มีวัดทางพุทธอยู่สี่แห่งในเมืองธากา ซึ่งเป็นเมืองหลวงของประเทศ และมีวัดอีกหลายแห่งในหมู่บ้านทางตะวันออก ขาดการติดต่อกับพม่า อย่างไรก็ตามการปฏิบัติและความเข้าใจในพระพุทธศาสนาของประเทศนั้นค่อนข้างต่ำ
ประเทศไทย
พุทธศาสนาได้เผยแพร่เข้ามาในอาณาจักรเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตั้งแต่ช่วงศตวรรษที่ 5 ของยุคก่อนสากลสมัย พุทธนิกายเถรวาทในไทยได้รับอิทธิพลจากศาสนาพื้นบ้าน ศาสนาฮินดู และพุทธนิกายมหายาน ต่างจากประเทศศรีลังกาและพม่า พระพุทธศาสนาในไทยไม่เคยมีธรรมเนียมการบวชให้ผู้หญิง ในปัจจุบันประชากร 95% นับถือศาสนาพุทธ
คณะสงฆ์ในประเทศไทยถอดแบบมาจากสถาบันกษัตริย์ของไทย จึงมีสมเด็จพระสังฆราชและมหาเถรสมาคมเป็นผู้มีหน้าที่รักษาความบริสุทธิ์ของธรรมเนียมปฏิบัติ นอกจากนี้ยังมีคณะสงฆ์ที่อาศัยอยู่ในป่าและหมู่บ้านต่าง ๆ ด้วย ซึ่งเป็นที่เลื่อมใสและเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจของชุมชนชาวพุทธทั้งหลาย
พระภิกษุสงฆ์ที่ปฏิบัติธรรมในป่าจะอาศัยอยู่ในป่าปลีกวิเวก ฝึกสมาธิอย่างจริงจัง และปฏิบัติตาม
ปาติโมกข์ของสงค์อย่างเคร่งครัด พระสงฆ์ตามหมู่บ้านมักจดจำบทสวดและปฏิบัติพิธีต่าง ๆ ให้ผู้คนในพื้นที่ นอกจากนี้พระสงฆ์เหล่านี้จึงมักทำพิธีปลุกเสกเครื่องลางของขลังสำหรับผู้มีจิตศรัทธาด้วย ซึ่งเกิดจากความเชื่อเรื่องวิญญาณของคนไทย ประเทศไทยมีมหาวิทยาลัยสำหรับสงฆ์ ซึ่งเน้นการศึกษาการแปลคัมภีร์พุทธศาสนาจากภาษาบาลีดั้งเดิมเป็นภาษาไทย
ลาว
พระพุทธศาสนาเดินทางมาถึงลาวครั้งแรกในศตวรรษที่ 7 ของยุคสากลสมัย และในปัจจุบัน 90% ของประชากรนับถือศาสนาพุทธ พร้อมกับความเชื่อเรื่องผีสางเทวดา ในช่วงการปกครองแบบคอมมิวนิสต์ ทางการไม่ได้ระงับสิทธิการนับถือศาสนา แต่ใช้ความเชื่อทางสงฆ์เป็นเครื่องมือในการต่อยอดทางการเมืองของตน เมื่อเวลาผ่านไปพระพุทธศาสนาก็ถูกปราบปรามเป็นอย่างมาก ตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1990 พระพุทธศาสนาได้รับการบูรณะฟื้นฟูเป็นอย่างมาก ทำให้ตอนนี้ชาวลาวมีจิตศรัทธาในพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า และผู้ชายส่วนใหญ่จะเข้ารับการบวช ถึงแม้จะเป็นระยะเวลาสั้น ๆ ก็ตาม ครอบครัวส่วนใหญ่ตักบาตรและไปวัดในวันเดือนเพ็ญอยู่เสมอ
กัมพูชา
พระพุทธศาสนานิกายเถรวาทเป็นศาสนาประจำชาติมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 13 โดยมีประชากร 95% เป็นพุทธศาสนิกชนในปัจจุบัน ในช่วงทศวรรษที่ 1970 กลุ่มเขมรแดงพยายามทำลายพุทธศาสนาและก็เกือบทำได้สำเร็จ พอถึงปี 1979 พระสงฆ์เกือบทุกรูปโดนฆ่าตาย หรือโดนขับไล่ออกจากประเทศ ส่วนวัดวาอารามและหอสมุดทุกแห่งก็โดนทำลายเช่นกัน
