การก่อตั้งภิกษุณีสงฆ์ในอินเดีย

00:43

พระพุทธเจ้าเองทรงบวชพระภิกษุครั้งแรกด้วยเพียงพระวาจาว่า “เอหิภิกขุ (จงเป็นภิกษุมาเถิด)” เมื่อภิกษุได้รับการบวชอย่างนี้จนครบตามจำนวนแล้ว จึงได้กำหนดการบวช (ทิเบต: bsnyen-par rdzogs-pa, สันสกฤต: upasampada, บาลี: upasampada) อย่างเป็นทางการ โดยภิกษุเอง

ตามบันทึกดั้งเดิมหลายฉบับ เมื่อพระน้านางของพระพุทธเจ้า พระนางมหาปชาบดีโคตรมี (ทิเบต: Go'u-ta-mi sKye-dgu'i bdag-mo chen-mo, Skye-dgu'i bdag-mo; บาลี: Mahapajapati Gotami) ได้ทูลขอบวชเป็นภิกษุณี พระพุทธเจ้าปฏิเสธในตอนแรก อย่างไรก็ตาม พระนางมหาปชาบดีพร้อมด้วยสาวกสตรีอีกห้าร้อยคนได้โกนศีรษะ นุ่งห่มจีวรสีเหลือง แล้วติดตามพระองค์ไปในฐานะผู้สละทางโลกเพื่อเข้าสู่ทางธรรม (ทิเบต: rab-tu byung-ba, สันสกฤต: pravrajita, บาลี: pabbajja) เมื่อพระนางขอบวชครั้งที่สองและครั้งที่สามก็ได้รับการปฏิเสธอีก สาวกของพระพุทธเจ้า พระอานนท์ (ทิเบต: Kun-dga’-bo) ได้ขอร้องแทนพระนาง

ด้วยคำขอร้องครั้งที่สี่นี้ พระพุทธเจ้าจึงตกลงบวชให้ภายใต้เงื่อนไขที่ว่าพระนางและภิกษุณีในอนาคตนั้นจะต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดหรือธรรมอันหนัก 8 ประการ (ทิเบต: lci-ba'i chos, สันสกฤต: gurudharma, บาลี: garudhamma) ซึ่งรวมถึงลำดับอาวุโสของภิกษุณีจะต่ำกว่าภิกษุเสมอ ไม่ว่าจะบวชเป็นภิกษุหรือภิกษุณีมานานแค่ไหนก็ตาม พระพุทธเจ้าทรงตั้งข้อกำหนดดังกล่าวให้สอดคล้องกับค่านิยมทางวัฒนธรรมของอินเดียในยุคสมัยของพระองค์ เพื่อหลีกเลี่ยงการดูหมิ่นจากสังคมต่อชุมชนของพระองค์และต่อคำสอนของพระองค์ภายหลัง นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงทำเพื่อปกป้องภิกษุณีและให้ได้รับความเคารพจากฆราวาสด้วย ในอินเดียสมัยโบราณ แรกสุดนั้น ผู้หญิงจะอยู่ภายใต้การคุ้มครอง/ดูแลจากบิดา จากนั้นก็สามี และสุดท้ายก็ลูกชายของตน หญิงโสดมักถูกคิดว่าเป็นโสเภณี และมีหลายกรณีในพระวินัยสำหรับภิกษุณีนั้นถูกเรียกว่าเป็นโสเภณี เพียงเพราะพวกเธอไม่ได้อยู่ภายใต้การคุ้มครองของญาติที่เป็นผู้ชายเท่านั้นเอง การที่ภิกษุณีสงฆ์เข้าร่วมกับภิกษุสงฆ์ทำให้สถานะโสดของพวกเขาถูกต้องสมควรน่านับถือในสายตาของสังคมได้

ตามนิกายบางนิกาย การรับครุธรรมก่อกำเนิดการบวชครั้งแรกนี้ ตามนิกายอื่น ๆ กล่าวว่า พระพุทธเจ้ามอบหมายการบวชครั้งแรกของพระนางมหาปชาบดีและผู้ติดตามพระนางที่เป็นสตรี 500 คนให้แก่พระภิกษุ 10 รูปภายใต้การนำของพระอานนท์ แต่ไม่ว่ากรณีใด วิธีมาตรฐานแรกสุดในการบวชภิกษุณีนั้นทำโดยกลุ่มพระภิกษุ 10 รูป การบวชในลักษณะนี้เป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่า “การบวชโดยภิกษุสงฆ์ฝ่ายเดียว” (ทิเบต: pha’i dge-’dun rkyang-pa’i bsnyen-par rdzogs-pa) ขั้นตอนการบวชนี้เกี่ยวข้องกับการถามผู้ที่ต้องการบวชด้วยคำถามเกี่ยวกับอุปสรรค (ทิเบต: bar-chad-kyi chos, สันสกฤต: antarayikadharma, บาลี: antarayikadhamma) ซึ่งอาจขัดขวางไม่ให้ตนรักษาข้อปฏิบัติครบชุดได้ นอกจากคำถามทั่วไปที่ถามผู้ที่ต้องการบวชแล้ว ยังรวมถึงคำถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับกายวิภาคของตนในฐานะเป็นผู้หญิงด้วย

เมื่อผู้ที่ต้องการบวชเป็นภิกษุณีบางคนแสดงความลำบากใจอย่างมากในการตอบคำถามส่วนตัวดังกล่าวกับพระภิกษุ พระพุทธเจ้าจึงทรงกำหนด “การบวชสงฆ์แบบคู่” (ทิเบต: gnyis-tshogs-kyi sgo-nas bsnyen-par rdzogs-pa) อย่างเป็นทางการ ตรงนี้ ภิกษุณีสงฆ์จะถามคำถามเกี่ยวกับความเหมาะสมของผู้ที่ต้องการจะเป็นภิกษุณีก่อน ต่อมาในวันเดียวกันนั้น ภิกษุณีสงฆ์ก็จะร่วมกับภิกษุสงฆ์เพื่อตั้งเป็นที่ประชุมร่วมกัน ภิกษุสงฆ์เป็นผู้ทำการบวช โดยมีภิกษุณีสงฆ์เป็นสักขีพยาน

ในตอนแรก ข้อปฏิบัติสำหรับชุมชนสงฆ์จะมีการหลีกเลี่ยงเฉพาะ “การกระทำที่ไม่น่ายกย่องโดยธรรมชาติ” (ทิเบต: rang-bzhin kha-na-ma-tho-ba) ซึ่งเป็นการกระทำทางกายและทางวาจาที่เป็นไปในทางทำลายสำหรับทุกคนไม่ว่าจะเป็นฆราวาสหรือผู้ที่บวช อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ที่บวช  สิ่งเหล่านี้จะรวมถึงการประพฤติพรหมจรรย์ด้วย เมื่อเวลาผ่านไป พระพุทธเจ้าทรงประกาศใช้ข้อปฏิบัติเพิ่มเติมจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ เกี่ยวกับ “การกระทำที่ไม่น่ายกย่องที่ต้องห้าม” (ทิเบต: bcas-pa’i kha-na ma-tho-ba) ซึ่งเป็นการกระทำทางกายและทางวาจาที่ไม่ได้เป็นการทำลายโดยธรรมชาติ แต่ห้ามเฉพาะสำหรับผู้ที่บวชเท่านั้น เพื่อหลีกเลี่ยงการดูหมิ่นวงการสงฆ์และพระธรรมของพระพุทธเจ้าจากสังคม พระพุทธเจ้าเท่านั้นที่มีอำนาจประกาศใช้ข้อห้ามดังกล่าว ภิกษุณีรับข้อปฏิบัติเพิ่มเติมมากกว่าพระภิกษุ เพราะข้อปฏิบัติเพิ่มเติมแต่ละข้อมีขึ้นหลังจากเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของภิกษุหรือภิกษุณี ข้อปฏิบัติของภิกษุณีนั้นจะรวมถึงข้อปฏิบัติที่บัญญัติขึ้นจากพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของภิกษุณีในการปฏิสัมพันธ์กับพระภิกษุด้วย ในขณะที่ข้อปฏิบัติของพระภิกษุนั้นจะไม่มีข้อกำหนดที่เท่าเทียมกันทั้งสองฝ่ายอยู่ด้วย

Top