สตรีในพระพุทธศาสนา: การรื้อฟื้นการอุปสมบทภิกษุณี

ในสมัยโบราณความแตกต่างทางเพศนั้นมิได้สลักสำคัญนัก  ทว่าเมื่ออารยธรรมพัฒนาขึ้น ความแข็งแกร่งและพลังอำนาจกลับทวีความสำคัญขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อปกป้องสังคมจากศัตรู  ผลที่เกิดขึ้นตามมาคือการที่บุรุษเพศวางตัวเป็นใหญ่เนื่องจากมีความแข็งแกร่งทางกายสูงส่งกว่า  ในยุคสมัยต่อมา การศึกษาและสติปัญญาเข้ามามีบทบาทสำคัญมากขึ้น  ในลักษณะนี้บุรุษและสตรีจึงมิได้มีความแตกต่างกัน  อย่างก็ตามในปัจจุบัน ความอบอุ่นใจและความโอบอ้อมอารีนั้นมีบทบทสำคัญสูงสุดในการยุติความขัดแย้งและปัญหาต่าง ๆ  คุณสมบัติทั้งสองประการนี้เป็นสิ่งจำเป็นในการควบคุมการใช้การศึกษาและสติปัญญา และป้องกันมิให้ทั้งสองอย่างนี้นำไปสู่จุดจบเชิงทำลาย  เพราะฉะนั้นสตรีจะต้องมีบทบาทที่สำคัญมากขึ้นในเมื่อสตรีสามารถสร้างความอบอุ่นใจและความโอบอ้อมอารีตามธรรมชาติได้ง่ายกว่าบุรุษ ซึ่งอาจมีเหตุผลมาจากปัจจัยทางชีววิทยา  จุดนี้มาจากการอุ้มบุตรในครรภ์และจากการเป็นผู้ดูแลทารกแรกเกิดเป็นหลัก

ตั้งแต่ไหนแต่ไรมาบุรุษมักเป็นตัวการในการทำศึกสงคราม เนื่องจากพวกเขาดูจะมีร่างกายที่เอื้อต่อพฤติกรรมก้าวร้าวมากกว่า  ในทางกลับกันสตรีมักมีนิสัยเป็นห่วงใยและอ่อนไหวต่อความทุกข์และความเจ็บปวดของผู้อื่นได้ดีกว่า  แม้ว่าบุรุษและสตรีจะมีศักยภาพด้านความก้าวร้าวและความอบอุ่นใจเหมือนกัน ทั้งสองเพศกลับแสดงศักยภาพแต่ละอย่างนี้ได้ยากง่ายต่างกัน  ดังนั้นหากผู้นำโลกส่วนใหญ่เป็นสตรี โลกนี้อาจมีอันตรายจากสงครามน้อยลงและมีการร่วมมือกันแก้ปัญหาโลกมากขึ้นก็เป็นได้ แต่กระนั้นแล้วสตรีบางคนก็วุ่นวายเหลือเกิน!  อาตมาเห็นอกเห็นใจนักเรียกร้องสิทธิสตรี แต่พวกเขาไม่อาจเอาแต่ส่งเสียงเรียกร้องอย่างเดียวได้  พวกเขาต้องใส่ความอุตสาหะพยายามเพื่อสรรสร้างคุณประโยชน์เชิงบวกให้แก่สังคมด้วย

บางครั้งศาสนาเน้นย้ำความเป็นใหญ่ของบุรุษเพศ  อย่างไรก็ตามในพระพุทธศาสนานั้น คำปฏิญาณสูงสุด อันได้แก่ คำปฏิญาณตนของพระภิกษุและภิกษุณี มีความเท่าเทียมกันและให้สิทธิเหมือนกัน  มันเป็นเช่นนี้ถึงแม้ว่าในพิธีกรรมบางอย่างพระภิกษุจะมาก่อนตามประเพณีทางสังคม  แต่พระพุทธเจ้าทรงให้สิทธิขั้นพื้นฐานกับคณะสงฆ์ทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียมกัน จึงไม่มีเหตุผลอันใดเลยที่จะมานั่งอภิปรายว่าเราควรรื้อฟื้นการอุปสมบทภิกษุณีหรือไม่  คำถามคือจะปฏิบัติอย่างไรให้เหมาะสมตามบริบทของพระวินัย