หลังจากการคืนอำนาจให้เจ้าชายสีหนุได้ขึ้นเป็นกษัตริย์ ข้อจำกัดต่าง ๆ ก็ค่อย ๆ ผ่อนปรนลง และความสนใจในพระพุทธศาสนาก็ฟื้นตัวขึ้น นอกจากนี้ชาวกัมพูชายังมีความเชื่อเรื่องการพยากรณ์โชคชะตา โหราศาสตร์ และโลกแห่งวิญญาณเป็นอย่างมาก ซึ่งพระสงฆ์มักทำหน้าที่เป็นผู้รักษาโรค และเข้าร่วมพิธีหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่การตั้งชื่อให้เด็ก ไปจนถึงงานแต่งงานและงานศพ
เวียดนาม
พระพุทธศาสนาได้เผยแพร่เข้ามาในเวียดนามเมื่อ 2,000 ปีก่อน ตอนแรกมาจากประเทศอินเดีย และจากนั้นก็มาจากประเทศจีนเป็นส่วนใหญ่ อย่างไรก็ตามพระพุทธศาสนาเริ่มไม่เป็นที่นิยมในหมู่ชนชั้นปกครองในศตวรรษที่ 15 พุทธศาสนาได้รับการฟื้นฟูอีกครั้งในต้นศตวรรษที่ 20 แต่ในช่วงการปกครองแบบสาธารณรัฐ นโยบายสนับสนุนนิกายแคทธอลิคก็เป็นปรปักษ์ต่อพุทธศาสนิกชน ในปัจจุบันมีประชากรเพียง 16% ที่นับถือศาสนาพุทธ แต่ศาสนาพุทธก็ยังคงถือเป็นศาสนาที่ใหญ่ที่สุดในประเทศอยู่ดี
ตอนนี้รัฐบาลมีการผ่อนคลายเกี่ยวกับศาสนาพุทธมากขึ้น แต่ก็ยังไม่อนุญาตให้วัดทำงานเป็นเอกเทศจากรัฐ
อินโดนีเซียและมาเลเซีย
พระพุทธศาสนาเผยแพร่มาถึงบริเวณดังกล่าวประมาณช่วงศตวรรษที่ 2 ของยุคสากลสมัย โดยมาทางเส้นทางการซื้อขายกับชาวอินเดีย ตามประวัติความเป็นมาส่วนใหญ่ พระพุทธศาสนาได้รับการปฏิบัติเคียงคู่ไปกับศาสนาฮินดูจนถึงศัตวรรษที่ 15 เมื่ออาณาจักรพุทธ-ฮินดูสุดท้ายนามว่า มัชปาหิต ล่มสลาย พอถึงต้นปีศตวรรษที่ 17 ศาสนาอิสลามก็เข้าแทนที่ศาสนาทั้งสองนี้อย่างสมบูรณ์
จากนโยบายปัญศีลของรัฐบาลอินโดนีเซีย ศาสนาที่เป็นทางการจำเป็นต้องแสดงความเชื่อในพระเจ้า ศาสนาพุทธไม่ได้มีความเชื่อในพระเจ้าองค์ใดองค์หนึ่ง แต่ก็ได้รับการยอมรับว่าเป็นศาสนาทางการ เพราะความเชื่อใน Adibuddha หรือ “พระพุทธเจ้าองค์แรก” ตามที่มีการกล่าวถึงในกาลจักรตันตระ ซึ่งเฟื่องฟูในประเทศอินเดียเมื่อพันปีก่อน Adibuddha เป็นผู้รู้แจ้งที่สร้างทุกสรรพสิ่ง อยู่เหนือกาลเวลาและข้อจำกัดใด ๆ ถึงแม้ว่าผู้นี้จะถูกกล่าวถึงในฐานะบุคคลเชิงสัญลักษณ์ แต่ก็ไม่ใช่สิ่งมีชีวิตที่ดำรงอยู่ Adibuddha สามารถพบได้ทุกสรรพสิ่งในฐานะแสงสว่างแห่งธรรมชาติของจิตใจ ในปัจจุบันศาสนาพุทธได้รับการยอมรับให้อยู่ท่ามกลางศาสนาอื่น ๆ อย่างศาสนาอิสลาม ฮินดู ลัทธิขงจื๊อ และศาสนาคริสต์นิกายแคทอลิคและโปรเตสแตนท์
