พระพุทธเจ้าตามประวัติศาสตร์
ตามพุทธประวัติดั้งเดิมส่วนใหญ่แล้ว บุรุษที่ก้าวขึ้นมาเป็นพระพุทธเจ้าทรงประสูติในตระกูลชั้นสูงศากยะ ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของประเทศอินเดียในศตวรรษที่ 5 ก่อนยุคสามัญ พระองค์ทรงมีพระนามว่า สิทฺธตฺถ โคตม ในงานเลี้ยงฉลองพระประสูติกาล มีฤษีปราดเปรื่องผู้หนึ่งนามว่า อสิตะ ประกาศว่าพระราชกุมารน้อยจะทรงกลายเป็นกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ หรือไม่ก็เป็นบรมอาจารย์ทางศาสนาผู้ยิ่งใหญ่ พระราชบิดาของเจ้าชายสิทฺธตฺถ ซึ่งมีพระนามว่าพระเจ้าสุทโธทนะ และเป็นผู้นำตระกูลศากยะทรงหวังเป็นอย่างยิ่งให้พระโอรสเดินตามรอยเท้าของตน จึงทรงตัดสินใจกันพระโอรสออกจากทุกสิ่งที่อาจทำให้พระองค์หันเหไปจากเส้นทางของการเป็นมหากษัตริย์
เจ้าชายสิทฺธตฺถในวัยเยาว์จึงถูกเก็บตัวอยู่ในพระราชวังของครอบครัวและเติบโตมาพร้อมกับความหรูหราอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นเพชรพลอยล้ำค่า หญิงงาม สระบัว และสวนสัตว์ทั้งหลาย พระองค์ทรงได้รับการปกป้องมิให้พบความเศร้าโศกและความโชคร้ายทุกประเภท แม้แต่คนป่วยและคนชราก็ไม่ได้รับอนุญาติให้ย่างกรายเข้ามาในวัง เมื่อเวลาผ่านไป เจ้าชายสิทฺธตฺถทรงแตกฉานในด้านการศึกษาและกีฬา พระองค์ทรงอภิเษกสมรสกับพระนางยโสธาราและทรงมีพระราชโอรสหนึ่งองค์ ตั้งพระนามว่า พระราหุล
ในช่วงเวลาเกือบ 30 ปีนี้ เจ้าชายสิทฺธตฺถทรงใช้ชีวิตอยู่อย่างหรูหรา แต่ทรงมีความสงสัยใคร่รู่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ มีอะไรอยู่นอกกำแพงวัง “หากแผ่นดินนี้จะต้องเป็นของข้าพเจ้าจริง” พระองค์ทรงคิด “ถ้าอย่างนั้นข้าพเจ้าก็ควรจะได้เห็นมันและผู้คนของข้าสิ” ในที่สุดพระเจ้าสุทโธทนะจึงทรงจัดให้พระโอรสได้เสด็จออกไปทัศนศึกษานอกรั้ววัง ท้องถนนทั้งหลายได้รับการทำความสะอาด คนเจ็บป่วยและแก่ชราถูกนำไปซ่อนไว้ และเจ้าชายสิทฺธตฺถก็ทรงนั่งรถผ่านถนนเหล่านั้น โดยมีสารถีนามว่า ฉันนะ ผู้คนต่างพากันโบกมือและส่งรอยยิ้มให้พระองค์ แต่กระนั้นแล้ว เจ้าชายสิทฺธตฺถทรงสังเกตเห็นสิ่งมีชีวิตที่ตัวโค้งงอและเต็มไปด้วยรอยเหี่ยวย่นในหมู่ผู้คนที่เรียงรายอยู่ข้างถนน พระองค์ทรงรู้สึกทึ่งและตกใจในขณะเดียวกัน จึงตรัสถามฉันนะว่าเกิดอะไรขึ้นกับผู้น่าสงสารนี้ “ที่พระองค์เห็นตรงหน้าคือคนแก่ชรา เป็นเรื่องที่ล้วนรอเราทุกคนอยู่” ฉันนะตอบ หลังจากนั้นเจ้าชายสิทฺธตฺถได้ทอดพระเนตรเห็นคนป่วยและศพ ซึ่งเปิดตาให้พระองค์ได้ทรงเห็นถึงด้านที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่เป็นเรื่องปกติสุดๆของชีวิต ซึ่งย่อมต้องเกิดขึ้นกับพระองค์ในที่สุด