ท่านศานตรักษิต (Shantarakshita) ได้ริเริ่มการอุปสมบทภิกษุแบบมูลาสรวาสติวาทในทิเบต  แต่ทว่าชาวอินเดียทั้งหมดในกลุ่มของท่านล้วนเป็นบุรุษ และเนื่องจากการบวชภิกษุณีต้องอาศัยสังฆะคู่ ท่านจึงไม่สามารถริเริ่มวงศ์ของภิกษุณีได้  ในภายหลังลามะทิเบตบางท่านอุปสมบทมารดาของตนเป็นภิกษุณี แต่จากมุมมองของพระวินัยแล้ว การอุปสมบทเช่นนี้มิใช่การอุปสมบทที่แท้จริง  ตั้งแต่ปี 1959 เป็นต้นมา อาตมารู้สึกว่าอารามของชีส่วนใหญ่นั้นจำเป็นต้องยกระดับมาตรฐานการศึกษาให้เทียบเท่ากับอารามของสงฆ์  อาตมาจึงได้ดำเนินการและในวันนี้เราก็มีนักวิชาการในคณะแม่ชีแล้ว  แต่สำหรับเรื่องการรื้อฟื้นการอุปสมบทภิกษุณีนั้น อาตมามิสามารถดำเนินการเพียงลำพังได้  คำถามนี้จำต้องได้รับการพิจารณาตามพระวินัย

ตอนนี้เรามีโอกาสในการอภิปรายคำถามนี้กับพระพุทธศาสนาสายอื่น เช่น สายจีน เกาหลี และเวียดนาม ซึ่งยังมีการอุปสมบทภิกษุณีอยู่  ตอนนี้มีสตรีชาวทิเบตประมาณยี่สิบสี่รายเข้ารับการอุปสมบทเป็นภิกษุณีตามสายธรรมคุปต์ (Dharmaguptaka) ซึ่งไม่มีผู้ใดกังขาต่อความเป็นภิกษุณีของพวกเขา

ในเวลาสามสิบปีที่ผ่านมา เราได้เริ่มค้นคว้าพระวินัยของสายมูลาสรวาสติวาทและธรรมคุปต์  ในเมื่อพระวินัยปรากฏอยู่ทั้งในสายแบบสันสกฤตและบาลี การที่พระสงฆ์อาวุโสจากสายพระวินัยทั้งสามได้มาร่วมกันหารือและแบ่งปันประสบการณ์เกี่ยวกับเรื่องนี้จึงมีประโยชน์ยิ่ง  การทำเช่นนี้นำไปสู่การรื้อฟื้นการอุปสมบทภิกษุณีขึ้นในประเทศศรีลังกาแล้ว และในประเทศไทยก็เกิดความสนใจที่จะปฏิบัติเช่นเดียวกัน  การค้นคว้าเพิ่มเติมจะก่อให้เกิดประโยชน์เพื่อที่สักวันหนึ่งเราจะได้สามารถแก้ไขสิ่งที่ท่านศานตรักษิตทำไม่สำเร็จได้  ทว่าในฐานะตัวคนเดียว อาตมามิได้มีอำนาจตัดสินใจเรื่องนี้  การทำเช่นนั้นย่อมไม่สอดคล้องกับขั้นตอนในพระวินัย  อาตมามีอำนาจในการริเริ่มการค้นคว้าเท่านั้น