พระสงฆ์ชาวศรีลังกาได้พยายามฟื้นฟูพระพุทธศาสนานิกายเถรวาทในบาหลีและส่วนอื่น ๆ ของอินโดนีเซีย แต่ก็กระทำได้ในวงที่แคบมาก ผู้ที่ให้ความสนใจกับศาสนาพุทธในบาหลีเป็นผู้ปฏิบัติตามหลักบาหลีดั้งเดิมผสมกับศาสนาฮินดู ศาสนาพุทธ และการนับถือผีสางเทวดาแบบพื้นบ้าน ส่วนบริเวณอื่นของอินโดนีเซีย พุทธศาสนิกชนนับเป็น 5% ของประชากร ซึ่งมักเป็นชาวอินโดนีเซียที่อยู่ในชุมชนชาวจีน นอกจากนี้ยังมีชาวอินโดนีเซียกลุ่มเล็กมากที่นับถือพุทธศาสนานิกายผสมผสานหลักปฏิบัติของพุทธแบบเถรวาท จีน และทิเบต
20% ของประชากรมาเลเซียนับถือพุทธศาสนา ซึ่งกลุ่มนี้มักประกอบไปด้วยชุมชนเชื้อสายจีน เมื่อครึ่งศตวรรษที่แล้วความสนใจในพระพุทธศาสนาเริ่มเสื่อมคลายลง ในปี 1961 จึงมีการก่อตั้ง Buddhist Missionary Society ขึ้นโดยมีจุดประสงค์เพื่อการเผยแพร่พุทธศาสนา ในช่วงสิบปีที่ผ่านมามีการนำหลักของพุทธศาสนาไปปฏิบัติมากขึ้น รวมถึงในกลุ่มเยาวชนด้วย ตอนนี้มีศูนย์นิกายเถรวาท มหายาน และวชิรยานมากมายหลายแห่ง ซึ่งได้รับทุนและการสนับสนุนเป็นอย่างดี
พระพุทธศาสนานิกายมหายานในทวีปเอเชียตะวันออก
สาธารณรัฐประชาชนจีน
พระพุทธศาสนามีบทบาทสำคัญในประวัติศาสตร์จีนมานานกว่า 2,000 ปี และพุทธศาสนาแบบจีนก็มีบทบาทในการเผยแพร่พุทธศาสนาในทวีปเอเชียตะวันออกอย่างต่อเนื่องเช่นกัน ราชวงศ์ถังตอนต้น (618–907 ของสากลสมัย) ถือเป็นยุคทองแห่งพระพุทธศาสนา รวมทั้งมีความเฟื่องฟูทางด้านศิลปะและวรรณกรรม
ในช่วงการปฏิวัติวัฒนธรรมยุคทศวรรษที่ 1960 และ 70 วัดวาอารามของพระสงฆ์จีนส่วนใหญ่ถูกทำลาย พระ แม่ชี และอาจารย์สอนศาสนาที่ได้รับการฝึกฝนมาอย่างดีถูกประหารชีวิต หรือไม่ก็ถูกคุมขัง ในทิเบตและมองโกเลียด้านในมีการกดขี่ทางพุทธศาสนาหนักกว่านี้เสียอีก เมื่อจีนได้รับการปฏิรูปและเปิดประเทศมากขึ้น ความสนใจในศาสนาแบบดั้งเดิมก็กลับมาใหม่อีกครั้ง มีการสร้างวัดใหม่และบูรณะวัดเก่า ผู้คนส่วนใหญ่ที่เข้าร่วมกับวัดวาอารามเหล่านี้มักมาจากครอบครัวยากจนและมีการศึกษาต่ำ ซึ่งอาศัยอยู่ตามชนบท วัดหลายแห่งมีไว้เพื่อการท่องเที่ยวเท่านั้น โดยมีพระทำหน้าที่เป็นผู้เก็บตั๋วและดูแลวัด
