ข้อเสียของการมุ่งเน้นความแตกต่างในขั้นทุติยภูมิ
แด่โยมพี่น้องชายหญิงที่รักทั้งหลาย อาตมามีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่มีโอกาสได้สนทนากับพวกท่าน ก่อนอื่น อาตมาจะอธิบายให้ชัดเจนอยู่เสมอว่า เมื่ออาตมาทำการบรรยายใด ๆ โปรดมองตนเองว่าเป็นมนุษย์ผู้หนึ่งเถิด ตรงนี้หมายความว่า ยกตัวอย่างเช่น อย่าคิดว่า “ฉันเป็นชาวสวิส” “ฉันเป็นชาวอิตาเลี่ยน” หรือ “ฉันเป็นชาวฝรั่งเศส” ล่ามแปลภาษาของอาตมาไม่ควรคิดว่าตนเองเป็นชาวฝรั่งเศส! อาตมาเองก็ไม่ควรคิดว่าตนเองเป็นชาวทิเบต นอกจากนั้นแล้ว อาตมาก็ไม่ควรมองว่าตนเองเป็นพุทธศาสนิกชน เพราะตามปกติแล้วในการบรรยายของอาตมา วิธีในการดำเนินชีวิตอย่างเป็นสุขและมีสิ่งรบกวนน้อยลงนั้นตั้งอยู่บนรากฐานของการเป็นมนุษย์คนหนึ่ง
มนุษย์ทุกคนในจำนวนเจ็ดพันล้านคนล้วนต้องการชีวิตที่เป็นสุข และทุกคนล้วนมีสิทธิ์ในการบรรลุเป้าหมายนั้น หากเรามุ่งเน้นความแตกต่างในขั้นทุติยภูมิ เช่นว่า “ฉันเป็นชาวทิเบต” ย่อมทำให้อาตมาดูเกี่ยวข้องกับทิเบตมากขึ้น นอกจากนั้น “ฉันเป็นพุทธศาสนิกชน” ก็ให้ความรู้สึกสนิทชิดเชื้อกับพุทธศาสนิกชนผู้อื่น ซึ่งก่อให้เกิดระยะห่างเล็กน้อยบางประการกับความศรัทธาประเภทอื่น ๆ ในทันที
อันที่จริงแล้ว มุมมองในลักษณะนี้เป็นบ่อเกิดของปัญหา ซึ่งรวมถึงปัญหาทั้งหลายทั้งปวงและความรุนแรงมากมายที่มนุษย์เราได้เผชิญหน้าในอดีตและยังคงเผชิญหน้าต่อไปในศตวรรษที่ยี่สิบเอ็ดนี้ ความรุนแรงไม่มีทางเกิดขึ้น หากท่านมองว่าคนอื่นเป็นมนุษย์เหมือนกับตัวของท่านเอง ไม่มีเหตุผลใดให้เราต้องฆ่ากัน แต่เมื่อเราหลงลืมความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของมนุษยชาติและมุ่งเน้นที่ความแตกต่างในขั้นทุติยภูมิ เช่น “ชาติของฉัน” และ “ชาติของเขา” “ศาสนาของฉัน” และ “ศาสนาของเขา” เราสร้างความแตกต่างและมีความเป็นห่วงผู้คนของเราและผู้ที่นับถือศาสนาของเรามากกว่า จากนั้นเราจึงเฉยเมยต่อสิทธิของผู้อื่นและถึงกับไร้ความเคารพต่อชีวิตของผู้อื่นด้วย ปัญหาหลายอย่างที่เราเผชิญหน้าในปัจจุบันอุบัติขึ้นจากรากฐานดังกล่าวนี้ คือการมุ่งเน้นและให้ความสำคัญกับความแตกต่างขั้นทุติยภูมิมากเกินไปนั่นเอง
ตอนนี้วิธีการบรรเทาเพียงหนึ่งเดียวสำหรับปัญหานี้คือความคิดเชิงตรรกะเกี่ยวกับตัวเราในระดับของความเป็นมนุษย์ ไร้ซึ่งเส้นแบ่งเขตแดนหรือเกราะกำบังใด ๆ ยกตัวอย่างเช่น เมื่ออาตมาทำการบรรยาย หากอาตมาคิดว่าตนเองเป็นพุทธศาสนิกชนชาวทิเบต ยิ่งไปกว่านั้นหากอาตมาคิดว่าตนเองเป็น “สมเด็จองค์ดาไลลามะ” ความคิดเช่นนี้สร้างระยะห่างบางอย่างระหว่างผู้ฟังกับอาตมา ซึ่งเป็นเรื่องโง่เขลา หากอาตมามีความเป็นห่วงเป็นใยความเป็นดีอยู่ดีของท่านด้วยใจจริง อาตมาต้องพูดกับท่านในระดับของความเป็นพี่น้องร่วมมนุษยชาติ ผู้เป็นมนุษย์เช่นเดียวกับอาตมา ที่สำคัญกว่านั้นคือ ทุกคนต่างอยากมีชีวิตเป็นสุขที่ปราศจากทุกข์ และอาตมาก็เป็นเช่นนั้น ฉะนั้นเราจึงจะคุยกันในขั้นนี้
จริยธรรมเชิงโลกียวิสัย