พวกเราทั้งหลายต่างยอมรับและรับรู้ว่าทั้งชาวทิเบตและชาวตะวันตกที่ได้รับการอุปสมบทเป็นภิกษุณีแบบธรรมคุปต์นั้นเป็นภิกษุณีแบบธรรมคุปต์  ตรงนี้ไม่ใช่ประเด็น  ประเด็นคือการหาวิธีอุปสมบทภิกษุณีที่สอดคล้องกับพระวินัยแบบมูลาสรวาสติวาท ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยการสอบถามพระพุทธเจ้าโดยตรง  หากอาตมาเป็นพระพุทธเจ้า อาตมาย่อมตัดสินใจไปแล้ว แต่เรื่องมันไม่เป็นอย่างนั้น  อาตมามิใช่พระพุทธเจ้า  อาตมาสามารถเป็นเผด็จการได้บ้างในบางเรื่อง แต่ไม่ใช่เรื่องที่เกี่ยวกับพระวินัย  อาตมาอาจจัดให้ภิกษุณีที่บวชแบบธรรมคุปต์พบปะกันเป็นกลุ่มแล้วกระทำพิธีกรรมของสงฆ์สามประการ [พิธีชะล้างการละเมิดกฎทุกสองอาทิตย์ (บาลี: อุโบสถ) การเข้าพรรษา และการออกพรรษาฤดูร้อน (บาลี: ปวารณา)] แต่การรื้อฟื้นพิธีอุปสมบทนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง  แม้ว่าอาตมาจะปรารถนาให้เรื่องนี้เกิดขึ้นก็จำเป็นต้องอาศัยมติจากพระชั้นอาวุโส ซึ่งบางท่านคัดค้านเรื่องนี้อย่างแข็งขัน  ตอนนี้ยังไม่มีข้อตกลงอย่างเป็นเอกฉันท์จึงทำให้เรื่องนี้เป็นปัญหาอยู่นั่นเอง  กระนั้นแล้วอาตมาก็สามารถดำเนินการแปลคัมภีร์ที่ถูกต้องเกี่ยวกับพิธีสงฆ์สามประการสำหรับรูปแบบธรรมคุปต์จากภาษาจีนเป็นภาษาทิเบตได้ทันที  ไม่มีใครอาจต่อต้านข้อนี้ได้

สำหรับด้านอื่น ๆ เรายังต้องอภิปรายกันเพิ่มเติมต่อไป  แรงสนับสนุนจากคณะสงฆ์จากสายอื่น ๆ นั้นเป็นสิ่งสำคัญ  ดังนั้นการประชุมครั้งนี้จึงเป็นขั้นตอนที่มีประโยชน์ในกระบวนการนี้  สำหรับขั้นต่อไป อาตมาขอเชิญกลุ่มคณะสงฆ์อาวุโสจากนานาชาติมายังประเทศอินเดีย  ให้พวกเขาได้อภิปรายเรื่องนี้กับผู้อาวุโสชาวทิเบตที่มีจิตใจคับแคบและต่อต้านการรื้อฟื้นการอุปสมบทภิกษุณีแบบมุลาสรวาสติวาท

หากพระพุทธเจ้าทรงมีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน พระองค์ทรงต้องอนุญาตเป็นแน่แท้ แต่อาตมามิอาจกระทำตัวเป็นพระพุทธเจ้า  แม้ว่าชีวิตอารมวาสีจะดำรงอยู่ในทิเบตตั้งแต่เมื่อศตวรรษที่แปด ในกลุ่มนี้ก็มิเคยมีภิกษุณีปฏิบัติพิธีกรรมสงฆ์สามประการ ซึ่งจะได้เกิดขึ้น ณ บัดนี้แล  กระนั้นแล้วการจะตัดสินใจเรื่องการอุปสมบทก็ยังเร็วเกินไป

การเริ่มต้นพิธีกรรมสงฆ์สามประการสำหรับภิกษุณีในปีนี้อาจเป็นเรื่องยาก แต่ปีหน้าเราน่าจะพอเริ่มต้นได้  บท ภิกษุณี ปาติโมกข์ ได้รับการแปลจากภาษาจีนเป็นภาษาทิเบตแล้ว ซึ่งมีความยาวประมาณสามสิบถึงสี่สิบหน้า  ภิกษุณีสายธรรมคุปต์ชาวทิเบตจะต้องท่องจำบทนี้ให้ขึ้นใจ  แต่บทพิธีกรรมที่แท้จริงสำหรับพิธีสงฆ์สามประการนั้นยังต้องได้รับการแปล