ในที่สุดพระองค์ทรงได้พบกับบรรพชิตรูปหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้ที่เสาะหาการหลุดพ้นจากความทุกข์ทรมาน สามสิ่งแรกที่เห็นเหล่านี้ทำให้เจ้าชายสิทฺธตฺถทรงตระหนักได้ว่าพระองค์ทรงถูกหลอกโดยชีวิตในวังที่บังตาจากความทุกข์ทั้งปวง การทอดพระเนตรเห็นบรรพชิตทำให้พระองค์ทรงเห็นถึงความเป็นไปได้ในการหาทางออกจากความทุกข์
มันเป็นไปได้ค่อนข้างยากที่เจ้าชายสิทฺธตฺถจะไม่เคยพบกับคนป่วยหรือคนชรามาก่อนหน้านี้เลย แต่เหตุการณ์นี้แสดงให้เห็นถึงการที่พระองค์ และจริง ๆ รวมถึงตัวพวกเราทั้งหลายด้วย มักใช้ชีวิตโดยไม่ใส่ใจกับความทุกข์ทรมานเหล่านี้ เมื่อเสด็จกลับไปยังวัง เจ้าชายสิทฺธตฺถทรงรู้สึกไม่สบายพระทัยเป็นอย่างมาก พระองค์ทรงได้ใช้ชีวิตอย่างสุขสบายท่ามกลางคนที่รักพระองค์ แต่ตอนนี้พระองค์จะทรงเพลิดเพลินหรือพักผ่อนหย่อนใจต่อไปได้อย่างไร เมื่อได้รู้ว่าวันหนึ่งพระองค์และพวกเขาเหล่านั้นย่อมต้องแก่เฒ่า เจ็บป่วย และล้มตายจากไป ด้วยความร้อนรนที่จะหาทางออกให้ทุกคน พระองค์จึงทรงหนีออกจากวังในตอนกลางคืน และออกไปใช้ชีวิตของนักพรตเพณจร
เจ้าชายสิทฺธต์ถทรงได้พบกับอาจารย์ที่ยอดเยี่ยมมากมาย และการชี้นำของอาจารย์เหล่านี้ก็ช่วยให้พระองค์ทรงบรรลุสมาธิขั้นสูงมากผ่านการบำเพ็ญภาวนา กระนั้นแล้ว พระองค์ก็ทรงรู้สึกไม่พอพระทัย เพราะสมาธิขั้นต่าง ๆ มิได้นำไปสู่จุดจบของความทุกข์ พระองค์จึงทรงบำเพ็ญตบะ ทรงอดอาหารและและความสะดวกสบายทางกายภาพทั้งหมด และทรงอุทิศเวลาส่วนใหญ่ให้กับการฝึกสมาธิ เมื่อได้ทรงปฏิบัติเช่นนี้มาเป็นเวลาหกปี ร่างกายของพระองค์ก็ซูบผอมคล้ายกับโครงกระดูกที่มีเนื้อหนังบาง ๆ หุ้มไว้
วันหนึ่ง ในขณะที่พระองค์ทรงนั่งอยู่ริมน้ำ พระองค์ทรงได้ยินอาจารย์ท่านหนึ่งสอนเด็กคนหนึ่งเล่นเครื่องดนตรี โดยอาจารย์กล่าวว่า “สายจะหย่อนไปไม่ได้ มิฉะนั้นเราจะไม่สามารถเล่นเครื่องดนตรีได้ แต่สายจะตึงมากไปก็ไม่ได้เช่นกัน มิฉะนั้นมันจะขาด” เมื่อทรงได้ยินดังนี้ พระองค์ทรงตระหนักได้ว่าการบำเพ็ญตบะหลายปีมานี้มิได้เป็นประโยชน์ ในลักษณะเดียวกันกับชีวิตหรูหราของพระองค์ในวัง การบำเพ็ญตบะก็เป็นการปฏิบัติสุดโต่งที่ไม่อาจเอาชนะความทุกข์ได้ พระองค์ทรงคิดว่าเส้นทางสายกลางระหว่างแนวทางปฏิบัติสุดโต่งทั้งสองอย่างนี้ต้องเป็นคำตอบแน่ ๆ
ณ ตอนนั้นเองก็มีสตรีน้อยนามว่า นางสุชาดา เดินทางผ่านมาและถวายข้าวมธุปายาส ซึ่งถือเป็นอาหารจริง ๆ ครั้งแรกของพระองค์ในช่วงหกปีนี้ พระองค์ทรงเสวย ซึ่งสร้างความตกใจให้เหล่าสหายที่บำเพ็ญตบะ และเสด็จไปนั่งใต้ต้นมะเดื่อ ณ ตรงนั้นเอง พระองค์ทรงตัดสินพระทัยว่า “ข้าพเจ้าจะไม่ลุกขึ้นจากที่นั่งนี้จนกว่าจะได้รู้แจ้งอย่างสมบูรณ์” ใต้ร่มต้นไม้ต้นนี้ ซึ่งตอนนี้รู้จักกันในนามต้นโพธิ์ พระองค์สิทฺธต์ถทรงบรรลุการตรัสรู้อย่างสมบูรณ์และเป็นที่รู้จักกันในนามพระพุทธเจ้า ซึ่งหมายถึงผู้ที่ตื่นแล้วนั่นเอง