จริยธรรมเชิงโลกียวิสัยสัมพันธ์กับปัจจัยทางชีววิทยาเป็นอย่างมาก แต่ความศรัทธาด้านศาสนานั้นเป็นสิ่งที่มีได้ในหมู่มนุษย์เท่านั้น ท่ามกลางมนุษยชาติ ความศรัทธาก่อเกิดขึ้น ซึ่งไม่ได้เป็นปัจจัยทางชีววิทยาอย่างแน่นอน จริยธรรมเชิงโลกียวิสัยครอบคลุมประชากรทั้งหมดในหมู่มนุษย์เจ็ดพันล้านคน ตามที่อาตมาได้กล่าวไว้เมื่อวาน ในหมู่คนเจ็ดพันล้านคนนี้ มีจำนวนพันล้านคนที่ประกาศอย่างเป็นทางการว่าตนเองเป็นผู้ไม่เชื่อในศาสนา แล้วเมื่อเราคิดถึงว่าอีกหกพันล้านคนที่ว่าเป็นผู้มีศรัทธาในศาสนานั้น ก็ยังมีผู้คนประเภททุจริตอยู่เป็นจำนวนมาก มีทั้งเรื่องอื้อฉาว การเอารัดเอาเปรียบ การทุจริต การโกง การโกหกและการรังแกข่มเหง สิ่งเหล่านี้อาตมาเชื่อว่ามาจากการขาดความเชื่อมั่นในหลักศีลธรรม ดังนั้นแม้แต่ศาสนาก็ถูกนำไปใช้เพื่อจุดประสงค์ที่ผิด ไม่ว่าอาตมาจะกล่าวถึงเรื่องนี้เมื่อวานหรือไม่ก็ตาม บางครั้งอาตมารู้สึกจริง ๆ ว่าศาสนาสอนให้เรากระทำการในลักษณะหน้าไหว้หลังหลอก เราพูดถึงสิ่งดี ๆ อย่าง “ความรัก” และ “ความเห็นอกเห็นใจ” แต่ในความเป็นจริงแล้ว เรามิได้กระทำเช่นนั้น แถมความอยุติธรรมก็มีอยู่มากมาย
ศาสนาพูดถึงสิ่งดี ๆ เหล่านี้ในแบบดั้งเดิม แต่มิใช่ในแบบที่เชื่อมโยงกับหัวใจของท่านจริง ๆ ตรงนี้เกิดจากการขาดหลักศีลธรรมของผู้คน หรือการขาดความเชื่อมั่นเรื่องคุณค่าของหลักศีลธรรม ไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นผู้มีศรัทธาหรือไม่ เราจำเป็นต้องคิดให้จริงจังขึ้นว่าจะให้การศึกษาผู้คนเกี่ยวกับหลักทางศีลธรรมได้อย่างไร นอกเหนือจากนี้แล้ว ท่านสามารถเสริมเรื่องศาสนาเข้าไป แล้วศาสนานั้นจะกลายเป็นศาสนาที่จริงใจอย่างแท้จริง อย่างที่อาตมาได้กล่าวไปเมื่อวานนี้ ศาสนาทั้งปวงกล่าวถึงคุณค่าเหล่านี้ทั้งนั้น
พัฒนาความไม่ยึดติดในด้านของตนเอง
ในศตวรรษที่แล้ว ขณะที่ผู้คนกำลังเข่นฆ่ากัน ทั้งสองฝ่ายต่างสวดอ้อนวอนถึงพระเจ้า ช่างเป็นเรื่องที่ยากลำบากแล้ว! แม้แต่ในปัจจุบันบางครั้งท่านจะเห็นความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในนามศาสนา และอาตมาก็คิดว่าทั้งสองฝ่ายสวดอ้อนวอนถึงพระเจ้า บางครั้งอาตมาพูดอย่างขำ ๆ ว่า ท่าทางพระเจ้าจะทรงสับสนเสียแล้ว! พระองค์จะทรงตัดสินพระทัยอย่างไรในเมื่อทั้งสองฝ่ายสวดถึงพระองค์ ขอพรจากพระองค์ ช่างยากลำบากแล้ว มีครั้งหนึ่งตอนอยู่ที่อาร์เจนติน่า ในระหว่างการอภิปรายกับนักวิทยาศาสตร์และผู้นำศาสนาจำนวนหนึ่ง ถึงแม้จะไม่ใช่การประชุมระหว่างความเชื่อก็ตาม อาตมาได้พบกับนักฟิสิกส์ผู้หนึ่งที่ใช้ชื่อว่า มาทุรานา (Maturana) เขาเป็นอาจารย์ของวาเรล่า (Varela) ผู้ล่วงลับไปแล้ว และอาตมาเคยได้พบเขาที่สวิตเซอร์แลนด์และอีกครั้งที่อาร์เจนติน่า แล้วไม่เคยได้พบเขาอีกเลย ในระหว่างการสนทนานี้เขาบอกว่าในฐานะนักฟิสิกส์ เขาไม่ควรสร้างความยึดติดในด้านวิทยาศาสตร์ของตน นี่จึงเป็นคำกล่าวอันยอดเยี่ยมและปราดเปรื่องที่อาตมาได้เรียนรู้
อาตมาเป็นพุทธศาสนิกชน แต่อาตมาไม่ควรสร้างความยึดติดกับพระพุทธศาสนา เพราะการยึดติดเป็นอารมณ์เชิงลบ เมื่อท่านสร้างความยึดติดขึ้นมาแล้ว มุมมองของท่านเกิดการลำเอียง เมื่อจิตของท่านลำเอียง ท่านย่อมไม่อาจมองสิ่งต่าง ๆ อย่างเป็นกลางได้
จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมผู้ที่เกี่ยวข้องในความขัดแย้งในนามศาสนา สำหรับกรณีส่วนใหญ่อาตมาคิดว่าเหตุผลที่แท้จริงไม่ใช่ศรัทธาด้านศาสนา แต่เป็นเรื่องผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจหรือการเมืองเสียมากกว่า
แต่ในบางกรณี เช่น กลุ่มผู้นับถือนิกายมูลฐานนิยม พวกเขายึดติดกับศาสนาของตนมากเกินไป และด้วยเหตุนั้นจึงไม่อาจมองเห็นคุณค่าของกลุ่มศรัทธาอื่นได้
คำกล่าวของมาทุรานาเป็นคำแนะนำอันยอดเยี่ยมอย่างหนึ่งสำหรับอาตมา ผลลัพธ์ของการได้พบปะผู้คนมากมายคืออาตมาชื่นชมประเพณีอื่น ๆ และแน่นอนว่าอาตมาหวังว่าตนเองไม่ได้เป็นพวกมูลฐานนิยมหรือเป็นคนคลั่ง บางครั้งอาตมาจะเล่าเรื่องที่ว่าครั้งหนึ่งอาตมาเคยไปที่เมืองลูร์ดทางตอนใต้ของฝรั่งเศส อาตมาเดินทางไปในฐานะผู้แสวงบุญ และเบื้องหน้ารูปปั้นของพระเยซูคริสต์ อาตมาฉันน้ำ อาตมายืนอยู่หน้ารูปปั้นและตริตรองนึกถึงผู้คนหลายล้านที่มาเยือนสถานที่แห่งนี้ตลอดหลายศตวรรษ เพื่อมาตามหาความสบายใจ พร้อมกับคนป่วยทั้งหลายที่อาตมาได้ยินว่าพวกเขาได้รับการรักษาจนหายด้วยพลังศรัทธาและพรบางประการ อาตมาตริตรองสิ่งเหล่านี้และรู้สึกได้ถึงความซาบซึ้งอันลุ่มลึกต่อศาสนาคริสต์ ไม่นานนักน้ำตาก็เอ่อล้น และอีกครั้งหนึ่งที่มีเรื่องแปลก ๆ เกิดขึ้นที่ฟาติมา ประเทศโปรตุเกส ท่ามกลางชาวแคธอลิกส์และคริสต์ศาสนิกชนทั้งหลาย พวกเราทำสมาธิอย่างเงียบสงบเป็นเวลาสั้น ๆ ต่อหน้ารูปปั้นขนาดเล็กของพระแม่มารี เมื่ออาตมาและผู้อื่นกำลังจะจากไป อาตมาหันหลังกลับไปและเห็นว่ารูปปั้นของพระแม่มารีกำลังส่งยิ้มมาทางอาตมา อาตมามองแล้วมองอีก ใช่แล้ว นางกำลังยิ้ม อาตมารู้สึกว่าพระแม่มารีคงรับรู้ได้ถึงความไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดของอาตมา หากอาตมาได้ใช้เวลาอภิปรายปรัชญากับพระแม่มารี ไม่แน่ว่าอาจมีสิ่งที่ซับซ้อนกว่านี้เกิดขึ้นก็เป็นได้
อย่างไรก็ตาม การยึดติดแม้แต่กับศรัทธาของตนเองนั้นไม่ใช่เรื่องดี บางครั้งศาสนาก่อให้เกิดความขัดแย้งและการแบ่งแยก ซึ่งเป็นเรื่องที่ค่อนข้างร้ายแรงทีเดียว ศาสนาควรเป็นวิธีในการเพิ่มพูนความความเห็นอกเห็นใจและการให้อภัย อันเป็นวิธีการบรรเทาความโกรธและเกลียดชัง ฉะนั้นหากศาสนาเป็นตัวสร้างความเกลียดชังต่อความเชื่อทางศาสนาอื่น ๆ เองแล้ว ก็เหมือนกับยาที่ควรรักษาอาการเจ็บป่วยที่กลับก่อให้เกิดความเจ็บป่วยมากขึ้นกว่าเดิม เราควรทำอย่างไรดี แท้จริงแล้วสิ่งที่น่าเศร้าทั้งหลายนี้เกิดขึ้นจากการขาดความเชื่อในหลักศีลธรรม อาตมาจึงเชื่อว่าเราจำเป็นต้องมีวิธีปฏิบัติและปัจจัยที่หลากหลายเพื่อสร้างความพยายามมุ่งมั่นอย่างแท้จริงในการส่งเสริมจริยธรรมเชิงโลกียวิสัย
โลกียนิยมและความเคารพต่อผู้อื่น
ทีนี้มาเรื่องจริยธรรมเชิงโลกียวิสัย อาตมารู้จักแอดวานี (Advani) รองนายกรัฐมนตรีชาวอินเดียคนก่อนดีมาก ในโอกาสหนึ่งเขาเล่าว่าทีมโทรทัศน์จากแคนาดาสัมภาษณ์เขาและถามว่ารากฐานของวิถีแบบประชาธิปไตยที่ประสบความสำเร็จในอินเดียคืออะไร เขาตอบว่าในประเทศอินเดียตลอดหลายพันปีมานี้ การเคารพผู้อื่นเป็นธรรมเนียมที่นี่เสมอมา ถึงแม้จะมีข้อโต้แย้งหรือมุมมองที่ต่างกัน เขาบอกอาตมาว่าเมื่อประมาณสามพันปีก่อน กลุ่มจารวาก (Charvaka) หรือมุมมองปรัชญาแบบ “สุญนิยม” (nihilist) ก่อตัวขึ้นในอินเดีย ผู้นับถือมุมมองเชิงปรัชญาของอินเดียกลุ่มอื่นวิพากย์วิจารณ์และรุมประณามมุมมองของพวกเขา แต่ผู้นับถือมุมมองจารวากกลับยังคงได้รับการกล่าวถึงในฐานะ “ฤาษี” (rishi) ซึ่งหมายถึงนักปราชญ์ เรื่องนี้ชี้ให้เห็นว่าแม้มีการไม่เห็นพ้องต้องกัน หรือการอภิปรายอย่างดุเดือด ก็ยังคงมีความเคารพอยู่ ซึ่งหมายความว่าเราต้องเคารพผู้ที่ไม่ศรัทธาในศาสนาด้วยเช่นกัน