แม้ว่าแม่ชีชาวทิเบตจะปรารถนาการอุปสมบทเป็นภิกษุณีสายมุลาสรวาสติวาท การอุปสมบทเป็นภิกษุณีแบบธรรมคุปต์ก็มิอาจได้รับการยอมรับว่าเป็นแบบมุลาสรวาสติวาทได้  หากทั้งสองแบบสามารถทดแทนกันได้ เช่นนั้นย่อมไม่มีเหตุผลใดเลยที่ท่านอติศะจะถูกขอร้องมิให้หารือเรื่องการอุปสมบทภิกษุแบบมหาสังฆิกะ [เมื่อท่านอติศะ ปรมาจารย์ชาวอินเดีย ได้รับเชิญไปเยือนประเทศทิเบตโดยกษัตริย์จังชับ เออ (ทิเบต. Byang-chub ’od) ในช่วงต้นศตวรรษที่สิบเอ็ด พระอัยกาของพระองค์ นั่นคือ กษัตริย์เยเช เออ ทรงสนับสนุนให้รื้อฟื้นการอุปสมบทภิกษุแบบมูลาสรวาสติวาทภายในอาณาจักรของพระองค์ โดยได้เชิญท่านธรรมปาละ ปรมาจารย์จากอินเดียตะวันออกมา  ท่านอติศะถูกขอไม่ให้หารือเรื่องการอุปสมบทภิกษุแบบมหาสังฆิกะ มิเช่นนั้นจะเกิดการริเริ่มพระวินัยสองวงศ์ขึ้นในทิเบต)

ยิ่งไปกว่านั้น หากการอุปสมบทแบบธรรมคุปต์ถือเป็นการอุปสมบทแบบมูลาสรวาสติวาท อย่างนั้นการอุปสมบทแบบเถรวาทย่อมถือเป็นการอุปสมบทแบบมูลาสรวาสติวาทเช่นเดียวกัน ซึ่งก็จะกลายเป็นเรื่องไม่สมเหตุสมผลไป  เราจำเป็นต้องรื้อฟื้นการอุปสมบทภิกษุณีแบบมุลาสรวาสติวาทให้ถูกต้องตามพระวินัยของมุลาสรวาสติวาทเอง

ฉะนั้นในฤดูหนาวปีนี้ เรามาจัดการประชุมที่คล้ายคลึงกับการประชุมนี้เถิด แต่จัดในประเทศอินเดีย อาจจะเป็นที่พุทธคยา หรือไม่ก็ที่สารนาถ หรือกรุงเดลี  นอกเหนือจากคณะสงฆ์อาวุโสจากนานาชาติที่มาเข้าร่วมการประชุมที่เมืองฮัมบูร์กในครั้งนี้ เราจะเชิญผู้นำคณะสงฆ์ชาวทิเบตระดับสูงและเจ้าอาวาสของอารามสำคัญจากนิกายทิเบตทั้งสี่และอาจจะรวมถึงศาสนาบอน (Bonpo) ด้วย  ศาสนาบอนยังมีภิกษุณีอยู่  เราจะเชิญภิกษุที่เป็นนักวิชาการระดับสูงและได้รับความเคารพมากที่สุดมา รวมแล้วประมาณหนึ่งร้อยคน  จากนั้นอาตมาจะขอให้คณะสงฆ์อาวุโสจากนานาชาติอธิบายต่อหน้าพวกเขาถึงข้อโต้แย้งที่สมเหตุสมผลสำหรับการรื้อฟื้นการอุปสมบทภิกษุณี  การทำเช่นนี้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง  พวกเราชาวทิเบตจะให้การสนับสนุนด้านการเงินสำหรับการประชุมดังกล่าวและตัดสินใจว่าใครควรเป็นผู้จัดงาน