ในปัจจุบันมีชาวจีนจำนวนมากหันมาสนใจพระพุทธศาสนามากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยเน้นพุทธศาสนาแบบทิเบต จำนวนพุทธศาสนิกชนในปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 20% และวัดส่วนใหญ่ในจีนก็มีผู้เข้าเยี่ยมชมอย่างไม่ขาดสาย เมื่อหลายคนเริ่มมีฐานะและชีวิตที่ยุ่งเหยิงมากขึ้น พวกเขาก็ย่อมหาทางออกด้วยการหันเข้าหาพุทธศาสนาแบบจีนและทิเบต พุทธศาสนาแบบทิเบตนั้นเป็นที่สนใจสำหรับชาวจีนฮั่นเป็นพิเศษ ซึ่งเห็นได้จากจำนวนลามะที่สอนเป็นภาษาจีนที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
ไต้หวัน ฮ่องกง และชุมชนชาวจีนในต่างประเทศ
ในประเทศไต้หวันและฮ่องกงสามารถเห็นประเพณีของศาสนาพุทธนิกายมหายานแบบจีนได้ชัดเจนที่สุดในทวีปเอเชียตะวันออก ไต้หวันมีชุมชนคณะสงฆ์และแม่ชีที่แน่นแฟ้น ซึ่งได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากผู้มีจิตศรัทธาทั่วไป นอกจากนี้ยังมีมหาวิทยาลัยสำหรับพุทธศาสนาและโปรแกรมทางพุทธศาสนาสำหรับสังคมสงเคราะห์ด้วย ฮ่องกงก็มีชุมชมคณะสงฆ์ที่เฟื่องฟูเช่นกัน สำหรับชุมชนพุทธศาสนิกชนชาวจีนในต่างประเทศอย่างในมาเลเซีย สิงค์โปร์ อินโดนีเซีย ไทย และฟิลิปปินส์นั้น จะเน้นเรื่องประเพณีไหว้บรรพบุรุษ และประเพณีเพื่อความเป็นสิริมงคลทางการเงินและสุขภาพของผู้ไหว้ นอกจากนี้ยังมีร่างทรงที่สามารถสื่อสารขณะอยู่ในภวังค์ ซึ่งมีกลุ่มผู้มีจิตศรัทธาไปปรึกษาปัญหาด้านสุขภาพและจิตใจของตนด้วย นักธุรกิจยักษ์ใหญ่ของจีนที่เป็นผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ “สี่เสือแห่งเอเชีย” มักบริจาคเงินจำนวนมากให้พระสงฆ์ทำพิธีเสริมความสำเร็จให้กับงานด้านการเงินของตน ในไต้หวัน ฮ่องกง สิงค์โปร์ และมาเลเชียก็มีชาวพุทธแบบทิเบตเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน
เกาหลีใต้
พระพุทธศาสนามาถึงคาบสมุทรเกาหลีจากประเทศจีนในปีศตวรรษที่ 3 สากลสมัย ตอนนี้พุทธศาสนาในเกาหลียังถือว่าค่อนข้างแข็งแรง ถึงแม้ว่าจะถูกโจมตีจากองค์กรคริสต์ที่เข้มงวดมากขึ้นก็ตาม ในช่วงสิบปีที่ผ่านมามีวัดทางพุทธมากมายถูกทำลาย หรือเสียหายจากการเผาไหม้โดยกลุ่มดังกล่าว ปัจจุบันมีประชากร 23% เป็นชาวพุทธ
ญี่ปุ่น
พระพุทธศาสนาเผยแพร่มาถึงญี่ปุ่นจากเกาหลีในช่วงศตวรรษที่ 5 และมีบทบาทสำคัญอย่างมากในสังคมและวัฒนธรรมของญี่ปุ่น ตั้งแต่ปีศตวรรษที่ 13 มีธรรมเนียมที่พระญี่ปุ่นสามารถแต่งงานและดื่มแอลกอฮอลล์ได้ พระเหล่านี้ค่อย ๆ เข้ามาแทนที่ว่าพระสงฆ์จะต้องปฏิบัติพรหมจรรย์ ตามประวัติศาสตร์แล้วมีประเพณีแบบพุทธบางอย่างที่เป็นเชิงชาตินิยมสุดขั้ว โดยเชื่อว่าญี่ปุ่นถือเป็นสรวงสวรรค์ของพระพุทธศาสนา ในยุคปัจจุบันมีลัทธิที่เชื่อเรื่องวันโลกาพินาศบางกลุ่มเรียกตัวเองว่าเป็น ชาวพุทธ ถึงแม้ว่าจะแทบไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับคำสอนพระศากยมุนีพุทธเจ้าเลย