เมื่อวานนี้อาตมาเล่าว่าสหายของอาตมาบางคน ซึ่งบางส่วนเป็นชาวคริสต์และบางส่วนเป็นมุสลิม ไม่แน่ใจเกี่ยวกับคำว่า “โลกียนิยม” กันไปเล็กน้อย อาตมาคิดว่าเป็นเพราะระหว่างการปฏิวัติฝรั่งเศส หรือการปฏิวัติรัสเซียเกิดแนวโน้มการต่อต้านศาสนาขึ้น แต่อาตมาอยากจะทำการแยะแยะให้ชัดเจนระหว่างศาสนาและสถาบันศาสนา ซึ่งเป็นสองสิ่งที่ต่างกัน ผู้ที่มีความคิดจะต่อต้านศาสนาได้อย่างไรกัน ศาสนาหมายถึงความรักและความความเห็นอกเห็นใจ และไม่มีใครอาจวิพากษ์วิจารณ์สิ่งเหล่านี้ได้ อย่างไรก็ตาม สถาบันศาสนานั้นแตกต่างออกไป ในช่วงการปฏิวัติฝรั่งเศสและรัสเซีย ในทั้งสองกรณีนี้ชนชั้นปกครองได้ข่มเหงประชาชนส่วนใหญ่จริง ๆ นอกจากนี้ ชนชั้นปกครองยังได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากสถาบันศาสนา ดังนั้นตามตรรกะแล้ว การก่อให้เกิดความมุ่งมั่นต่อต้านชนชั้นปกครองจึงหมายรวมถึงการต่อต้านสถาบันศาสนาด้วย ซึ่งก่อให้เกิดแนวโน้มการต่อต้านศาสนาหรือพระเจ้า
แม้แต่ทุกวันนี้ หากมีการเอารัดเอาเปรียบเกิดขึ้นภายในสถาบันศาสนา รวมถึงชุมชนพุทธศาสนาของทิเบตด้วย เราก็ต้องทำการต่อต้าน การปฏิบัติของอาตมาคือ เมื่อสองปีก่อน อาตมาสิ้นสุดธรรมเนียมที่มีอายุสี่ศตวรรษ ซึ่งแต่งตั้งให้องค์ดาไลลามะเป็นผู้นำในทางโลกและผู้นำศาสนาของชาวทิเบตโดยสมบูรณ์ อาตมาจบธรรมเนียมนี้ลงด้วยความสมัครอย่างเป็นสุขและภาคภูมิ ที่จริงแล้วสิ่งเหล่านี้ก่อให้เกิดความเสียหายต่อคุณค่าที่แท้จริงของศาสนา หรือพระธรรม ดังนั้นเราต้องสร้างความแตกต่างระหว่างสถาบันศาสนาและการปฏิบัติและอนุสาสนีทางศาสนาที่แท้จริง
ตามความเข้าใจเรื่องโลกียนิยมแบบอินเดียแล้ว ไม่เคยมีความรู้สึกแง่ลบต่อศาสนาเลย มีแต่ความเคารพต่อทุกศาสนา พร้อมทั้งความเคารพต่อผู้ที่ไม่ศรัทธาในศาสนาด้วย อาตมาคิดว่าเป็นเรื่องชาญฉลาดมาก เราจะสามารถส่งเสริมความเข้าใจเช่นนี้ได้อย่างไร ด้วยการเทศนาหรือ ไม่ล่ะ ถ้าอย่างนั้นก็ผ่านการสวดมนต์หรือ ไม่ล่ะ แล้วถ้าผ่านทางการศึกษาล่ะ ใช่แล้ว เราได้รับการศึกษาเรื่องสุขอนามัยทางกาย แล้วทำไมจึงไม่ให้การศึกษาเรื่องสุขอนามัยทางอารมณ์และจิตเล่า ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับการดูแลรักษาจิตที่มีสุขภาพดี ไม่จำเป็นต้องพูดถึงพระเจ้า หรือชาติหน้า หรือพระพุทธเจ้า หรือนิพพานใด ๆ เลย เพียงแต่พูดถึงวิธีพัฒนาตนเองให้เป็นผู้มีสุขพร้อมจิต ผู้มีสุขย่อมสร้างครอบครัวที่มีสุข ซึ่งก่อให้เกิดเป็นชุมชนมีสุข ฉะนั้นอาตมาคิดว่าเราจำเป็นต้องมีบทเรียนเกี่ยวกับสุขอนามัยทางอารมณ์
สุขอนามัยทางอารมณ์