ในช่วงยี่สิบหกศตวรรษที่ผ่านมา คัมภีร์อภิธรรมของบาลีและสันสกฤตปรากฏความแตกต่างกันมากขึ้นเรื่อย ๆ  ท่านนาคารชุนะได้ชี้แจงบางประเด็นไว้แล้ว ส่วนความแตกต่างที่ชัดเจนประการอื่นระหว่างทั้งสองแบบนี้สามารถไขกระจ่างได้โดยอาศัยการตรวจสอบ  ในลักษณะนี้เราอาจถือวิสาสะตรวจสอบคำตรัสของพระพุทธเจ้า อย่างเรื่องที่เกี่ยวกับเขาพระสุเมรุ โลกนั้นมีลักษณะแบนราบ  ดวงอาทิตย์และดวงจันทร์มีขนาดเกือบจะเท่ากันและอยู่ห่างจากโลกเป็นระยะทางเท่ากัน  ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่อาจยอมรับได้อย่างแน่นอน  แม้แต่ครูผู้สอนอาตมาในลาซามองผ่านเงากล้องโทรทรรศน์ของอาตมาจากเทือกเขายังต้องเห็นด้วยว่าดวงจันทร์มิได้ส่องสว่างด้วยตัวเองอย่างที่คัมภีร์อภิธรรมกล่าวไว้  ดังนั้นจึงมิจำเป็นต้องมีการอภิปรายในคณะสงฆ์เกี่ยวกับคำชี้แจ้งของท่านนาคารชุนะ  ซึ่งก็เหมือนกับประเด็นที่เกี่ยวข้องกับพระสูตรนั่นล่ะ  แต่เมื่อกล่าวถึงพระวินัยแล้วเรื่องนี้แตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง

บทแปลพระวินัยทั้งหมดเริ่มต้นด้วยคำสรรเสริญพระผู้มีพระภาคเจ้า ซึ่งหมายความว่าพระพุทธเจ้าทรงรองรับบทเหล่านี้ เพราะมีเพียงพระพุทธเจ้าผู้รอบรู้เท่านั้นที่จะทรงรู้ว่าการกระทำใดควรปฏิบัติและการกระทำใดควรละเว้น  ในทางตรงกันข้าม คำสรรเสริญในบทพระอภิธรรมนั้นอุทิศแด่พระมัญชุศรี  นอกจากนี้หลังจากที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้วก็มีการจัดตั้งสภาสงฆ์ขึ้นและมีการเปลี่ยนแปลงบทพระวินัยด้วย  พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้ทำเช่นนี้ได้และคำอนุญาตของพระองค์สามารถครอบคลุมประเด็นอื่นได้ด้วย  ยกตัวอย่างเช่น พวกเราชาวทิเบตฝึกปฏิบัติหลักของพระโพธิสัตว์และตันตระ ซึ่งทั้งสองมีคำปฏิญาณตนเฉพาะ  ประเด็นและศีลบางข้อในสองหลักนี้ขัดแย้งกันเองและขัดแย้งกับพระวินัยด้วย  ในกรณีแบบนี้คำปฏิญาณที่สูงกว่าจะอยู่เหนือคำปฏิญาณที่ต่ำกว่าเสมอ

ในศตวรรษที่ยี่สิบเอ็ดนี้ แนวคิดเรื่องสงครามล้าหลังไปแล้ว  แต่เราจำเป็นต้องมีบทสนทนาเพื่อยุติข้อพิพาท ซึ่งมิอาจเกิดขึ้นได้จากการใช้สติปัญญาเพียงอย่างเดียว  เรายังต้องใช้ความอบอุ่นใจและความสนใจอย่างจริงจังในเรื่องความอยู่ดีมีสุขของผู้อื่น  ความความเห็นอกเห็นใจมีความสำคัญมากกว่าในการเปิดบทสนทนาอย่างจริงใจ  เนื่องจากปัจจัยทางชีวภาพ สตรีมีความอ่อนไหวต่อความทุกข์ของผู้อื่นมากกว่าบุรุษ  ยกตัวอย่างเช่น นักเชือดหรือคนขายเนื้อส่วนใหญ่มักไม่ใช่สตรี  ดังนั้นในการหารือต่อรองในระดับนานาชาตินี้ สตรีจึงมีความสำคัญมากและจำเป็นต้องได้รับบทบาทเพิ่มขึ้น