ประชากรประมาณ 40% เป็นพุทธศาสนิกชน และชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่มีความเชื่อผสมผสานระหว่างพระพุทธศาสนากับชินโต ซึ่งเป็นศาสนาดั้งเดิมของญี่ปุ่น พิธีการเกิดและแต่งงานจะได้รับการเฉลิมฉลองตามประเพณีของชินโต ในขณะที่พิธีงานศพจะเป็นหน้าที่ของพระสงฆ์
วัดวาอารามในญี่ปุ่นได้รับการเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดีทั้งสำหรับนักท่องเที่ยวและผู้มาเยือน ถึงแม้ว่าวัดบางแห่งจะเป็นเชิงพาณิชย์มากก็ตาม โดยรวมแล้วการศึกษาและปฏิบัติทางพุทธศาสนานั้นมีน้อยลงไปอย่างมาก ที่ญี่ปุ่นมีองค์กรพุทธศาสนาที่ใหญ่ที่สุดในโลกแห่งหนึ่งชื่อว่า โซคา กักไก
พระพุทธศาสนานิกายมหายานในทวีปเอเชียกลาง
ทิเบต
พุทธศาสนาเดินทางมาถึงทิเบตตั้งแต่ศตวรรษที่ 7 ของยุกสากลสมัย การอุปถัมป์ของราชวงศ์และการสนับสนุนของขุนนางเป็นเวลาหลายศตวรรษทำให้พระพุทธศาสนาซึบซับอยู่ในมุมมองการใช้ชีวิตหลายอย่างของชาวทิเบต
หลังจากการยึดครองของสาธารณรัฐประชาชนจีน พระพุทธศาสนาในทิเบตก็โดนกดขี่เป็นอย่างมาก มีเพียงวัดและสำนักชีเพียงแค่ 150 แห่ง จาก 6,500 แห่งที่รอดพ้นจากการทำลาย พระและครูสอนศาสนาส่วนใหญ่โดนประหารชีวิต หรือไม่ก็เสียชีวิตในค่ายกักกัน หลังจากการปฏิวัติวัฒนธรรม ก็มีการบูรณะวัดขึ้นโดยความพยายามของผู้ที่เคยเป็นพระสงฆ์ คนในพื้นที่ และชาวทิเบตที่ถูกเนรเทศออกไป โดยรัฐบาลช่วยสร้างเพียงแค่สอง หรือสามแห่งเท่านั้น
รัฐบาลคอมมิวนิสต์จีนไม่เชื่อในศาสนา แต่ยอมให้ผู้คนนับถือ “ศาสนาที่ได้รับการยอมรับ” ห้าอย่าง ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือศาสนาพุทธ ถึงแม้พวกเขาจะอ้างว่าจะไม่ข้องเกี่ยวกับเรื่องทางศาสนา หลังจากที่องค์ดาไลลามะประกาศว่าเด็กชายทิเบตผู้หนึ่งเป็นปันเชนลามะที่กลับชาติมาเกิดนั้น เด็กคนนี้และครอบครัวของเขาก็หายตัวไปทันที หลังจากนั้นรัฐบาลจีนจึงออกตามเด็กลูกครึ่งจีน-ทิเบต ตั้งแต่นั้นมาตัวเลือกของดาไลลามะก็ยังไม่เคยเห็น
ในปัจจุบัน วัดวาอารามและสำนักชีมีทีมงานของรัฐบาลประจำอยู่ มีตำรวจนอกเครื่องแบบทั้งชายและหญิงที่ “ช่วยเหลือแบ่งเบา” งานต่าง ๆ พูดง่าย ๆ ก็คือ คนกลุ่มนี้คอยจับตาดูและรายงานเกี่ยวกับคณะสงฆ์นี้เสมอ บางครั้งทีมงานที่ว่านี้มีจำนวนมากเท่ากับพระและแม่ชีที่พำนักอยู่ ณ ที่นั้นเลยทีเดียว นอกจากการแทรกแซงของรัฐบาลแล้ว ปัญหาอีกประการของชาวพุทธในทิเบตคือ การขาดอาจารย์ที่มีคุณสมบัติ พระสงฆ์ แม่ชี และผู้มีจิตศรัทธาต่างก็กระตือรือร้นอยากเรียนรู้เพิ่มเติม แต่อาจารย์ส่วนใหญ่นั้นมีความรู้และประสบการณ์ที่จำกัด ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา รัฐบาลเปิด “มหาวิทยาลัย” สำหรับพุทธศาสนา ใกล้ ๆ เมืองลาซา ทำหน้าที่เป็นโรงเรียนสำหรับตุลกุ (tulku) วัยเยาว์ ซึ่งสอนภาษาทิเบต อักษรวิจิตร การแพทย์ การฝังเข็ม และปรัชญาของพุทธศาสนาบางอย่าง ยุคดิจิตอลได้นำพาหนุ่มสาวชาวทิเบตให้ใกล้ชิดกับพุทธศาสนามากขึ้น หลายคนเป็นสมาชิกกลุ่มในแอป WeChat และ Weibo ที่แบ่งปันการสอนและเรื่องราวทางพุทธศาสนา ตอนนี้การเรียนรู้พุทธศาสนาถือเป็นวิธีการเสริมอัตลักษณ์ความเป็น “ชาวทิเบตอย่างแท้จริง” วิธีหนึ่ง
สาธารณรัฐเตอร์กิสถานตะวันออก
วัดวาอารามส่วนใหญ่ของคามิยคยาในสาธารณรัฐเตอร์กิสถานตะวันออก (ซินเจียง) ถูกทำลายในช่วงการปฏิวัติวัฒนธรรม ตอนนี้วัดหลายแห่งได้รับการสร้างใหม่แล้ว แต่ยังขาดอาจารย์สอนอยู่มากกว่าในทิเบตเสียอีก พระสงฆ์รุ่นใหม่ท้อใจจากการขาดสิ่งอำนวยความสะดวกทางการศึกษาและหลายคนก็ลาสิกขาออกไป
มองโกเลียใน
กระนั้นแล้ว สถานการณ์ที่ย่ำแย่ที่สุดสำหรับชาวพุทธแบบทิเบตภายใต้การปกครองของสาธารณรัฐประชาชนจีนคือที่มองโกเลียใน วัดวาอารามในฝั่งตะวันตกถูกทำลายในช่วงการปฏิวัติวัฒนธรรม ส่วนในฝั่งตะวันออก ซึ่งเคยเป็นของแมนจูเรียก็โดนทำลายโดยกลุ่มของสตาลินไปเมื่อสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อรัสเซียช่วยปลดปล่อยจีนตอนเหนือจากการปกครองของญี่ปุ่น จากที่เคยมีวัดถึง 700 แห่ง ก็เหลือเพียงแค่ 27 แห่งเท่านั้น
ตั้งแต่ทศวรรษที่ 1980 มีความพยายามในการสถาปนาวัดและสร้างวัดขึ้นใหม่ซึ่งไม่ได้เข้าร่วมโดยชาวมองโกเลียเท่านั้น แต่ยังรวมถึงชาวจีนฮั่นอีกด้วย
มองโกเลีย
ในมองโกเลียเคยมีวัดวาอารามอยู่หลายพันแห่ง แต่ทั้งหมดถูกทำลายจนหมดสิ้น หรือเสียหายบางส่วนในปี 1937 ภายใต้คำสั่งของสตาลิน ในปี 1946 มีวัดแห่งหนึ่งเปิดขึ้นอีกครั้งที่อูลานบาตาร์ เพื่อเป็นสัญลักษณ์เท่านั้น และในทศวรรษที่ 1970 ก็มีวิทยาลัยห้าปีสำหรับพระเกิดขึ้น หลักสูตรการเรียนนั้นย่อมากและเน้นการศึกษาเกี่ยวกับลัทธิมาร์กซิสเป็นอย่างมาก โดยพระสงฆ์ได้รับอนุญาตให้ทำพิธีสำหรับสังคมได้อย่างจำกัด หลังการล่มสลายของคอมมิวนิสต์ในปี 1990 มีการฟื้นฟูพระพุทธศาสนาครั้งใหญ่ โดยได้รับความช่วยเหลือจากชาวทิเบตที่ถูกเนรเทศ พระใหม่หลายองค์ถูกส่งไปฝึกที่อินเดีย และวัดกว่า 200 แห่งได้รับการสร้างขึ้นใหม่ในระดับปานกลาง