สุขอนามัยทางอารมณ์คืออะไร สิ่งนี้หมายถึงการดูแลเอาใจใส่ปัจจัยต่าง ๆ ที่ทำลายจิตอันสงบเงียบ หรือสันติภายในใจนั่นเอง ปัจจัยเหล่านี้เป็นดั่งอาการป่วยทางจิต เพราะอารมณ์เชิงลบเหล่านี้ไม่เพียงแต่ทำลายจิตที่สันติสุขภาพดีแล้ว แต่ยังทำลายความสามารถทางจิตในการตัดสินความเป็นจริงด้วย ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายเป็นอย่างมาก เพราะเมื่อท่านโดนความโกรธเข้าครอบงำเต็มที่ ท่านย่อมไม่อาจมองเห็นความจริงและจิตของท่านย่อมเกิดความลำเอียง ด้วยการยึดติด ท่านจึงไม่สามารถเห็นความจริงที่ถูกต้องได้เช่นกัน นี่จึงเป็นโรคร้ายของจิต ธรรมชาติที่แท้จริงของจิตคือความตระหนักรู้ ฉะนั้นปัจจัยทางจิตใจใด ๆ ที่ลดความสามารถในการตระหนักรู้นั้นจึงถือเป็นสิ่งเชิงลบ
ดังนั้น สุขอนามัยทางอารมณ์จึงเป็นการลดทอนอารมณ์ประเภทดังกล่าวและคงความสามารถทางจิตไว้เพื่อความผ่องแผ้วและความสงบ อันเป็นจิตที่มีสุขภาพดี ในการทำเช่นนี้ ก่อนอื่นเราต้องปลูกฝังและพัฒนาความสนใจในการกระทำเช่นนี้ หากไม่มีความสนใจแล้ว ท่านก็ไม่อาจบังคับให้ผู้อื่นทำได้ ไม่มีกฎหมาย หรือนิติบัญญัติใด ๆ สามารถบังคับให้คนกระทำเช่นนี้ได้ มันต้องมาจากความกระตือรือร้นส่วนบุคคล ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อผู้นั้นเห็นคุณค่าในการทำเช่นนั้น คุณค่าเหล่านี้แลคือสิ่งที่เราสอนได้
การค้นพบทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับจิตและอารมณ์
ทีนี้เรามาลองดูด้านวิทยาศาสตร์ เมื่อก่อน วิทยาศาสตร์สมัยใหม่มุ่งเน้นด้านวัตถุ ซึ่งสามารถวัดปริมาณได้ อาตมาคิดว่าช่วงหลังของศตวรรษที่ยี่สิบและตอนนี้ ซึ่งเป็นช่วงต้นศตวรรษที่ยี่สิบเอ็ด มีนักวิทยาศาสตร์จำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ที่แสดงความสนใจจริงในเรื่องจิตและอารมณ์ของมัน เพราะมีการเชื่อมโยงอย่างเหนียวแน่นระหว่างจิตใจกับอารมณ์ เมื่อพูดถึงสุขภาพ นักวิทยาศาสตร์บางกลุ่มบอกว่า “จิตใจสุขภาพดีคือร่างกายสุขภาพดี” นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ก็กล่าวว่าความหวาดกลัว ความโกรธ และความเกลียดชังที่เกิดขึ้นตลอดเวลานั้นกัดกินระบบภูมิต้านทานของเรา ในขณะที่จิตใจที่มีความเห็นอกเห็นใจมากขึ้นช่วยรักษาและสามารถส่งเสริมร่างกายที่มีสุขภาพดีได้ด้วย อย่างที่เราทราบกันดีว่าผู้คนที่เป็นสุขทางใจได้รับผลกระทบเชิงบวกต่อร่างกายตนเองเป็นอย่างมาก
รับรู้แง่บวกในสถานการณ์แง่ลบ
ในชีวิตของอาตมานั้น เมื่ออาตมาอายุสิบหกปีก็ต้องรับผิดชอบหลายอย่าง และสถานการณ์ก็ยากลำบากขึ้นมาก จากนั้นเมื่ออายุได้ยี่สิบสี่ อาตมาสูญเสียประเทศของตนเองไปและตอนนี้ก็ได้ใช้ชีวิตส่วนใหญ่ในฐานะผู้อพยพ ในระหว่างนี้มีเหตุทุกข์ทรมานและปัญหามากมายเกิดขึ้นภายในทิเบต และผู้คนต่างฝากความหวังและความเชื่อมั่นไว้ในตัวอาตมา แต่อาตมาหมดหนทาง อย่างไรก็ตาม สันติในใจของอาตมาทำให้อาตมามองเห็นสถานการณ์ทั้งหมดนี้จากความเป็นจริงมากขึ้น ตามที่ท่านศานติเทวะได้กล่าวไว้ว่า หากสามารถเอาชนะความยากลำบากทั้งหลายได้ ไม่จำเป็นต้องกังวล และหากมีสถานการณ์ยากลำบากที่ไร้ซึ่งความเป็นไปได้ในการเอาชนะ ก็ไม่มีประโยชน์ที่จะกังวลให้มากเกินไป ซึ่งเป็นสิ่งที่จริงแท้เหลือเกิน อาตมาจึงฝึกปฏิบัติสิ่งเหล่านี้