ชุมชนจาตุรงค์ของสาวกพระพุทธเจ้าประกอบไปด้วยพระภิกษุ ภิกษุณี อุบาสกและอุบาสิกา  แน่นอนว่าสตรีและบุรุษมีบทบาทเท่าเทียมกัน  แต่ในกลุ่มชาวทิเบตปัจจุบัน ชุมชนจาตุรงค์นี้ขาดความสมบูรณ์ไป  ในกลุ่มคุณสมบัติการเกิดเป็นมนุษย์อันล้ำค่าทั้งแปดและสิบประการ หนึ่งในนั้นคือการเกิดในดินแดนกลางซึ่งนิยามจากเชิงภูมิศาสตร์หรือเชิงจิตวิญญาณ  ทิเบตมิได้ถูกนิยามว่าเป็นดินแดนกลางในเชิงภูมิศาสตร์  สำหรับดินแดนที่นิยามเชิงจิตวิญญาณนั้น ทิเบตเป็นหนึ่งในที่ที่มีชุมชนจาตุรงค์แห่งสาวกสมบูรณ์  แน่นอนว่าหากขาดภิกษุณีไปชุมชนนี้ย่อมไม่สมบูรณ์  ชาวทิเบตจำนวนมากกล่าวว่าหากมีภิกษุอยู่ก็ย่อมเป็นดินแดนกลาง เนื่องจากภิกษุเป็นส่วนสำคัญที่สุดในสี่กลุ่ม  แต่เช่นนั้นเป็นการนิยามเพียงอุปมาของดินแดนกลางและการเกิดใหม่เป็นมนุษย์อันล้ำค่า  ปรมาจารย์ยุคก่อนในทิเบตควรให้ความสนใจในจุดนี้

อาตมาสามารถริเริ่มการพัฒนาการศึกษาในกลุ่มแม่ชีชาวทิเบตได้โดยมิต้องหารือกับคณะสงฆ์  อาตมาได้ทำเช่นนี้และมีชีหลายคนสำเร็จการเล่าเรียนในระดับสูงแล้ว  อาตมาได้ประกาศในอารามหลายแห่งที่มุนโกด (Mundgod) แล้วว่าเราต้องเตรียมการสำหรับการสอบเกเชมา (Geshema)  พระสงฆ์ระดับสูงบางรูปคัดค้าน แต่อาตมาบอกพวกเขาว่าพระพุทธเจ้าทรงให้สิทธิเท่าเทียมกันสำหรับบุรุษและสตรีในการเป็นภิกษุและภิกษุณี  ไฉนจึงไม่อาจมีสิทธิ์เท่าเทียมกันในการเป็นเกเชและเกเชมาด้วยเล่า  อาตมาคิดว่าปัญหาคือการที่พระสงฆ์ระดับสูงเหล่านี้ไม่คุ้นชินกับการคิดแบบนี้