หนึ่งในปัญหาใหญ่สำหรับพระพุทธศาสนาในมองโกเลียหลังจาก 1990 คือ การมาเยือนของเหล่ามอร์มอน แอดเวนทิสต์ และมิชชันนารีชาวคริสต์หัวรุนแรง ซึ่งเข้ามาในลักษณะครูสอนภาษาอังกฤษ พวกเขาเสนอเงินและความช่วยเหลือให้เด็ก ๆ ในหมู่บ้านได้ไปเรียนที่อเมริกา หากพวกเขายอมเปลี่ยนศาสนา ทั้งยังให้หนังสือสวยงามเกี่ยวกับพระเยซู ซึ่งเขียนเป็นภาษามองโกลอย่างสละสลวยฟรีด้วย เมื่อเด็กและคนหนุ่มสาวหันไปสนใจศาสนาคริสต์กันมากขึ้น องค์กรศาสนาพุทธก็เริ่มแจกจ่ายข้อมูลเกี่ยวกับพุทธศาสนาในภาษาท้องถิ่น ผ่านทางสื่อสิ่งพิมพ์ รายการโทรทัศน์และวิทยุบ้าง
ตอนนี้การบังคับให้คนเปลี่ยนศาสนาเพื่อเข้ารีตถือเป็นสิ่งต้องห้ามในมองโกเลีย ในปี 2010 ประชากร 53% เป็นชาวพุทธ และ 2.1% เป็นชาวคริสต์
ชาวทิเบตพลัดถิ่น
การปฏิบัติตามธรรมเนียมพุทธของทิเบตนั้นเห็นได้ชัดสุดในชุมชนผู้อพยพชาวทิเบต ซึ่งอาศัยอยู่ใกล้เคียงกับองค์ดาไลลามะผู้พลัดถิ่นไปอยู่ที่อินเดียตั้งแต่ปี 1959 ซึ่งเป็นการต่อต้านการยึดครองจากกองทัพจีน พวกเขาได้เริ่มวัดวาอารามและสำนักชีใหญ่ ๆ ของทิเบตขึ้นอีกครั้ง และเปิดโปรแกรมการสอนแบบดั้งเดิมเต็มรูปแบบสำหรับนักศึกษาสงฆ์ พระวิปปัสนาจารย์ และอาจารย์ มีสิ่งอำนวยความสะดวกทางด้านการศึกษา วิจัย และการตีพิมพ์ต่าง ๆ เพื่อรักษารูปแบบสำหนักพุทธศาสนาแบบทิเบตแต่ละสำนักเอาไว้ทั้งหมด
ชาวทิเบตพลัดถิ่นได้ช่วยฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในเขตหิมาลัยของอินเดีย เนปาล และภูฏาน รวมถึงในลาดักห์และสิกขิมด้วย โดยการส่งอาจารย์และกระจายการสืบทอดต่าง ๆ พระและแม่ชีในพื้นที่เหล่านี้ได้รับการศึกษาและการฝึกปฏิบัติในวัดและสำนักชีของผู้อพยพชาวทิเบต
เนปาล
ถึงแม้ว่าชาวเนปาลส่วนใหญ่จะนับถือศาสนาฮินดู เนปาลซึ่งเป็นสถานที่ประสูติของพระพุทธเจ้าก็ได้รับอิทธิพลจากศาสนาพุทธอย่างมากเช่นกัน กลุ่มชาติพันธุ์อย่างเนวาร กูรุง และตามางยังคงปฏิบัติตามหลักพุทธศาสนาแบบเนปาลอยู่ ปัจจุบันพุทธศาสนิกชนถือเป็น 9% ของประชากรทั้งหมด
เนื่องจากการผสมสานระหว่างศาสนาพุทธและฮินดู เนปาลเป็นประเทศเดียวที่มีการแบ่งชนชั้นวรรณะในสังคมสงฆ์ ในช่วงเวลากว่า 500 ปีที่ผ่านมามีพระสงฆ์ที่แต่งงานในชนชั้นสืบทอด ซึ่งกลายเป็นผู้ดูแลรักษาวัดและผู้นำทางพิธีกรรมต่าง ๆ
รัสเซีย
