จริยธรรมสากลคืออะไร?

Uv what are universal values

ความหมายของจริยธรรมสากล

ทำไมเราถึงต้องมีคำว่า “จริยธรรมสากล”?  สากล มีความหมายในลักษณะของสิ่งที่ทุกคน ไม่ว่าจะเป็นผู้มีจิตศรัทธาหรือไม่ก็ตาม สามารถยอมรับได้  ไม่ว่าจะเป็นผู้นับถือศาสนาฮินดู อิสลาม คริสต์ พุทธ ยิว หรือเชน หรืออะไรก็ตาม ก็สามารถยอมรับคุณค่าเหล่านี้ได้  ไม่ว่าจะเป็นนักวิทยาศาสตร์หรือไม่ มีการศึกษาหรือไม่ ทุกคนสามารถยอมรับคุณค่าเหล่านี้ได้และเห็นความสำคัญที่จะปฏิบัติตามคุณค่าเหล่านี้เพื่อความสุขของตัวเอง  นั่นคือส่วนที่เป็นสากล  จริยธรรม เป็นวิธีการปฏิบัติตัว ซึ่งโดยการมีส่วนร่วม จะทำให้คุณกลายเป็นคนที่มีความสุขและช่วยสนับสนุนความสุขของผู้อื่น  ชุมชนมีความสุขและคุณเองก็จะมีความสุข  ทั้งสองอย่างนี้รวมกันเป็นจริยธรรมสากล

มนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของทั้งหมดที่เราเรียกว่า จักรวาล ซึ่งเป็นส่วนที่จำกัดอยู่ในเวลาและพื้นที่  เขาประสบตัวเอง ความคิดและความรู้สึกของเขาเองราวกับว่าเป็นสิ่งที่แยกออกจากส่วนที่เหลือ เป็นเหมือนภาพลวงตาของการรับรู้ของเขา  ภาพลวงตาดังกล่าวเป็นเหมือนคุกสำหรับเรา ปิดกั้นให้เราอยู่กับความปรารถนาส่วนตัวและความรักใคร่สำหรับผู้คนเพียงไม่กี่คนที่อยู่ใกล้เรา  หน้าที่ของเราคือการปลดปล่อยตัวเองออกจากคุกนี้ โดยการขยายขอบเขตความเห็นอกเห็นใจของเราให้ครอบคลุมสิ่งมีชีวิตทั้งหมดและธรรมชาติทั้งมวลในความสวยงามของมันเอง – อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์

ไอน์สไตน์กำลังกล่าวว่าปัญหาทั้งหมดที่เราประสบนั้นเกิดจากความคิดเชิงแคบที่คุมขังโดยตัวเอง จากการคิดถึงแต่ตัวเองและกลุ่มคนในวงแคบ และลืมสิ่งอื่นในจักรวาลไป  เขาพูดว่าการยึดติดกับวงกลมภายในขนาดเล็กนี้เป็นเพียงแค่ภาพลวงตา  ทำไม?  นั่นเป็นเพราะว่าเราทุกคนล้วนมีความเชื่อมโยงกัน  เราจะออกไปจากคุกนี้ได้อย่างไร?  เขาบอกว่าเราต้องขยายขอบเขตของความเห็นอกเห็นใจให้ครอบคลุมผู้อื่น และถ้าผู้อื่นขยายขอบเขตความเห็นอกเห็นใจมาหาเรา พวกเราทุกคนก็จะมีความสุข  นั่นคือสิ่งที่เขาพยายามสนับสนุน

เพราะเหตุใดจึงต้องปฏิบัติจริยธรรม?

จริยธรรมคือการกระทำของมนุษย์ที่ทำด้วยความสำนึกและนำไปสู่ความสามัคคี ความสันติ และความสุขที่ยิ่งใหญ่ภายในบุคคลและสังคมโดยรวม  ไม่ว่าคนเราจะประสบกับความสุขหรือทุกข์ เราสามารถพิจารณาสิ่งเหล่านี้ว่าเป็นผลลัพธ์ของการกระทำของเรา ซึ่งย่อมมาคู่กับสิ่งที่เราแสวงหา  การกระทำทั้งหมดได้รับการขับเคลื่อนโดยความคิดและอารมณ์ของเรา  ความคิดที่ขัดกับจริยธรรมทำให้เกิดการกระทำที่ส่งผลลัพธ์อันไม่พึงประสงค์ตามที่เห็นได้ในโลกปัจจุบัน ซึ่งเกิดขึ้นจากความล้มเหลวของเราในการทำความเข้าใจความสัมพันธ์เชิงสาเหตุที่เหมาะสมของสิ่งเหล่านี้

  • ความคิดและอารมณ์
  • การกระทำของเรา
  • ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นตามมาในรูปแบบของความสุขและความเจ็บปวด