เป็นเรื่องสำคัญที่จะมองสิ่งต่าง ๆ ในลักษณะความเป็นจริงให้มากขึ้น พร้อมทั้งมองว่าทุกสิ่งทุกอย่างนั้นก็ตามสัดส่วน ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ก็สามารถมีผลแง่บวกได้เสมอ ในกรณีของอาตมาเองนั้น อาตมากลายเป็นผู้อพยพ แต่ด้วยเหตุนี้อาตมาจึงมีโอกาสได้พบปะผู้คนจำนวนมากและเรียนรู้มุมมองที่แตกต่างกันมากมาย อาตมาได้พบกับเหล่าขอทาน ผู้นำ บัณฑิตจากหลากหลายวงการ รวมถึงผู้คนที่ต่อต้านศาสนาด้วย ตรงนี้มีประโยชน์เป็นอย่างยิ่ง เพราะหากอาตมาอยู่แต่ในทิเบต อาตมาคิดว่าความรู้ของอาตมาคงจะมีเพียงครึ่งเดียวของที่มีตอนนี้ ดังนั้นจะว่าไปแล้วนี่ก็เป็นโศกนาฏกรรมอย่างหนึ่ง แต่หากมองอีกทาง สถานการณ์เช่นนี้ก็นำพาโอกาสดี ๆ มากมายมาให้ หากเรามองจากหลากหลายมุม เราก็จะรู้สึกยอมรับได้ สิ่งแย่ ๆ อาจเกิดขึ้น แต่ท่ามกลางสิ่งแย่ ๆ นั้นก็อาจมีสิ่งดี ๆ เช่นกัน
ชาวทิเบตสมัยโบราณค่อนข้างปลีกตัวออกห่างสักหน่อย แต่ตอนนี้ความคิดของพวกเขากว้างขวางขึ้นมาก ในช่วงหลายศตวรรษที่ผ่านมา ชาวทิเบตอาศัยอยู่ในรัฐที่เหมือนหลับใหลอยู่ แต่ตอนนี้พวกเขาตื่นขึ้นแล้ว ช่างเป็นเรื่องดี! เห็นไหมเล่า หากท่านมองจากมุมต่าง ๆ กัน ท่านย่อมพบสิ่งเชิงบวก ตรงนี้ช่วยเรื่องการรักษาสันติในใจได้มากโข ในปัจจุบัน สหายเก่าของอาตมาหลายท่านบอกกับอาตมาว่าหน้าตาอาตมาดูอ่อนเยาว์เพียงใดเวลาพบปะกับพวกเขา สหายบางท่านจึงถามไถ่ถึงความลับของอาตมา อาตมามักบอกพวกเขาไปว่า การนอนหลับแปดถึงเก้าชั่วโมงช่วยเรื่องสันติในใจ จริง ๆ แล้วนี่เป็นหนึ่งในปัจจัยอย่างแน่นอน แต่สิ่งที่เป็นประโยชน์ที่แท้จริงคือสภาวะของจิตและใจของเราที่เงียบและสงบเมื่อเทียบกันแล้ว
จิตที่สงบยังช่วยให้ท่านฟื้นตัวจากสิ่งต่าง ๆ อย่างการผ่าตัดทางการแพทย์ด้วย ตอนที่อาตมาผ่าตัดถุงน้ำดี จริง ๆ แล้วเป็นเรื่องใหญ่มากทีเดียว ภายหลังศัลยแพทย์บอกอาตมาว่า ปกติการผ่าตัดจะใช้เวลาประมาณสิบห้าถึงยี่สิบนาที แต่กรณีของอาตมานั้นรุนแรงมากจนต้องใช้เวลาเกือบสามชั่วโมง เพราะถุงน้ำดีของอาตมาขยายใหญ่โตเกือบสองเท่าของขนาดปกติ แถมยังมีหนองมากด้วย แต่แล้วอาตมาฟื้นตัวภายในห้าวัน เป็นเช่นนั้นเลย ฉะนั้นแล้วจิตที่สงบและทัศนคติเชิงบวกจึงช่วยเหลือการรักษาร่างกายสุขภาพดีได้มากจริง ๆ และถึงแม้ว่าจะมีบางอย่างดำเนินผิดพลาดไป ท่านก็ย่อมฟื้นตัวได้รวดเร็วมากขึ้น สันติในจิตจึงเป็นปัจจัยที่สำคัญอย่างมากสำหรับสุขภาพที่ดี
ความงามภายในกับความงามภายนอก
อาตมาขอเสริมในเชิงกึ่งตลกกึ่งหยอกล้อว่าสุภาพสตรีบางท่านชอบใช้เงินจำนวนมากไปกับเครื่องสำอาง สุภาพสตรีบางท่านใช้สีต่าง ๆ แต่งแต้มบนใบหน้า ไม่ว่าจะเป็นสีฟ้า สีเขียว และสีอื่น ๆ ซึ่งไม่ทำให้ดูดีนัก แต่พวกเธอคิดว่ามันสวยงามเหลือเกิน! ดูเหมือนว่าคนเรามักให้ความสนใจกับความงามภายนอกมากกว่า ในการบรรยายสาธารณะวันก่อน สุภาพสตรีท่านหนึ่งมีผมสีฟ้า ซึ่งดูผิดแปลกไปจากธรรมดาอยู่มาก แน่นอนว่าอาตมาหยอกล้อเธอเล่นและบอกว่าผมสีฟ้าก็ไม่ใช่ว่าสวยเสมอไป! แน่นอนว่าความงามภายนอกเป็นสิ่งสำคัญ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือความงามภายใน สุภาพสตรีที่หมดเงินจำนวนมากไปกับความงามภายนอก โปรดใส่ใจกับความงามภายในด้วยเถิด ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีกว่ามาก!