บูเรียตียา ตูวา และคัลมิเกียเป็นสามเขตของรัสเซียที่เคยนับถือศาสนาพุทธแบบทิเบต วัดวาอารามทั้งหมดในเขตเหล่านี้ถูกทำลายจนหมดสิ้นโดยสตาลินในปีทศวรรษ 1930 เหลือไว้แต่วัดสามแห่งที่ได้รับความเสียหาย ในปีทศวรรษที่ 1940 สตาลินเปิดวัดสองแห่งขึ้นอีกครั้งในบูเรียตียา ภายใต้การควบคุมอย่างเคร่งครัดของ KGB พระสงฆ์ได้แต่สวมจีวรเป็นเครื่องแบบในช่วงกลางวันเพื่อทำพิธีต่าง ๆ หลังการล่มสลายของพรรคคอมมิวนิสต์ พระพุทธศาสนาในทั้งสามเขตจึงได้รับการฟื้นฟูขึ้นเป็นอย่างมาก ชาวทิเบตพลัดถิ่นส่งอาจารย์มาที่นี่ ส่วนพระสงฆ์รุ่นใหม่ก็ได้รับการส่งไปศึกษาในประเทศอินเดีย ปัจจุบันมีการบูรณะวัดมากกว่า 20 แห่งในบูเรียจียา ตูวา และคัลมิเกีย
ประเทศที่ไม่ได้นับถือศาสนาพุทธ
ความรู้เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาอย่างละเอียดแพร่หลายมาถึงยุโรปในศตวรรษที่ 19 ผ่านทางการล่าอาณานิคมประเทศแถบเอเชียของยุโรป และทางมิชชันนารีชาวคริสต์และนักวิชาการ ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันนี้มีการสร้างวัดหลายแห่งขึ้นในทวีปอเมริกาเหนือ โดยลูกจ้างผู้อพยพชาวจีนและญี่ปุ่น
เราสามารถพบพระพุทธศาสนาทุกนิกายได้ทั่วโลก รวมถึงในประเทศที่ไม่ได้นับถือศาสนาพุทธมาแต่ดั้งเดิม มีสองกลุ่มใหญ่ ๆ ที่เกี่ยวข้อง นั่นคือ กลุ่มผู้อพยพชาวเอเชีย และกลุ่มผู้ปฏิบัติที่ไม่ใช่ชาวเอเชีย ผู้อพยพชาวเอเชีย โดยเฉพาะในอเมริกาและออสเตรเลีย รวมถึงในยุโรปบางส่วนสร้างวัดขึ้นหลายแห่ง เพื่อการปฏิบัติตามประเพณีของตน จุดมุ่งหมายหลัก ๆ ของวัดเหล่านี้คือการสนับสนุนการปฏิบัติด้วยจิตศรัทธา และการเป็นศูนย์กลางการช่วยเหลือชุมชนผู้อพยพให้สามารถคงอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของตนต่อไปได้ ในปัจจุบันมีชาวพุทธมากกว่าสี่ล้านคนในอเมริกาและมากกว่าสองล้านคนในยุโรป
“ศูนย์ธรรมะ” ของพุทธศาสนิกชนทุกนิกายหลายพันแห่งในกว่า 100 ประเทศทั่วโลก ซึ่งอยู่ในทุกทวีป ศูนย์แบบทิเบต เซ็น และเถรวาทส่วนใหญ่มักเป็นที่รู้จักของผู้คนที่ไม่ได้มีเชื้อสายเอเชีย และเน้นเรื่องการนั่งสมาธิ การศึกษาและปฏิบัติพิธีต่าง ๆ ครูที่สอนมีทั้งครูชาวตะวันตกและชาวพุทธชาติต่าง ๆ ในเอเชีย ประเทศที่มีจำนวนศูนย์ธรรมะมากที่สุดคือ สหรัฐ ฝรั่งเศส และเยอรมนี นักเรียนหลายคนก็เดินทางไปยังเอเชียเพื่อฝึกฝนในระดับที่ลึกขึ้น นอกจากนี้ยังมีโปรแกรมศึกษาศาสนาพุทธในมหาวิทยาลัยทั่วโลก และมีการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเกี่ยวกับศาสนาพุทธและศาสนาอื่น วิทยาศาสตร์ จิตวิทยา และการแพทย์มากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งสมเด็จองค์ดาไลลามะมีบทบาทสำคัญมากในด้านนี้