หลังจากการตรัสรู้ได้ไม่นาน พระพุทธเจ้าทรงเทศนาสอนอริยสัจสี่และมรรคมีองค์แปด ตลอด 40 ปีต่อมา พระองค์ทรงเสด็จไปทั่วที่ราบอินเดียตอนเหนือ เพื่อสอนความตระหนักรู้ที่พระองค์ทรงบรรลุให้กับผู้อื่น พระองค์ทรงสร้างสายบรรพชิตที่เรียกว่า สังฆะ (คณะสงฆ์) ผู้เดินทางไปเผยแพร่คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั่วประเทศอินเดีย ตามด้วยทวีปเอเชียและส่วนอื่น ๆ ของโลกนั่นเอง
พระพุทธเจ้าทรงเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานตอนมีพระชนมายุราว 80 พรรษา ณ เมืองกุสินารา ก่อนที่พระองค์จะเสด็จปรินิพพาน พระองค์ทรงถามคณะสงฆ์ว่ามีข้อสงสัยใด ๆ หรือมีสิ่งใดที่ต้องการถามให้แจ้งเกี่ยวกับหลักธรรมคำสอนหรือไม่ เมื่อทรงแนะนำให้เหล่าสาวกให้พึ่งพระธรรมและวินัยจริยธรรมในตนเองแล้ว พระองค์ทรงตรัสคำสุดท้าย นั่นคือ “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี่คือคำแนะนำสุดท้ายของเราสำหรับพวกท่านทั้งหลาย สังขารทั้งหลายในโลกย่อมมีการเปลี่ยนแปลง มันไม่ยั่งยืน จงยังกิจทั้งปวงเพื่อบรรลุซึ่งความรอดของตน” เมื่อสิ้นคำตรัส พระองค์ทรงนอนตะแคงข้างขวาและเสด็จปรินิพพาน
พระพุทธเจ้าทั้งหลายคืออะไร?
เราได้ทราบถึงพระพุทธเจ้าตามพุทธประวัติแล้ว แต่การเป็นพระพุทธเจ้านั้นมีความหมายว่าอย่างไรกันแน่?
กล่าวโดยสรุปคือ พระพุทธเจ้าคือบุคคลที่ตื่นแล้ว พระพุทธเจ้าทรงตื่นจากการหลับลึก การหลับลึกในที่นี้ไม่ใช่การหลับอันเกิดจากการปาร์ตี้ทั้งคืน แต่เป็นการหลับลึกในความสับสนที่แพร่หลายในทุกขณะชีวิตของเรา กล่าวคือความสับสนเกี่ยวกับวิธีดำรงอยู่จริงๆของพวกเรา ซึ่งอันที่จริงหมายถึงวิธีที่ทุกสรรพสิ่งล้วนดำรงอยู่
พระพุทธเจ้าทรงไม่ใช่เทพและก็ไม่ใช่ผู้ทรงสร้าง พระพุทธเจ้าทุกองค์ทรงเริ่มต้นเหมือนเราทุกคน คือเต็มไปด้วยความสับสน อารมณ์รบกวน และปัญหามากมาย แต่ด้วยการเดินตามเส้นทางแห่งความความเห็นอกเห็นใจและปัญญาอย่างช้า ๆ และด้วยความพยายามพัฒนาคุณสมบัติเชิงบวกทั้งสองประการนี้ จึงสามารถบรรลุการตรัสรู้สำหรับตนเองได้
พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงมีคุณสมบัติหลักสามประการ ดังนี้
- ปัญญา พระพุทธเจ้าทรงไม่มีการปิดกั้นทางจิต จึงสามารถเข้าใจทุกอย่างได้อย่างครบถ้วนและถูกต้อง โดยเฉพาะเรื่องการช่วยเหลือผู้อื่น