ในช่วงต้นยุคหกสิบ อาตมาไม่ได้เรียกแค่พระสงฆ์ แต่เรียกชีมาด้วย และบอกว่าพวกเขาก็สามารถเข้าร่วมพิธีโซจง (sojong) ที่จัดขึ้นทุกสองอาทิตย์ได้ด้วยเช่นกัน  ช่วงนั้นไม่มีภิกษุณี ดังนั้นถึงแม้ว่าสามเณริกามักไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมในพิธีโซจงของสงฆ์ อาจารย์ของอาตมาก็อนุญาต เราจึงเริ่มปฏิบัติเช่นนั้นมา  มีการคัดค้านเหน็บแนมมากมายจากอารามในอินเดียตอนใต้ เพราะไม่เคยมีกรณีที่พระสงฆ์กับแม่ชีทำพิธีโซจงด้วยกัน แต่ก็ไม่มีพระสงฆ์รูปใดต้องสึกจากการทำเช่นนั้น  ตั้งแต่ยุคเจ็ดสิบเป็นต้นมา ชาวทิเบตบางคนทำการอุปสมบทเป็นภิกษุณีตามสายจีน  หนึ่งในเหตุผลที่อาตมาไปเยือนประเทศไต้หวันก็เพื่อไปดูวงศ์ภิกษุณีและสังเกตสถานการณ์ด้วยตัวเอง  อาตมาแต่งตั้งให้โลซัง เซอริง (Losang Tsering) ทำการค้นคว้าเรื่องคำปฏิญาณตนของภิกษุณี ซึ่งเขาได้ทำเช่นนั้นมาตลอดยี่สิบปี  เราได้ใช้ความเพียรพยายามอย่างสูง  อาตมาขอให้พระภิกษุที่รับการอุปสมบทแบบจีนจัดการประชุมคณะสงฆ์ระดับนานาชาติขึ้น แต่พวกเขามิอาจทำเช่นนั้นได้  อาตมาเองก็ไม่สามารถเรียกประชุมแบบนี้ได้เนื่องจากความลำบากและซับซ้อนที่จะเกิดขึ้นจากทางสาธารณรัฐประชาชนจีน  อาตมารู้สึกว่าจะเป็นการดีกว่าหากองค์กรอื่นเป็นผู้จัดการประชุม  อาตมาจึงขอให้จัมปา โชเดริน (Champa Chodroen)ดำเนินการ  ทุกอย่างที่พระสงฆ์แต่ละรูปจะทำได้ก็ได้ทำไปแล้ว  ตอนนี้เราจำเป็นต้องมีมติฉันท์โดยรวมจากอารามโดยภิกษุอาวุโสชาวทิเบต

ในการบรรพชาเป็นสามเณรและสามเณริกานั้นระบุไว้ว่า ผู้นั้นควรรู้สิ่งที่ควรเคารพบูชา  มีการกล่าวไว้ว่าหากดูจากคำปฏิญาณตนแล้ว ภิกษุณีจะอยู่ในขั้นสูงกว่า กระนั้นแล้วภิกษุณีก็ไม่ถือว่าเป็นสิ่งเคารพบูชาสำหรับสามเณร  บางทีจุดนี้อาจต้องเรียบเรียงคำใหม่สักหน่อย โดยระลึกถึงคำปฏิญาณตนของพระโพธิสัตว์และตันตระ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำปฏิญาณตันตระที่ว่าด้วยการไม่ดูหมิ่นสตรี  จากมุมมองนี้การยึดจุดนี้ในพระวินัยจึงเป็นเรื่องที่ไม่สะดวก  ดังนั้นเพื่อทำให้สอดคล้องกับคำปฏิญาณตนทั้งสามชุด ประเด็นย่อยบางประเด็นจึงจำเป็นต้องได้รับการปรับเปลี่ยนด้วย  สำหรับเรื่องการศึกษาคำปฏิญาณตนสำหรับภิกษุณีแบบมูลาสรวาสติวาทก่อนทำการปฏิญาณตนนั้น ผู้ที่เป็นภิกษุณีในวงศ์ธรรมคุปต์อาจอ่านและศึกษาคำปฏิญาณดังกล่าว แต่จำเป็นต้องปฏิบัติพิธีกรรมตามแบบธรรมคุปต์  แต่ก็ยังมีปัญหาเกี่ยวกับการที่ผู้ที่ไม่ใช่ภิกษุณีศึกษาคำปฏิญาณเหล่านี้อยู่ดี

ในการปรับเปลี่ยนทั้งหมดนี้ โดยเฉพาะในด้านการรื้อฟื้นการอุปสมบทภิกษุณีแบบมุลาสรวาสติวาท สิ่งสำคัญอย่างยิ่งคือการปรับเปลี่ยนนี้ต้องมิได้กระทำโดยคณะสงฆ์ทิเบตบางกลุ่มเท่านั้น  เราต้องหลีกเลี่ยงการแบ่งแยกในคณะสงฆ์  เราจำเป็นต้องได้รับมติเอกฉันท์โดยรวมภายในคณะสงฆ์ทิเบตทั้งหมด  ดังนั้นเราจะก้าวไปในทิศทางดังกล่าว  อาตมาขอขอบคุณทุกท่านที่เพียรพยายาม

Top