เราอาจมีปณิธานในการแสวงหาความสุข แต่ได้รับการขับเคลื่อนโดยความคิดกลุ่มหนึ่ง เราดำดิ่งสู่การกระทำที่เกิดแต่ความเจ็บปวดและความทุกข์  ดังนั้นเราจึงต้องมีความรู้อย่างเหมาะสมว่าจิตสำนึกคืออะไร ความคิดและอารมณ์คืออะไร และท้ายที่สุดกลไกที่ความคิดและประเภทของจิตสำนึกเหล่านี้กำกับการกระทำของเราและทำให้เกิดผลลัพธ์เฉพาะตัวคืออะไร  จากนั้นเราก็จะมีปัญญาในการหล่อเลี้ยงวิธีคิดที่อำนวยความสะดวกในการกระทำที่นำไปสู่ผลลัพธ์ที่เราต้องการ และยกเลิกความคิดประเภทที่ลดระดับการกระทำของเราได้  นี่คือจริยธรรม และสิ่งสำคัญในหลักการทั้งหมดของจริยธรรมก็คือ ความเห็นอกเห็นใจ

เพราะฉะนั้นสิ่งที่ทำให้เกิดความสุขและความทุกข์คือก็จิตของเราเอง สิ่งนี้ยังขึ้นอยู่กับอารมณ์ที่ขับเคลื่อนและปัจจัยทางอารมณ์ด้วย  อารมณ์ขับเคลื่อนความคิดของเรา และความคิดก็ขับเคลื่อนการกระทำของเรา  อารมณ์ที่ทำให้เกิดความสุขคือ “อารมณ์เชิงบวก”  หากมองในเชิงสากลแล้ว เราไม่สามารถพูดถึง “บาปหลัก” หรืออย่างนั้นอย่างนี้ที่เป็นหลักได้  เราต้องพูดในแบบที่เป็นสากลมาก ในระดับสากลนั้นเราสามารถพูดได้ว่าสิ่งที่ทำให้เกิดความสุขที่แท้จริงคืออารมณ์เชิงบวก และสิ่งที่ทำให้เกิดทุกข์คือ อารมณ์เชิงทำลาย  เราจำเป็นต้องศึกษาและเรียนรู้อารมณ์เหล่านี้ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนที่จิตใจ  เราจำเป็นต้องฝึกอบรมผู้คนด้วยแผนที่ดังกล่าวนี้

การสอนจริยธรรมสากลในระบบโรงเรียน

เราจะสามารถทำให้ผู้คนกระตือรือร้นเกี่ยวกับการสอนที่เปี่ยมความหมายสำหรับรายบุคคลและชุมชนได้อย่างไร?  สำหรับบางคนจริยธรรมตั้งอยู่บนความรู้สึกของความเกรงกลัวพระเจ้า  สำหรับบางคนที่ไม่เชื่อในพระเจ้า แต่เชื่อเรื่องกรรมก็จะคิดว่า เมื่อดูจากเรื่องกรรมแล้ว เราควรระมัดระวังและปฏิบัติตัวให้ดี  แต่ก็ยังมีผู้คนที่ไม่เชื่อทั้งพระเจ้าและเรื่องกรรมอีก  หากไม่มีแนวคิดเกี่ยวกับพระเจ้าและกรรมแล้ว เราจะสามารถโน้มน้าวผู้คนให้เปิดใจรับจริยธรรมได้อย่างไร?  ในการนี้สมเด็จองค์ดาไลลามะทรงคิดสามประเด็นนี้ขึ้นมา

  • ประสบการณ์ร่วมกัน
  • สามัญสำนึก
  • การค้นพบทางวิทยาศาสตร์

จากสามประเด็นนี้ ท่านสมเด็จทรงเสนอสามขั้นตอนในการสอนจริยธรรมสากลในระบบการศึกษาสมัยใหม่

ตัวอย่างของการสอนโดยอิงจากประสบการณ์ร่วมกัน ไม่ว่าจะสอนผู้มีจิตศรัทธาหรือไม่ก็ตาม คือการให้นมบุตรของแม่  นี่เป็นประสบการณ์ร่วมกันที่ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องทางศาสนาหรือหลักปรัชญาใด ๆ เลย  นี่เป็นความรักและความอาทรอันบริสุทธิ์ที่เราได้รับจากแม่  ความรักและความอาทรสร้างความเชื่อใจและมั่นใจระหว่างแม่และลูก ซึ่งสามารถสลายได้ทุกอย่าง  อารมณ์เชิงทำลายก็สลายไปและความวุ่นวายทั้งหลายในโลกก็สลายตัวไปเช่นกัน  เหลือไว้แต่เพียงความรักและความอาทร  การก่อการร้าย การกีดกันทางเพศ และช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจนดำรงอยู่ได้เพราะการขาดความรักและความอาทรต่อผู้อื่น