จิตและอารมณ์ในรูปแบบวิชาเชิงวิชาการ
เรากำลังพูดถึงการค้นพบทางวิทยาศาสตร์อยู่ สันติทางจิตที่แท้จริงนั้นมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง พื้นฐานของสันติในจิตคือความมั่นใจในตนเองและกำลังภายใน ซึ่งมาจากการปฏิบัติความรักและความเห็นอกเห็นใจ โดยมีความเคารพต่อผู้อื่นและเป็นห่วงเป็นใยความอยู่ดีมีสุขของพวกเขา เช่นนี้คือจริยธรรมเชิงโลกียวิสัย
ตั้งแต่ระดับอนุบาลไปจนถึงมหาวิทยาลัย เราสามารถให้การศึกษาเรื่องจิตและเรื่องวิธีการดูแลเอาใจใส่อารมณ์ของเราได้ วิชานี้เป็นวิชาที่กว้างใหญ่ไพศาล มีคำอธิบายมากมายเกี่ยวกับจิตและอารมณ์ รวมถึงการเชื่อมโยงกันระหว่างทั้งสองอย่าง เราสามารถเห็นเหตุและผลกระทบประเภทหนึ่งได้เลย กล่าวคือ หากสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นในส่วนหนึ่งของจิต จะมีอีกสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นอีกที่หนึ่ง ดังนั้นในการจัดการกับเรื่องนี้ เราจึงจำเป็นต้องพิจารณาอย่างจริงจังเกี่ยวกับลักษณะการเชื่อมโยงสัมพันธ์กันของจิตและสมองทั้งหมด
จริง ๆ แล้ววิชาอันกว้างใหญ่ไพศาลนี้มีความคุ้มค่าทางด้านวิชาการเป็นอย่างมาก ภายในช่วงสองสามปีที่ผ่านมาในอเมริกา มีนักวิทยาศาสตร์จำนวนหนึ่งได้ทำการทดลองต่าง ๆ โดยอิงจากข้อมูลนี้ และการทดลองบางตัวได้ชี้ให้เห็นถึงผลลัพธ์อันเป็นที่ประจักษ์ชัด ผลที่ตามมาคือตอนนี้มีโปรแกรมการศึกษาต่าง ๆ สอนเรื่องจริยธรรมเชิงโลกียวิสัย นอกจากนั้น ขณะนี้เรายังมุ่งมั่นที่จะสร้างหลักสูตรการเรียนรู้ฉบับร่างเกี่ยวกับจริยธรรมเชิงศีลธรรม โดยอิงจากโลกียนิยม ซึ่งสามารถรวมอยู่ในด้านการศึกษาเชิงโลกียวิสัย
ผู้ฟังทั้งหลาย โดยเฉพาะท่านที่เป็นนักการศึกษาและนักคิดที่นั่งอยู่ในนี้ พึงขบคิดเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องนี้เถิด และหากมีโอกาส ควรจัดการอภิปรายเรื่องนี้ ในขณะนี้ระบบการศึกษาดูจะขาดบทเรียนเรื่องจริยธรรมเชิงศีลธรรมไป ทำให้ผู้คนส่วนใหญ่ต้องพึ่งพาหลักคำสอนของศาสนาสำหรับเรื่องนี้ แน่นอนว่านี่เป็นเรื่องดี แต่ยังมีผู้คนที่ไม่สนใจเรื่องศาสนาและมองว่าการยอมรับแนวคิดเชิงศาสนาเป็นเรื่องยากอีกเช่นกัน จุดนี้จึงสร้างความยากลำบากขึ้น ดังนั้น เราจึงต้องหาทางที่เป็นโลกียวิสัย ซึ่งเป็นที่ยอมรับได้อย่างสากล
จบเพียงเท่านี้ ตอนนี้ถึงเวลาคำถาม
คำถาม
กราบทูลองค์สมเด็จ ในความคิดเห็นสุดท้าย ท่านทรงแตะประเด็นคำถามที่ข้าพเจ้าจะเรียนถามท่านพอดี แต่เพื่อให้ได้คำตอบอย่างสมบูรณ์ ข้าพเจ้าจะถามคำถามนี้อีกครั้ง หากทรงไม่ขัด สำหรับเรื่องการสอนจริยธรรมเชิงโลกียวิสัยในโรงเรียนและมหาวิทยาลัย ท่านทรงกำลังพัฒนาโปรแกรมการสอนที่เหมาะสมกับผู้ใดอยู่หรือเปล่า ถ้าเป็นอย่างนั้น ท่านทรงมีสถาบันการศึกษาหรือสถานบันการเงินที่หนุนหลังท่านอยู่หรือไม่
ในประเทศอินเดีย ด้วยความช่วยเหลือจากมหาวิทยาลัยบางแห่งในเดลี พวกเราได้เริ่มสร้างหลักสูตรฉบับร่างแล้ว ตามที่อาตมาได้กล่าวไว้ก่อนหน้านี้ จากนั้นพวกเรายังมีสถาบันจิตใจและชีวิต (Mind and Life Institute) ส่วนในอเมริกา สมาชิกด้านต่าง ๆ ตามสถานที่อย่าง มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน มหาวิทยาลัยเอมอรี่ มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด (Wisconsin University, Emory University, Stanford University) และอื่น ๆ ได้ดำเนินการสอนการศึกษาพร้อมจริยธรรมเชิงโลกวิสัยแล้ว แล้วก็มีสถาบันนี้ที่เราได้ขยายในยุโรปแล้ว ในอีกไม่ช้าเราอยากจะตั้งสถาบันในหรือใกล้ ๆ เดลี ในขณะนี้เราเพียงแค่พยายามมุ่งมั่นทำเรื่องนี้ เมื่อหลักสูตรพร้อมเมื่อใด บางทีเราอาจสามารถอบรมอาจารย์ และอาจจะมีอะไรเกิดขึ้นก็ได้ อาจคุ้มค่าก็เป็นได้ เดี๋ยวเราก็รู้