- ความเห็นอกเห็นใจ ด้วยปัญญาที่ทำให้เห็นแจ้งว่าพวกเราล้วนเชื่อมโยงกัน พระพุทธเจ้าจึงทรงมีความเห็นอกเห็นใจอันยิ่งใหญ่และทรงทราบว่าสามารถช่วยเหลือทุกคนได้ ปัญญาที่ปราศจากความเห็นอกเห็นใจอาจทำให้ผู้นั้นมีการศึกษามาก แต่ไม่อาจเป็นประโยชน์ต่อสังคมได้มากนัก ความเห็นอกเห็นใจเป็นสิ่งที่ผลักดันให้พระองค์ทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวม พระพุทธเจ้าทั้งหลายจึงทรงสร้างคุณสมบัติประการที่สองนี้ขึ้นมา เพื่อเชื่อมโยงกับเราทั้งหลาย
- ความสามารถ เมื่อมีคุณสมบัติทั้งสองประการในการทราบวิธีขจัดทุกข์และมีความปรารถนาอันแรงกล้าในการช่วยเหลือผู้อื่นแล้ว พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงมีพลังและความสามารถอย่างแท้จริงในการสร้างประโยชน์ให้ผู้อื่น โดยการสอนเราเกี่ยวกับเส้นทางปฏิบัติไปสู่การตรัสรู้ผ่านหลากหลายวิธีอย่างชำนาญ
พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงเข้าใจดีว่าไม่มีใครต้องการปัญหา เหมือนกับที่พระองค์ทรงไม่ต้องการทุกข์เช่นกัน ทุกคนอยากมีความสุข ดังนั้นพระพุทธเจ้าจึงไม่เพียงพยายามปฏิบัติเพื่อตนเอง แต่เพื่อทุกสรรพชีวิตในจักรวาล พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงใส่ใจดูแลผู้อื่นมากเท่าตนเอง
ด้วยแรงจูงใจแห่งความเห็นอกเห็นใจอันแรงกล้า พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงสอนทางออกของการขจัดทุกข์ทั้งปวง ซึ่งเรียกว่าปัญญา อันหมายถึงความกระจ่างชัดในใจ เพื่อแยกแยะความเป็นจริงออกจากเรื่องสมมุติ ด้วยปัญญานี้ เราจะสามารถขจัดสิ่งเชิงลบทั้งหมดได้ในที่สุด ซึ่งหมายถึงความสับสน ความเห็นแก่ตัว และอารมณ์เชิงลบต่าง ๆ เราเองก็สามารถเป็นพระพุทธเจ้าที่สมบูรณ์แบบและประสบกับความสงบภายในที่สมบูรณ์ได้เช่นกัน
สรุป
พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงเป็นอาจารย์ผู้สมบูรณ์แบบ ที่รู้ว่าจะสามารถช่วยเหลือผู้อื่นด้วยวิธีการอันช่ำชองได้อย่างไร ทุกพระองค์ล้วนมีความเห็นอกเห็นใจและพร้อมคอยช่วยเหลือพวกเราอยู่เสมอ ด้วยการนำทางเราบนเส้นทางที่ถูกต้อง
ในลักษณะเดียวกับเจ้าชายสิทฺธตฺถ พวกเราเองก็มักมืดบอดต่อความทุกข์ทั้งหลายในโลก แต่ไม่ว่าเราจะพยายามหลีกเลี่ยงหรือละเลยความทุกข์เหล่านี้มากเพียงใด วัยชรา ความเจ็บป่วย และความตายย่อมมาหาเราทุกคนในที่สุด เรื่องราวพุทธประวัติสร้างแรงบันดาลใจให้เราเห็นว่า ด้วยการเผชิญหน้าและทำความเข้าใจกับความเป็นจริงของทุกข์อย่างที่พระองค์ทรงกระทำนั้น เราก็สามารถปลดปล่อยตนเองจากความความขัดข้องทั้งหลายที่เราประสบในชีวิตได้เช่นกัน พุทธประวัติและคำสอนของพระองค์คอยเตือนสติเราว่า เราต้องพยายามเอาชนะอารมณ์เชิงทำลายและความสับสนในตัวเรา เพื่อเราจะสามารถปฏิบัติช่วยเหลือสรรพชีวิตทั้งปวงเหมือนที่พระองค์ทรงทำได้