สามัญสำนึกคือเวลาที่เราเห็นว่าเมื่อคนคนหนึ่งเปี่ยมไปด้วยความรัก เขาก็มีเพื่อนมากขึ้น เขารู้สึกสบายใจ และรู้สึกว่าทุกคนรอบตัวเขาเป็นเหมือนพี่น้องของตน  เมื่อเราไม่รู้สึกถึงความรักและความอาทรต่อผู้อื่นแล้ว ต่อให้เราอยู่ที่บ้าน เราก็จะไม่รู้สึกสบายใจ  แม้แต่พี่น้องของเราเองก็ยังดูเหมือนศัตรูได้  เมื่อมองจากมุมมองของสามัญสำนึกแล้ว เราจำเป็นต้องเชื่อมั่นว่าความรักและความอาทรเป็นแก่นของจริยธรรมสากล

สุดท้าย คือการค้นพบทางวิทยาศาสตร์  ยกตัวอย่างเช่น การทดลองที่ให้ลูกลิงอยู่แยกจากแม่ลิง โดยไม่ให้ลูกลิงได้รับการดูแลจากแม่มันเลย  เมื่อลูกลิงตัวนี้โตขึ้น มันก็มีความก้าวร้าว  มันไม่รู้ว่าต้องเล่นกับตัวอื่นอย่างไร นอกเสียจากการป้องกันตัวเองและการต่อสู้กับตัวอื่น  ในขณะที่ลูกลิงที่มีแม่เลี้ยงดูมาเติบโตขึ้นมาเป็นลิงที่มีความสุขและขี้เล่น

จากพื้นฐานของแนวคิดทั้งสามอย่างนี้ ท่านสมเด็จทรงแสดงความคิดเห็นว่า ความรักและความอาทรอันแท้จริง ซึ่งเป็นแก่นของจริยธรรม คือสิ่งที่สมควรได้รับการปลูกฝังในจิตใจของทุกคน

ถือตัวตนแบบสากลในฐานะมนุษย์

ความท้าทายอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นในการเกริ่นนำสู่จริยธรรมสากลคือการระบุตัวตนของพวกเรา  เมื่อเรารู้สึกว่า “ฉันเป็นคนทิเบต ฉันเป็นคนจีน ฉันเป็นชาวพุทธ ฉันเป็นชาวฮินดู” เมื่อนั้นการยึดติดกับการระบุตัวตนของเราก็เกิดขึ้น ซึ่งนำไปสู่ความเกลียดชังผู้อื่นอย่างเลี่ยงไม่ได้  นี่เป็นความท้าทายอันใหญ่หลวงและเป็นเรื่องที่สำคัญมาก

คนคนหนึ่งอาจมีการระบุตัวตนเป็นร้อยเป็นพันแบบก็ได้  ยกตัวอย่างเช่น เขาอาจบอกว่าเป็นผู้ชาย จากตรงนี้ก็จะเกิดลัทธิคลั่งความเป็นชาย  เมื่อมีลัทธิคลั่งความเป็นชาย ก็จะต้องพูดถึงลัทธิสตรีนิยม  หากเขาคิดว่าเป็นพุทธศาสนิกชน งั้นคุณก็ไม่ใช่พุทธศาสนิกชน  ถ้าเขาเป็นฮินดู หรือเป็นมุสลิม งั้นคุณก็ไม่ใช่ฮินดู หรือไม่ใช่มุสลิม  นอกเสียจากว่าคนคนนั้นจะวิวัฒนาการไปขั้นสูงมากแล้ว ก็ย่อมมีอันตรายหรือแนวโน้มที่จะยึดติดกับการระบุตัวตนที่มีความสำคัญน้อยกว่าในฐานะการระบุตัวตนที่สำคัญที่สุด  ลัทธิพื้นฐานนิยมและลัทธินิยมความรุนแรงเกิดขึ้นจากการยึดติดการระบุตัวตนที่สำคัญน้อยกว่าในฐานะสิ่งสูงสุดนั่นเอง

ทำไมเราทุกคนไม่ระบุตัวเองว่าเป็นมนุษย์?  หากสิ่งมีชีวิตต่างดาวบุกมายิงเรา เพราะว่าเรามาจากดาวโลก ถ้าอย่างนั้นพวกเราทุกคนก็มีการระบุตัวตนเป็นชาวโลกและพวกเราก็รวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้  ทำไมเราถึงต้องรอให้ปัจจัยที่สามสร้างการระบุตัวตนของเราขึ้นมา?  ทำไมเราถึงไม่สร้างการระบุตัวตนของตัวเองเสียตอนนี้เลย?  การระบุตัวตนแบบใดที่ทำให้เรามีความสุขขึ้นและโลกของเรามีความสุขขึ้น?  การยึดถือตัวตนในฐานะมนุษย์ผู้หนึ่งทำให้เรามองเห็นว่าเรามีความสุขขึ้นและเห็นคนทุกคนเป็นพี่น้องกับเรา

Top