กราบทูลองค์สมเด็จ ข้าพเจ้ารักโลกแห่งนี้และทุกอย่างที่ประกอบเป็นที่แห่งนี้ ทั้งผืนดินและพืชพรรณและเหล่าสัตว์ และมนุษย์ที่น่าอัศจรรย์อย่างพวกเรา แต่มนุษย์เหล่านี้คอยบ่อนทำลายดาวแห่งนี้อยู่เสมอ บางทีอาจเกิดจากการทำสิ่งเล็กขี้ปะติ๋วง่าย ๆ อย่างการซื้อขวดน้ำพลาสติก และสิ่งที่ใหญ่และสำคัญขึ้นมาอย่างการตัดไม้ทำลายป่า ข้าพเจ้าทราบดีว่าต้องมีความอดทน แต่เมื่อข้าพเจ้าเห็นอย่างนี้แล้ว เมื่อข้าพเจ้าเห็นว่าชีวิตกำลังตายจากไปและทุกข์ทรมาน ความโกรธรุนแรงก่อตัวขึ้นในมวลท้องของข้าพเจ้าและข้าพเจ้าอยากจะต่อสู้ เพราะฉะนั้นคำถามของข้าพเจ้าคือ มีความโกรธที่เป็นเชิงบวกทางสุขภาพหรือไม่ ข้าพเจ้าสามารถสู้ด้วยความรักได้หรือไม่
ความโกรธ อย่างที่อาตมาได้กล่าวไว้ก่อนหน้านี้ เกี่ยวข้องกับแรงจูงใจ ดังนั้นความโกรธที่มาจากความเป็นห่วงเป็นใยในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือผู้อื่นนั้นก็เรื่องหนึ่ง และความโกรธที่มีแรงจูงใจจากความเกลียดชังก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่แตกต่างออกไปเป็นอย่างมาก
กราบทูลองค์สมเด็จ ท่านได้รับสั่งเกี่ยวกับผู้มีศรัทธากว่าหกพันล้านคนและอาจมีผู้ไม่เชื่อในศาสนาอีกพันล้านคนบนโลกนี้ ข้าพเจ้ามีความรู้สึกว่ามีคนกลุ่มที่สามที่ไม่รู้สึกสะดวกใจกับศาสนาตามแบบสถาบันดั้งเดิมแล้ว แต่ก็ไม่ใช่ผู้ที่ไม่เชื่อในศาสนา และพวกเขากำลังตามหาความเชื่อเรื่องจิตและวิญญาณที่อยู่นอกเหนือศาสนาเชิงสถาบัน ท่านทรงมีคำแนะนำอย่างไรสำหรับพวกเขา
เมื่อหลายปีก่อนในสต็อกโฮล์ม อาตมาได้พบกับคนกลุ่มเล็ก ๆ กลุ่มหนึ่ง พวกเขาไม่ได้เห็นชอบกับจารีตประเพณีหรือศาสนาที่ดำรงอยู่ แต่ยังคงมองหาความเชื่อเรื่องจิตและวิญญาณบางประเภทต่อไป ใช่แล้ว มีคนพวกนี้อยู่จริง อย่างไรก็ตาม อาตมาพบว่าสิ่งที่ท่านเรียกกันว่า “นิวเอจ (new age)” หรือการนำข้อมูลจากตรงนั้นนิดตรงนี้หน่อยมารวมกันเพื่อสร้างการหลอมรวมกว้าง ๆ ไม่ใช่สิ่งที่มีประโยชน์นัก!
อาตมาคิดว่าการมุ่งเน้นสิ่งที่มากกว่าการตอบสนองความต้องการทางวัตถุของตนเองนั้นเป็นเรื่องดี แต่การพยายามและค้นหาคุณค่าที่ลึกลงไปยิ่งกว่านั้นเป็นเรื่องที่ดีมาก จึงเป็นการดีที่จะวิเคราะห์ชีวิตของเรา และพิจารณาให้เห็นว่าความสุขของเราไม่ได้มาจากความพึงพอใจด้านความรู้สึกแต่อย่างใด กล่าวคือ ยามดนตรีบรรเลง ท่านรู้สึกพึงพอใจ แต่หากดนตรีหยุด ความพึงพอใจนั้นก็หยุดไปด้วย ในระดับจิตแล้ว การมีความศรัทธาและความความเห็นอกเห็นใจอันยิ่งใหญ่นั้น ความพึงพอใจที่มาจากตรงนี้อยู่ยั้งยืนยงมากกว่าหลายเท่า
สำหรับท่านแล้ว อะไรเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิตของมนุษย์
อาตมามักบอกผู้คนอยู่เสมอว่า จุดประสงค์และเป้าหมายที่แท้จริงของชีวิตคือการมีชีวิตที่เป็นสุข ทีนี้ในการบรรลุความสุข หรือความเบิกบานใจนั้น ไม่ควรผูกติดอยู่กับอายตนะและประสบการณ์เชิงความรู้สึกสัมผัส หากแต่ควรผูกอยู่กับสภาวะของจิต ฉะนั้นตามที่อาตมาพูดอยู่เสมอ เราต้องใส่ใจกับค่านิยมภายในให้มากขึ้น เจริญพร